โรงพยาบาลนมะรักษ์ อ่านว่า นะ-มะ-รัก เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางศัลยศาสตร์มะเร็งขนาดเล็ก 

ก่อตั้งโดยกลุ่มเพื่อนที่อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนวิธีคิดวิธีบริหารโรงพยาบาลเอกชน อย่าง รศ. พญ.เยาวนุช คงด่าน นพ.วลัญช์ วิไลหงษ์ และ ภญ.อรอนงค์ สวัสดิ์พาณิชย์ ทั้งสามเชื่อในเรื่องเดียวกันแม้แตกต่างกันโดยหน้าที่ 

รศ. พญ.เยาวนุช คงด่าน นพ.วลัญช์ วิไลหงษ์ และ ภญ.อรอนงค์ สวัสดิ์พาณิชย์

คนหนึ่งเป็นหมอผ่าตัดที่ฝันอยากเป็นผู้ประกอบการ คนหนึ่งเป็นสูตินารีแพทย์ที่ฝันอยากทำโรงพยาบาลให้เหมือนบ้าน อีกคนเป็นเภสัชกรที่ถนัดงานทรัพยากรบุคคล ดึงดูดคนที่มีความเชื่อคล้ายกันเข้ามาทำงานด้วยกัน 

สองคุณหมอและหนึ่งเภสัชกร ตัดสินใจลุกขึ้นมาทำธุรกิจสตาร์ทอัพในวัย 50 ปี วัยที่สังคมบอกให้พวกเขาเตรียมตัวสร้างความมั่งคั่งเพื่อการเกษียณ แต่พวกเขามองว่านี่คือจุดเริ่มต้นของชีวิตผู้ประกอบการในฝัน 

โรงพยาบาลนมะรักษ์เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ที่เชี่ยวชาญการตรวจรักษามะเร็งเต้านม เพิ่งเปิดทำการเพียง 8 เดือน เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กที่มีวิธีคิดทำโรงพยาบาลแบบคราฟต์สุดๆ 

โรงพยาบาลนมะรักษ์ ธุรกิจของกลุ่มคุณหมอที่อยากเปลี่ยนระบบรักษาพยาบาลประเทศไทย
โรงพยาบาลนมะรักษ์ ธุรกิจของกลุ่มคุณหมอที่อยากเปลี่ยนระบบรักษาพยาบาลประเทศไทย

ตั้งแต่สร้างโรงพยาบาลกันเอง คุณหมอเป็นทั้งวิศวกร เป็นสถาปนิก เป็นนักออกแบบภายใน ออกแบบประสบการณ์คิดแทนความรู้สึกที่คนไข้จะได้รับ มีจุดขายที่ High Touch มากกว่า High Technology อย่างโรงพยาบาลทั่วไป 

ตั้งใจส่งมอบบริการที่มีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้ จนคนไข้บอกให้ขึ้นราคาเพราะอยากให้โรงพยาบาลอยู่รอดต่อไปนานๆ แต่ชาวนมะรักษ์ก็ยังยืนยันจะรักษาราคาที่ตั้งไว้ เพราะเป็นความตั้งใจที่มีมาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นธุรกิจ

‘นมะ’ ในภาษาไทยแปลว่า การไหว้ การเคารพ การนอบน้อม

ไม่เพียงให้ความหมายตรงกับการบริการด้วยใจ เคารพบทบาทซึ่งกันและกัน คำว่า ‘นมะ’ ยังให้ความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับทรวงอก อันเป็นความเชี่ยวชาญหลักของโรงพยาบาลเฉพาะทางศัลยศาสตร์มะเร็งขนาดเล็กแห่งนี้

คุณหมอนุช หรือ รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน รีบเล่าความหมายของชื่อพร้อมชี้ชวนให้ดูโลโก้และเครื่องแบบพนักงาน เป็นเสื้อโปโลสีชมพูในแบบเดียวกันไม่แบ่งแยก ซึ่งชาวนมะรักษ์ภูมิใจ

รศ. พญ.เยาวนุช คงด่าน นพ.วลัญช์ วิไลหงษ์ และ ภญ.อรอนงค์ สวัสดิ์พาณิชย์

ก่อนจะนั่งลงเล่าเรื่องราวเบื้องหลังการคิดทำธุรกิจโรงพยาบาลเฉพาะทางแห่งนี้ ยอมรับว่ามีหลายทีที่เผลอคิดว่ากำลังนั่งคุยกับคุณหมอที่บ้านมากกว่าที่โรงพยาบาลที่คุ้นเคย

20s

“ก่อนเรียนหมอเราอยากเรียนคณะพาณิชย์ฯ นะ อยากเป็นนักธุรกิจ อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง” คุณหมอนุชเล่าความฝันในวัยเด็ก 

30s

20 ปีที่แล้วเธอฝึกหัดวิชาการเป็นผู้ประกอบการด้วยตัวเองผ่านธุรกิจร้านอาหาร บริการโลจิสติกส์ขนส่งแผ่นซีดีให้แบรนด์ดัง และทำแบรนด์ปุ๋ยอินทรีย์ ไปพร้อมๆ กับเป็นแพทย์ในสาขาที่เชี่ยวชาญ

“กับเรื่องธุรกิจ เราคิดเองว่าอ่านหนังสือก็คงรู้วิธีบริหารจัดการได้ ตอนนั้นห้าว ใครว่าอะไรทำแล้วดีเราก็ลงทุนทำกับเขาโดยไม่ถนัด ตอนแรกคิดเข้าข้างตัวเองว่าที่ไม่สำเร็จเพราะไม่ให้เวลามากพอ ความจริงเราขาดความรู้ที่สำคัญ” คุณหมอนุชในวัย 38 ปี จึงตัดสินใจใช้เวลาว่างจากการเป็นอาจารย์แพทย์ดูแลเรื่องเต้านมที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กลับเข้าห้องเรียน MBA ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นงานอดิเรก

40s

คุณหมอนุชในวัย 40 ยอมรับว่าตัวเองมองกว้างขึ้น คิดเป็นระบบมากขึ้น แต่ใช่ว่าเธอกล้าพอที่จะกลับไปเป็นผู้ประกอบการ จนเมื่อได้รับโอกาสจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ทำงานเป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายคุณภาพ ก่อนย้ายมาทำฝ่ายสื่อสารองค์กร ตามด้วยการเป็นรองคณบดีฝ่ายบริหารกิจการพิเศษ ส่วนงานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง จัดหาเครื่องมือ ดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงพยาบาล และได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการผู้จัดการ บริหารบริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด (Ramathibodi Facilities Services : RFS) ซึ่งเป็นส่วนงานธุรกิจที่ดูแลนอกเหลือจากงานรักษาพยาบาล จนเธอมั่นใจขึ้น 

รศ. พญ.เยาวนุช คงด่าน นพ.วลัญช์ วิไลหงษ์ และ ภญ.อรอนงค์ สวัสดิ์พาณิชย์

50s

หลังจากบ่มเพาะความฝันที่อยากสร้างโรงพยาบาลเป็นของตัวเองมานาน เธอก็ตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจอีกครั้งในวัย 50 ปี ก่อนจะเริ่มชวนหุ้นส่วนที่แม้จะต่างสาขาความเชี่ยวชาญแต่เชื่อเหมือนกัน มองภาพเดียวกัน เมื่อ 10 ปีแล้ว พวกเขาเคยคุยกันว่าอยากทำคลินิกหรือศูนย์รักษาพยาบาลสำหรับผู้หญิง มีส่วนที่ทำเล็บทำผมพร้อมกับตรวจสุขภาพ เวลาผ่านไปความคิดที่จะทำคลินิกก็กลายเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง

“คุณหมอเอาความมั่นใจนี้มาจากไหน” เราถาม

คุณหมอนุชตอบทันทีว่าประสบการณ์ทำงานทำให้เธอรู้ว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเยอะแค่ไหน ยังไม่รวมผู้ป่วยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นมะเร็ง หรือผู้หญิงอายุ 35 – 40 ปีที่มีโอกาสเป็นผู้ป่วยจึงต้องคัดกรอง

“หมอทำแผนผังขึ้นมาว่าในกระบวนการรักษามีส่วนไหนเป็นค่าใช้จ่ายบ้าง มียาอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร หรือต้องเกี่ยวกับหมอแผนกอื่นอย่างไรบ้าง รวมแล้วใช้เงินไม่ต่ำกว่าล้าน เราก็ทำให้เขาเห็นว่าถ้ายอมจ่ายค่าตรวจปีละสามถึงสี่พันบาท แล้วตรวจเจอตั้งแต่แรกๆ ซึ่งการรักษาคือผ่าตัด จากเดิมต้องเสียเงินเป็นล้านๆ ก็จ่ายเพียงค่าผ่าตัดสองแสนบาท”

คุณหมอผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในวัย 50

หากชีวิตคนเรายืนยาวถึง 70 ปี นั่นหมายความว่า ประสบการณ์ของคนอายุ 50 ปี ยังทำประโยชน์อื่นๆ ได้อีกตั้ง 20 ปี 

หลายครั้งที่พูดถึงสังคมสูงวัย ทำไมคนต้องคิดถึงการออมเงินเพื่อเกษียณ ทำไมต้องส่งเสริมให้อยู่บ้านเลี้ยงหลานหรือออกเดินทางท่องเที่ยว แต่ทำไมไม่เตรียมสังคมที่เป็นสังคมจริงๆ 

“แทนที่จะคิดว่ารัฐบาลจะเลี้ยงเราไหม เราต้องเก็บเงินเลี้ยงตัวเองเท่าไหร่ถึงจะพอ

ทำไมไม่คิดสร้างคุณค่าตัวเองที่เลี้ยงคนอื่นได้ด้วย” เราพยักหน้าเห็นตามด้วยทุกอย่าง

“สองปีก่อนเริ่มทำโรงพยาบาล มีคนเตือนว่าอย่าทำโรงพยาบาลเลยเศรษฐกิจไม่ดี เราก็บอกว่าไม่เชื่อ ไม่มีทางที่เศรษฐกิจจะไม่ดีไปตลอด ไม่งั้นประเทศชาติคงล่มสลายไปแล้ว เพราะเราเห็นมาทั้งชีวิต เราผ่านวิกฤตต้มยำกุ้ง ผ่านช่วงลดค่าเงินบาท ผ่านช่วงที่ประเทศชาติโชติช่วง เห็นมาทุกอย่าง เริ่มตอนนี้แหละเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว พอเศรษฐกิจดีขึ้นทุกคนก็พร้อมใช้จ่าย” คุณหมอนุชเล่า

ธุรกิจสตาร์ทอัพของคนรุ่นใหม่อาจจะหวือหวาและสดใหม่ เหมาะสมกับอุตสาหกรรมและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่สังคมไม่ได้ต้องการความใหม่เพียงอย่างเดียว เราต้องการธุรกิจที่มั่นคงและกลมกล่อม 

คุณหมอนุชเล่าข้อดีของธุรกิจจากสตาร์ทอัพวัย 50 ปี ซึ่งมีประสบการณ์ชีวิต เข้าใจโจทย์ที่ตลาดต้องการอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การใช้เทคโนโลยีสร้างแพลตฟอร์ม ซึ่งหลายครั้งไม่ได้ตอบโจทย์ตลาด 

นอกจากนี้ ยังพร้อมไปด้วยทุน ความรู้ ประสบการณ์ มีโอกาสสร้างเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศเช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ ขอเพียงลุกขึ้นมาทำในส่วนที่ถนัดไม่ว่าจะอยู่ในวงการไหน

รศ. พญ.เยาวนุช คงด่าน นพ.วลัญช์ วิไลหงษ์ และ ภญ.อรอนงค์ สวัสดิ์พาณิชย์
โรงพยาบาลนมะรักษ์ ธุรกิจของกลุ่มคุณหมอที่อยากเปลี่ยนระบบรักษาพยาบาลประเทศไทย

โรงพยาบาลเฉพาะทางขนาดเล็กที่อยากสร้างอำนาจต่อรองในสังคม

สถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นปัญหาของธุรกิจรักษาพยาบาล ได้แก่ 

หนึ่ง ความไม่สมดุลระหว่างความต้องการของผู้ป่วยและบริการที่โรงพยาบาลมอบให้ และ

สอง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเครื่องมือและการรักษาที่มีคุณภาพจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษและบุคลากรบางสาขา นั่นทำให้การไปโรงพยาบาลรัฐของคนส่วนใหญ่ต้องลางานไปตรวจ ก่อนนัดคิวทำอัลตราซาวนด์ตามด้วยวินิจฉัยโรค จากนั้นถึงนัดฟังผล แล้วทำนัดเพื่อเจาะชิ้นเนื้อ จากนั้นนัดตรวจอีกครั้ง แล้วจึงนัดฟังผล 

ยังไม่ทันเริ่มรักษาก็ต้องไปโรงพยาบาล 5 – 6 ครั้ง ใช้เวลาร่วมหลายเดือน

หากอยากเข้ารักษากับแพทย์เชี่ยวชาญพิเศษในโรงพยาบาลรัฐ ก็ต้องแลกมาด้วยเวลาและความสะดวกสบายบางอย่าง แต่ถ้าอยากได้บริการชั้นดีและความสะดวกพร้อมกันก็ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายมหาศาล ที่ผ่านมา มีโรงเรียนแพทย์หลายแห่งทำคลินิกพิเศษเพื่อตอบสนองกลุ่มที่ต้องการการรักษาที่มีคุณภาพ มีความสะดวก ตรวจนอกเวลาได้ ที่สำคัญ ราคาเข้าถึง แต่นั่นก็ไม่เพียงพอกับความต้องการอยู่ดี

โรงพยาบาลนมะรักษ์ จึงก่อตั้งมาเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งของโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านเต้านม โดยคุณหมอและเภสัชกรผู้ก่อตั้งทั้งสามเห็นร่วมกันว่า เป้าหมายสูงสุดของการทำธุรกิจนี้ไม่ใช่การหากำไรสูงสุด ไม่คาดหวังการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ พวกเขาตั้งใจทำโรงพยาบาลเฉพาะทางเล็กๆ ที่อยากสร้างอำนาจต่อรองในสังคม เปลี่ยนระบบบางอย่างของโรงพยาบาลที่มีมาช้านาน

คุณหมอนักวิศวกร สถาปนิก และอินทีเรีย ผู้ดูแลการสร้างโรงพยาบาลด้วยตัวเอง

คุณหมอนุชเล่าว่า ในการสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทาง หมายความว่าเราไม่ได้ทำทุกเรื่อง “อะไรคือแก่นของธุรกิจของเรา บางเรื่องต้องใช้พาร์ตเนอร์ เช่น บางครั้งต้องจ้างหมออายุรกรรมมาตรวจเตรียมความพร้อมสำหรับคนไข้ที่มีโรคประจำตัว หรือส่งไปตรวจกับโรงพยาบาลใหญ่ที่พร้อมกว่าแทนการจ้างหมอมา หรือใช้เครื่องมือที่ราคาสูงแต่ไม่ได้ใช้บ่อย” 

แต่กับเรื่องที่เป็นแก่นของธุรกิจ คุณหมอบอกว่าเครื่องมือที่เกี่ยวต้องคุณภาพดีกว่าที่อื่นๆ

ปรัชญาของโรงพยาบาลไม่ได้มุ่งหากำไรสูงสุด แต่ก็ยังต้องการกำไรเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

ข้อดีของการทำสิ่งที่ถนัด คือจะทำให้เราเข้าใจทางเดินของคนไข้ ตั้งแต่ก่อนเข้ามาใช้บริการจนหายดี พวกเขาจะเจอกับอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละส่วนมีมูลค่าเท่าไหร่ ลูกค้าเป็นใครกลุ่มไหน สิ่งที่ตั้งใจจะทำเป็นไปได้ไหม เพื่อออกแบบเชิงโครงสร้างโรงพยาบาล

“โดยทั่วไปหมอจะไม่รู้เรื่องโรงพยาบาลที่อยู่นอกเหนือกับการรักษามาก่อน เช่น ระบบวิศวะอาคาร ระบบเครื่องมือแพทย์ ดินน้ำลมไฟ ความปลอดภัย ซึ่งในเชิงธุรกิจเรื่องเหล่านี้ใช้เงินเยอะมาก หรือมีเครื่องมือแพทย์เครื่องหนึ่ง จะดูแลรักษาอย่างไร จะบำรุงรักษาอย่างไร”

โรงพยาบาลนมะรักษ์ ธุรกิจของกลุ่มคุณหมอที่อยากเปลี่ยนระบบรักษาพยาบาลประเทศไทย
โรงพยาบาลนมะรักษ์ ธุรกิจของกลุ่มคุณหมอที่อยากเปลี่ยนระบบรักษาพยาบาลประเทศไทย

ประสบการณ์ในส่วนงานดูแลการสร้างและออกแบบอาคารโรงพยาบาลรัฐ ทำให้คุณหมอนุชคุ้นเคยกับงานโครงสร้างและการออกแบบเป็นอย่างดี 

“พอได้มาทำอาคารโรงพยาบาลของตัวเอง อะไรที่เคยทำไม่ได้หรือมีข้อจำกัด เราก็ขุดมาทำทั้งหมด และเมื่อเรารู้ว่าเรามีทุนน้อยดังนั้นการก่อสร้างจึงต้องเร็ว” 

ปกติทำงานโครงสร้างให้เสร็จก่อนจากนั้นตามด้วยงานสถาปัตย์และอินทีเรียใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ที่น่าสนใจคือ ที่นี่ใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 13 เดือนตั้งแต่ตอกเสาเข็มจนโรงพยาบาลเสร็จ

คุณหมอนุชคุมงานโครงสร้าง งานออกแบบ และตกแต่ง ด้วยตัวเองทั้งหมด ทั้งแบ่งโซนการทำงานด้วยโลจิสติกส์บันไดหน้าและหลัง ใช้เทคโนโลยีขึ้นโมเดลห้องผ่าตัดที่อิตาลีก่อนขนส่งชิ้นส่วนมาติดตั้งแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ขณะที่การก่อสร้างห้องเอกซเรย์ทั่วไปต้องก่อผนังอิฐหนามีแผ่นตะกั่วด้านใน คุณหมอนุชก็ศึกษาจนพบวัสดุคุณภาพสูงมาใช้ทดแทน แถมยังมีโครงสร้างน้ำหนักเบาปรับเปลี่ยนผังได้เร็วหากมีแผนขยับขยายพื้นที่ใช้สอยในอนาคต ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็วและจริงจัง

โรงพยาบาลที่เหมือนมาเที่ยวบ้านเพื่อนมากกว่ามาหาหมอ

ในขณะที่โรงพยาบาลหลายแห่งใช้ความ High Technology เป็นจุดขาย ที่นมะรักษ์จุดขายคือ High Touch

เพราะทุกปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจำเป็นต่อการรักษาพยาบาลมากๆ 

“ในการรักษาหมอมีความเชื่อว่า หมอช่วยเขาได้เพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งคือตัวผู้ป่วยเอง จากสภาพจิตใจที่ยอมรับ เชื่อมั่น และศรัทธา ที่จะปรับเปลี่ยนชีวิต ส่งผลต่อระบบร่างกายและภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น ในการพัฒนาโรงพยาบาลยุคหลัง เราพูดถึงเทคโนโลยีมากเกินไปจนลืมว่าเวลาที่เรารักษา เรารักษาคนที่เป็นโรค ไม่ได้รักษาโรค อย่ามองแค่ว่าเราจะจัดการก้อนมะเร็งนี้ยังไง แต่มองหาว่าใจคนป่วยนั้นเป็นยังไง ไลฟ์สไตล์เขาเป็นยังไง เพื่อให้เขาหายดีกลับเข้าไปอยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพดังเดิม”

เป็นเหตุผลว่าทำไมที่โรงพยาบาลนมะรักษ์ ให้ความรู้สึกสบายใจ อบอุ่นเหมือนบ้าน

โรงพยาบาลนมะรักษ์ ธุรกิจของกลุ่มคุณหมอที่อยากเปลี่ยนระบบรักษาพยาบาลประเทศไทย

มองด้วยสายตาแล้ว เราพบว่าที่นี่ฉีกทุกกรอบของการออกแบบพื้นที่ ถ้านักวิเคราะห์มาเจอต้องเห็นตรงกันว่าที่นี่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย

ที่นมะรักษ์ ผู้ก่อตั้งให้โจทย์นักออกแบบว่า พวกเขาอยากได้โรงพยาบาลที่ดูไม่เหมือนโรงพยาบาลทั่วไป ไม่เป็นอาคารสูง อยากให้คนไข้เข้ามาใช้บริการแล้วรู้สึกเหมือนมารีสอร์ต มีพื้นที่สำหรับพนักงาน และมีสวนซึ่งชาวนมะรักษ์ทุกคนร่วมออกแบบเอง

โรงพยาบาลนมะรักษ์ ธุรกิจของกลุ่มคุณหมอที่อยากเปลี่ยนระบบรักษาพยาบาลประเทศไทย

“ตอนแรกสถาปนิกแนะนำให้ทำอาคารห้าชั้น เพื่อการใช้พื้นที่ทุกตารางอย่างคุ้มค่า แต่เราคิดว่า ห้าชั้นให้ความรู้สึกเป็นอาคารสูง เดิมเราอยากได้แค่อาคารสองชั้นด้วย แต่นั่นทำให้ไม่มีพื้นที่ของพนักงาน ขณะเดียวกันความเป็นโรงพยาบาล ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายและระบบความปลอดภัยก็ยังต้องมีอยู่” คุณหมอนุชเล่าที่มาของพื้นที่อาคาร 3 ชั้น 

พื้นที่ชั้นล่างเป็นห้องตรวจ มีพื้นที่ส่วนกลางเป็นโต๊ะทำงานพร้อมปลั๊กไฟและอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ทุกคนใช้ เหมือน Co-working Space มากกว่าพื้นที่รอพบแพทย์

พื้นที่ชั้นสองเป็นห้องพัก ซึ่งแตกต่างจากห้องพักผู้ป่วยในทั่วไป ที่ห้องจะอยู่ลึกและห่างไกลพยาบาล แต่ที่นี่ไม่ว่าจะอยู่ห้องไหน คุณจะเปิดประตูมาเจอเคาน์เตอร์พยาบาลตรงกลางเสมอ

โรงพยาบาลนมะรักษ์ ธุรกิจของกลุ่มคุณหมอที่อยากเปลี่ยนระบบรักษาพยาบาลประเทศไทย

พื้นที่ชั้นสามเป็นพื้นที่ใช้สอยของพนักงาน มีพื้นที่ออกกำลังกาย มีห้องประชุมหลากหลายขนาด สำหรับการจัดอบรมและเตรียมเป็นพื้นที่สำหรับเรียนในอนาคต

โรงพยาบาลนมะรักษ์ ธุรกิจของกลุ่มคุณหมอที่อยากเปลี่ยนระบบรักษาพยาบาลประเทศไทย

แทนที่จะกลุ้มใจกับสงครามราคา ชาวนมะรักษ์ถือว่านี่คือสัญญาณที่ดีของภารกิจ

นมะรักษ์เป็นโรงพยาบาลที่ไม่ประชาสัมพันธ์และทำการตลาดใดๆ อาศัยการบอกปากต่อปาก เพราะคนไข้สัมผัสได้ถึงความตั้งใจและอยากช่วยให้ธุรกิจไปต่อ หลายครั้งจึงได้รับการสนับสนุน มีคนไข้ช่วยทำป้ายชี้ทางเข้าโรงพยาบาล หรือประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ 

การเกิดขึ้นของโรงพยาบาลนมะรักษ์อาจไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้โรงพยาบาลรายใหญ่ๆ หันมาลดราคาค่าตรวจแมมโมแกรมถึงครึ่งหนึ่งในรอบหลายปี ซึ่งแม้จะมีหลายคนเป็นห่วงว่าสงครามราคาจะตัดโอกาสทางธุรกิจของโรงพยาบาลเฉพาะทางน้องใหม่แห่งนี้ แต่คุณหมอนุชก็ยืนยันว่านี่เป็นภาพที่เธออยากเห็นมาตลอด

“แทนที่จะกลุ้มใจว่าเขาลดราคามาสู้ เรารู้สึกว่าภารกิจเราสำเร็จนะ เราอยากให้คนเข้าถึงการตรวจรักษาในราคาที่พวกเขาจ่ายได้” คุณหมอนุชยิ้ม

รศ. พญ.เยาวนุช คงด่าน นพ.วลัญช์ วิไลหงษ์ และ ภญ.อรอนงค์ สวัสดิ์พาณิชย์

Lesson Learnt

ถ้ามีแพทย์รุ่นใหม่เดินเข้ามาบอกว่าอยากเป็นแบบคุณหมอนุชบ้าง คุณหมอจะตอบว่าอะไร เราถาม

คุณหมอรีบตอบทันทีว่า ธุรกิจเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพในยุคนี้ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรักษาเพื่อความงาม ถ้าคุณอยากทำธุรกิจจริงๆ คุณหมออยากให้คุณกลับมาถามตัวเองว่าอะไรคือความสุขของคุณ

“ความสุขอยู่ที่การเห็นเงินในบัญชีเพิ่มขึ้น หรือความสุขอยู่ที่การได้ทำสิ่งที่อยากทำ มีคนรับบริการจากเราแล้วเขาหายดี เขายิ้ม และกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ ถ้าความสุขเขาอยู่ตรงนี้ จงทำเถิด แต่ถ้าความสุขอยู่ที่การเห็นตัวเลขในบัญชีเพิ่มขึ้น จงอย่าเข้ามา เพราะธุรกิจนี้การแข่งสูงมาก ไม่ใช่แค่การแย่งชิงคนไข้ แต่ยังมีบุคลากร แพทย์ พยาบาล ที่สำคัญ” คุณหมอนุชย้ำซ้ำๆ ว่าถ้าเราอยากทำสิ่งดีๆ มีความสุขที่เห็นคนไข้หายดี มีความสุขที่เห็นทีมงานยิ้มแย้ม ก็ไม่ต้องกลัวอะไรเพราะเหล่านี้จะดึงดูดคนที่คิดแบบเดียวกันเข้ามา

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ