วันก่อน ลูกศิษย์ที่จบไปแล้วนัดคุย Zoom กับดิฉัน เป็นการอัปเดตบวกระบายให้อาจารย์ฟัง (555) ทั้ง 3 คนเป็นทายาทธุรกิจที่กลับไปช่วยเหลือกิจการที่บ้าน สองคนทำโรงแรม ช่วงโควิด-19 ก็ต้องปรับตัว ปรับโมเดลธุรกิจกันครั้งใหญ่ทีเดียว
โจทย์ของทายาทธุรกิจที่คล้ายกันคือ รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าสร้างมาดี พวกเขาจะรักษาอย่างไร หรือจะเปลี่ยนอะไรมากน้อยแค่ไหน
วันนี้ ดิฉันจึงเลือกเคสธุรกิจครอบครัวธุรกิจหนึ่ง ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 305 ปี และสืบทอดกิจการมากว่า 14 รุ่นมาฝากค่ะ
ธุรกิจครอบครัวที่ต้องฝ่าวิกฤตรุ่นสู่รุ่น
ร้านนาคากาวะ มาซาชิจิ (Nakagawa Masashichi) ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1716 ที่จังหวัดนารา เดิมเป็นร้านค้าส่งผ้าใยกัญชงสำหรับใช้เย็บจีวรพระ ต่อมาก็เริ่มนำผ้าชนิดนี้ไปเย็บเป็นชุดสำหรับซามูไรเช่นกัน
กิจการร้านดำเนินไปด้วยดี จนล่วงเข้าสมัยเมจิ ญี่ปุ่นปฏิรูปประเทศสมัยใหม่ ไม่มีซามูไรพกดาบเดินอีกต่อไป ความต้องการผ้าใยกัญชงก็ลดลงอย่างรวดเร็ว
ในตอนนั้น ตรงกับช่วงประธานนาคากาวะรุ่นที่ 9 พอดี ท่านพัฒนาผ้าซับเหงื่อและชุดกิโมโนรูปแบบใหม่ เป็นการเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าโดยสิ้นเชิง ตัวผ้าซับเหงื่อนั้นคุณภาพดีมากจนได้ถวายราชสำนัก แบรนด์นาคากาวะ มาซาชิจิ ก็เริ่มโด่งดังด้านผ้าขนหนู ผ้าซับเหงื่อยิ่งขึ้น
เมื่อเห็นว่าธุรกิจดำเนินไปได้ดี ท่านประธานนาคากาวะรุ่นที่ 10 ที่ขึ้นมาสืบทอดธุรกิจต่อ ก็ตัดสินใจสร้างโรงงานผลิต เป็นการเขยิบจากธุรกิจค้าส่ง มาเริ่มผลิตสินค้าเอง จัดส่งเอง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังค่อยๆ ฟื้นตัว ญี่ปุ่นค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ทำให้มีสินค้าราคาถูกจากจีนและเกาหลีเข้ามาตีตลาด ในยุคนั้นร้านค้าส่งในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีเพียง 2 ทางเลือก คือถอนตัวออกจากตลาด หรือไปสร้างโรงงานในจีนหรือเกาหลี
ในตอนนั้น ท่านประธานนาคากาวะรุ่นที่ 11 เห็นว่าบริษัทตนทำงานฝีมือมาโดยตลอด สินค้าราคาสูงมาก และสู้กับสินค้าอุตสาหกรรมราคาถูกไม่ได้ ท่านจึงตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปที่จีนและเกาหลี เพื่อรักษาความได้เปรียบทางราคา ขณะเดียวกัน ก็ยังคงรักษากรรมวิธีและเทคนิคการทำงานฝีมือ มิได้เปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรผลิตทั้งหมด สินค้าของนาคากาวะ มาซาชิจิ จึงยังคงความคราฟต์ แต่ราคาไม่สูงจนเกินเอื้อม
เมื่อประธานรุ่น 12 ได้เข้ามาสืบทอดธุรกิจครอบครัวในช่วง ค.ศ. 1970 เขาเห็นว่าตลาดพิธีชงชากำลังเติบโต จึงออกสินค้าใหม่ เป็นถุงผ้าสำหรับใส่กระป๋องใส่ใบชาที่เย็บมือและมีลายงดงาม สินค้าตัวนี้เป็นที่นิยมมาก เนื่องจากบริษัทส่งสินค้าให้ลูกค้าได้รวดเร็ว แต่ประณีต ราคาไม่สูงเกินไป
การเข้ามาของประธานรุ่นที่ 13
เมื่อ นาคากาวะ จุน (Nakagawa Jun) ลูกชายของตระกูลเข้ามาสืบทอดกิจการที่บ้านใน ค.ศ. 2002 ในตอนนั้น ธุรกิจหลักของนาคากาวะ มาซาชิจิ ยังดำเนินกิจการค้าส่งเป็นหลักอยู่ และมีร้านค้าปลีกชื่อ Yu Nakagawa จำหน่ายของกระจุกกระจิกเพียงไม่กี่ร้าน
นาคากาวะ จุน ได้ดูตัวเลขธุรกิจ และพบว่าธุรกิจค้าส่งถุงใส่กระป๋องใบชาที่พ่อบริหารนั้น มีกำไรและกำลังไปได้ดี แต่ธุรกิจค้าปลีก Yu Nakagawa ที่แม่เขาดูแลนั้นขาดทุนอยู่ เขาจึงเข้าไปช่วยพัฒนาสินค้า ทำแบรนด์ และปรับการสื่อสาร เพื่อให้ลูกค้าเห็นคุณค่าของสินค้ามากขึ้น
คอนเซปต์ของร้านนาคากาวะ มาซาชิจิ คือ ภูมิปัญญาโบราณสู่ของใช้ในชีวิตประจำวัน
ยกตัวอย่างเช่น โถใส่น้ำตาลโถนี้ ดูเผิน ๆ อาจธรรมดา แต่โถดินเผานี้ ปั้นโดยช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญ และช่วยดูดความชื้น ทำให้เกลือหรือน้ำตาลที่ใส่ไม่จับตัวเป็นก้อน
หรือผงถ่านที่บรรจุในถุงซิปล็อก พร้อมมีช้อนไม้แนบ เอาไว้ใช้โรยถังขยะ เพื่อดับกลิ่นถังขยะ
สินค้าทุกชิ้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากภูมิปัญญาโบราณ และนำมาปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ ลูกค้าจึงสัมผัสกลิ่นอายดั้งเดิม แต่ขณะเดียวกันก็ใช้ง่าย และรู้สึกดีกับแบรนด์นี้
หลังจากการยกเครื่องปรับการตลาดครั้งใหญ่ แบรนด์ Yu Nakagawa ค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และทำกำไรได้ในที่สุด
เมื่อทุกอย่างกำลังไปได้ดี จุนก็กลับมานั่งคิดว่า หากเขามัวแต่คิดว่าทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้อีก เขาคงทำงานได้อีกแค่ 10 – 20 ปี แล้วคงเบื่อแน่ๆ ขนาดเขาที่เป็นทายาทธุรกิจยังคิดแบบนี้ พนักงานจะเบื่อขนาดไหน
จุนจึงมุ่งคิดว่า อะไรที่จะทำให้ตัวเขาเองและพนักงานมีแรงบันดาลใจในการทำงาน อะไรที่จะเป็นเป้าหมายทำให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน เขาใช้เวลากว่า 2 – 3 ปี จนกว่าจะตกตะกอนว่า บริษัท นาคากาวะ มาซาชิจิ จะ ‘ทำให้งานฝีมือญี่ปุ่นแข็งแกร่ง!’
ทำให้งานฝีมือญี่ปุ่นแข็งแกร่ง
สิ่งหนึ่งที่จุนพบคือ ซัพพลายเออร์ที่เขาขอให้ทำสินค้าให้ ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปหรือหยุดกิจการ หากปล่อยไว้เช่นนี้ ภูมิปัญญาด้านการผลิตวัสดุหรือกรรมวิธีแบบโบราณบางอย่างอาจล้มหายตายจากไปเป็นแน่ และในที่สุด บริษัทนาคากาวะ มาซาชิจิ ก็อาจไม่มีซัพพลายเออร์ที่สามารถผลิตสินค้าในแบบที่พวกเขาต้องการได้เลย
จุนจึงสร้างวิสัยทัศน์เรื่องการทำให้งานฝีมือญี่ปุ่นแข็งแกร่ง คำว่า ‘แข็งแกร่ง’ หมายถึง ผู้ผลิตงานฝีมือเหล่านี้มีรายได้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงตนเอง ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้คนรู้สึกภาคภูมิใจในงานฝีมือ
จากวิสัยทัศน์นี้ จุนค่อยๆ สร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา
ธุรกิจแรกคือธุรกิจผลิตและจำหน่าย ได้แก่ ร้านนาคากาวะ มาซาชิจิ และร้าน Yu Nakagawa ที่จำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ต่างๆ
ธุรกิจที่สองที่เกิดขึ้นคือธุรกิจให้คำปรึกษา ซึ่งเกิดขึ้น ค.ศ. 2009 7 ปีหลังจากจุนกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน
เนื่องจากจุนได้พบกับบริษัทหลาย แห่งที่ประสบปัญหาเดียวกับที่เขาเคยประสบ เช่น การสร้างแบรนด์และสินค้าให้เป็นที่รู้จัก การโดนผู้ผลิตจากต่างประเทศเข้าตี เขาจึงเขียนหนังสือที่บอกเล่าประสบการณ์การพลิกฟื้นธุรกิจของตนเองในแบบฉบับ SMEs
หลังจากหนังสือวางตลาด มีผู้อ่านหลายรายติดต่อขอให้เขาไปช่วยธุรกิจ จุนจึงสร้างธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจให้คำปรึกษา โดยทีมงานจะเริ่มตั้งแต่การดูงบการเงินและผลประกอบการบริษัท การพัฒนาคอนเซปต์สินค้า ดีไซน์ การฝากสินค้าจำหน่าย ตลอดจนการสื่อสารกับลูกค้า
งานที่ปรึกษา ทำให้จุนได้มีโอกาสรู้จักผู้ผลิตสินค้าทำมือดีๆ หลายราย เขาต้องการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีรายได้ดีขึ้น ใน ค.ศ. 2011 เขาจึงสร้างแพลตฟอร์มค้าส่ง ชื่อ ‘Dainipponnichi’ (大日本市) เพื่อให้ร้านค้าปลีกทั่วประเทศสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น และทางบริษัทนาคากาวะ มาซาชิจิ จะจัดงานประจำปีให้ผู้ผลิตและผู้ซื้อมาเจอกันปีละครั้ง
ปัจจุบันมีผู้ผลิตงานฝีมือกว่า 50 รายอยู่ในแพลตฟอร์มนี้
บริษัทส่วนใหญ่ที่เข้ามาปรึกษานาคากาวะ มาซาชิจิ นั้น มีผลประกอบการที่ดีขึ้น พวกเขามีคอนเซปต์สินค้าที่ชัดเจนขึ้น ส่งสินค้าไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าได้
เมื่อผู้ประกอบการบอกปากต่อปาก และติดต่อเข้ามาขอคำปรึกษามากขึ้นเรื่อยๆ จุนและบริษัทเองก็เริ่มรับไม่ไหว พวกเขาจึงตัดสินใจขยายไปสู่ธุรกิจที่ 3 คือ ธุรกิจอบรม โดยจัดอบรมเรื่องการตลาด การสร้างแบรนด์ ตลอดจนศาสตร์การชงชา
ส่วนธุรกิจที่ 4 ที่บริษัทนาคากาวะ มาซาชิจิ ทำ คือการช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่น กล่าวคือ การช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าดีประจำจังหวัด การเข้าไปช่วยออกแบบของที่ระลึกประจำเมือง ตลอดจนการจัดอีเวนต์
ล่าสุด สิ่งที่บริษัทกำลังวางแผนทำ คือสร้างการท่องเที่ยวงานคราฟต์ กล่าวคือ ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมโรงงานหรือโรงผลิตต่างๆ ในเมืองนั้น
หากนักท่องเที่ยวได้เดินทางมาสัมผัสท้องถิ่นนั้นจริงๆ ได้พูดคุยกับผู้ผลิตและรับรู้ความตั้งใจของพวกเขา ได้เข้าใจประวัติศาสตร์ ตลอดจนภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้น นักท่องเที่ยวก็จะยิ่งดื่มด่ำและสนใจสินค้านั้นๆ ยิ่งขึ้น
ทั้ง 4 ธุรกิจนี้ ได้แก่ ธุรกิจผลิตและจำหน่าย (ค้าปลีก) ธุรกิจที่ปรึกษา ธุรกิจอบรมให้ความรู้ และธุรกิจช่วยเหลือท้องถิ่นนั้น เกิดขึ้นเพื่อตอบวิสัยทัศน์เดียวกัน นั่นคือ ทำให้งานฝีมือญี่ปุ่นแข็งแกร่งนั่นเอง
หลังจากที่นาคากาวะเข้ามาบริหารกิจการใน ค.ศ. 2002 บริษัทนาคากาวะ มาซาชิจิ ค่อยๆ ผันตนเองจากค้าส่งมาเป็นค้าปลีกมากขึ้น จำนวนร้านขยายจาก 3 สาขาเป็น 51 สาขา (ใน ค.ศ. 2018) ยอดขายเติบโตจาก 400 ล้านเยนเป็น 5,200 ล้านเยน… เติบโต 10 กว่าเท่า
ปัจจุบัน เขามอบตำแหน่งประธานบริษัทให้กับผู้บริหารที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 300 กว่าปี และเป็นสุภาพสตรี ส่วนตัวเขาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และคอยเป็นกำลังในการสร้างวงการคราฟต์ญี่ปุ่นให้แข็งแกร่งต่อไป
“มนุษย์เรา หากจะคิดถึงแต่ตนเอง พยายามเพื่อตนเอง มันจะมีข้อจำกัด แต่หากเราตั้งใจทำเพื่อผู้อื่น เราก็จะมีแรงฮึดสู้ หากผมคิดแค่ว่า ทำอย่างไรให้บริษัทผมอยู่รอด ผมอาจไม่ได้มุ่งมั่นขนาดนี้ แต่เพราะผมคิดถึงคนอื่น คิดถึงวงการงานคราฟต์ของญี่ปุ่น ผมก็เลยตั้งใจมากแบบนี้ครับ” จุน นาคากาวะ กล่าว
ถอดบทเรียนความสำเร็จ
- ตั้งแต่ 300 ปีก่อน ประธานทุกรุ่นกล้าเปลี่ยนสินค้าและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าในแต่ละยุค จากจีวรพระ > ชุดซามูไร > สร้างโรงงานเอง > ที่ใส่กระป๋องใบชา > สินค้าไลฟ์สไตล์
- การกล้าปรับโมเดลธุรกิจ จากค้าส่งมาผลิตเอง และทำร้านค้าปลีก
- การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน จะทำให้พนักงานเห็นเป้าหมายร่วมกัน และรู้ว่าควรดำเนินธุรกิจไปในทิศทางใด
- การตั้งใจช่วยเหลือผู้อื่น