ถ้าคุณเป็นคอการเมือง, ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ คือลูกชายของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ถ้าคุณติดตามเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล, เขาคือ Data Technology Entrepreneur นักคิดเชิงข้อมูล ผู้ใช้ Big Data ในการปลดล็อกและสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับบริษัทมากมาย

ถ้าคุณเป็นนักอ่าน,  เขาคือนักเขียนและคอลัมน์นิสต์ที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของข้อมูลกับโลกธุรกิจและนโยบาย และเพิ่งมีผลงานหนังสือเล่มแรกในชีวิต อาทาเดีย’ หรือในภาษาอังกฤษ ATADIA ซึ่งหากส่องกระจก จะสะท้อนกลับมาเป็นคำว่า AIDATA (เอไอดาต้า) ที่เล่าทั้งเรื่องจริงและเมืองในจินตนาการที่พอจะเป็นไปได้ในอนาคต หากเทคโนโลยีล้ำหน้าไปสุดทาง จะเกิดอะไรขึ้นกับทุกคนในโลกนี้บ้าง

แต่ถ้าคุณไม่รู้จัก ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์, เขาคือ เด็กเนิร์ด นักคิด นักธุรกิจ นักเขียน และคุณพ่อลูกสอง ผู้หลงใหลและเชื่อมั่นว่า Big Data จะช่วยให้ประเทศไทยดีกว่าเมื่อวานนี้ได้ ถึงแม้ครั้งแรกในการนำเสนอนโยบายสาธารณะกับหน่วยงานภาครัฐ คู่สนทนาจะนั่งหลับก็ตาม

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักคิดผู้ขอทำงานนอกสภาผ่าน Big Data นโยบายสาธารณะ และนิยายไซไฟ

เมื่อพูดถึงนามสกุล จาตุศรีพิทักษ์ หลายคนน่าจะคิดต่อถึงคำว่า นักการเมือง สมัยเด็ก ๆ คุณเคยได้รับผลกระทบจากสิ่งนี้ไหม

มีเหมือนกันครับ น่าจะเป็นตอนเรียนชั้น ป.6 หรือ ม.1 ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ซึ่งคุณพ่อรับตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก แล้วความที่เสื้อนักเรียนมีชื่อกับนามสกุลปักอยู่ ไม่ว่าเดินไปไหนจะมีคนทักว่า ใช่นามสกุลนักการเมืองคนนั้นหรือเปล่า ในขณะเดียวกัน คนรอบตัวจะคอยบอกว่าผมต้องวางตัวอย่างไร เป็นความกดดันเล็ก ๆ ว่าเราต้องทำตัวให้ดีขึ้นหรือเปล่า อย่าทำอะไรให้พ่อเสียชื่อเสียง ซึ่งผมก็เป็นเด็กเรียนดีอยู่แล้ว ได้ถือพานไหว้ครู เป็นหัวหน้าห้อง ถึงจะไม่ได้เก่งที่สุด แต่มีความรับผิดชอบและตั้งใจเรียน

เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของ ดร.สมคิด ที่เล่าถึงวิธีการเลี้ยงลูกว่า พาไปดูบ้านเก่าของตระกูลที่ย่านเยาวราช

ใช่ ผมไปบ่อยมาก (ยิ้ม) คุณพ่อเป็นสมาชิกในครอบครัวไม่กี่คนในรุ่นนั้นที่เรียนจบมหาวิทยาลัย ซึ่งความสำเร็จก็มาจากการเสียสละของพี่ ๆ ที่ทำงานหาเงินส่งให้น้องเรียน เพราะฉะนั้น การเติบโตของคุณพ่อกับผมจึงแตกต่างกันมาก ทำให้คุณพ่อให้ความสำคัญกับจุดเริ่มต้นและการต่อสู้ของครอบครัว เพราะคนจีนที่เข้ามาเมืองไทยในสมัยนั้น ถ้าไม่สู้ก็อดตาย

คุณพ่อจึงอยากพาลูก ๆ ไปเห็นบ้านหลังเก่าของครอบครัว และสอนให้เห็นความสำคัญของการศึกษา ให้รู้ว่าเราโชคดีแค่ไหนแล้ว ซึ่งตรงนี้ผมเห็นด้วย เพราะถ้าไม่มีการศึกษาหรือมีคนสนับสนุน ผมก็คงไม่มีทางมีวันนี้ได้

ผมเคยคุยกับรุ่นพี่คนหนึ่ง นามสกุลของเขาก็ค่อนข้างเป็นที่รู้จักในสังคม เราเห็นตรงกันว่า เราไม่ได้เก่งกว่าใคร แต่เพราะมีโอกาส มีคนช่วยเยอะ พอเห็นคนอื่นที่เก่งมาก แต่ไม่มีโอกาส ทำให้รู้ว่าเราโชคดีแค่ไหน และการที่พ่อสอนให้เห็นจุดเริ่มต้นของครอบครัวทำให้ผมติดดินขึ้น อาจไม่เท่าบ้านคนอื่น เพราะแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยก็ไม่หลุดโลก หรืออยู่ในฟองสบู่โดยไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นอย่างไร

อาจเพราะเหตุผลนี้ คุณพ่อจึงส่งผมไปเรียน ม.ปลาย ที่ Prep School ชื่อ Choate Rosemary Hall ในรัฐคอนเนคติกัต สหรัฐอเมริกา เพื่อให้โตเป็นผู้ใหญ่และไม่มีชีวิตที่แปลกเกินไป เพราะตอนนั้นเริ่มมีคนเอาใจ อยากทำนู่นนี่ให้

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักคิดผู้ขอทำงานนอกสภาผ่าน Big Data นโยบายสาธารณะ และนิยายไซไฟ

เด็กอายุ 15 กับการไปอยู่ต่างประเทศคนเดียวเป็นอย่างไรครับ

Culture Shock เลย จากเดิมอยู่บ้านกับครอบครัว เปลี่ยนมาเป็นหอพัก ต้องจัดการทุกอย่างด้วยตัวเองตั้งแต่ตื่นยันนอน เพื่อน ๆ ที่เมืองไทยไปถึงโรงเรียนตอนเช้าก็เตะฟุตบอล ตกเย็นเล่นเกม เดินเล่นสามย่าน แต่เมืองที่ผมอยู่มีแต่หลุมศพกับห้างวอลมาร์ท (Walmart) เป็นแหล่งความเจริญใกล้ที่สุด ซึ่งต้องปั่นจักรยานไป 1 ชั่วโมง

ในขณะที่ภาษาอังกฤษของผมก็ป้อแป้ เขียนได้ ทำข้อสอบได้ แต่พูดไม่ค่อยโอเค แล้วจากที่เคยคิดว่าตัวเองเก่งเลข เนื่องจากสังคมสมัยก่อนมีทัศนคติที่เชื่อว่า เด็กเอเชียจะเก่งเลข แต่ความที่โรงเรียนนั้นคัดเด็กเก่ง ๆ จากทั่วโลก พอเราไปถึงคือห่วยสุด ได้เกรด 4.0 เมืองไทยแทบไม่มีความหมาย เป็นประสบการณ์ที่หินมาก

ปัจจัยที่ทำให้เอาตัวรอดได้คืออะไร

น่าจะเพราะผมเป็นคนซีเรียส พอเจอเรื่องท้าทายก็อยากทำให้ได้ แล้วความที่มีเวลาแค่ 3 ปีเพื่อจะเข้ามหาวิทยาลัย ความกดดันนั้นทำให้ผลการเรียนดีขึ้น กระทั่งได้เรียนต่อด้านคณิตศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ แต่ก็ต้องกระเสือกกระสนนะ เพราะมีคู่แข่งทั้งนักเรียนทุนไทยและเด็กอีกหลายประเทศ แต่ความที่เราเป็นเด็กเนิร์ดด้วย ถ้าคิดจะลุยแล้วไม่มีถอย ยกตัวอย่างถ้าในหนังสือมีแบบฝึกหัด 100 ข้อ ผมจะทำทั้ง 100 ข้อ ธรรมชาติของเราเป็นแบบนั้น ซึ่งต่อมาก็รู้เรียนว่าไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น เพราะไม่ได้คะแนนมากกว่าเดิม (หัวเราะ)

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักคิดผู้ขอทำงานนอกสภาผ่าน Big Data นโยบายสาธารณะ และนิยายไซไฟ

ทำไมเลือกเรียนคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์

ข้อแรกคือพ่อบอกให้เรียน เขาคงอยากให้เล่นการเมืองแหละ เพราะเป็นวิชาที่กว้างและนำไปประยุกต์ได้หลายแขนง ที่เรียนเลขด้วยเพราะถ้าจะเรียนต่อปริญญาเอกด้านเศรษศาสตร์ ก็ต้องเรียนคณิตศาสตร์ชั้นสูง และข้อสองคือ ผมเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย เรียนอะไรได้ดีโดยไม่ต้องสนใจก็ได้ ตอนนั้นอยู่ในโหมดไม่มี Critical Thinking อย่างรุนแรง จนค่อย ๆ คิดได้เองว่า ถ้าอยากเป็นผู้ใหญ่และอยู่อเมริกา ทุกอย่างเป็นความรับผิดชอบของเรา จะลอยไปวัน ๆ ไม่ได้ กว่าจะมาสนใจวิชาเศรษศาสตร์ก็ตอนเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ได้พักหนึ่งแล้วว่า น่าจะเป็นสิ่งที่เราชอบจริง ๆ

สมัยปริญญาโท ผมเลือกเรียนด้านด้านรัฐศาสตร์และการเงินระหว่างประเทศ เนื่องจากตอนนั้นการลงทุนข้ามชาติกำลังมาแรง เป็นโปรแกรมที่รับคนที่มีประสบการณ์ทำงานแล้ว แต่เราดันเกรดดีมาก หรืออย่างไรไม่รู้เขาก็เลยรับ พอไปเรียนก็ได้เปิดโลก เพราะได้รู้จักคนที่อายุมากกว่าและทำงานที่หลากหลาย มีตั้งแต่ทหารที่ออกไปรบกับตาลีบัน ไปจนถึงทูตจากหลายประเทศ

จุดพีกอยู่ตรงที่ผมอายุน้อยสุดในรุ่น ตอนไปสมัครงานในช่วงใกล้เรียนจบ ผมยื่นใบสมัครไปเป็นร้อยใบในทุกตำแหน่งที่คิดว่าทำได้ เช่น เศรษฐกร นักวิจัยข้อมูล และ Young Professional Program แต่จาก 100 ใบนั้นมีตอบรับกลับมาแค่ 4 แห่ง ความฟลุกคือที่แรกที่ตอบรับคือ โรงเรียนฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ ซึ่งภรรยาผมเรียนปริญญาโทอยู่ที่ฮาร์วาร์ดพอดี เราจึงได้ติดสอยห้อยตามกันไป ถ้าไม่ได้งานนั้น อาจจะไม่มีครอบครัวแบบนี้ก็ได้ (หัวเราะ)

ตอนนั้นทำงานอะไรที่ฮาร์วาร์ดครับ

เป็นผู้ช่วยวิจัยด้านนโยบายสาธารณะครับ ได้ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม โดยใช้ Big Data ในการวิเคราะห์ ตรงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผมเปลี่ยนมุมมองว่า เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายการเงิน เงินเฟ้อ หรือผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (Gross Domestic Product)

ก่อนหน้านั้นโลกของผมอยู่แค่ในหนังสือ การทำงานนั้นช่วยเปิดโลกให้เห็นว่า มีวิธีนำทฤษฎีกับข้อมูลจำนวนมหาศาลมาคิดค้นนโยบายที่มีประโยชน์ต่อสังคม และพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ โดยอ้างอิงจากหลักฐานเชิงข้อมูล

ยกตัวอย่างเรื่องวันที่หิมะตกหนัก โรงเรียนควรหยุดหรือเปิดทำการ เคสนี้อาจารย์ที่ฮาร์เวิร์ดจ้างนักวิจัยมาช่วยกันวิเคราะห์อย่างจริงจังจนได้ข้อสรุปว่า ควรปิด เพราะการเปิดจะทำให้เด็กยากจนมาเรียนด้วยความลำบากกว่า เนื่องจากไม่มีรถยนต์ส่วนตัว หรือถ้ามีก็ลุยหิมะไม่ได้เหมือนรถคนรวย พอมีเด็กมาเรียนไม่ได้ รุ่งขึ้นคุณครูก็ต้องใช้เวลาติวเด็กกลุ่มนั้นเพิ่มเติมอีก ทั้งหมดส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กรวยหรือจน การดันทุรังเปิดโรงเรียนในวันที่อากาศไม่ดีจะให้ผลเสียมากกว่า

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักคิดผู้ขอทำงานนอกสภาผ่าน Big Data นโยบายสาธารณะ และนิยายไซไฟ

ก่อนทำงานที่ฮาร์วาร์ด ผมเคยเรียนวิชาหนึ่งที่มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ชื่อวิชาเศรษฐมิติ คือการนำสถิติกับเศรษฐศาสตร์มารวมกัน เป็นวิชาที่หลายคนเกลียด แต่ผมรักมาก เพราะรู้สึกว่าจับต้องได้ เช่น นโยบายหนึ่งที่อาจารย์ที่ปรึกษาผมทำคือการแจกแว่นตาให้เด็กในเมืองจีน ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการแจกคอมพิวเตอร์หรือหนังสือ เพราะถ้าเด็กมองไม่เห็นกระดาน โอกาสจะเรียนได้ดีก็ยาก การแจกหนังสือนั้นเสี่ยงมาก เพราะตามทฤษฎีการเรียนรู้ของเด็ก ถ้าคุณให้หนังสือไม่ตรงกับระดับของเขา หรือกลุ่มที่บริจาคหนังสือไปแอฟริกา โดยไม่ได้เช็กเรื่องภาษาท้องถิ่น สุดท้ายเขาก็อ่านไม่ได้ เท่ากับผลาญเงินโดยเปล่าประโยชน์ ไม่เหมือนแว่นตาที่ลงทุนไม่เยอะ แต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามหาศาล

ศาสตร์นี้จึงต้องการข้อมูลเยอะ ๆ เพื่อพิสูจน์คำถาม ซึ่งถ้าเป็นคนรุ่นพ่อของผมเรียน ข้อมูลยังมีไม่เยอะ ต่างกับยุคของผมที่เป็นบิ๊กดาต้า พอมีข้อมูลให้ทำงานเยอะ ก็เลยสนุกมาก

เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการหลงใหลเรื่องข้อมูลแบบสุดลิ่มทิ่มประตู

มากครับ มันมีประโยชน์จริง ๆ บางนโยบายด้านการศึกษาที่เราทำ ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ก็ถูกนำไปใช้ที่โรงเรียน มันกระทบต่อชีวิตเด็กทันที รู้สึกว่างานที่ทำอยู่มีความหมาย และสนใจงานภาคสังคม จึงเป็นเหตุผลที่ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตาทวินซิตี้ส์ เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลเพื่อช่วยคิดค้นนโยบายใหม่ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมชอบมาก เพราะปกติสาขาเศรษฐศาสตร์จะให้ความสำคัญกับเรื่องดีกรี เช่น คนนี้เป็นลูกศิษย์ใคร แต่ในสาขาที่ผมเรียน วิจัยที่อาจารย์หลายคนทำมีประโยชน์ต่อสังคมแบบจับต้องได้ ไม่ได้ต้องเบ่งว่าจบดอกเตอร์จากที่ไหน

ผมโชคดีที่ได้อาจารย์ 3 ท่านทำงานเป็นที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาว ท่านหนึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมให้อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถือเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างมีเกียรติสำหรับนักเศรษฐศาสตร์สายนโยบาย ทำให้เราอินในงานนี้มาก ตอนนั้นคิดเหมือนกันว่าจะเป็นคนอเมริกันเลยดีไหม แต่สุดท้ายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง ก็เลยกลับไทย เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย (หัวเราะ)

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักคิดผู้ขอทำงานนอกสภาผ่าน Big Data นโยบายสาธารณะ และนิยายไซไฟ

อันนี้พูดจริงหรือเปล่า

จริง ๆ มีหลายเหตุผล ตอนนั้นผมทำ Excel เปรียบเทียบเลยว่า ข้อดีของการอยู่อเมริกากับประเทศไทยมีอะไรบ้าง สำหรับอเมริกา ข้อดีคืองานดี ความเครียดน้อย รายได้โอเค มีอิสระ พอคิดถึงเรื่องโรงเรียนของลูก โรงเรียนของรัฐหลายแห่งก็ดีมาก เสียอย่างเดียวคือเรื่องความรุนแรงในประเทศ นอกจากนี้เราคิดถึงความสัมพันธ์กับครอบครัว ญาติพี่น้องด้วย คิดไปคิดมาก็ตัดสินใจกลับเมืองไทย เบ็ดเสร็จใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาตั้งแต่ปี 2004 จนถึง 2018

ตอนแรกวางแผนจะทำงานอะไรที่เมืองไทยครับ

อยากทำวิจัยเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะครับ ตอนแรกไม่คิดจะเปิดบริษัทของตัวเองหรือทำธุรกิจเลย อยากทำงานเหมือนที่ฮาร์วาร์ดมากกว่า เพราะสนุก ท้าทาย และมีประโยชน์ แต่ไม่รู้ว่าผม Pitch โปรเจกต์ไม่เก่งหรือเปล่า เพราะเคยลองไปคุยกับหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งว่า อยากเชื่อมบัตรประชาชนของคนไทยกับข้อมูลด้านการศึกษาทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย รวมถึงสรรพากรด้วย

ผมได้แรงบันดาลใจเรื่องนี้จากงานวิจัยที่อเมริกาที่เชื่อมข้อมูลของคนตั้งแต่เรียนอนุบาล และพบหลักฐานว่าคุณภาพของการศึกษาตั้งแต่วันแรกส่งผลต่อการได้งานครั้งแรก เขามีข้อมูลการแต่งงาน หย่าร้าง ปัญหาสุขภาพ จนกระทั่งเสียชีวิต ไม่ถึงขนาดเก็บไว้ทุกช่วงนะครับ แต่อย่างน้อย ๆ ก็มีเครื่องไทม์แมชชีนให้เห็นไทม์ไลน์ว่า นาย ก เคยได้รับการศึกษาในระดับไหน จนถึงวันที่เป็นผู้ใหญ่ว่าจ่ายภาษีไปเท่าไร

วันที่ผมไปเสนอโปรเจกต์นี้กับหน่วยงานรัฐ ผมจำไม่ได้ว่าเสนอกับใครนะ คุยกันเหมือนอย่างที่ผมเล่านี่แหละ ปรากฏว่าเขานั่งหลับ (หัวเราะ)

อาจเป็นเพราะผมพูดน่าเบื่อหรือเปล่า ก็คงไม่ขนาดนั้นมั้ง และผมอาจจะเซนซิทีฟด้วย พอครั้งแรกเจอแบบนั้นก็เลยไม่ทำต่อ หลังจากนั้นได้เรียนรู้จากพี่ ๆ ที่ทำงานเรื่องนโยบายว่า ต้องมีความอดทน ครั้งนั้นอาจจะเป็นบทเรียนหนึ่งท่าว่า เรายังอดทนได้ไม่มากพอ (หัวเราะ)

จึงเป็นจุดหักเหให้มาทำธุรกิจ

ใช่ครับ เพราะเรามีไอเดียที่อยากเสนอเยอะมาก ก็เลยคิดถึงภาคเอกชน เริ่มไปสมัครงานในตำแหน่งที่ปรึกษา โดยบริษัทแรก ๆ ที่ได้ร่วมงานด้วยคือ True ในช่วงที่เขาเริ่มทำ Digital Group พอได้ทำก็สนุก เพราะเขามีข้อมูลขนาดใหญ่และพร้อมมาก อีกแห่งคือตลาดหลักทรัพย์ ผมเข้าไปช่วยทำระบบ AI สำหรับจับคนปั่นหุ้น

พองานเยอะขึ้นจนทำคนเดียวไม่ไหว ก็เลยเปิดบริษัทสยามเมทริกซ์ คอนซัลติ้ง (Siametrics Consulting) บริษัทให้คำแนะนำด้านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลกับองค์กร อธิบายง่าย ๆ คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปปลดล็อกข้อมูล เพื่อให้บริษัทของลูกค้าได้ใช้ประโยชน์สูงสุด

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ เด็กเนิร์ด นักคิด นักเขียนผู้หลงใหลและเชื่อว่า Big Data ช่วยให้พรุ่งนี้ดีกว่าเมื่อวานได้

พองานที่เข้ามาเริ่มหลากหลายขึ้นก็แยกมาเปิดอีกบริษัทชื่อ ViaLink ทำเกี่ยวกับการยกระดับการค้าและระบบขนส่ง เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากให้ง่ายและแม่นยำขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีข้อมูลเข้าไปบริหารจัดการ ตั้งแต่การผลิตของออกจากโรงงานไปจนถึงมือลูกค้า เช่น มีระบบคาดการณ์ว่า ถ้าอยากส่งสินค้าจากจุดที่ 1 ไปจุดที่ 2 ต้องใช้รถกี่คัน ต้องเรียงลำดับของในรถอย่างไร อะไรเข้าก่อน อะไรเข้าหลัง เมื่อทุกอย่างเป็นระบบ เจ้าของกิจการก็ใช้รถน้อยลง ช่วยประหยัดค่าขนส่งได้มหาศาล ในขณะที่รถบนถนนก็ติดน้อยลงด้วย

ถึงแม้ธุรกิจจะไปได้ดี แต่สิ่งที่เราเห็นคือ คุณยังแบ่งเวลาไปทำงานภาคสังคมที่สถาบันอนาคตไทยศึกษา

ใช่ครับ เพิ่งทำเมื่อปีที่แล้ว เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรที่มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด การทำทำนโยบายให้เปิดกว้าง และอยู่บนหลักฐานเชิงข้อมูลมากขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ได้เข้าไปช่วยงานก็เนื่องจากก่อนหน้านั้น บริษัทผมเคยทำโปรเจกต์วิจัยเรื่องอุบัติเหตุทางถนนกับมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) ซึ่งมีโจทย์จากการที่มีคนไทยเสียชีวิตบนถนนปีละ 20,000 คน ที่เซ็งกว่าคือเป็นแบบนี้มา 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว พอไปคุยกับคนที่ทำงานภาคสนามจะเป็นที่รู้กันว่า เขาต้องบันทึกการเสียชีวิตเป็นอย่างอื่น เพราะโดนกดดันว่าอย่าลงเยอะ เพราะมีสื่อจับจ้องอยู่

อันนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องใหญ่กว่าคือ การมีผู้เสียชีวิตปีละ 20,000 คนต่อเนื่องมานานขนาดนี้ แล้วมันแย่ตรงที่ส่วนใหญ่เป็นคนวัยรุ่นกับวันทำงาน แล้วครอบครัวเขาจะเป็นอย่างไร ภรรยาต้องเป็นแม่ม่าย ลูกยังอยู่ในวัยเรียน มันไม่ได้พังแค่เศรษฐกิจ แต่พังไปถึงครอบครัว สังคม เป็นการสูญเสียที่ป้องกันให้ดีกว่านี้ได้

พอได้ทำงานกับ iTIC ซึ่งมีข้อมูลค่อนข้างเยอะ มีเครือข่าย เราจึงช่วยกันหยิบข้อมูลมาทำเป็นภาพใหญ่ น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีข้อมูลหมดทุกอย่างว่า ถนนเส้นไหนมีอุบัติเหตุเสียชีวิตบ้าง ส่วนใหญ่เป็นเวลาไหน ถนนมีกี่เลน มีป้ายและร้านรวงรอบ ๆ อะไรบ้าง วันนั้นอากาศเป็นอย่างไร มีด่านไหม

ตอนนั้นเราเก็บข้อมูลจากหลายฝ่ายมารวมกัน เพื่อเป้าหมายแรกคือ ลดจำนวนคนตาย และสอง อยากรู้ว่าวิธีไหนจะช่วยลดจำนวนคนตายได้ดีที่สุด ซึ่งก่อนหน้านั้นมีคนคุยกันเยอะว่า สาเหตุเป็นเพราะแอลกอฮอล์และอื่น ๆ แต่ข้อมูลของเราบอกว่า สาเหตุสำคัญเกี่ยวข้องกับสถานที่และเวลา กรณีที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นตอนดึก ๆ และรุ่งสาง แทบทั้งหมดเกิดกับมอเตอร์ไซค์ มันตลกตรงที่เมื่อดูแค่ 2 เรื่องนี้ แต่พอดูมาตรการของภาครัฐ มันแทบไปไม่ถึงตอนกลางคืนหรือเกี่ยวข้องกับมอเตอร์ไซค์โดยตรง ไม่ต้องใช้บิ๊กดาต้าก็เห็นแล้ว

ผมเคยพูดเล่น ๆ กับ คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ (ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะ) ถ้าเราปิดถนนหลังเที่ยงคืนเป็นซินเดอเรลล่า หรือทำระบบขนส่งตอนกลางคืนโดยไม่ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ จะมีคนตายไหม เรื่องนี้ผมพูดเล่น ๆ นะ กระทั่งเกิดโควิด-19 และมีประกาศเคอร์ฟิว ลองไปดูข้อมูลได้ครับ แทบไม่มีผู้เสียชีวิต แสดงว่าข้อสันนิษฐานถูก แต่เราลิดรอนสิทธิของคนไม่ให้ออกมาทำมาหากินไม่ได้ แต่ถามว่าข้อมูลถูกไหม… ถูกเป๊ะ เพราะพอเลิกเคอร์ฟิว จำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนก็กลับมาเหมือนเดิม

แต่ที่ไม่เหมือนเดิมคือ ข้อมูลชุดนี้ทำให้คนตื่นตัวมากขึ้น เจ้าหน้าที่ภาครัฐก็มีกำลังใจว่า เมื่อมีข้อมูลขนาดนี้แล้ว ก็ต้องมีวิธีลดจำนวนคนตายได้สิ เราทำข้อมูลเหล่านี้เพื่อให้หน่วยงานเกี่ยวข้องได้ใช้ทำงานต่อ ซึ่งเป็นแพสชันเดิมที่ผมอยากทำมาตลอด คือการเชื่อมไอเดียดี ๆ กับภาครัฐ เพื่อให้เขานำไปทำต่อได้จริง แต่สุดท้ายแล้วบิ๊กดาต้าจะช่วยได้แค่ส่วนเดียว เพราะการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับการรวมพลังของคนในชุมชนด้วย

ฟังแบบนี้ บิ๊กดาต้าไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นสะพานที่เชื่อมโยงได้กับทุกเรื่อง

ใช่ครับ มีทั้งประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ถ้าเป็นภาคธุรกิจ ส่วนใหญ่ทำเรื่องการค้า ลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย การบริหารจัดการความเสี่ยง ถ้าเป็นนโยบายสาธารณะ ก็เป็นเรื่องการศึกษา ความปลอดภัย ความสำคัญของบิ๊กดาต้าไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นเทคโนโลยีไหม แต่เราจะนำมันไปทำให้วันนี้ดีขึ้นกว่าเมื่อวานได้หรือเปล่า เช่น จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดน้อยไหม หรือโปรเจกต์นี้คุ้มกับเงินภาษีของคนไทยหรือเปล่า

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ เด็กเนิร์ด นักคิด นักเขียนผู้หลงใหลและเชื่อว่า Big Data ช่วยให้พรุ่งนี้ดีกว่าเมื่อวานได้

ถ้าวันนี้มีโอกาสเสนอนโยบายสาธารณะกับหน่วยงานภาครัฐอีกครั้ง อยากทำเรื่องอะไรครับ

ยังเป็นเรื่องเดิมคือ ทุนมนุษย์ ทำอย่างไรให้ประชากรไทยมีผลิตภาพดีที่สุด สามารถแข่งขันกับชาติอื่นได้ ซึ่งเราทำได้ผ่านการศึกษา สาธารณสุข โดยเชื่อมข้อมูลว่าระหว่างที่คนไทยเติบโต เขาเจอเรื่องดีและไม่ดีอะไรบ้าง ผมอยากทำเรื่องนี้แค่เรื่องเดียว และเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้เยอะ เพราะสุดท้ายเศรษฐกิจไทยจะแข่งกับชาติอื่นได้ เราต้องการคนเก่งที่สร้างสิ่งใหม่ ๆ แล้วอยากอยู่เมืองไทยต่อ ไม่ใช่บินไปอยู่ที่อื่น เพราะตอบโจทย์ชีวิตมากกว่า

ที่อเมริกามีแบบแผนเรื่องทุนมนุษย์ไว้ชัดเจนว่าทำได้ และมีประโยชน์ล้านเปอร์เซ็นต์ ถ้ามีองค์กรไหนที่ต่อข้อมูลเสร็จแล้วก็บอกผมได้เลย อยากทำจริง ๆ ไม่น่าจะมีเรื่องไหนสำคัญกว่านี้แล้ว เช่นเดียวกับเรื่องถนน เพราะจะทำนโยบายการศึกษาทำไม ถ้าเรียนจบแล้วมาตายบนถนน

วันหนึ่งเราจะเห็นชายผู้หลงใหลบิ๊กดาต้าคนนี้เดินลงสนามการเมืองเหมือนที่มีหลายคนตั้งคำถามไหม

ไม่ครับ (ตอบทันที) ผมเข้าใจถ้าคนจะคิดแบบนั้นนะ เพราะเมื่อดูจากสถิติของนามสกุลนี้ก็อยู่ในแวดวงนี้ แต่ผมไม่คิดว่าตัวเองจะทำงานนี้ได้ดี ในสภามีคนเก่งกว่าเราเยอะแยะ รวมถึงยังมีคนข้างนอกที่เก่งมาก ๆ ถ้าให้ผมทำก็ขอสนับสนุนจากความถนัดของตัวเองดีกว่า เช่น ถ้าอยากให้ช่วยเรื่องนโยบายสาธารณะ ก็พร้อมเลย

อีกเหตุผมคือ ผมอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับ Nationalism เท่าคนอื่น ไฟในตัวของผมไม่เหมือนนักการเมือง ผมมีความสุขเวลาทีมทำของเจ๋ง ๆ ให้ลูกค้าไปใช้แล้วบริษัทของเขาดีขึ้น โลกดีขึ้น เช่น โครงการอุบัติเหตุบนถนนที่พอทำแล้วมีคนให้ความสำคัญมากขึ้น ไม่ได้แปลว่าผมด้อยค่าการเมืองนะ มันแค่ไม่เหมาะกับเรา

ความจริงคุณพ่อผมก็พูดถูกว่า ถ้าอยากผลักดันอะไรที่สร้างอิมแพคสูง ต้องทำผ่านระบบการเมือง ผมเห็นด้วยนะ แต่มันไม่เหมาะกับเรา นอกจากนี้ยังเชื่อว่า มีอีกหลายช่องทางที่จะทำประโยชน์ให้สังคมในระดับที่เราพอใจได้ ที่สำคัญคือการใช้ชีวิตแบบนี้ทำให้ผมมีเวลากับครอบครัว ตอนนี้ผมมีลูกชาย 2 คน คนโตอายุ 5 ขวบ ส่วนคนเล็กเพิ่ง 8 เดือน

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ในบทบาทพ่อเป็นอย่างไรครับ

รู้สึกว่าชีวิตมีจุดหมายขึ้น (ยิ้ม) ผมพยายามแบ่งเวลาให้ลูกเท่าที่ทำได้ อาจไม่เยอะเท่าคนอื่น เพราะต้องทำงานหลายอย่าง แต่ก็ไม่ได้ทำเองทั้งหมดนะ พยายามหาคนเก่ง ๆ มาช่วยงานต่อ เพื่อจะมีเวลาบางส่วนใช้กับครอบครัว ซึ่งคุ้มมาก การใช้เวลากับลูกก็เพื่อตัวผมเองด้วยแหละ เพราะผมอยากผูกพันและเติบโตไปกับเขา แล้วความสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตอนลูกยังเด็กนี่แหละ จะให้ทำงานหนักแล้วมาเจอเขาตอนอายุ 10 ขวบก็คงไม่ใช่ ผมโชคดีที่พอบริหารจัดการเวลาได้ ถึงแม้หลายครั้งที่ทำธุรกิจจะเครียดมาก แต่ต้องดีลและซ่อนความรู้สึกนั้นไว้ เพื่อจะได้ใช้เวลาที่มีคุณภาพกับลูกได้เต็มที่

พูดถึงภรรยาบ้าง ทราบมาว่าผู้หญิงคนนี้เป็นผู้ผลักดันให้ณภัทรก้าวเข้าสู่ถนนนักเขียน

ใช่ครับ เราเจอกันตอนเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล เธอเรียนคณะวิศวะ แล้วความที่ผมเป็นเด็กเนิร์ดอย่างที่เล่าให้ฟัง เดตของเราคือการไปห้องสมุดในวันเสาร์อาทิตย์ตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม เพราะผมต้องอ่านหนังสือ เธอก็ซวย เพราะต้องอยู่ด้วยกัน (หัวเราะ)

ส่วนเรื่องเขียนหนังสือ ความที่เรามีเรื่องอยากเล่าเยอะ บางทีนึกไอเดียอะไรออกก็จด ๆ ไว้ แล้วเขียนให้เพื่อนอ่าน ภรรยาก็เลยบอกให้ไปเขียนบทความในบล็อก ซึ่งต่อมาคือ settakid.com จากนั้นก็ได้เป็นคอลัมนิสต์ให้กับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ส่วนใหญ่จะเขียนเรื่องความสัมพันธ์ของข้อมูลกับโลกธุรกิจและนโยบาย ซึ่งในขณะนั้นเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ทำให้มีคนรู้จักเรามากขึ้น และต้องบอกว่าการเขียนเป็นทักษะที่สำคัญต่อการทำงานและธุรกิจมาก เพราะทำให้เราได้ฝึกคิด ไตร่ตรอง และเล่าเรื่องอยู่ตลอดเวลา

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ เด็กเนิร์ด นักคิด นักเขียนผู้หลงใหลและเชื่อว่า Big Data ช่วยให้พรุ่งนี้ดีกว่าเมื่อวานได้

เล่าถึง ‘อาทาเดีย’ ผลงานหนังสือเล่มแรกหน่อยว่า มีจุดเริ่มต้นอย่างไร

มาจากการทำงานทั้งหมด ตั้งแต่ตอนทำวิจัยจนกลับเมืองไทย หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนคำถามส่วนตัวของผมว่า มีอะไรมากกว่าการทำบิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ หรือมาเสวนาเรื่อง Open ฏata กันเถอะ มันมีอะไรมากกว่าการเป็นกระแส และจะสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ไม่ว่าเราทำอะไรก็ตาม มันมีบทบาทเสมอ

อาทาเดีย จะมีทั้งส่วนที่เป็นข้อมูลจริงและนิยาย ถ้าใครเคยดูซีรีส์ Black Mirror ที่เล่าถึงมุมมืดของสังคมในวันที่เทคโนโลยีไปไกล หนังสือเล่มนี้จะเล่าเรื่องประมาณนั้น ผ่านเมืองในจินตนาการที่พอจะเป็นไปได้ในอนาคต เพื่อให้คนอ่านเห็นว่า ถ้าเทคโนโลยีพวกนี้ไปสุดจะทำอะไรได้บ้าง เช่น สามารถอ่านใจจนรู้ว่าเราต้องการอะไร หรือตั้งแต่เกิดมาก็วิเคราะห์ได้ว่าคนนี้จะตายวันไหน บริษัทประกันต้องคิดเงินเท่าไร หรือถ้าเจอคนที่สนใจ ก็จะมีระบบคิดให้ว่า คนนี้ไม่ใช่เนื้อคู่ ยังมีคนที่ดีกว่านี้

มีส่วนหนึ่งในหนังสือที่บอกว่า เรื่องราวใน อาทาเดีย จะเป็นจริงหรือไม่ ขึ้นกับว่าคุณอ่านหนังสือเล่มนี้เมื่อไร

ใช่ แน่นอนว่า อาทาเดีย เป็นนิยายที่คาดการณ์อนาคต ไม่ได้จริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมใช้เวลาเขียนหนังสือเล่มนี้ 3 ปี หลายเรื่องที่เขียนในวันแรกก็เริ่มจริงขึ้นมาแล้ว เช่น ผมเขียนว่า เดี๋ยวนี้เอไอ (AI : ปัญญาประดิษฐ์) วาดรูปได้ดีขึ้น พอวันที่หนังสือเล่มนี้เสร็จ ความสามารถของเอไอก็ก้าวกระโดดมาไกลแล้วจริง ๆ

ประเด็นสำคัญที่หนังสือเล่มนี้อยากชวนคิดคือ เราควรมีสติรับมือและตื่นรู้กับโลกของเทคโนโลยีอย่างไร โดยเฉพาะคำถามยาก ๆ เกี่ยวกับจริยธรรมและความสัมพันธ์ เทคโนโลยีใหม่ทำให้เรามีชีวิต การทำงาน และอยู่ในสังคมที่ดีขึ้นได้ ถ้าคุณใช้เทคโนโลยีข้อมูลเหล่านั้นอย่างถูกต้อง

อย่างวัยรุ่นยุคนี้ใช้แอปพลิเคชันหาคู่เยอะขึ้น ไม่ได้แปลว่าไม่ดีนะ ในเชิงเศรษฐศาสตร์ถือว่าดี เพราะมันช่วยหาคู่ให้ แต่บางทีก็เป็นสังคมได้อย่างใจเกินไป มันอาจไม่ได้ดีที่สุดกับการเชื่อมโยงผู้คน เพราะมันพิสูจน์แล้วกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายอันที่ต้องการเชื่อมโยงเพื่อน สร้างเน็ตเวิร์ก แต่ทุกวันนี้กลายเป็นแพลตฟอร์มโฆษณา ซึ่งบางครั้งเป็นการโฆษณาตัวเองด้วย พอพูดแบบนี้ บางครั้งผมก็เป็นแบบนั้น เช่น เวลาได้รับเชิญไปพูดที่งานหนึ่ง ด้วยความเกรงใจเจ้าของงาน ผมก็โพสต์ว่าเราไปงานนี้มานะ

อยากให้ลองถามตัวเองว่า ในหนึ่งวัน เวลาทำอะไรสักอย่าง สิ่งนั้นเป็นความคิดของตัวเองกี่เปอร์เซ็นต์ ต้นตอมาจากสมองหรือเปล่า หรือโดยยัดเยียดอะไรบ้าง เช่น ใกล้ ๆ เที่ยงมีคอนเทนต์โปรโมชันอาหารขึ้นมาให้เลือก หรือเดินเข้าห้างปุ๊บ โทรศัพท์มือถือก็เด้งข้อความของผลิตภัณฑ์ในห้างนั้นขึ้นมา บางทีเราใช้ชีวิตจนลืมคิดไปแล้วว่า วันนี้อยากคุยกับใคร อยากซื้ออะไร เพราะโซเชียลมีเดียจะฟีดขึ้นมาให้ว่า เพื่อนคนต่อไปของเราจะเป็นใคร บริษัทพวกนี้ต้องการกำไร เพราะฉะนั้น เขาจะทำให้เราใช้เวลาอยูบนแพลตฟอร์มให้นานที่สุด

มีช่วงหนึ่งที่ผมเลิกใช้โซเชียลมีเดียไปพักหนึ่ง ชีวิตรู้สึกออร์แกนิกขึ้นเยอะเลย อยากคุยกับใครก็คิดเอง ไม่ต้องให้โซเซียลมีเดียเด้งรูปใครขึ้นมา อันนี้เป็นจุดที่ผมคิดว่า คนทั่วไปจะเข้าถึงหนังสือเล่มนี้มากที่สุด ถ้าเขาแคร์นะ เพราะบางคนก็ไม่แคร์ เพราะมันง่ายมากที่เราจะเป็นทาสแพลตฟอร์ม ซึ่งไม่ผิดหรอก แต่ผมมองว่าเรื่องความคิดกับตัวตนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์กับคน

คำถามคือ ประชาชนอย่างเราจะทำอะไรไหม หรือจะนั่งไถฟีดไปเรื่อย ๆ แล้วตกลงตัวตนของเราคือใคร และต้องการอะไรจริง ๆ กันแน่

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ เด็กเนิร์ด นักคิด นักเขียนผู้หลงใหลและเชื่อว่า Big Data ช่วยให้พรุ่งนี้ดีกว่าเมื่อวานได้

Writer

Avatar

ปารัณ เจียมจิตต์ตรง

นักเขียนใส่แว่นที่ตกหลุมรักเรื่องราวในชีวิตของผู้คน ผ่านการพูดคุยและการฟัง

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)