‘นาหมื่นศรี’

เป็นตำบลหนึ่งของจังหวัดตรัง ที่มีภูเขาลูกใหญ่เป็นฉากบังหลัง เบื้องหน้ามีผืนนาสีเขียวขจีไกลสุดลูกหูลูกตา ยามตะวันใกล้ลาลับขอบฟ้าจะสาดส่องแสงสีทองอำไพ เป็นความสวยงามจากธรรมชาติที่คนเมืองหาดูได้ยาก 

คนส่วนใหญ่รู้จักที่นี่ในฐานะแหล่งผลิตข้าวมากที่สุดของจังหวัดตรัง ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด มีประวัติศาสตร์กว่า 200 ปี จน ‘ผ้าทอนาหมื่นศรี’ มีชื่อเสียงทั่วประเทศ

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

มาเยือนตรังทั้งที เราไม่พลาดพาคุณไปทำความรู้จักผ้าทออายุยืน ผ่านศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อารอบ เรืองสังข์ ประธานวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ทายาทรุ่นสามของครอบครัวทอผ้า คอยต้อนรับและเล่าเรื่องราวผ้าทอบรรพบุรุษในความทรงจำ ตลอดจนการปรับตัวของศิลปินทอผ้ากับยุคสมัย หยิบเทคโนโลยีมาสานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิม และชวนเด็กฟันน้ำนมในชุมชนมาเป็นมัคคุเทศก์ตัวน้อย เพื่อหวังให้พวกเขาเรียนรู้และซึบซับมรดกของเมืองตรัง

ชิมขนมโคไส้น้ำตาลมะพร้าวสูตรปักษ์ใต้ให้อิ่มท้อง แล้วออกไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ้าทอ 200 ปีพร้อมกัน

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

เพราะรัก จึงทอ

“ผ้าทอนาหมื่นศรีเขาจะทอให้คนที่เขารัก” ทายาทรุ่นสามของครอบครัวทอผ้าพูดด้วยรอยยิ้ม
สมัยก่อนหญิงสาว 1 คนจะทอผ้า 3 ผืนในหนึ่งช่วงชีวิต ‘ผ้าตั้ง’ เป็นผ้าผืนแรกที่ผู้หญิงต้องทอ เป็นผ้าใส่พานเตรียมไว้สำหรับเจ้าบ่าวที่จะแต่งงานด้วย ‘ผ้าห่ม’ เป็นผ้าผืนที่สองของคนเป็นแม่ ทอเป็นผ้าห่มนาคเตรียมไว้ให้ลูกชายบวช

 ส่วน ‘ผ้าพานช้าง’ เป็นผ้าผืนสุดท้ายที่ย่า-ยายทอเตรียมไว้ 2 ชุด สำหรับพาดโลงศพของตนเองและสามี มีความเชื่อว่าผ้าทอผืนเล็กที่เย็บต่อกันเป็นผ้าพาดเปรียบเสมือนบันไดขึ้นสู่สวรรค์ หลังจบงาน ถ้าไม่ถวายผ้าทอให้พระ ลูกหลานจะตัดแบ่งกันเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก และบางครั้งชาวบ้านก็ทอผ้าเพื่อนับจำนวนลูก บางทีผ้าทอก็บอกฐานะคนใส่ด้วย

เพราะรัก จึงทอ ทอจากจิตวิญญาณของความเป็นผู้หญิง

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

เพราะไม่มีเอกลักษณ์ จึงทำ

สาวนาหมื่นศรีทอผ้าด้วยความรัก จึงจับมือกันสร้างกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี มี คุณยายกุศล นิลลออ เป็นหัวหน้ากลุ่มคนแรกและได้รับเลือกเป็นครูแห่งภูมิปัญญาไทย ภายหลังท่านเสียชีวิต อารอบเลยรับช่วงต่อมรดกบรรพบุรุษเรื่อยมา

จากการรวมกลุ่มของเพื่อนหญิงพลังหญิง สู่วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีและศูนย์การเรียนรู้ชุมชน

ก่อนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อารอบถูกถามว่า ‘เอกลักษณ์ผ้าทอนาหมื่นศรีคืออะไร’ เธอตอบคำถามนั้นไม่ได้ จึงมีแรงผลักดันให้เกิดการทำวิจัยผ้าทอที่มีประวัติกว่า 200 ปีของชุมชนขึ้นมา เธอเริ่มค้นหาข้อมูล คุยกับย่า-ยายช่างทอในชุมชนถึงผ้าทอในอดีต จนเก็บรวบรวมเรื่องราวและผ้าเก่าได้มากพอจะตอบคำถามนั้น

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

“ผ้าสีแดงเหลืองเป็นเอกลักษณ์ของนาหมื่นศรี มีโครงสร้างผ้าเป็นภาษาใต้ทั้งหมด มีริมตีน แม่แคร่ ลูกเกียบ ชายรุ่งริ่ง และหน้าผ้า ส่วนลายผ้าเราเจอมากถึงสามสิบเก้าลาย อีกอันเราเพิ่งค้นพบว่า สมัยก่อนย่า-ยายเขาทอผ้าให้หลานออกพราน มีโจงกระเบนหนึ่งผืน ผ้าพาดบ่าหนึ่งผืน” อารอบอธิบายใจความของคำตอบสำคัญด้วยความคล่องแคล่ว

เพราะไม่มีเอกลักษณ์ จึงทำ ทำด้วยศรัทธาจากหัวใจ

เพราะเห็นคุณค่า จึงบำรุงรักษา

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

คำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่รวบรวมอยู่ในพิพิธภัณฑ์นาหมื่นศรีบนอาคารไม้ของโรงเรือนทอผ้า เพื่อเก็บเป็นมรดกโบราณ จน พ.ศ. 2558 อาคารเดิมเก่าชำรุด กลุ่มเซ็นทรัลเลยอาสาปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์และร้านผลิตภัณฑ์ชุมชน

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

พร้อมจัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาและรวบรวมลายทอผ้านาหมื่นศรีที่มีอายุมากกว่า 200 ปี ตลอดจนกลุ่มเซ็นทรัลทำ (Central Tham) มาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เพื่อหวังสืบทอดภูมิปัญญาและชวนคนไทยมาเห็นคุณค่าของผ้าทอเมืองตรัง แถมชวนเยาวชนรุ่นจิ๋วในชุมชนมาเป็นส่วนหนึ่งด้วย

“เขาเน้นตลอดว่า เขามาสอนเราหาปลา มีเครื่องมือกับความรู้ให้เรา อย่างอื่นเขาไม่มีให้

“เราสัญญาว่าจะเป็นกลุ่มที่น้ำไม่เต็มแก้ว” ผู้นำหญิงของกลุ่มบอกกับเราด้วยความจริงใจ

ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีแบ่งพื้นที่การใช้งานออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นโรงเรือนทอผ้าอยู่ด้านหน้าคอยต้อนรับแขก ถัดไปอีกนิดมีร้านค้าผลิตภัณฑ์ผ้าทอ บรรจุข้าวของเครื่องใช้ที่แปรรูปจากผ้าผืนสารพัดแบบ และไฮไลต์ที่อยากชวนมาดูอยู่ด้านบนโรงเรือนทอผ้า เป็นมิวเซียมผ้าทอนาหมื่นศรีขนาดกะทัดรัดที่เก๋สุดในตรัง

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด
พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

เพราะอยากให้ซึบซับ จึงเน้นเรื่องความรัก

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

อารอบพาเราเดินขึ้นชั้น 2 ของอาคารไม้ ด้านในแบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องแรกทาสีขาวเพื่อฉายสไลด์ข้อมูลคล้ายกับเดินอยู่มิวเซียมทันสมัยของญี่ปุ่น เหมาะกับการแชะภาพเป็นที่ระลึกก่อนเดินทะลุเข้าไปทำความรู้จักผ้าทอ

“เราไม่ค่อยคุ้นชิน ดีใจที่บางเรื่องเราล้าสมัยนิดหนึ่ง แต่บางเรื่องเราก็ต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยได้ด้วย” 

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

เราเดินเพียงไม่กี่ก้าวก็เจอส่วนพิพิธภัณฑ์ มีเด็กฟันน้ำนมพ่วงตำแหน่งมัคคุเทศก์น้อยยืนเรียงหน้ากระดานตามลำดับความสูงมาก-น้อย อยู่ 5 คน เพชร-เพชรลดา แท่นมาก (12 ขวบ) นน-นนทพร​ เชยชื่นจิตร (11 ขวบ) นิ้ง-กมลวรรณ​ เชยชื่นจิตร (8 ขวบ) คิน-นครา​ สืบเพ็ง (9 ขวบ) และสตางค์-ประชิตา​ เอียดจุ้ย (9 ขวบ) หลังจากแนะนำตัวเสร็จสรรพ แก๊งจิ๋วก็สลายตัวและสาวเท้าอย่างเร็วเพื่อประจำฐาน เป็นภาพชวนหัวและประทับใจในคราวเดียว

ป้ารอบส่งยิ้มเป็นกำลังใจให้มัคคุเทศก์ ก่อนเสริมให้เราฟังว่า “กลุ่มพยายามถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เด็กรุ่นใหม่ในชุมชน ถ้าให้ทอผ้าเขาคงไม่ชอบ เลยเปลี่ยนวิธีให้มาเล่าเรื่องของปู่ย่าตายายแทน เพราะบางคนย่า-ยายทอผ้าอยู่แล้ว เราอยากให้เขาซึบซับและรับความรู้ตรงนี้ต่อจากเรา มันเป็นสิ่งดีงามที่เกิดจากความรักของบรรพบุรุษที่ส่งต่อกันมา”

เพราะอยากให้มาเยือน จึงมีแต่เรื่องสนุก

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด
พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

ส่วนแรกเป็นการเล่าถึงเอกลักษณ์ของผ้าทอนาหมื่นศรี เดินไปอีกหน่อยมีเด็กชายตัวสูงคอยอธิบายเรื่องผ้า 3 ผืนที่หญิงสาวหนึ่งคนต้องทอในหนึ่งช่วงชีวิต ข้างกันเป็นหุ่นสวมผ้าทอแสดงประเภทผ้า เขยิบอีกนิดเป็นการแบ่งผ้าตามการใช้งาน คนนาหมื่นศรีแบ่งผ้า 3 แบบ มี ‘ผ้านุ่ง’ เป็นผ้าถุงและโสร่ง บ้างก็เป็นโจงกระเบน ‘ผ้าพาดหรือผ้าห่ม’ ลักษณะผืนแคบ เป็นสไบห่มทับเสื้อ ลักษณะผืนกว้าง นิยมโพกศีรษะและคาดเอว ส่วน ‘ลูกผ้า’ ผืนจตุรัส ใช้รองกราบ

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

ความสนุกอยู่ตรงลายผ้าทอนาหมื่นศรี สร้างสรรค์จนขอยกให้เป็นเบอร์หนึ่ง การนำเสนอก็ทันสมัยกินขาด เพราะมีล้อเลื่อนพร้อมจอแสดงผล เลื่อนจอสี่เหลี่ยมไปหยุดอยู่ตรงลายตัวอย่างผืนไหน หน้าจอจะป๊อปอัปข้อมูลน่ารู้แสดงผลทันที นอกจากเราจะตื่นตากับเทคโนโลยีแล้ว มัคคุเทศก์น้อยก็ยิ้มไม่หุบ เลื่อนจอพร้อมเล่าได้คล่องปร๋อจนต้องยกนิ้วให้

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

อารอบเดินมาหยุดอยู่ตรงลายผ้าของ คุณยายฝ้าย สุขคง บัณฑิตลายผ้าทอของนาหมื่นศรี อย่างลายพานรัฐธรรมนูญ เป็นลายที่คุณยายฝ้ายได้แรงบันดาลใจจากการเที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญ จังหวัดตรัง (งานกาชาด) หากมองระยะไกลคล้ายลายผ้าดอกเล็กต่อกัน ถ้าเขยิบสายตาเข้ามาเพ่งจะเป็นพานแว่นฟ้าที่แอบซ่อนความหมายเอาไว้

นอกจากลายพานรัฐธรรมนูญแล้ว ยายฝ้ายยังทอลายตุ๊กตา ลายครุฑ และนกการเวกด้วย

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

ถ้าคุณคิดว่าการทอลายล้ำสมัยนั้นเจ๋งจนต้องคารวะ ขอพามารู้จักการทอผ้าร้อยเรียงเป็นประโยคของ คุณยายเยื้อน ทองนวน ที่ทอผ้าพานช้างลายประสม ต้นแบบลายจากคุณยายฝ้าย ใจความว่า ‘ทรงพระเจริญตลอดไป ฝ้าย สุขคง ที่อยู่ 130 หมู่ 4 ต.นาหมื่นศรี อ.เมือง จ.ตรัง’ แถมทอลายครุฑประสมนกการเวก 3 ช่อง ต่อลายพานรัฐธรรมอีก 1 ช่อง 

ประธานกลุ่มยังเล่าความอัจฉริยะของครูช่างสมัยก่อนว่า มีการว่ากลอนลงบนผืนผ้าทอ คล้ายเพลงอีแซว จนพี่บ่าวบางคนเห็นสาวนุ้ยนุ่งผ้าผืนสวยไปดูมโนราห์ถึงกับแซวว่า ‘ขอผ้านุ่งไปกินข้าวด้วยได้หม้าย’ จีบยุคเก่า แต่ได้ผลนักแล

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด
พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

หากสังเกตผ้าทอนาหมื่นศรีจะเน้นลวดลายจากธรรมชาติ เช่น ลายปลา ลายท้ายมังคุด ลายช่อลอกอ (ช่อมะละกอ) ฯลฯ บางลายเกี่ยวกับดอกไม้ เพราะมีคำว่า ‘แก้ว’ พ่วงอยู่ด้วย เช่น ลายแก้วกุหลาบ ลายแก้วชิงดวง เป็นวงกลมสองดวงคล้องกัน ทอยากมาก ช่างทอยุคใหม่ต้องแกะลายจากผ้าทอช่างครูอยู่ 2 ปีถึงจะทอเหมือนต้นฉบับ

“เราเน้นกับช่างทอเสมอว่า ผ้าทอทุกผืนที่สวยงามแบบนั้น เพราะคนทอเน้นความรัก ถ้าคุณจะขายคุณค่า ต้องใส่ความรักของคุณลงไปด้วย อีกนัยเพื่อบอกผู้บริโภคด้วยว่าทุกอย่างเรามอบให้เขาด้วยความรัก” อารอบเสริม

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

จุดหมายสุดท้ายเรายืนหน้าตู้หุ่นแสดง ‘ผ้าลายมรดกสู่โมเดิร์นนาหมื่นศรี’ เป็นการเอาลายท้ายมังคุดมาตัดเย็บเป็นผ้าพันคอ สูทสุดเท่ลายเม็ดแตง ผ้าทอลายลูกแก้วกลายเป็นชุดสุภาพสตรี แต่งด้วยผ้าเช็ดหน้าลายแก้วชิงดวง การจัดแสดงทำให้เห็นว่าผ้าทอบรรพบุรุษมีศักยภาพมากพอจะก้าวเดินสู่ระดับสากล เพื่อบอกกล่าวความภูมิใจจากรุ่นสู่รุ่น

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี มิวเซียมเล่าประวัติศาสตร์ 200 ปีของแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด

มัคคุเทศก์ตัวจิ๋วพาเราเดินลงบันไดมานั่งบนแคร่ไม้ไผ่ชั้นล่าง ขนมโคไส้น้ำตาลมะพร้าวสูตรปักษ์ใต้ยังพอมีเหลือให้เติมพลัง ยิ่งซดน้ำเสาวรสเปรี้ยวนิดหวานหน่อยตาม ช่างสดชื่นได้แรงอก อารอบเดินลงมาสมทบ ก่อนจบบทสนทนา

“ความฝันของป้ารอบคือการรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมให้คงอยู่ พัฒนาให้คนรู้จักผ้าทอภาคใต้มากที่สุด ถ้าเราจากโลกนี้ไปแล้ว จะส่งไม้ต่อยังไงให้เด็กรุ่นใหม่ซึบซับและรักมันจริงจากหัวใจ ให้เขาสืบสานและต่อยอดมรดกของปู่ย่าตายายที่สร้างไว้ให้พวกเขา ปัจจุบันคนในชุมชนเรามีรายได้เพิ่มขึ้น คนหันกลับมาทำงานในบ้านเกิด เรามีภาคีเครือข่ายเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ พึ่งพาเอื้อเฟื้อกัน สุดท้ายเขาไม่ได้รักอารอบคนเดียว แต่เขาจะรักชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีด้วย” 

“หนูภูมิใจในตัวเองมากเลยค่ะ อยากบอกกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีว่าหนูจะเป็นไกด์ที่ดีที่สุดนะคะ” 

สตางค์ มัคคุเทศก์วัย 9 ขวบ พูดด้วยน้ำเสียงสดใส ความเป็นเด็กของเธอทำให้เราเผลอยิ้มออกมา

สิ่งที่อารอบและคนนาหมื่นศรีตั้งใจสานต่อ ได้สัมฤทธิ์ผลผ่านวาจาและแววตาบริสุทธิ์เบื้องหน้าเราแล้ว

‘เซ็นทรัล ทำ’ (Central Tham) คือโครงการที่ทุกคนในองค์กรเซ็นทรัลร่วมมือกันทำ ภายใต้แนวคิด CSV (Creating Shared Values) เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พนักงานและสังคมอย่างยั่งยืน 

โดยจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับกรอบแนวคิดความยั่งยืนขององค์กร (Sustainable Framework) ใน 4 ด้าน คือ 

People (การศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน) Prosperity (การสร้างรายได้ให้ชุมชนในเรื่องการพัฒนาสินค้าชุมชน) Planet (คุณภาพสิ่งแวดล้อม) และ Peace and Partnership (ความสงบสุข ศิลปวัฒนธรรม และความร่วมมือ) เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ