“ลำปางหนาวมาก” คือคำนิยามของลำปางที่ชินปากมานาน 

นี่ไม่เถียงเลยว่าหนาวจริง (ส่วนกลางวันก็ร้อนจริง)

ลำปางสำหรับคนอื่น คือจังหวัดภาคเหนือที่เงียบสงบ มีรถม้า มีชามตราไก่

ลำปางสำหรับเรา คือสถานีนครลำปาง โรงรถจักร สะพานดำ ชานชาลามีต้นไม้ และตัดตู้รถไฟก่อนขึ้นดอยขุนตาล

สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ
สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ

การพัฒนาและเจริญเติบโตของจังหวัดลำปางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่เส้นทางรถไฟสายเหนือที่ทอดยาวจากกรุงเทพฯ ผ่านอยุธยา ปากน้ำโพ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ข้ามเขาลูกแล้วลูกเล่าจนมาถึงนครลำปาง เมืองเก่าแก่โบราณที่ตั้งอยู่ในที่ราบระหว่างเทือกเขา 

ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองลำปาง เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟนครลำปางซึ่งเป็นสถานีประจำจังหวัด 

ชื่อ ‘นครลำปาง’ เป็นชื่อเก่าแก่ที่เรียกขานจังหวัดลำปางมาตั้งแต่โบราณ 

การใช้คำว่า นครลำปาง ไม่ใช่ ลำปาง นั้นเป็นเพราะชื่อเมืองบริวารต่างๆ เช่นเดียวกับนครน่าน และเป็นการเรียกขานก่อนเริ่มใช้ ‘จังหวัด’ อย่างมาตรฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่านครลำปางเป็นชื่อเฉพาะ ไม่ใช่การขยายว่าเป็นเมืองแต่อย่างใด

สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ

สถานีนครลำปางเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 ในช่วงรัชกาลที่ 6 นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการคมนาคมของลำปางเป็นอย่างมาก 

อาคารสถานีเป็นอาคารสองชั้นที่มีกลิ่นอายของล้านนาและยุโรปแบบบาวาเรียนคอทเทจ (Bavarian Cottage) ออกแบบโดย เอิรสท์ อัลท์มันน์ (Mr. Ernst Altmann) วิศวกรชาวเยอรมนี ชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูนใช้ระบบคานโค้ง (Arch) 4 ช่วง ขนาบด้วยโค้งช่วงเล็กประกบทั้งสองฝั่งเป็นรูปแบบนีโอคลาสสิก (Neoclassic) ชั้นบนสร้างด้วยไม้มีกรอบเป็นโครงสร้างสี่เหลี่ยมมีไม้ยึดยันแนวทแยงเสริมเป็นช่วงๆ ไม่ให้อาคารโยก ซึ่งนี้เป็นเทคนิคด้านโครงสร้างที่เด่นมากจากฟากเยอรมนี นอกจากนั้นยังมีการกรุใต้ไม้ฝาตีตามแนวนอน และอวดโครงสร้างกรอบเป็นรูปแบบฮาล์ฟทิมเบอร์ (Half Timber) อีกด้วย

สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ
สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ
สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ

หลังคาของสถานีเป็นทรงปั้นหยาผสมจั่วซ้อนชั้นคล้ายหลังคาตามสถาปัตยกรรมล้านนา ราวระเบียงและช่องแสงเหนือประตูหน้าต่างประดับด้วยช่องปรุไม้แกะสลักลวดลายเลียนแบบศิลปะล้านนา ที่โดดเด่นมากๆ และมองไปทางไหนก็เห็น คือลายแจกันหรือหม้อปูรณฆฏะผสมลายเครือเถา ประดับช่อดอกไม้ม้วนขมวดเป็นวงตามแบบที่พบได้ตามวัดล้านนา ซึ่งเป็นฝีมือช่างที่ประณีตและละเอียดเป็นอย่างมาก

สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ
สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ

บนหน้าจั่วของอาคารชั้นบนมีตัวเลขพุทธศักราช 2458 และคริสตศักราช 1915 ซึ่งเป็นปีสร้างอาคารเป็นตัวนูนออกมา โดยฝั่งที่หันไปทางกรุงเทพฯ เป็นคริสตศักราช และฝั่งที่หันไปทางเชียงใหม่เป็นพุทธศักราช

สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ
สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ

ด้านหน้าสถานีมีรถจักรไอน้ำ C-56 หมายเลข 728 ซึ่งเป็นรุ่นที่นำมาใช้งานตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยญี่ปุ่นขนข้ามน้ำข้ามทะเลมา และเมื่อสงครามสงบเขาก็ไม่ได้เอากลับไป ทิ้งรถส่วนใหญ่ไว้ให้เราใช้เพื่อทดแทนรถจักรที่เสียหายจากสงครามในยุคนั้น ซึ่งหมายเลข 728 ก็ได้เกษียณอายุที่นี่ในฐานะรถจักรสับเปลี่ยน และได้ถูกประกาศเกียรติคุณอยู่ด้านหน้าสถานีรถไฟเหมือนเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่ต้อนรับผู้มาเยือน

สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ
รถจักรไอน้ำ C-56 หมายเลข 728

ที่น่าสนใจคือการวางตัวอาคารและชานชาลาที่กว้างขวาง รองรับการใช้งานที่มีปริมาณมากทั้งการโดยสารและสินค้า ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสถานีรถไฟที่เป็นสถานีหลัก ภาพเก่าของสถานีนครลำปางในสมัยที่ยังไม่มีหลังคาคลุมชานชาลานั้น พบว่าชานชาลาโรยด้วยหินขนาดเล็ก พื้นที่เปิดโล่ง และด้านหลังสถานีเป็นถนนเข้าสู่ย่านเมืองเก่า

หลังคาคลุมชานชาลาด้านหน้าอาคารไม่เด่นชัดว่ามาประกอบเข้าช่วงไหน แต่ที่น่าสังเกตคือมันดูแตกต่างกัน โดยตรงกลางเมื่อเราเดินออกมาจากโถงขายตั๋ว โครงหลังคาเป็นเหล็กถักแบบ Truss คลุมตั้งแต่ตัวอาคารจนถึงปลายชานชาลา แต่พอเขยิบออกไปทางเหนือและทางใต้ที่เป็นโครงหลังคาคลุมเฉพาะชานชาลา เป็นไม้และรางเหล็กที่ก่อตัวกันเป็นคาน หลังคาชานชาลาตรงกลางที่นี่มันแปลกกว่าที่อื่นแหละ มันไม่ได้ถูกสร้างและติดตั้งที่นี่มาตั้งแต่แรก แต่ถูกยกมาจากสถานีแปดริ้ว (คนละสถานีกับฉะเชิงเทรานะ) แล้วมาประกอบใหม่ใช้งานที่สถานีนครลำปางจนปัจจุบัน 

เป็นหลังคาที่เดินทางมาไกลจากฉะเชิงเทรา แถมเป็นการใช้ของเก่าอย่างคุ้มค่าทีเดียว

สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ
สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ

อีกความน่าสนใจของสถานีนครลำปางคือชานชาลาระหว่างทางที่ 1 และทางที่ 2

ปกติแล้วหากสถานีใดมีชานชาลาที่คั่นไว้ระหว่างทางรถไฟ ถ้าไม่ปล่อยเปลือยก็จะมีหลังคาคลุม แต่ที่
นครลำปางปลูกต้นไม้ยาวไปตลอดตั้งแต่ด้านทิศเหนือถึงด้านทิศใต้แทน ทำให้ชานชาลาที่นี่มีความร่มรื่น นั่งรอรถไฟก็เย็นสบาย มีลมโกรกเบาๆ และนอกจากนั้นก็ยังมีเมืองจำลองเล็กๆ อยู่บนชานชาลา ซึ่งเป็นสถานที่น่าสนใจของลำปางอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นหอนาฬิกา อุโมงค์ขุนตาน วัดเจดีย์ซาวหลัง พระธาตุลำปางหลวง วัดม่อนพญาแช่ รวมถึงรถม้าที่เป็นสัญลักษณ์ของลำปางอีกด้วย 

สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ
สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ
สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ

แน่นอนว่า ที่เด่นที่สุดบนชานชาลาคือ ‘ไก่ขาว’

ไก่ขาวแห่งนครลำปาง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์จริงๆ ของลำปางเลยล่ะ เครื่องหมายตราประจำจังหวัดลำปางนั้นมีรูปไก่ขาวเป็นสัญลักษณ์ สำคัญยืนอยู่ในซุ้มมณฑปพระธาตุลำปางหลวง หมายถึง ‘ไก่เผือก’ เป็นสัญลักษณ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยเมืองกุกกุฏนคร (ตำนานเมืองลำปาง) 

ตามตำนาน ไก่ขาวถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่มาจากกุกกุฏนคร ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของลำปางแปลว่าเมืองไก่ขัน ตำนานเล่าไว้ว่า เมื่อครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับ ณ เมืองลำปาง พอพระอินทร์รู้ข่าวเข้า ก็เลยแปลงร่างเป็นไก่ขาวเพื่อขันปลุกพระพุทธเจ้าให้ตื่นขึ้นมาปฏิบัติภารกิจ แล้วก็ยังเป็นห่วงชาวลำปางอีกด้วยว่าจะตื่นขึ้นมาใส่บาตรไม่ทัน ก็เลยขันปลุกชาวบ้านให้ตื่นมาหุงหาอาหารเตรียมใส่บาตรซะเลย นั่นก็คือตำนานของไก่ขาวลำปางที่เราจะเห็นได้ทั่วไปในเมือง ทั้งสถานีรถไฟ สะพานรัษฎาภิเษก หรือตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงชามตราไก่อันลือชื่อ

สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ
สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ

สำหรับแฟนรถไฟ สถานีนครลำปางมีสิ่งหนึ่งที่เราต้องเยี่ยมทุกครั้งที่มาเยือน ‘ป้าดา’ ขาใหญ่คุมนครลำปาง

ไม่ใช่คนนะ แต่เป็นหัวรถจักรรถไฟรุ่นหนึ่ง 

นั่นคือรถจักรดีเซลไฟฟ้าดาเวนพอร์ท ขนาด 500 แรงม้า ที่เหลือใช้งานอยู่ไม่กี่คันในประเทศ และแฟนๆ รถไฟเรียกรถจักรรุ่นนี้ด้วยความเคารพประหนึ่งคนในครอบครัวว่า ‘ป้าดา’ 

ดาเวนพอร์ท (Davenport) เป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้าขนาดเล็กน่ารักตะมุตะมิ ถือกำเนิดที่สหรัฐอเมริกาแล้วรอนแรมมาทำงานที่แดนไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ลักษณะเด่นคือมีความยาวของรถจักรที่สั้นกว่ารถอื่นๆ และด้านหน้ากับด้านหลังไม่เหมือนกัน ด้านหน้ารถฝั่งห้องขับหลักโค้งมน มีหน้าต่าง 3 บาน พร้อมลวดลายเป็นรูปตัว V ที่คาดหน้าไว้ ส่วนอีกด้านหน้าตาดูละม้ายคล้ายหัวกะโหลกพอตัว เวลาใช้งานจริงแต่ก่อนนั้นสามารถเอารถจักรดาเวนพอร์ท 2 คันมาต่อกันและช่วยกันลากกันดันก็จะได้กำลังม้าที่ 1,000 แรงม้า

ป้าดาไม่ได้ทำหน้าที่ลากรถไฟไกลๆ อย่างแต่ก่อนแล้ว ด้วยความชราของป้าที่สังขารนั้นคงเดินเล่นได้แค่รั้วบ้าน ชีวิตสดใสหลังวัยเกษียณของป้าดาคือการสับเปลี่ยนขบวนรถไฟโดยสาร หรือรถน้ำมันในย่านสถานีนครลำปางเป็นกิจวัตรในทุกเช้าและเย็นจนเป็นภาพชินตา นอกจากนั้นแล้วในช่วงวันเด็กป้าดาก็จะลากตู้รถไฟสั้นๆ พาเด็กๆ และผู้ปกครองนั่งเล่นจากสถานีนครลำปางไปสะพานข้ามแม่น้ำวังที่ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตรด้วย 

สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ

แม้ว่าสถานีนครลำปางจะเป็นเพียงแค่สถานีหรือเมืองที่อยู่ระหว่างทาง และอาจจะไม่ได้มีใครเลือกที่จะเป็นหมุดหมายของการเดินทาง แต่สำหรับเราแล้วที่นี่เป็นเมืองที่มีสเน่ห์มาก ทั้งความเป็นเมืองเก่า ศิลปะ วัด หรือแม้แต่สถานีรถไฟที่มีประวัติยาวนาน มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น เราเชื่อว่าการนั่งรถไฟเที่ยวเหนือนั้นอาจมีความหมายระหว่างทางมากขึ้นก็ได้ถ้าได้แวะที่นี่ ‘นครลำปาง’ 

สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ

เกร็ดท้ายขบวน

  1. การเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนระหว่างรถไฟกับยานพาหนะอื่นน่าจะเรียกได้ว่าเริ่มต้นที่ลำปางนี่แหละ นั่นก็คือการลงรถไฟแล้วต่อรถรับจ้างที่พิเศษสุดๆ คือมันเป็นรถม้า
  2. สถานีนครลำปางเป็นที่ตั้งของโรงเก็บรถจักรของภาคเหนือตอนบน และยังมีวงเวียนกลับรถจักรที่ยังใช้งานได้อยู่อีกด้วยนะ
สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารสไตล์ล้านนาและ Bavarian Cottage ที่บรรจุประวัติศาสตร์ภาคเหนือ

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ