ธุรกิจ : Wawa Group หรือ บริษัท นิวไวเต็ก จำกัด (เดิม)

ประเภทธุรกิจในอดีต : สิ่งพิมพ์

ประเภทธุรกิจในปัจจุบัน : เทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซ

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2500

อายุ : 65 ปี

ผู้ก่อตั้ง : ไว เธียรนุกุล

ทายาทรุ่นสอง : เกรียงไกร เธียรนุกุล

ทายาทรุ่นสาม : กร เธียรนุกุล

ไม่มีใครเข้าใจคำว่า Digital Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงเฉียบพลันของเทคโนโลยีเท่ากับธุรกิจสิ่งพิมพ์อีกแล้ว

กลิ่นหมึก เสียงเครื่องจักรทำงานดังสนั่นและเครื่องพิมพ์ Mitsubishi สีฟ้ารุ่นแรกของประเทศไทยคือสิ่งที่บอกเล่าประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ของ ‘นิวไวเต็ก’ ได้เป็นอย่างดี กระดาษกองโตจำนวนมหาศาลถูกแปลงเป็นใบปลิว โบรชัวร์ คู่มือใช้งานสินค้าและอีกสารพัดสิ่งพิมพ์โฆษณาหลายล้านชิ้นในช่วงกว่า 6 ทศวรรษจากวันแรกของ ไว เธียรนุกุล ผู้ก่อตั้งสู่ปัจจุบัน กร เธียรนุกุล ทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งยังคงนั่งทำงานอยู่ในอาคารเก่าแก่ย่านสี่พระยานี้

จากนิวไวเต็ก สู่ Wawa Group เปลี่ยนผ่านตำนานโรงพิมพ์ 6 ทศวรรษเพื่อการแข่งขันในโลกใหม่

ผ่านจุดที่รุ่งเรืองที่สุดของวงการสิ่งพิมพ์ และจุดเปลี่ยนที่มาเยือนแท่นพิมพ์เร็วกว่าที่คิด

ว่ากันว่าคนรุ่นแรกคือผู้ก่อร่างสร้างตัวจากสองมือเปล่า และคนรุ่นสองคือผู้ต่อยอดสร้างธุรกิจให้เติบโต แต่บทถัดไปของคนรุ่นสามที่โรงพิมพ์นิวไวเต็กนี้ ต้องการเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เชื่อมโยง 45 อุตสาหกรรมไว้ด้วยกันบนตลาดออนไลน์ เพื่อก้าวต่อไปบนเส้นทางที่ท้าทายกว่าเดิม

อยู่รอดเพื่อเติบโต

เติบโตเพื่อสร้างตำนานต่อไปในอนาคต

จากนิวไวเต็ก สู่ Wawa Group เปลี่ยนผ่านตำนานโรงพิมพ์ 6 ทศวรรษเพื่อการแข่งขันในโลกใหม่

เริ่มต้นที่ ‘เสื่อผืน หมอนใบ’

คุณกรเล่าให้เราฟังว่า คุณปู่ของเขา (ไว เธียรนุกุล) คืออีกหนึ่งตัวอย่างของคนจีนโพ้นทะเลที่มาตามหาอนาคตในเมืองไทย ยุคนั้นเทคโนโลยียังไม่ได้ใกล้ตัวและมีบทบาทกับผู้ประกอบการมากเหมือนปัจจุบัน หนทางเดียวของ ‘คนต้นตระกูล’ หรือเบบี้บูมเมอร์ทั้งหลาย คือต้องขยันทำมาหากิน หนักเบาเอาสู้และเปิดรับทุกโอกาสโดยไม่มีข้อแม้

ปู่ของเขาเห็นว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะคนทำโรงพิมพ์ยังมีน้อยราย จึงก่อตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกของตระกูลที่ตลาดน้อย รับจ้างผลิตสิ่งพิมพ์เพื่อการโฆษณาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 จนธุรกิจเติบโตมากขึ้นจึงย้ายมาโรงพิมพ์แห่งใหม่ย่านสี่พระยา ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งของบริษัทมาจนถึงปัจจุบัน

“คุณปู่เล่าว่าแต่ก่อนตรงสี่พระยาโล่งมาก จากนั้นก็เริ่มมีคนจีนเข้ามาทำมาหากิน สังเกตดูชื่อบริษัทแถวนี้จะเป็นชื่อภาษาจีนหมดเลย”

โรงพิมพ์นิวไวเต็กในยุคเริ่มต้นเน้นพิมพ์สื่อโฆษณาเป็นหลัก จนเมื่อธุรกิจถูกส่งต่อให้กับลูกชายคนโตอย่าง เกรียงไกร เธียรนุกุล ทายาทรุ่นสองจึงหันมาขยายตลาดในธุรกิจสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลงหรือ Security Prining สำหรับลูกค้ากลุ่มธนาคาร ซึ่งผลตอบรับดีมาก หลายสถาบันการเงินรวมทั้งแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง American Express ต่างก็เป็นลูกค้าของที่นี่ทั้งนั้น เนื่องจากการพิมพ์ลักษณะนี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงและมีเพียงไม่กี่โรงพิมพ์ที่ทำได้ ขณะเดียวกันสิ่งพิมพ์โฆษณาที่เป็นรายได้สำคัญก็ยังเติบโตต่อเนื่องด้วย

“สมัยผมยังเด็ก ธุรกิจโรงพิมพ์ดีมาก ทำงานกัน 7 วันแทบไม่หยุดเพราะงานล้นมือ ตั้งแต่จำความได้ ผมเดินเข้าไปในโรงพิมพ์ก็เห็นเครื่องพิมพ์ทำงานเสมอ วุ่นวายมาก กลับมาดึกแค่ไหนก็เห็นคนงานเดินไปมา รถจัดส่งวิ่งเข้าออกตลอด โกดังที่นี่ไม่ได้ใหญ่เท่าคนอื่น ก็ต้องบริหารจัดการพื้นที่ให้ดี อยู่ข้างนอกเวลาเจอใบปลิวของแบรนด์ดัง ๆ ที่พิมพ์จากโกดังเรา ก็ภูมิใจว่านี่มันของบ้านเราพิมพ์นี่นา”

จากนิวไวเต็ก สู่ Wawa Group เปลี่ยนผ่านตำนานโรงพิมพ์ 6 ทศวรรษเพื่อการแข่งขันในโลกใหม่
จากนิวไวเต็ก สู่ Wawa Group เปลี่ยนผ่านตำนานโรงพิมพ์ 6 ทศวรรษเพื่อการแข่งขันในโลกใหม่

งานพิมพ์ที่ดีเขาดูกันอย่างไร

คุณกรบอกว่าคนในวงการพิมพ์จะดูกันที่เม็ดสี เมื่อพิมพ์งานเสร็จแล้ว เม็ดสีต้องไม่เหลื่อมกัน ผู้เชี่ยวชาญจะใช้กล้องส่องแบบเดียวกับการตรวจสอบอัญมณี เพื่อดูว่างานพิมพ์คมชัดหรือไม่ การลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์คุณภาพสูงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมหรือเหนือกว่าคู่แข่งได้ แม้จะต้องใช้เงินราว 30 – 40 ล้านบาทต่อเครื่อง แต่การทำธุรกิจในช่วง ‘ขาขึ้น’ อย่างไรเสียก็มีกำไร โรงพิมพ์นิวไวเต็กไว้เวลาเพียง 2 – 3 ปีเท่านั้นก็คืนทุนแล้ว

คำสอนที่คุณปู่สอนคุณพ่อ และคุณพ่อก็สอนเขาต่อกันมาคือ “ทำธุรกิจอะไรก็ได้ แต่ขอให้สุจริต ไม่เบียดเบียนคนอื่น” คุณกรจึงเชื่อว่าธุรกิจต้องยึดเรื่องความดีเป็นหลักก่อน ไม่นานจากก้าวแรก นิวไวเต็กเติบโตมากขึ้นจากรุ่นที่หนึ่งไปสู่รุ่นที่สอง ในยุคที่การพิมพ์เฟื่องฟูที่สุดได้

คุณพ่อเกรียงไกร เป็นที่นับหน้าถือตาในอุตสาหกรรมนี้มานานแล้ว เคยดำรงนายกสมาคมการพิมพ์ไทยมาหลายสมัย และมีส่วนผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร (ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร) ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ธุรกิจการพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย ความมุ่งมั่นในตอนนั้นคือการยกระดับวงการการพิมพ์ โดยมีคู่เทียบที่สำคัญคือประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ของเอเชีย ทั้งที่มีขนาดเล็กกว่าประเทศไทยและจำนวนอุตสาหกรรมก็น้อยกว่า จึงเป็นที่มาของพื้นที่อุตสาหกรรมการพิมพ์ขนาดใหญ่และสถาบันการพิมพ์ไทย (Thai Printing Academy) ผลิตคนมีฝีมือออกไปสร้างชื่อเสียงในเวทีสากลจนถึงทุกวันนี้

“ตอนนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของธุรกิจการพิมพ์ ราคางานพิมพ์ดีมาก เราเลือกลูกค้าเองด้วยซ้ำว่าเราอยากจะทำให้ใคร แต่เดี๋ยวนี้ลูกค้าเป็นฝ่ายเลือกเรา เพราะอุปสงค์ต่ำกว่าอุปทานมาก แถมสู้ราคากันจนกำไรแทบไม่มี”

ขึ้นชื่อว่าโลกธุรกิจ ไม่เคยมีอะไรง่ายและจะไม่มีวันง่าย การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ภาพอดีตที่หอมหวานผ่านไปอย่างรวดเร็ว สื่อดิจิทัลขยายตัวสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เสน่ห์ของสิ่งพิมพ์จึงแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมที่เคยมีอีกต่อไป

จากนิวไวเต็ก สู่ Wawa Group เปลี่ยนผ่านตำนานโรงพิมพ์ 6 ทศวรรษเพื่อการแข่งขันในโลกใหม่
จากนิวไวเต็ก สู่ Wawa Group เปลี่ยนผ่านตำนานโรงพิมพ์ 6 ทศวรรษเพื่อการแข่งขันในโลกใหม่

เทคโนโลยีป่วน ธุรกิจเปลี่ยน

เดิมคุณกรมีแผนไปเรียนต่อต่างประเทศ หลังจากเรียนจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่แล้วโชคชะตาก็พลิกผัน เมื่อต้องกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัวเร็วกว่าที่คิด เนื่องจากคุณน้าซึ่งเป็นกำลังหลักฝั่งทีมขายเสียชีวิต เขาจึงต้องรับหน้าที่ดูแลลูกค้ารายใหญ่ต่อ ในวันที่อะไร ๆ ก็ไม่เป็นใจเอาเสียเลย

“ผมไปคุยกับลูกค้ารายใหญ่ทั้งหมด เพื่อแนะนำตัวว่ามาทำแทนคุณน้า เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง จำได้เลยว่าเจอลูกค้าอินเดีย เขาบอกผมว่ามีข่าวร้ายนะ คืองบประมาณโฆษณาสื่อออฟไลน์สำหรับการทำการตลาดก็คือสิ่งที่เราทำให้ทั้งหมด จะโดนหั่นออกไป 80 เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้นคนเริ่มนิยมใช้เฟซบุ๊กและยูทูบกันมากแล้ว เห็นว่าช่องทางการทำการตลาดออนไลน์มีประสิทธิภาพมากกว่า ตรวจสอบได้เลย คนก็เทเงินไปการตลาดออนไลน์กัน วันนั้นผมรู้เลยว่า สิ่งที่เราทำอยู่ไม่ทันสมัยแล้ว มันไม่ใช่แล้วล่ะ”

คุณกรพบว่าลูกค้ารายอื่น ๆ ก็บอกกับเขาแบบนี้เช่นกัน จึงปรึกษากับคุณพ่อในฐานะนักธุรกิจใหญ่ซึ่งเห็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงมาก่อนหน้านี้ จากการเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ และพบว่าการพิมพ์เพื่อการโฆษณาไม่ได้มีอนาคตที่สดสดใสอีกต่อไป สองพ่อลูกนั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไรกับธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเวลานั้นโรงพิมพ์หลายรายเริ่มหันไปผลิตบรรจุภัณฑ์แทน เพื่อสอดรับกับการขายของออนไลน์ที่เติบโตมากขึ้น ปรับแต่งเครื่องจักรและกระบวนการเข้าไปก็ทำให้เห็นทางออกเพื่อหนีตายได้

แต่นั่นไม่ใช่ทางที่คุณกรเลือก

เขาคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทำสิ่งใหม่โดยไม่ยึดโยงกับอุตสาหกรรมเดิม นั่นคือแพลตฟอร์มออนไลน์ในชื่อ Wawa Pack เป็นการต่อยอดจากความรู้ด้านบรรุภัณฑ์และเครือข่ายทางธุรกิจที่ครอบครัวมี ตั้งเป้าเป็นตลาดออนไลน์สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์และคู่ค้าหรือ B2B โดยเฉพาะ โดยที่คุณกรต้องดูแลทั้งธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่เป็นหลักยึดของครอบครัวและธุรกิจดิจิทัลไปพร้อม ๆ กัน

เปิดทางให้ทายาทรุ่นสามพาธุรกิจครอบครัวเข้าสู่ตลาดใหม่ พลิกโรงพิมพ์เก่าเป็นอีคอมเมิร์ซเพื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย

“Wawa Pack เริ่มจากทีมเล็ก ๆ เราดึงพนักงานนิวไวเต็กที่ดูมีหน่วยก้านดีมาร่วมกันทำงาน จะสัมภาษณ์ดูความเข้าใจว่าเขารู้จักเทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหน เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ หรือเปล่า และให้ลองมาทำกันจริง ตอนนั้นคุณพ่อและผู้ใหญ่ในครอบครัวเขาก็ไม่ได้ปิดกั้นแต่ก็มีข้อสงสัยในใจ อย่างลงทุนของโรงพิมพ์ยังได้เห็นเครื่องจักรที่จับต้องได้ รู้ว่ามีสินทรัพย์เท่าไหร่ ขายต่อก็ได้ แต่มาทำเทคโนโลยีแพลตฟอร์มจับต้องไม่ได้ ก็เลยกล้า ๆ กลัว ๆ คิดกันว่ามันจะดีหรือเปล่า แถมลงทุนเยอะด้วย พอไม่ใช้แล้วจะขายต่อก็ไม่ได้มีมูลค่าอะไรอีก หายไปเลย ไม่เหมือนเครื่องจักรที่ขายต่อมือสองหรือขายเป็นเศษเหล็กได้”

เป็นเรื่องธรรมดาของคนรุ่นใหม่ที่ต้องสานต่อธุรกิจของครอบครัว ทุกคนจะต้องพิสูจน์ฝีมือการบริหารธุรกิจเพื่อซื้อใจหัวหน้าคนสำคัญ ซึ่งก็คือบุพการีหรืออาจเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ยังมีบทบาทและอำนาจตัดสินใจในองค์กร ทายาทรุ่นสามของนิวไวเต็กเชื่อว่าการยืมปากคนอื่นมาพูดแทน คือวิธีการที่ช่วยได้มาก จึงสมัครเข้าแข่งขันตามเวทีแข่งขันหรือพิชชิ่งของกลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อทำให้ ‘คนนอก’ มาช่วยรับรองวิธีคิดและไอเดียของเขาว่าน่าสนใจและทำได้จริงผ่านรางวัลต่าง ๆ ที่คว้ามาได้

เปิดทางให้ทายาทรุ่นสามพาธุรกิจครอบครัวเข้าสู่ตลาดใหม่ พลิกโรงพิมพ์เก่าเป็นอีคอมเมิร์ซเพื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย
เปิดทางให้ทายาทรุ่นสามพาธุรกิจครอบครัวเข้าสู่ตลาดใหม่ พลิกโรงพิมพ์เก่าเป็นอีคอมเมิร์ซเพื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมบอกเขาว่าจะไปหาลูกค้าของโรงพิมพ์นะ แต่ที่จริงผมไปพิชชิ่งกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมแทน หายไป 3 วันเลย คุณพ่อก็เข้าใจว่าผมไปหาลูกค้า จนผมก็ได้รางวัลรองชนะเลิศกลับมา นั่นเป็นเวทีแรกเลย ผมแบกรางวัลมาโชว์ให้พวกเขาเห็นว่างานของผมมีคนซื้อไอเดียนะ ก็เลยสร้างความน่าเชื่อถือได้มากขึ้น เขาเลยให้ลอง หลังจากนั้นก็ยังไปประกวดอีกหลายเวที 

“ทำ Wawa Pack ถือว่าท้าทายมาก เพราะตลาดออนไลน์แบบ B2B ตอนนั้นเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ผมอายุน้อย คนที่คุยด้วยก็เป็นคนรุ่นพ่อ ถ้าเจอคนต่างรุ่นก็ต้องใช้รางวัลและการรับรองที่ได้ทั้งจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) รวมทั้งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มาสร้างความมั่นใจ จะดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น”

เมื่อโจทย์เก่าถูกแก้ด้วยวิธีการใหม่ ก็มักจะมีโจทย์ใหม่เข้ามาทายเสมอ

การเดินทางจากนิวไวเต็กจึงไม่ได้จบแค่เพียง Wawa Pack เท่านั้น

ฝันใหญ่ที่ต้องไปให้ถึงกับแพลตฟอร์มสินค้าอุตสาหรรมของคนไทย

เมื่อธุรกิจใหม่ขยายตัวได้พอสมควร จนมีสินค้ากว่า 3,000 รายการในระยะเวลาไม่กี่เดือนจากผู้ขายนับร้อยราย คุณกรเห็นโอกาสต่อยอดจากห่วงโซ่อุปทานที่หลายบริษัทบนแพลตฟอร์มมี ซึ่งไม่ได้ทำแค่บรรจุภัณฑ์เท่านั้น ยังมีสินค้ากลุ่มอื่นอีกมากในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีศักยภาพด้วย

“ลูกค้าก็มาคุยว่าในเครือของเขามีสินค้าประเภทอื่นอีกเยอะ ถ้าเอาสินค้าทั้งบริษัทเขามาขายบนแพลตฟอร์มนี้ได้หรือเปล่า ก็เลยเกิดไอเดียว่านี่อาจเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของเรา เพราะถ้าจำกัดแค่บรรจุภัณฑ์ ตลาดก็จะแคบ แต่ถ้าคนต้องการสินค้าประเภทอื่นด้วยมันก็ขายได้ ผมจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อจาก Wawa Pack เป็น myWawa ซึ่งตั้งเป้าจะเป็นตลาดออนไลน์ของ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมไปเลย”

สิ่งที่น่าทึ่งของการเชื่อมจุดในโลกธุรกิจ คือจะมีจุดใหม่ ๆ ให้เชื่อมต่อไปเสมอ

แม้จะยังไม่ได้เปิดตัวในวงกว้างอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันแพลตฟอร์ม myWawa มียอดขายเกิดขึ้นระดับพันล้านบาท จากผู้ขายรายใหญ่ที่มีความเคลื่อนไหวประจำหลายสิบราย สำหรับเป้าหมายในอนาคต คุณกรต้องการดึงกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เข้ามามากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมและเป็นพื้นที่ของผู้ประกอบการไทยโดยคนไทยอย่างแท้จริง โจทย์สำคัญที่ต้องแก้ของคนตัวเล็กคือข้อจำกัดด้านบุคลากร เทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่ต้องช่วยกันเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่โลกดิจิทัลด้วยกัน

เปิดทางให้ทายาทรุ่นสามพาธุรกิจครอบครัวเข้าสู่ตลาดใหม่ พลิกโรงพิมพ์เก่าเป็นอีคอมเมิร์ซเพื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย

ธุรกิจใหญ่ไปได้ ธุรกิจก็ต้องมีทางเดินด้วย

สำหรับโครงสร้างองค์กรนั้น นิวไวเต็กจะเป็นเหมือน ‘ยานแม่’ หรือบริษัทโฮลดิ้งของ Wawa Group ที่แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วยกลุ่มแรกคือ Wawa Service and Marketing Group นั่นคือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ myWawa ที่เป็นทั้งตลาดและการบริการลูกค้า กลุ่มที่สองคือ Wawa Financial Group ธุรกิจด้านความปลอดภัยที่เข้ามาช่วยเสริมแพลตฟอร์มให้แข็งแรง เพื่อการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งานและการชำระเงินที่ปลอดภัย และกลุ่มที่สามคือ Wawa Logistics Group ธุรกิจบริหารจัดการการขนส่งที่เกิดขึ้นบน myWawa

ความท้าทายของตลาด B2B คือมีปริมาณการซื้อขายที่ใหญ่ ผ่านกระบวนการทางธุรกิจที่มากกว่าการขายปลีกโดยตรงให้กับผู้บริโภค ผู้ซื้อสินค้าจะสอบถามราคาสินค้าโดยอ้างอิงจากปริมาณที่ต้องการจากนั้นผู้ขายจะเสนอราคา ต่อรองเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่พอใจทั้งสองฝ่าย จากนั้นจึงเปิดคำสั่งซื้อพร้อมกับตกลงเงื่อนไขการชำระเงินในรูปแบบเครดิตเทอม ซึ่งระบบของ myWawa ต้องรองรับขั้นตอนที่สลับซับซ้อนเหล่านี้ทั้งหมด ครอบคลุมตั้งแต่การสอบถามสินค้าไปจนถึงการจัดส่งถึงโรงงาน

“อย่างเรื่องการขนส่ง เขาไม่ได้ส่งกันเป็นชิ้น แต่ส่งเป็นรถคันใหญ่ทีละ 50 – 60 ลัง ดังนั้น จะใช้ขนส่งรูปแบบเดิมไม่ได้ เราจะใช้แบบเหมาทั้งคัน จะขนของขึ้นเต็มคันหรือครึ่งคันก็ตามที ค่าขนส่งจะถูกลง เรื่องนี้คนทำธุรกิจส่วนใหญ่คุ้นเคยดี จะต่อรองกันอยู่แล้วว่าถ้าส่งปริมาณมาก ๆ จะมีส่วนลดเพิ่มหรือเปล่า พอตกลงกันได้ก็คุยกันเรื่องเงื่อนไขการชำระเงินต่อ ส่วนใหญ่ใช้การโอนเงินหรือจ่ายเช็คกันทั้งนั้น”

กลายเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบเต็มตัว เหลือภาพแท่นพิมพ์และกลิ่นหมึกเป็นความทรงจำสีจาง ๆ เท่านั้น

“คุณพ่อผมเห็นธุรกิจการพิมพ์ที่รุ่งโรจน์มาก ๆ มาวันนี้ต้องเปลี่ยนผ่านแล้ว เขารู้นะว่าต้องหันไปทำอย่างอื่นมากขึ้น แต่ก็ทำใจได้ยากอยู่ดี ต้องใช้เวลา เราคิดกันว่ามาถูกทางแล้วล่ะ ผลตอบรับค่อนข้างดี สมัยก่อนนิวไวเต็กเป็นตัวบอกว่าเราคือใคร ตอนนี้ก็จะไปอยู่เบื้องหลังและใช้ Wawa Group นำหน้าแทน ตอนนี้พนักงานของนิวไวเต็กน้อยลงมาก หลายคนก็เกษียณไปแล้ว บางคนบอกว่าเห็นคุณกรตั้งแต่แรกเกิด คนที่อยู่ตอนนี้เราก็ยังให้เขาทำงาน แต่ไม่ได้รับคนและไม่ได้ลงทุนเพิ่มแล้ว”

เปิดทางให้ทายาทรุ่นสามพาธุรกิจครอบครัวเข้าสู่ตลาดใหม่ พลิกโรงพิมพ์เก่าเป็นอีคอมเมิร์ซเพื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย

ส่งต่อความคิด สื่อสารเพื่อความเข้าใจ

ธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินการมายาวนานมักจะเจอปัญหาการทำงานของคนต่างรุ่น คนรุ่นเก่าถือเป็นหลักสำคัญที่ช่วยเจ้าของธุรกิจสร้างเนื้อสร้างตัว อยู่รอดจนเติบโตได้ ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็เป็นเรี่ยวแรงที่เป็นอนาคตเพื่อสานต่อและเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่สิ่งใหม่ คุณกรในฐานะทายาทรุ่นสามเชื่อว่าการสื่อสารระหว่างกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่จะผสานศักยภาพของคนในองค์กรเข้าด้วยกันได้

“คนรุ่นเก่าไม่ใช่ไม่เก่งนะ เขามีประสบการณ์เยอะมาก เรื่องอะไรที่เขาเคยผิดพลาด เราก็รับฟังและเอามาใช้ แต่ไม่ไปบังคับให้เขามาเชี่ยวชาญเทคโนโลยีแบบเด็ก ๆ เราเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เติบโตโดยที่ไม่มีคนรุ่นเก่ามาคอยดึงเขาไว้ ต้องรักษาสมดุล หน้าที่ของซีอีโอคือการทำให้คนทั้งสองรุ่นทำงานด้วยกันได้ Wawa Group จะวิ่งไปข้างหน้าและดึงคนเก่ง ๆ เข้ามาให้ได้ ต้องเป็นมืออาชีพเหมือนกับองค์กรระดับโลกที่คนอยากเข้ามาทำงาน ไม่เพียงแต่คนไทย คนต่างชาติก็ต้องอยากมาทำงานกับเราด้วย”

คุณกรในวันนี้เป็นทั้งลูกชายคนโตของครอบครัว และหลานชายคนโตของตระกูลเธียรนุกุล อีกบทบาทที่สวยงามคือการเป็นคุณพ่อของลูกชายตัวน้อย ๆ ซึ่งเขาตั้งใจว่าจะไม่บังคับให้ลูกมาสานต่อธุรกิจถ้าเขาไม่ได้สนใจจะทำ อย่างไรก็ตาม องค์กรนี้ต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่องค์กรมืออาชีพอยู่ดี การเปิดโอกาสให้ลูกได้คิดและลองทำสิ่งที่ตัวเองชอบจึงสำคัญมากกว่า

“ถ้าเขาอยากทำอย่างอื่น อย่างเป็นนักกีฬาหรือนักดนตรี ผมก็จะให้เขาทำ ไม่ห้าม พยายามจะไม่ให้บรรยากาศองค์กรเป็นกงสี อยากให้เป็นมืออาชีพ ถ้าลูกจะเข้ามาทำก็ควรมีฝีมือ ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ก่อน ไม่ใช่ว่าเป็นลูกผมแล้วมาเป็นผู้จัดการได้เลย

“ผมบอกเสมอว่าสตาร์ทอัพของผมไม่ได้เริ่มมาจากโรงรถ เราเริ่มจากโรงพิมพ์ ความท้าทายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถึงผมไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ก็มีตำนานธุรกิจของครอบครัวอยู่ ความยากคือทำอย่างไรผู้ใหญ่จะยอมรับและมั่นใจในตัวเรา ต้องทำให้เขาเปิดใจและอยากลองสิ่งใหม่กับเรา มันใช้เวลาและความอดทนนะ การเปลี่ยนผ่านธุรกิจครอบครัวไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ละที่มีวิถีไม่เหมือนกัน แต่เริ่มต้นเหมือนกันได้คือ การสื่อสารที่ดี เข้าใจปัญหาซึ่งกันและกัน และดูว่ามีทางแก้อะไรได้บ้าง”

ไม่เคยมีสูตรสำเร็จที่ตายตัว มีแต่ธุรกิจที่ตายไปจากระบบเพราะยึดติดกับความสำเร็จเดิม ชื่อนิวไวเต็กจะยังคงอยู่ต่อไป แต่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรใหม่ ๆ ที่ยืดหยุ่นมากพอกับการเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า

ใครที่ไม่เปลี่ยน สักวันก็ต้องถูกบังคับให้เปลี่ยนอยู่ดี

เปิดทางให้ทายาทรุ่นสามพาธุรกิจครอบครัวเข้าสู่ตลาดใหม่ พลิกโรงพิมพ์เก่าเป็นอีคอมเมิร์ซเพื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ