‘อยากมีลูฟวร์ในเมืองไทย’ – หนึ่งในความฝันของอาจารย์ท่านหนึ่งที่กระทบเข้าโสตประสาทของ รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล นักออกแบบ นักวิจัย และนักบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ที่เธอจำได้ดี

จากความฝันของคนเพียงหนึ่งคนก็เพียงพอที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยมี สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 

ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สถาบันของวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts: TASSHA) หรือ ธัชชา ประกอบด้วย สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา สถาบันโลกคดีศึกษา สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันพิพิธภัณฑ์และศิลปกรรมแห่งชาติ และสถาบันช่างศิลป์พื้นถิ่น

ณ วันนี้ สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ เป็นเพียงโครงการวิจัยที่ศึกษาเอกลักษณ์และคุณค่าของศิลปกรรมไทย พร้อมยกระดับงานศิลปะทุกแขนงของประเทศไทยสู่สากล ท้ายที่สุดจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ในอนาคต โดย รศ.ดร.น้ำฝน เป็นหนึ่งในทีมวิจัย ร่วมกับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง, ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ และ อาจารย์พินัย สิริเกียรติกุล 

ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล กับบทบาทการจัดการพิพิธภัณฑ์ของสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ

แม้จะยังไม่มีพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นรูปธรรม แต่คนทำพิพิธภัณฑ์อย่างเธอเชื่อว่าพิพิธภัณพ์สัญจรและเข้าถึงคนได้ จึงเกิดการทำนิทรรศการย่อย ๆ ในหลายจังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ลำปาง และกำลังจะจัดในเพชรบุรี สงขลา โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและครูช่างศิลป์พื้นถิ่น ที่สำคัญ นิทรรศการบางส่วนจะนำไปจัดแสดงที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อแสดงศักยภาพของงานหัตถศิลป์ไทยสู่ระดับสากล

นี่คือเรื่องราวเบื้องหลังและมุมมองของคนเดินพิพิธภัณฑ์สู่คนทำพิพิธภัณฑ์

คุณเป็นหนึ่งในทีมวิจัยของสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติได้อย่างไร

เราชอบเดินดูพิพิธภัณฑ์ แต่ไม่เคยทำพิพิธภัณฑ์  (เธอหัวเราะน้อย ๆ)

เราเคยเป็นผู้อำนวยการ River Museum ของไอคอนสยาม เลยมีโอกาสทำงานกับผู้มีความรู้ด้านพิพิธภัณฑ์ ผู้ใหญ่ทาง อว. เห็นว่าเคยทำ ก็เลยชวนเข้าไปทำโครงการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะศิลปากรมีของและคลังข้อมูล โดยแบ่งเป็นหลายทีม มีทีมของ ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ ดูด้านศิลปะกับสังคม ทีมของ อาจารย์ปรีชา เถาทอง ดูเรื่องสุนทรียศาสตร์ และทีมของ อาจารย์พินัย สิริเกียรติกุล จาก Urban Ally ดูเรื่องการวางตำแหน่งโครงสร้างสถาปัตย์ภายนอกของพิพิธภัณฑ์

ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล กับบทบาทการจัดการพิพิธภัณฑ์ของสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ

แล้วหน้าที่ของอาจารย์น้ำฝนกับทีมงานคืออะไร

ทีมของเราเป็นทีมบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ ถ้าจะมีพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ พื้นที่ด้านในควรเป็นพื้นที่ประเภทใด เช่น พื้นที่นิทรรศการถาวร การคิวเรตนิทรรศการ Touring Exhibition

ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล กับบทบาทการจัดการพิพิธภัณฑ์ของสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ

พิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นอย่างไร

ในพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติจะมีห้องครูช่างหัตถศิลป์พื้นบ้านและห้องหัตถศิลป์แห่งชาติ เป็นการรวมหัตถศิลป์ของไทย มีโรงมหรสพแสดงดนตรี มีพื้นที่การเรียนรู้และพื้นที่กิจกรรมของเด็ก

แรกเริ่มเราทำ Research Study กับสิ่งที่ประเทศเรามี ประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์เยอะมาก แต่สิ่งที่ยากกว่าการมีพิพิธภัณฑ์คือการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ และเราต้องทำความเข้าใจว่า พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่ไม่เกิดกำไร กำไรที่เกิดเป็นกำไรโดยนามธรรม เป็นกำไรที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนรู้ในภายหลัง และการทำพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาก็เป็นกำไรของคนในชาติ

ซึ่งกำไรที่คุณว่าก็เคยเกิดขึ้นกับตัวคุณเอง

เราเรียนต่างประเทศ เลยมีโอกาสไปพิพิธภัณฑ์ เคยไปดูงาน Mark Rothko ที่ประเทศฝรั่งเศส ตอนนั้นหน้าหนาว คิวยาวมาก เขายืนดูประตูสีม่วงกัน พอเราเข้าไปยืนดูใกล้ ๆ จากสีม่วงมันมีสีชมพู สีเหลืองอยู่ในนั้นด้วย ตั้งแต่นั้น Mark Rothko ก็เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานทุกชิ้นของเรา

เรารู้สึกว่าศิลปะมันส่งเสริมรสนิยมนะ และพิพิธภัณฑ์ก็เป็นพื้นที่ที่ทุกคนไปได้ อย่างเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรีย มี MuseumsQuartier เป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่รวมกัน ตรงกลางจัดเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ถ้าไปกับลูกก็มีพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็ก ถ้าสนใจดนตรีก็มีพิพิธภัณฑ์ดนตรี ฯลฯ

ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล กับบทบาทการจัดการพิพิธภัณฑ์ของสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ

ครั้งสุดท้ายเราไป Natural History Museum ประเทศอังกฤษ แทบจะเดินไม่ได้ คนเยอะมาก ซึ่งบ้านเราไม่มีโอกาสได้เห็นแบบนั้น

แสดงว่าประเทศไทยต้องการคนบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์

ใช่ ต้องคิวเรตงานให้ได้และให้ดีด้วย

คิดว่าเพราะอะไร คนทำพิพิธภัณฑ์ถึงไม่เข้าใจพิพิธภัณฑ์

เพราะบ้านเราไม่ค่อยมีวิชาเรียนเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ ทำไมไม่มีรู้มั้ย เรียนแล้วจะไปทำงานที่ไหนต่อ ไม่มีใครบอกหรือมีตัวอย่างให้เขาเห็น เราเชื่อว่าเด็ก ๆ ก็อยากเรียน แต่ไม่ค่อยมีที่ให้เขาเรียน

ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล กับบทบาทการจัดการพิพิธภัณฑ์ของสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ

แล้วภาพรวมสถานการณ์ของพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยเป็นอย่างไร

พิพิธภัณฑ์ในประเทศที่เราเห็นสู้กับพิพิธภัณฑ์ที่เราเคยเห็นไม่ได้

พิพิธภัณฑ์ไทยจะดีกว่านี้ได้ ถ้า…

ถ้าผู้ใหญ่ในชาติมองว่าพิพิธภัณฑ์คือการลงทุนที่คุ้มค่า (เธอยิ้ม) 

ซึ่งก็เหมือนกับการเปิดมหาวิทยาลัย เพียงแต่พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่มหาลัยใดมหาลัยหนึ่ง แต่พิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์กลางที่ทุกคนมาเรียนรู้ได้เหมือนกันหมด ที่สำคัญ พิพิธภัณฑ์ผลิตหลักสูตรเองได้ อย่าง V&A ร่วมกับ Royal College of Art ผลิตหลักสูตรบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ มีปริญญาเอก ปริญญาโท มีคอร์สเรียนออนไลน์ระยะสั้น ผู้เรียนจะได้ประกาศนียบัตรจาก V&A ด้วย อีกอย่างพิพิธภัณฑ์ต้องปรับตัว

ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล กับบทบาทการจัดการพิพิธภัณฑ์ของสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ

ต้องปรับตัวยังไง

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้พิพิธภัณฑ์ต้องปลี่ยนบริบทใหม่ ให้คนเข้าถึงง่ายและมีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น เช่น บางพิพิธภัณฑ์ เมื่อปิดทำการก็กลายเป็นบาร์ในตอนกลางคืน หรือลูฟวร์จัดกิจกรรม Yoga and Art Tour ให้คนเล่นโยคะท่ามกลางงานศิลปะในช่วงเช้าก่อนพิพิธภัณฑ์เปิด

ถ้าประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์ที่ดี มันจะดีกับใครบ้าง

ดีกับทุกคน ถ้าเรามีพิพิธภัณฑ์ที่ดีก็เหมือนมีพื้นที่แสดงออกให้คนในชาติ 

อย่างโครงการวิจัยที่เรากำลังทำ ถ้ามันสมบูรณ์จนกระทั่งประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ มันจะเป็นโอกาสของประเทศชาติ เป็นพื้นที่เรียนรู้ เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ หรืออาจเกิดหลักสูตรที่พิพิธภัณฑ์สอนได้ เช่น วิชาการจัดการพิพิธภัณฑ์ วิชาการอนุรักษ์ ซึ่งทำให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์เป็นได้หลายบทบาท แม้ตอนนี้ยังอยู่ในการวิจัย แต่เราก็จัดนิทรรศการย่อยในจังหวัดต่าง ๆ 

ซึ่งเป็นนิทรรศการที่จัดภายใต้ ‘สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ

ก่อนหน้านี้เราจัดนิทรรศการวิถีศรัทธาอีสาน : มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน ที่จังหวัดขอนแก่น นิทรรศการหัตถศิลป์ลำปาง : มรดกศรัทธาแห่งเขลางค์นคร ที่จังหวัดลำปาง

ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล กับบทบาทการจัดการพิพิธภัณฑ์ของสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ

และกำลังจะจัดนิทรรศการที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดสงขลา แล้วก็จัดรวมยอดนิทรรศการทั้งหมดอีกทีในกรุงเทพฯ อนาคตจะมี Touring Exhibition ไปจัดแสดงที่ประเทศฝรั่งเศส

จุดร่วมกันของนิทรรศการภายใต้สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติคืออะไร 

คือการบอกเล่าประเพณีที่ถูกลืมด้วยการดึงกลับมาเล่าด้วยวิธีร่วมสมัย อย่างการตอกกระดาษ ที่เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการหัตถศิลป์ลำปาง บอกตรง ๆ ว่าเราเคยเห็นครั้งแรก สิ่งสำคัญคือการคิวเรตงานและการแปลงไอเดียจากช่างศิลป์พื้นถิ่นสู่นิทรรศการ เพราะประเทศเรามีของดีอยู่ทุกจังหวัด เราพยายามบอกว่าพิพิธภัณฑ์กระจายอยู่ได้ทุกพื้นที่ เพื่อปูทางก่อนจะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ

ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล กับบทบาทการจัดการพิพิธภัณฑ์ของสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ

เราเชื่อว่าถ้าได้ดู ได้จำ คนก็จะไม่ลืม ถึงไม่สนใจ แต่อย่างน้อยก็ผ่านหูผ่านตา แต่ถ้าจัดทื่อ ๆ ตรง ๆ ก็คงไม่มีใครมาดู เลยต้องมีคีย์หลักในการเอามาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะ และจากนิทรรศการเราก็ต่อยอดเป็นของที่ระลึก เช่น ลายปูรณฆฏะ ลวดลายท้องถิ่นของลำปาง ก็เอามาทำกระเป๋า

เล่ากระบวนการจัดนิทรรศการของคุณให้ฟังหน่อยได้มั้ย

เราพยายามเป็นพาร์ตเนอร์กับมหาวิทยาลัย ซึ่งการทำพิพิธภัณฑ์ภายใต้มหาวิทยาลัยเป็นข้อดี เพราะมหาลัยมีความพร้อมด้านองค์ความรู้วิชาการ จากนั้นก็คุยกับอาจารย์ที่เชี่ยวชาญงานหัตถศิลป์ เขาก็แนะนำครูช่างท้องถิ่นให้เรา แล้วก็ลงพื้นที่พูดคุยกับครูช่าง เพราะเราต้องเห็นของก่อน ถึงจะนำไปสู่ Key Message หลักของการจัดนิทรรศการ

อย่างจังหวัดลำปาง เราทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เขาพาเราไปดูงานจนครบ เราเลือกงานตอกกระดาษ เป็นการฉลุลาย คล้ายงานผ้า เราชอบ เพราะเราเป็น Textile Designer จากนั้นก็มานั่งรวมทีมหารือกัน ว่ามีพื้นที่แบบนี้ มีของแบบนี้ มีประเด็นแบบนี้ นิทรรศการควรออกมาเป็นแบบไหนและเล่าให้สนุกได้ยังไง

คุณว่าภูมิปัญญาตอกกระดาษสำคัญกับเมืองลำปางยังไง

มันคือการอนุรักษ์ ทำให้ป้าบัวมีอาชีพต่อ เป็นสุนทรียศาสตร์ที่ทำด้วยมือของผู้หญิงคนหนึ่ง ไม่อย่างนั้นเลเซอร์คัตคงแทนป้าบัวแล้ว

ทัศนคติของ รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล จากคนเดินพิพิธภัณฑ์สู่คนทำพิพิธภัณฑ์ กับโครงการจัดตั้งสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ

ซึ่งเลเซอร์คัตแทนที่ไม่ได้

แทนที่จิตวิญญาณของป้าบัวไม่ได้

มันเป็นความงามของงานมือ ถึงมีความไม่เท่ากันบ้าง แต่คนที่ครอบครองจะรู้สึกว่างานนี้มีแค่ชิ้นเดียวในโลก

แล้วการจัดนิทรรศการย่อยแต่ละจังหวัดสร้างอิมแพคยังไงบ้าง

การจัดตามจังหวัดต่าง ๆ ทำให้ครูช่างอิ่มเอม เขาก็แปลกใจว่าทำอย่างนี้ได้ด้วยหรอ เอางานเขามาทำโคมได้ด้วยหรอ กลายเป็นว่าการจัดนิทรรศการทำให้เขามีพื้นที่แสดงออกนอกจากกระทรวงวัฒนธรรม และเขารู้สึกได้รับการยกย่องอีกครั้ง 

ส่วนคนในจังหวัดก็มาดูนิทรรศการที่เล่าเรื่องของเขา ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นในระยะยาว จะส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเมื่อมีนิทรรศการ เด็ก ๆ ก็จะเห็นว่าบ้านเขามีอะไร ประเพณีที่ถูกลืมก็ได้รับการรื้อฟื้น คนในท้องถิ่นเห็นคุณค่าของครูช่าง เป็นการส่งเสริมกันทางอ้อม

เรามีหน้าที่แค่ไปวางระบบ ไปทำให้เขาดู ภายหลังเขาจะต้องทำเองได้ หรือาจไปต่อยอดในงบประมาณที่จังหวัดเขามี

ทัศนคติของ รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล จากคนเดินพิพิธภัณฑ์สู่คนทำพิพิธภัณฑ์ กับโครงการจัดตั้งสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ
ทัศนคติของ รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล จากคนเดินพิพิธภัณฑ์สู่คนทำพิพิธภัณฑ์ กับโครงการจัดตั้งสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ

การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์บ่งบอกอะไร

ถ้าชาติไหนร่ำรวย พิพิธภัณฑ์เพียบเลย ดูอย่างอาบูดาบี พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ลำดับที่ 2 อยู่ที่นี่ ขณะเดียวกัน V&A กำลังจะมีพิพิธภัณฑ์ใหม่ในประเทศเกาหลี มันต้องขนาดไหน V&A ถึงไปเปิดพิพิธภัณฑ์ที่นั่น แสดงว่าเขาบอกความร่ำรวยของประเทศด้วยความเจริญ 

สิ่งที่คุณเรียนรู้ในฐานะคนเดินพิพิธภัณฑ์สู่คนทำพิพิธภัณฑ์คืออะไร

ตอนเดินมันสนุก มันว้าว พอมาทำพิพิธภัณฑ์ ทำให้เราเรียนรู้ว่าการบริหารจัดการเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการทำพิพิธภัณฑ์

ทัศนคติของ รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล จากคนเดินพิพิธภัณฑ์สู่คนทำพิพิธภัณฑ์ กับโครงการจัดตั้งสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ

การบริหารจัดการต้องใช้หลายแผนก ต้องมีคน Maintenance ตลอดเวลา ต้องมีนักวางแผน นักประชาสัมพันธ์ที่ทำให้คนมาดูพิพิธภัณฑ์  ต้องมีคิวเรเตอร์ที่คิดนิทรรศการดี ๆ ให้คนดูและเข้าถึงพิพิธภัณฑ์มากขึ้น ไหนจะการเงิน การขายของที่ระลึก ความปลอดภัย หรือ Back Office มิน่าเขาถึงมีตำราทำพิพิธภัณฑ์เป็นเล่มหนา ๆ เพราะมันยากและละเอียดมาก ๆ

อยากฟังนิยามคำว่า พิพิธภัณฑ์ ฉบับคนทำพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์คือสถานที่ที่ไปแล้วสร้างความบันเทิงใจ และสิ่งที่ได้เพิ่มเติมคือความรู้ 

ถ้ามีพิพิธภัณฑ์ของตัวเอง คุณจะจัดแสดงอะไร

เราคงเน้นที่ห้องขายของที่ระลึก เป็นของพรีเมียมที่ทุกคนอยากซื้อ เพราะเวลาไปพิพิธภัณฑ์ เราเดินไปโซนกิฟต์ช็อปก่อนเลย เราชอบ (หัวเราะ)

ทัศนคติของ รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล จากคนเดินพิพิธภัณฑ์สู่คนทำพิพิธภัณฑ์ กับโครงการจัดตั้งสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล