“ขยะคือแหล่งทรัพยากรที่วางผิดที่ ถ้าวางที่คุณคือขยะ ถ้าวางที่เราคือวัตถุดิบ”

นี่คือคำพูดของ สมบูรณ์ กิตติอนงค์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท N15 Technology ผู้รับหน้าที่หาทางไปให้ขยะไร้มูลค่าที่ไม่มีร้านรับซื้อของเก่าไหนรับซื้อ และทำให้ขยะเหล่านั้นกลับมามีคุณค่าอีกครั้ง

เปล่า… เราไม่ได้พูดถึงการอัปไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน

แต่เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า RDF หรือ ‘Refuse-derived Fuel’ ซึ่งหมายถึงขยะที่นำไปเป็นเชื้อเพลิงสร้างพลังงาน เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกทดแทนถ่านหินในโรงไฟฟ้าและโรงปูนซีเมนต์

หากคุณรู้จักสิ่งนี้อยู่แล้ว เราก็อยากชวนให้มาทำความรู้จักผู้อยู่เบื้องหลังเส้นทางนี้มากขึ้น

แต่ถ้าคุณยังไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน เราก็อยากชวนให้มารู้จัก เพราะมันคือวิธีที่จะช่วยให้ซองขนมหรือแก้วกาแฟในมือคุณไม่ต้องไปจบชีวิตที่บ่อขยะ

สมบูรณ์ กิตติอนงค์ N15 Technology ผู้รับอุปการะขยะกำพร้าทั่วไทยไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน

ขยะกำพร้าคืออะไร

“ผมไปบ่อขยะมาแล้วทั่วประเทศ จริง ๆ แล้วเราไม่ควรเรียกว่าบ่อขยะ แต่ควรเรียกว่า ‘ภูเขาขยะ’ มากกว่า เพราะมันไม่ใช่การฝังกลบ แต่คือการเทกองรวมกันเป็นภูเขา”

แน่นอนว่าผลที่ตามมา คือขยะเศษเล็กเศษน้อยปลิวว่อนไปไหนมาไหนได้ ถ้าฝนตกก็ถูกพัดลงแหล่งน้ำ ไหลออกสู่ทะเล และอาจไปติดในท้องเต่าสักตัวจนตาย นอกจากนั้น ฝนที่ตกลงมาสู่ภูเขาขยะยังทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘น้ำชะขยะ’ (Leachate) ซึ่งเต็มไปด้วยเชื้อโรค ไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดิน แถมด้วยสารพิษจากโลหะหนักถ้าภูเขาขยะกองนั้นมีขยะอันตราย

เมื่อขยะไม่เคยหายไป และมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น แล้วเราจะทำยังไง

จริงอยู่ ขยะส่วนหนึ่งรีไซเคิลได้ ขยะอินทรีย์ทำปุ๋ยได้ พลาสติกบางประเภทก็มีโครงการรับไปอัปไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเหลือขยะอีกกลุ่มใหญ่ที่ไม่มีใครนำไปจัดการได้ นั่นคือที่มาของชื่อ ‘ขยะกำพร้า’

ตัวอย่างของขยะกลุ่มนี้มีให้เห็นรอบตัว เช่น ถุงแกง ถุงพลาสติกกรอบ ๆ ซองเครื่องปรุง ชามกระดาษเคลือบพลาสติก หน้ากากอนามัยสำหรับผู้ไม่ติดเชื้อ เสื้อผ้าเก่าขาดรุ่งริ่ง เทปกาวที่ลอกจากกล่องพัสดุ โฟมห่อผลไม้ หลอดยาสีฟัน แผงยาและยาเม็ดหมดอายุ เศษเชือกฟาง ฯลฯ

สมบูรณ์ กิตติอนงค์ N15 Technology ผู้รับอุปการะขยะกำพร้าทั่วไทยไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน

ข้อดีของขยะเหล่านี้คือติดไฟได้ จึงใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน ซึ่งบริษัท N15 Technology คือผู้รับหน้าที่เป็นตัวกลางจัดการขยะเหล่านี้ โดยนำเข้าเครื่องบดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยชิ้นที่เล็กกว่า 5 เซนติเมตร จะถูกส่งไปโรงปูนซีเมนต์ ส่วนขยะที่มีขนาดราว 10 เซนติเมตร จะถูกส่งไปให้โรงไฟฟ้า เผาขยะเหล่านี้ในระบบปิดด้วยอุณหภูมิสูง 1,200 องศาเซลเซียส ซึ่งจะปล่อยมลพิษน้อยกว่าการเผาไหม้ธรรมดา

“เราจะเห็นข่าวบ่อขยะไฟไหม้ประจำทุกปี ซึ่งการเผาไหม้ในที่โล่งแบบนี้ อุณหภูมิจะอยู่แค่ 500 – 700 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเกิดสารไดออกซินที่เป็นสารก่อมะเร็ง แต่ถ้าเผาในระบบปิดที่อุณหภูมิเกินพันองศาเซลเซียส สารพิษหลายชนิดถูกเผาไหม้หายไป และโรงงานพวกนี้ก็เป็นโรงงานใหญ่ที่มีมูลค่าจดทะเบียนเป็นพันล้าน เขาจะมีระบบควบคุมมลพิษที่ข้อมูลเชื่อมกับกรมอุตสาหกรรม 24 ชั่วโมง เขาจึงไม่มาเสี่ยงกับการปล่อยมลพิษที่อาจทำให้ต้องถูกสั่งปิดโรงงาน”

แม้โรงงานปัจจุบันที่ชลบุรีจะมีกำลังผลิตขยะเชื้อเพลิงวันละ 200 ตัน และโรงงานใหม่ที่สระบุรีมีกำลังผลิต 1,000 ตันต่อวัน แต่นั่นก็ยังทดแทนถ่านหินได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์

สมบูรณ์ กิตติอนงค์ N15 Technology ผู้รับอุปการะขยะกำพร้าทั่วไทยไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน

เส้นทางขยะกำพร้า

ภูเขาขยะที่ผ่านเครื่องบดจนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยตรงหน้าเรานี้ คือปริมาณขยะพลาสติกที่ไม่ต้องไปกองอยู่ในภูเขาขยะ

ที่มาของวัตถุดิบในภูเขานี้ มาจาก 4 แหล่งหลักด้วยกัน หนึ่ง คือขยะจากอุตสาหกรรมที่ทางโรงงานติดต่อไว้ สอง คือบริษัทต่าง ๆ ที่ส่งของเหลือใช้ที่เผาได้มา เช่น เครื่องแบบพนักงานเก่า เครื่องสำอางหมดอายุ ซีดีเก่า ฯลฯ สาม คือจากผู้รับเหมาที่ไปจัดการคัดแยกเศษขยะที่เผาได้จากบ่อขยะ และสุดท้าย คือจากคนทั่วไปสายแยกขยะที่ส่งขยะกำพร้ามาบริจาคจากทุกสารทิศ

เมื่อขยะเหล่านี้เดินทางมาถึงโรงงาน ขั้นตอนแรกคือจะมีเจ้าหน้าที่ดูด้วยตาคร่าว ๆ เพื่อแยกสิ่งที่เผาไม่ได้ออกไป เช่น แท่งเหล็ก กระเบื้องชิ้นใหญ่ ๆ หรือก้อนหินใหญ่ ๆ ที่บังเอิญติดเข้ามา จากนั้นขยะทั้งหมดจะเข้าสู่เครื่องบดหยาบเพื่อให้มีขนาดสม่ำเสมอ และส่งไปตามสายพาน ซึ่งจะมีพนักงานคอยคัดแยกอีกทีว่าไม่มีขยะที่ใช้ไม่ได้ปะปนมา เช่น โลหะ แก้ว กระเบื้อง พลาสติกพีวีซี ขยะอันตรายต่าง ๆ

สมบูรณ์ กิตติอนงค์ N15 Technology ผู้รับอุปการะขยะกำพร้าทั่วไทยไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน
สมบูรณ์ กิตติอนงค์ N15 Technology ผู้รับอุปการะขยะกำพร้าทั่วไทยไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน

“หลังจากนั้นก็จะเข้าเครื่องแม่เหล็กเพื่อแยกโลหะออก แล้วเข้าสู่ Disc Screen (เครื่องคัดแยกวัสดุแบบจาน) ที่หน้าตาคล้าย ๆ เครื่องคัดส้ม ขยะเบาจะผ่านไป ส่วนพวกแก้ว เซรามิก จะตกลงมา ตามด้วยระบบลมเพื่อเอาหินออก แล้วเข้าสู่เครื่องบดละเอียด”

สาเหตุที่ไม่รับแก้ว โลหะ เซรามิก เนื่องจากติดไฟไม่ได้ อีกทั้งยังทำให้ใบมีดเครื่องบดสึกหรอ ซึ่งสมบูรณ์เล่าว่า ที่ผ่านมาใบมีดก็พังไปหลายอัน ค่าเปลี่ยนก็เป็นแสน ส่วนสาเหตุที่ไม่รับพลาสติกพีวีซีก็เป็นเพราะการเผาไหม้พลาสติกประเภทนี้ส่งผลกระทบต่ออิฐทนไฟในเตาเผา

นอกจากนั้น ปัจจัยสำคัญอีกอย่างของขยะที่จะเป็นเชื้อเพลิงก็คือ ต้องแห้ง เพราะใช้พลังงานน้อยกว่าในการติดไฟ ดังนั้นการส่งขยะกำพร้ามาบริจาค จึงต้องเทของเหลวที่บรรจุออกก่อน เช่น ซองน้ำปลา ซองพริกน้ำส้ม ถุงแกง และถ้ามีคราบเศษอาหารก็ขอให้ล้างและตากแห้งก่อนเพื่อไม่ให้เหม็นเน่า

ส่วนถ้ามีของเหลวเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ซองซอส ครีมหมดอายุ ยาสีฟันหลอดพลาสติก ก็พอหยวน ๆ ส่งมาได้ หรือพวกซองน้ำยาซักผ้าหรือน้ำยาล้างจานรีฟิล อาจไม่ต้องถึงขั้นล้างจนสะอาดเอี่ยม แค่ใช้น้ำยาให้หมด ตากแดดให้แห้ง แล้วส่งมาได้เลย

สมบูรณ์ กิตติอนงค์ N15 Technology ผู้รับอุปการะขยะกำพร้าทั่วไทยไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน
ภาพ : www.facebook.com/n15technology

จาก ‘กล่องพัสดุ’ สู่กิจกรรม ‘ขยะกำพร้าสัญจร’

การนำขยะแห้งมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงปูนเกิดขึ้นก่อนที่คำว่า ‘ขยะกำพร้า’ จะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเสียอีก แต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ขยะประเภทนี้ถูกส่งมาบริจาคจากคนทั่วไป เกิดขึ้นง่าย ๆ จากคอมเมนต์หนึ่งในเพจเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง

“ตอนนั้นผมไปเห็นเพจที่สอนการนำขยะมาทำ Eco-brick ผมเลยไปคอมเมนต์ว่า เราขอเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจัดการขยะ ใครที่ไม่สะดวกคัดแยกละเอียดก็ส่งมาที่เราได้ แล้วก็ใส่ชื่อและเบอร์โทรติดต่อไว้”

คำว่า Eco-brick ที่สมบูรณ์พูดถึง ก็คือการนำขยะที่รีไซเคิลไม่ได้มาตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วอัดลงในขวดพลาสติกให้แน่น ซึ่งคำว่า ‘แน่น’ นี้ หมายถึงต้องแน่นสุด ๆ ชนิดที่บีบไม่เข้า จนทำให้ขวดเหล่านี้แข็งแรงพอที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงอาคารหรือบ้านดินได้ แต่ปัญหาคือ การตัดขยะและอัดลงขวดต้องใช้เวลามาก จึงไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมทำแบบนั้น

จากคอมเมนต์นั้นเอง ก็ทำให้เริ่มมีคนติดต่อเข้ามา

“มีครูคนหนึ่งจากนครศรีธรรมราชโทรมาถามว่า อันนั้นรับไหม อันนี้รับไหม พอเราบอกว่ารับ เขาก็ส่งเป็นพัสดุมาให้ ระหว่างนั้นเขาก็โทรมาถามบ่อยมากว่าพัสดุถึงหรือยัง จนเราต้องถาม ทำไมโทรมาบ่อยจัง เขาก็ตอบว่า ครูกลัวว่าพัสดุจะไปตกหล่นที่ไหน และจะไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร… เราก็ตื้นตันมากว่ามันมีคนคิดอย่างนี้ด้วย”

ไม่ใช่แค่คนเดียว แต่ครูคนนั้นยังไปชวนคนอื่น ๆ ให้ร่วมส่งขยะกำพร้าเข้ามาด้วย พร้อมบอกว่า ดีใจที่ในที่สุดขยะเหล่านี้ก็มีทางไป ประกอบกับช่วงนั้น กระแสการแยกขยะเริ่มขยายวงกว้างขึ้น และมีเพจสายสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ช่วยกันบอกต่อ จนทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น และเขาก็ได้รับพัสดุขยะกำพร้าที่ส่งมาจากทั่วประเทศ

สมบูรณ์ กิตติอนงค์ N15 Technology ผู้รับอุปการะขยะกำพร้าทั่วไทยไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน
ภาพ : www.facebook.com/n15technology

จุดนั้นเองที่ทำให้เขาตัดสินใจเปิดเพจ โดยจุดประสงค์แรกก็เพียงเพื่อเอาไว้รายงานว่าได้รับพัสดุของใครแล้วบ้าง เพราะบางกล่องก็มีค่าส่งเป็นร้อย ลูกเพจบางคนถึงขนาดบอกว่า เขาตั้งงบเดือนละ 500 บาท สำหรับส่งขยะกำพร้าโดยเฉพาะ

“มีคนถามเยอะมากว่าทำไมไม่ตั้งจุดรับตามห้างเหมือนโครงการหลังคาเขียว คือผมก็เคยลองติดต่อเหมือนกัน แต่เราเป็นแค่เอกชนธรรมดา ไม่มีเส้นสาย ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็ไม่อยากให้เราใช้สถานที่ เพราะกลัวไปทำที่เขาสกปรก”

จนกระทั่งวันหนึ่ง ธีร์เมศ จิรอารีย์ชัย ผู้ก่อตั้งโครงการรักษ์กันคนละนิด ซึ่งเป็นสายแยกขยะตัวยง และเคยมาดูงานที่โรงงานพร้อมกับเพื่อน ๆ จากโครงการ Chula Zero Waste ก็ติดต่อสมบูรณ์เข้ามาพร้อมเสนอว่า ลองใช้บ้านของเขาแถวพระราม 9 เป็นจุดรับขยะกำพร้าแบบ Drive-through ไหม และนั่นก็เป็นจุดกำเนิดของกิจกรรมที่เรียกว่า ‘ขยะกำพร้าสัญจร’

“ตอนนั้นเราไม่ได้หวังอะไรมาก ผมส่งรถกระบะไปช่วย 1 คัน และมีรถของพี่เขาอีกคัน คิดแค่ว่าได้เต็มรถกระบะก็ดีใจแล้ว ปรากฏว่าวันนั้น เราจัดแค่ 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ 9 โมงถึงเที่ยง แต่รถผมต้องวิ่งขนขยะไปกลับโรงงานจนถึง 2 ทุ่ม คือคนมาเยอะกว่าที่คิดไว้มากๆ”

สมบูรณ์ กิตติอนงค์ N15 Technology ผู้รับอุปการะขยะกำพร้าทั่วไทยไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน

พอถึงการเตรียมการครั้งที่ 2 สมบูรณ์จึงเสนอว่าจิตอาสาอย่างเดียวไม่น่ายั่งยืน เพราะมันเหนื่อยและใช้เงินมาก แต่การหาทุนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเขาเป็นบริษัทเอกชน ธีร์เมศจึงเสนอทางออกง่าย ๆ ว่า ลองตั้งกล่องรับบริจาคค่าน้ำมันดีไหม ถ้ารอดก็ทำต่อ ถ้าไม่รอดก็หยุด ซึ่งครั้งที่ 2 นี้ เขาเปลี่ยนจากรถกระบะเป็นรถ 6 ล้อ

“ปรากฏว่ารถใหญ่เข้าบ้านไม่ได้ ทำให้ต้องใช้รถกระบะวนรับส่ง ทีมงานเลยเหนื่อยกันมาก ครั้งต่อมาเลยคุยว่าต้องเปลี่ยนสถานที่ ก็ได้ที่วัดพระรามเก้าฯ และคราวนี้เป็นรถ 18 ล้อ”

นับจากครั้งนั้น ก็มีเจ้าของสถานที่ต่าง ๆ ติดต่อเข้ามาเพื่อเสนอตัวเป็นจุดรับในกิจกรรมขยะกำพร้าสัญจรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำมันบางจาก โรงพยาบาลนครธน สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ฮาบิโตะมอลล์ บล็อก 28 สามย่าน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน เดอะสตรีท รัชดา ฯลฯ

“โรงพยาบาลนครธนนี่ลูกสาวเจ้าของโทรมาเองเลย วันจัดกิจกรรมเจ้าของก็ลงมาลุยเองด้วย หรือศูนย์ราชการฯ อธิบดีก็ส่งข้อความมาโดยตรง แถมให้เจ้าหน้าที่ติดต่อเพื่อขอมาดูงานที่โรงงาน ชื่อกรมผมก็เพิ่งเคยได้ยิน คือกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ตอนมาโรงงานอธิบดีก็มาเองด้วย ท่านเป็นกันเองมาก ตอนท่านไปงานสัมมนาที่ลาวก็ยังเก็บแก้วกาแฟมาส่งให้เรา”

กิจกรรมขยะกำพร้าสัญจร คือกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกวันเสาร์ เวลา 09.00 – 12.00 น. โดยแต่ละสัปดาห์จะหมุนเวียนไปตามสถานที่ต่าง ๆ บางสัปดาห์อาจมีวันศุกร์หรือวันอาทิตย์ด้วย ดูตารางได้จากเพจ N15 Technology

จากข้อมูลในเพจ แสดงกราฟที่โชว์ว่าในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ได้รับขยะจากกิจกรรมขยะกำพร้าสัญจรทั้งหมด 38.8 ตัน จากกิจกรรม 6 วัน 11 จุดรับ เฉลี่ยจุดละ 3.5 ตัน นี่คือปริมาณที่ทีมงานแต่ละจุดต้องขนลงจากรถ คัดแยกขยะที่รีไซเคิลได้ออก และขนขึ้นรถบรรทุก สมบูรณ์ฝากว่า หากผู้มาส่งขยะช่วยรวมขยะให้อยู่ในถุงเดียวกันให้ได้มากที่สุด ก็จะทุ่นแรงทีมงานให้ไม่ต้องเดินไปมาหลายรอบได้ อีกทั้งฝากให้ปิดถุงให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ตกหล่นเวลาขนส่ง

“ตอนจัดแรก ๆ เราก็คิดว่าคงไม่มีใครมาทิ้งกับเราหรอก แต่ปรากฏว่ามีคนคิดแบบเราเยอะมาก เรามีเพื่อนร่วมอุดมการณ์เยอะแยะเลย ก็รู้สึกว่าจริง ๆ ภาคเอกชนเขาพร้อมจะคัดแยกขยะนะ แต่ภาครัฐยังไม่มีช่องให้ทำ”

สมบูรณ์ กิตติอนงค์ N15 Technology ผู้สร้างระบบรับขยะกำพร้า (รีไซเคิลไม่ได้) นำไปเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า
สมบูรณ์ กิตติอนงค์ N15 Technology ผู้สร้างระบบรับขยะกำพร้า (รีไซเคิลไม่ได้) นำไปเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

ผู้จัดการขยะกำพร้า

จากบัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยทำงานที่บริษัท General Motors (Thailand) และเคยไปฝึกอบรมและทำงานอยู่ที่ต่างประเทศกว่าครึ่งปี สมบูรณ์ไม่เคยคิดฝันว่าวันหนึ่งจะต้องมาทำงานเป็นผู้จัดการขยะ

“จุดเริ่มต้นคืออยากกลับมาทำงานใกล้ ๆ บ้านเพื่อดูแลลูก เลยไปสมัครงานที่โรงปูน ชื่อตำแหน่งคือ Transfer Section Manager ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่าต้องทำเกี่ยวกับขยะ พอมารู้ทีหลังก็หันหลังกลับไม่ได้แล้ว ก็เลยต้องทำ”

หน้าที่ของเขาตอนนั้น คือการจัดหาขยะเพื่อเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์ งานนั้นพาเขาไปบ่อขยะทั่วประเทศ เพื่อหาผู้รับเหมาที่จะส่งขยะมาให้ รวมถึงติดต่อโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อรับสิ่งของเหลือทิ้งในโรงงานที่เผาไหม้ได้ จนกระทั่งได้ย้ายมาที่ N15 ซึ่งเป็นบริษัทกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายเพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน

บางคนอาจเคยสงสัยว่า บริษัทแห่งนี้นำขยะเชื้อเพลิงไปขายให้โรงปูนและโรงไฟฟ้า แต่ทำไมไม่จ่ายเงินให้ผู้มาบริจาคขยะ ซึ่งเขาก็อธิบายว่าขยะที่รับจากคนทั่วไปมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ จากขยะเชื้อเพลิงทั้งหมดที่โรงงานผลิตได้ และถ้ารวมกับค่าแรงคนงานและค่าน้ำมันรถจากการจัดกิจกรรม ก็แทบไม่เหลือกำไรแล้ว ยังไม่นับความเหนื่อยของแต่ละงาน

“เรื่องสิ่งแวดล้อมมันตีเป็นมูลค่าไม่ได้ ถ้าคิดเรื่องผลกำไรเป็นหลัก ผมก็คงเลิกตั้งแต่วันแรกแล้ว การจัดกิจกรรมแบบนี้มันเหนื่อยมาก บางจุดไม่มีที่หลบแดด ยิ่งช่วงเดือนเมษายนนี่ร้อนมาก เคยมีทีมงานน้องผู้หญิงบางคนเป็นลม เราจัดแค่ 3 ชั่วโมง แต่เสื้อชุ่มไปทั้งตัว ลูกผมบอกว่า เข้าใจละว่าทำไมพ่อบอกให้เอาเสื้อมาเปลี่ยนด้วย”

จากแต่ก่อนที่วันเสาร์เคยเป็นวันหยุดพักผ่อนที่เขาจะพาลูกเที่ยว แต่ทุกวันนี้วันเสาร์กลายเป็นวันที่เหนื่อยที่สุด

“แต่ก่อนลูกถามว่า วันนี้ไปเที่ยวไหน เดี๋ยวนี้ถาม วันนี้ไปรับขยะกำพร้าที่ไหน แต่มันก็เป็นความเหนื่อยที่มีความสุข เพราะเราไม่เคยคิดว่าจะมีคนรักสิ่งแวดล้อมขนาดนี้”

สมบูรณ์ กิตติอนงค์ N15 Technology ผู้สร้างระบบรับขยะกำพร้า (รีไซเคิลไม่ได้) นำไปเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า
สมบูรณ์ กิตติอนงค์ N15 Technology ผู้สร้างระบบรับขยะกำพร้า (รีไซเคิลไม่ได้) นำไปเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

เขายอมรับว่าแรกเริ่มก็มีน้อยใจที่ต้องทำงานผู้จัดการโรงงานขยะ ขณะที่เพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันเป็นผู้จัดการโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ แต่หลังเหตุการณ์โควิดก็ทำให้เขาเปลี่ยนความคิด เพราะเห็นว่านี่เป็นอาชีพที่ไม่ตกงานง่าย ๆ อีกทั้งยังได้ช่วยสิ่งแวดล้อม และบนเส้นทางนี้ก็มีเพื่อนร่วมทางมากมายกว่าที่คิด

“พอได้ทำกิจกรรมขยะกำพร้า ก็รู้สึกว่าได้ทำสิ่งดี ๆ ตลอด เหมือนการกินเจ พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกทำแล้วได้บุญ เราทำขยะกำพร้าได้บุญไหมไม่รู้ แต่เรารู้สึกว่าเราได้ช่วยสัตว์โลกหลาย ๆ ตัวให้รอดตายจากการกินขยะ และช่วยให้ขยะเหล่านี้มีทางไป แทนที่จะปลิวลงน้ำแล้วสัตว์เผลอกิน”

มาถึงวันนี้ คำว่าขยะกำพร้าก็เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น อย่างเช่น นายก อบจ.สมุทรสาคร ก็ได้เริ่มโครงการในพื้นที่โดยให้ชาวบ้านนำขยะกำพร้าที่แยกไว้มาฝากตามผู้นำชุมชนหรือตามโรงเรียนในเขตเทศบาลได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะรวบรวมส่งให้ทางบริษัทอีกที หรือมีนายอำเภอที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ก็ประกาศให้ทุกคนนำขยะกำพร้ามาส่งในวันที่มีประชุมสำนักผู้ใหญ่บ้าน และให้เจ้าหน้าที่ช่วยคัดแยกและรวมให้อยู่ในกล่องเดียวแล้วส่งมา ส่วนที่จังหวัดจันทบุรีก็มีผู้ติดต่อให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรมขยะกำพร้าสัญจรที่นั่นแล้ว

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าการนำขยะไปเป็นเชื้อเพลิงคือวิธีแก้ปัญหาขยะของโลกที่สมบูรณ์แบบ เพราะการเผาไหม้ก็ยังใช้พลังงานและก่อให้เกิดแก๊สเรือนกระจก แม้จะมีการควบคุมมลพิษ แต่ไม่ได้แปลว่าจะกรองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถึงอย่างนั้น มันก็ยังดีกว่าเมื่อเทียบกับการนำไปกองในภูเขาขยะ

ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาขยะที่ดีที่สุด ก็ยังคงเป็นบทสรุปเดิมอย่างที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว นั่นคือลดขยะจากต้นทางให้ได้มากที่สุด อะไรรีไซเคิลได้ก็ส่งรีไซเคิล ถ้าสิ่งไหนไม่มีที่ไปจริง ๆ ค่อยนำไปบริจาคเป็นขยะกำพร้า

“ลูกเพจบอกว่าเราเป็นกองทัพมด ช่วยกันเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อโลก”

สมบูรณ์ กิตติอนงค์ N15 Technology ผู้สร้างระบบรับขยะกำพร้า (รีไซเคิลไม่ได้) นำไปเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ