ทันทีที่ก้าวลงจากรถ เราก็รู้เลยว่าเรามาถูกที่แล้ว

กลิ่นหอมของแป้งและน้ำอบที่คุ้นเคยลอยมาแตะจมูก ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะก้มลงไปดมดินสอพองซึ่งกำลังตากแดดอยู่ใกล้ๆ ให้ชื่นใจ

คุณน๊อต-ดิษฐพงศ์ ธ.เชียงทอง ทายาทรุ่นที่ 4 แห่งร้านน้ำอบนางลอยออกมาต้อนรับเราพร้อมรอยยิ้มสดใส และบอกว่าจะพาเดินดูการผลิตน้ำอบไทยก่อนเป็นอย่างแรก

น้ำอบนางลอย

ด้วยความคุ้นเคยกับน้ำอบไทยนางลอยผ่านกลิ่นและขวดที่เห็นและดมมาตั้งแต่เด็กๆ เราจินตนาการถึงไลน์การผลิตใหญ่โตที่ซ่อนตัวอยู่หลังประตูทางเข้าโรงงาน

แต่ก็ต้องแปลกใจกับสิ่งตรงหน้า เพราะแม้จะเรียกตัวเองว่าโรงงานแต่ที่นี่ไม่มีเครื่องจักรแม้เพียงเครื่องเดียว นั่นแปลว่าสต๊อกสินค้าจำนวนมากที่เริ่มจะกองกันแน่นโกดังเนื่องจากใกล้ช่วงหน้าขาย ล้วนผลิตขึ้นด้วยสองมือและความชำนาญของทีมงานทั้งหมดทุกขั้นตอน

พื้นที่ทำงานในโรงงานย่อมๆ แห่งนี้ประกอบด้วย ส่วนที่ต้มน้ำสมุนไพรด้วยฟืน ถัดไปเป็นโต๊ะสำหรับวางโถเซรามิคหลายสิบใบเพื่ออบควันเทียน ส่วนที่ยกพื้นขึ้นสูงมีไว้เพื่อปรุงน้ำอบ กรอกใส่ขวด และติดฉลาก ก่อนจะแพ็กใส่กล่องเตรียมส่งออกขาย

ช่างเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อกระบวนการผลิตดั้งเดิมที่คงไว้ด้วยความเรียบง่ายและพิถีพิถัน สมกับเป็นแบรนด์ที่อยู่มานานกว่า 100 ปี

น้ำอบนางลอย น้ำอบนางลอย

ย้อนกลับไปในอดีต น้ำอบนางลอยได้รับความนิยมเพราะสรรพคุณของกลิ่นที่หอมติดทนนานกว่าใคร ทั้งยังรักษ์โลกก่อนกาลด้วยวิธีขายที่ยกโอ่งทั้งโอ่งไปตั้งในตลาด ให้ลูกค้านำภาชนะจากบ้านมากรองใส่เอง ก่อนจะเปลี่ยนไปบรรจุขวดและติดฉลากอย่างที่คุ้นเคย

ด้วยคุณภาพของสินค้าและความมีเอกลักษณ์ทำให้ตลาดตอบรับกับน้ำอบนางลอยเป็นอย่างดีผ่านช่วงเวลาต่างๆ เพราะมีตลาดที่แน่นหนาบนการใช้งานในประเพณีแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นรดน้ำดำหัว หรือสรงน้ำพระในช่วงสงกรานต์ รวมทั้งพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิตและศาสนาพุทธหลายพิธี ก็มีการใช้น้ำอบเพื่อเพิ่มความรื่นรมย์ให้กับบรรยากาศ

ตราบใดที่ประเพณีเหล่านี้ยังอยู่ น้ำอบนางลอยก็ยังคงมีตลาดให้ทำธุรกิจ

แต่อย่างที่รู้ โลกทุกวันนี้หมุนไวกว่าที่เคยเป็นมา การรับช่วงต่อกิจการอายุ 100 ปี อย่างร้านน้ำอบนางลอย ของดิษฐพงศ์เต็มไปด้วยโจทย์ใหม่และใหญ่แค่ไหน เราไปคุยกับเขากันเถอะ

น้ำอบนางลอย

ธุรกิจ : ร้านน้ำอบนางลอย ของแม่เฮียง (มีบันทึกเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2458)
ประเภทธุรกิจ : ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำอบไทย ดินสอพอง และแป้งร่ำ
อายุ : 103 ปี
ผู้ก่อตั้ง : คุณยายเฮียง ธ.เชียงทอง
ทายาทรุ่นที่สอง : คุณอาคม ธ.เชียงทอง
ทายาทรุ่นที่สาม : คุณอุดม ธ.เชียงทอง
ทายาทรุ่นที่สี่ : คุณดิษฐพงศ์ ธ.เชียงทอง

กิจการแบบครอบครัว

ดิษฐพงศ์เล่าว่า เขารู้ตัวมาตลอดว่าจะเข้ามารับช่วงต่อกิจการร้านน้ำอบนางลอย ทั้งๆ ที่คุณพ่อซึ่งเป็นผู้บริหารรุ่นก่อนหน้าไม่เคยมากะเกณฑ์อะไร แต่ความที่เป็นทายาทคนโตและผูกพันกับกลิ่นหอมๆ ในบ้านที่เขาวิ่งเล่นมาตั้งแต่จำความได้ เขาเลยกอดความตั้งใจนี้เอาไว้กับตัวเองตลอดมา

อีกสิ่งสำคัญหนึ่งที่โตมาพร้อมๆ กับดิษฐพงศ์และกิจการร้านน้ำอบนางลอยก็คือ ทีมงานที่ทั้งทำงานและใช้ชีวิตที่โรงงานประหนึ่งเป็นคนในครอบครัว ดิษฐพงศ์เล่าว่า หลายคนทำงานนี้มาตั้งแต่เป็นหนุ่มสาว และเมื่อมีลูก พวกเขาก็ถ่ายทอดวิชาเพื่อทำงานที่ร้านน้ำอบนางลอยนี้ต่อไปเป็นรุ่นๆ เช่นกันกับเขา

ธุรกิจครอบครัวหลายๆ ธุรกิจมักเจอปัญหาการยอมรับของทีมงานคนเก่าคนแก่ที่มีต่อทายาทซึ่งพวกเขาเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ปัญหานี้ไม่เกิดกับดิษฐพงศ์ เพราะนอกจากค่อยๆ เรียนรู้งานและเข้ามามีบทบาททำงานร่วมกับทีมตั้งแต่ยังไม่รับช่วงต่อเต็มตัว เขายังให้ความสำคัญกับการคิดถึงใจและความรู้สึกของทีมงานทุกคนเป็นใหญ่ จากความผูกพันที่ร่วมสู้ไปด้วยกันไม่ว่าธุรกิจจะดีหรือร้ายแค่ไหน

การบริหารของร้านน้ำอบนางลอยเป็นไปอย่างไม่มีลำดับขั้น ดิษฐพงศ์บอกว่า เขาไม่มีชื่อตำแหน่งด้วยซ้ำ มีแต่ความรับผิดชอบที่ต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ในบางครั้งเวลามีคำสั่งซื้อเป็นพิเศษจากองค์กรให้จัดชุดของขวัญ หรือมีคนต้องการนำไปเป็นของชำร่วยในงานแต่งงาน เขาและน้องๆ จะต้องมาช่วยกันลงมือจัดแพ็กเกจจิ้งและผูกริบบิ้นกันเองเพื่อไม่ให้กระทบกับทีมงานและกิจการหลักของร้าน

น้ำอบนางลอย น้ำอบนางลอย

ฝีมือการบริหารธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานงานฝีมือผู้มีฝีมือ

ไม่เพียงขั้นตอนการทำน้ำอบจะคราฟต์ การบริหารธุรกิจน้ำอบก็คราฟต์ไม่แพ้กัน

ดิษฐพงศ์เล่าว่า ในการบริหารร้านน้ำอบนางลอยซึ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพ มาตรฐาน และคำสัญญาที่มีกับคู่ค้า ปัญหาบางอย่างใช้ข้อมูลตัดสินไม่แม่นยำเท่าประสบการณ์ ซึ่งเขาเรียนรู้จากการทำงานร่วมกับพ่อ

“คุณพ่อเขาใช้ประสบการณ์ล้วนๆ อย่างเรื่องการบริหารการผลิต ซึ่งต้องพึ่งพากำลังและทักษะของคน ที่บางทีก็มีป่วยบ้าง ลาบ้าง ไม่สะดวกทำงานบ้าง คุณพ่อก็มีวิธีการไกล่เกลี่ยและบริหารให้สต๊อกเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่ตั้ง โดยเขาจะใช้การประเมินจากกล่องสินค้าที่วางอยู่ในโกดังว่ามีจำนวนถึงเสากลางห้างหรือไม่ เท่านี้เขาก็รู้แล้วว่าปีนี้จะผลิตได้เยอะน้อยแค่ไหน โดยไม่ต้องคำนวณผ่านคอมพิวเตอร์หรือบันทึกอะไรเลย” ดิษฐพงศ์เล่าความเก๋าของคุณพ่อให้เราฟังแบบที่เราก็ต้องอ้าปากค้างไปด้วย

ในขณะที่การจัดการบางเรื่องไม่ได้มีสอนในมหาวิทยาลัย แต่ดิษฐพงศ์ก็ยังนำวิชาความรู้ด้านการบริหารที่ร่ำเรียนมาจัดการกับหลายเรื่องที่เหลือเพื่อจะทำให้ธุรกิจเติบโตแบบมั่นคงและสม่ำเสมอ โดยยึดหลักว่ามันต้องทำให้ทีมงานทำงานได้สบายขึ้น และไม่กระทบกับวิธีการทำงานแบบเดิมที่ยึดถือกันมามากนัก

เรื่องที่ว่าก็คือ ดิษฐพงศ์นำการบันทึกข้อมูลมาใช้ในการวางแผนบริหารทรัพยากรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ธุรกิจได้ผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพและนำไปต่อยอดได้ง่ายขึ้น

ทั้งการจัดหาวัตถุดิบ การสั่งของจากคู่ค้า ผู้ผลิตขวด กล่อง ฝา พิมพ์ฉลาก และการคำนวนปริมาณการผลิตที่ต้องการในแต่ละวันเพื่อให้ถึงเป้าหมายในระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ทีมงานบริหารเวลาและทรัพยากรได้ง่ายขึ้น เพราะรู้เป้าหมายชัดเจนว่าแต่ละวัน แต่ละเดือนจะต้องผลิตได้เท่าไหร่ ไม่ต้องเร่งผลิตจำนวนมากๆ เมื่อใกล้ถึงกำหนดส่งของ เป็นการบริหารความเสี่ยงข้อจำกัดเรื่องการใช้แรงงานฝีมือ

น้ำอบนางลอย น้ำอบนางลอย

คนในอยากบอก คนนอกอยากแนะนำ

ขณะที่ผู้ประกอบการหรือทายาทของกิจการอื่นๆ ใช้ความรู้วิชาบริหารในห้องเรียนต่อยอดธุรกิจเพียงลำพัง

น้ำอบนางลอยมักจะได้รับเลือกให้เป็นโจทย์ในชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเสมอ ทำให้ได้รับความเห็นจากมืออาชีพมาปรับใช้มากมาย

ด้วยความที่รูปแบบธุรกิจดูเหมือนจะมีช่องให้พัฒนาอีกมาก แต่ถ้าหากเราเอาเรื่องนั้นมาคุยกับคนที่คลุกคลีกับมันอยู่ทุกวันแล้ว นักบริหารมือฉกาจหลายคนก็อาจจะต้องหันมาเข้าใจเรื่องนี้ใหม่ก็ได้

ยกตัวอย่างเช่นความปลอดภัยในโรงงานที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนอยากจะมอบให้แก่พนักงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานที่ต้องอาศัยจังหวะ การขยับร่างกายที่เข้าที่เข้าทางประหนึ่งร่างกายนั้นเป็นกลไกของเครื่องจักร ไม่ได้เหมาะกับเครื่องแบบยูนิฟอร์ม หรือรองเท้ากันลื่นสักเท่าไหร่

ดิษฐพงศ์เล่าว่า เขาถึงกับยอมแพ้เมื่อหัวหน้าทีมผลิตมาบอกเขาว่า “อย่าขอกันเลย เดี๋ยวจะเสียงานกันเสียเปล่าๆ”

ในเมื่อหลายๆ อย่างลงตัวอยู่แล้ว และการปล่อยให้ทีมงานทำกันไปอย่างชำนิชำนาญจึงเป็นทางเลือกของดิษฐพงศ์ ณ เวลานี้

อย่างไรก็ตาม เรื่องบางเรื่องก็มองเห็นจากคนนอกชัดกว่าคนใน

ดิษฐพงศ์เล่าถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่ไม่กระทบวิธีการเดิม อย่างไอเดียการจัดการของเสียในร้านน้ำอบนางลอยก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกิดจากการมองอย่างคนนอก เช่น การล้างขวดด้วยน้ำที่ใช้ต้มสมุนไพรก่อนจะเทน้ำนั้นทิ้ง การทำกระบวยให้พอดีกับปริมาณที่ต้องการในแต่ละขวดเพื่อประหยัดเวลาและลดการสิ้นเปลืองจากการหกออกนอกกระบวย หรือการใช้กาวแป้งเปียกที่แห้งช้า ในการติดฉลาก ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาลอกสติกเกอร์หากมีการติดผิดพลาดขึ้นมา

น้ำอบนางลอย น้ำอบนางลอย

ธุรกิจหลักต้องอยู่ได้ แต่ก็ต้องมองธุรกิจใหม่ๆ เอาไว้ด้วย

ดิษฐพงศ์ย้ำกับเราตลอดการสนทนาว่า แม้ทุกวันนี้ร้านน้ำอบนางลอยจะออกสินค้าใหม่ๆ อย่างเช่นเทียนหอม หรือการจัดชุดของขวัญให้กับองค์กรต่างๆ แต่ธุรกิจหลักของเขาคือ น้ำอบไทย ดินสอพอง และแป้งร่ำ ที่จะยังต้องมีอยู่ต่อไป

นอกจากนี้ เขายังตั้งใจจะขยายธุรกิจหลักไปยังน่านน้ำใหม่ๆ เช่น การขายนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ การส่งออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งมีไอเดียจะทำธุรกิจสปาแบบไทยๆ ด้วย อย่างไรก็ตามเส้นทางว่าก็ไม่ได้ง่ายและงดงามเท่าไหร่ เนื่องจากสินค้าอย่างน้ำอบไทยเป็นสินค้าพิเศษที่ยังไม่มีการรับรองมาตรฐาน เพราะกฎหมายจัดให้อยู่ในส่วนของภูมิปัญญาดั้งเดิม แม้จะไม่มีกฎเกณฑ์มาจำกัดการทำธุรกิจแต่ในความอิสระนี้ก็แฝงไปด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ความน่าเชื่อถือในการส่งออก ข้อจำกัดในการทำการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ซึ่งดิษฐพงศ์ก็ไม่ได้ย่อท้อ ทุกวันนี้ร้านน้ำอบนางลอยมีสินค้าใหม่ๆ เข้ามาช่วยขยายตลาดและเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ โดยเขาและครอบครัวเชื่อว่าเสน่ห์ของน้ำอบแบบไทยแท้ไม่ได้แค่ดึงดูดผู้ใช้ แต่ยังดึงดูดโอกาสทางธุรกิจด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อห้างใหญ่อย่าง ICONSIAM ต้องการหาของแบบไทยๆ มาดึงดูดนักท่องเที่ยว ICOMSIAM ก็ติดต่อมาที่ร้านเพราะเห็นคุณค่าและคุณภาพของน้ำอบไทยนางลอย แม้ว่าจะมอบโจทย์ท้าทายอย่าง สินค้าที่จะนำไปวางขายจะต้องเหมาะกับการขายนักท่องเที่ยว ดิษฐพงศ์และครอบครัวน้ำอบนางลอยก็ไม่ติดขัด

จึงออกมาเป็นเทียนหอมกลิ่นน้ำอบไทยจากไขถั่วเหลือง ซึ่งทำให้ใช้น้ำตาเทียนมาทาผิวได้ และไส้เทียนทำจากฝ้าย 100%

ดิษฐพงศ์เล่าว่า ไอเดียนี้ได้มาจากคุณแม่ผู้ชอบเดินตลาดโอท็อป และน้องชายของเขาก็รับหน้าที่พัฒนาจนเป็นที่ชื่นชอบของผู้พบเห็นและเกิดกระแสเรียกร้องให้ทำเวอร์ชันสำหรับขายในออนไลน์ ซึ่งขายดีถล่มทลายจนยอดสั่งจองเต็มในเพียงไม่กี่สัปดาห์

เสน่ห์ความหอมแบบไทยนี่พลังทำลายล้างไม่ธรรมดาเลย

น้ำอบนางลอย น้ำอบนางลอย

ธุรกิจดั้งเดิมแต่ต้องไม่หยุดหาวิธีใหม่ๆ มาบริหาร

ทุกวันนี้กำลังการผลิตน้ำอบไทยนางลอยดำเนินไปด้วยกำลังคนล้วนๆ ยังไม่เป็นปัญหา เพราะใน 1 ปีจะมีช่วงขายใหญ่ๆ อยู่เพียงช่วงเดียวก็คือช่วงสงกรานต์ และแม้จะเพียงพอสำหรับธุรกิจวันนี้แล้ว แต่ดิษฐพงศ์ก็ยังตั้งใจว่าจะเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่พึ่งคนเพียงอย่างเดียวนี้ให้เป็นการใช้เครื่องจักรด้วยเหมือนกันในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กว่าจะลงทุนได้อย่างนั้นก็ต้องขยายฐานตลาดให้ได้เสียก่อน ความตั้งใจจะเอาเครื่องจักรมาแทนคนนี้เกิดจากการมองสภาวะธุรกิจและสังคมตามความเป็นจริงที่เรานับถือมาก เพราะแทนที่ดิษฐพงศ์จะมุ่งมั่นเพียงแค่จะรักษาสิ่งเดิมๆ เอาไว้ แต่เขากลับมองว่าในอนาคตลูกหลานของทีมงานวันนี้ก็จะมีโอกาสการทำงานที่ดีกว่าการทำงานในโรงงานเล็กๆ และทักษะที่ส่งต่อๆ กัน ถึงจุดหนึ่งก็อาจจะมีการตกหล่นหรือผิดเพี้ยนไปได้ ฉะนั้นเขาถึงอยากให้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ของน้ำอบนางลอยอยู่ได้เป็นอมตะไปอีกสัก 100 ปี

น้ำอบนางลอย น้ำอบนางลอย น้ำอบนางลอย

อย่างไรก็ตาม อย่าสูญเสียความเป็นตัวเอง

แม้โลกจะก้าวไปข้างหน้าเร็วแค่ไหน แต่ดิษฐพงศ์เชื่อว่าการรักษามาตรฐานความดั้งเดิมเอาไว้เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ในการทำธุรกิจร้านน้ำอบนางลอย

เขาเล่าว่า เขาเคยทำการวิจัยร่วมกับนักศึกษาที่ขอเข้ามาศึกษาน้ำอบนางลอยเพื่อพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบที่เข้ายุคสมัยและประหยัดค่าส่งมากขึ้น อย่างการทำเป็นแป้งผงแล้วให้ผู้ใช้นำไปละลายน้ำให้กลายเป็นน้ำอบเอง แต่มันก็ไม่ได้กลิ่นหรือสัมผัสเดียวกันกับน้ำอบนางลอย เขาจึงไม่ได้เดินหน้าทำโครงการนั้นต่อ เพราะการรักษาเอกลักษณ์ของน้ำอบนางลอยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เขาต้องรักษาไว้ให้ดี

อย่างที่เล่าไปว่าสิ่งที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษผู้คิดค้นน้ำอบนางลอยไม่ได้มีแค่สูตรส่วนผสม แต่ยังเป็นภูมิปัญญาในการผลิตด้วย ในอนาคตแม้จะมีเครื่องจักรเข้ามาช่วย ดิษฐพงศ์จึงยังตั้งใจว่าจะดูแลทีมงานสามสิบกว่าชีวิตที่ร่วมงานกันในวันนี้ต่อไป ทั้งเพราะว่าเขาเป็นครอบครัว และเพราะว่าพวกเขามีทักษะที่หาได้ยากแล้วในปัจจุบัน

เมื่อวันนั้นมาถึงพวกเราอาจจะได้เห็นพิพิธภัณฑ์และเวิร์กช็อปพิเศษที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับน้ำอบไทยจากร้านน้ำอบนางลอยก็ได้นะ

น้ำอบนางลอย น้ำอบนางลอย

ทายาทรุ่นที่ 5

ตลอดเวลาที่เราอยู่ที่โรงงานก็จะมีหนุ่มน้อยวัย 7 ขวบ ลูกชายวัยซนของดิษฐพงศ์มาคลอเคลียอยู่ด้วยอย่างสนอกสนใจ ดิษฐพงศ์แอบบอกเราว่า เขาก็หวังว่าลูกชายจะสืบทอดกิจการนี้เป็นรุ่นที่ 5 โดยเริ่มจากการปลูกฝังให้วิ่งเล่นกับกลิ่นหอมเหมือนกับที่เขาเคยต้องมนตร์มาแล้วเหมือนกัน

น้ำอบนางลอย น้ำอบนางลอย

ต้นตำรับน้ำอบแห่งตลาดนางลอย พ.ศ. 2458

“เสน่ห์ของน้ำอบคือการทำมือ” ดิษฐพงศ์เล่าถึงที่มาของมนตราแบบไทยๆ ที่ใครๆ ก็หลงใหลนี้ ว่ามาจากสูตรดั้งเดิมของครอบครัว ตั้งแต่รุ่นสมัยรัชกาลที่ 6 และความหอมที่ส่งต่อมานั้นไม่ใช่แค่เฉพาะสูตรส่วนผสม แต่ยังรวมถึงขั้นตอนการผลิตแบบโบราณที่ไม่ต้องมีอุปกรณ์เครื่องจักรมาช่วยอีกด้วย

คุณยายเฮียง ผู้เป็นต้นตำรับน้ำอบนี้ คิดค้นสูตรหลังจากได้รู้จักกับน้ำหอมของชาวตะวันตกที่เข้ามาค้าขายในประเทศสยาม คุณยายเฮียงเห็นช่องทางทางธุรกิจ จึงนำหัวน้ำหอมมาผสมกับสมุนไพร แป้ง และน้ำอบที่หญิงชาวสยาม (ไม่ใช่สยามสแควร์) ล้วนปรุงเอาไว้ใช้กันเองที่บ้านในยุคนั้น ออกมาวางขายในตลาดนางลอย เขตจักรวรรดิ

แม้ตอนนั้นน้ำอบของคุณยายจะยังไม่มียี่ห้อ แต่ด้วยเพราะเป็นของใหม่และสรรพคุณความหอมที่ติดทนนาน จึงเกิดกระแสปากต่อปากถึงชื่อเสียงน้ำอบของคุณยาย

“น้ำอบ ยายเฮียง ที่ตลาดนางลอยนั้น ช่างมีกลิ่นหอม สมควรแก่การไปซื้อหามาไว้ประทินความงาม เมื่อเรียกกันไปกว้างขวางขึ้น จึงกลายมาเป็นชื่อเรียกน้ำอบนี้ว่า น้ำอบนางลอย ของยายเฮียง” ดิษฐพงศ์เล่าสารที่บอกเล่าต่อๆ กันมาในครอบครัว ก่อนจะเสริมวิธีการขายซึ่งรักษ์โลกมาก่อนกาลว่า ในยุคเริ่มแรก จะเป็นการยกโอ่งทั้งโอ่งไปตั้งขายที่ตลาด โดยให้คนนำภาชนะมาใส่เอง ต่อมาเมื่อวิถีชีวิตคนเปลี่ยน ร้านน้ำอบนางลอยจึงเริ่มเปลี่ยนมาบรรจุขวดติดฉลากขายอย่างที่เห็นทุกคนคุ้นเคย

“ทั้งชื่อเรียก รูปแบบของขวด และโลโก้รูปนางฟ้าลอยถือขวดน้ำอบนั้นเราคงเดิมเอาไว้ไม่เคยเปลี่ยนเลยครับ” ดิษฐพงศ์เล่าถึงหลักฐานจากอดีตที่ยังส่งต่อมาถึงรุ่นของเขา

ในสมัยของทายาทรุ่นที่สองและสาม ความนิยมของน้ำอบก็ลดน้อยถอยลงไปมาก เพราะไม่ค่อยมีใครใช้น้ำอบเพื่อความหอมและประทินผิวมากอย่างแต่ก่อน ร้านน้ำอบนางลอยจึงทำการขยายพื้นที่ขาย จากตลาดนางลอยออกไปสู่ทั่วประเทศผ่านการวิ่งเซลล์เพื่อแนะนำสินค้า และการรับสั่งสินค้าผ่านทางโทรศัพท์ เรื่อยมาจนถึงการรับสั่งทางออนไลน์ในยุคทายาทรุ่นที่สี่

 

Facebook | น้ำอบนางลอย

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ