เมื่อบ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี คฤหาสน์ทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีริมถนนนครสวรรค์ถูกบูรณะครั้งใหญ่ อาคาร พื้นที่นี้เคยถูกโรงแรมและร้านกาแฟยื่นข้อเสนอมามากมาย เป็นข้อเสนอที่มีมูลค่ามหาศาล แต่ข้อเสนอก็ถูกเจ้าของบ้านปฏิเสธไปจนหมด โดยให้เหตุผลว่าหากรับข้อเสนอคนที่ได้ผลประโยชน์จะมีแต่เขาเท่านั้น แต่สาธารณะจะไม่ได้อะไรเลย

สุดท้ายเมื่อบ้านบูรณะเสร็จเรียบร้อยและกลายเป็นพื้นที่สาธารณะในชื่อว่า ‘Bangkok 1899’ กลับมีคาเฟ่หนึ่งที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังนี้

Na at Bangkok 1899

คาเฟ่นี้ชื่อว่า ‘Na at Bangkok1899’ ต้องยอมรับว่าไม่ใช่คาเฟ่ที่พูดชื่อขึ้นมาแล้วจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และสิ่งแรกสุดที่ผมสงสัยคือ จะต้องเป็นคาเฟ่แบบไหนถึงจะมาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังนี้ได้

Na at Bangkok 1899

Na at Bangkok1899 เป็นโปรเจกต์ของ เกรท-เสกสรร รวยภิรมย์ และ ฮิม-ดิลกลาภ จันทโชติบุตร ที่ทั้งคู่มีความตั้งใจอยากทำคาเฟ่เพื่อสังคม ก่อนที่ความตั้งใจนั้นจะดึงดูดให้ทั้งคู่มาพบเจอกับบ้านหลังนี้

คาเฟ่ในบ้านเก่าทรงสวยอายุร้อยกว่าปี

แค่นี้ก็นับว่าน่าสนใจแล้วสำหรับผม

แต่คาเฟ่นี้เป็นมากกว่านั้น

เป็นคาเฟ่แบบ Zero Waste ไร้ขยะ

เป็นคาเฟ่ที่ใช้แต่วัตถุดิบท้องถิ่น

เป็นคาเฟ่ที่สร้างความเป็นชุมชน

และเป็นคาเฟ่ที่สร้างแรงกระเพื่อมเล็กๆ ให้กับจิตใจของคน

Na at Bangkok 1899 Na at Bangkok 1899

Na at Bangkok 1899

เกรทเกิดและโตที่อเมริกา เป็นนักเรียนแพทย์ที่สุดท้ายแล้วไม่ได้เป็นแพทย์รักษาคนอย่างที่เรียนมา เขามีความฝันอยากทำมูลนิธิตั้งแต่เด็ก ชอบกิจกรรมที่ช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะเรื่องปัญหาเรื่องการศึกษาและสุขภาพของเด็กไร้บ้านและเด็กที่ด้อยโอกาส สุดท้ายเกรทย้ายมาเมืองไทยถาวรเพื่อทำมูลนิธิชื่อ ‘สติ’ ของตัวเองเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ส่วนฮิมเป็นคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการแฟชั่น และสายอาชีพครีเอทีฟ ทั้งสองคนคิดที่จะทำคาเฟ่ในรูปแบบที่แทบจะไม่กล้ามีใครทำในบ้านเรา

“ผมเสนอไปว่าผมมีคาเฟ่แบบที่ผมอยากทำอยู่ ให้นิยามมันว่า Creative Social Impact Cafe” เกรทเล่าความคิดเริ่มต้นที่เขาเสนอต่อเจ้าของบ้าน

Na at Bangkok 1899

“ความครีเอทีฟส่วนใหญ่จะมาจากทางฮิม ส่วนผมจะเน้นในเรื่องทางสังคม เราคิดเอาไว้ว่าเราอยากให้ความครีเอทีฟมันเกิดขึ้นในสิ่งที่เราทำได้ อย่างเช่นเครื่องดื่มหรืออาหาร ให้ศิลปิน เชฟ หรือแม้แต่คนในชุมชน มาช่วยกันสร้างเมนูในร้าน”

ก่อนที่เขาจะอธิบายต่อเมนูเครื่องดื่มน้ำโซดาผสมไซรัปเสาวรส สะระแหน่ และพริก ถูกเสิร์ฟมาในแก้วใสพร้อมหลอดกระดาษ วางรองด้วยใบตองตัดสี่เหลี่ยมขนาดแบบที่รองแก้วมาตรฐาน

Na at Bangkok 1899

“เช่นเมนูนี้ทำจากน้ำเชื่อมที่เราทำเวิร์กช็อปกับเด็กๆ ให้เอาวัตถุดิบที่ปลูกเองในสวนของเรามาทำ โดยปกติตามร้านกาแฟก็จะต้องน้ำเชื่อมอยู่แล้ว เราเลยใช้น้ำเชื่อมเป็นตัวเชื่อมต่อกับคน ใช้ของที่เรามีในแปลงของเราเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์”

ผมจิบเครื่องดื่มสีเหลืองสดตาม รสหวานเปรี้ยว ซ่า เจือเผ็ดเล็กน้อย ช่วยลดความร้อนอบอ้าวจากอากาศข้างนอกได้ชะงัดนัก

ความน่าสนใจของ Na at Bangkok 1988 นอกจากความสร้างสรรค์ของเมนู พวกเขายังเน้นเรื่องสำคัญ 2 อย่าง อย่างแรกคือ ความเป็นท้องถิ่น และอย่างที่สองคือ การทำ ‘นา’ ให้เป็นคาเฟ่ไร้ขยะที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น เครื่องดื่มที่จะอยู่ในคาเฟ่จะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ

Na at Bangkok 1899 Na at Bangkok 1899

Na at Bangkok1899 มีกาแฟ โกโก้ เสิร์ฟเป็นเครื่องดื่ม วิธีเลือกกาแฟของนาก็ไม่ใช่เลือกที่รสชาติอย่างเดียว

“เราเลือกสิ่งที่เราใช้จากสิ่งที่เขาทำ กาแฟก็ใช้กาแฟที่ปลูกในไทย ได้จาก School Coffee พาร์ตเนอร์ที่สนับสนุนกัน เราชอบที่นอกจากเขาจะลงพื้นที่ไปดูแลกาแฟแล้ว เขายังช่วยชาวบ้านพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย ซึ่งมันมากกว่าการไปทำกาแฟอีก” ฮิมเล่าวิธีการตัดสินใจเลือกใช้กาแฟในร้านที่มากกว่ารสชาติไปอีกขั้น

Na at Bangkok 1899 Na at Bangkok 1899

“เรามีเมนูคอมบูฉะจากสับปะรดและมะม่วงในสวนหลังบ้าน จะลองสูตรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และเราพยายามจะใช้ทุกส่วนของผักและผลไม้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะใช้ได้ อย่าง Tepache เป็นเครื่องดื่มของเมืองร้อนอย่างแถวอเมริกาใต้ จะใช้เปลือกของสับปะรดที่เหลือ เปลือกสับปะรดมียีสต์ธรรมชาติอยู่ในตัว เอามาหมักผสมกับน้ำตาลมะพร้าวทิ้งประมาณ 2 วันจะเริ่มมีความซ่า ทั้งคอมบูฉะและเทปาเช่จะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายของเราดีขึ้นมาก” เกรทผู้สนใจศาสตร์การหมักยกตัวอย่างหนึ่งในของหมักที่เขาทดลองทำ

“ในช่วงแรกยังคงมีแค่เครืองดื่ม ส่วนต่อไปจะมีอาหารเพิ่มเติมในเมนูเป็นอาหารจานเดียวที่กินง่าย ทานได้ทุกวัน ใช้ของที่เรามีในแปลงผักและวัตถุดิบท้องถิ่นเป็นหลัก

Na at Bangkok 1899

“ทุกเดือนเราจะจัดกิจกรรม Na’s Test Kitchen เป็นอีเวนต์พิเศษ โดยเราจะชวนผู้หลงใหลในการทำอาหาร ทั้งเชฟมืออาชีพและมือสมัครเล่น จะเป็นอาหารสัญชาติไหนก็ได้ โดยที่มีข้อแม้คือต้องใช้วัตถุดิบไทยเท่านั้นมาทำอาหารสไตล์ของพวกเขา อย่างที่ผ่านมาเราจัด Na’s Test Kitchen โดยให้เชฟที่ทำอาหารอิตาลีแท้แบบต้นตำรับมาประยุกต์เป็นอาหารอิตาลี-ไทย 4 คอร์ส ที่ใช้วัตถุดิบออร์แกนิกในไทยมาปรุงเป็นอาหาร” เกรทเล่า

รายได้ที่ได้จากทั้งในคาเฟ่และอีเวนต์พิเศษจะถูกนำไปช่วยมูลนิธิ ‘สติ’ เพือช่วยเหลือเรื่องสุขภาพและการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสต่อไป

สิ่งเล็กๆ ที่ผมเห็นในคาเฟ่นี้และคิดว่าน่ารักดีคือ กระดาน Suspended Beverages ที่ติดอยู่บนผนัง Suspended Baverages คือการซื้อเครื่องดื่มเพื่อคนอื่นล่วงหน้า เช่นถ้าเราสั่งกาแฟ 1 แก้ว แต่เราจะจ่ายในราคา 2 แก้ว แก้วหนึ่งเราจะได้ทานในร้าน ส่วนอีกแก้วหนึ่งทางร้านก็จะเขียนไว้บนบอร์ดว่าวันนี้มีคนจ่ายเมนูไหนไว้ให้แล้วบ้าง ใครที่มานั่งในคาเฟ่และเห็นว่ามีเมนูบนกระดานก็สั่งมากินได้ฟรี

Na at Bangkok 1899

“ที่เราทำ Suspended Beverages ขึ้นมา เราอยากให้เป็นใครก็ที่จะเข้ามากินเมนูที่คนอื่นจ่ายไว้ให้แล้ว คนมักจะคิดว่าจะต้องเป็นคนยากไร้ เด็กเร่ร่อน แต่ก็ไม่จำเป็น อาจจะเป็นคุณลุงในชุมชนที่มานั่งเล่นหมากรุก หรือเด็กนักเรียนที่มานั่งอ่านหนังสือแล้วเห็นว่ามีเมนูบนกระดานก็สั่งมากินได้ สิ่งที่เราอยากสร้างนั้นคือความรู้สึกทำเพื่อคนอื่นตั้งแต่คิดจะจ่ายเงินแล้วมากกว่า” เกรทเล่าถึงความตั้งใจ

ผมได้คำตอบที่ค่อนข้างชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าคาเฟ่จะอยู่ในบ้านหลังนี้จะต้องเป็นอย่างไร แต่เกรทบอกว่า ที่เริ่มไว้มันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ความตั้งใจคืออยากให้ใครก็ได้เข้ามาที่คาเฟ่ โดยเฉพาะคนในชุมชนใกล้ๆ อย่างชุมชนนางเลิ้ง เพราะสุดท้ายแล้วสังคมช่วยกันสร้างว่าคาเฟ่จะต้องมีอะไรบ้าง จะไปทิศทางไหน หน้าตาของอาหารและเมนูจะออกมาเป็นอย่างไร เหมือนได้ช่วยทำ ‘นา’ ไปด้วยกัน

Na at Bangkok 1899

Na at Bangkok 1899

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์
ถนนนครสวรรค์
เปิด-ปิด 10.00 – 19.00 น. (หยุดวันจันทร์)
FB Na at Bangkok 1899

Writer & Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2