เมื่อเอ่ยถึง ‘ขนมฝรั่ง’ ที่เราคุ้นเคยกันดีทุกวันนี้ ต่างก็ทราบกันดีว่าเป็นผลผลิตมาจากมรดกตกทอดที่มิชชันนารีชาวโปรตุเกสนำเข้ามาพร้อมกับคริสต์ศาสนาตั้งแต่สมัยอยุธยา และทำกันสืบเนื่องมาถึงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่เดิมมีต้นตำรับอยู่ในหมู่บ้านเชื้อสายโปรตุเกสอย่างบ้านกุฎีจีนหรือชุมชนโบสถ์คอนเซ็ปชัญ ก่อนจะแพร่หลายออกไปนอกชุมชนและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมขนมไทยไป 

แต่นอกจากขนมลูกครึ่งอิทธิพลโปรตุเกส-สยามในดินแดนไทยแล้ว หากลองสืบสาแหรกกันดู ในดินแดนต่างประเทศที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมโปรตุเกสอย่างญี่ปุ่น ก็ปรากฏว่ามีขนมร่วมเชื้อเครือญาติที่ปรุงรสสืบทอดกันมายาวนานกว่า 400 ปีแล้ว มีลักษณะหน้าตาใกล้เคียงกับขนมลูกครึ่งในสยาม ขนมเหล่านั้นก้าวข้ามรั้ววังเข้าสู่ราชสำนักจนกลายเป็น ‘ขนมประจำชาติญี่ปุ่น’ เช่นเดียวกับฝอยทอง ทองหยอด หรือขนมตระกูลทอง ๆ ทั้งหลายที่เรานิยมทำกินกันในงานมงคล วันนี้จึงอยากจะพูดถึงขนมสัญชาติญี่ปุ่นหลากหลายรส ที่บรรดามิชชันนารีคาทอลิกนำเข้ามาพร้อมกับคริสต์ศาสนา

นันบัง สูตรขนมฝรั่งจากโปรตุเกส ที่กลายเป็นของหวานประจำชาติญี่ปุ่นเหมือนฝอยทองบ้านเรา
โบสถ์ซางตาครู้ส ชุมชนโปรตุเกสดั้งเดิมของบางกอก แหล่งกำเนิดขนมฝรั่งเลิศรสหลากหลายสูตร
นันบัง สูตรขนมฝรั่งจากโปรตุเกส ที่กลายเป็นของหวานประจำชาติญี่ปุ่นเหมือนฝอยทองบ้านเรา
ขนมฝรั่งกุฎีจีน ตำรับจากโปรตุเกส
นันบัง สูตรขนมฝรั่งจากโปรตุเกส ที่กลายเป็นของหวานประจำชาติญี่ปุ่นเหมือนฝอยทองบ้านเรา
นันบัง สูตรขนมฝรั่งจากโปรตุเกส ที่กลายเป็นของหวานประจำชาติญี่ปุ่นเหมือนฝอยทองบ้านเรา
ขนมหลากหลายประเภทในชุมชนกุฎีจีน

มิชชันนารีแห่งญี่ปุ่นกับนโยบายต่อต้านคริสเตียน

400 กว่าปีก่อน นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ มิชชันนารีชาวสเปนผู้เรืองนาม เดินทางไปประกาศพระนามของพระคริสต์ในญี่ปุ่น มีผู้คนกลับใจเข้ารับนับถือศาสนาคริสต์มากมาย เมื่อผลงานของท่านเป็นที่ประจักษ์ในยุโรป จากนั้นเหล่ามิชชันนารีชาวโปรตุเกสและสเปน ต่างติดตามกันเข้าไปทำงานเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในหมู่เกาะ ‘สุดปลายแผ่นดิน’ นี้ จนกล่าวกันว่า มีชาวคริสต์กว่า 3 แสนคน (ประมาณการกันว่า ชาวญี่ปุ่นในยุคนั้นมีประชากรราว ๆ 3 ล้านคน) ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากมาย ยิ่งไปกว่านั้น มีบรรดาไดเมียวและเจ้าผู้ครองนครหลายคนที่หันมายอมรับนับถือศาสนาคริสต์ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา สำหรับชาวบ้านที่เป็นชาวไร่ชาวนานั้น คริสต์ศาสนาเป็นเหมือน ‘ความหวัง’ ของเขาในการสร้างชีวิตที่ดีขึ้น เพราะสภาพสังคมที่ถูกกดขี่จากกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดในระบบฐานันดรและชาติกำเนิดจนไม่อาจลืมตาอ้าปากได้ง่าย ๆ 

นันบัง สูตรขนมฝรั่งจากโปรตุเกส ที่กลายเป็นของหวานประจำชาติญี่ปุ่นเหมือนฝอยทองบ้านเรา
ภาพนันบัง หรือคนเถื่อนจากทางใต้ถือของบรรณาการ
ภาพ : commons.wikimedia.org/wiki/File:Namban-08.jpg

‘ขนมหวาน’ เองก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมิชชันนารีกับชาวบ้าน และเจ้านายผู้ปกครอง ดังปรากฏว่า ใน ค.ศ. 1569 มิชชันนารีชาวโปรตุเกสชื่อ หลุยส์ ฟรัวซ์ ได้นำขนมลูกกวาด ‘คอนเฟตโต’ (Confeito) ไปเป็นของขวัญให้กับ โอดะ โนบุนากะ ขุนพลผู้รวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน พร้อมกับของขวัญบรรณาการอื่น ๆ ขนมน้ำตาลที่โปร่งแสงเหมือนแก้วนี้ คงจะเป็นที่ถูกอกถูกใจโนบุนากะ ผู้ได้ชื่อว่าโปรดปรานของหวานมาก เขาตอบแทนบาทหลวงฟรัวซ์ด้วยลูกพลับหวานตากแห้งแบบญี่ปุ่น อันเป็นของโปรดของเขา โนบุนากะยังได้มีโอกาสลองลิ้มชิม ‘ขนมปังบิสกิต’ ซึ่งทำให้เขาติดอกติดใจในรสชาติ ถึงกับสั่งจากพ่อค้าในโอซาก้าเข้ามาบ่อย ๆ 

ความสัมพันธ์กับโปรตุเกสเช่นนี้คงจะราบรื่นเป็นอย่างดี เพราะโอดะก็สนับสนุนคริสต์ศาสนาพอสมควรทีเดียว เขาต้องการพันธมิตรจากตะวันตกไว้ซื้ออาวุธปืนและคัดง้างกับบรรดานักบวชชาวพุทธที่กล้าลุกขึ้นต่อต้านเขา และในที่สุด บาทหลวงฟรัวซ์ก็ได้กลายเป็นคนสนิทของโนบุนากะ เขาได้รู้เห็นเป็นพยานการทำสงครามกับพระสงฆ์ในพุทธศาสนา และได้อยู่ในเหตุการณ์จุดจบของโนบุนากะด้วย

นันบัง สูตรขนมฝรั่งจากโปรตุเกส ที่กลายเป็นของหวานประจำชาติญี่ปุ่นเหมือนฝอยทองบ้านเรา
ภาพโอดะ โนบุนากะ ไดเมียวผู้โปรดปรานของหวานและให้การอุปถัมภ์คริสต์ศาสนา
ภาพ : th.wikipedia.org/wiki
นันบัง สูตรขนมฝรั่งจากโปรตุเกส ที่กลายเป็นของหวานประจำชาติญี่ปุ่นเหมือนฝอยทองบ้านเรา
คัมเปโตะ (こんぺいとう) ขนมลูกกวาดแบบโปรตุเกสในญี่ปุ่น
ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/Konpeitō

เวลาผ่านไป ขั้วอำนาจทางการเมืองก็ผันเปลี่ยนไปด้วย เมื่อโนบุนากะถูกโค่นล้มลง และตามมาด้วยการสถาปนาระบบโชกุนภายใต้ตระกูลโตกุกาวะขึ้น พระจักรพรรดิทรงมีฐานะเป็นเพียงหุ่นเชิด และเริ่มเกิดความหวาดระแวงชาวคริสต์ที่ติดต่อโดยตรงกับชาวยุโรป (หรือที่เรียกกันว่า นันบัง หรือพวกป่าเถื่อนจากทิศใต้) ฝรั่งดั้งขอพวกนี้มิได้นำมาเพียงศาสนาของพระเยซู แต่นำอาวุธปืนไฟสมัยใหม่มาด้วย จำนวนคริสตังที่เพิ่มขึ้นมากมายก็เป็นภัยต่อความมั่นคง จึงเกิดการต่อต้านเบียดเบียนคริสตศาสนา บรรดาไดเมียวที่เคยนับถือคริสต์ก็ต้องนับถืออย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ส่วนบรรดาคริสตังที่เคยมีผู้อุปถัมภ์ค้ำชูก็ถูกห้ามนับถือ หากจับได้จะต้องรับโทษถึงประหารชีวิต โดยการตรึงกางเขนเช่นเดียวกับพระคริสต์ บางส่วนก็ลงสำเภาหนีไปประเทศที่มีอิสรภาพทางศาสนา (เช่น สยามหรือฟิลิปปินส์ ปัตตาเวีย ที่นับถือคริสต์เช่นกัน) บางส่วนก็หลบซ่อนตามเกาะแก่งหรือหุบเขา กลายเป็น ‘คริสตังลับ’ หรือ Kakure Kirishitan ที่รักษาความเชื่อของตนโดยไม่มีบาทหลวงเข้าไปดูแลไว้ได้ถึงกว่า 200 ปี โดยพวกเขาเก็บรักษาเศษผ้าเปื้อนเลือดของบรรพชนที่ยอมสละชีวิตเพื่อศาสนาไว้เคารพบูชา เป็นเครื่องเตือนใจพร้อมกับคำทำนายโบราณว่า หากผ่านไป 7 ชั่วอายุคน พวกเขาจะมีอิสรภาพในการนับถือศาสนาคริสต์อีกครั้ง

ขนมนันบังในญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกกีดกั้น

ในช่วงที่ศาสนาคริสต์กำลังรุ่งเรืองในญี่ปุ่น (ราว ๆ ศตวรรษที่ 17 หรือช่วงรัชกาลพระนเรศวรถึงพระเจ้าปราสาททองของไทย) คงจะเกิดการถ่ายทอดสูตรอาหารแบบ ‘นันบัง’ หรือตำรับคนเถื่อนทางใต้ให้กับชุมชนคาทอลิกในญี่ปุ่น อาหารบางอย่างปรุงขึ้นตามกฎเกณฑ์ทางศาสนา เช่น เทมปุระ เป็นอาหารประเภทผักชุบแป้งทอด นิยมรับประทานกันในทุกวันศุกร์และในช่วงเทศกาลมหาพรต ที่ชาวคาทอลิกจะถือศีลอดอาหาร (โดยจะอดเนื้อสัตว์ใหญ่) ดังนั้น ผักทอดที่ให้พลังงานจึงเหมาะกับวัฒนธรรมนี้ – ซึ่งแตกต่างออกไปจากขนมหวาน ซึ่งดูจะเป็นอาหารที่ได้รับยกเว้นจากข้อห้ามทางศาสนาทั่วทั้งโลก ความหวานจากน้ำตาลจากเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทุกวัฒนธรรม และแทบไม่มีข้อห้ามทางศาสนาสำหรับน้ำตาลเลย ไม่มีศาสนาหรือวัฒนธรรมใดที่รังเกียจขนมหวาน (ยกเว้นในกรณีของช็อกโกแลตที่ถูกพระศาสนจักรคาทอลิกตั้งแง่ในระยะแรกที่นำเข้ามาจากโลกใหม่-อเมริกา) 

อาจจะเป็นเพราะเหตุผลที่ว่า เมื่อ 500 ปีก่อน น้ำตาลเป็นสิ่งที่หายาก โดยเฉพาะน้ำตาลจากอ้อย ที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากจีนในฐานะสินค้าฟุ่มเฟือยสำหรับให้ชนชั้นสูงใช้ทำขนมหวาน และใช้ปรุงยาสำหรับชาวบ้าน น้ำตาลนั้นมาจากไร่อ้อยที่ต้องแบ่งแรงงานจากการทำไร่ไถนา (ซึ่งจำเป็นมากกว่าในการผลิตอาหารหลักสำหรับบริโภคในชีวิตประจำวัน) ความหรูหราของขนมจึงถูกใช้ในฐานะของขวัญที่เป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพ และความชื่นชมยินดีในโอกาสพิเศษหรือรับรองแขกจากแดนไกลเท่านั้น

จึงไม่น่าประหลาดใจนักว่า เมื่อรัฐบาลโตกุกาวะประกาศปิดประเทศ ห้ามนับถือคริสต์ศาสนาในศตวรรษที่ 17 กลับไม่มีท่าทีรังเกียจขนมที่มาจากคนต่างชาติต่างศาสนาเหล่านี้เลย ในเวลานั้นขนมแบบนันบังแพร่หลายไปทั่วแล้ว ผนวกกับในช่วงศตวรรษที่ 18 น้ำตาลเริ่มมีราคาถูกลง เพราะโชกุนโตกุกาวะ โยชิมุเนะ โชกุนคนที่ 8 ได้ริเริ่มการทำไร่อ้อยในริวกิวและอามามิ ทำให้คนทั่วไปเริ่มมีโอกาสลิ้มลองน้ำตาลได้ง่ายขึ้น (ในสมัยของโชกุนท่านเดียวกันนี้ เริ่มมีการริเริ่มทำฟาร์มโคนมตามแบบชาวดัตช์ด้วย ทำให้เกิดวัฒนธรรมการดื่มนม และการนำนมมาใช้ประกอบอาหารกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปหลายร้อยปีในยุคสงครามกลางเมือง) 

ชาวญี่ปุ่นคงจะนิยมชมชื่นขนมนันบังมาก ถึงกับบันทึกตำรา ‘ขนมฝรั่งคนเถื่อน’ หลายชนิดลงในตำราสมัยเอโดะ เช่น ตำราของ Ichirobei Umemura ที่เรียบเรียงใน ค.ศ. 1718 ตำรานี้มีการพรรณนาถึงกรรมวิธีการใช้ ‘เตาอบ’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และให้รายชื่อขนมหลายอย่างที่อาจจะเทียบเคียงกับปัจจุบันได้ เช่น คัสเตลล่า (เค้ก) ขนมฝรั่ง (ซึ่งมีลักษณะคล้ายขนมฝรั่งกุฎีจีน) โบโรที่คล้ายกับขนมผิง และลูกกวาดหนามสีสวยนาม ‘คัมเปโตะ’ 

'นันบัง' สูตรขนมฝรั่งจากโปรตุเกสที่เอาชนะนโยบายต่อต้านคริสเตียนในญี่ปุ่น และกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมประจำชาติ
ภาพห้องครัวทำขนมจากตำราของ Ichirobei Umemura
ภาพ : www.library.tohoku.ac.jp/collection/exhibit/sp/2005/list3/007.html

คัมเปโตะ เป็นลูกกวาดชนิดหนึ่งที่มีกำเนิดในโปรตุเกส ซึ่งปรากฏในรายชื่อเครื่องบรรณาการที่มิชชันนารีนำมามอบให้แก่โอดะ โนบุนากะ (ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว) ขนมชนิดนี้ทำจากเกล็ดน้ำตาลเคลือบงา ที่ต้องนำน้ำตาลมากวนในกระทะขอบสูงขนาดใหญ่เป็นเวลา 2 -3 สัปดาห์ กว่าจะได้ลูกกวาดขนาดใหญ่ที่มีหนามฟูสวย 

ขนมชนิดนี้คล้ายคลึงกับ ‘ลูกกวาด’ ชาววังของสยาม ซึ่งได้ชื่อว่าลูกกวาดเพราะกรรมวิธีทำนั้นต้องใช้มือลงไปกวนกวาดในกระทะทองเหลืองที่ลนไฟให้ร้อน ห้ามใช้ช้อนหรือทัพพี เพราะลูกกวาดจะไม่ขึ้นหนาม ส่วนไส้ในของสยามนั้นเป็นเมล็ดฟักทองหรือถั่วประเภทต่าง ๆ ถือว่าเป็นขนมชาววัง เฉกเช่นเดียวกับคัมเปโตะของญี่ปุ่น ก็ถูกพัฒนาจนมีหลายสูตร เช่น รสเกลือ ไวน์ ชาเขียว โฮจิฉะ เป็นขนมอวดฝีมือที่ช่างทำขนมอาจจะต้องใช้เวลาถึง 20 ปีในการฝึกฝน 

ในท้ายที่สุดแล้วขนมนี้ก็ได้เผยแพร่เข้าสู่ราชสำนัก กลายเป็นขนมชั้นสูงที่ราชสำนักจะบรรจุในกล่องอย่างสวยงาม ส่งไปพระราชทานในฐานะของขวัญแสดงความยินดีในโอกาสต่าง ๆ สำหรับสามัญชน คัมเปโตะยังเป็นของขวัญในงานแต่งงาน แสดงความยินดีในการคลอดลูก หรือถวายให้ศาลเจ้าและอารามต่าง ๆ ถือได้ว่าเป็นของหรูหราที่กลายเป็นขนมญี่ปุ่นเต็มตัวมากว่า 200 ปี และในที่สุด เมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดต่ำลงมาจากการขยายพื้นที่ทำไร่อ้อยทั่วโลก คัมเปะโตะก็กลายเป็นขนมที่ให้พลังงานสูงสำหรับทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย

'นันบัง' สูตรขนมฝรั่งจากโปรตุเกสที่เอาชนะนโยบายต่อต้านคริสเตียนในญี่ปุ่น และกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมประจำชาติ
กระบวนการทำคัมเปโตะในปัจจุบัน
ภาพ : www.youtube.com/watch?v=ckZlXSnLOOo

ส่วนเค้กคัสเตล่า ฝอยทองญี่ปุ่น โบโร (คุกกี้) และคาราเมลจากโปรตุเกส ยังเป็นขนมสูตรหรูหราประจำครัวขุนนางญี่ปุ่นต่อไป แม้ว่าในระยะต่อมา พวกโปรตุเกสจะถูกสั่งห้ามเข้าประเทศ ญี่ปุ่นปิดประเทศในศตวรรษที่ 17 ยอมให้ชาวดัตช์โปรแตสแตนต์ที่รักษาสัญญาว่าจะไม่ก้าวก่ายทางด้านศาสนาภายในญี่ปุ่น เข้ามาค้าขายแต่เพียงผู้เดียว กระนั้นก็ดี มนตร์เสน่ห์ของขนมจากตะวันตกก็ไม่ได้หายไปไหน ชาวญี่ปุ่นยังคงจดบันทึกตำรับขนมแบบดัตช์เพิ่มเติมต่อไปในฐานะ ‘ขนมนันบัง’ เคียงคู่ไปกับสูตรขนมโปรตุเกสโบราณ เมนูที่เพิ่มเติมเข้าไปนั้นมีสูตรขนมปังชนิดต่าง ๆ และพาสต้าด้วย ชาวดัตช์ที่เข้ามาค้าขายในญี่ปุ่น ยังมีภาระที่ต้องเดินทางไปเข้าพบโชกุที่เมืองหลวงเอโดะทุกปีหรือ 2 ปี ที่นั่นพวกเขายังได้รับการต้อนรับอย่างดีด้วยงานเลี้ยงหรูหรา เช่นเดียวกับขนมแบบตะวันตกก็ยังเป็นที่ต้อนรับเสมอในเมืองหลวง

'นันบัง' สูตรขนมฝรั่งจากโปรตุเกสที่เอาชนะนโยบายต่อต้านคริสเตียนในญี่ปุ่น และกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมประจำชาติ
Keiren Shomen หรือฝอยทองแบบญี่ปุ่น มักห่อด้วยสาหร่าย มีที่มาจาก “fios de ovos” ของโปรตุเกส
ภาพ : ippin.gnavi.co.jp/article-12443/
'นันบัง' สูตรขนมฝรั่งจากโปรตุเกสที่เอาชนะนโยบายต่อต้านคริสเตียนในญี่ปุ่น และกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมประจำชาติ
ภาพ Tamago Boro ที่มีหน้าตาคล้ายขนมผิงในประเทศไทย
ภาพ : spoonfulpassion.com/mini-egg-biscuit/)
'นันบัง' สูตรขนมฝรั่งจากโปรตุเกสที่เอาชนะนโยบายต่อต้านคริสเตียนในญี่ปุ่น และกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมประจำชาติ
‘คาเซอิตะ’ ขนมบิสกิตข้าวเหนียวสอดไส้แยม เป็นหนึ่งในขนมโปรตุเกสโบราณของญี่ปุ่น มีที่มาจาก Caixa da Marmelada ขุนนางตระกูลโฮโซคาวะใช้เป็นบรรณาการไปยังเมืองหลวง มีการประทับตราประจำตระกูลบนขนมด้วย
ภาพ : ippin.gnavi.co.jp/article-1601/

วัฒนธรรมนันบังยังดำเนินต่อไปในโลกาภิวัตน์

เป็นเวลา 200 ปีที่ญี่ปุ่นปิดประเทศ จนถึงสมัยศตวรรษที่ 19 เมื่อ ‘เรือดำ’ ของ มัทธิว เพอรี่ นายพลจัตวาแห่งสหรัฐอเมริกาเข้ามากดดันให้ญี่ปุ่นยอมรับการติดต่อจากภายนอกอีกครั้ง ระบบโชกุนค่อย ๆ เสื่อมอำนาจลง ขณะที่ระบบพระจักรพรรดิถูกนำกลับมาอีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกได้รับเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนกิจอีกครั้ง (แต่ก็ไม่ได้รุ่งเรืองเหมือนเมื่อ 400 ปีก่อน) ส่วนขนมนันบังนั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งเดียวที่ไม่เคยหายไปไหน มันติดอยู่ในปลายลิ้นของผู้คนชนชั้นสูงมาตลอดเวลาหลายชั่วอายุคน อีกทั้งยังกลับได้รับความนิยมชมชอบขึ้นจนแพร่หลายออกจากรั้ววัง ในเวลาเดียวกันสูตรขนมจากประเทศตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ หลังการปฏิรูปเมจิ จนมีคำกล่าวว่า ขนมในประเทศญี่ปุ่นมี 2 ประเภท คือขนมแบบญี่ปุ่นแท้ ๆ และขนมนันบังที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมประจำชาติ แต่การฟื้นฟูครั้งหลังนี้มิได้มาพร้อมกับคริสต์ศาสนา หากแต่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ดำเนินต่อไปพร้อมกับร้านเบเกอรี่หน้าตาแปลกใหม่แฟนตาซีที่เติบโตพร้อมกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนมอย่างจริงจัง ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าวงการโภชนาการของญี่ปุ่นไปเลยทีเดียว

Writer & Photographer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช