‘ความทรงจำดำขาว ของ นันทวัฒน์’ คือชื่อนิทรรศการภาพถ่ายดำขาวของ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ที่รวบรวมภาพถ่ายในรอบหลายสิบปี มาจัดแสดงร่วม 50 ภาพ

เจ้าของงานเป็นช่างภาพสมัครเล่น ผู้หลงใหลการถ่ายภาพดำขาวมาเกือบ 60 ปี เขาออกตัวว่า ไม่ใช่ช่างภาพอาชีพ ดังนั้นจึงไม่แม่นยำเรื่องเทคนิค แต่จุดเด่นที่หลายคนชื่นชมก็คือ สายตาอันคมกริบ

ถ้าคุณได้ทำความรู้จักเส้นทางชีวิตของเขา คุณน่าจะสนใจภาพถ่ายของเขา

ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ เป็นนักกฎหมายมหาชนมือต้นๆ ของประเทศไทย เคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการต่างๆ แบบนับกันไม่หวาดไม่ไหว

คุณตาของเขาเป็นชาวกรีก เขาโตมาในบ้านไม้ย่านสี่พระยาที่ฝาบ้านเต็มไปด้วยภาพถ่ายดำขาว เขาจับกล้องถ่ายรูปครั้งแรกตั้งแต่เรียนประถม เป็นกล้อง Zeiss Ikon มรดกจากคุณพ่อ

หลังจากจบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แบบฉิวเฉียด ก็ไปเรียนต่อฝรั่งเศสพร้อมกล้อง Kodak Disc ซึ่งมีฟิล์มเป็นแผ่นวงกลมเหมือนแผ่นดิสก์ ที่ฝรั่งเศสเขาซื้อกล้องอีกตัว เขาบ้าถ่ายรูปจนสู้ค่าล้างอัดไม่ไหว เลยต้องเปลี่ยนมาถ่ายด้วยฟิล์มสไลด์ แล้วซื้อเครื่องฉายมาดูรูปแทน

พอกลับมาเมืองไทย ได้เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เขาได้เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุ 40 ต้นๆ เขาเขียนตำราและงานวิจัย 30 กว่าเล่ม แต่ผลงานแรกที่ได้รับการตีพิมพ์คือ เรื่องของวง The Beatles

เขาทำเว็บ pub-law.net เว็บไซต์กฎหมายมหาชน ซึ่งถือเป็นเว็บคอนเทนต์ยุคแรกๆ ของไทย ไปพร้อมๆ กับการเขียนเรื่องศิลปะลง มติชน ทุกสัปดาห์

เขาได้รับรางวัลมากมายในบทบาทอาจารย์ และได้รับเชิญไปสอนที่ฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการปีละ 2 – 3 ครั้งทุกปี

ด้วยบทบาททั้งหมดที่เขาเคยได้รับมา ล้วนแต่เป็นงานที่เป็นทางการและอยู่ในระบบระเบียบมาก

แต่เลือดศิลปินอันเข้มข้นในตัวเขา มักจะฉุดกระชากให้เขาลุกขึ้นมาทำงานต่างๆ แบบแตกต่าง และไม่สนใจกรอบสักเท่าไหร่

ถ้าคุณอ่านบทสัมภาษณ์ด้านล่างจบ ขอเชิญไปชมงานของเขาได้ที่ที่ห้องแกลเลอรี่ ชั้น 1 TCDC กรุงเทพฯ แสดงถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้

ถ้าพูดถึงชีวิตในวัยเด็ก คุณเห็นภาพตัวเองกำลัังทำอะไรอยู่

ผมอยู่ในบ้านไม้เก่าของคุณตาคุณยายแถวสี่พระยา เป็นชีวิตที่สนุก และเป็นความทรงจำที่ดีมาก อยู่กันครบหมด จะว่าเคร่งครัดก็ไม่เคร่งครัด จะปล่อยก็ไม่ปล่อย คุณตาผมเป็นชาวกรีก มาขายบุหรี่ที่เมืองไทย เลยมีของประหลาดๆ มาให้เราเล่นเยอะแยะไปหมด เสียดายหายไปหมดแล้ว อย่างตู้เย็นโบราณ เป็นตู้สังกะสี มีช่องใส่ของนิดเดียว ข้างๆ เป็นช่องสำหรับใส่เกลือเม็ดเพื่อเก็บความเย็น ตอนเด็กเราก็งัดทุบหมด เก้าอี้ไม้แกะสลักจากต่างประเทศหนักมาก สามคนยังยกไม่ขึ้น เราก็เอามาซ้อมทาสี เละเทะไปหมด เพราะคนในบ้านไม่ได้บอกว่ามีค่ายังไง วัยเด็กผมอยู่กับคนแก่และของเก่าเยอะมาก

ถ้าช่วงที่เป็นนักเรียนในฝรั่งเศส

ไปดูนิทรรศการ ไม่ก็ดูแข่งรถ ก่อนไปฝรั่งเศสผมมีเพื่อนเป็นแก๊งซิ่งรถ ยุคนั้นต้องมีทีม มีชื่อทีม ห้าทุ่มเที่ยงคืนก็ไปไล่กับเขาตามถนน ผมซิ่งรถมินิแต่งเต็มที่เลย เวลาไปฝรั่งเศส มีแข่งรถในปารีสก็ไปดูตลอด แล้วก็ซื้อหมวกทีมรถแข่งมาฝากเพื่อน ผมนึกถึงอะไรพวกนี้ ไม่ได้นึกถึงเรื่องเรียนเท่าไหร่ ก็แค่เข้าห้องเรียนจดเลกเชอร์ เวลาสอบก็เอาแอปเปิ้ลไปลูกนึง บุหรี่ซองนึง แอบจิ๊กที่เขี่ยบุหรี่จากแมคโดนัลด์ เพราะเป็นสังกะสีเบาๆ กินแอปเปิ้ล สูบบุหรี่ แล้วก็ทำข้อสอบไป

คุณใช้ชีวิตในฝรั่งเศสแบบไหน

ผมมีลูกพี่ลูกน้องสามคนไปอยู่ที่โน่นตั้งแต่เด็ก เวลาไปไหนก็ไปกับกลุ่มนี้ แล้วก็มีเพื่อนสนิทตั้งแต่อยู่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ สูบบุหรี่มวนแรกในห้องน้ำด้วยกัน เรียนจุฬาฯ ด้วยกัน แล้วก็มาอยู่ที่นี่ด้วย ใช้เงินทองกระเป๋าเดียวกัน เป็นทูตที่ทำเรื่องเขาพระวิหารชื่อ วีรชัย พลาศรัย เสียชีวิตไปแล้ว

ชีวิตที่โน่นเราได้เห็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็น ได้ทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ อยู่เมืองไทยจะเที่ยวหัวหกก้นขวิดยังไงก็ต้องกลับบ้าน แต่นี่เราไปนอนไหนก็ได้ กินข้าวอยู่ห้าทุ่มเพื่อนโทรมาชวนไปทะเลก็ขับรถกันไป ถึงทะเลตีห้า เดินถ่ายรูปเล่น หาอะไรกิน แล้วขับรถกลับปารีส เป็นชีวิตที่ทำอะไรก็ได้ ไม่มีกรอบ

การเรียนที่ฝรั่งเศสต่างจากในเมืองไทยมากไหม

ก็พูดลำบากนะ ผมไม่แฮปปี้กับตัวเองเท่าไหร่ สมัยเรียนเราเรียนๆ เล่นๆ เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป ออกไปแข่งรถบ้างอะไรบ้าง จบได้ก็ถือว่าบุญแล้ว

คุณจบปริญญาตรีด้วยเกรดเท่าไหร่

อย่าพูดถึงเลย จบได้ก็บุญแล้ว พอไปเรียนที่นู่นเราก็ยังเรียนแบบเมืองไทย มีเพื่อนช่วย จนจบปริญญาเอกกลับมาเมืองไทย ผมรับราชการอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา น้องๆ ไปเรียนเนฯ กัน ผมก็เดินข้ามสนามหลวงไปนั่งฟังด้วย เพราะตอนเรียนเราไม่ตั้งใจไง พอ อาจารย์วิษณุ เครืองาม โอนจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ไปอยู่ทำเนียบรัฐบาล อาจารย์ที่คณะก็ชวนให้ผมโอนมาเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

คุณไม่น่าจะอยากเป็นอาจารย์นะ

ตอนผมสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ผมเลือกคณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร อันดับหนึ่ง พอคุณแม่ทราบก็บอกว่า ให้ไปอยู่ที่อื่นแล้วหาเงินเอง เพราะคุณแม่ผมจบจุฬาฯ ปีนี้อายุเก้าสิบเจ็ดปี เป็นจุฬาฯ ยุคบุกเบิก ผมก็ต้องสลับมาเลือกนิติ จุฬาฯ อันดับหนึ่ง แล้วดันติด ปีหนึ่งเกรดไม่ดีเท่าไหร่ ผมก็ไปสอบเอนทรานซ์อีกรอบนะ จะเอามัณฑศิลป์ แต่ไม่ติด ก็เลยเป็นนักกฎหมายเรื่อยมา

เรื่อยมาจนได้เป็นคณบดี

เราอยู่ตรงไหนก็ต้องทำตรงนั้นให้ดีที่สุด ผมจำไม่ได้นะว่าทำไมตัดสินใจย้ายมาจุฬาฯ คงเพราะรุ่นพี่ที่เป็นอาจารย์หลายคนชวน สมัยนู้นกฤษฎีกามีรุ่นพี่จุฬาฯ น้อยมาก เราก็เหมือนหัวเดียวกระเทียมลีบ ไม่คุ้นกัน พอมีคนชวนกลับมาอยู่บ้าน เป็นอีกสังคมนึง ก็โอเคนะ แล้วก็ตั้งใจว่าจะทำให้ดีที่สุด

ชีวิตอาจารย์จุฬาฯ เป็นอย่างที่คิดไหม

ผมอาจจะมีปัญหากับการเป็นอาจารย์ค่อนข้างเยอะ เพราะตอนแรกผมรับราชการมาก่อน ตอนอยู่กฤษฎีกา ผมทำงานเป็นหน้าห้องผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการมาทำงานเจ็ดโมง ผมต้องมาถึงก่อน กลับบ้านสามทุ่ม ผมต้องกลับทีหลัง ทำแบบนี้ทุกวัน พอเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ผมตกใจที่ไม่มีอะไรทำ อาจารย์ใหม่สอนสองวิชา ผมก็เลยเอาเวลาว่างไปเขียนหนังสือ ผมเขียนตำราวิชาการเยอะมาก เขียนไว้สามสิบกว่าเล่ม ผมมีตำแหน่งวิชาการแบบกระโดด จาก ผศ. (ผู้ช่วยศาสตราจารย์) เป็น รศ. (รองศาสตราจารย์) จนได้เป็น ศ. (ศาสตราจารย์) ตั้งแต่อายุสี่สิบกว่าๆ ผมทำวิจัยจนถึงจุดที่ได้รางวัลทุกอย่างแล้ว เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ได้รางวัลการสอนดีเด่น อาจารย์ดีเด่น เขาประกวดอะไรกันในจุฬาฯ ผมก็ได้หมด

ผมเป็นศาสตราจารย์ตอนอายุน้อย แต่ซีถึงแล้วคือซีสิบ ซีสิบเอ็ด หมายถึงเป็นข้าราชการระดับสูงของประเทศ ผมก็ถูกหน่วยงานจำนวนมากขอให้ไปเป็นกรรมการตามส่วนราชการ ผมเคยเป็นกรรมการสอบวินัยอธิการบดี รองปลัดกระทรวง เยอะแยะไปหมด อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ออกไปนั่งตามบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย แต่ผมไปอยู่ส่วนราชการหมดเลย มีอยู่ช่วงนึงรถผมมองไม่เห็นกระจกหน้า เพราะผมติดตราเข้าหน่วยงานสิบกว่าอัน จนตอนหลังต้องแปะใส่แผ่นพลาสติกแล้วเสียบไว้ข้างๆ ช่วงนั้นผมเป็นกรรมการเยอะมาก พอถึงเวลาก็มาสอน

ถ้าพูดถึงชีวิตการเป็นอาจารย์จุฬาฯ คุณเห็นภาพเห็นตัวเองกำลังทำอะไร

ตรวจข้อสอบ นิติศาสตร์ต้องเขียน ไม่มีชอยส์ ข้อสอบสามข้อ เด็กสองร้อยคน บางทีตรวจกันเป็นเดือน ผมเคยไม่อยากเป็นอาจารย์แล้ว เพราะขี้เกียจตรวจข้อสอบนี่แหละ

คุณเคยได้รางวััลอาจารย์แบบอย่าง อะไรทำให้คุณได้รางวัลนี้

คณะเสนอชื่อผมไป ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขามีเกณฑ์อะไร แต่ผมสนิทกับเด็ก ผมเป็นเด็กค่ายมาก่อน ก็จะรู้จักเด็กค่าย ช่วยเด็กที่ทำกิจกรรม ตลอดเวลาที่ผมเป็นอาจารย์ ผมเลี้ยงเด็กมาตลอด ทั้งเด็กชาย เด็กหญิง จ่ายค่าขนมให้เขา แล้วให้มาทำงานที่ห้องผม ช่วยค้นหนังสือ บางทีมีเด็กเกินความต้องการของเรา ผมก็จ่ายเงินให้เขา แล้วให้เขาทำงานในห้องสมุดช่วยพี่ๆ บรรณารักษ์

นอกจากเราจะสอนแล้ว เราก็ยังห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ ตอนนั้นผมก็ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรนะ เวลาเด็กจะไปค่ายเขาก็จะมาขอ ผมก็ต้องไปแมคโครซื้อลูกฟุตบอล ดินสอ สมุดให้ไปค่าย หลังๆ ผมก็ไล่ให้ไปขอคนอื่นๆ บ้าง อาจารย์ในคณะมีสี่สิบกว่าคน มาหาผมคนเดียวได้ยังไง คือเรารู้ว่ามาหาเรามันง่ายไง เราก็เริ่มให้น้อยลง

ทำไมต้องเลี้ยงเด็กด้วย

เด็กจุฬาฯ เนี่ยนะดูเหมือนรวย แต่บางคนจนมากเลยนะ บางคนพ่อเป็นคนฉายหนัง นอนในโรงหนัง ไม่เคยมีบ้าน ฉายหนังเสร็จเที่ยงคืน ก็ปิดโรงหนังนอนกันตรงนั้น แบบนี้เราควรช่วยไหมล่ะ บางคนพ่อเป็นช่างฟิต แม่ขายส้มตำ น้องเป็นออทิสติก บ้านเป็นเพิงสังกะสีอยู่รังสิต เรียนแปดโมงต้องออกจากบ้านตีห้า เราก็ส่งคนไปดู เขาก็ขอทุนจุฬาฯ แต่ไม่พอ ก็เป็นหน้าที่เรา ผมมีคอมพิวเตอร์ให้ผู้ช่วยวิจัยใช้อยู่ในห้อง เด็กคนไหนอยากใช้ก็มาใช้ที่นี่ได้ ให้ผู้ช่วยวิจัยช่วยดูว่าใช้เรื่องเรียนนะ

คุณใช้เงินส่วนตัว

ตอนนั้นผมมีเงินเยอะ เพราะประชุมเยอะ ผมมีกระเป๋าใบนึง ตอนนี้ยังอยู่แต่ไม่มีเงินแล้ว เพราะเขาใช้วิธีโอนหมดแล้ว ผมจะเอาซองที่ได้จากการประชุมใส่กระเป๋า ไม่เคยแกะมาใช้เลย เวลาจะไปต่างประเทศก็หยิบมานับแล้วเอาไปแลก บางทีได้เป็นแสนเลยนะ เราได้เงินพวกนี้มาเราก็ให้เด็ก ไม่ได้ควักเนื้อ ไม่กระทบเงินเดือนผมที่ผมต้องกินต้องใช้เลย

คุณสอนหนังสือสไตล์ไหน

ผมขึ้นชื่อว่าดุมาก ผมค่อนข้างซีเรียสกับการสอน เพราะเมื่อก่อนเราเป็นเด็กเกเรแล้วเสียโอกาสไปเยอะ ผมพยายามเล่าให้เด็กฟัง ถ้าไม่เกเรผมอาจจะดีกว่านี้เยอะ จะเรียนก็ตั้งใจเรียน ไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องมาเรียน ผมไม่เช็กชื่อ เวลาสอนผมก็สอนแบบทั่วๆ ไป แต่เบรกทุกห้านาที พูดอะไรปั๊บก็หยุดถามว่า อันนี้เข้าใจไหม ทีละจุด แล้วก็บอกเด็กว่า ผมถามคุณทุกห้านาทีว่าเข้าใจไหม ถ้าคุณไม่ตอบ แปลว่าคุณเข้าใจทั้งหมด กลับบ้านไปไม่ต้องไปดูหนังสือวิชาผมหรอก ไปดูวิชาอื่นเลย วิชาที่ผมสอนส่วนใหญ่ไม่ใช่วิชาท่อง ผมสอนกฎหมายปกครอง เป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นกฎหมายที่ไม่ยาก ต้องทำความเข้าใจ

คุณไปสอนหนังสือที่ฝรั่งเศสได้ยังไง

เพื่อนที่ฝรั่งเศสชวนไป ไปสอนครั้งแรกที่เอกซอง-โพรวองซ์ (Aix-en-Provence) ค.ศ. 1997 เป็นอาจารย์รับเชิญมีเงินเดือน ตอนนั้นผมมีบัญชีเงินฝากที่นั่นด้วย ไปปีนึงสองหนบ้าง สามหนบ้าง พอไปแล้วได้รู้จักใครเพิ่มก็ไปต่อเรื่อยๆ

ไปสอนเรื่องอะไร

เอากฎหมายไทยไปเล่าให้เขาฟัง เวลาพวกเรียนปริญญาเอกทำวิทยานิพนธ์ เขาเรียนเปรียบเทียบ เราก็เอาเคสของเราไปเล่า ส่วนใหญ่ผมสอนเรื่องการปกครองท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจ บังเอิญเรารู้ของฝรั่งเศสด้วย ก็เปรียบเทียบให้เขาได้เลย อย่างกฎหมายท้องถิ่น เราพูดได้เลยว่า ค.ศ. 1789 ตอนฝรั่งเศสปฏิวัติ เขาตั้งเทศบาล พ.ศ. 2475 ที่เราปฏิวัติ เราก็ตั้งเทศบาลเหมือนกัน เนื้อหากฎหมายแทบจะไม่ต่างกัน เพราะเราไปเอาของเขามา ผมก็อธิบายไป เขาเชิญอาจารย์มาจากหลายชาตินะ เป็นหัวข้อเดียวกันวันจันทร์รัฐธรรมนูญไทย อังคารรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น พุธรัฐธรรมนูญอเมริกา อะไรแบบนี้

ถ้าพูดถึงการไปสอนหนัังสือที่ฝรั่งเศส คุณเห็นภาพไหนเป็นภาพแรก

ช่วงถามคำถาม ผมกลัวการถูกถามคำถาม เพราะเราเตรียมตัวไม่ได้ มีอยู่หนนึงเกือบตาย สมัยที่มีเรื่องยาเสพติดฆ่าตัดตอน ตอนนั้นเครียดมาก มือซีดเลย ตอบตะกุกตะกัก เพราะว่าเราตอบมากไม่ได้ มีนักเรียนไทยนั่งอยู่ห้าหกคน โกหกพวกนั้นก็ด่าตายเลย เราจะด่าประเทศไทย ถ้าพวกนี้เป็นข้าราชการก็ไม่รู้จะมาฟ้องเราไหม เลยต้องตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ให้ผ่านไปได้

ช่วงที่ไปสอนที่ฝรั่งเศส คุณใช้ชีวิตต่างจากตอนเป็นนัักเรียนไหม

ไม่เหมือนเดิมแล้ว เรามีมุมมองเรื่องใช้เวลาให้คุ้มค่ามากกว่าตอนเป็นนักเรียน เราต้องนึกถึงวัตถุดิบว่าเราจะเขียนอะไร ผมเคยไปนั่งเขียนหนังสือได้เล่มนึงในห้องสมุดที่นั่น ใช้เวลาสองเดือนกว่า ผมไม่อยากแบกหนังสือกลับก็ทำบัตรห้องสมุด ตอนเช้าก็ไปอยู่ห้องสมุด เขียนหนังสือเป็นภาษาไทยแล้วก็เอากลับมาพิมพ์

คุณเขียนตำราวิชาการ 30 กว่าเล่ม แต่หนังสือเล่มแรกที่ได้ตีพิมพ์กลับไม่ใช่ตำราวิชาการ

ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับวงดนตรี The Beatles พิมพ์กับสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ผมกับวีรชัยเป็นแฟนตัวยงเลย เราเงินน้อยก็ต้องนั่งรถเมล์ไปที่ท่าเรือแล้วข้ามไปอังกฤษ นั่งรถเมล์ต่อถึงลอนดอน นั่งรถไฟไปดูบ้านจอห์น เลนนอน บ้านพอล แมคคาร์ทนีย์ ผมเป็นสมาชิกแฟนคลับของ The Beatles ทั้งในฝรั่งเศสและอังกฤษ เคยไปประมูลของด้วย กลับมาตอนอยู่กฤษฎีกาก็เขียนหนังสือเล่มนึงเป็นเล่มแรกในชีวิตเลย

แล้วคุณก็มีคอลัมน์เรื่องศิลปะใน มติชน ด้วย คุณไปสะสมความรู้เรื่องศิลปะตอนไหน

ผมชอบ ผมอ่านเยอะ ตอนเรียนที่ฝรั่งเศสผมพักที่หอพักพระ ผมจบจากโรงเรียนอัสสัมชัญ พระที่เดินทางไปสอนหรือเผยแผ่ศาสนาในเอเชีย พออายุมากก็จะกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิดตัวเอง เป็นหอพักพระที่เตรียมไว้สำหรับพระเกษียณ ตอนนั้นมีห้องว่าง เพราะพระยังไม่กลับกันมา ผมก็เลยได้รับคัดเลือกให้ไปพัก คุณพ่อที่ดูแลหอพักมีเพื่อนสนิทเป็นนักกฎหมาย เป็นคนที่มีบุญคุณกับผมมาก อยากได้อะไรคุณพ่อก็พาไปหาเขา ไปขอหนังสือ ขออะไรต่ออะไร อีกคนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนลูฟวร์ อยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ เขาพาเราไปวันอังคารที่พิพิธภัณฑ์ปิด ไปดูอะไรต่ออะไรที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสเห็น

คุณพ่อที่หอแกฟังเพลงคลาสสิก วันเสาร์กินข้าวเย็นด้วยกันเขาก็สอนให้ฟัง เล่าประวัติ มีวิธีอธิบายให้เราไปต่อยอดเอง เรื่องศิลปะหรือเพลงคลาสสิกผมได้จากฝรั่งเศสร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ชายที่พักหอเดียวกับผมอีกคนคือ อาจารย์มณเฑียร บุญมา เป็นศิลปินที่ดังระดับโลก เสียชีวิตแล้ว ทุกวันเราเดินตัดสวนไปด้วยกัน ผมเดินไปมหาวิทยาลัย เขาเดินไปโรงเรียน ผมเลี้ยวขวา เขาเลี้ยวซ้าย พี่มณเฑียรเปิดโลกศิลปะให้ผมเลย แกเล่าเรื่องศิลปินไทยอะไรต่อมิอะไรมากมายไปหมด

คุณเขียนเรื่องเกี่ยวกับอะไร

ผมใช้นามปากกา อายตนะ พูดเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ วันเกิดจอห์น เลนนอน ผมก็เขียนประวัติจอห์น เลนนอน เห็นเรื่องอะไรน่าสนใจก็เอามาเขียนเป็นตอนสั้นๆ ตอนนั้นชีวิตลำเค็ญมาก เพราะผมต้องส่งต้นฉบับยาวสี่หน้าเอสี่ทุกสัปดาห์ แล้วก็ต้องเขียนบทบรรณาธิการที่ pub-law ประมาณหกหน้าเอสี่สัปดาห์เว้นสัปดาห์ งานนึงเป็นอาร์ต อีกงานเป็นกฎหมาย ก็สนุกดีนะครับ ผมยังอยากเขียนเรื่องศิลปะอยู่เลย เพราะทุกวันนี้ผมยังเก็บไอ้นู่นไอ้นี่อยู่ เวลาเห็นงานใครน่าสนใจ ผมก็เออ ไม่เลวเว้ย เป็นศิลปินรุ่นใหม่ในต่างประเทศที่เราอยากเขียนถึง

ทำไมคุณถึงลุกขึ้นมาทำเว็บไซต์ pub-law.net

อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช บอกว่าต้องมีเว็บไซต์ที่เหมือนหนังสือดีๆ สักเล่ม แล้วก็ต้องไม่ใช่แค่เว็บรวมข้อมูลกฎหมายนะ หนังสือดีๆ ต้องมีมือฉมังเขียนบทบรรณาธิการโดยเอาความเคลื่อนไหวของสังคมมาเขียน ใช้ความรู้ของตัวเองวิเคราะห์วิจารณ์ ผมก็พยายามทำ อย่างศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมา เราก็แสดงความเห็น เราเปิดช่องให้อาจารย์กฎหมายเขียนมาลงได้ ตอนนั้นคนพูดถึงกันเยอะมาก

ตอน คุณนพดล ปัทมะ ทำเรื่องเขาพระวิหาร พอรู้ผมก็ค้นเลย แล้วก็รีบลงทันทีกลัวหลุดประเด็น ผมเขียนไปสามวัน วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็เขียน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็เขียน เหมือนกับสื่อยุคนี้ที่เราต้องชิงออกก่อน ข้อดีของการออกก่อนคือ ยุคนั้นมติชนเอาบทความใน pub-law ไปลงต่อบ่อยมาก

ในแง่การเป็นนักกฎหมายมหาชนผมถือว่าการทำ pub-law คือที่สุดแล้ว เพราะไม่เคยมีใครทำ จนวันนี้ก็ยังไม่มี วันที่ pub-law ออนไลน์เป็นวันแรก ผมทำจดหมายเวียนให้ตู้จดหมายอาจารย์ทุกคน บอกว่าผมทำเว็บ pub-law สำเร็จแล้วนะ แต่มีเฉพาะกฎหมายมหาชน ถ้าอาจารย์ท่านใดสนใจจะทำกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายอาญา ขอให้มาบอก เราจะทำด้วยกัน ผมจะช่วยหาทุนให้ นิติศาสตร์ จุฬาฯ จะได้มีเว็บกฎหมายใหญ่ที่สุด แต่ก็ไม่มีใครทำ ผมก็ทำของผมเรื่อยมา

ตอนเป็นบรรณาธิการเว็บไซต์ คุณเห็นภาพตัวเองกำลังทำอะไรอยู่

เหนื่อย ด้วยความเป็นนักวิชาการข้อมูลเราต้องเป๊ะ พลาดไม่ได้ เวลาศาลรัฐธรรมนูญแถลงข่าวว่าคนนี้ผิดคนนั้นไม่ผิด หนังสือพิมพ์มาสัมภาษณ์ ผมไม่เคยให้สัมภาษณ์ และไม่เคยเขียนจนกว่าจะได้อ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็ม ซึ่งจะออกในอีกยี่สิบวัน เราเป็นนักกฎหมาย เราต้องอ่านคำพิพากษา แต่พวกเสือปืนไวอ่านห้าบรรทัดก็ออกมาด่าเขาแล้ว พอคำวินิจฉัยจริงๆ ออกมาก็ต้องถอย เพราะมันอาจจะไม่ได้เป็นแบบที่คนด่าตอนต้น ผมจะรอให้ทุกอย่างเป็นทางการ นักกฎหมายที่ดี หนึ่ง คุณต้องอ่าน สอง คุณต้องมีข้อมูลทั้งหมดในมือก่อนจะวิจารณ์ ไม่ใช่นึกจะด่าใครก็ด่า ประสบการณ์ก็ไม่มี บางอย่างถ้าเราไม่เคยทำเราก็ไม่รู้หรอก หลังๆ เราเห็นแบบนี้เยอะ

นักกฎหมายมหาชนยังไงก็ต้องทำงานกับใกล้ชิดนักการเมือง คุณวางตัวยังไง

ผมช่วยงานการเมืองเยอะแยะ แต่ผมเลือกช่วย อย่าง อาจารย์โภคิน พลกุล มาขอให้ผมช่วย ตอนผมทำวิทยานิพนธ์แกช่วยส่งข้อมูลให้ผมเยอะ เป็นพี่ชายเพื่อนด้วย ล่าสุดเพื่อนสนิทผม กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ไปเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยว ผมก็ไปช่วย แต่ผมจะไม่รับเงิน ผมไม่เคยรับเงินเลย

เขาให้คุณไปช่วยอะไร

ช่วยดูกฎหมาย เมื่อก่อนผมมีห้องเล็กๆ อยู่หลังห้องอาจารย์โภคิน ดูแฟ้มกฎหมายอย่างเดียว ทำเสร็จก็กลับบ้าน ไม่ปรากฏตัว เราก็โอเคนะ สนุกด้วย ได้หลายสิ่งมาใช้ในการทำงาน เวลาคนมาหาอาจารย์โภคิน ผมก็ได้เจอบ้าง บางทีปลัดกระทรวงมาอาจารย์โภคินก็บอกว่า เอกสารนี้อยู่กับอาจารย์นันทวัฒน์ลองไปดู ผมก็ได้รู้จักกับคนเหล่านี้ หลายคนเกษียณไปแล้ว เป็นผู้ว่าฯ ไปตั้งไม่รู้กี่คน เราก็ได้เคสมาใช้สอนหนังสือ เป็นเรื่องที่หาไม่ได้อีกแล้ว หาไม่ได้เลย เพราะเคสที่เข้ามาหารือรัฐมนตรี บางครั้งก็หารือด้วยวาจา แกก็ชวนให้เข้าไปฟังด้วย เราก็ได้รับรู้ความเป็นไปเป็นมา สิ่งที่ผมชอบที่สุดคือดูวาระประชุม ครม. เมื่อก่อนเป็นหน้าที่ผม ตอนคุณกอบกาญจน์เป็นรัฐมนตรี ผมก็ช่วยดูวาระ ครม. เราทราบว่าจะมีกฎหมาย กฎระเบียบอะไรเข้า เรามีโอกาสได้ดูเนื้อหาเบื้องต้นแล้วเขียนความเห็น คำแนะนำว่าควรสนับสนุนหรือไม่ควร เขาจะทำหรือไม่ทำก็เรื่องของเขา สิ่งพวกนี้เอามาใช้ในการทำงาน เขียนบทความ และสอนหนังสือได้หมดเลย

แล้วคุณวางตัวยังไงไม่ให้กลายเป็นเนติบริกร

ผมไม่เกี่ยวเลย ผมไม่เป็นเนติบริกรเด็ดขาด ผมเขียนความเห็นอย่างตรงไปตรงมา สมัยทำกับอาจารย์โภคิน ผมถ่ายเอกสารเก็บไว้หมดเลย ผมเคยถูกผู้ใหญ่ท่านหนึ่งอบรมว่า การเป็นที่ปรึกษาคือ คุณให้คำปรึกษาเขา เขาจะทำตามหรือไม่ทำตามเป็นเรื่องของเขา ไม่เกี่ยวกับคุณ อย่าไปโกรธ เราให้ความเห็นไปแล้วก็ผ่านไป ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อก่อนมีใบเซ็นรับเงินเดือน ผมก็ขีดว่าไม่เอา ตอนหลังต้องบอกว่าไม่รับ เพราะการรับเงินทำให้เราต้องเข้าไปพัวพัน

คุณเคยมีส่วนร่วมกับการร่างรััฐธรรมนูญฉบับไหนบ้าง

ผมไม่เคยมีส่วนร่วมเลย เพราะผมไม่วิ่งเต้นเข้าไป

นักกฎหมายหลายคนมองว่า การได้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญเป็นหมุดหมายที่สำคัญของชีวิต คุณไม่คิดแบบนั้นหรือ

ทุกคนอยากเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ แต่ว่าเวลารัฐธรรมนูญมันห่วยไม่มีใครยอมรับเลย อย่าง พ.ศ. 2560 ตอนออกมาใหม่ๆ พูดกันว่าคนนู้นคนนี้เป็นเจ้าของ เป็นมิสเตอร์รัฐธรรมนูญ วันนี้ไม่เห็นออกมาพูดอะไรเลย ออกมาเถียงก็ถูกเด็กด่าตลอด ผมเคยอยากเขียนมากๆ แค่ครั้งเดียว ตอนที่ทำงานกับเจ้านายเก่าของผม อาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ท่านเป็นเหมือนนักปราชญ์ วิธีคิดของท่านเป็นระบบมาก ท่านเคยพูดว่า ผู้รับเหมาเขียนสเปกไม่ได้ หมายความว่า เวลาคุณจะก่อสร้าง ถ้าให้ผู้รับเหมาเขียนว่าจะใช้อะไร เขาจะเขียนสิ่งที่ง่ายต่อตัวเขาเอง อาจารย์อมรท่านเลยไม่ศรัทธา ผมก็ซับซึมทุกอย่างจากท่านมาเยอะมาก เข้าไปเขียนก็ทำอะไรไม่ได้หรอก เพราะเขามีธงอยู่แล้วทุกครั้ง ก็ไม่เคยเข้าไปเลย

ตอนรัฐประหารหนนี้ ผมเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยก็ส่งไปเป็น สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) กับคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ผมก็ไม่เป็นเหมือนกัน เพราะมันเป็นไปไม่ได้สำหรับเรา ทั้งเรื่องเวลา และเห็นเพื่อนร่วมทีม บางทีคุณก็เดาออกว่าอะไรเป็นอะไร บางทีเข้าไปก็เปลืองตัว เหมือนอย่าง สว. ชุดนี้ ผมไม่ค่อยนึกถึงเรื่องพวกนี้ว่าทำไมต้องเข้าไป

โดยส่วนตัวผมก็มีงานทำทุกวัน มีประชุมโน่นนี่อยู่แล้ว ทำไมเราต้องอยากมีชีวิตแบบนั้นด้วย บางคนอายุหกสิบแล้วไม่ยอมจบ จุฬาฯ ให้ผมอยู่ถึงหกสิบห้า ผมยังขออยู่แค่หกสิบ บางคนเกษียณจากตำแหน่งใหญ่ๆ ในกระทรวงตอนหกสิบ ก็จะไปอยู่อีกทีเพื่อต่อให้ถึงหกสิบห้า จะได้มีรถประจำตำแหน่ง มีห้องทำงาน มีเลขา คนชอบแบบนี้กัน ในขณะที่เพื่อนผมที่ฝรั่งเศส พอเกษียณปั๊บ เมียอายุน้อยกว่าสิบปีก็ลาออกด้วย แล้วสองคนก็ไปเที่ยวกัน ไปบ้านเพื่อนคนนั้นคนนี้ ไปต่างประเทศ ผมต้องการชีวิตแบบนั้น โชคร้ายที่มีโควิด ไม่งั้นผมคงอยู่ฝรั่งเศสยาว มีอะไรทำเยอะแยะ มีบ้านเพื่อนให้อยู่

สมมติว่าคุณได้รับเชิญไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับหน้า…

ผมก็ไม่เข้า ยังไงก็ไม่ไป

สมมตินะครับ ถ้าเขียนอะไรลงไปในรัฐธรรมนูญได้อย่างหนึ่ง คุณอยากเขียนอะไร

รัฐสวัสดิการ ผมสู้มาเป็นสิบๆ ปี เคยเขียน เคยพูดบนเวทีมาเป็นร้อยรอบ ถูกด่าตลอด ถูกด่าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย ทางรอดของประเทศไทยคือรัฐสวัสดิการ ไม่มีทางอื่น ทุกวันนี้มีลูกศิษย์ผมที่เป็นนักการเมืองชวนผมไปเป็นรัฐมนตรีช่วย ผมบอกว่า ถ้าให้ผมเป็นผมจะทำรัฐสวัสดิการนะ เขาบอกว่า ไม่ได้หรอกครับอาจารย์ เดี๋ยวหัวหน้าพรรคไม่ยอมอย่างโน้นอย่างนี้ งั้นก็ไม่ต้องมาคุยกัน 

ตอนนี้มีความเหลื่อมล้ำเยอะมาก ต้องเป็นรัฐสวัสดิการเท่านั้นเอง ผมเคยทำวิจัยไว้กับสถาบันพระปกเกล้าเรื่องนี้ด้วย คือปรับโครงสร้างของประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการ เรื่องวัคซีนที่ที่รัฐจะให้เรา กลับต้องเสียเงินจองเอง พวกคนใหญ่คนโตก็ฉีดเข็มสี่เข็มห้า บางคนยังไม่ได้ฉีดเลย ไม่ได้หรอก มันต้องสวัสดิการแบบถ้วนหน้า

อะไรทำให้คุณอยากจัดนิทรรศการภาพถ่าย

ผมถ่ายรูปไว้เยอะ โดยเฉพาะรูปดำขาว พอตอนช่วงโควิดปีที่แล้ว ทุกอย่างหยุดหมด ประชุมออนไลน์ก็ยังไม่มี ผมอยู่บ้านเฉยๆ ก็เอารูปมารื้อดู แล้วก็คิดว่าน่าทำอะไรสักอย่าง ผมก็เลือกภาพที่ถูกใจเอาไปอัดเป็นกระดาษมาใส่กล่องไว้ เรียงไปเรียงมา ก็อยากจัดนิทรรศการ เพื่อนๆ ก็เชียร์ แต่ติดโควิดอยู่ ผมก็เลยเอามาพิมพ์เป็นหนังสือแจก เพื่อนเห็นเลยชวนทำนิทรรศการ การจัดครั้งนี้เป็นความสุขของผมเอง ผมอยากอวดรูปถ่าย ทั้งที่ผมไม่ได้เป็นช่างภาพ ไม่รู้จักทฤษฎีอะไรเลย

ทำไมถึงชอบภาพดำขาว

ผมอยู่ในบ้านที่มีแต่รูปดำขาว คุณพ่อผมเสียตอน พ.ศ. 2506 เข้าใจว่าตอนนั้นยังไม่มีรูปสี รูปคุณพ่อเลยมีแต่รูปดำขาว เห็นแล้วนึกถึงคุณตา นึกถึงใครต่อใคร รูปที่ผมเห็นตั้งแต่เด็กเต็มฝาบ้าน รูปดำขาวมันเป็นอมตะนะ ดูได้เรื่อยๆ ภาพสีอาจจะสวยแบบหนึ่ง แต่ดำขาวสวยกว่า

ทำไมคุณถึงเรียกภาพดำขาว ไม่เรียกว่าขาวดำ

บ้านผมเรียกดำขาวหมดนะ ภาษาอังกฤษก็ Black and White ผมยังสงสัยว่าทำไมคนอื่นเรียกขาวดำ มันมาจากไหน คุณไปต่างประเทศเรียก White and Black เขาขำตายเลย เวลาเราถ่ายภาพดำขาว พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพเป็นสีดำ ขาวจะลอยขึ้นมาไม่มากใช่ไหมล่ะ

ถ้าให้สรุปชีวิตตัวเองเป็นรูปถ่ายสักรูป รูปไหนน่าจะตรงที่สุด

ภาพปกหลังหนังสือ เรามองเห็นสิ่งสวยงามแต่ไปไม่ถึง

หมายถึงภาพพีระมิดหน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ที่ถ่ายผ่านประตูหน้าที่ปิดอยู่

ใช่ เราไปไม่ถึงสิ่งที่เราอยากไป ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ไม่มีใครไปถึงหรอก มีเงินสิบล้านก็อยากมียี่สิบล้าน วันนี้มีอะไรก็อยากมีมากกว่านั้น เราไม่มีวันไปถึงตรงนั้นได้หรอก ทุกคนมองไปข้างหน้าแต่ถูกกักอยู่ มันคือจินตนาการของทุกคน พีระมิดนี้อาจจะเป็นอะไรก็ได้

พีระมิดของคุณคืออะไร

หนึ่ง ผมอยากสุขภาพดีแข็งแรง สอง มีตังค์เยอะๆ และสาม ผมอยากไปเตลิดเปิดเปิงที่ไหนก็ได้ พอมีโควิดเราก็ไปไหนไม่ได้ คุณแม่ก็ยังป่วยอยู่ สามปีก่อนผมไปปารีสเดินวันนึงเจ็ดแปดชั่วโมง เดินถ่ายรูปดูวิวไปเรื่อยๆ แต่ช่วงนี้แค่เดินจากจุฬาฯ ไปดูเจมส์ บอนด์ ที่เซ็นทรัลเวิล์ด กลับมายังหลับเป็นตายเลย ไม่รู้ว่าไปฝรั่งเศสรอบหน้าจะเดินได้เยอะแค่ไหน อายุก็มากขึ้น ต้องใส่หน้ากากอีก ทุกอย่างเป็นลูกกรงหมด

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)