“เดือน 11 มากินทุเรียนบ้านเราไหม” เป็นข้อความทางไลน์จากเพื่อนสมัยมัธยมปลายที่ห่างหายกันไปไม่ต่ำกว่า 10 ปี คำถามแรกเมื่อฉันได้เห็นข้อความคือ บ้านเพื่อนคนนี้อยู่แห่งใด และสงสัยว่า ทำไมทุเรียนไปออกลูกตั้งเดือนพฤศจิกายน
เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ฉันจึงกล้าตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบิน เพื่อบินลัดฟ้าไปเยี่ยมเพื่อน (จริง ๆ คือจะไปกินทุเรียน) ทริปนี้ฉันจะพาไปท่องเที่ยวในอำเภอเมืองและอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ฉบับเจ้าถิ่นพาเที่ยวนะคะ
“ดีใจมากเลยที่เธอมา พ่อแม่เราชอบให้เพื่อนมาเที่ยวบ้าน เธอชอบกินทุเรียนมากใช่ไหม” และคำถามอีกมากมายที่มิตรสหายของฉันถามรัว ๆ จนนางลืมแนะนำสามีผู้เป็นสารถีขับรถมารับที่สนามบินนครศรีธรรมราช ส่วนฉันเองก็ลืมแนะนำคนข้างกายเช่นกัน เรามารู้ตัวอีกทีก็ตอนคุณพี่สารถีถามถึงร้านที่จะไปทานมื้อเช้า
ลักกี้ติ่มซำ
“พามาร้านนี้เหรอ คนเยอะดี เราเห็นตอนที่หาข้อมูลจากกูเกิล” ฉันถามเจ้าถิ่นทั้งสองขณะที่รถแล่นผ่านร้านติ่มชำที่เป็นหนึ่งในร้านขึ้นชื่อของเมืองคอน “เปล่า เราจะพาไปอีกร้าน อร่อยไม่แพ้กัน” เจ้าถิ่นพูดแบบนี้ ผู้มาเยือนอย่างเราแอบคาดหวังละนะ
เจ้าถิ่นทั้งสองแย่งกันนำเสนอเมนูเด็ด อันได้แก่ ขนมจีบกุ้ง ขนมจีบคั่วกลิ้ง ขนมจีบลาบหมู เราซึ่งรับบทผู้มาเยือนก็คล้อยตามโดยสั่งเมนูเหล่านั้นทันที

บรรยากาศภายในร้านมีลูกค้านั่งเต็มเกือบทุกโต๊ะ มองด้วยสายตาและฟังจากการพูดคุยแล้ว ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่มากกว่านักท่องเที่ยว จึงเป็นการทานมื้อเช้าเคล้าสำเนียงแหลงใต้ที่น่ารักอบอุ่น โดยเฉพาะขั้นตอนการชำระเงินที่ทั้ง 2 ทีมต่างแย่งกันจ่าย ศึกแย่งชิงนั้นสงบลงได้เมื่อเจ้าของร้านรู้ว่าฉันเป็นผู้มาเยือน แกจึงเลือกรับเงินจากทีมเจ้าถิ่นแทน พร้อมกล่าวว่า “ดีใจที่มาเที่ยว ให้เจ้าถิ่นเขาเลี้ยง กินให้อร่อย เที่ยวให้สนุกไปเลย” พร้อมเสียงหัวเราะดังลั่นของพวกเราทั้งโต๊ะ แน่นอน เราปฏิบัติตามทันที
วัดพระมหาธาตุราชวรมหาวิหาร หรือ วัดพระธาตุ
นี่เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ฉันตั้งเป้าหมายไว้ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมา แม้ครั้งนี้จะไม่ได้มาร่วมประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุซึ่งถือเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สำคัญของวัดนี้ แต่ก็ปลื้มปีติที่ได้มาสัมผัสความยิ่งใหญ่ของประเพณีนี้


ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของนครศรีธรรมราชเป็นสถานที่ที่นักเดินเรือใช้หลบมรสุม จึงกลายเป็นจุดสำคัญในการแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นสินค้า ศาสนา หรือวัฒนธรรมของทั้งอินเดียและจีน จึงไม่แปลกใจที่จะพบหลักฐานของพราหมณ์-ฮินดู นิกายมหายานจากจีน และนิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์
ฉันขนลุกเมื่อได้เห็นชื่อ ‘อาณาจักรตามพรลิงค์’ ที่เราเคยเรียนสมัยเด็ก ๆ นับว่านครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรนี้ซึ่งเป็นรัฐโบราณสำคัญแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ข้อมูลเหล่านี้เจ้าถิ่นทั้งสองไม่ได้กล่าวไว้ แต่ฉันอ่านมาจากอินเทอร์เน็ตก่อนเดินทางมาเมืองคอน
พวกเราซื้อมังคุดเสียบนั่งทานเล่น เป็นของขึ้นชื่อของเมืองคอนซึ่งไม่ได้หาทานได้ทั้งปี แล้วจึงเข้าไปสักการะพระธาตุ

Kopi Roaster Specialty coffee
ไหว้พระขอพรเสร็จและคุยกันจนคอแห้ง พวกเราจึงเลือกเดินข้ามถนนมาหาที่นั่งทานน้ำกันก่อน ระหว่างข้ามถนน สายตาของฉันเหลือบไปเห็นสัญลักษณ์คล้ายเลขหนึ่งไทยประดับอยู่บนเสาไฟบนถนน เมื่อถามเจ้าถิ่นทั้งสองก็ได้รับคำตอบว่า “มันเป็นสัญลักษณ์ที่มีมานานตั้งแต่โบราณแล้ว แต่ชื่อเรียกติดอยู่ที่ปาก” ฉันว่ากูเกิลมีคำตอบ แต่สุดท้ายฉันก็ได้รับคำตอบจากอีกสถานที่หนึ่งแทน (จะเป็นที่ไหน คอยติดตามกันนะคะ)
Kopi Roaster โดดเด่นเรื่องการคัดเลือกวัตถุดิบและกระบวนการการผลิต เพื่อให้ได้เครื่องดื่มที่ถูกใจลูกค้า และยังมีเรื่อง ‘จิบกาแฟ แลพระธาตุ’ เป็นอีก 1 จุดขายด้วย

สวนทุเรียนทวาย
“มีเปลี่ยนแผนนิดหน่อยนะ สามีเราต้องเข้าไปคุมการตัดทุเรียนเพราะเด็กตัดไม่ทัน แล้วมื้อเย็นที่จะไปทานอาหารแบบ Chef’s Table ก็ไม่ได้ไปแล้วนะ เชฟติดธุระ” เพื่อนฉันแจ้งเปลี่ยนกำหนดการด้วยน้ำเสียงเสียดายและเกรงใจ
“ไม่เป็นไรเลย สบายมาก ว่าแต่เชฟไปไหนเหรอ” ฉันตอบกลับและถามด้วยน้ำเสียงสบาย ๆ
“เชฟไปช่วยตัดทุเรียน” เพื่อนตอบ
“เดี๋ยวนะ เชฟมีสวนทุเรียนด้วยเหรอ” ฉันถามกลับด้วยความสงสัย
“เปล่า เชฟไปช่วยเฉย ๆ ช่วยแบบไม่คิดค่าแรง” เพื่อนตอบกลับด้วยน้ำเสียงที่เป็นเรื่องปกติของคนที่นี่ ทำให้ฉันนึกถึงประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวของชาวอีสาน พอถึงฤดูกาลเกี่ยวข้าว เพื่อนบ้านก็จะไปช่วยกันเกี่ยวข้าว แต่ที่นี่ก็คงเป็นลงแขกเก็บทุเรียนสินะ


ด้วยความที่เปลี่ยนแผน ทุกสายตาในสวนทุเรียนจึงจับจ้องมาที่ผู้หญิงเสื้อขาว นุ่งกระโปรงบานสีน้ำตาลยาวเกือบถึงตาตุ่ม สวมหมวกสีขาวเดินเล่นในสวนทุเรียน ใช่ค่ะ ดิฉันเอง

การปลูกทุเรียนของอำเภอพรหมคีรี เป็นการปลูกนอกฤดูกาลที่เรียกว่า ‘ทุเรียนทวาย’ อำเภอนี้มีข้อได้เปรียบเรื่องสภาพที่ตั้ง จึงทำให้มีสภาพอากาศและดินที่ปลูกทุเรียนทวายออกมาได้ดี ส่งผลให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ราคาดี ส่วนใหญ่จะตัดทุเรียนเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน โดยมีพ่อค้าชาวจีนวางเงินจองล่วงหน้าและมาควบคุมการตัดทุเรียนถึงสวน เราจึงจะเห็นร่องรอยการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนเกลื่อนอยู่ใต้ต้น โดยกรีดเช็กเนื้อทุเรียนอยู่เป็นระยะ
เดินเล่นในสวนทุเรียนจนเริ่มหิว เจ้าถิ่นทั้งสองก็พาเดินกลับมายังจุดรวมพล ระหว่างทางพวกเราสวนกับรถกระบะคันหนึ่ง คนขับตะโกนทักทาย ท้ายรถบรรทุกทุเรียนเต็มทุกตะกร้า มีเด็กน้อยอายุประมาณ 9 ขวบใส่เสื้อโปโลสีน้ำเงินนั่งยิ้มแป้นแก้มแดงจากอากาศร้อนยกมือสวัสดีพวกเรา เด็กคนนั้นคือลูกชายคนโตของเจ้าถิ่นนั่นเอง “ได้ออกมาสวน สนุกเขาล่ะ” เพื่อนของฉันตอบด้วยน้ำเสียงภูมิใจ เพราะแอบคาดหวังว่าลูกชายคนนี้จะสืบทอดการทำสวนจากพ่อแม่ เหมือนที่เพื่อนของฉันสืบทอดต่อมาอีกที

เราเติมมื้อกลางวันลงท้องด้วยฝีมือทำกับข้าวของคุณพ่อคุณแม่เพื่อน รสชาติจัดจ้านสมกับเป็นอาหารใต้มาก ๆ พวกเรานั่งทานรวมกับทีมงานที่มาตัดทุเรียน เป็นความน่ารักของเจ้าของสวนที่ทำกับข้าวเผื่อแผ่ให้อิ่มท้องกันทุกคน และปิดท้ายด้วยภารกิจของฉัน นั่นคือ การกินทุเรียน
HOBBY CAFE
เสร็จภารกิจหลักจากสวนทุเรียน พวกเรามานั่งหลบแดดในร้านกาแฟ HOBBY CAFE ที่เจ้าของร้านทำเป็นงานอดิเรก ร้านนี้ลูกชายรับบทเป็นบาริสต้า ส่วนคุณแม่ช่วยรับลูกค้าและทำกับข้าว
ถึงแม้ชื่อร้านจะแปลเป็นไทยว่า ‘งานอดิเรก’ แต่ไม่ใช่ว่าเปิดมาแบบไม่จริงจัง เพราะอีกความหมายของคำนี้ คือการได้มีเวลาทำในสิ่งที่ชอบ นั่นหมายถึงคนทำจะต้องใส่ใจและรักมัน ซึ่งฉันสัมผัสถึงสิ่งเหล่านี้ได้ผ่านทั้งการตกแต่งร้าน เครื่องดื่ม การต้อนรับ และมิตรไมตรีที่ยินดีมอบให้กับคนต่างถิ่น

พอคุณแม่เจ้าของร้านรู้ว่าพวกเราเดินทางมาเที่ยว ก็กุลีกุจอไปหยิบคั่วแห้งแกงไตปลาสำเร็จรูปยื่นให้ฉัน 2 กระปุกด้วยสายตาอบอุ่นเสมือนญาติเอาของฝากให้ตอนเราไปเยี่ยม “ทานเป็นรึเปล่า ลองทานดูนะ อร่อยแล้วค่อยกลับมาซื้อ โทรสั่งซื้อก็ได้” โอ้ยยย คุณแม่ขา ใจละลายแล้วค่ะ
วัดเขาขุนพนม
“ก่อนไปวัด พาเราแวะซื้อยาหน่อยนะ เราอยากนำไปถวายสังฆทาน” ฉันแจ้งความประสงค์กับเพื่อนซึ่งตอนนี้รับหน้าที่เป็นสารถีแทนสามีแล้ว เพราะพี่เขาต้องไปคุมการตัดทุเรียน


พวกเราแวะซื้อยาที่ร้านขายยา ก่อนจะเดินทางไปวัดเขาขุนพนม พอเดินทางมาถึงก็มีไกด์สาวตัวน้อยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเดินนำไปยังกุฏิเจ้าอาวาส แล้วฉันก็งงเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าอาวาสทักทายเพื่อนของฉัน ถามถึงสารทุกข์สุกดิบของพ่อแม่ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เธอบอกว่าไม่ได้มาวัดนี้นานมากแล้ว
“ร้านขายยาเป็นอีกกิจการหนึ่งของบ้านเรา ร้านแม่เราเป็นร้านขายยาเจ้าแรก ๆ ในอำเภอพรหมคีรี ตอนนี้ไม่ค่อยได้กำไรหรอก คู่แข่งก็เยอะทั้งรายเล็กและรายใหญ่ แต่ทำไปเพราะอยากสืบทอดกิจการของแม่ และเราก็ยังมีลูกค้าเก่า ๆ ที่ยังต้องดูแลอยู่” แน่นอน หนึ่งในนั้นคือเจ้าอาวาสวัดนี้
ถวายสังฆทานเสร็จ ไกด์สาวตัวน้อยพาเราจุดธูปเทียนสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนจะเดินขึ้นบันไดนาคเพื่อไปยังถ้ำที่สันนิษฐานว่าพระองค์เคยมาผนวชเพื่อถือศีลและพำนัก

ตรงหัวบันไดนาคที่มีรูปปั้นเศียรนาค 7 เศียรแผ่พังพาน ฉันสะดุดตากับสัญลักษณ์คุ้นตาที่เคยถามเพื่อนเมื่อช่วงเช้าตอนข้ามถนนหน้าวัดพระธาตุ
“หัวนะโมค่ะ มีความเชื่อว่าป้องกันอันตราย โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บได้” ไกด์ตัวน้อยอธิบายด้วยน้ำเสียงคล่องแคล่วและมั่นใจ

คณะเราเดินขึ้นมาถึงบริเวณถ้ำแต่ประตูปิด อาจเพราะเป็นเวลาเย็นมากแล้ว พวกเราจึงยืนชมวิวบริเวณหน้าปากถ้ำเพื่อพักเหนื่อย แล้วจึงเดินลงมาหาเช่าหัวนะโม วัตถุมงคลกลับไปบูชา
คุ้งนอกท่ารีสอร์ท
พวกเราหลับสบายที่คุ้งนอกท่ารีสอร์ท เป็นรีสอร์ตของคนท้องถิ่นที่เคยเป็นพนักงานประจำบริษัทดัง (มาก) แห่งหนึ่ง แถมมีโอกาสได้เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ แต่สุดท้ายก็เลือกกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด

“รับเป็นอเมริกาโน่ร้อนไหมคะ กาแฟของเราปลูกเอง คั่วเองนะคะ” เสียงเชื้อเชิญให้พวกเราลองดื่มกาแฟของรีสอร์ตที่เสิร์ฟพร้อมกับอาหารเช้า เราเชื่อโดยสนิทใจว่าเขาคั่วเอง เพราะเจ้าของตั้งเตา กระทะ และมีเมล็ดกาแฟวางอยู่ตรงมุมรีสอร์ต ทีแรกถ้าไม่สังเกตก็นึกว่าจัดไว้สำหรับให้ผู้มาพักถ่ายรูปเท่ ๆ แต่เมื่อสังเกตดี ๆ จะพบว่ามีร่องรอยการใช้งานจริงอยู่
พวกเรานั่งคุยกันถึงสารทุกข์สุกดิบอย่างออกรสบริเวณริมลำธารภายในรีสอร์ต ฉันสงสัยว่าทำไมเพื่อนเลือกไปเรียนในกรุงเทพมหานครโดยอาศัยอยู่กับญาติ และเหตุใดจึงตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเกิด
“เราชอบอยู่กรุงเทพฯ เพราะมันมีโอกาสเยอะกว่าอยู่ต่างจังหวัด แต่พอมานึก ๆ ดู บ้านเราก็มีกิจการที่พ่อแม่สร้างเอาไว้ ทีแรกเราก็ไม่คิดจะทำสวนทุเรียนหรอก เพราะไม่มั่นใจว่าจะทำได้ไหม แต่โชคดีที่สามีเรารักการทำเกษตรกรรม เลยมีทั้งกำลังใจและกำลังกายในการพัฒนาสวนทุเรียนของพ่อให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น”
ตลาดเช้า
ฉันอยากสัมผัสบรรยากาศความเป็นชาวพรหมคีรีมากขึ้น พวกเราจึงออกมาเดินเล่นในตลาดเช้าและซื้อของกินเพิ่มเติม ภายในตลาดมีผู้คนมากมายออกมาจับจ่ายใช้สอย มีสินค้าและอาหารของทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิม ผู้คนเดินผ่านและทักทายกัน ดูแล้วเหมือนพวกเขารู้จักกันเกือบทั้งตลาด หลักฐานที่ชัดเจนใกล้ตัวก็คือเพื่อนของดิฉันเองนี่ล่ะค่ะ ที่ต้องหยุดทักทายผู้คนจำนวนมากตลอดทาง เราจึงใช้เวลาในตลาดนี้นานสักหน่อย เพราะต้องรอเพื่อนดิฉันพูดคุยเมาท์มอยกับผู้คน ฉันก็ฟังพวกเขาคุยกันด้วยสำเนียงแหลงใต้เพลิน ๆ


น้ำตกพรหมโลก
“ที่สุด” คือคำเดียวที่สามีเพื่อนดิฉันใช้บรรยายความสวยงามของน้ำตกพรหมโลก ฉันแอบคิดในใจว่า เอาอะไรมามั่นใจขนาดนั้นคะคุณ แต่พอมายืนตรงจุดนี้ ฉันก็ยอมรับในความสวยที่แตกต่างจริง ๆ
ทุกท่านคิดภาพตามนะคะ ภาพตรงหน้าเป็นลานหินกว้าง (มาก) มีกระแสน้ำไหลลงมาบนแผ่นหิน ทั้ง 2 ข้างมีต้นไม้นานาพรรณที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ แต่ไม่ได้บดบังความยิ่งใหญ่ของน้ำตก เราจึงมองเห็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่ไหลผ่านชั้นต่าง ๆ ได้ครั้งละ 2 ชั้น ขึ้นอยู่กับจุดที่เรามอง ต่างจากน้ำตกทั่วไปที่มองเห็นได้แค่ทีละชั้น

Chef’s Table
พวกเราแวะไปสวนอาหารก่อน เพราะด้านหลังเป็นสวนทุเรียนอีกแห่งของเพื่อนฉัน สถานที่นั้นทำให้เราได้พบกับเชฟผู้ไปร่วมลงแขกตัดทุเรียน เขากำลังช่วยขนทุเรียนเช่นเคย แต่อยู่ ๆ ก็เอ่ยถามถึงไฟล์ตขากลับของฉัน และแจ้งข่าวดีกับฉันว่า “น่าจะทันนะ งั้นเย็นนี้มาทานมื้อเย็นก่อนขึ้นเครื่องแล้วกัน” ฉันอยากจะกระโดดกอดเชฟเลยค่ะ
ท่ามกลางต้นไม้ใบหญ้าสีเขียวขจีซึ่งทำหน้าที่เป็นแบ็กกราวนด์ให้บ้านไม้หลังเล็ก ๆ ชั้นล่างเปิดโล่งเพื่อให้ลมพัดผ่าน ฉันนอนเอกเขนกอยู่ในเปลญวนอย่างสบายอารมณ์ ตรงหน้าเป็นเชฟที่กำลังใช้กระบอกไม้ไผ่เป่าตรงใต้เตาถ่านเพื่อก่อไฟ ส่วนอีก 3 ชีวิตก็พักผ่อนตามอัธยาศัย เพื่อรอลิ้มรสฝีมือการทำอาหารของเชฟ ซึ่งเชฟไม่บอกเราก่อนว่าจะทำเมนูอะไร ฉันเดาได้แค่ว่าต้องเกี่ยวกับปลา เพราะเห็นเชฟหยิบปลาอินทรีตัวใหญ่มากที่ได้มาจากการออกเรือมาแล่อย่างชำนาญ เราจึงต้องรอคอยอย่างลุ้น ๆ นี่คงเป็นอีกหนึ่งสีสันของการทานแบบ Chef’s Table หรือตามใจเชฟสินะ
ฉันนอนมองการเคลื่อนไหวของเชฟเพลิน ๆ แล้วเมนูแรกก็รังสรรค์ขึ้นมาเรียบร้อย เป็นปลาลวกที่เนื้อปลาสดมาก เสิร์ฟพร้อมกับน้ำจิ้มซีฟูดสุดจัดจ้าน ตามมาด้วยปลาทอดที่มีขมิ้นโอบกอด ทานคู่กับข้าวที่หุงจากหม้อดิน ผัดกับขมิ้นและกระเทียมเจียวอร่อยสุดฟินไม่เคยกินมาก่อน ตามมาติด ๆ ด้วยต้มยำปลาน้ำใส ผัดปลาอินทรี น้ำพริกระกำทานกับผักสด ๆ และอื่น ๆ อีกมากมายที่พวกเรานำลงกระเพาะอย่างไม่ขาดสาย


“กดดันนะเนี่ย เวลาน้อยมาก ปกติทำไปเรื่อย ๆ ยาว ๆ ถึง 5 ทุ่มเลย” เชฟแอบบ่นกับพวกเราด้วยรอยยิ้มและทำหน้าเขิน ๆ เพราะมีเรื่องไฟล์ตบินที่ต้องไปให้ตรงเวลา ดูจากภายนอกก็สัมผัสได้ค่ะว่าเชฟกดดัน เหงื่อแตกพลั่ก ๆ เลย
“เชฟอยู่หน้าเตา เขาร้อน เหงื่อเลยแตก” เสียงคนข้างกายบอกฉัน
พวกเราสนุกสนานกับการทานอาหารที่ยกให้เป็นหน้าที่ของเชฟ โดยที่เราไม่ต้องใช้พลังในการคิดว่าอยากกินอะไร ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็เป็นปัญหาโลกแตกเหมือนกันนะ โดยเฉพาะเมื่อเราถามว่า “กินอะไรดี” และได้รับคำตอบว่า “อะไรก็ได้” เพื่อน ๆ ว่าจริงไหมคะ ฮ่า ๆ
“จะกลับแล้วเหรอ ยังไม่ถึงครึ่งเลย เตรียมของหวานเป็นทุเรียนมะพร้าวไว้ด้วย” เชฟร้องบอกเมื่อได้ยินพวกเรากำลังจะกลับ พร้อมทั้งชี้ให้พวกเราดูลูกมะพร้าวกับทุเรียนที่เตรียมไว้ทำของหวานตบท้าย
พวกเราเสียดายมาก แต่ก็ตกเครื่องไม่ได้จริง ๆ ไว้โอกาสหน้าเราจะมาชิมฝีมือเชฟแบบไม่กดดัน
“ต้องมาสักอาทิตย์หนึ่งนะ มาสแตนด์บายรอว่าเชฟจะว่างหรือจะมีอารมณ์ทำให้วันไหน” เพื่อนของฉันแซว
พวกเรากล่าวขอบคุณและกล่าวลาเชฟผู้ที่ยังคงทำหน้าเสียดายที่ยังไม่ได้แสดงฝีมือให้คนต่างถิ่นอย่างฉันลิ้มลองจนครบทุกเมนู
“เธอว่าเราจะส่งลูกไปเรียนกรุงเทพฯ ดีไหม” พอจบประโยคคำถามนี้ของเพื่อน พวกเราหัวเราะดังลั่นและกล่าวคำลาพร้อมคำขอบคุณซึ่งกันและกัน ขอบคุณคำทักทาย รอยยิ้ม และน้ำใจที่มอบให้คนต่างถิ่นทั้งสองตลอดการเดินทาง โดยเฉพาะคั่วแห้งแกงไตปลา เข้มข้นถึงขั้ว แค่ทานกับข้าวสวยร้อน ๆ ก็ฟินได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องใช้ตัวช่วยใด ๆ
Write on The Cloud
Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ