ลิเซทท์ เชียร์ส (Lisette Scheers) เป็นเพื่อนใหม่ที่เพิ่งรู้จักไม่นาน แต่การได้พบปะเจอะเจอตัวจริงกันครั้งแรกนั้น เราคุยกันถูกคอต่อติดไปได้เรื่อยๆ เพลินมาก อาจเพราะความสนใจร่วมของทั้งสองฝ่ายที่มีต่อเรื่องราวรอบตัวคล้ายกันแยะสิ่ง และลิเซทท์ยังทำให้เรานึกถึงบทความที่เคยเขียนไว้ในหนังสือ พุทธะในปราด้า ขึ้นมาด้วย

‘Let’s Call the World Maison : เมื่อสไตล์ไร้สัญชาติ’ คือชื่อบทความที่ว่า เราหยิบยก 3 กรณีศึกษาแบรนด์ประทับใจที่ได้ไปรู้จักจากงานแฟร์เครื่องใช้ของตกแต่งบ้านที่ดีที่สุดในโลก Maison et Objet ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีปีละ 2 ครั้งที่กรุงปารีส งานแฟร์นี้ทำหน้าที่เป็นเวทีแจ้งเกิดให้นักออกแบบหน้าใหม่ที่เริ่มต้นสร้างแบรนด์ได้สร้างชื่อเสียงและเปิดรับออร์เดอร์จากเหล่า Buyer ทั่วโลกมาต่อเนื่องยาวนานตลอดหลายสิบปี ในงานแฟร์แต่ละซีซั่นมีชิ้นงาน / ผลิตภัณฑ์น่าสนใจนับหมื่นชิ้น แต่ 3 แบรนด์ที่เด้งมาอยู่ในใจเรามีลักษณะร่วมเหมือนกันอย่างหนึ่ง ซึ่งเราตั้งชื่อให้เองว่า มีความเป็นสไตล์แนวไร้สัญชาติ

หนึ่งในนั้นคือแบรนด์ชื่อ P.Lemoult แบรนด์นี้ขายชุดนอนอย่างเดียว! ชุดนอนแบรนด์นี้โก้มาก ชวนให้นึกถึงชุดนอนที่เราเห็นพระเอกมาดป๋าๆ เท่วินเทจสวมใส่ในหนังเจมส์ บอนด์ แต่นักออกแบบลดทอนความหรูหราด้วยการเลือกใช้ผ้าเส้นใยธรรมชาติน่าสบายจากอินเดียมาตัดเย็บ ผ้าพิมพ์ลวดลายทางบ้าง ลายกราฟิกบ้าง ที่บูท P. Lemoult ในงานแฟร์เมซงฯ มีคนขายชาวอินเดียยืนประจำการอยู่ เราดูแล้วก็เข้าใจไปว่าแบรนด์สัญชาติอินเดียนี้ทำชุดนอนออกมาได้แฟชันเนเบิลเป็นสากลดีแท้

หากความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น P. Lemoult เป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งโดยสาวปารีเซียง ปราลีน เลอมูลต์ (Praline Lemoult) เธอจบการศึกษาด้านศิลปะจากอังกฤษและฝรั่งเศส เคยทำงานคอสตูมดีไซน์อยู่เบื้องหลังวงการภาพยนตร์และโฆษณาของฝรั่งเศส ก่อนมาเริ่มต้นสร้างแบรนด์ของตน

ปราลีนเคยเป็นนักออกแบบดาวเด่นได้รางวัลจาก LOUIS VUITTON ก็จริง แต่แทนที่เธอจะทำเสื้อผ้าแฟชั่นปกติ สาวสวยกลับคิดแหวกแนวเลือกหยิบจับเครื่องแต่งกายชิ้นโปรดของคุณเทียด คือชุดนอน นำมาตีความใหม่ให้เก๋ยูนิเซ็กส์ หญิงชายใส่ได้หมด แถมเป็นชุดนอนที่ใส่ออกนอกบ้านได้สบายมาก ด้วยแนวทางการออกแบบเก๋เท่ ทันสมัย ทั้งที่แรงบันดาลใจในการสร้างแบรนด์มาจากอดีต ประวัติศาสตร์ที่ปราลีนศึกษาคุ้ยค้นคว้า นำเรื่องราวของคุณเทียดมาใช้

คุณเทียดของปราลีนไม่ธรรมดา เป็นนักล่าผีเสื้อ (Butterfly Hunter) ชื่อดังสมัยศตวรรษที่ 19 เติบโตมาในป่าดงดิบบราซิล ผีเสื้อเป็นของสะสมล้ำค่าที่สุภาพบุรุษระดับไอดอลในยุคนั้นให้ความสนใจต้องมีไว้ในคอลเลกชัน คุณเทียดจึงมีลูกค้าระดับคนดังแห่งยุคสมัยมากมายตั้งแต่ระดับจักรพรรดิญี่ปุ่นมาจนนักเขียนชาวรัสเซียคนดัง ให้เหลนสาวจับคาแรกเตอร์บรรดาลูกค้าผีเสื้อคุณเทียดมาสร้างคอลเลกชันต่อไปได้อีก

เราชอบที่ปราลีนสร้างแบรนด์โดยหยิบเรื่องราวในอดีตมาใช้แบบพลิกแพลงผิดคาด และไม่ใช่การสืบทอดกิจการแต่อย่างใด เธอนำเรื่องราวประวัติศาสตร์มาต่อยอดโดยการคิดผนวกทักษะความชำนาญในแบบของตน เรื่องราวผจญภัยในป่าลึกแถบอเมริกาใต้ของชายชาวฝรั่งเศสที่เกิดใน ค.ศ. 1882 เติบโตในดินแดนเอ็กซอติกป่าดงดิบอันห่างไกล ถูกเหลนสาวผู้จบการศึกษาจากลอนดอนและปารีส ใช้ชีวิตอยู่ในเวียนนา นำมาออกแบบแนวคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่โดยใช้ผ้าเส้นใยธรรมชาติเมดอินอินเดีย ผลลัพธ์ที่ได้คือสิ่งที่เราเรียกว่า สไตล์แปลกใหม่ไร้สัญชาติ

บ้าน, Lisette Scheers

ลิเซทท์ก็เช่นกัน เธอเป็นศิลปินนักออกแบบอีกรายที่สร้างแบรนด์ด้วยการผสมผสานวัฒนธรรมหลากหลาย ประวัติศาสตร์อันเฟื่องฟูของเอเชียใต้ในเมืองที่เธอพำนักใช้ชีวิต-เรือนเก่าใจกลางตึกระฟ้าในกัวลาลัมเปอร์ “บ้านยูสวยมากกกกกก!” เราลากเสียงยาวเมื่อเห็นภาพเรือนไม้โบราณที่ลิเซทท์บูรณะปรับปรุงทาสีเขียว ที่บานประตูหน้าต่างขลิบขอบตัดกับตัวเรือนขาวเสียน่าอยู่

บรรยากาศทรอปิคัลปนตะวันตก หน้าต่างเหล็กดัดสีครีม เห็นแล้วทำให้นึกถึงลวดลายอาร์ตเดโค มาเลเซียเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมหลอมรวมสไตล์โคโลเนียล มัวริช ฮวงจุ้ยแบบจีนก็ปรากฏบนอาคารต่างๆ ผลพวงจากการผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตกปะทะตะวันออกยังก่อเกิดสไตล์ใหม่ที่รู้จักในนามเปอรานากัน (Peranakan)

บ้าน, Lisette Scheers บ้าน, Lisette Scheersบ้าน, Lisette Scheers

ลิเซทท์ยิ้มรับคำชมและเล่าว่า เธอโชคดีมากที่เจอบ้านหลังนี้ในเมืองใหญ่ที่ทุกอย่างกลายเป็นตึกสูงเสียดฟ้าไปหมดแล้ว หญิงสาวสัญชาติดัตช์ผู้นี้เกิดในสิงคโปร์ เติบโตในมาเลเซีย และไปศึกษาต่อที่เบลเยียม จบมาทำงานในองค์กรโฆษณาระดับโลกนานหลายปี ใช้ชีวิตไปๆ มาๆ ระหว่างอัมสเตอร์ดัมและบรัสเซลส์ เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนหนำใจ ก่อนจะกลับมาปักหลักในเมืองที่เธอเรียกว่าบ้านนั่นคือ กัวลาลัมเปอร์

โชคดีปีก่อนเราเพิ่งไปพิพิธภัณฑ์เปอรานากันที่สิงคโปร์มาพอดี จึงเริ่มชวนลิเซทท์คุยเรื่องการปักลูกปัดขนาดจิ๋วเป็นลวดลายจีนปนฝรั่งโดยสุภาพสตรีเปอรานากันที่ให้สีสันลวดลายงานปักเป็นรูปภาพอย่างน่าทึ่งตะลึงสายตามาก ลิเซทท์ตาเป็นประกายทันใดและเล่าให้ฟังว่า ผลิตภัณฑ์แรกของแบรนด์ ‘NALA’ ที่เธอก่อตั้งขึ้น เปิดตัวด้วย Stationary เครื่องเขียน กระดาษ การ์ด ที่ลิเซทท์ออกแบบโดยใช้ลวดลายกราฟิกสีสดสร้างแพตเทิร์นรูปแบบใหม่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘กระเบื้องเปอรานากัน’

บ้าน, Lisette Scheers บ้าน, Lisette Scheers

สาวสัญชาติดัตช์คนนี้จบ Graphic Design / Illustration มาก็จริง แต่เธอเพิ่งเริ่มสนใจการออกแบบลวดลายแพตเทิร์นเมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนก่อตั้งแบรนด์นาลา ชื่อเดียวกับลูกสาว และประสบความสำเร็จสมชื่อ (Nala แปลว่า Success ในภาษา Swahili) จากเครื่องเขียนงานกระดาษ ลิเซทท์เริ่มออกแบบลวดลายผ้าและนำมาใช้สร้างผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้าน งานอินทีเรีย งานออกแบบของลิเซทท์เป็นงานทำมือทุกขั้นตอน ไม่ใช้คอม ตั้งแต่การวาดลวดลาย รวมทั้งสร้างลวดลายด้วยการใช้เทคนิคบล็อกไม้ เป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้คนสัมผัสได้ถึงพลังชีวิตจากงานทำมือที่ปรากฏโดดเด่นบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ      

ผัก ผลไม้ ดอกไม้ ในดินแดนทรอปิคัล สัตว์พื้นถิ่น สัตว์ในตำนานความเชื่อที่ปรากฏในงานออกแบบของลิเซทท์ ลิ้นจี่ นกยูง ค้างคาว ถูกนำมาใช้สร้างลวดลายออกมาพิเศษแปลกตา รวมทั้งเครื่องใช้ไม้สอยแบบพื้นบ้านดั้งเดิมที่ถูกนำมาดีคอนสตรัคต์ออกมาเป็นลวดลายที่เราชอบมาก แอบเรียกมันว่า ลายเมฆ ซึ่งเดาผิด มันไม่ใช่เมฆแต่ใกล้เคียง เพราะเมฆลอยอยู่ใกล้พระจันทร์ ‘Over the Moon’ คือชื่อลวดลายนี้ที่มาจากพิมพ์ขนมไหว้พระจันทร์แบบดั้งเดิมของจีน

บ้าน, Lisette Scheers บ้าน, Lisette Scheers บ้าน, Lisette Scheers บ้าน, Lisette Scheers

ลิเซทท์จับทุกอย่างรอบตัวจากชุมชนที่เธอพำนัก เรื่อยไปถึงวัฒนธรรมเอเชียตีความออกมาเป็นลวดลายแพตเทิร์น และจัดวางลงบนเครื่องใช้ต่างๆ ต่อจากของใช้ในบ้านเธอแตกไลน์สู่เสื้อผ้า เดินหน้าเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ครบวงจร Nala ยังมีผลิตภัณฑ์ของเล่น ของขวัญ ที่เกิดจากการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของลิเซทท์ผู้ซึ่งเข้าร่วมแคมเปญ Zero Waste Movement อย่างจริงจังและปฏิบัติตามแนวทางนี้อย่างตั้งใจ เธอตรวจสอบทุกกระบวนการผลิตว่าจะต้องไม่มีอะไรเป็นขยะเหลือใช้ เศษผ้าในห้องตัดผ้าถูกนำมาแปรรูปเป็นของใช้ต่างๆ หลากหลายขนาดและประโยชน์ใช้สอย

เรายังคุยกันเรื่องการทำงานที่บ้านอย่างเห็นพ้องต้องกันว่างานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มันจำเป็นที่ต้องสร้าง Vibe หรือบรรยากาศในการทำงานที่ดีจึงจะคิดงานออก แสงธรรมชาติ ดอกไม้ ใบไม้ การจัดวางเครื่องเรือนในแบบที่ใช่ ช่วยเสริมให้ความคิดลื่นไหล

บ้าน, Lisette Scheers บ้าน, Lisette Scheers บ้าน, Lisette Scheers

ยูชอบนั่งคิดงานมุมไหนในบ้าน? เราถาม บ้านโบราณของเธอสวยโปร่งสบายตาไปเสียทุกมุม เต็มไปด้วยสีสันลวดลายที่ลิเซทท์เล่นสนุกไว้อย่างสมดุล เจ้าของบ้านต้องเลือกยากแน่ๆ เพราะมันดีงามไปหมด แต่ลิเซทท์ตอบทันทีแบบไม่ต้องคิดว่า “ห้องนอน!” และหัวเราะออกตัวว่า “ฉันรู้ว่ามันไม่เหมาะ ห้องนอนเป็นห้องที่ควรมีไว้เพื่อพักผ่อน แต่ฉันคิดงานออกบนเตียงเสมอ”

เตียงเหล็กโปร่งแบบโบราณ ปลอกหมอนแพนโทนเขียวสารพัดลายที่เจ้าของห้องออกแบบเองเข้ากันกับกรอบประตูหน้าต่าง พื้นไม้ ความโปร่งโล่งสวยสว่าง แค่เห็นแวบแรกก็เชื่อแล้วว่าไอเดียเปล่งประกายแน่นอน

บ้าน, Lisette Scheers

งานออกแบบของลิเซทท์แม้มีกลิ่นอายตะวันออก แต่อะไรสักอย่างก็ทำให้เราวูบนึกถึงลวดลายสไตล์สแกนดิเนเวีย บางแวบก็นึกถึงลวดลายบนงานพิมพ์ที่เคยเห็นในเบลเยียม เราบอกลิเซทท์ไปอย่างนั้น เธอจึงเล่าว่า จบการศึกษาจากเมืองแอนท์เวิร์ปและใช้ชีวิตทำงานในบรัสเซลส์นานหลายปี ทำให้การสนทนาเรื่อยไหลไปถึงสถานที่ต่างๆ การผสมผสานของหลากหลายวัฒนธรรมในบรัสเซลส์อย่างออกรส

เราชอบเดินดูสไตล์ไร้สัญชาติในชุมชนกลางบรัสเซลส์ที่วัฒนธรรมแอฟริกันปะทะโปตุกีส ออกมาเป็นสไตล์ไร้สัญชาติเมดอินบรัสเซลส์ เบลเยียมเองเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีส่วนผสมของทั้งดัตช์และฝรั่งเศส เรียกว่าเป็นประเทศที่มีการหลอมรวมความหลากหลายให้อยู่กันได้อย่างกลมกลืน เทคนิคการพิมพ์ วัฒนธรรมการอ่านการเขียนในเบลเยียม น่าทึ่งมาก ทุกเมืองเต็มไปด้วยร้านขายหนังสือ นิตยสารอิสระเบ่งบาน ร้านกาแฟโปรดของเราในบรัสเซลส์ก็น่านั่งอ่านเขียนได้ทั้งวันแบบลืมโลก ทำให้ลิเซทท์นึกขึ้นมาได้และเล่าให้ฟังว่า

“ฉันเคยทำร้านอาหารและคาเฟ่นะ ทำอยู่ 4 ปี มันมีบรรยากาศที่น่าจะเป็นมิตรต่อผู้หญิงจนฉันแปลกใจและดีใจที่มีหญิงสาวมานั่งอ่านหนังสือคนเดียวแยะมาก” ลิเซทท์เคยจับมือกับเพื่อนผู้ชำนาญเรื่องกาแฟเปิดคาเฟ่ในบริเวณเดียวกับโชว์รูมนาลา เป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์ที่สร้างความฮือฮาในกัวลาลัมเปอร์ เราว่าเธอเป็นคนมีพรสวรรค์ในการจัดวางสร้างความเนียนกลืนให้พื้นที่

บ้าน, Lisette Scheers บ้าน, Lisette Scheers บ้าน, Lisette Scheers

ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่านาลากลายเป็นความภาคภูมิใจของสินค้าเมดอินมาเลเซีย ลิเซทท์ทำให้แบรนด์ของเธอมีความเป็นของที่ระลึก (Souvenir) ยุคใหม่ที่มีกลิ่นอายท้องถิ่นเนียนนวลอยู่ในรูปลักษณ์ที่ต้องใจคนรักแฟชั่น สนใจเรื่องราวไลฟ์สไตล์ ที่สำคัญ ผู้คนซื้อหาไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เรื่องราวจากอดีต ประวัติศาสตร์จากภูมิภาคเอเชียใต้แซมแทรกอยู่ทุกอณู

โรงแรมหรู E&O ที่ปีนังคัดสรรผลิตภัณฑ์นาลาไปวางจำหน่าย เช่นเดียวกับร้านแนวมัลติแบรนด์สโตร์ในฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม และสวิตเซอร์แลนด์ ถูกใจลูกค้าสมัยนี้ที่ชื่นชอบแบรนด์ที่มีความทับซ้อนทางวัฒนธรรมแบบถูกนำมาคิดตีความใหม่ โดยใช้ทักษะการออกแบบ มุมมอง การสร้างเรื่อง ที่นักออกแบบประณีตคิดสร้างสิ่งใหม่ในแบบของตน จนเกิดความยั่งยืน เนียนกลืนกับงานดีไซน์อันออกมาไร้สัญชาติ ตอบโจทย์ยุคสมัยที่โลกหลอมรวม พรมแดน เชื้อชาติ วัฒนธรรม ละลายเข้ากันจนแยกออกยาก เป็นแนวคิดในการสร้างตัวตนใหม่ สร้างผลงาน สร้างแบรนด์ ที่เราน่าจะเห็นมากขึ้นต่อไปใน ค.ศ. 2019 นี้

ลีเซทท์ เชียร์ส์ เพิ่งพา NALA มาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในบ้านเราเมื่อวันที่ 1 พฤจิกายนที่ผ่านมา ในรูปแบบ Shop in Shop อยู่ในเซ็นทรัลชิดลม เธอยกเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์มาหลายชิ้นที่ให้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนเราไปเยือนมุมหนึ่งในบ้านของเธอที่มาเลเซีย อบอุ่น สนุก สบาย และสดชื่นด้วยลายพรินต์ที่สวยสดใสแฟชันเนเบิล และกำลังจะเปิดตัวในห้างเซ็นทรัลอีกหลายสาขา ติดตามคอลเลกชันใหม่ๆ และไลฟ์สไตล์ของนักผสมผสานวัฒนธรรมลงในงานออกแบบคนนี้ได้ที่อินสตาแกรม @Naladesigns หรือ www.naladesigns.com

Writer & Photographer

Avatar

พลอย จริยะเวช

เจ้าแม่ไลฟ์สไตล์และ Concept Designer มากความสามารถชื่อดัง ซึ่งเป็นทั้งนักเขียน Artist Writer นักแปล คอลัมนิสต์ และนักวาดมืออาชีพ ผู้มีผลงานออกแบบวางจำหน่ายในงานแฟร์ของตกแต่งที่ดีที่สุดในโลก