“ผมว่าต้องชื่อนาดาว แปลว่าทุ่งนาที่ปลูกดวงดาว”

วันหนึ่งใน พ.ศ. 2552 เก้ง-จิระ มะลิกุล หนึ่งในผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับผู้เป็นที่เคารพรัก เงยหน้าขึ้นจากหนังสือพิมพ์กีฬาที่อ่านอยู่แล้วบอก ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ ว่าเขาได้ชื่อบริษัท ตามที่ย้งเคยมาขอให้ตั้งให้แล้ว

หลังผ่านกระบวนการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ ย้งก็ตัดสินใจเติมชื่อสร้อยให้บริษัท เป็น ‘นาดาวบางกอก’

จากผู้กำกับภาพยนต์ที่มีความสุขกับงานที่ทำ วันนั้นย้งได้รับมอบหมายบทบาทใหม่โดย จีน่า-จินา โอสถศิลป์ ผู้บริหารบริษัท GTH ณ ขณะนั้น ให้บริหารบริษัทดูแลนักแสดงในเครือ 

เขาบอกว่าเขาไม่อยากเป็นผู้บริหาร แต่ก็ตัดสินใจรับหน้าที่นั้น เพราะจีน่ารับปากว่าจะให้เขาบริหารบริษัทในแบบของเขา คือยังคงความเป็นพี่เป็นน้องกับนักแสดงเอาไว้

จนถึงทุกวันนี้แม้นาดาวจะเติบโตมากขึ้นแค่ไหนแต่ย้งและทีมผู้บริหารที่มักเรียกตัวเองว่า “พี่ๆ” ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาพยายามรักษาความเป็นพี่เป็นน้องเอาไว้ และพูดถึงเรื่องนี้ตลอดการสัมภาษณ์

นาดาวบางกอก ธุรกิจปลูกดาวแบบออร์แกนิกที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ และกลยุทธ์ทุบหม้อข้าว

The Cloud ขอนัด ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ กรรมการผู้จัดการ และขอให้เขา ชวน แท๊ด-รดีนภิส โกสิยะจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ แผนกการตลาดและสื่อสารองค์กร มาเล่าให้ฟังเรื่องการทำงานในแบบฉบับของนาดาวบางกอก บริษัทที่มีผลงานเป็นที่เลื่องลือ มีนักแสดงที่ผู้ชมหลงรัก ทั้งที่ไม่มีใครสักคนในทีมบริหารเคยทำงานตำแหน่งผู้บริหารมาก่อน

พวกเขาบอกว่า มันเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และบางทีก็ทำไปแบบที่ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง

“แต่เวลาออกรบเราทุบหม้อข้าวทุกครั้ง เรามั่นใจว่า เดี๋ยวจะไปหาหม้อข้าวใหม่ข้างหน้าได้ เพราะเราจะรบอย่างเต็มความสามารถในกระบวนท่าที่เรามั่นใจ” ย้งสรุปภาพรวมการดำเนินงานของนาดาวบางกอกแบบสั้นๆ

ชวนมาฟังย้งและแท๊ดเล่าเรื่องการปลูกดวงดาว ที่พวกเขาเรียกว่าเป็นการปลูกแบบออร์แกนิกกัน

คัดเลือกเมล็ดพันธ์ุแบบที่เหมาะกับเรา

การปลูกแบบออร์แกนิก คือการทำนาดาวบางกอกแบบค่อยๆ รู้ไปเรื่อยๆ บริหารตามธรรมชาติแบบที่ควรจะเป็น เรียนรู้ แก้ปัญหา ปรับแผน แล้วก็พัฒนาในงานต่อไป

ย้งบอกว่า “พวกเราเป็นคนในงาน ไม่มีใครเป็นผู้บริหารจริงจังขนาดนั้น นาดาวฯ เลยเดินไปแบบช้าๆ ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ ขยาย ในขณะที่บริษัทอื่นเขามีศิลปินในสังกัดเยอะแยะ ของเรายังมีไม่มากเท่าไหร่”

วันแรกที่เปิดบริษัท นาดาวบางกอกมีนักแสดงในสังกัด 13 คน และ 12 ปีผ่านไป พวกเขามีนักแสดงในสังกัด 32 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทพัฒนานักแสดงในระดับเดียวกัน 

“การเลือกนักแสดงมาร่วมสังกัด หลักๆ เราจะดูว่า เขาเหมาะกับการทำงานแบบนาดาวฯ ไหม และการทำงานแบบนาดาวฯ จะดีกับเขาหรือเปล่า”

กระบวนการการคัดเลือกนักแสดงของนาดาวบางกอกต้องผ่านทั้งการออดิชั่น การสัมภาษณ์กับย้งและ บอมบ์-จงจิตต์ อินทุ่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารศิลปิน ทีมงานผู้ดูแลนักแสดงทุกคน หากกำลังมองหาใครที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษตรงกับพนักงานในบริษัท ย้งก็จะเชิญพนักงานคนนั้นมาร่วมพิจารณาด้วย

“เราอยากมั่นใจว่านักแสดงที่เลือกมาจะไปได้กับวิถีเรา ถ้าเขาไม่ใช่ อยู่กับเราแล้วเขาอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เราควรรีบให้โอกาสเขาไปอยู่ในที่ที่เข้ากับเขา เราไม่อยากเอาความลังเลของเราไปอยู่บนอนาคตของใคร”

ส่วนแท๊ดเห็นว่า “เราต้องทำงานกันบนคน และต้องดูแลเขา ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องคิดว่าจะดูแลเขาได้และเขาจะแฮปปี้ในการทำงานร่วมกับเรา มันสำคัญที่นักแสดงและบริษัทจะต้องมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน”

ย้งย้ำ “นักแสดงที่เรารับเข้ามา เป็นเพราะเราอยากทำงานกับเขาในระดับเต็มร้อยเท่ากันทุกคน” 

รดน้ำ พรวนดิน และดูแลให้เติบโต 

นักแสดงนาดาวบางกอกทุกคนที่เข้ามาจะได้เรียนการแสดงประมาณ 1-2 ปี หรือจนกว่าจะพร้อมสำหรับการเป็นนักแสดง

นาดาวบางกอก ธุรกิจปลูกดาวแบบออร์แกนิกที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ และกลยุทธ์ทุบหม้อข้าว

ย้งเล่าว่า “นาดาวบางกอกทำงานร่วมกับครูสอนการแสดงหลายท่าน เพื่อให้นักแสดงสะสมเครื่องมือที่ได้จากคุณครูที่ต่างกัน ยิ่งเรียนมากยิ่งได้มาก จะได้พร้อมสำหรับการทดสอบบท”

“ถึงจะเป็นงานของนาดาวบางกอกเองหรืองานของ GDH น้องก็ต้องไปแคสฯ เหมือนคนอื่น” ย้งยืนยัน

มาตรฐานการเคี่ยวกรำนี้ ย้งและแท๊ดก็เอามาใช้กับนาดาวมิวสิค ค่ายเพลงที่เกิดจากความสนใจของเด็กๆ ในค่ายด้วย

“ศิลปินจะต้องผ่านการเรียนและซ้อม การร้องและเต้นให้พร้อมกับการแสดงทุกครั้ง เรามีมาตรฐานว่าถ้าเขาจะไปเป็นศิลปินเขาต้องทำให้คนเชื่อให้ได้ว่าวันนี้เขาเป็นศิลปิน ไม่ใช่นักแสดง เขาต้องก้าวข้ามกำแพงที่คนมีภาพจำเกี่ยวกับเขาไปให้ได้” ย้งบอก

นาดาวบางกอกไม่มีระบบเงินเดือน นักแสดงจึงจะไม่มีรายได้ในช่วงแรก และนาดาวก็จะไม่สามารถสร้างรายได้จากนักแสดงคนนี้ได้ แต่พวกเขามองว่ามันจะสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับนักแสดง

ย้งและแท๊ดบอกว่าโมเดลการให้ค่าตอบแทนแบบนี้ เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานของนาดาวบางกอก ที่อยากให้นักแสดงทำเฉพาะงานที่เขามั่นใจว่าจะทำได้เต็มที่ ให้พวกเขามีส่วนร่วมพิจารณาการรับงาน และนาดาวบางกอกให้การสนับสนุนและพัฒนาแทนการจ่ายเงินเดือนทุกเดือน 

นาดาวบางกอก ธุรกิจปลูกดาวแบบออร์แกนิกที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ และกลยุทธ์ทุบหม้อข้าว

ดูแลต้นกล้าให้แข็งแรง

การเป็นนักแสดงนาดาวบางกอกไม่มีสัญญาว่าค่ายจะมีซีรีส์ให้กี่เรื่อง มีหนังให้กี่เรื่อง แต่จะสนับสนุนเรื่องสำคัญกับพวกเขา เพราะสิ่งเหล่านั้นจะอยู่ติดตัวเขาตลอดไป 

ทีมดูแลศิลปินของที่นี่มักจัดคิวหลีกทางให้เรื่องที่เกี่ยวกับการเรียนของนักแสดงเสมอ 

“ถ้าเกรดตก ต้องมาคุยกัน” แท๊ดบอกในฐานะผู้ช่วยผู้ปกครอง “แต่จะมาบอกว่าใกล้สอบ เลยไม่ได้ท่องบทมา แบบนี้ก็ไม่ได้” แท๊ดย้ำอีกครั้งในฐานะบริษัทดูแลนักแสดง

“มันสำคัญเพราะเราเห็นเขาเป็นน้อง และมันคือชีวิตเขา” 

ด้วยความตั้งใจแบบนี้ เราจึงได้เห็นนักแสดงของค่ายอย่าง ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร ที่สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ โดยอ่านหนังสือเตรียมสอบในกองถ่ายซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น และยังเป็นนักแสดงพร้อมกับนิสิตแพทย์มาจนถึงทุกวันนี้ แล้วก็ยังมีน้องๆ นักแสดงที่ทั้งเรียนและทำงานไปด้วยกันได้ดีอยู่อีกหลายคน

พี่ๆ ที่นาดาวบางกอกเข้าใจและเห็นด้วย หากน้องคนไหนอยากเลือกเส้นทางการเรียนรู้นอกสถานศึกษา

แล้วบอกอีกทีว่า “มันเป็นหน้าที่ของพี่ๆ ทุกคนที่มีหน้าที่ดูแลเขา ทุกคนพยายามจะจัดการให้น้องได้ทำสิ่งที่สำคัญกับเขา และการจะรับงานทุกครั้งน้องจะมีส่วนร่วมตัดสินใจ โดยมีพี่ๆคอยให้ความเห็นและเป็นที่ปรึกษา” 

นาดาวมิวสิคเป็นอีกหนึ่งหลักฐานว่าพี่ๆ มองเห็นความสนใจของน้องๆ เสมอ 

“นาดาวมิวสิคเกิดจากการที่นักแสดงในสังกัดสนใจเรื่องการทำเพลง” ย้งเล่าที่มา

แต่ในช่วงแรกพี่ๆ ไม่มีใครมีความรู้เรื่องการทำเพลงเลย 

เขาจึงพาน้องไปหาผู้เชี่ยวชาญ เช่น ให้ กันต์ ชุณหวัตร ไปคุยกับ Boxx Music พา อัด-อวัช รัตนปิณฑะ กับ ต้นหน ตันติเวชกุล ไปร่วมงานกับ What The Duck เพื่อให้ได้ทำงานด้านเพลงอย่างที่น้องๆ สนใจแบบไม่หวง

จนพวกเขาได้ทำโปรเจกต์ 9×9 ร่วมกับ 4NOLOGUE ก็มีน้องๆ ที่สนใจด้านเพลงจริงจังมากขึ้น พี่ๆ เลยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะมาทำงานเพลงเพื่อสนับสนุนน้องๆ แบบไม่ต้องส่งออกไปอยู่ค่ายอื่น 

นาดาวมิวสิคจึงกลายเป็นส่วนต่อขยายที่มีคุณค่าของนาดาวบางกอกมาจนถึงทุกวันนี้

สอนให้เป็นดาวที่มีความรับผิดชอบ

พี่ๆ ที่นาดาวบางกอกเชื่อว่า การให้นักแสดงตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องการแสดงความคิดเห็น จะทำให้เขามีความรับผิดชอบกับสิ่งที่เขาตัดสินใจ

“เมื่อเขาเป็นคนเลือกรับงานเอง เขาเต็มใจจะทำงานนั้นตั้งแต่แรก ถ้าเจออุปสรรคอะไร เขาจะรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจนี้แล้วก็ร่วมรับดีรับชั่วไปพร้อมกับทีมงาน” แท๊ดผู้เป็นหัวเรือใหญ่ด้านการตลาดที่ต้องทำงานกับแบรนด์หรือองค์กรต่างๆ บอกเหตุผลที่ทำให้บางทีต้องขอให้คู่ค้าต้องรอคำตอบสัก 1-2 วัน 

เงื่อนไขการรับงานของนาดาวบางกอกคือต้องเป็นงานที่เข้ากับนักแสดง เขาต้องสามารถนำเสนอและเป็นตัวแทนของแบรนด์ได้อย่างน่าเชื่อถือ และมีเสน่ห์ ไม่ว่าจะผ่านการโฆษณาหรือการลงรีวิวในโซเชียลมีเดีย ในขณะเดียวกันนาดาวบางกอกก็ต้องมั่นใจว่าจะพาพาร์ทเนอร์ไปถึงจุดที่หวังไว้ ไม่ว่าจะเป็นกระแสหรือยอดขาย 

เรื่องนี้แท๊ดบอกว่า “น้องเป็นนักแสดงเป็นศิลปิน ลูกค้าของพวกเขาคือคนดูงานของเขา แบรนด์ต่างๆ คือพาร์ทเนอร์เราที่มาสร้างงานร่วมกัน ฉะนั้นการทำงานแต่ละชิ้นเราต้องการให้ทุกคนวิน” 

ในสังคมทุกวันนี้มีข้อถกเถียงว่าดารา นักแสดง ศิลปิน จะต้องรับใช้สังคมเมื่อสังคมต้องการเสียงที่ดังกว่าคนธรรมดา แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดทางด้านธุรกิจที่ทำให้ดารา นักแสดงบางคนไม่สามารถทำอย่างที่สังคมเรียกร้องได้

นาดาวบางกอกเป็นค่ายที่อยู่กันอย่างพี่กับน้อง และอยากให้นักแสดงตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง การรับมือเรื่องนี้ก็เลยเป็นไปอย่างเข้าอกเข้าใจ และไม่มีนโยบายห้ามนักแสดงแสดงความคิดเห็นในเรื่องประเด็นสังคม

ในฐานะพี่ใหญ่ ย้งบอกว่า “ผมบอกเด็กๆ เสมอว่าเขาจำเป็นต้องใส่ใจประเด็นสังคมและอยากให้พวกเขาศึกษาประเด็นที่เขาสนใจอย่างจริงจัง ความรู้จริงจะทำให้เขาไม่กลัวที่จะแสดงความคิดเห็นและเขาก็จะรู้ด้วยว่าเขาแสดงความคิดเห็นได้ในขอบเขตแค่ไหนที่จะไม่กระทบพาร์ทเนอร์ที่เขากำลังร่วมงานด้วย”

“เขาจะมีจิตใจที่มั่นคงด้วย เพราะรู้ว่าเขาพูดหรือทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร เขาจะไม่อ่อนไหวกับทุกฟีดแบคที่เข้ามา” แท๊ดเสริม

นาดาวบางกอก ธุรกิจปลูกดาวแบบออร์แกนิกที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ และกลยุทธ์ทุบหม้อข้าว

ภูมิคุ้มกันจากความไม่กลัวและรับฟัง

นาดาวบางกอกเป็นบริษัทที่มักสร้างเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ และเขย่าวงการต่างๆ ที่พวกเขาก้าวเท้าเข้าไปอยู่เสมอ

หลายเรื่องที่ย้งและแท๊ดเล่าเบื้องหลังให้เราฟัง เรามักได้ยินพวกเขาพูดว่า เกือบเจ๊ง ไม่เคยทำมาก่อน และส่วนมากคือ ไม่รู้ว่ามันจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า

ย้งเล่าว่า “ทุกขั้นตอนที่กำลังจะทำอะไรใหม่ๆ มันเป็นช่วงที่เรารู้สึกว่าทุกอย่างควบคุมไม่ได้ตลอดเวลา เรารู้สึกว่าเราต้องปรับตัว เรียนรู้แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปกับมันตลอด”

พวกเขาเล่าว่า ปีที่ทำซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น บริษัทเหลือกำไรเพียงแค่หลักหมื่น และคิดว่าจะต้องปิดบริษัท

แม้จะรู้อย่างนั้น แต่พวกเขาก็ยังเลือกทำซีรีส์ที่ทั้งแหวกขนบ สุ่มเสี่ยง และทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพราะเชื่อว่ามันจะเป็นซีรีส์ที่ดี

“พอ Hormones ออกฉาย กลายเป็นว่ามันดังมาก และเราก็ได้รับการสนับสนุนจากพาร์ตเนอร์มากมาย จนทำให้บริษัทอยู่รอดมาได้” แท๊ดบอก

จากนั้นมานาดาวบางกอกก็มักให้สิทธิพาร์ตเนอร์ที่สนับสนุนกันมาในงานก่อนๆ เป็นผู้สนับสนุนงานใหม่ๆ ของพวกเขาก่อนเปิดขายเป็นการทั่วไปเสมอ

ย้งเล่าว่า “ต้องขอบคุณ พี่บูลย์ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)) ที่ให้โอกาสนี้ ตอนที่เราไปเสนอโปรเจกต์ เขาเชื่อเราหมดเลย ให้เราได้ทำแบบไม่ตีกรอบอะไรเลย มันเลยเป็นซีรีส์วัยรุ่นรูปแบบที่เราตั้งใจ”

เลือดข้นคนจาง เป็นอีกหนึ่งหลักไมล์สำคัญของนาดาวบางกอก เป็นละครที่แพงที่สุดเท่าที่บริษัทเคยทำมา บริษัทลงทุนผลิตเรื่องนี้เอง และทำบนความอยากหาความท้าทายใหม่ๆ ของย้ง จนทำให้เขาขอเข้าพบ บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้บริหารช่อง one31 เพื่อขอเวลาไพรม์ไทม์ของช่องมาทำละครหลังข่าวเป็นครั้งแรกในชีวิต

เขาได้รู้ในเวลาต่อมาว่า เป็นครั้งแรกของช่อง one31 ที่ยอมให้บริษัทอื่นมาทำละครฉายในเวลานี้เช่นกัน

เลือดข้นคนจาง ประสบความสำเร็จอย่างที่เห็นกัน แล้วก็สะสมทุนให้นาดาวบางกอกทำผลงานอื่นๆ ในปีต่อๆ มา

แท๊ดเล่าว่า “ตอนนั้น พี่ป้อน (นิพนธ์ ผิวเณร รองกรรมการผู้อำนวยการ-สายงานฝ่ายการผลิตละคร ช่อง one31) มาช่วยอธิบายว่า เราต้องปรับ ต้องตัดต่อยังไง ให้มันเป็นละครไพรม์ไทม์ได้ พวกเราได้เรียนรู้จากตรงนั้นเยอะมาก”

ย้งบอกเราว่า “เรื่องพวกนั้นถ้ารู้มากกว่านั้นก็อาจจะไม่ทำ เพราะกลัว สิ่งที่เราทำมันคือการทุบหม้อข้าว แต่เราคิดเสมอว่าแม้เราจะทุบหม้อข้าวนี้ เราก็จะมีหม้อข้าวหน้า เพราะเวลาเราออกไป เรารบเต็มที่ทุกครั้ง” 

“การทำงานร่วมกับแบรนด์ก็เป็นอีกเรื่องที่เราเต็มที่ทุกครั้ง ในฐานะพาร์ตเนอร์ เราต้องไม่ทำให้เขาผิดหวัง ถ้าเราทำงานได้ดี มีงานที่ดี เขาก็จะอยากมาร่วมสนับสนุนเราให้ทำงานที่ดีเหล่านั้นต่อไป” แท๊ดเสริม

“ทุกวันนี้เรามีความสุขกับการมีพาร์ตเนอร์ที่เอ็นดูเรา ไม่ใช่แค่ให้การสนับสนุน แต่ถึงขนาดโทรมาเล่าเรื่องที่คนพูดถึงเราแบบแย่ๆ ถ้าเขาไม่เล่า เราจะไม่รู้เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น การที่มีคนมาบอก ทำให้เรามีโอกาสได้แก้ไขสิ่งนั้น” 

พวกเขามองว่านี่เป็นข้อดีของการเป็นทีมงานที่ทุกคนคุยกันได้ เพราะการเติบโตเต็มไปด้วยความไม่รู้ และการฟังเยอะๆ จะทำให้เราได้พัฒนาจากมุมมองของคนอื่น

นาดาวบางกอก ธุรกิจปลูกดาวแบบออร์แกนิกที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ และกลยุทธ์ทุบหม้อข้าว

ต่อยอดจากสิ่งที่มี ด้วยวิธีที่เรารู้ดีที่สุด

เราชวนพวกเขาคุยเรื่องความดังเป็นพลุแตกของเพลง รักติดไซเรน เพลงแรกของบริษัทดูแลนักแสดงที่ผันตัวมาเป็นค่ายเพลง

ย้งบอกว่า “ผมก็ไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร” เขามีสีหน้ายืนยันว่าเขาก็ไม่มั่นใจจริงๆ 

เขาเรียกการทำเพลง รักติดไซเรน ในวันนั้นว่าเป็น ‘การทดลอง’

“เราตั้งใจจะทำเพลงประกอบละคร รักฉุดใจนายฉุกเฉิน อยู่แล้ว ผมเลยเห็นโอกาสที่จะใช้นักแสดงของเรามาร้องเพลงนี้ ตอนแรกวางตัวเป็น แพรวา (ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์) กับ บิวกิ้น (พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) แต่พอผู้กำกับ (บอส-นฤเบศ กูโน) อยากให้บิวกิ้นไปร้องเพลง You are my everything ผมเลยขอเปลี่ยนตัวให้ ไอซ์ (พาริส อินทรโกมาลย์สุต) ร้องเพลงโปรโมตแทน เพราะตอนนั้นไอซ์ก็กำลังมีกระแสมาจากละคร เลือดข้นคนจาง ความดังของเขาก็น่าจะมีส่วนในความสำเร็จนี้”

แท๊ดเล่าว่า “เราปล่อยเพลงนี้บน YouTube ช่องใหม่เอี่ยมตั้งแต่ Subscriber เป็นศูนย์ ซึ่งผิดหลักที่ทาง YouTube พูดมาตลอดว่า อย่าเอาวิดีโอตัวที่สำคัญที่สุดเป็นตัวแรกของช่อง ตอนนั้นลุ้นมาก แต่มันก็ผ่านไปได้ด้วยดี”

ปัจจุบัน ช่อง Nadao Music ใน YouTube มีผู้ติดตาม 1.5 ล้านคน และเพลง รักติดไซเรน มีผู้เข้าชม 230 ล้านครั้ง

แม้จะเป็นทีมงานที่ไม่เคยทำเพลงมาก่อน และเรียกสิ่งนี้ว่าการทดลอง แต่สิ่งที่พวกเขามั่นใจแน่ๆ คือการทำละคร และการทำเพลงประกอบละครที่พวกเขาถนัด ต้นทุนนั้นส่งให้งานเพลงของพวกเขาเป็นที่รู้จัก ทำให้นักแสดงได้เป็นที่รู้จักในบทบาทใหม่ๆ และยังได้ขยายน่านน้ำทางธุรกิจกับพาร์ตเนอร์ด้วย

เพลง ดี๊ดี ผลงานลำดับที่ 2 จากนาดาวมิวสิคที่ร้องโดย ไอซ์ และ เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม สองนักแสดงที่ความดังถูกใจนักการตลาด มีความสามารถในการร้องและเต้นได้มาตรฐานศิลปิน เพลงนี้จึงเป็นผลงานเพลงที่ทำร่วมกับพาร์ตเนอร์ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นเพลงโฆษณาที่โด่งดังทั้งเพลงและท่าเต้น สยบความไม่มั่นใจว่าการทำเพลงเพื่อแบรนด์นั้นจะดังไม่ได้ 

ปัจจุบันเพลง ดี๊ดี มีผู้เข้าชมผ่าน YouTube 23 ล้านครั้ง และวิดีโอสอนเต้นของเพลงนี้มีผู้เข้าชม ถึง 42 ล้านวิว 

สำเร็จทั้งแบรนด์เนสกาแฟ, ไอซ์-เจเจ และนาดาวมิวสิค ตามความตั้งใจ 

ปรากฏการณ์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ ก็เป็นอีกงานที่นาดาวบางกอกก้าวขาสู่พื้นที่ใหม่ๆ โดยต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เดิมคือกลุ่มแฟนคลับ ‘เพนกวิน’ ของ บิวกิ้น-พีพี (พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ กฤษฏ์ อำนวยเดชกร) 

ย้งเล่าว่า “บิวกิ้นกับพีพีเขามีแฟนคลับที่อินและตกหลุมรักตัวละคร หมอเต่า ทิวเขา ที่เขาเล่นใน รักฉุดใจนายฉุกเฉิน แล้วแฟนคลับกลุ่มเพนกวินก็เรียกร้องว่าอยากดูซีรีส์ของคู่นี้ เราเลยลองต่อยอดดู

“เราเลือกทำซีรีส์สำหรับบิวกิ้นและพีพี ในมุมความสัมพันธ์ของตัวละคร ซึ่งเป็นธรรมชาติและเป็นความถนัดของเรา มันก็เลยเป็นละครที่มีตัวเอกเป็นผู้ชายทั้งคู่ แต่ไม่ใช่ซีรีส์วายแบบที่คนเคยได้เห็น” 

ย้งพูดอีกครั้งว่า “เริ่มต้นเราก็ไม่มั่นใจหรอกว่าคนจะชอบไหม”

แล้วก็เล่าต่อว่า “แต่เราก็ทำมันแบบที่เรามั่นใจ คิดว่าถ้าไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะมันน่าจะเป็นซีรีส์ที่เราภูมิใจ”

เจาะลึกการเติบโตอย่างมั่นคงของ ‘นาดาวบางกอก’ หนึ่งในบริษัทที่ปั้นนักแสดง หนัง ซีรีส์ และเพลง ได้โดดเด่นที่สุดในยุคสมัย

ชอบในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่ชอบ

เราถามพวกเขาว่า ตลอดเวลา 12 ปี มีงานที่ทำแล้วไม่ชอบบ้างไหม พวกเขาตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มี

แท๊ดบอกว่า “ถ้าเป็นงานที่เราไม่ชอบ เราจะไม่ปล่อยมันออกไปตั้งแต่แรก มันจะถูกล้มไปในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งแน่นอน” 

ย้งสำทับ “เราจะไม่ปล่อยงานที่เราไม่ชอบออกไปเลยสักครั้งหนึ่ง อย่างละคร แปลรักฉันด้วยใจเธอ ก็มีการรีชู๊ต (ถ่ายทำเพิ่ม) เพราะเมื่อมานั่งดูแล้ว เราเห็นว่ามีจุดที่ไม่เห็นตอนมันอยู่ในกระดาษหรือตอนถ่าย หรือมีจุดที่เราเห็นว่าจะทำให้คนเข้าใจหรือสนุกกับเรื่องได้มากขึ้น เราก็ไปถ่ายกันใหม่”

สำหรับนาดาวบางกอก การกลับไปถ่ายทำอีกครั้งในช่วงโพสต์โปรดักชันเป็นเรื่องที่ถูกวางแผนเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้น ทั้งเวลาและงบประมาณ จะได้กลับไปถ่ายกันใหม่ได้เพื่อผลงานที่ดีที่สุด

เรื่องนี้ย้งบอกว่าขออนุญาตลงรายละเอียด “การรีชู๊ตไม่ได้เกิดจากการไม่ได้ทำการบ้านมามากพอ หรือตอนถ่ายเราระวังไม่มากพอ แต่การรีชู๊ตเพื่อให้เรื่องสมบูรณ์ขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่พวกเราคิดว่าควรทำ”

เราจำเป็นต้องเติบโต

จากบริษัทเล็กๆ และเชื่อมั่นในความสัมพันธ์แบบพี่น้อง เราถามพวกเขาว่าจัดการยังไงในวันที่ต้องเติบโต

แท็ดบอกว่า “การโตสำหรับนาดาวบางกอกคือการมีระบบสนับสนุนที่ทำให้หลายๆ อย่างนิ่งขึ้น จนสร้างคนรุ่นที่มาทำงานต่อจากเราได้ บริษัทของเราจะได้ไม่จบลงในวันเวลาของเรา”

ย้งเสริมว่า “ถ้าเราไม่โต เราจะเหนื่อยเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ ถ้าเราจะไปข้างหน้าอย่างแข็งแรง บริษัทจำเป็นต้องโต” 

“เรามีศิลปินที่ประสบความสำเร็จกลุ่มหนึ่งแล้ว เราจำเป็นต้องมีศิลปินกลุ่มต่อไป ในอดีตเราไม่มีแผนกออนไลน์ ผมกับแท๊ดต้องแชร์โซเชียลกันเอง มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำสิ่งนั้นไปตลอดชีวิตเรา ตอนนี้ก็ต้องมีแผนกออนไลน์ที่แชร์ผลงานอย่างเป็นระบบ คอยสอดส่องฟีดแบค เอากลับมาเรียนรู้แก้ปัญหา และสื่อสารกลับเพื่อบริหารจัดการแฟนๆ เพราะเขาคือลูกค้าของเราที่เราต้องรับฟังแล้วก็พัฒนาเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ เราจะได้ไปต่อได้”

อีกเหตุผลของการเติบโตที่นาดาวบางกอกให้ความสำคัญคือ การขยายความสามารถเพื่อดูแลศิลปินได้มากขึ้น 

ย้งเล่าว่า “การที่เราสร้างน้องให้น้องสำเร็จ น้องก็ควรจะมีงานมากขึ้น โครงสร้างแบบเดิม หรือจำนวนคนเท่าเดิม มันก็ย่อมไม่พอที่จะดูแล”

พวกเขายอมรับว่าข้อดีของนาดาวคือความเป็นครอบครัวเป็นบ้าน มันก็ทำให้ไม่สามารถเอากรอบอะไรมาครอบเพื่อความเป็นระเบียบได้มากนัก

แท๊ดบอกว่า “สินค้าของนาดาวบางกอกคือคน สินค้าทุกชิ้นของเราไม่เหมือนกันเลย เราวางระบบวางโครงสร้างได้ แต่จะใช้ไม้บรรทัดลงไปจัดการทุกอย่างเหมือนกันไม่ได้ ทำได้แค่เข้าใจหลักการ แล้วก็ใช้วิจารณญาณในการปรับใช้หลักการนั้น” 

“ซึ่งมันเป็นความยากขั้นสุด” ย้งตบท้าย

เจาะลึกการเติบโตอย่างมั่นคงของ ‘นาดาวบางกอก’ หนึ่งในบริษัทที่ปั้นนักแสดง หนัง ซีรีส์ และเพลง ได้โดดเด่นที่สุดในยุคสมัย

อนาคตอาจไม่ต้องมีนาดาวบางกอก

ย้งเล่าความกังวลว่า ถ้าวันหนึ่งเขากำกับหรือเป็นโปรดิวเซอร์ไม่ไหวแล้ว นาดาวบางกอกจะมีเครื่องมืออะไรเพื่อสร้างนักแสดงให้เป็นที่รู้จักได้อีก

เขาเล่าสิ่งที่ค้างคาใจว่า “จริงๆ มันไม่ถูก ถ้าเราจะเป็นเอเยนต์ในการส่งศิลปิน เราก็ควรจะส่งเขาได้โดยไม่ต้องมีหน่วยสนับสนุน อย่างโปรดักชันหรือมิวสิคสิ”

แต่พวกเขาก็ได้วางแนวทางเอาไว้แล้ว เป็นการที่น้องๆ ทุกคนต้องพัฒนาโซเชียลมีเดียของตัวเอง 

ย้งขยายความให้ฟังว่า “นักแสดง-ศิลปินเดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องเซ็นสัญญากับช่องหรือค่ายแล้ว ถ้าเขาเก่งและแข็งแรงพอ ใครๆ ก็อยากพาเขาไปร้องเพลง ไปเล่นหนัง และอีกเรื่องคือ พวกเขาต้องบริหารจัดการโซเชียลมีเดียของตัวเองได้ดี” 

เมื่อก่อนนักแสดงมักจะได้ภาพลักษณ์จากละครหรือภาพยนตร์ที่แสดง แต่ปัจจุบันพวกเขาทำสิ่งเหล่านั้นได้ผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเอง และต้องตั้งใจพัฒนาช่องทาง จนเชื่อว่าพวกเขาจะพึ่งพามันได้ 

ย้งบอกว่า “นักแสดงโชว์จุดแข็งของตัวเอง หรือนำเสนอตัวเองในแบบที่เป็นตัวเขาผ่านโซเชียลมีเดียได้ และต้องปรับจูนให้เข้ากับสิ่งที่แฟนๆ ของเราอยากเห็น เช่น เขาชอบการแต่งตัวของเรา ชอบดูแมวของเรา หรือชอบดูว่าเราไปเที่ยวไหนมาบ้าง ตัวน้องเองคือคนที่รู้ดีที่สุดว่าแฟนๆ อยากดูอะไร”

ย้งและแท๊ดเห็นตรงกันว่า นาดาวบางกอกมีความเฉพาะตัว และยากที่จะหาส่วนเสริมหรือตัวช่วย โดยไม่ทำให้ความเป็นนาดาวเปลี่ยนไป 

แท๊ดบอกว่า “ถ้าจะมาดูแลศิลปินนาดาวแบบเป็นพี่เป็นน้องได้ ก็ต้องหาคนที่รักเด็กๆ พวกนี้เหมือนที่เรารัก”

ถ้าวันหนึ่งนาดาวบางกอกจะต้องปิดตัวลง ก็คงจะเป็นการรูดม่านอย่างสวยงามของบริษัทที่ผลิตผลงานด้วยพลังที่ทำให้คนมากมายหลงรัก และไม่ว่านาดาวบางกอกจะมีปีต่อๆ ไปอีกมากน้อยแค่ไหน เราก็เชื่อว่าดาวที่พวกเขาสร้างไว้ จะยังส่องแสงไปได้อีกไกลแน่ๆ

End Credit 

ภูมิใจกับนาดาวบางกอกไหม 

“ความรู้สึกแรกคือ หวงแหนและกังวลกับการฟูมฟักมัน แต่ก็ภูมิใจเวลาเห็นผลงานออกสู่สายตาสาธารณชน แล้วก็ภูมิใจกับเด็กๆ เวลาได้เห็นเขาทำเรื่องดีๆ เป็นคนดี แล้วก็มีคนรักเขา” แท็ดตอบ 

ส่วนย้งบอกว่า “ผมภูมิใจกับนาดาวบางกอกมาก วันที่เริ่มผมไม่คิดว่ามันจะมาถึงวันนี้ ทั้งระยะเวลา ความสำเร็จ และการเติบโต ฉะนั้น ผมภูมิใจมาก”

เจาะลึกการเติบโตอย่างมั่นคงของ ‘นาดาวบางกอก’ หนึ่งในบริษัทที่ปั้นนักแสดง หนัง ซีรีส์ และเพลง ได้โดดเด่นที่สุดในยุคสมัย

Lesson Learned

  • การจะเติบโต จำเป็นต้องโตเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลา ไม่ว่าอะไรที่กระโจนเข้ามา ต้องรับมันมาทำความเข้าใจและเรียนรู้ว่ามันเป็นเพราะอะไร แล้วก็ปรับเพื่อจะได้จัดการมันได้ 
  • ตั้งมั่นกับสิ่งที่เราทำได้ดี แล้วหาทางต่อขยายจากสิ่งนั้น
  • อย่าให้ความกลัวมาทำให้ไม่กล้า แต่ต้องรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง และมีสติที่จะเผชิญปัญหา

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล