‘นาหมื่นศรี’
เป็นตำบลหนึ่งของจังหวัดตรัง ที่มีภูเขาลูกใหญ่เป็นฉากบังหลัง เบื้องหน้ามีผืนนาสีเขียวขจีไกลสุดลูกหูลูกตา ยามตะวันใกล้ลาลับขอบฟ้าจะสาดส่องแสงสีทองอำไพ เป็นความสวยงามจากธรรมชาติที่คนเมืองหาดูได้ยาก
คนส่วนใหญ่รู้จักที่นี่ในฐานะแหล่งผลิตข้าวมากที่สุดของจังหวัดตรัง ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งทอผ้าที่ใหญ่ที่สุด มีประวัติศาสตร์กว่า 200 ปี จน ‘ผ้าทอนาหมื่นศรี’ มีชื่อเสียงทั่วประเทศ

มาเยือนตรังทั้งที เราไม่พลาดพาคุณไปทำความรู้จักผ้าทออายุยืน ผ่านศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อารอบ เรืองสังข์ ประธานวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ทายาทรุ่นสามของครอบครัวทอผ้า คอยต้อนรับและเล่าเรื่องราวผ้าทอบรรพบุรุษในความทรงจำ ตลอดจนการปรับตัวของศิลปินทอผ้ากับยุคสมัย หยิบเทคโนโลยีมาสานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิม และชวนเด็กฟันน้ำนมในชุมชนมาเป็นมัคคุเทศก์ตัวน้อย เพื่อหวังให้พวกเขาเรียนรู้และซึบซับมรดกของเมืองตรัง
ชิมขนมโคไส้น้ำตาลมะพร้าวสูตรปักษ์ใต้ให้อิ่มท้อง แล้วออกไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ้าทอ 200 ปีพร้อมกัน

เพราะรัก จึงทอ
“ผ้าทอนาหมื่นศรีเขาจะทอให้คนที่เขารัก” ทายาทรุ่นสามของครอบครัวทอผ้าพูดด้วยรอยยิ้ม
สมัยก่อนหญิงสาว 1 คนจะทอผ้า 3 ผืนในหนึ่งช่วงชีวิต ‘ผ้าตั้ง’ เป็นผ้าผืนแรกที่ผู้หญิงต้องทอ เป็นผ้าใส่พานเตรียมไว้สำหรับเจ้าบ่าวที่จะแต่งงานด้วย ‘ผ้าห่ม’ เป็นผ้าผืนที่สองของคนเป็นแม่ ทอเป็นผ้าห่มนาคเตรียมไว้ให้ลูกชายบวช
ส่วน ‘ผ้าพานช้าง’ เป็นผ้าผืนสุดท้ายที่ย่า-ยายทอเตรียมไว้ 2 ชุด สำหรับพาดโลงศพของตนเองและสามี มีความเชื่อว่าผ้าทอผืนเล็กที่เย็บต่อกันเป็นผ้าพาดเปรียบเสมือนบันไดขึ้นสู่สวรรค์ หลังจบงาน ถ้าไม่ถวายผ้าทอให้พระ ลูกหลานจะตัดแบ่งกันเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก และบางครั้งชาวบ้านก็ทอผ้าเพื่อนับจำนวนลูก บางทีผ้าทอก็บอกฐานะคนใส่ด้วย
เพราะรัก จึงทอ ทอจากจิตวิญญาณของความเป็นผู้หญิง

เพราะไม่มีเอกลักษณ์ จึงทำ
สาวนาหมื่นศรีทอผ้าด้วยความรัก จึงจับมือกันสร้างกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี มี คุณยายกุศล นิลลออ เป็นหัวหน้ากลุ่มคนแรกและได้รับเลือกเป็นครูแห่งภูมิปัญญาไทย ภายหลังท่านเสียชีวิต อารอบเลยรับช่วงต่อมรดกบรรพบุรุษเรื่อยมา
จากการรวมกลุ่มของเพื่อนหญิงพลังหญิง สู่วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีและศูนย์การเรียนรู้ชุมชน
ก่อนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อารอบถูกถามว่า ‘เอกลักษณ์ผ้าทอนาหมื่นศรีคืออะไร’ เธอตอบคำถามนั้นไม่ได้ จึงมีแรงผลักดันให้เกิดการทำวิจัยผ้าทอที่มีประวัติกว่า 200 ปีของชุมชนขึ้นมา เธอเริ่มค้นหาข้อมูล คุยกับย่า-ยายช่างทอในชุมชนถึงผ้าทอในอดีต จนเก็บรวบรวมเรื่องราวและผ้าเก่าได้มากพอจะตอบคำถามนั้น

“ผ้าสีแดงเหลืองเป็นเอกลักษณ์ของนาหมื่นศรี มีโครงสร้างผ้าเป็นภาษาใต้ทั้งหมด มีริมตีน แม่แคร่ ลูกเกียบ ชายรุ่งริ่ง และหน้าผ้า ส่วนลายผ้าเราเจอมากถึงสามสิบเก้าลาย อีกอันเราเพิ่งค้นพบว่า สมัยก่อนย่า-ยายเขาทอผ้าให้หลานออกพราน มีโจงกระเบนหนึ่งผืน ผ้าพาดบ่าหนึ่งผืน” อารอบอธิบายใจความของคำตอบสำคัญด้วยความคล่องแคล่ว
เพราะไม่มีเอกลักษณ์ จึงทำ ทำด้วยศรัทธาจากหัวใจ
เพราะเห็นคุณค่า จึงบำรุงรักษา

คำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่รวบรวมอยู่ในพิพิธภัณฑ์นาหมื่นศรีบนอาคารไม้ของโรงเรือนทอผ้า เพื่อเก็บเป็นมรดกโบราณ จน พ.ศ. 2558 อาคารเดิมเก่าชำรุด กลุ่มเซ็นทรัลเลยอาสาปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์และร้านผลิตภัณฑ์ชุมชน

พร้อมจัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาและรวบรวมลายทอผ้านาหมื่นศรีที่มีอายุมากกว่า 200 ปี ตลอดจนกลุ่มเซ็นทรัลทำ (Central Tham) มาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เพื่อหวังสืบทอดภูมิปัญญาและชวนคนไทยมาเห็นคุณค่าของผ้าทอเมืองตรัง แถมชวนเยาวชนรุ่นจิ๋วในชุมชนมาเป็นส่วนหนึ่งด้วย
“เขาเน้นตลอดว่า เขามาสอนเราหาปลา มีเครื่องมือกับความรู้ให้เรา อย่างอื่นเขาไม่มีให้
“เราสัญญาว่าจะเป็นกลุ่มที่น้ำไม่เต็มแก้ว” ผู้นำหญิงของกลุ่มบอกกับเราด้วยความจริงใจ
ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีแบ่งพื้นที่การใช้งานออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นโรงเรือนทอผ้าอยู่ด้านหน้าคอยต้อนรับแขก ถัดไปอีกนิดมีร้านค้าผลิตภัณฑ์ผ้าทอ บรรจุข้าวของเครื่องใช้ที่แปรรูปจากผ้าผืนสารพัดแบบ และไฮไลต์ที่อยากชวนมาดูอยู่ด้านบนโรงเรือนทอผ้า เป็นมิวเซียมผ้าทอนาหมื่นศรีขนาดกะทัดรัดที่เก๋สุดในตรัง


เพราะอยากให้ซึบซับ จึงเน้นเรื่องความรัก

อารอบพาเราเดินขึ้นชั้น 2 ของอาคารไม้ ด้านในแบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องแรกทาสีขาวเพื่อฉายสไลด์ข้อมูลคล้ายกับเดินอยู่มิวเซียมทันสมัยของญี่ปุ่น เหมาะกับการแชะภาพเป็นที่ระลึกก่อนเดินทะลุเข้าไปทำความรู้จักผ้าทอ
“เราไม่ค่อยคุ้นชิน ดีใจที่บางเรื่องเราล้าสมัยนิดหนึ่ง แต่บางเรื่องเราก็ต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยได้ด้วย”

เราเดินเพียงไม่กี่ก้าวก็เจอส่วนพิพิธภัณฑ์ มีเด็กฟันน้ำนมพ่วงตำแหน่งมัคคุเทศก์น้อยยืนเรียงหน้ากระดานตามลำดับความสูงมาก-น้อย อยู่ 5 คน เพชร-เพชรลดา แท่นมาก (12 ขวบ) นน-นนทพร เชยชื่นจิตร (11 ขวบ) นิ้ง-กมลวรรณ เชยชื่นจิตร (8 ขวบ) คิน-นครา สืบเพ็ง (9 ขวบ) และสตางค์-ประชิตา เอียดจุ้ย (9 ขวบ) หลังจากแนะนำตัวเสร็จสรรพ แก๊งจิ๋วก็สลายตัวและสาวเท้าอย่างเร็วเพื่อประจำฐาน เป็นภาพชวนหัวและประทับใจในคราวเดียว
ป้ารอบส่งยิ้มเป็นกำลังใจให้มัคคุเทศก์ ก่อนเสริมให้เราฟังว่า “กลุ่มพยายามถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เด็กรุ่นใหม่ในชุมชน ถ้าให้ทอผ้าเขาคงไม่ชอบ เลยเปลี่ยนวิธีให้มาเล่าเรื่องของปู่ย่าตายายแทน เพราะบางคนย่า-ยายทอผ้าอยู่แล้ว เราอยากให้เขาซึบซับและรับความรู้ตรงนี้ต่อจากเรา มันเป็นสิ่งดีงามที่เกิดจากความรักของบรรพบุรุษที่ส่งต่อกันมา”
เพราะอยากให้มาเยือน จึงมีแต่เรื่องสนุก


ส่วนแรกเป็นการเล่าถึงเอกลักษณ์ของผ้าทอนาหมื่นศรี เดินไปอีกหน่อยมีเด็กชายตัวสูงคอยอธิบายเรื่องผ้า 3 ผืนที่หญิงสาวหนึ่งคนต้องทอในหนึ่งช่วงชีวิต ข้างกันเป็นหุ่นสวมผ้าทอแสดงประเภทผ้า เขยิบอีกนิดเป็นการแบ่งผ้าตามการใช้งาน คนนาหมื่นศรีแบ่งผ้า 3 แบบ มี ‘ผ้านุ่ง’ เป็นผ้าถุงและโสร่ง บ้างก็เป็นโจงกระเบน ‘ผ้าพาดหรือผ้าห่ม’ ลักษณะผืนแคบ เป็นสไบห่มทับเสื้อ ลักษณะผืนกว้าง นิยมโพกศีรษะและคาดเอว ส่วน ‘ลูกผ้า’ ผืนจตุรัส ใช้รองกราบ

ความสนุกอยู่ตรงลายผ้าทอนาหมื่นศรี สร้างสรรค์จนขอยกให้เป็นเบอร์หนึ่ง การนำเสนอก็ทันสมัยกินขาด เพราะมีล้อเลื่อนพร้อมจอแสดงผล เลื่อนจอสี่เหลี่ยมไปหยุดอยู่ตรงลายตัวอย่างผืนไหน หน้าจอจะป๊อปอัปข้อมูลน่ารู้แสดงผลทันที นอกจากเราจะตื่นตากับเทคโนโลยีแล้ว มัคคุเทศก์น้อยก็ยิ้มไม่หุบ เลื่อนจอพร้อมเล่าได้คล่องปร๋อจนต้องยกนิ้วให้

อารอบเดินมาหยุดอยู่ตรงลายผ้าของ คุณยายฝ้าย สุขคง บัณฑิตลายผ้าทอของนาหมื่นศรี อย่างลายพานรัฐธรรมนูญ เป็นลายที่คุณยายฝ้ายได้แรงบันดาลใจจากการเที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญ จังหวัดตรัง (งานกาชาด) หากมองระยะไกลคล้ายลายผ้าดอกเล็กต่อกัน ถ้าเขยิบสายตาเข้ามาเพ่งจะเป็นพานแว่นฟ้าที่แอบซ่อนความหมายเอาไว้
นอกจากลายพานรัฐธรรมนูญแล้ว ยายฝ้ายยังทอลายตุ๊กตา ลายครุฑ และนกการเวกด้วย

ถ้าคุณคิดว่าการทอลายล้ำสมัยนั้นเจ๋งจนต้องคารวะ ขอพามารู้จักการทอผ้าร้อยเรียงเป็นประโยคของ คุณยายเยื้อน ทองนวน ที่ทอผ้าพานช้างลายประสม ต้นแบบลายจากคุณยายฝ้าย ใจความว่า ‘ทรงพระเจริญตลอดไป ฝ้าย สุขคง ที่อยู่ 130 หมู่ 4 ต.นาหมื่นศรี อ.เมือง จ.ตรัง’ แถมทอลายครุฑประสมนกการเวก 3 ช่อง ต่อลายพานรัฐธรรมอีก 1 ช่อง
ประธานกลุ่มยังเล่าความอัจฉริยะของครูช่างสมัยก่อนว่า มีการว่ากลอนลงบนผืนผ้าทอ คล้ายเพลงอีแซว จนพี่บ่าวบางคนเห็นสาวนุ้ยนุ่งผ้าผืนสวยไปดูมโนราห์ถึงกับแซวว่า ‘ขอผ้านุ่งไปกินข้าวด้วยได้หม้าย’ จีบยุคเก่า แต่ได้ผลนักแล


หากสังเกตผ้าทอนาหมื่นศรีจะเน้นลวดลายจากธรรมชาติ เช่น ลายปลา ลายท้ายมังคุด ลายช่อลอกอ (ช่อมะละกอ) ฯลฯ บางลายเกี่ยวกับดอกไม้ เพราะมีคำว่า ‘แก้ว’ พ่วงอยู่ด้วย เช่น ลายแก้วกุหลาบ ลายแก้วชิงดวง เป็นวงกลมสองดวงคล้องกัน ทอยากมาก ช่างทอยุคใหม่ต้องแกะลายจากผ้าทอช่างครูอยู่ 2 ปีถึงจะทอเหมือนต้นฉบับ
“เราเน้นกับช่างทอเสมอว่า ผ้าทอทุกผืนที่สวยงามแบบนั้น เพราะคนทอเน้นความรัก ถ้าคุณจะขายคุณค่า ต้องใส่ความรักของคุณลงไปด้วย อีกนัยเพื่อบอกผู้บริโภคด้วยว่าทุกอย่างเรามอบให้เขาด้วยความรัก” อารอบเสริม

จุดหมายสุดท้ายเรายืนหน้าตู้หุ่นแสดง ‘ผ้าลายมรดกสู่โมเดิร์นนาหมื่นศรี’ เป็นการเอาลายท้ายมังคุดมาตัดเย็บเป็นผ้าพันคอ สูทสุดเท่ลายเม็ดแตง ผ้าทอลายลูกแก้วกลายเป็นชุดสุภาพสตรี แต่งด้วยผ้าเช็ดหน้าลายแก้วชิงดวง การจัดแสดงทำให้เห็นว่าผ้าทอบรรพบุรุษมีศักยภาพมากพอจะก้าวเดินสู่ระดับสากล เพื่อบอกกล่าวความภูมิใจจากรุ่นสู่รุ่น

มัคคุเทศก์ตัวจิ๋วพาเราเดินลงบันไดมานั่งบนแคร่ไม้ไผ่ชั้นล่าง ขนมโคไส้น้ำตาลมะพร้าวสูตรปักษ์ใต้ยังพอมีเหลือให้เติมพลัง ยิ่งซดน้ำเสาวรสเปรี้ยวนิดหวานหน่อยตาม ช่างสดชื่นได้แรงอก อารอบเดินลงมาสมทบ ก่อนจบบทสนทนา
“ความฝันของป้ารอบคือการรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมให้คงอยู่ พัฒนาให้คนรู้จักผ้าทอภาคใต้มากที่สุด ถ้าเราจากโลกนี้ไปแล้ว จะส่งไม้ต่อยังไงให้เด็กรุ่นใหม่ซึบซับและรักมันจริงจากหัวใจ ให้เขาสืบสานและต่อยอดมรดกของปู่ย่าตายายที่สร้างไว้ให้พวกเขา ปัจจุบันคนในชุมชนเรามีรายได้เพิ่มขึ้น คนหันกลับมาทำงานในบ้านเกิด เรามีภาคีเครือข่ายเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ พึ่งพาเอื้อเฟื้อกัน สุดท้ายเขาไม่ได้รักอารอบคนเดียว แต่เขาจะรักชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีด้วย”
“หนูภูมิใจในตัวเองมากเลยค่ะ อยากบอกกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีว่าหนูจะเป็นไกด์ที่ดีที่สุดนะคะ”
สตางค์ มัคคุเทศก์วัย 9 ขวบ พูดด้วยน้ำเสียงสดใส ความเป็นเด็กของเธอทำให้เราเผลอยิ้มออกมา
สิ่งที่อารอบและคนนาหมื่นศรีตั้งใจสานต่อ ได้สัมฤทธิ์ผลผ่านวาจาและแววตาบริสุทธิ์เบื้องหน้าเราแล้ว
‘เซ็นทรัล ทำ’ (Central Tham) คือโครงการที่ทุกคนในองค์กรเซ็นทรัลร่วมมือกันทำ ภายใต้แนวคิด CSV (Creating Shared Values) เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พนักงานและสังคมอย่างยั่งยืน
โดยจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับกรอบแนวคิดความยั่งยืนขององค์กร (Sustainable Framework) ใน 4 ด้าน คือ
People (การศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน) Prosperity (การสร้างรายได้ให้ชุมชนในเรื่องการพัฒนาสินค้าชุมชน) Planet (คุณภาพสิ่งแวดล้อม) และ Peace and Partnership (ความสงบสุข ศิลปวัฒนธรรม และความร่วมมือ) เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน