*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ / ละคร*

สำหรับชาวเราแล้ว ทุกเดือนมิถุนายนของทุกปี เราจะภูมิใจกับมันมากพิเศษ

เพราะเดือนนี้คือ Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในหลายประเทศทั่วโลก ที่จะร่วมกันเดินขบวน LGBT Pride เพื่อแสดงการระลึกถึงเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ เมื่อปี 1970 และเพื่อเฉลิมฉลอง Pride Month อย่างสนุกสนาน ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยจะจัดงานลักษณะเดียวกันในชื่อ Bangkok Pride อีกด้วย

ปี 2018 นี้ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของชาวเราในสังคมไทยอย่างหลากหลายมากขึ้น ทั้งไอคอน เซเลบริตี้คนดังผู้เป็นเพศทางเลือกต่างได้รับการยอมรับในวงกว้างกว่าเดิม ไม่ใช่แค่ในมุมมองของผู้สร้างเสียงหัวเราะเท่านั้น หากแต่เป็นด้านของผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิด ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคม สื่อต่างๆ ทั้งละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือนิทรรศการต่างๆ สะท้อนภาพของเพศทางเลือกในประเทศไทยให้ประจักษ์ชัดและแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของคนกลุ่มนี้ในสังคมมากยิ่งขึ้น

สื่อบันเทิงเป็นภาพสะท้อนความเป็นไปของชาวเราได้ดีในแต่ละยุคแต่ละสมัย ดังนั้นวันนี้จึงอยากแนะนำ 4 ภาพยนตร์ ซีรีส์ และละครโทรทัศน์ ที่เหมาะแก่การหยิบมาถอดรหัสเรื่องราวความหลากหลายทางเพศ ทั้งในมุมของความสัมพันธ์ ครอบครัว สังคมทั้งไทยและเทศไปพร้อมๆ กัน

 

Ellen

(1994 – 1998)

Ellen (ปี 1994 - 1998)

ในยุค 90 ของวงการบันเทิงฝั่งอเมริกัน หากดารานักแสดงคนใดมีละครซิตคอมที่ออกอากาศทั่วประเทศหรือ Syndication Broadcasting ได้ ถือว่าเขาหรือเธอประสบความสำเร็จในวงการเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งดาวดวงใหม่ในวงการ Stand Up Comedy ในขณะนั้นอย่าง Ellen Degeneres

ซิตคอมเรื่องนี้เล่าเรื่องของเอลเลน มอร์แกน ผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานในร้านหนังสือใจกลางเมืองลอสแอนเจลิส เธออาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์เดียวกับเพื่อนสนิท เรื่องราวใน 4 ซีซั่นแรกเหมือนจะไม่มีอะไรผิดแปลกไปจากขนบซิตคอมทั่วไปที่เล่าเรื่องของตัวเอกและวงสังคมของเพื่อนๆ แต่ตลอดเรื่องราวเหล่านั้น มีคำใบ้อยู่เนืองๆ ที่พอจะบอกถึงเป้าหมายความสัมพันธ์และรสนิยมทางเพศของเธอ

ว่าเธอไม่ได้ชอบผู้ชาย

Ellen (ปี 1994 - 1998)

จุดเปลี่ยนของเรื่องราวในซิตคอมเรื่องนี้อยู่ในตอนที่ชื่อว่า The Puppy Episode เอลเลนได้เจอกับริชาร์ด เพื่อนสมัยมัธยม ซึ่งมาพร้อมกับซูซาน โปรดิวเซอร์ของเขา เอลเลนหลงรักซูซานตั้งแต่แรกพบ เธอตัดสินใจสารภาพรักกับซูซานกลางสนามบิน หลังจากได้รับคำแนะนำจากจิตแพทย์ประจำตัว (รับบทโดย โอปราห์ วินฟรีย์) ด้วยประโยคสุดคลาสสิกตลอดกาล ‘Susan, I’m gay.’

Ellen (ปี 1994 - 1998)

ฉากนี้เป็นหนึ่งในฉากที่มีอิทธิพลและทรงพลังที่สุดในวงการละครโทรทัศน์ฮอลลีวูด เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ก่อให้เกิดความตระหนักถึงการมีตัวตนอยู่ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ อีกทั้งเป็นสัญญาณที่ทำให้ใครหลายคนเปิดตัวต่อสังคม ซึ่งทั้งหมดขัดทั้งกรอบศีลธรรม บทบัญญัติทางศาสนา และทัศนคติของคนในช่วงเวลานั้น จนนำมาสู่การประท้วงต่อต้านกลายเป็นความขัดแย้งและการตั้งคำถามในสังคม

ในซีซั่นที่ 5 จะเน้นเรื่องราวของการต่อสู้เพื่อการยอมรับเพศทางเลือกในสังคม ยิ่งเป็นการโหมกระหน่ำความคิดเชิงลบต่อสังคมในขณะนั้นมากกว่าเดิม นอกจากสปอนเซอร์จะถอนตัวออกจนหมดแล้ว สถานีโทรทัศน์ ABC ก็ได้ตัดสินใจตัดจบซิตคอมเรื่องนี้ด้วยยอดเรตติ้งที่น้อยกว่าทุกซีซั่น

กลับมาที่ปัจจุบัน ไม่ต้องสรุปให้มากความถึงผลลัพธ์การเปิดตัวของเธอ เอลเลนกลายเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของวงการบันเทิงโลก เธอมีรายการทอล์กโชว์เป็นของตัวเอง ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ซีซั่นที่ 16 ในเดือนกันยายนนี้ และได้รับรางวัลการันตีมากมาย เธอเป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับต่ออเมริกันชนและคนทั่วโลก

จึงถือได้ว่า Ellen เป็นละครซิตคอมเรื่องเดียวที่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนและเปลี่ยนแปลงภาพของ LGBTQ จนภาพนั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ดูอะไรต่อดีที่ว่าด้วยเรื่องกลุ่มเพื่อนชาวเรา

Will and Grace (1998 – 2006, 2017 – ปัจจุบัน)

Wake Up ชะนี The Series (2018)

 

Like Grains of Sand

(1995)

ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีงาน Tokyo Rainbow Pride Walk เป็นประจำทุกปี และมีกฎหมายรองรับการแต่งงานของเพศเดียวกันใน 7 เมือง แต่ญี่ปุ่นกลับเป็นประเทศหนึ่งที่แทบไม่เปิดพื้นที่สื่อให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเลย นอกจาก Transgender หรือผู้หญิงข้ามเพศเท่านั้น มีครั้งหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในปี 1995 ซึ่งทำให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกพูดถึงมากขึ้นในพื้นที่สื่อของญี่ปุ่น

Like Grains of Sand คือภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องราวในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น อิโต้ นักเรียนหัวกะทิประจำห้อง ที่กำลังแอบชอบ โยชิดะ เพื่อนสนิทของตัวเอง ในขณะที่โยชิดะนั้นกำลังเริ่มสานสัมพันธ์กับไอฮาระ นักเรียนใหม่ที่มีประวัติอันเลวร้าย เธอทั้งเคยโดนข่มขืน ใช้สารเสพติด และถูกเพื่อนๆ ในห้องแกล้งอยู่เสมอ

ถึงแม้ว่าการที่อิโต้บอกชอบโยชิดะไปแล้ว โยชิดะจะไม่รู้สึกอะไร แถมยังบอกว่าเข้าใจ และอนุญาตให้อิโต้ลอง ‘กอด’ และ ‘จูบ’ เขาด้วย เมื่อไอฮาระรู้เรื่องนี้ เธอถามโยชิดะว่ารู้สึกยังไง เขากลับบอกว่าเขาเป็น ‘คนปกติ’ ไม่ได้เป็น ‘โรคจิต’ ที่จะชอบเพื่อนตัวเองที่เป็นผู้ชาย

สิ่งที่ไอฮาระทำคือการทำลายข้าวของและทำร้ายโยชิดะ

ในฉากสุดท้ายของภาพยนตร์ อิโต้ โยชิดะ และไอฮาระ ไปเที่ยวทะเลด้วยกัน อิโต้ขอให้ไอฮาระสลับตัวกับเขา เพื่อฟังคำสารภาพรักของโยชิดะที่มีต่อไอฮาระ

ถึงแม้ว่าโยชิดะจะรักไอฮาระอย่างหมดใจ แต่เมื่อไอฮาระที่สลับตัวกับอิโต้ถามเขาว่า

‘ถ้าฉันเป็นผู้ชาย เธอจะยังชอบฉันอยู่มั๊ย’

โยชิดะกลับตอบคำถามด้วยความลังเลว่า ‘ก็อาจจะชอบ แต่ความรู้สึกมันไม่เหมือนกัน’

โยชิดะสะท้อนความเป็นคนญี่ปุ่นที่ยังคงมีความคิดเชื่อใน ‘เพศสภาพ’ มากกว่า ‘ความรู้สึก’ เขามองว่าการที่ผู้ชายชอบผู้ชายด้วยกันนั้นเป็นเรื่องผิดแปลก ดังที่เขาบอกไอฮาระว่า อิโต้เป็นโรคจิต และพยายามยัดตัวเองลงไปในความรักที่ถูกต้องตามเพศสภาพดังที่เขาสารภาพรักกับไอฮาระ แต่สุดท้ายเมื่อถึงคราวที่เขาต้องเริ่มการกระทำที่ลึกซึ้งต่อเธอ เขากลับทำไม่ได้

ตราบจนถึงปัจจุบัน ทัศนคติของคนญี่ปุ่นที่มีต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงเหมือนเดิม การเปิดเผยตัวตนยังไม่สามารถทำได้โดยปราศจากข้อกังขา หนำซ้ำจะกลายเป็นประเด็นให้เพื่อนฝูงหรือคนในสังคมนินทา หรือกลายเป็นเหยื่อในการถูกกลั่นแกล้งอย่างสนุกสนาน

ไม่เปลี่ยนไปจากภาพยนตร์เมื่อ 22 ปีที่แล้วสักเท่าไหร่

ดูอะไรต่อดีที่ว่าด้วยความสับสนในใจของชาวเรา

Night Fight (2014)

Hormones วัยว้าวุ่น (2013 – 2015)

 

GAYOK BANGKOK

(2016-ปัจจุบัน)

GAYOK BANGKOK (2016)

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาของวงการบันเทิงไทย มีทั้งภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และซีรีส์ มากมายที่เล่าเรื่องความรักของชาวเรา ถึงแม้จะมีตัวเดินเรื่องเป็นวัยรุ่นหน้าใส พร้อมการดำเนินเรื่องแบบสูตรสำเร็จก็ตาม และปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีการเหล่านั้นยังคงได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน

GAYOK BANGKOK ฉีกสูตรสำเร็จเหล่านั้นทั้งหมดด้วยการเล่าเรื่องผ่านตัวละครในวัยทำงาน (อาจจะมีวัยเรียนมหาวิทยาลัยบ้าง) สะท้อนภาพสังคมของชาวเกย์ในประเทศไทยได้อย่างแตกต่าง ไม่แต่งเติมภาพความสวยงามดังเช่นซีรีส์เรื่องอื่นพยายามเล่าในปัจจุบัน

GAYOK BANGKOK (2016)

ประเด็นตลอด 2 ซีซั่นที่ซีรีส์ออนไลน์เรื่องนี้พยายามสื่อสารกับเราคือ การแก้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเกย์ที่มักถูกภาพสังคม ‘เหมารวม’ ว่าเกย์มีลักษณะการใช้ชีวิตและการสร้างความสัมพันธ์แบบที่เราเคยเข้าใจ

ซึ่งอาจไม่ใช่ทั้งหมด

เช่นเรื่องของสตางค์ (รับบทโดย เจนนี่ ปาหนัน) ผู้ออกปากอย่างชัดเจนว่าเป็นกะเทยที่ไม่สวย มีแต่คนเข้าหา เพราะเธอเป็นคนตลก สามารถสร้างเสียงหัวเราะและทำให้คนที่อยู่รอบข้างมีความสุขได้ แต่ก็ไม่มีใครอยากสานความสัมพันธ์ต่อ เพราะเพียงแค่ความ ‘ตลก’ ที่เธอมีให้กับทุกคน 

สตางค์อาจคิดว่าตัวเองมีความรักไม่ได้ แต่เมื่อเธอได้เจอกับ ปูน เกย์หนุ่มต่างจังหวัดที่มัดใจเธอด้วยรอยยิ้มและทัศนคติเชิงบวก นี่เป็นสัญญาณที่ดีต่อการเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งแรกในชีวิตของสตางค์

GAYOK BANGKOK (2016)

หรือเรื่องของปอม พนักงานออฟฟิศหน้าตาธรรมดาคนหนึ่งผู้ไม่เคยเชื่อว่าตัวเองจะได้มีความรักที่ดีอย่างเกย์คนอื่น ซึ่งอาจมีหน้าตาและพื้นฐานชีวิตที่ดีกว่าเป็นตัวช่วย แต่เมื่อปอมมีพี่หนึ่ง ผู้เป็นแฟนเก่าของอาร์ม เข้ามาสานสัมพันธ์จนเป็นแฟนกัน จากปัญหาธุรกิจของพี่หนึ่ง เขามีความเป็นผู้ใหญ่ และค่อนข้างห่วงภาพลักษณ์ทางสังคมของตัวเอง ในขณะที่หน้าที่การงานของปอมกำลังไปได้สวย เมื่อปอมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือพี่หนึ่ง จึงอาจกลายเป็นความอิจฉาความในความก้าวหน้าของคู่ครอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติมากๆ ของสังคมเกย์

ปอมจึงต้องเรียนรู้ผ่านสนามจริง และประคองความสัมพันธ์ไปจนตลอดรอดฝั่งให้ได้

GAYOK BANGKOK (2016)

ข้อดีอีกหนึ่งข้อที่เห็นกันอย่างชัดเจนใน GAYOK BANGKOK คือประเด็นการรณรงค์การป้องกันการติดเชื้อ HIV ในหมู่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเน้นย้ำเสมอทั้งจาก Interlude เปิดเรื่อง รวมทั้งการสร้างตัวละครที่ติดเชื้อ HIV คือนัท (รับบทโดย เต็งหนึ่ง คณิศ คอลัมนิสต์เจ้าของคอลัมน์ To Be Continued ใน The Cloud) นัทต่างมีความสัมพันธ์ทั้งกับอาร์มในซีซั่นที่ 1 ที่เลิกรากันไป และคามินในซีซั่นที่ 2 ซึ่งพัฒนาจากคนที่เคยทักกันทั่วไป กลายมาเป็นหุ้นส่วนร้านเบเกอรี่ และหุ้นส่วนชีวิต

หากมองข้ามเรื่องที่นัทติดเชื้อ HIV แล้ว นัทยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเฉกเช่นคนธรรมดาทั่วไป การติดเชื้อของนัทไม่ได้เป็นอุปสรรคหรือปัญหาใดๆ กับการมีความรักเลยแม้แต่น้อย

ใน GAYOK BANGKOK มีเรื่องราวในสังคมของเกย์ซ่อนอยู่แทบทุกเรื่องเท่าที่สิบนิ้วจะพอนับไหว ซีรีส์เรื่องนี้ นอกจากจะเป็นภาพสะท้อนสังคมที่ฉีกทุกภาพเหมารวมแล้ว มันยังเป็นการหยิบเรื่องจริงมาเล่า เพื่อบอกว่าความรักของเกย์และกะเทยนั้นไม่จำเป็นต้องจบด้วยการร้องไห้ฟูมฟายเป็นนางโชว์ประกอบเพลง เพลงสุดท้าย ของแม่แดง ฉันทนา

เพื่อพร่ำบอกกับใครก็ตามว่า นี่คือจุดล่มสลายของชีวิตรักในแบบของเรา

ดูอะไรต่อดีที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของชาวเราแบบตรงไปตรงมา

รักแปดพันเก้า (2004 – 2005)

Orange is the New Black (2013 – ปัจจุบัน)

 

One Day at a time

(2017 – ปัจจุบัน)

One Day at a time (2017 - ปัจุจุบัน)

นี่คือหนึ่งในซิตคอมอเมริกันของ Netflix ที่หยิบผลงานในยุค 70 มาปัดฝุ่นใหม่ให้สดใสกว่าเดิม

เรื่องราวของครอบครัวชาวคิวบาที่ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในอเมริกา ประกอบไปด้วยลิเดีย คุณยายผู้เคร่งศาสนาคริสต์อย่างสุดโต่ง เพเนโลปี้ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้เคยเป็นทหารผ่านศึก เอเลน่า ลูกสาวคนโต อเล็กซ์ ลูกชายคนเล็ก และชไนเดอร์ ช่างซ่อมท่อประปาข้างห้องที่ชอบมีเอี่ยวเรื่องราวแสนชุลมุนของครอบครัวอัลวาเรซ

ใจความสำคัญของ วันละครั้งก็เกินพอ ซีซั่นแรกคือ เอเลน่า ลูกสาวคนเดียวในบ้านจะต้องเข้าพิธีคินเซส หรือพิธีฉลองครบรอบอายุ 15 ปีตามธรรมเนียมของคิวบา หลังจากที่คาร์เมน เพื่อนของเอเลน่า มาอาศัยอยู่ด้วย เธอจึงเริ่มมีความรู้สึกดีกับเพื่อนหญิงนับแต่นั้น

One Day at a time (2017 - ปัจุจุบัน)

เอเลน่าตัดสินใจสารภาพกับครอบครัวว่าเธอชอบผู้หญิง โชคดีที่เพเนโลปี้ยอมรับในสิ่งที่เอเลน่าเป็น และยินดีกับการตัดสินใจของเธอ ถึงแม้ว่าลิเดีย ยายของเธอ จะค้านกับการเปิดตัวของเอเลน่า ด้วยความที่เธอเป็นคนเคร่งศาสนา ต้องปฏิบัติตามหลักบัญญัติในศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่ลิเดียเข้าใจในการตัดสินใจของเธอ

หนึ่งในขึ้นตอนสำคัญของพิธีคินเซส คือการเต้นรำระหว่างพ่อลูก วิคเตอร์ สามีเก่าของเพเนโลปี้ กลับมาหาครอบครัว เพื่อเตรียมงานเลี้ยงคินเซสของเอเลน่า ในระหว่างการซ้อมเต้นรำ เอเลน่าตัดสินใจเปิดตัวกับวิคเตอร์ว่าเธอเป็นเกย์ เรื่องนี้ทำให้วิคเตอร์สับสนมากจนรับในคำเปิดตัวของเอเลน่าไม่ได้ กลายเป็นชนวนสำคัญของวิคเตอร์และครอบครัว จนกระทั่งวันงาน วิคเตอร์ไม่ปรากฏตัว จึงต้องเป็นหน้าที่ของเพเนโลปี้ที่ต้องทำหน้าที่ ‘พ่อ’ ในการเต้นรำพ่อลูกของเอเลน่า

One Day at a time (2017 - ปัจุจุบัน)

เมื่อ ‘ลูก’ เปิดตัวว่าไม่ได้ชอบเพศตรงข้ามดังที่ใครบอกไว้ อาจจะเป็นเรื่องที่น่ากระอักกระอ่วนใจในหลายครอบครัวในหลายประเทศ โดยเฉพาะสังคมไทยที่พยายามสะท้อนภาพเหล่านี้ผ่านสื่อหลายยุคสมัย

ปัญหาส่วนหนึ่งคือ การต่อต้านอย่างชัดเจนของสมาชิกในครอบครัวบางคน อาจจะด้วยเหตุผลเรื่องเชื้อชาติบ้าง ศาสนาบ้าง หรือความคาดหวังต่อลูกบ้าง การต่อต้านด้วยความรุนแรงทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อการดำรงชีวิตของสมาชิกในครอบครัว ซ้ำยังอาจส่งผลร้ายจนอาจเกิดความรุนแรงจากภายในสู่ภายนอกบ้าน แต่กับครอบครัวของเอเลน่าไม่เป็นเช่นนั้น ถึงแม้ว่าวิคเตอร์จะออกจากชีวิตไปอย่างถาวร หลังจากเซ็นใบหย่าให้เพเนโลปี้ สมาชิกที่เหลือยังคงรักและเข้าใจในสิ่งที่เอเลน่าเป็น

วันละครั้งก็เกินพอ พยายามบอกเราว่า อย่างน้อยไม่ใช่ทุกคนในครอบครัวที่ไม่ยอมรับว่าเราเป็นใคร แต่เพราะการเป็นครอบครัวเดียวกันนี่แหละ ทำให้เรามองข้ามทุกอย่างที่เป็น

และรักกันด้วยสายใยในครอบครัว

ดูอะไรต่อดีที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของชาวเรากับครอบครัว

Glee (2009 – 2015)

Champions (2018 – ปัจจุบัน)

Writer

Avatar

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

เขียนหนังสือบนก้อนเมฆในวันหนึ่งตรงหางแถว และทำเว็บไซต์เล็กๆ ชื่อ ARTSvisual.co