9 มิถุนายน 2022
2 K

The Cloud x British Council

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความหวังที่เป็นดอกผลจากผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป วันนี้เราขอพาทุกคนไปชมเบื้องหลังโปรเจกต์ต้นแบบที่เป็นความหวังในการจัดการขยะพลาสติกในชุมชนทั่วกรุงเทพฯ กันบ้าง

นางเลิ้งพลาสติกแบงค์เกิดจากไอเดียตั้งต้นของ จูเลี่ยน ฮวง กับ นก-สุนัดดา ฮวง 2 นักสร้างสรรค์จากกลุ่ม Weave Artisan Society ซึ่งเป็น Creative Hub ที่ทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ แต่อยากลองท้าทายกับการแก้ปัญหาในพื้นที่อื่นดูบ้าง จึงได้กระโดดเข้าร่วมโครงการ Social Innovation Hackathon 2020 ที่มี British Council (ร่วมกับ Urban Studies Lab และ FREC Bangkok) เป็นแม่งาน โดยมีชุมชนนางเลิ้งเป็นบริบทในการทำงาน จนได้รับเงินรางวัลและถูกผลักดันให้ลงมือทำจริง

Nang-Loeng Plastic Bank ส่งถุงเก่ามา-เติมน้ำยาใส่ขวดให้ โปรเจกต์ที่สำเร็จได้จากพลังพลเมือง
Nang-Loeng Plastic Bank ส่งถุงเก่ามา-เติมน้ำยาใส่ขวดให้ โปรเจกต์ที่สำเร็จได้จากพลังพลเมือง

แก่นของไอเดียนั้นเรียบง่าย และคิดมาจากปัญหาที่ทั้งคู่ได้เห็นจริงตอนลงพื้นที่เก็บข้อมูล กลไกคือการเชิญชวนให้ผู้คนเอาพลาสติกที่ใช้แล้วมาทิ้งรวมกันในสเตชันหรือพื้นที่ที่จัดเอาไว้ให้ และมีระบบสะสมแต้มเหมือนธนาคาร หากนำพลาสติกมาแลกครบจำนวนที่กำหนดไว้ ผู้ฝากจะได้รับน้ำยาล้างจานที่ผลิตโดยคนในพื้นที่เป็นสิ่งตอบแทน

การทำงานขับเคลื่อนชุมชนหรือสร้างนวัตกรรมทางสังคมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนดีดนิ้ว โดยเฉพาะกับชุมชนที่มีความหลากหลายและซับซ้อนสูงอย่างชุมชนนางเลิ้ง ไม่ใช่ว่าใครกระโดดเข้ามาในพื้นที่นี้แล้วจะทำอะไรก็ได้ ทีมนักสร้างสรรค์ทีมนี้จะพาไอเดียให้เกิดขึ้นในพื้นที่จริงได้อย่างไร ไปฟังเรื่องเล่าเคล้าเสียงหัวเราะ (และน้ำตานิด ๆ) ไปพร้อมกัน

ร่วมมือ

ห้องเรียนเล็ก ๆ บนชั้น 2 ของ Ford Resource & Engagement Centre ที่เราใช้เป็นสถานที่นัดสัมภาษณ์ แน่นขนัดไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา นอกจากจูเลี่ยนกับนกแล้ว ยังมี แม่แดง-สุวัน แววพลอยงาม, นะโม-กรกมล แววพลอยงาม และ น้ำมนต์-นวรัตน์ แววพลอยงาม ซึ่งเป็นตัวแทนจาก อีเลิ้ง Creative Hub ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่นางเลิ้ง รวมถึงทีมงานจาก British Council อีกหลายท่าน 

Nang-Loeng Plastic Bank ส่งถุงเก่ามา-เติมน้ำยาใส่ขวดให้ โปรเจกต์ที่สำเร็จได้จากพลังพลเมือง

การปรากฏตัวของคนในพื้นที่ให้คำใบ้กับเราว่า โปรเจกต์นางเลิ้งพลาสติกแบงค์นี้ทำงานตามปรัชญาของนวัตกรรมเชิงสังคมจริง ๆ นั่นคือการสร้างความร่วมมือกับคนในพื้นที่ ไม่ใช่แค่มาชี้นิ้วสั่งให้ใครเปลี่ยนแปลง

“นกกับจูเลี่ยน อยากเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการขอบคุณแม่แดง นะโม น้ำมนต์ และ ปาล์ม-ธารินี รัตนเสถียร ถ้าไม่มี 4 คนนี้ งานนี้ก็ทำไม่ได้” จูเลี่ยนเฉลยตั้งแต่ประโยคแรกว่า ตัวละครที่เป็นคนในพื้นที่นั้นมีความสำคัญกับทีมของเขาอย่างไร

“นางเลิ้งเป็นชุมชนที่มีความซับซ้อนหลายชั้น ไม่ง่ายเลยที่จะเข้าไปรู้จักกับพวกเขาในเชิงลึก แม่แดงกับทีมอีเลิ้งช่วยเปิดประตูให้จูเลี่ยนเข้าไปเชื่อมโยงกับชุมชนได้ และทำให้ชุมชนเข้าใจจนมองเห็นคุณค่าของโปรเจกต์นี้

“เราไม่รู้เลยว่าคนในชุมชนจะใช้งานไอเดียที่เราออกแบบมาได้จริงหรือไม่” นกเล่าเสริมประเด็นความตั้งใจทำงานกับชุมชน “เราไม่ได้อยากให้ผลของระยะเวลา 6 เดือนที่ทำงานมา เป็นแค่ของประดับที่ไม่มีความหมายกับชุมชน อยากให้โปรเจกต์นี้จบไปโดยที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ต่อ”

ในทางกลับกัน ทีมอีเลิ้งซึ่งทำงานขับเคลื่อนสังคมในพื้นที่นางเลิ้งมานาน ได้รู้จักกับจูเลี่ยนและนกเป็นครั้งแรกในฐานะคู่แข่งในงาน Hackathon เมื่อจบโครงการแล้วจะแยกย้ายกันไปทำงานเลยก็ได้ แต่ทีมอีเลิ้งกลับยื่นมือเข้ามาประสานงาน หาคนทำงาน หาพื้นที่ทำงาน และเป็นผู้ผลิตน้ำยาล้างจานที่มอบให้ผู้ที่นำขยะพลาสติกมาฝากกับธนาคารขยะแห่งนี้

Nang-Loeng Plastic Bank ส่งถุงเก่ามา-เติมน้ำยาใส่ขวดให้ โปรเจกต์ที่สำเร็จได้จากพลังพลเมือง

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนพื้นที่อยากสร้างสะพานให้กับทีม Weave เข้ามาสู่พื้นที่ได้อย่างอุ่นใจ

“คือเขาเป็นคนไม่เยอะ” แม่แดงตอบอย่างเรียบง่าย “เห็นจูเลี่ยนและคุณนกแล้วชอบ เลยอยากช่วยเหลือ แตกต่างกับคนอื่นที่เข้ามาทำงานกับชุมชนแล้วออกคำสั่ง ชอบเอาเบี้ยเลี้ยงมาล่อเพื่อให้ความร่วมมือ แต่นกกับจูเลี่ยนมาแบบอ่อนน้อม”

เนื่องจากจูเลี่ยนและนกทำงานที่เชียงใหม่เป็นหลัก จะมีโอกาสได้เข้ามาที่นางเลิ้งเพียงเดือนละ 1 – 2 ครั้ง ตัวตนของทีมอีเลิ้งจึงช่วยให้โปรเจกต์นี้มีหลักยึด

“การมีพื้นที่ทำงานที่ชัดเจน จับต้องได้ ช่วยให้โปรเจกต์ดำเนินต่อไปได้” นกออกความเห็น “คนในชุมชนบอบช้ำจากโปรเจกต์ลักษณะนี้มาเยอะ มาชวนให้เขารักษาสิ่งแวดล้อมแล้วก็หายไป เหมือนเป็นแค่ Propaganda แต่เพราะมีพื้นที่ทำงานของอีเลิ้งเป็นสเตชันรับถุงพลาสติก ทำให้ชุมชนนึกออกว่าต้องมาที่ไหน หรือปักหมุดที่นี่ได้ถ้าต้องการจะรับความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม”

เรียกว่าการเคลียร์ด่านแรกของทีมคนนอกอย่างนกและจูเลี่ยนผ่านไปได้ด้วยดี เพราะมีความร่วมมือจากคนพื้นที่นั่นเอง

ลงมือ

ทีมอเวนเจอร์สรวมตัวกันได้แล้ว ก็ได้เวลาลงมือทำงานจริง กับคนจริง และสถานการณ์จริง ปัญหาที่เจอก็จริงไม่แพ้กัน

เมื่อถามถึงความท้าทายที่เจอ จากมุมของคนในพื้นที่อย่างแม่แดงได้แชร์ให้เราฟังว่า ระบบนี่แหละที่ทำงานให้ขับเคลื่อนสังคมยากและท้าทาย

“บางครั้งการทำงานกับระบบแบบ Top-Down ก็ยึดในแบบแผนมากเกินไป จนไม่ได้ฟังเสียงชาวบ้านเลย” แม่แดงว่า “บางอย่างที่เราทำเรื่องขอไปก็ไม่ได้ทำ จนบางครั้งชาวบ้านก็มองว่าเป็นเรื่องเสียเวลา” 

“ชาวบ้านจะคิดเสมอว่า ทำแล้วได้อะไร เขาไม่ได้คิดว่าทำเพื่อสิ่งแวดล้อมใด ๆ เขายังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมานั่งทำความสะอาดพลาสติกด้วย” แม่แดงเล่าต่อ “เราก็ใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อสื่อสาร ถ้าไปเดินมาชวนทำเวิร์กชอปเฉย ๆ เขาไม่สนใจ เหมือนชวนมานั่งตบมือกันเล่น ๆ แดงเลยชวนชาวบ้านมาทำอาหารกินกันเหมือนมาปาร์ตี้ เพื่อโชว์ผลงานที่ได้มาจากการนำพลาสติกมาแปรรูป เช่น กระเป๋า ให้ชาวบ้านรู้สึกจับต้องได้ ชาวบ้านก็เริ่มให้ความสนใจ และรู้สึกว่า เอ้อ อันนี้ทำได้จริง พลาสติกมันเยอะจริง ๆ ขวดบริจาคได้นะ อันนี้ในอนาคตเปลี่ยนเป็นกระเป๋าได้นะ”

Nang-Loeng Plastic Bank ส่งถุงเก่ามา-เติมน้ำยาใส่ขวดให้ โปรเจกต์ที่สำเร็จได้จากพลังพลเมือง
Nang-Loeng Plastic Bank ส่งถุงเก่ามา-เติมน้ำยาใส่ขวดให้ โปรเจกต์ที่สำเร็จได้จากพลังพลเมือง

“คอนเซ็ปต์การให้น้ำยาล้างจานเป็นรางวัลก็จูงใจได้ครับ” จูเลี่ยนว่า “ทุกคนอยากได้น้ำยาล้างจานจากน้ำหมักของแม่แดง นี่คือกลไกที่เราออกแบบจากการฟังเสียงของผู้ใช้ มันคือสิ่งที่เขาได้ใช้จริง ถ้าเอาถุงมา 1 ใบ ได้น้ำหมัก 1 ปั๊ม เอามา 30 ใบ ได้น้ำหมัก 1 ขวด 50 ถุงได้น้ำหมักแบบพรีเมียม”

แม้ชาวบ้านจะเริ่มให้ความร่วมมือ เอาขยะมาทิ้งในสเตชันของนางเลิ้งพลาสติกแบงค์แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างที่นำมาทิ้งจะนำไปแปรรูปได้ทั้งหมด เป็นอีกโจทย์ที่จูเลี่ยนและนกต้องหาทางจัดการต่อไป

Nang-Loeng Plastic Bank ส่งถุงเก่ามา-เติมน้ำยาใส่ขวดให้ โปรเจกต์ที่สำเร็จได้จากพลังพลเมือง

“ถังนี่เต็มทุกวันนะครับ” จูเลี่ยนเล่าอย่างดีอกดีใจ ที่อย่างน้อยคนในชุมชนเริ่มมองว่านี่คือจุดทิ้งขยะพลาสติกแล้ว “ร้านค้าในตลาดมีความหลากหลาย ของที่เขาเอามาทิ้งก็หลากหลายไปด้วย เราก็ต้องแยกตามสิ่งที่ต้องการจะเก็บ คือ ขวด ถุงพลาสติก ฝาขวดพลาสติก อย่างฝาขวดนี่เราส่งต่อให้ Precious Plastic ซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่นางเลิ้งเหมือนกัน เราจัดการเองทั้งหมดไม่ได้เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก”

แถมขยะที่ได้ก็ไม่ใช่ว่าจะผ่านการทำความสะอาดมาแล้วเสมอไป ซึ่งการบอกให้ทุกคนล้างขยะก่อนทิ้งเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ท้าทายมาก แต่ในบริบทของโปรเจกต์นี้ พวกเขากลับเปลี่ยนมันให้กลายเป็นงานที่สร้างคุณค่าในตัวคน

“แดงคิดกับนะโมและน้ำมนต์ว่า จะให้ใครมาช่วยจูเลี่ยนเรื่องทำความสะอาด แยกถุงพลาสติกตามสี เก็บขึ้นชั้นดี” แม่แดงมองหน้ากับลูกสาวทั้งสองเชิงขอความเห็น “สุดท้ายเราก็ลองพาเด็กคนหนึ่งในชุมชนมาฝึกงาน ซึ่งตอนนั้นเขามีปัญหาทั้งเรื่องการเสพยาและกำลังตั้งครรภ์”

“เด็กต้องการรักษาตัวและต้องการมิตรที่ดีด้วย เขาพยายามเลิกยา พยายามตื่นเช้ามาช่วยงาน พอมีงานทำ ก็ทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า มีตัวตนขึ้นมา จูเลี่ยนกับคุณนกก็ช่วยคุยกับเขา จนเขาดีขึ้น เด็ก ๆ คนอื่นเห็นก็เลยตามมาช่วยทำด้วย ฉะนั้น จูเลี่ยนเลยได้คนมาช่วยงานเพิ่มขึ้น และทุกวันนี้นะโมก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการดูแลสเตชัน” แม่แดงอธิบายเพิ่มเติม

คนทำงานก็มีแล้ว ขยะก็รวบรวมมาได้ แม้จะไม่สามารถตั้งสเตชันเก็บขยะได้ทั่วตลาดเพราะข้อกำหนดของพื้นที่ แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของการลงมือทำที่พวกเขาฝ่าฟันร่วมกันมา

เปลี่ยนมือ

จากไอเดีย Hackathon สู่การลงมือเปลี่ยนแปลงปัญหาพลาสติกร่วมกับชาวชุมชนนางเลิ้ง ที่ใช้ได้จริงเพราะพลังของพลเมือง
จากไอเดีย Hackathon สู่การลงมือเปลี่ยนแปลงปัญหาพลาสติกร่วมกับชาวชุมชนนางเลิ้ง ที่ใช้ได้จริงเพราะพลังของพลเมือง
จากไอเดีย Hackathon สู่การลงมือเปลี่ยนแปลงปัญหาพลาสติกร่วมกับชาวชุมชนนางเลิ้ง ที่ใช้ได้จริงเพราะพลังของพลเมือง

ขยะพลาสติกที่รวบรวมมาจากชุมชน ล้างจนสะอาด สุดท้ายก็จะเดินทางเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า (Upcycle) โดยทีมมีไอเดียสร้างสรรค์ตั้งแต่การสร้างผ้าใบกันสาดหลากสี เพื่อเติมชีวิตชีวาให้พื้นที่นางเลิ้ง จนกลายเป็นจุดถ่ายรูปสุดฮอตให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการผลิตเป็นสินค้าอย่างกระเป๋าหรือเครื่องประดับ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่นำไปต่อยอดเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมต่อไป ไม่ใช่แค่การเก็บขยะไปขายต่อเหมือนกับธนาคารขยะแบบเดิม ๆ

แนวคิดหลักคือกระบวนการแปรรูปต้องง่ายและจับต้องได้ จูเลี่ยนขยายความให้เราฟังว่า “ทุกอย่างที่ทำผ่านกระบวนการคิดมาแล้วว่าต้องทำได้ง่าย เพื่อให้คนอื่น ๆ ทำตามได้ กระทั่งการเชื่อมพลาสติกเข้าด้วยกัน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือใหญ่ แค่เตารีดก็ทำได้ ในขณะที่โปรเจกต์อื่น ๆ อาจต้องใช้เครื่องมือหนัก เพื่อแปรรูปขยะเหล่านี้ ซึ่งต้องลงทุนสูง ไม่ได้แปลว่าเขาทำไม่ดี แต่การทำงานกับชุมชนและคนในชุมชน ที่เป็นเจ้าของเครื่องมือเหล่านั้นไม่ได้ เราก็ต้องทำให้มันง่ายที่สุด”

“นักออกแบบออกแบบอะไรก็ได้ แต่ความท้าทายคือจะตอบสนองการใช้งานของชุมชนไหม ชุมชนใช้งานได้ไหม เป็นเรื่องความคาดหวังกับความเป็นจริง” นกแบ่งปันประสบการณ์ “สุดท้ายแล้วผู้ออกแบบไม่ได้เป็นคนใช้ คนที่ใช้งานจริงคือคนในชุมชน เพราะฉะนั้น เราก็ต้องใช้เวลาคุยกันว่าชุมชนต้องการอะไร”

จากไอเดีย Hackathon สู่การลงมือเปลี่ยนแปลงปัญหาพลาสติกร่วมกับชาวชุมชนนางเลิ้ง ที่ใช้ได้จริงเพราะพลังของพลเมือง

ที่น่าสนใจคือ แนวคิดในการทำงานของทั้งทีม Weave และ อีเลิ้ง ที่มาจากต่างบริบทกัน กลับให้ความสำคัญกับสิ่งเดียวกัน คือการส่งต่อคุณค่า ไม่ใช่เพียงมูลค่า

“ถ้าเราย้อนกลับไปมองสิ่งที่ชุมชนต้องการจากโปรเจกต์นี้ ไม่ใช่สินค้าที่จะขายเพื่อทำเงิน แต่เป็นกลไกจัดการขยะ” จูเลี่ยนกล่าว “ไอเดียมันชัดเจนเลยว่า เราจะทำสเตชันสำหรับรีไซเคิลพลาสติก ไม่ใช่แค่เพื่อทำกันสาดหรือทำผลิตภันฑ์ แต่ทำสิ่งที่ชุมชนต้องการจริง ๆ”

ส่วนทีมอีเลิ้งได้แชร์อีกมุมมองที่น่าสนใจจากฝั่งคนพื้นที่ว่า พวกเขาได้รับอะไรที่มากกว่าไอเดียขายของจากการทำโปรเจกต์นี้

“ตอนแรกที่ทำกันสาดกัน นึกว่าจะง่าย” นะโมเล่าติดตลก “แต่พอเข้าใจถึงวิธีการในการทำกันสาดขนาดใหญ่ ก็รู้สึกสนุกกับการที่ได้นำสิ่งที่เราลงมือทำ อย่างล้างพลาสติกเอง เย็บเอง เป็นผลสำเร็จออกมา เลยทำให้รู้สึกอยากทำโปรเจกต์นี้ต่อ”

“ในอนาคตถ้ามีศูนย์ที่ทำหน้าที่โดยตรง เราก็ทำได้เยอะขึ้น ชาวบ้านเริ่มคิดว่าสเตชันของอีเลิ้งเป็นศูนย์จัดการขยะแล้ว” แม่แดงเสริมต่อไป 

“การทำงานโปรเจกต์นี้ทำให้คนในชุมชนแยกถุงแบบต่าง ๆ ออกจากกันได้ ถุงแบบนี้เขารับบริจาคนะ ถุงแบบนี้ไม่รับนะ แถมต่อยอดไอเดียไปอีก เช่น ถุงมีลวดลายหรือมีตัวการ์ตูนอาจเอาไปทำอย่างอื่นต่อได้ ซึ่งมันคือการสร้างความรู้เรื่องการแยกขยะให้เขา จากสิ่งที่เป็นตัวเขาและเขาเข้าถึงได้จริง”

นอกจากการจัดการขยะพลาสติกแล้ว ฝั่งของอีเลิ้งเองก็มีโปรเจกต์ในแบบของตัวเองเพื่อจัดการกับขยะอินทรีย์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน น้ำมนต์ที่เป็นคนต้นคิดแชร์ให้เราฟังว่า เธอมีความคิดจะรับเอาขยะเศษอาหารมาหมักเป็นปุ๋ย และนำไปใช้ในสวน Urban Farming ของชุมชนที่กำลังอยู่ระหว่างทดลอง และได้รับการสนับสนุนจาก British Council เช่นกัน ซึ่งเท่ากับว่าจะเกิดกระบวนการจัดการขยะอย่างครบวงจร และนำไปสู่กระบวนการเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน

เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่รวมพลเมืองที่ทรงพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ฟังแล้วมีความหวังขึ้นมาอย่างเต็มเปี่ยม

“เราอยากมอบแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่เพื่อนำไปต่อยอด โดยใช้โปรเจกต์เล็ก ๆ อย่างกันสาดริมทางเดิน หรือผลิตภัณฑ์ที่เราสอนเขาทำเป็นต้นแบบ เราอยากให้เขาคิดว่าฉันก็ทำแบบนี้ได้นะ ฉันก็อยากขายออนไลน์บ้าง หรือขยะไม่ใช่ขยะ แต่เป็นทรัพยากร”

“ท้ายที่สุดแล้วบทเรียนที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผมคือ การสร้างงานออกแบบเพื่อสังคมและการสร้างมิตรภาพชั่วชีวิต อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า เราทำอะไรไม่ได้เลยถ้าไม่มีพันธมิตรในพื้นที่ และนางเลิ้งพลาสติกแบงค์นี้เป็นเพียงก้าวแรกสู่การเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเองครับ” จูเลี่ยนสรุปส่งท้าย

จากไอเดีย Hackathon สู่การลงมือเปลี่ยนแปลงปัญหาพลาสติกร่วมกับชาวชุมชนนางเลิ้ง ที่ใช้ได้จริงเพราะพลังของพลเมือง

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ