85 นาที
Director: Susan Glatzer
* บทความนี้ไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญในภาพยนตร์ เพราะผู้เขียนโฟกัสกับจังหวะเท้าที่ขยับตามทั้งเรื่อง

Alive and Kicking

ต่อให้คนไม่ใช่คอเพลงแจ๊ส หล่อนเชื่อว่าช่วง 3 – 4 ปีมานี้คุณต้องรู้จักหรือได้ยินคำว่าเต้นสวิงมาบ้าง แน่ล่ะ ไม่เช่นนั้นคุณคงไม่อ่านมาถึงบรรทัดนี้

หรือว่าเหตุผลที่คุณเข้ามาอ่านคือคำว่าสุขโป๊ก! กันแน่ อ่า!! ก็เป็นได้

ทันทีที่หล่อนรู้ว่าหนังสารคดีเรื่องล่าสุดของ Documentary Club จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับเต้นสวิง หล่อนก็ไม่คิดลังเลอะไรแล้ว นอกจากจะรอคอยด้วยใจจดจ่อ หล่อนยังแอบไปชิงโชคตั๋วหนังในการประกวดตั้งชื่อภาษาไทยให้กับหนังเรื่องนี้ ดีใจจังที่ชื่อของหล่อนไม่ชนะ ไม่เช่นนั้น Alive and Kicking อาจจะไม่ได้มีชื่อภาษาไทยน่าเอ็นดูอย่าง สุขสวิง!!

อยากเดาไหมคะว่าหล่อนตั้งชื่อไปว่าอะไร นั่นไง แอบคิดเรื่องแบบนั้นอยู่ใช่ไหมคุณ

Alive and Kicking

One two, one two three four!

อยู่ไม่สุขเลยตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่อง ทั้งภาพ บรรยากาศ แสง สี เสียง ตัดสลับไปมาจนหล่อนอยากลองกระโดดเตะขาสูงแบบในเรื่องให้พร้อมกับจังหวะโยนของนักเต้นในจอ โชคดีที่หนังเรื่องนี้ไม่เข้าฉายในระบบสี่มิติพร้อมเก้าอี้เคลื่อนที่ แค่นี้หล่อนก็ถอดจิตเต้นตาม จินตนาการว่าคุณปู่ Frankie Manning นักเต้นสวิงในตำนานกำลังจับหล่อน swing out 3 รอบรวดแล้ว

สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังไม่พบเห็นสาระหนังสารคดีอย่างที่ควรจะเป็น หล่อนฝากเรามาขออภัยคุณผู้อ่านด้วย หล่อนจำชื่อนักเต้นในหนังไม่ค่อยได้เลยเพราะแบ่งหัวจดจำท่าไว้ฝึกซ้อมสำหรับงานเต้นสวิงครั้งใหญ่ของเมืองที่จะเกิดขึ้นเดือนหน้านี้อยู่ ใครสนใจไปด้วยกันต้องรีบหาบัตรนะคะ หล่อนบอกว่าเป็นงานเต้นสวิงที่แต่งตัวสนุกที่สุดในภูมิภาคนี้แล้วจริงๆ

Alive and Kicking Alive and Kicking

Alive and Kicking

สุขสวิงเถอะเรา เศร้าไปทำไม

เส้นเรื่องหลักของ Alive and Kicking ตามตัวอย่างหนัง พาเราไปตื่นตากับลีลาการเต้นสวิงผ่านเรื่องราวของนักเต้นชื่อดังจากหลายๆ ประเทศ ที่บ้างเป็นสาวนักเต้นผู้มีพรสวรรค์ บ้างเป็นอดีตทหารนาวิกโยธินที่กลับจากสงครามอิรัก บ้างเป็นนักเต้นในตำนานที่ห่างหายจากวงการไปเป็นนักไปรษณีย์กว่า 40 ปี ก่อนจะฟื้นคืนฟลอร์เต้นรำในวัย 80 และผลิตนักเต้นและปลุกบรรยากาศสวิงแจ๊สทั่วโลก

สำหรับบางคนเต้นสวิงช่วยบำบัดการเข้าสังคม เต้นสวิงช่วยสร้างมิตรภาพ เต้นสวิงมอบชีวิตใหม่ เต้นสวิงมอบความรัก

เหมือนตอนที่ใครรู้ว่าหล่อนเต้นสวิง ก็มักคิดว่าหล่อนจะมีความรักที่นั่น

ไหนๆ ก็เล่าเรื่องนี้แล้ว หล่อนขอเพิ่มเติมหมายเหตุนิดเดียว ว่า 2 บรรทัดนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วน นิดเดียวจริงๆ คุณ หล่อนแค่จะบอกว่า หล่อนชอบท่อนตอนในหนังที่บอกว่าเต้นสวิงเป็น three-minute romances นอกจากสนุกสนานในจังหวะที่รับส่งเข้ากันดีแล้ว การเต้นสวิงไม่ได้พาเราไปสู่เรื่องความรักที่มากกว่านั้น พวกเราชายหญิง (หรือชายชาย หญิงหญิง) จับมือกันตลอดทั้งเพลงก็จริง แถมบางเพลงก็หวานมาเสียด้วย แต่มันไม่มีอะไรมากไปกว่าการบังคับบอกจังหวะให้หล่อนหมุนเข้า หมุนออก อิมโพรไวซ์ กระโดด และอื่นๆ และเมื่อจบเพลงทั้งคู่จะบอกขอบคุณและบอกลา ก่อนจะเปลี่ยนไปเต้นสนุกกับคนอื่นๆ ในฟลอร์

ดีใช่ไหมล่ะ บอกขอบคุณและบอกลาด้วย ใครที่ชอบจะไปแล้วไม่ลาน่าจะลองมาเต้นสวิงดูนะ เผื่อว่าจะเป็นคนน่ารักขึ้น ไม่ค่ะไม่เศร้า หล่อนบอกแล้วไงว่า สุขกันเถอะเรา เศร้าไปทำไม

แต่ถึงจะเป็นหนังที่ทำหล่อนยิ้มตลอดทั้งเรื่อง หลายช่วงหลายตอนก็ทำหล่อนน้ำตาซึมไม่น้อย มิตรภาพในกลุ่มคนเต้นมันมีพลังมากกว่าที่คิด หล่อนจึงไม่เคยเห็นคนเต้นสวิงหน้าตาบึ้งตึงเลย ไม่ใช่พวกเราเศร้าไม่เป็นหรือกดเก็บความเศร้าให้ลึกหรอก พวกเราก็แค่ไม่รู้จะเศร้าไปทำไม เพราะตราบใดที่เพลงหนึ่งเพลงกำลังจะจบและมีเพลงใหม่บรรเลงขึ้นอยู่เสมอ และตราบใดที่ผู้ชายในฟลอร์มีไม่เพียงพอผู้หญิงในวง เราก็เต้นคนเดียวได้ จะแตกต่างกับท่าทางตอนมีคู่เต้นนิดหน่อยตรงที่หล่อนเตะขาได้สุด และบ้าบอเท่าที่ใจอยาก

Alive and Kicking

It Don’t Mean A Thing (if It Ain’t Got That Swing)

หล่อนควรพูดถึงหนังเรื่องนี้มากกว่านี้อีกสักหน่อยนะ หล่อนคิด

ความจริงแล้ว คำว่า เต้นสวิง ที่หล่อนใช้เป็นคำเรียกรวมๆ ของการเต้นลินดี้ฮอป (Lindy Hop) เหมือนคำว่าเต้นละตินที่ใช้เรียกการเต้นซัลซ่า แซมบ้า เป็นต้น ประวัติศาสตร์ลินดี้ฮอป 101 บอกเราว่าลินดี้ฮอปเกิดขึ้นครั้งแรกที่ฮาเร็ม นิวยอร์ก ในปี 1928 ในคลับเพลงแจ๊สที่คนผิวสีและคนผิวขาวเข้ามาร่วมสนุกกันอย่าเท่าเทียม ต่างจากคลับอื่นๆ ที่กีดกันแม้กระทั้งประตูทางเข้าของคนผิวสีและผิวขาวยังต้องเป็นคนละที่ คิดแล้วมันน่าน้อยใจ

ก่อนที่การเต้นลินดี้ฮอปและเต้นสวิงในแบบอื่นๆ จะมีอิทธิพลในวงการภาพยนตร์ของประเทศ ถือกำเนิดนักเต้นระดับตำนานมากมาย จนกระทั้งเข้าสู่ช่วงสงครามที่ความสนุกสนานคล้ายจะเป็นสิ่งต้องห้าม เมื่อทุกคนไม่ออกไปสนุกในคลับ วัฒนธรรมและความรุ่งเรืองที่เคยมีก็ค่อยๆ ซาไป กาลเวลาล่วงเลยผ่านไป จนกระทั้งการมาของภาพยนตร์เรื่อง Swing Kids (1993) ที่ค่อยๆ ปลุกวิญญาณกระแสการเต้นสวิงเกิดเป็นชุมชนเต้นสวิงในเมืองน้อยใหญ่ทั่วโลก

ทำไมหล่อนต้องเล่าอะไรที่คุณรู้อยู่แล้วกันนะ สู้ให้หล่อนชวนคุณเลือกกระโปรง กางเกงเอวสูง ผ้าผูกผมลายดอกไม้สีแดงดอกใหญ่เสียยังจะสนุกสนานกว่า นอกจากลีลาการเต้นและการขับเคี่ยวฝ่าฟันตามหาฝันของนักเต้นผู้เป็นไอดอลแล้ว แคมป์เต้นสวิงที่ถูกเอ่ยในหนังทำให้หล่อนใจเต้น อยากสมัครเข้าร่วมเก็บตัวและเข้าแข่งขันด้วยสักครั้ง

จริงๆ แผนการที่ถูกต้องอาจจะต้องเริ่มจากมีคู่ซ้อมเต้นก่อน

Alive and Kicking

Five Six Seven Eight!

คุณอาจจะคิดว่าหล่อนชอบหนังสารคดีเรื่องนี้เพราะหล่อนเต้นสวิงเป็น

ต่อให้คุณไม่เคยเต้นสวิงมาก่อน หรืออาจจะเพิ่งเคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำ (เพราะคุณเข้ามาอ่านเพราะคำว่า สุขโป๊ก) แค่มาฟังดนตรี เรียนรู้เรื่องราวการเต้นสวิงและวัฒนธรรมน่ารักๆ ที่มีผลต่อรอยยิ้ม เชื่อหล่อนเถอะว่าคุ้มค่าราคาตั๋วและเวลา 85 นาทีที่คุณต้องแลกแน่นอน

แต่ถ้าคุณเชื่อคนยาก ไม่รักเพลงแจ๊ส ทนเห็นคนมีรอยยิ้มตลอดชั่วโมงนิดๆ ไม่ได้ หล่อนแนะนำให้คุณทำสิ่งต่อไปนี้ก่อนปิดหน้าจอ

อย่าเพิ่งไปค่ะ ทำก่อน ไม่ยากเลย

ลองร้องคำว่า “ชุบ ปาดับ ปาดับปัปป้า” แล้วใส่จังหวะดีดนิ้วลงไปด้วยดังนี้

“ชุบ (ดีดนิ้ว) ปาดับ (ดีดนิ้ว) ปาดับปัป (ดีดนิ้ว) ป้า” x 3

ยินดีด้วยค่ะ คุณพร้อมเข้าไปดู Alive and Kicking สุขสวิง!! แล้ว

Alive and Kicking สุขสวิง!!” ฉายตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคมเป็นต้นไป ที่โรงภาพยนตร์ SF 6 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์, คริสตัลเอกมัยรามอินทรา, คริสตัลราชพฤกษ์, เซ็นทรัลพระรามเก้า, เซ็นทรัลลาดพร้าว, เมญ่าเชียงใหม่ เช็กรอบได้ที่นี่

และติดตามความเคลื่อนไหวของหนังสารคดีเรื่องอื่นๆ ได้ที่ Facebook: Documentary Club

หรือสนใจอยากเต้นสวิง Facebook: Bangkok Swing

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ