The Royals (2013) : Royal Wedding

Genre: Documentary, History

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาเกือบทั้งหมดของสารคดี*

ถ้าวันนี้คุณกำลังรู้สึกว่าคุณป้าข้างบ้านสนใจเรื่องของคุณมากเกินไป เราอยากชวนให้คุณมารู้จักสารคดีที่เฉพาะเจาะจงทำขึ้นเพื่อเล่าเรื่องราวของราชวงศ์นี้ให้คนทั้งโลกฟังดูสักที เพราะจากมากกว่าพันล้านครอบครัว    ทั่วโลก คงไม่มีครอบครัวไหนได้รับความสนใจมากเท่าราชวงศ์อังกฤษอีกแล้ว

‘The Royals’ สารคดีที่เล่าเรื่องราวการแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษให้คนทั้งโลกฟัง

สารคดี The Royals ถูกสร้างเอาไว้เมื่อปี  2013 สารคดีนี้ถูกแบ่งออกเป็น 6 ตอน เล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษที่ใครๆ ก็อยากรู้ และเรื่องที่คนให้ความสนใจมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเรื่องพิธีแต่งงานของสมาชิกในราชวงศ์ ซึ่งในสารคดีชุดนี้ยกมานำเสนอเป็นตอนแรก และเป็นตอนเดียวที่เราคิดว่าควรนำมาเล่าสู่กันฟังอย่างเร่งด่วนในช่วงนี้

สารคดีชุดนี้เล่าเรื่องผ่านการสัมภาษณ์ผู้คนในวงการสื่อและประวัติศาสตร์หลายคน มีทั้งการเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากประวัติศาสตร์ การปะติดปะต่อเรื่อง และการให้ความเห็น ซึ่งทำให้การดูสารคดีชุดนี้เหมือนการได้นั่งคุยอย่างออกรสกับเพื่อนผู้รู้ลึกรู้จริง ดูแล้วมันอดไม่ได้จนต้องเอาไปเล่าให้คนอื่นฟังต่อ ด้วยว่ามันจะทำให้เกิดบทสนทนาต่อกันไปได้อีกยาว

‘The Royals’ สารคดีที่เล่าเรื่องราวการแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษให้คนทั้งโลกฟัง

การแต่งงานที่เป็นวาระระดับโลก

ในสารคดีชุดนี้เล่าว่าพิธีเสกสมรสของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษสามารถดึงดูดความสนใจของคนได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ แฟชั่น และเป็นการรวมตัวกันของคนดังระดับที่ไม่ได้เห็นกันได้บ่อยๆ

ถ้าจะเล่าให้มันจริงขึ้นอีกนิด นี่เป็นจุดเริ่มต้นของละครชีวิตตอนใหม่ที่คนทั่วโลกจะได้คอยจับตามอง เป็นเหมือนแคมเปญโฆษณาของสหราชอาณาจักร และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นทั้งชาวอังกฤษเองและชาวโลก แคมเปญนี้ไม่ใช่แค่การประกาศและตอกย้ำความเป็นอังกฤษ แต่ยังเป็นโอกาสที่ราชวงศ์ใช้สื่อสารกับผู้คน เพื่อสร้างความใกล้ชิดผ่านวิธีการที่เข้ากับยุคสมัยด้วย

สารคดีนี้เล่าย้อนไปถึงการแต่งงานของราชวงศ์ตั้งแต่อดีต ผ่านหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จนมาเป็นพิธีเสกสมรสที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกในทุกวันนี้ หลายครั้งที่พิธีเสกสมรสของราชวงศ์อังกฤษได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับสังคม แต่ก็คงไม่มีครั้งไหนที่เป็นการปฏิวัติมากเท่ากับพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียอีกแล้ว

สมเด็จพระราชีนีนาถผู้นำเทรนด์

เราเพิ่งรู้จากการดูสารคดีเรื่องนี้ว่าพิธีเสกสมรสของราชวงศ์อังกฤษเคยเป็นพิธีการที่ทำกันอย่างเป็นส่วนตัวในครอบครัว ไม่ได้มีการเปิดเผยสู่สาธารณชนมาก่อน จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 1840 ซึ่งถ้าเทียบช่วงเวลากับไทยตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นพระองค์แรกที่เผยแพร่พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระองค์กับเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทาให้ประชาชนได้ชื่นชม

ในช่วงนั้นเทคโนโลยีการถ่ายภาพและการพิมพ์ที่ก้าวหน้าไปมากในยุโรปทำให้การสื่อสารมวลชนที่มีภาพถ่ายประกอบเป็นไปได้ง่ายและกว้างขวางมากขึ้น สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเห็นประโยชน์ของการสร้าง      ภาพลักษณ์และสร้างความนิยมให้กับราชวงศ์ จึงพระราชทานพระราชวโรกาสให้นักข่าวร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส รวมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำภาพการอภิเษกสมรสของพระองค์ไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทั่วทั้งราชอาณาจักร ซึ่งนับว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ล้ำสมัยมากในยุคนั้น

‘The Royals’ สารคดีที่เล่าเรื่องราวการแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษให้คนทั้งโลกฟัง

และก็เหมือนกับเจ้าสาวในทุกยุคทุกสมัย พระองค์ทรงเลือกฉลองพระองค์ชุดเจ้าสาวที่แสดงจุดยืนของตนเอง ซึ่งไม่เหมือนกับเจ้าสาวราชวงศ์พระองค์ไหน ก่อนหน้านี้ชุดเจ้าสาวของราชวงศ์เป็นชุดสีทองที่ทรงเครื่องอย่างหรูหราเพื่อเป็นการสื่อถึงยศถาบรรดาศักดิ์ของผู้สวมใส่ แต่ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระองค์ทรงเลือกฉลองพระองค์ชุดเจ้าสาวสีขาวล้วนแบบบอลล์กาวน์ (Ball Gown) ซึ่งเป็นแบบที่ไม่เคยมีเจ้าสาวราชวงศ์พระองค์ไหนสวมมาก่อน ชุดเจ้าสาวสีขาวนี้ทำให้พระองค์เด่นสะดุดตาท่ามกลางผู้คนที่มาร่วมในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ตั้งแต่นั้นมา ชุดเจ้าสาวสีขาวก็ได้รับความนิยมจากเจ้าสาวทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้

ภาพพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียต่อเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา

การสมรสกับสามัญชน

อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ว่าเรามักจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ หลายอย่างในพิธีเสกสมรสของราชวงศ์อังกฤษในปี 1920 นั้นเจ้าชายเพิ่งจะได้รับอนุญาตให้สมรสกับสตรีที่ไม่ใช่ราชวงศ์และเจ้าชายอัลเบิร์ต ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระบรมราชชนกในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็เป็นเจ้าชายพระองค์แรกที่ใช้สิทธิ์นั้น

‘The Royals’ สารคดีที่เล่าเรื่องราวการแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษให้คนทั้งโลกฟัง

เมื่อปี 1923 ซึ่งในประเทศไทยอยู่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 เจ้าชายอัลเบิร์ตเข้าพิธีเสกสมรสกับเอลิซาเบธ โบว์ส-ลีออน หญิงสาวสามัญชนจากสังคมชั้นสูงในสกอตแลนด์ ที่ต่อมาคือสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระบรมราชชนนีในสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แม้เรื่องที่เล่ากันต่อๆ มาจะบอกว่าเอลิซาเบธได้ปฏิเสธการขอแต่งงานไปถึง 3 ครั้ง แต่เจ้าชายอัลเบิร์ตก็ไม่ได้ถอดใจและทรงเอาชนะใจเอลิซาเบธได้ในที่สุด

นอกจากจะเป็นการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์และสามัญชนแล้ว พิธีเสกสมรสครั้งนั้นก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นของ     รูปแบบการเสกสมรสของราชวงศ์ในยุคปัจจุบันที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้นอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถม้าที่มีหน้าต่างให้มองเห็นด้านในได้ หรือการยืนโบกมือที่ระเบียงพระราชวังบัคกิงแฮม

‘The Royals’ สารคดีที่เล่าเรื่องราวการแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษให้คนทั้งโลกฟัง
‘The Royals’ สารคดีที่เล่าเรื่องราวการแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษให้คนทั้งโลกฟัง

การอนุญาตให้เจ้าชายสมรสกับสตรีที่เพียบพร้อมแม้ว่าจะไม่ใช่เชื้อสายราชวงศ์นั้นถูกมองว่าเป็นหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำราชวงศ์อังกฤษเข้าสู่ยุคใหม่ และทำให้อังกฤษยังมีราชวงศ์อยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ในยุคสมัยที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจะจบไปได้ไม่นาน อังกฤษต้องพบกับสถานการณ์ข้าวยากหมากแพง ประชาชนคาดหวังว่าราชวงศ์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าถึงประชาชนให้มากกว่าที่เคย เทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าบีบบังคับให้การสื่อสารผ่านหนังสือพิมพ์ไม่ดีพออีกต่อไป สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 จำเป็นต้องพระราชทานพระราชดำรัสออกอากาศผ่านทางวิทยุเพื่อสร้างความมั่นใจแก่พสกนิกร ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงมีปัญหาเรื่องความไม่มั่นใจในการพูดต่อหน้าสาธารณะ และเพราะมีราชินีที่คอยเคียงข้างช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่ทำให้พระองค์และราชอาณาจักรอังกฤษผ่านพ้นความระส่ำระสายนั้นมาได้  (ถ้าสนใจเรื่องนี้เราแนะนำให้ดูภาพยนตร์เรื่อง King Speech ต่อจากสารคดีเรื่องนี้เลย)

เมื่อเจ้าหญิงกับเจ้าชายไม่ได้ครองรักด้วยความสุขตลอดกาลเสมอไป

ในยุค 80 เมื่อโลกเริ่มจะไร้พรมแดน การเสกสมรสของสมาชิกราชวงศ์ซึ่งเคยเป็นวาระระดับชาติได้กลายมาเป็นวาระระดับโลก ความกดดันในการเลือกคู่ครองของมกุฎราชกุมารอังกฤษอย่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ก็เลยไม่ได้มาจากแค่ภายในครอบครัวเท่านั้น แต่ว่าสื่อมวลชนและความคาดหวังของคนทั้งโลกก็มีส่วนในการสร้างความกดดันด้วย เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ได้รับคำแนะนำให้สมรสกับสตรีผู้สูงศักดิ์และบริสุทธิ์ ความสัมพันธ์ของพระองค์กับคามิลลา ปาร์กเกอร์ โบว์ลส์ จึงไม่เข้าข่ายที่ราชวงศ์อังกฤษและชาวโลกจะยอมรับได้ในยุคนั้น เมื่อไม่สามารถประวิงเวลาได้อีกต่อไป เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จึงเข้าพิธีเสกสมรสกับ ไดอาน่า สเปนเซอร์ บุตรสาวจากครอบครัวที่มีสายสัมพันธ์กับราชวงศ์อังกฤษมานานหลายชั่วอายุ

‘The Royals’ สารคดีที่เล่าเรื่องราวการแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษให้คนทั้งโลกฟัง

ในปี 1981 พิธีเสกสมรสครั้งนั้นสะกดชาวโลกไว้ด้วยความอลังการราวกับเทพนิยาย ราชวงศ์อังกฤษเลือกสถานที่ในการจัดงานเป็นวิหารเซนต์พอลซึ่งสามารถรองรับแขกได้ถึง 2,600 คน พระมหากษัตริย์ พระราชินี และผู้นำประเทศจากทั่วทั้งยุโรป ได้รับเชิญให้มาร่วมงาน และผู้คนทั่วโลกก็ได้รับเชิญให้ร่วมเป็นสักขีพยานในการเสกสมรสครั้งนี้เช่นกัน

‘The Royals’ สารคดีที่เล่าเรื่องราวการแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษให้คนทั้งโลกฟัง

วิทยาการและเทคโนโลยีทางโทรทัศน์ที่ก้าวหน้าไปทั่วโลกก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การเสกสมรสครั้งนั้นเป็นวาระระดับโลก เพราะนอกจากชาวโลกจะให้ความสนใจในราชวงศ์อังกฤษแล้ว ในยุคนั้นก็ยังไม่เคยมีการถ่ายทอดสดที่ยิ่งใหญ่และน่าตื่นตาตื่นใจเท่าพิธีเสกสมรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และไดอาน่ามาก่อน และการถ่ายทอดสดในครั้งนั้นคาดว่าจะมีผู้ชมราวๆ 750 ล้านคนจากทั่วโลกเลยทีเดียว

ความอลังการและการได้รับความสนใจอย่างมหาศาลในครั้งนั้นสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการแต่งงานทั่วโลกที่ต้องหรูหราและยิ่งใหญ่ ฉลองพระองค์ชุดเจ้าสาวของเจ้าหญิงไดอาน่ามีผ้าลูกไม้เป็นหางยาว 25 ฟุต และมีเลื่อมมุกกว่า 10,000 ชิ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นในสารคดีชุดนี้ให้ความเห็นว่าการออกแบบนี้มีที่มาจากความมั่งคั่งในยุค 80 ความยิ่งใหญ่และหรูหราของชุดเจ้าสาวจึงถูกนำกลับมาให้ค่าอีกครั้งในพิธีเสกสมรสของสมาชิกราชวงศ์เพื่อแสดงถึงอำนาจและความยิ่งใหญ่ แต่อย่างหนึ่งที่ยังคงอยู่คือ สีขาวของชุด ซึ่ง ณ วันนั้นมีความหมายเพิ่มเติมที่สื่อถึงความบริสุทธ์ของเจ้าสาวอย่างไดอาน่า และได้กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของเจ้าสาวในอุดมคติต่อมา

‘The Royals’ สารคดีที่เล่าเรื่องราวการแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษให้คนทั้งโลกฟัง

อย่างไรก็ตามการแต่งงานกับเจ้าชายผู้สูงศักดิ์และการมีพิธีเสกสมรสที่สวยงามจนใครๆ อิจฉา ก็ไม่ได้ทำให้หญิงสาววัย 20 ปีอย่างเจ้าหญิงไดอาน่าเป็นคนที่มีความสุขที่สุดแบบในเทพนิยาย

คนทั่วไป รวมทั้งเจ้าหญิงไดอาน่าเองรู้ดีว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์มีคามิลลา ปาร์กเกอร์ โบว์ลส์ เป็นคู่รักอยู่ แต่ไดอาน่าเองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าในตอนที่เธอกำลังจะเดินเข้าพิธีเสกสมรส เธอเห็นว่าคามิลลาอยู่ร่วมในพิธีด้วย เธอก็ได้แต่หวังว่าความรักของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และคามิลลาจะจบลงไปแล้ว แต่เราทุกคนก็รู้ดีว่าความจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอาน่าทรงแยกทางกันในปี 1996 และเจ้าหญิงแสนสวยผู้น่าสงสารก็สิ้นพระชนม์เพราะอุบัติเหตุในปี 1997

เทพนิยายยุคมิลเลเนียล

แต่แล้วเจ้าชายวิลเลียม พระโอรสองค์โตของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอาน่าก็ให้ความหมายใหม่กับความสุขดั่งเทพนิยายในอีกสิบกว่าปีถัดมา

‘The Royals’ สารคดีที่เล่าเรื่องราวการแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษให้คนทั้งโลกฟัง

เจ้าชายวิลเลียม และ เคท มิดเดิลตัน คบหาดูใจกันมานานถึง 6 ปีก่อนที่ทั้งสองจะเข้าพิธีเสกสมรส และดำรงยศเป็นดยุกและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ในเวลาต่อมา การที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งของบิดามารดาท่ามกลางการจับตามองของคนทั้งโลกไม่ใช่สิ่งที่เจ้าชายวิลเลียมอยากให้เกิดซ้ำแน่ๆ เขาจึงใช้เวลาเพื่อหาหญิงสาวที่พร้อมทั้งคุณสมบัติที่เขา ราชวงศ์ และโลก มองหา

ในโลกยุคนี้ เคท มิดเดิลตัน ไม่ใช่คนที่จะเรียกได้เต็มปากว่าเป็นคนธรรมดา (Commoner) อีกแล้ว เธอมีคุณลักษณะที่เพียบพร้อมสำหรับการเป็นสมาชิกราชวงศ์ในโลกยุคใหม่ทั้งในด้านการศึกษา ความสามารถ บุคลิก และรสนิยม ที่ทำให้ประชาชนยอมรับเธอได้ไม่ยาก เจ้าชายวิลเลียมทรงหมั้นเคทด้วยแหวนวงเดียวกันกับที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ให้กับเจ้าหญิงไดอาน่า แต่สิ่งที่ทำให้คนทั้งโลกรักและสนับสนุนหนุ่มสาวคู่นี้ไม่ใช่แค่ความน่าหลงใหลแบบเทพนิยายเหมือนครั้งนั้น แต่มันคือความเหมาะสมลงตัวที่เต็มไปด้วยความรักและจับต้องได้ ผู้คนล้วนรู้สึกมีความสุขไปกับพวกเขาเหมือนกับการได้เห็นลูกหลานของตนเป็นฝั่งเป็นฝาไปกับคนที่คู่ควร และชาวอังกฤษก็เต็มไปด้วยความหวังว่าดยุกและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์คู่นี้จะเป็นผู้นำความยิ่งใหญ่กลับมาให้กับราชอาณาจักรอังกฤษในโลกยุคใหม่นี้ได้

‘The Royals’ สารคดีที่เล่าเรื่องราวการแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษให้คนทั้งโลกฟัง

พิธีเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียมและเคทในปี 2011 มีผู้ชม 2 พันล้านคนที่ชมการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์และก็ยังมีอีกไม่น้อยที่ติดตามชมและพูดถึงการเสกสมรสในครั้งนั้นผ่าน Social Network อย่าง Twitter และ Facebook นอกจากรายชื่อดารา นักกีฬา และผู้มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ที่ได้รับเชิญมาร่วมงานแล้ว ชุดเจ้าสาวก็ยังคงเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจเหมือนเคย ฉลองพระองค์ชุดเจ้าสาวราชวงศ์ในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้ถูกตีความแค่จากรูปแบบและเครื่องประดับที่เธอเลือกอีกต่อไป แต่ผู้คนยังให้ความสนใจไปถึงการเลือกดีไซเนอร์ของเจ้าสาวราชวงค์เลยทีเดียว ซาราห์ เบอร์ตัน แห่งอเล็กซานเดอร์ แมคควีน ก็เลยกลายเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์ในฐานะผู้ออกแบบชุดเจ้าสาวที่ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นการออกแบบที่เต็มไปด้วยเรื่องราวได้อย่างน่าประทับใจ

‘The Royals’ สารคดีที่เล่าเรื่องราวการแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษให้คนทั้งโลกฟัง

รักออกแบบไม่ได้

เรื่องราวของความรักไม่เคยเป็นเรื่องง่ายและการครองคู่กันในราชวงศ์ก็มีหลายเรื่องไม่ธรรมดา หลายเรื่องก็เป็นที่น่าเห็นใจ อย่างการสละราชสมบัติเพื่อไปแต่งงานกับผู้หญิงที่รัก แต่รัฐบาลไม่อนุมัติ หรือการเสกสมรสครั้งที่ 2 ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และคามิลลา ปากเกอร์ โบว์ลส์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ยาก แต่มันก็เป็นการปลดล็อกที่ราชวงศ์อังกฤษต้องทำเพื่อเป็นการปรับตัวไปตามยุคสมัย ในพิธีเสกสมรสของดยุกและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ โลกได้เห็นว่าราชวงศ์ได้ผ่อนปรนอะไรหลายอย่างเพื่อเปิดทางให้เรื่องที่สำคัญต่อลูกหลานของราชวงศ์ อย่างการให้เลือก คู่ครองเองและการให้ความสำคัญในระดับส่วนตัวมากกว่าระดับรัฐแล้ว

ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2018 ที่ผ่านมาราชวงศ์อังกฤษก็ได้แสดงความใจกว้างครั้งใหญ่อีกครั้งในพิธีเสกสมรสของเจ้าชายแฮร์รี่ พระอนุชาในเจ้าชายวิลเลียมและเมแกน มาร์เคิล นักแสดงฮอลลีวูด ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ในเวลาต่อมา น่าเสียดายที่เรื่องราวของทั้งสองไม่ได้ถูกรวมเอาไว้ในสารคดีชุดนี้ แต่เราได้ยินมาว่าจะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องราวความรักของทั้งสองพระองค์ออกมา ติดตามดูกันได้นะ

สุดท้ายนี้จะไม่พูดถึงเรื่องของพระราชินีองค์ปัจจุบันคงไม่ได้

สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงโดดเด่นเสมอด้วยการแต่งองค์ด้วยสีจัดจ้านสีเดียว สารคดีเรื่องนี้ทำให้เราเพิ่งทราบว่าการที่พระองค์ทรงฉลองพระองค์เช่นนั้นก็เพื่อทำให้หน่วยรักษาความปลอดภัยสังเกตเห็นพระองค์ได้ง่าย แล้วก็ยังทำให้พระองค์โดดเด่นในสายตาฝูงชนอีกด้วย

สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์มาเกินครึ่งพระชนม์ชีพของพระองค์และตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์นั้นพระองค์ทรงแทบจะไม่มีความเป็นส่วนตัวเลย ยกเว้นกับชายผู้เคียงข้างพระองค์เป็นเหมือนพระสหายสนิทมาตลอดอย่างเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ

‘The Royals’ สารคดีที่เล่าเรื่องราวการแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษให้คนทั้งโลกฟัง

เจ้าหญิงเอลิซาเบธกับเจ้าชายฟิลิปเสกสมรสหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงไม่นาน และพิธีเสกสมรสของทั้งสองพระองค์ไม่ได้ถูกลงรายละเอียดมากในสารคดีชุดนี้ แต่ฉลองพระองค์ชุดเจ้าสาวของเจ้าหญิงเอลิซาเบธก็ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นชุดเจ้าสาวที่สวยอย่างไร้กาลเวลา และทั้งสองก็คงครองรักกันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ก็ 65 ปีแล้ว

‘The Royals’ สารคดีที่เล่าเรื่องราวการแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษให้คนทั้งโลกฟัง
Photo By Jon – Flickr, CC BY 2.0 https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2382896

ท่ามกลางความกดดันและการเสียสละในฐานะประมุขแห่งราชวงศ์อังกฤษ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ก็มีเจ้าชายฟิลิปเป็นพื้นที่ปลอดภัยของพระองค์เสมอมา พระองค์ทรงสามารถเป็นตัวของพระองค์เองได้เมื่ออยู่กับเจ้าชายฟิลิป และเจ้าชายฟิลิปก็เป็นเพียงคนเดียวที่จะพูดตรงๆ กับสมเด็จพระราชินีได้ ถือว่าเป็นคู่ชีวิตที่น่าอิจฉาไม่น้อยเลยทีเดียวนะ ว่าไหม (ถ้ายังสนใจเรื่องราวชีวิตของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 เราขอแนะนำเพิ่มเติมให้ดูซีรีย์ The Crown ใน Netfilx นะ สนุกมาก)

สารคดีชุดนี้ตั้งข้อสังเกตว่าพิธีเสกสมรสของราชวงศ์อังกฤษมักจะเกิดขึ้นเมื่อราชอาณาจักรอังกฤษกำลังเผชิญปัญหาอะไรสักอย่าง เช่นการอภิเษกสมรสของพระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ก็เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงเอลิซาเบธกับเจ้าชายฟิลิปก็เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กับเจ้าหญิงไดอาน่าและเจ้าชายวิลเลียมกับเคทก็มีพิธีเสกสมรสกันในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ มันก็เป็นได้ที่อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ และก็เป็นไปได้อีกเช่นกันว่านี่อาจจะเป็นหนึ่งในวิธีการทำให้คนอังกฤษรวมกันเป็นหนึ่งได้ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นเพราะสงครามหรือวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เรารู้แน่ๆ วันนี้คือราชวงศ์อังกฤษนั้นเปรียบเสมือนครอบครัวของชาวอังกฤษและยังเป็นราชวงศ์ของโลกอีกด้วย

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น