People Passion คือคอลัมน์ใหม่จาก The Cloud เล่าตัวอย่างดี ๆ ที่เจ้าของธุรกิจมอบให้พนักงานในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุขขึ้น ตอนแรกเราเริ่มกันที่บริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทย

N.A.P เป็นบริษัทที่บ้าจักรยานมาก

สำหรับชาวจักรยาน มองปราดเดียวจะสะดุดตากับชุดยูนิฟอร์มพนักงาน แถบสีขาวบริเวณแขนเสื้อได้แรงบันดาลใจมาจาก Rapha แบรนด์เสื้อจักรยานชั้นนำจากอังกฤษ 

N.A.P บริษัทที่สร้างสัมพันธ์พนักงานและผู้บริหารผ่านจักรยานและสวัสดิการสำหรับนักปั่น

เดินถัดเข้ามาข้างใน จะพบโรงรถที่ปรับเป็นที่จอดจักรยานหลายสิบคัน ไม่ไกลกันคือบ้านหลังเล็ก ๆ ที่ทุกคนเรียกว่า บ้านเขียว 

บริษัทอื่นจัดหาห้องอาบน้ำให้พนักงานที่ปั่นจักรยานมาทำงาน ที่นี่ปรับบ้านทั้งหลังที่ไม่ได้ใช้งาน ให้เป็นแหล่งรวมตัวและสังสรรค์ของชมรมจักรยานประจำบริษัท มีทั้งผู้บริหารและพนักงานเป็นสมาชิก

ช่วงสิ้นปี Rapha มักจัดกิจกรรมออนไลน์ชื่อว่า Festive 500 ชวนนักปั่นทั่วโลกปั่นจักรยาน 500 กิโลเมตรภายใน 8 วัน

พนักงาน N.A.P คนหนึ่งปั่นจบใน 3 วัน

N.A.P บริษัทที่สร้างสัมพันธ์พนักงานและผู้บริหารผ่านจักรยานและสวัสดิการสำหรับนักปั่น

N.A.P ไม่ได้ขายหรือทำธุรกิจจักรยาน ชื่อเต็มของบริษัทนี้คือบริษัท เอ็น.เอ.พี.เซอร์วิส แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด บริการหลักคือทำความสะอาดและดูแลอาคารทั้งภายในและภายนอกแบบครบวงจร รับงานให้อาคารชั้นนำที่พูดชื่อปุ๊ปทุกคนร้องอ๋อแน่นอน

บริษัทนี้มีทั้งพนักงานส่วนรับผิดชอบหน้างาน และส่วน Back Office ทำงานเอกสารเป็นหลักที่สำนักงานย่านพัฒนาการ พื้นที่ที่เรามาเยี่ยมคือข้อหลัง มีพนักงานราว 200 คน

จุดเริ่มต้นในความบ้าและรักจักรยาน เริ่มจากผู้บริหารชื่นชอบส่วนตัว นำทีมโดย กอล์ฟ-สุรัฐชัย เชนยะวณิช ผู้บริหารและหนึ่งในสมาชิกทีมจักรยานตัวแรงของไทย Singha DTK เมื่อผู้บริหารชอบปั่น ก็นำจักรยานมาปั่นเล่นย่านออฟฟิศ เวลาไม่ปั่นก็จอดไว้ ชวนพนักงานคนอื่นมาลองขึ้นคร่อม ปั่นเสร็จก็ติดใจ จักรยานคันใหม่จึงเริ่มทยอยถูกซื้อเข้ามาในบริษัทจนเต็มที่จอด

N.A.P บริษัทที่สร้างสัมพันธ์พนักงานและผู้บริหารผ่านจักรยานและสวัสดิการสำหรับนักปั่น

N.A.P มีสวัสดิการพิเศษอยู่ข้อหนึ่ง คือพนักงานขอซื้อจักรยานใหม่แบบผ่อน 0% กับบริษัทได้ บริษัทจะออกเงินซื้อให้ก่อน พนักงานค่อย ๆ ผ่อนจ่ายจนหมด โดยมีข้อแม้ว่าต้องพิสูจน์ว่าปั่นจริงจัง เช่น ต้องเคยปั่นระยะทางไกล ๆ ระดับ 100 กิโลเมตร และราคาจักรยานต้องสมเหตุสมผลกับฐานะ 

สมาชิกนักปั่นมีทั้งชายและหญิง วัยรุ่นและ สว. สมาชิกบางส่วนที่มาเล่าเรื่องให้เราฟัง ได้แก่ โตโย่-ทนงศักดิ์ จันทร์จอม, เหน่ง-ธนากร วงษ์ผม, เพชร-ทนงก์ กรองให้ดี, พจน์-พจน์ ครุธเฉย, อุ่น-ไพทูรย์ มัตนามะ, กอล์ฟ-ศราวุฒิ นิลทา, เอ๋-ปัฐพงษ์ วรรณสา และ บุ๋ม-นิภาวรรณ แก้วคูณเมือง

N.A.P บริษัทที่สร้างสัมพันธ์พนักงานและผู้บริหารผ่านจักรยานและสวัสดิการสำหรับนักปั่น

ปลายทางของคนเล่นจักรยาน มักชอบแข่งขันกันทำความเร็ว แต่กับพนักงานที่นี่ตรงกันข้าม พวกเขาเริ่มจากปั่นจักรยานเสือหมอบ แต่กลับมาชอบปั่นจักรยานท่องเที่ยว ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่ามันสนุกกว่า

“เราเป็นนักปั่นสายทัวริ่ง (คำเรียกติดปากของการปั่นจักรยานท่องเที่ยว) เน้นปั่นไปเรื่อย ๆ สบาย ๆ ยิ่งไปที่ใหม่ เราจะยิ่งรู้สึกอยากไปสนุกร่วมกัน ยิ่งสมาชิกไปกันเยอะ ๆ ยิ่งสนุก” เหน่งเล่าเรียบ ๆ

N.A.P บริษัทที่สร้างสัมพันธ์พนักงานและผู้บริหารผ่านจักรยานและสวัสดิการสำหรับนักปั่น

บริษัทที่ชอบจักรยานมีหลายแห่ง เราสังเกตว่า N.A.P มีความแตกต่างบางอย่างที่น่าสนใจ

หนึ่ง จักรยานของพนักงานและผู้บริหารจอดอยู่ที่เดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยก เวลาออกทริปก็ไปด้วยกัน วันออกทริปที่นี่คือทุกวันเสาร์ ปั่นจากบริษัทไปยังละแวกใกล้เคียง ระยะทำการไปกลับ 60 – 80 กิโลเมตร

สอง จักรยานราคาไม่แพง บริษัทสนับสนุนให้พนักงานซื้อจักรยานที่เหมาะสมกับฐานะ ไม่ได้มาอวดใคร ใครที่อยากซื้อแต่ไม่มั่นใจ ผู้บริหารจะชวนให้มาลองหรือยืมขี่ก่อนตัดสินใจ จักรยานราคาถูกก็ปั่นสนุกเหมือนกัน

N.A.P บริษัทที่สร้างสัมพันธ์พนักงานและผู้บริหารผ่านจักรยานและสวัสดิการสำหรับนักปั่น

สาม บริษัทมีรางวัลให้กับคนที่ปั่นจักรยานดีเด่น ตัวอย่างเช่นกิจกรรมของราฟาที่กลายเป็นเหมือนกิจกรรมปั่นประเพณี คนที่ปั่นจบจะได้เงินรางวัลจากผู้บริหาร แม้ไม่มากมายอะไร แต่ทำให้ผู้พิชิตภูมิใจ

สี่ ต่อให้ชอบแค่ไหน N.A.P ก็ไม่อนุญาตให้พนักงานลาเพื่อไปปั่นจักรยานโดยเฉพาะ ที่นี่ใช้ระบบลาเหมือนบริษัททั่วไป อยู่ที่แต่ละคนจะบริหารอย่างไร

ข้อสุดท้าย-เราคิดถึงสมัยที่ซิกเว่ เบรคเก้ และ โจ้-ธนา เธียรอัจฉริยะ นำทัพองค์กร DTAC พวกเขาเคยออกไอเดียให้พนักงานวิ่ง 10 กิโลเมตร เพื่อกระตุ้นให้ทีมมีแรงกระตุ้นในการทำงาน-แล้วการปั่นจักรยานทำให้การทำงานของ N.A.P ดีขึ้นมั้ย

N.A.P บริษัทที่มีสวัสดิการเพื่อคนรักจักรยาน เพราะเชื่อว่าการออกทริปด้วยกันช่วยปลูกความสัมพันธ์ในองค์กรให้งอกงามกว่าเดิม

“ผมไม่เคยเข้างานสายเลย การปั่นทำให้ผมเริ่มชินกับการตื่นเช้าทุกวัน ทำให้เรามีความฟิต ดีกับเรื่องงาน” โตโย่ พนักงานผู้ปั่น 500 กิโลเมตรใน 3 วันเอ่ยก่อน

เรื่องที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็นการสานความสัมพันธ์ของคนต่างแผนกและหน้าที่ด้วยจักรยาน ภาพของพนักงานและผู้บริหารที่นั่งร่วมโต๊ะเดียวกัน แย่งกันเล่าวีรกรรมจากทริปปั่นที่บริษัทเคยจัด ทั้งหมดนี้บอกเราทางอ้อมว่า การใส่ใจปริมาณความสุขของคนในองค์กรคือเรื่องสำคัญไม่แพ้ตัวเลขยอดขาย 

การให้ความสุขกับคน ไม่ได้ทำให้พนักงานหย่อนยาน ถ้ารักษาสมดุลดี ๆ จะทำให้ธุรกิจหนึ่งดำเนินบนเส้นทางยาวไกลได้อย่างมั่นคง ยืนยาว และมีความสุข 

คล้ายการปั่นจักรยานทางไกลที่พวกเขาทำเป็นประจำ

N.A.P บริษัทที่มีสวัสดิการเพื่อคนรักจักรยาน เพราะเชื่อว่าการออกทริปด้วยกันช่วยปลูกความสัมพันธ์ในองค์กรให้งอกงามกว่าเดิม

ภาพ : N.A.P

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก