The Cloud x OKMD

โครงการวัฒนธรรมร้านหนังสือคัดเลือกให้ร้านหนังสือของผม ‘ร้านหนังสือน้ำพุบุ๊คสโตร์’ เป็น 1 ใน 10 ร้านหนังสืออิสระดีเด่นของประเทศไทย ประจำ พ.ศ. 2563 – 2564 ตัวอักษรบนแผ่นโล่สีทองจารึกไว้ว่า

ร้านหนังสือน้ำพุบุ๊คสโตร์ บุรีรัมย์ เป็นร้านหนังสือแห่งอุดมคติอันยาวนาน เกื้อหนุนเด็ก เยาวชนและชุมชน หน่วยงานที่มอบโล่ ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ มูลนิธิวิชาหนังสือ

นอกจากโล่ดังกล่าวแล้ว โครงการฯ ยังมอบรางวัลเป็นเงินสดให้ทางร้านด้วย เป็นอันว่างานนี้ ร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ได้รับทั้งกล่องและเงินพร้อมกัน

40 ปี น้ำพุบุ๊คสโตร์ ประวัติศาสตร์ของร้านหนังสือประวัติศาสตร์แห่งเมืองบุรีรัมย์

ผมในฐานะเจ้าของร้านยอมรับว่าแปลกใจบ้าง เพราะไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้รับคัดเลือก อันเนื่องมาจากร้านหนังสือผมคับแคบ เพราะมีแค่คูหาเดียว ภายในร้านจึงรก ทั้งหนังสือเก่าและใหม่ปะปนกัน ไม่มีระเบียบ ห่างไกลจากคำว่า ‘สวยงาม’ เมื่อเปรียบเทียบกับร้านหนังสือที่เปิดใหม่หลาย ๆ ร้าน

ในโลกออนไลน์ แม้ผมจะเป็นสมาชิกอยู่ด้วยหนึ่งราย แต่ไม่คิดมาก่อนว่าเรื่องราวของร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ของผม จะล่วงรู้ไปถึงผู้ที่ตัดสินรางวัลนี้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดอยู่ว่าประสบการณ์ในการอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ (บ้างเล็กน้อย) การขายหนังสือ การติดต่อกับสำนักพิมพ์และสายส่งหนังสือ รวมไปถึงการได้ประสานงานกับนักเขียนหลาย ๆ ท่านที่ผมเชิญมาบรรยายที่จังหวัดบุรีรัมย์ อาจจะมีประโยชน์บ้างสำหรับคนที่ยังทำร้านหนังสือในวันนี้ รวมไปถึงคนที่คิดจะทำร้านหนังสือในวันพรุ่งนี้ ผมจึงจะเล่าเรื่องการเปิดร้านหนังสือของผมให้ฟังอย่างเปิดอกเลย

40 ปี น้ำพุบุ๊คสโตร์ ประวัติศาสตร์ของร้านหนังสือประวัติศาสตร์แห่งเมืองบุรีรัมย์

เพราะร้านหนังสือในกรุงเทพฯ ทำให้เกิดร้านหนังสือ น้ำพุบุ๊คสโตร์ ที่บุรีรัมย์

ท่านที่เป็นหนอนหนังสือเหมือนผม คงจะยังจำกันได้ว่า พ.ศ. 2525 ร้านหนังสือในกรุงเทพฯ ร้านหนึ่งมีกิจการรุ่งเรือง ขยายร้านออกไปหลายสาขาก่อนใครอื่น ก็คือร้านหนังสือ ‘ดอกหญ้า’ สาขาท่าพระจันทร์

ในยุคนั้น เมื่อไรที่ผ่านร้านหนังสือคูหาเดียวข้างต้น ก็จะเห็นแต่ภาพฝูงคนเข้าไปเบียดเสียดกันในร้าน เบียดกันดู เบียดกันซื้อหนังสือ และเบียดกันจ่ายค่าหนังสือ จนเป็นตัวอย่างให้สำนักพิมพ์อื่น ๆ พากันเปิดร้านตามมาติด ๆ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ‘ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์’ ที่มาเปิดอยู่ไม่ห่างกัน จนเรียกได้ว่า 2 ร้านนี้หายใจรดต้นคอกันทีเดียว

ตัวอย่างความสำเร็จของร้านหนังสือดอกหญ้าท่าพระจันทร์ ใน พ.ศ. 2525 ผมถือว่าเป็นความตื่นตัวของร้านหนังสือครั้งแรกและครั้งใหญ่ ที่เปลี่ยนโฉมหน้าของร้านหนังสือในเมืองไทยทั้งประเทศ

เพราะว่าอีกร่วม ๆ 10 – 20 ปีต่อมา (พ.ศ. 2525 – 2545) เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเติบโตมากขึ้น ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และรวมไปถึงการเกิดห้างแบบเชนสโตร์ อย่างบิ๊กซี โลตัส ที่ผุดขึ้นทั่วประเทศ รวม ๆ แล้ว ร้านหนังสือซีเอ็ดยูเคชั่น ไปเปิดร้านหนังสือทั้งเล็กและใหญ่หลายร้อยสาขาทีเดียว

การเติบโตของร้านหนังสือแบบนี้เอง ทำให้มีคนเขียนหนังสือแนว How to โดยตั้งชื่อว่า ‘ใครๆ ก็อยากเปิดร้านหนังสือ’ แล้วต่อเนื่องด้วยหนังสือ ‘ใครๆ ก็อยากเปิดร้านกาแฟ/ร้านเบเกอรี่’

แต่วันนี้ ร้านกาแฟ-ร้านเบเกอรี่ ยังยืนยงอยู่ได้ และมีแต่จะเปิดร้านเพิ่มขึ้น ส่วนร้านหนังสือ มีแต่หดหายไป เชื่อว่าวันนี้ยังไม่มีร้านหนังสือร้านสุดท้ายที่ปิดประตูร้านแบบถาวร

40 ปี น้ำพุบุ๊คสโตร์ ประวัติศาสตร์ของร้านหนังสือประวัติศาสตร์แห่งเมืองบุรีรัมย์
40 ปี น้ำพุบุ๊คสโตร์ ประวัติศาสตร์ของร้านหนังสือประวัติศาสตร์แห่งเมืองบุรีรัมย์

วันนี้ถึงยุคร้านหนังสือร่วงโรย หวนคิดถึง ยามเริ่มต้นเปิดร้านหนังสือ

ตลอด 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 – 2520 สำหรับผมถือว่าเป็นยุคที่วงการหนังสือของประเทศไทย ส่อแววออกว่าน่าจะคึกคักต่อไป เหมือนเครื่องบินที่ล้อใกล้จะพ้นพื้นสนามบินแล้ว อีกนิดแค่นั้น ยานทั้งลำก็จะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า

พ.ศ. 2508 อาจินต์ ปัญจพรรค์ เขย่าตลาดหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กให้ลืมตาตื่นด้วยเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ โดยมีร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่ชื่อ ‘สดใส’ เป็นฐานในการขาย

พ.ศ. 2511 ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ กลับมาจากนิราศดิบ แล้วปลุกตลาดหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กให้ลุกขึ้นยืนด้วย ใต้ถุนป่าคอนกรีต ขบวนแรก และชวนให้หนอนหนังสือรุ่นเล็กรุ่นใหญ่กระฉับกระเฉงยิ่งขึ้นด้วยการออกหนังสือรายเดือนที่มีนามสกุลไล่เลี่ยกับ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่ออก ฟ้าเมืองไทย พร้อม ๆ กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มอิสระในมหาวิทยาลัย ทั้งกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว ชมรมปริทัศน์เสวนา ซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของสังคมศาสตร์ปริทัศน์และร้านศึกษิตสยาม สามย่านของปัญญาชนสยามนาม สุลักษณ์ ศิวรักษ์

พ.ศ. 2516 – 2519 สังคมไทยเดินทางเข้าสู่การพิมพ์ หนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์และสังคมนิยม ที่พิมพ์ออกมาขายได้อย่างเสรี ร้านหนังสือใหม่แบบ ‘บุ๊กสโตร์’ เกิดขึ้นตามมา แผงหนังสือพิมพ์ไม่ได้ขายเฉพาะหนังสือพิมพ์แล้ว นำพ็อกเก็ตบุ๊กมาขายด้วย

นักอ่านที่เป็นนักศึกษาอย่างผม เดินเข้าออกร้านหนังสือมากกว่า เดินเข้าออกห้องเรียน และการเข้าออกร้านหนังสือของผม มิใช่หลงเสน่ห์ตัวอักษรบนหน้ากระดาษสีขาวอย่างเดียว ผมยังหลงกลิ่นอายเฉพาะตัวของร้านหนังสืออีกด้วย

ผมบอกกับตัวเองว่า ถ้าหางานในกรุงเทพฯ ไม่ได้ ก็จะกลับบุรีรัมย์ และจะเปิดร้านหนังสือให้ได้

แล้วปลาย พ.ศ.2524 ผมก็กลับบ้านที่บุรีรัมย์ และเปิดร้านหนังสือได้สำเร็จดั่งใจคิด

40 ปี น้ำพุบุ๊คสโตร์ ประวัติศาสตร์ของร้านหนังสือประวัติศาสตร์แห่งเมืองบุรีรัมย์
40 ปี น้ำพุบุ๊คสโตร์ ประวัติศาสตร์ของร้านหนังสือประวัติศาสตร์แห่งเมืองบุรีรัมย์

ร้านหนังสือของผมตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟบุรีรัมย์ ใกล้ ๆ กันเป็นสี่แยก และทำเป็นวงเวียนน้ำพุ ผมเลยตั้งชื่อร้านว่า ‘น้ำพุบุ๊คสโตร์’ แม้ ‘น้ำพุ’ ลูกชายของ ‘สุวรรณี สุคนธา’ จะเสียชีวิตไปก่อนแล้ว ก็ยังมีคนอุตส่าห์ถามผมจนได้ว่า “เป็นอะไรกับสุวรรณี” 555

ผมเห็นว่าร้านผมอยู่ใกล้โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด ผมจึงแบ่งพื้นที่ในร้านออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกที่กว้างขวางกว่า วางตู้ขายเครื่องเขียน ส่วนพื้นที่ที่เหลือ ตั้งแผงวางหนังสือพิมพ์กับนิตยสาร สำหรับพ็อกเก็ตบุ๊กทำแผงโชว์ปกอย่างเต็มที่อยู่ 1 ล็อก ซึ่งร้านของเอเย่นต์หนังสือพิมพ์ในเมืองไม่ได้ทำเช่นนี้ เพราะ พ็อกเก็ตบุ๊ควางไว้บนแผง ปน ๆ กับหนังสือพิมพ์และนิตยสาร

จากการสำรวจพบว่า รายได้จากการขายเครื่องเขียนเป็นเงินก้อนโตกว่าการขายหนังสือ ทำให้ผมมีสิทธิ์ได้เป็นเจ้าของตึกแถว มีรถยนต์ มีที่นาอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ถึง พ.ศ. 2534 ผมย้ายไปอยู่ตึกที่ซื้อแทนการเช่า ณ ที่ใหม่นี้ ผมตัดสินใจครั้งสำคัญก็คือไม่ขายเครื่องเขียน ขายหนังสืออย่างเดียว ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ขายเครื่องเขียน ทำให้ชีวิตยุ่งยากมาก ลูกก็กำลังเติบโต ทำให้ไม่มีเวลาอ่านหนังสืออย่างที่ชอบ จึงตัดสินใจที่ว่าไปข้างต้น

ตอนปีนั้น ผมคิดว่าผมคิดถูกต้องที่สุดแล้ว แต่มาถึงปีนี้ ผมว่าผมคิดผิดถนัด

วันนี้ลองเดินสำรวจร้านหนังสือใหญ่ ๆ ดูเถอะ จะพบว่าล้วนแต่ลดพื้นที่การโชว์หนังสือลง แต่โชว์สินค้าเครื่องเขียนมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

40 ปี น้ำพุบุ๊คสโตร์ ประวัติศาสตร์ของร้านหนังสือประวัติศาสตร์แห่งเมืองบุรีรัมย์

แว่ว เสียง เพื่อน เตือน “อย่า ขาย แต่ หนังสือ ต้อง ทำ กิจ กรรม ด้วย”

. ในช่วง พ.ศ.2524 – 2525 อันเป็นช่วงที่ตั้งร้านหนังสือใหม่ ๆ ผมต้องเข้ากรุงเทพฯ บ่อย เพราะเครื่องเขียนและหนังสือในร้านยังมีไม่มาก ผมต้องติดต่อกับสายส่งหนังสือเพิ่มขึ้นอีก หนึ่งในจำนวนสายส่งที่ผมไปติดต่อบ่อย ๆ ก็คือสำนักพิมพ์เม็ดทราย ซึ่งมีหนังสือหลากหลายแนว เหมาะสำหรับนักอ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้ผมได้รู้จักและสนิทสนมกับ เกียรติ ปรัชญาศิลปวุฒิ บรรณาธิการของสำนักพิมพ์เม็ดทราย

เกียรติให้ความสะดวกและกำลังใจว่า เมื่อเราเป็นร้านหนังสือรุ่นใหม่ อย่าขายหนังสืออย่างเดียว ต้องจัดกิจกรรมทางปัญญา ด้วยการเชิญนักเขียนมาบรรยายให้นักเรียน นักศึกษาฟัง นอกจากเสริมปัญญาให้เยาวชนแล้ว ทางร้านก็ยังได้ความสนิทสนมคุ้นเคยกับนักเขียนและนักวิชาการ รวมทั้งอาจารย์ในสถาบันการศึกษาในจังหวัดไปในตัวด้วย

สิ่งที่ เกียรติ-เม็ดทราย แนะนำอยู่บ่อย ๆ คือ ให้ติดตามความเคลื่อนไหวของการจัดกิจกรรมทางปัญญาของศูนย์หนังสือเชียงใหม่ เพื่อจะได้มีแบบอย่างในการจัดทำกิจกรรมในอนาคต ผมรับฟังคำแนะนำข้างต้นด้วยความศรัทธา เพราะเรื่องนี้อยู่ในใจผมอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีตัวอย่างชัดเจนแบบที่เกียรติชักชวน

ผมเชื่อว่าจะเป็นผลดีแน่นอน ถ้าผมจะปฏิบัติตามคุณรุ่งวิทย์ แห่งศูนย์หนังสือเชียงใหม่ ตามคำชี้แนะของเกียรติ-เม็ดทราย

ร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ จึงจัดกิจกรรมในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของบุรีรัมย์เรื่อยมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 เป็นต้นมาตราบจนถึงวันนี้

40 ปี น้ำพุบุ๊คสโตร์ ประวัติศาสตร์ของร้านหนังสือประวัติศาสตร์แห่งเมืองบุรีรัมย์
40 ปี น้ำพุบุ๊คสโตร์ ประวัติศาสตร์ของร้านหนังสือประวัติศาสตร์แห่งเมืองบุรีรัมย์

เหล่าบรรดานักคิดนักเขียนที่เดินทางมาบรรยายให้นักเรียน นักศึกษา ในจังหวัดบุรีรัมย์ หลายรุ่นหลายแนวผ่านการประสานงานของผม เท่าที่นึกได้ขณะนี้ก็คือ 1) คำพูน บุญทวี 2) คำสิงห์ ศรีนอก 3) เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 4) สุชาติ สวัสดิ์ศรี 5) วิมล ไทรนิ่มนวล 6) วัฒน์ วรรลยางกูร 7) ไพวรินทร์ ขาวงาม 8) ประภัสสร เสวิกูล 9) ไมตรี ลิมปิชาติ 10) สถาพร ศรีสัจจัง 11) ชมัยภร แสงกระจ่าง 12) กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ 13) กนกวลี พจนปกรณ์ 14) ชาติ กอบจิตติ 15) ขจรฤทธิ์ รักษา 16) พรชัย แสนยะมูล 17) ศุ บุญเลี้ยง 18) สกุล บุณยทัต 19) ชูเกียรติ ฉาไธสง 20) ทองแถม นาถจำนง 21) ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ ฯลฯ เฉพาะ ไพวรินทร์ ขาวงาม รายเดียว ผมนับได้ 12 ครั้ง ที่ผมเชิญเขามาพูดให้ นักเรียน นักศึกษาบุรีรัมย์ฟังกัน

หากจะถามว่าการจัดกิจกรรมเรื่องการเขียน การอ่าน วรรณกรรม ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันของร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ ได้รับผลประโยชน์ในด้านเงินทองกลับคืนมาหรือไม่

ผมตอบได้ทันทีเลยว่า ไม่ได้เงินทองกลับมาเป็นกอบเป็นกำเลย เพียงแต่บรรดาห้องสมุดของสถานศึกษาช่วยบอกรับหนังสือพิมพ์และนิตยสารบ้างเท่านั้น และนับวันก็มีลดลงถอยลง อันเนื่องจากบรรดาสิ่งพิมพ์กระดาษมีแต่ยุติการผลิตมากขึ้นทุก ๆ วัน อันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตของโลกดิจิทัล รวมทั้ง ‘วิถีชีวิต’ ของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ การสับเปลี่ยนโยกย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ทำให้ผู้บริหารหน้าใหม่เข้ามาแทนที่คนเก่าอยู่เรื่อย ๆ ย่อมทำให้ไม่มีใครทราบเรื่องราวในอดีต ว่า ร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ได้ทำประโยชน์ด้านใดให้สถานศึกษามาก่อนบ้าง

เมื่อความเป็นจริงของโลกเป็นไปเช่นนี้ หากถามว่าผมยังจะจัดการกิจกรรมเชิญนักเขียนมาพูดให้นักเรียนฟังอีกต่อไปหรือไม่ ผมก็จะตอบว่า ยังจัดต่อแน่ ๆ ถ้าเป็นนักเขียนที่ผมรู้จัก ติดต่อเขาได้ และเรื่องสำคัญอีกเรื่องก็คือ สถานศึกษายังเห็นดีเห็นงามกับกิจกรรมเสริมปัญญาเช่นนี้อีกหรือไม่

ในวัยเด็กของผม ไม่เคยมีผู้ใหญ่ของเมืองทำกิจกรรมเช่นนี้มาก่อน เมื่อผมมีโอกาสที่จะทำ ผมก็ลงทำทันที ผมไม่ต้องการให้เด็กในวันนี้ เกิดความรู้สึกผิดหวังกับผู้ใหญ่ในยุคของเขา

นักข่าวผู้ลาออกมาเปิดร้านหนังสือที่บุรีรัมย์ กับประวัติศาสตร์วงการร้านหนังสือไทย และแนวคิดการทำร้านให้อยู่ในใจคน

ทำ อะ ไร สัก หน่อย เถอะ เมือง ผม ไม่ มี ใคร สะสม ข้อ มูลประวัติศาสตร์ เลย

เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นไปที่กิจกรรมเชิญนักคิดนักเขียนมาบรรยายในสถานศึกษาค่อย ๆ ลดน้อยลง

ห้องสมุดหลายแห่งเริ่มโครงการปรับเปลี่ยนไปเป็นห้องสมุดดิจิทัลมากขึ้น งบประมาณทางด้านซื้อสิ่งพิมพ์กระดาษจึงลดน้อยลง เหลือไม่กี่แห่งที่ยังมีงบประเภทนี้อยู่ กิจกรรมของร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์จึงลดน้อยถอยลง แต่ยังมีกิจกรรมอีกด้านหนึ่งที่ผมยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน คืองานด้านการค้นคว้าและเผยแพร่ประวัติศาสตร์เมืองบุรีรัมย์ผ่านทางภาพถ่ายเก่า

เรื่องของเรื่องก็คือ ครอบครัวผมโดย พ่อ-แม่-และอาของผม ได้เก็บสะสมภาพถ่ายเก่าของเมืองบุรีรัมย์ไว้จำนวนหนึ่ง ผู้ใหญ่ของผมเอาภาพถ่ายเก่าใส่กรอบกระจกแล้วนำไปติดฝาบ้าน ลักษณะทำเป็น สิ่งตบแต่งบ้านไปในตัว ภาพถ่ายเก่าที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เช่น ภาพถ่ายชุดในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเมืองบุรีรัมย์ เมื่อ พ.ศ. 2498 ที่พ่อแม่ผมเอาไปใส่กรอบกระจกติดฝาบ้านไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นสิ่งที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็ก

วันหนึ่งใน พ.ศ. 2550 สำนักงานเทศบาลเมืองบุรีรัมย์จัดนิทรรศการในหลวงในโอกาสครองราชย์ครบ 60 ปี ต้องมาหยิบยืมภาพเก่าที่ผมกล่าวไปข้างต้นไปทำนิทรรศการ นับเป็นครั้งแรกที่ผมได้ก้าวเข้าไปทำงานในเรื่อง ‘เล่าประวัติศาสตร์เมืองบุรีรัมย์ด้วยภาพถ่ายเก่า’

เมื่อไรที่จังหวัดบุรีรัมย์ต้องการทำห้องประวัติศาสตร์เมืองบุรีรัมย์ ซึ่งต้องใช้ภาพถ่ายเก่าที่ผมมี ผมก็ให้ยืมภาพที่มีอยู่ หากภาพไม่พอใช้ ผมก็ตระเวนหามาเพิ่มให้ จึงได้ภาพเก่ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยมา

นอกจากค้นหา สะสมภาพเก่าแล้ว ผมยังต้องค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์เมืองบุรีรัมย์ผ่านทางหน้าหนังสือด้วย พบว่าเมืองทั้งเมืองมีอยู่หนังสือประเภทนี้ไม่กี่เล่ม

อย่างไรก็ตาม การสืบค้นผ่านมากว่า 10 ปี ผมก็มีข้อมูลมากขึ้น เขียนบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองบุรีรัมย์ได้มากกว่า 60 – 70 เรื่อง ตีพิมพ์ในวารสารของหน่วยงานในจังหวัดบุรีรัมย์

วันดีคืนดี ครู-อาจารย์ในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย สั่งให้นักเรียน-นักศึกษาทำรายงานเรื่องราวความเป็นมาของเมืองบุรีรัมย์ เมื่อต้องการข้อมูลในเรื่องที่สงสัยความเป็นมาของเมือง ก็ตรงดิ่งมาถามผมที่ ร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ แล้วบอกว่าอาจารย์ให้มาขอข้อมูลจากลุง

เรื่องที่เล่าไปข้างต้นยังเกิดขึ้นเป็นปกติวิสัย อย่าได้แปลกใจถ้าวันหนึ่งมาร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ แล้วเห็นผมนั่งคุยกับเด็ก ๆ ที่นั่งอยู่เต็มร้าน

จนทำให้ผมคิดไปเองว่า วันข้างหน้าภายในร้านหนังสือของผม จะต้องเป็นห้องที่มีมุมแสดงภาพถ่ายเก่าเมืองบุรีรัมย์แบบ ‘หมุนเวียน’ ในที่สุด

นักข่าวผู้ลาออกมาเปิดร้านหนังสือที่บุรีรัมย์ กับประวัติศาสตร์วงการร้านหนังสือไทย และแนวคิดการทำร้านให้อยู่ในใจคน

อาหารหล่อเลี้ยงร่างกาย – หนังสือหล่อเลี้ยงวิญญาณ

อ่านหนังสือออกตั้งแต่ พ.ศ. 2505 จนถึงวันนี้ พ.ศ. 2565 ผมก็ยังอ่านหนังสืออยู่ สำหรับผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ‘หนังสือหล่อเลี้ยงวิญญาณ’ อยู่เสมอ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน หนังสือที่ผมยังอ่านอยู่ทุกวัน และอยากจะชวนให้อ่านเหมือนผม

ร้านคูหาเดียวอย่าง ‘น้ำพุบุ๊คสโตร์’ เลือกคัดและสั่งหนังสือแนวหนังสือประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ จากนั้นจึงตามด้วยหนังสือวรรณกรรม แต่เอาเข้าจริง จริตของผมมักจะอยู่กับหนังสือแนวประวัติศาสตร์มากกว่า วันนี้ผมยังไม่มีหนังสือน่าอ่านแนววรรณกรรมมาแนะนำ หนังสือที่จะแนะนำตอนนี้คือ หนังสือแนวประวัติศาสตร์ล้วน ๆ ครับ

1 บุรีรัมย์ มาจากไหน 

เขียนในสไตล์ สุจิตต์ วงษ์เทศ เล่าประวัติศาสตร์แบบย่นย่อของบุรีรัมย์ ตั้งแต่เมื่อ 25,000,000 ปีก่อน จนถึงบุรีรัมย์เมื่อ พ.ศ. 2482 พอเป็นคู่มือศึกษาประวัติศาสตร์เมืองบุรีรัมย์ได้ในระดับหนึ่ง ก่อนที่จะมีคนเขียนประวัติศาสตร์เมืองบุรีรัมย์ในระดับละเอียดถี่ถ้วนยิ่งขึ้นในวันข้างหนึ่ง มีภาคผนวกกล่าวถึงเรื่องการเบิกพรหมจรรย์ที่ปราสาทพนมรุ้งว่ามีจริงหรือไม่ และภาพชุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จประพาสปราสาทพนมรุ้งเมื่อ พ.ศ.2472 ที่ทันบันทึกภาพทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ตกอยู่ที่พื้นดินก่อนถูกขโมยหายไปหลายปี หนังสือกระดาษปอนด์หนา 208 หน้า ราคา 195 บาท พิมพ์โดยสำนักพิมพ์แม่คำผาง เมื่อ พ.ศ. 2553

นักข่าวผู้ลาออกมาเปิดร้านหนังสือที่บุรีรัมย์ กับประวัติศาสตร์วงการร้านหนังสือไทย และแนวคิดการทำร้านให้อยู่ในใจคน

2 เล่าเรื่องเมืองอีสาน 

หนังสือบันทึกเรื่องเล่าเมืองอีสานในรูปแบบสารคดี จำนวน 9 เรื่อง ที่คนในท้องถิ่นทราบเรื่องกันดี แต่คนต่างถิ่นไม่ค่อยรู้ เพราะหนังสือพิมพ์ไม่เคยตีพิมพ์และไม่มีคนรวมเป็นเล่ม อย่างเช่นเรื่อง บวชควาย : คน ควายฮ้า ฝนฟ้า พญาแถน และ ตามหารัฐธรรมนูญฉบับจำลองของคณะราษฎรในภาคอีสาน พิมพ์ด้วยกระดาษปรู๊ฟหนา 162 หน้า ราคา 200 บาท พิมพ์โดยสโมสรนักเขียนภาคอีสาน สนับสนุนโดย โครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) – มีขายในร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ (แห่งเดียวในประเทศไทยไทย)

นักข่าวผู้ลาออกมาเปิดร้านหนังสือที่บุรีรัมย์ กับประวัติศาสตร์วงการร้านหนังสือไทย และแนวคิดการทำร้านให้อยู่ในใจคน

3 ไฉไลเมืองสุรินทร์ พุทธศักราช 2426-2427 

เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในดินแดนเมืองซ็องเกียะหรือสังฆะ (สังขะ) และรวมไปถึงตัวเมืองสุรินทร์ของเจ้าหน้าที่รัฐบาลฝรั่งเศสผู้มีนามว่า เอเตียน แอมอนิเยร์ และคณะของเขาที่เดินทางมายังดินแดนกัมพูชา ลาว และไทย ในยุครัชกาลที่ 5 ของสยามอย่างมีเลศนัย อัษฏางค์ ชมดี แปลด้วยภาษาที่ละเมียดละไม ผิดกับหนังสือแนวสารคดีเล่มอื่น ๆ สำนักสุรินทร์สโมสร เป็นผู้พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2564 พิมพ์ด้วยกระปอนด์หนา 212 หน้า มีภาพลายเส้นขาวดำแทรกตลอดทั้งเล่ม จำหน่ายในราคา 200 บาท

นักข่าวผู้ลาออกมาเปิดร้านหนังสือที่บุรีรัมย์ กับประวัติศาสตร์วงการร้านหนังสือไทย และแนวคิดการทำร้านให้อยู่ในใจคน

4 จับช้างเกริกไกร 

หนังสือสารคดีเรื่อง ‘ช้าง’ เป็นเรื่องของช้างในสยามประเทศ – การคล้องช้างในเพนียดอันยิ่งใหญ่ของชาวสยามในสมัยแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง และการโพนช้างสำเริงของหมอและควาญชาวสุรินทร์ ฝีมือการเขียนและรวบรวมของ อัษฏางค์ ชมดี และ สุขใจ รัตนยุวกร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2564 โดย สำนักสุรินทร์สโมสร กระดาษปอนด์หนา 258 หน้า ราคา 250 บาท

นักข่าวผู้ลาออกมาเปิดร้านหนังสือที่บุรีรัมย์ กับประวัติศาสตร์วงการร้านหนังสือไทย และแนวคิดการทำร้านให้อยู่ในใจคน

5 2325 เปิดศักราชกรุงเทพฯ 

โดย สุเจน กรรพฤทธิ์ เขียนแบบเผยเบื้องลึกของประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์จากหลักฐานใหม่ ที่ค้นคว้าอย่างเจาะลึกตามวิธีการของคนเขียนหนังสือเล่มดังที่ผ่านมาอย่าง 2310 อวสานกรุงศรีฯ และ 2310 กรุงธนบุรีผงาด พิมพ์เสร็จเมื่อวานนี้ โดยสำนักพิมพ์สารคดี กระดาษปอนด์หนา 336 หน้า ราคา 390 บาท

นักข่าวผู้ลาออกมาเปิดร้านหนังสือที่บุรีรัมย์ กับประวัติศาสตร์วงการร้านหนังสือไทย และแนวคิดการทำร้านให้อยู่ในใจคน

สนใจหนังสือ 5 เล่มที่มีขายไม่แพร่หลาย (ยกเว้นเล่มที่ 5 ) สอบถามได้ที่โทรศัพท์ 0 4461 1813 และมือถือ 08 9498 8494 และสั่งซื้อได้ที่เฟซบุ๊ก Wiwat Rojanawan หรือ น้ำพุทูเดย์

น้ำพุบุ๊คสโตร์

ที่ตั้ง : 33/11 ถนนธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ บุรีรัมย์ 31000 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดทุกวัน 08.00 – 20.00 น.

โทรศัพท์ : 0 4461 1813 และ 08 9498 8494

Facebook : Wiwat rojanawan 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาร้านหนังสือเป็นแหล่งความรู้สร้างสรรค์ โดยความร่วมมือของ The Cloud และ OKMD

Writer

Avatar

วิวัฒน์ โรจนาวรรณ

อายุครบ 72 ปี ขณะที่ร้านน้ำพุบุ๊คสโตร์ก่อตั้งมาครบ 40 ปีเป็นคนที่ชื่นชอบเก็บภาพถ่ายเก่าของเมืองบุรีรัมย์ และศึกษาประวัติเมืองบุรีรัมย์มานาน จึงใฝ่ฝันที่จะดัดแปลงมุมหนึ่งของร้านหนังสือให้เป็น ‘ห้องแสดงภาพถ่ายเก่าเมืองบุรีรัมย์’

Photographer

Avatar

วสันต์ จันนวน

ปัจจุบันเป็นตากล้องภาพนิ่งและวิดีโอ ฟรีแลนซ์ ทำงานอิสระ เป็นนักเดินทาง ชอบไปทริป แบ่งเวลาทำงานลงช่อง YouTube เวลาว่างชอบจัดทริปขับรถมอไซค์ แคมป์ปิ้ง