เมื่อพูดถึงนางเลิ้ง เราก็มักจะนึกถึงอยู่ไม่กี่อย่าง
สนามม้านางเลิ้ง ตลาดนางเลิ้ง และกล้วยแขกร้อนๆ ตามหัวมุมถนน
นางเลิ้งในความทรงจำของเราวนเวียนอยู่กับอาหารการกินทั้งคาวทั้งหวานจากในตลาดนางเลิ้งและร้านค้าใกล้เคียง บรรยากาศผู้คนจับจ่ายซื้อกับข้าวกลับบ้าน หรือรถยนต์ที่ขับผ่านไปมาโบกมือเรียกหากล้วยแขกกันกลางถนน เป็นภาพที่เห็นจนชินตา
จนเมื่อไม่กี่วันก่อน ได้มีโอกาสแวะกลับไปแถวย่านนางเลิ้งอีกครั้ง ครั้งนี้เราสะดุดตาเข้ากับความเรียบง่ายแต่น่าค้นหาของห้องแถวริมถนนห้องหนึ่ง ถัดจากหัวมุมถนนจักพรรดิพงษ์มาไม่กี่ล็อก บนประตูของร้านมีผืนผ้าสีขาวแขวนกั้นระหว่างตัวร้านและโลกภายนอกไว้ ผืนผ้าพิมพ์ข้อความไว้ว่า ‘Nangloeng Shophouse’ สั้นและเรียบง่ายคล้ายกับคำเชิญชวนให้เราค้นหาสิ่งที่อยู่หลังบานประตูกรอบไม้บานนี้

ทันทีที่เปิดเข้าร้าน เราเหมือนกับหลุดมาในโลกอีกใบ กลิ่นชาอ่อนๆ มีเอกลักษณ์โชยมาจากห้องครัวที่อยู่ด้านหลัง เฟอร์นิเจอร์และผนังตกแต่งด้วยแผ่นไม้สีเรียบ ขัดกับความโดดเด่นของผนังเก่าอีกด้าน เห็นร่องรอยความเป็นมาของสถานที่ดั้งเดิม เวิ้งหน้าร้านปรับแต่งเป็นกระถางปลูกต้นไม้ อีกด้านที่หันไปเจอคือข้าวของมากมาย เรียงรายอยู่ในตู้ไม้สำหรับขายของแบบเก่าคุ้นตา


เหมือนกับร้านขายของชำไม่มีผิด ประโยคแรกที่ผุดขึ้นมาในใจ
จากกลางคืนสู่กลางวัน
หลังเดินสำรวจร้านและนั่งเกาพุงให้ค้างคาว เจ้าแมวขี้อ้อนประจำร้านสักพัก เราชวนเจ้าของร้านมานั่งคุยกันเกี่ยวกับที่มาที่ไปของร้านนี้ระหว่างจิบกาแฟสูตร Nangloeng Shophouse ไปด้วย

ก้อง-อนุภาส เปรมานุวัติ และ อีเลน ซัน เรียนจบด้านศิลปะมาจากนิวยอร์ก ทั้งคู่ดำเนินธุรกิจยามค่ำคืนในฐานะเจ้าของร้าน Ku bar และ Kang Kao bar บริเวณถนนพระสุเมรุ ไม่ไกลจาก Nangloeng Shophouse ช่วงต้นปีที่ COVID-19 เริ่มระบาดจนเกิดการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลักในตอนนั้นของทั้งคู่ในทันที
ทั้งสองคนต้องหันกลับมาใช้เวลายามกลางวันกันอีกครั้งหนึ่ง เดิมคู่รักคู่นี้พักอยู่อพาร์ตเมนต์บนถนนใกล้เคียง ช่วงโรคระบาดก็บังเอิญผ่านมาเห็นร้านตัดผมเก่าที่เลิกกิจการ เจ้าของตึกกำลังเคลียร์ข้าวของสำหรับเปิดรับผู้เช่าใหม่พอดี เลยตัดสินใจมาเช่าอยู่ชั้นบน และเปลี่ยนชั้นล่างของอาคารพาณิชย์เป็นร้านค้า

“ช่วง COVID-19 ผมทำอะไรไม่ได้ มันชัตดาวน์เลย แรกๆ ก็ยังพอมีเงินเก็บอยู่ แต่หลังๆ เหลือเงินหลักร้อยแล้วเนี่ย ทำไงดี เปิดร้านขายของชำแล้วกัน เพราะตอนนั้นร้านขายของชำยังเปิดได้ จากขายแอลกอฮอล์ ผมก็เปลี่ยนมาทำขนมทำชาขาย ตั้งใจว่าไม่คิดอะไรมาก คิดกว้างๆ ไว้ว่าจะทำร้านขายของชำที่ขายอะไรก็ได้”
ไม่ใช่แค่เพราะ COVID-19 อย่างเดียวจนทำให้ต้องกลับมาใช้ชีวิตยามกลางวัน แต่เพราะเขาทั้งคู่อยากแก้ไขชีวิตประจำวันที่ต้องเข้าไปจับจ่ายในร้านสะดวกซื้อบ่อยครั้ง คงเป็นเรื่องดีไม่น้อยถ้าเราสามารถดื่มกาแฟหรือต้มชาร้อนๆ ในบ้านของตัวเองและแบ่งขายให้กับคนอื่นได้อีกด้วย คงเป็นการเริ่มต้นวันที่มีความสุข
เสน่ห์นางเลิ้ง
“ทำไมถึงต้องเป็นนางเลิ้ง”
คำถามนี้คาใจเราอยู่นานตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามา ว่าก้องและอีเลนหลงใหลในเสน่ห์อะไรของนางเลิ้ง
“ตอนเป็นนักเรียนชอบก็มาแถวนี้ ก็มันไม่มีอะไรแถวลำลูกกา ผมมาเช่าวิดีโอที่ท่าพระจันทร์ นั่งรถเมล์จากดอนเมืองมาลงหน้าศิลปากร หลับมาสามชั่วโมง ผมไม่ชอบการเดินทาง ไม่ชอบรถติดในกรุงเทพฯ บาร์ผมก็อยู่ใกล้ๆ แถวนี้ ผมแค่รู้สึกว่าผมไม่ชอบในตัวเมืองตรงย่านธุรกิจมากเท่าไร อีกอย่างผมไม่ชอบอะไรที่มันอึดอัด ผมชอบฝั่งนี้มากกว่า เสน่ห์ของมันก็อาหารการกินและไม่มีตึกสูงก็โอเคแล้ว น่ารักดีแล้ว”

จริงๆ ก่อนจะได้มานั่งคุยกันในร้าน เราเดินสวนกับก้องแถวๆ หัวมุมถนน เขาเฉลยว่าแวะไปกินข้าวร้านข้าวแกงแถวนี้มา ซึ่งเป็นกิจวัตรตอนเช้าที่เขาทำอยู่บ่อยๆ บางวันก็วิ่งออกกำลังกายหรือปั่นจักรยานไปมาระหว่างบ้านกับบาร์แล้วไปจบที่ปากคลองตลาด เพื่อซื้อกับข้าวหรือผักสดกลับมาทำกินกันที่บ้าน ซึ่งนอกจากร้านเก่าที่ตั้งมานาน ช่วงนี้ก็เริ่มมีร้านอาหารและคาเฟ่ใหม่ๆ มาเปิดที่ย่านนางเลิ้งด้วยเหมือนกัน
เราคล้อยตามกับมนตร์เสน่ห์และความน่ารักของนางเลิ้งที่ก้องกำลังพูดถึง
Breakfast or Brunch
ก้องย้ำกับเราบ่อยมากว่า เราจะพลาดอาหารเช้าร้านเขาไม่ได้เด็ดขาด
ทุกเมนูทั้งคาวหวานรวมไปถึงเครื่องดื่มเป็นโฮมเมด มาจากว่าทั้งสองชอบทานอะไร แล้วอยากจะแชร์ความอร่อยนี้ออกไป วัตถุดิบหลักส่วนใหญ่มีที่มาจากละแวกใกล้เคียงทั้งหมด โดยมีอีเลนเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องอาหารทั้งหมดภายในร้าน และก้องรับหน้าที่เป็นบาร์เทนเดอร์ประจำ Nangloeng Shophouse
ส่วนเมนูอาหารทั้งหลายเกิดจากการที่อีเลนชอบทำอาหารเช้ากินเองอยู่แล้ว จึงรับประกันได้ว่า ทุกเมนูได้มาตรฐานความอร่อยตามสูตรคนช่างเลือกสรรของดี
พร้อมเสิร์ฟเมนูแรกด้วย Market Veggie ผักสดใหม่ทุกวันจากตลาดสดนางเลิ้ง ย่างไฟแรงได้ที่ เสิร์ฟร้อนๆ พร้อมไข่ต้มยางมะตูม ไม่ต้องปรุงอะไรมากเพียงแค่เหยาะเกลือนิดกับพริกไทยหน่อย แต่ความอร่อยนั้นเกินคำว่าน้อยไปไกล

เมนูต่อมา จานนี้เราขอยกให้เป็นจานเด็ด Homemade Pork Sausage & Sauerkraut ไส้กรอกสูตรเฉพาะของทางร้านรสชาติเข้มข้น คู่กันกับกะหล่ำปลีดองเกลือและซอสพริกโฮมเมด รสชาติกำลังดีของไส้กรอกบวกกับความเค็มนิดหน่อยจากกะหล่ำปลี ทั้งหมดนั้นเข้ากันกับซอสพริกสูตรเฉพาะทางร้านอย่างน่าประหลาด

และสุดท้ายกับ Toasted Sourdough Fresh Ricotta และ House Jam ขนมปังโฮมเมดแสนนุ่มเสิร์ฟพร้อมกับริคอตต้าชีส แน่นอนว่าเป็นชีสทำเองจากทางร้านอีกเหมือนกัน ทานคู่กับแยมผลไม้ในฤดูกาลต่างๆ เป็นการตบท้ายที่อร่อยมาก จนอยากให้ทุกคนได้มาลองทาน

บางเมนูก็เกิดจากการคิดเล่นๆ แต่อยากขายจริง เช่น น้ำแข็งไส ก้องเล่าให้ฟังว่า เกิดจากการไปทานน้ำแข็งไสแถวนี้ในระหว่างทางกลับบ้าน เลยคิดกันเล่นๆ ว่าจะขายอาหารอะไรกันดีที่ร้าน จึงจบที่เมนูที่พวกเขาเพิ่งไปกินกันมา และนำมาปรับสูตรเพิ่มเป็นของร้านแทน

นอกจากนี้ ทางร้านยังก็มีเมนูชีส ซึ่งคัดสรรมาจากฟาร์มที่ผลิตและส่งออกเองในเชียงราย ส่วนเมล็ดพันธุ์กาแฟสูตร Nangloeng Shophouse สั่งทานที่ร้านหรือจะกลับบ้านก็ได้ เป็นสูตรพิเศษทำมาเพื่อที่นี่โดยเฉพาะ รสชาติกลมกล่อมกำลังดี หอมกลิ่นกาแฟ ใครที่ไม่ชอบทานกาแฟหวานอมเปรี้ยว ไม่ขมมาก รับรองว่าสูตรของที่นี้จะไม่ทำให้คุณผิดหวัง
แน่นอนว่ามีกาแฟก็ต้องมีชา สายดื่มชาต้องไม่พลาดชาสุ่ยเซียนและชาอู่หลง ของดีประจำร้านอีกอย่างที่ก้องได้ใบชามาจากร้านเก่าแก่ในปากคลองตลาด ด้วยรสชาติความหวานกำลังดีรวมเข้ากลิ่นหอมอ่อนๆ ดื่มเข้าไปแล้วชื่นใจมากจริงๆ
มากกว่าร้านขายของชำ
ไม่ได้มีแค่อาหารเช้าเท่านั้น ร้านนี้ขายทุกอย่าง
ตั้งแต่น้ำปลาบนชั้นวางเรียงกันอยู่กับแปรงสีฟัน เมล็ดข้าวสารวางอยู่ข้างกับเมล็ดกาแฟสูตรเฉพาะของ Nangloeng Shophouse ชีสและไวน์ที่แช่อยู่ในตู้เย็น กรรไกรหนึ่งด้าม แม็กกาซีนหลายเล่ม กระทั่งช่อดอกไม้คุณก็หาซื้อได้ที่ร้านนี้เหมือนกัน

ทั้งที่มีของมากมาย แต่ก้องกลับนิยามว่าร้านของเขานั้นแสนธรรมดา
“ร้านผมค่อนข้างธรรมดาสุดๆ เลย ก็อปปี้ร้านขายของชำของคุณป้าข้างๆ แล้วทุกอย่างก็แบ่งเหลือจากสิ่งที่ผมทำปกติ ขายอะไรก็ได้อะไรที่ขายได้ก็ขายไป ผมคิดว่าตัวผมต้องการอะไรบ้าง ก็เลยค่อยๆ เปิดร้านขึ้นมาโล่งๆ ก่อน ยังไม่เสร็จก็เติมไป ชีวิตผมต้องการอะไรบ้าง ผมต้องการอาหารเช้า แฟนผมกินอาหารเช้าอยู่แล้ว เราก็ทำอาหารเช้าอย่างที่คุณกินขายมั้ย ผมชอบกินชาผมต้มชากินเองหนึ่งขวด อีกสองขวดผมขายแยก ผมชอบอ่านหนังสือ ร้านเราก็น่าจะมีหนังสือขายได้ แม็กกาซีนที่ชอบอ่านแล้วก็ไม่ค่อยมีในเมืองไทยก็ลองสั่งมาขายดูมั้ย”

“เราอยากให้ร้านเป็นมากกว่าร้านขายของชำทั่วไป เหมือนตอนที่อยู่นิวยอร์ก ทุกอย่างเข้าถึงได้ง่ายมากๆ ไม่ว่างานศิลปะ ร้านหนังสือ พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ถึงเราทั้งคู่ไม่ได้เรียนด้านอาหารมาโดยตรง แต่เราหาความรู้ทุกอย่างได้ง่ายมากเมืองไทยยากจะที่เป็นแบบนั้น เราเลยอยากสร้างพื้นที่นี้ขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนที่สนใจสิ่งเดียวกันกับเรามาที่ Nangloeng Shophouse และได้เจอสิ่งที่เขาชอบ” อีเลนตบท้ายด้วยรอยยิ้มจริงใจ