เมื่อพูดถึงแบรนด์แว่นตาแฟชั่น ทำไมทุกคนต้องคิดถึงแต่แว่นกันแดด

‘แว่นสายตาก็สวยทันสมัยได้’ ชายหนุ่มตรงหน้าบอกเรา ดูจากชุดแต่งกายแล้วเดาไม่ยากว่าเขาคงทำงานด้านการออกแบบ 

คุณมอริทซ์ ครูเกอร์ (Moritz Krueger) คือหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ MYKITA (ไมกีต้า) แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่โดดเด่นเรื่องวัสดุและโครงสร้างแว่นล้ำๆ ให้ความรู้สึกกระฉับกระเฉง ทันสมัย และหรูหรา ในคราวเดียว

ความหรูที่ไม่ได้มาจากการใช้วัสดุตกแต่งเยอะ แต่เป็นหรูแบบเรียบโก้ จนได้ใจนักแสดงคนดังระดับโลกมากมาย 

ย้อนกลับไปใน ค.ศ. 2003 ยุคที่แว่นตามีสีสันสดใสเป็นที่นิยม MYKITA ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักเรียนออกแบบ ผู้เชื่อว่าแว่นตาเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต พวกเขาลุกขึ้นมานำเสนอแว่นตาที่ทำจากสเตนเลสสตีล ออกแบบโครงสร้างใหม่ไม่มีน็อตและสกรูใดๆ ในการเชื่อมต่อ ก่อนจะดังข้ามประเทศและเติบโตกลายเป็นแบรนด์ที่รักของใครหลายคน

The Cloud นัดพบคุณมอริทซ์ในบ่ายวันหนึ่ง ก่อนเวลาเปิดตัวร้าน MYKITA สาขากรุงเทพฯ เพื่อพูดคุยเรื่องราวเบื้องหลังการสร้างแบรนด์แว่นตาแฟชั่นแบรนด์นี้ ความบังเอิญสมัยฝึกงานนำมาซึ่งความหลงใหลในแว่นตา อยากนำเสนอแว่นตาหน้าตาใหม่ อยากอาสาแก้ปัญหาการใช้งานเกี่ยวกับแว่นสายตา เพราะอยากให้คนใช้งานได้เจอแว่นที่ใช่จริงๆ ไปจนถึงวิธีคิดและบริหารแบรนด์ที่นำไปใช้กับงานที่ทำได้อย่างดี

ก่อนเริ่มบทสนทนา เราขอให้คุณมอริทซ์เลือกแว่นตารุ่นที่ชอบที่สุด เขานิ่งคิดอยู่หลายนาทีก่อนบอกเราว่าเขาตัดใจเลือกอันที่ชอบที่สุดไม่ได้ ไม่มีทาง 

ระหว่างพูดคุยเราต้องคอยกลั้นใจอยู่หลายครั้ง ไม่ให้เผลอเดินไปหยิบแว่นตาทรงบางเฉียบที่วางเรียงกันนับร้อยแบบตรงผนังด้านหน้า แต่รู้ตัวอีกทีก็ขอให้เขาเลือกแว่นตาทรงที่เหมาะให้ 

ขอโทษที่ใช้เวลาเกริ่นนำนี้พูดชมชอบตัวเองในกระจกอยู่หลายนาที เมื่อคุณได้รู้ทั้ง 15 เรื่องราวต่อไปนี้ คุณอาจจะกำลังมาที่ร้าน MYKITA สาขากรุงเทพฯ ที่สินธรวิลเลจเหมือนกันกับเราก็เป็นได้

15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ

1. ชื่อของ MYKITA มาจากคำว่า kita ในภาษาเยอรมันแปลว่า โรงเรียนอนุบาล ตามที่ตั้งของบริษัทซึ่งเป็นโรงเรียนอนุบาลมาก่อน รวมกับคำว่า My ในภาษาอังกฤษ แปลว่า โรงเรียนอนุบาลของฉัน

ไม่ต่างจากที่ผู้ก่อตั้งทั้ง 4 คน (Moritz Krueger, Philipp Haffmans, Daniel Haffmans และ Harald Gottschling) ซึ่งเป็นนักออกแบบรุ่นใหม่ในเวลานั้น ที่มี MYKITA เป็นโรงเรียนสอนทำธุรกิจ

ต่อมาใน ค.ศ. 2004 แบรนด์เปิดตัวในตลาดต่างประเทศครั้งแรกที่เมืองโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า MYKITA เป็นคำที่มาจากภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่า คนที่มาจากทางเหนือ ซึ่งบังเอิญว่าผู้ก่อตั้งแบรนด์ต่างมาจากเมืองเล็กๆ ทางเหนือของประเทศเยอรมนีพอดี

15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ

2. จากเด็กฝึกงานในบริษัทสตาร์ทอัพด้านแว่นตา สู่เจ้าของแบรนด์ผู้หลงใหลและเชื่อว่าแว่นตาคือสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต

ที่เบอร์ลิน เด็กที่เรียนจบชั้นมัธยมจะต้องทำงานหาประสบการณ์ในองค์กรช่วยเหลือผู้คนในสังคมเป็นเวลา 1 ปีก่อนเลือกเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งคุณมอริทซ์ได้ทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพเกี่ยวกับแว่นตา เรียนรู้เรื่องธุรกิจและงานออกแบบไปพร้อมกันจนได้เจอสิ่งที่เขาสนใจ จากนั้นเรียนต่อด้านการออกแบบในภาควิชา Visual Communication ที่โรงเรียนศิลปะ ต่อมาใน ค.ศ. 2003 คุณมอริทซ์และเพื่อน ตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยตั้งใจจะทำอย่างเล็กๆ นำเสนอแว่นตาที่แตกต่างจากท้องตลาด จากวัสดุที่ใช้และการออกแบบโครงสร้าง เพื่อการใช้งานที่ตอบโจทย์ชีวิตผู้คน

ประสบการณ์ทำงาน ทำให้คุณมอริทซ์รู้ว่าแว่นตามีความหมายต่อชีวิตผู้คนเพียงใด ไม่เพียงแค่กรอบของแว่นตาหรือสิ่งที่อยู่บนหน้า สำหรับบางคนแว่นตาเป็นเครื่องประดับสะท้อนตัวตน แต่สำหรับบางคน แว่นตาคือสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต แว่นตาที่ดีควรเหมาะกับรูปหน้าและบุคลิกผู้สวมใส่

มอริทซ์ ครูเกอร์ (Moritz Krueger)
มอริทซ์ ครูเกอร์ (Moritz Krueger)

3. เปลี่ยนภาพจำเมื่อพูดถึงแบรนด์แว่นตาแฟชั่น ทำไมทุกคนต้องคิดถึงแต่แว่นกันแดด

“ผมคิดว่าแว่นสายตาก็สวยทันสมัยได้” คุณมอริทซ์พูดขณะเลือกแว่นตาที่เข้ากับเรา พร้อมยื่นส่งให้

หากแว่นตาเป็นเพียงเรื่องแฟชั่น ผู้คนก็คงสนใจรูปร่างหน้าตา แต่สิ่งแรกที่ MYKITA ทำ คือแว่นตาที่ทำให้คนมองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น

หลักการการออกแบบแว่นตาของ MYKITA คือ ออกแบบเพื่อหาโครงสร้างของแว่นตาและฟังก์ชันการใช้งานไปพร้อมกัน เป็นเหตุผลให้แว่นตาของ MYKITA แตกต่างเป็นที่จดจำและใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน

15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ

4. ทุกๆ วัสดุที่ MYKITA เลือกใช้ พวกเขามีเหตุผลด้านการใช้งานทั้งหมด

คุณมอริทซ์บอกว่า พวกเขาคือกลุ่มคนผู้หลงใหลใน Material

งานของ MYKITA ทุกชิ้นเริ่มต้นจากวัสดุที่ใช้โดยดูประโยชน์การใช้งานเป็นหลัก จนวันนี้ MYKITA มีแว่นตาจากวัสดุหลัก 3 ประเภท ได้แก่ Metal สเตนเลสสตีลแผ่นบางกว่า 0.5 มิลลิเมตร น้ำหนักเบา แข็งแรง ให้คาแรกเตอร์ที่ชัดเจน Acetate วัสดุจากพืชที่คนนิยมนำมาทำแว่นตาในยุค 1940 ให้ความอุ่นและความมั่นใจแก่ผู้ใช้ สนุกด้วยการใส่สีเพิ่มโอกาสในการใช้งานให้มากขึ้น และสุดท้ายคือ MYLON ไนลอนที่ผลิตด้วยระบบพิมพ์สามมิติ ทำให้ทีมออกแบบได้ลองทำแบบต่างๆ ไม่จำกัด

15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ
15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ

5. เปลี่ยนหน้าตาของแว่นตาให้โมเดิร์นขึ้น ด้วยการใช้โครงสร้างแบบใหม่และวัสดุอื่นๆ ที่คิดขึ้นเอง 

สิ่งที่สร้างชื่อให้ MYKITA ดังข้ามคืนคือ วัสดุที่ใช้อย่างสเตนเลสสตีลซึ่งใหม่มากในยุคนั้น และใช้วิธีการพับกระดาษแบบญี่ปุ่นหรือโอริกามิ เพื่อขึ้นโครงสร้างสเตนเลสสตีล เกิดกลไกการเชื่อมต่อกันโดยไม่ใช้น็อตหรือสกรูใดๆ เป็นโครงสร้างของแว่นที่ใครเห็นเป็นต้องรู้ แม้ไม่ใส่โลโก้บนสินค้า

6. เมื่อไม่มีใครรับผลิตก็ลงมือทำเครื่องมือเอง กลายเป็นจุดแข็งของธุรกิจที่ใครก็ลอกไม่ได้

จากความตั้งใจที่จะทำแว่นตาจากสเตนเลสสตีล มีโครงสร้างแบบบานพับไร้น็อตหรือสกรูเป็นตัวเชื่อมต่อ เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่มีโรงงานผลิตแว่นตาแห่งไหนยอมทำให้ พวกเขาจึงลงมือศึกษาเครื่องมือและสร้างโรงงานของตัวเองขึ้นมาตั้งแต่วันแรกที่ทำธุรกิจ ซึ่งในที่สุด กลายเป็นสินทรัพย์ที่ใครก็ลอกเลียนไม่ได้

15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ
15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ

7. MYKITA เป็นมากกว่าแค่เทรนด์แฟชั่น 

ชาว MYKITA สนุกกับการหาวิธีการที่จะทำให้งานของเขาเหนือกาลเวลา ใส่ได้มากกว่า 1 ซีซั่น 

“แว่นตากันแดดบางของเราไม่ควรใส่แค่หนึ่งฤดูร้อน เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำให้คุณหยิบแว่นกันแดดอันโปรดมาใส่สิบฤดูร้อน” คุณมอริทซ์เล่า

ในยุคที่ทุกแบรนด์นำเสนอแว่นตาสีสันสดใส แว่นตาของ MYKITA เปิดตัวในสีเงิน ดำ และเทา หลังจากเปิดตัวเพียง 1 ปี MYKITA มีโอกาสไปร่วมงานแสดงสินค้าที่โตเกียวและปารีส มีคนให้ความสนใจเยอะมาก “ย้อนกลับไปวันนั้นเมื่อเห็นว่าแบรนด์ได้รับการต้อนรับที่ดี มียอดสั่งซื้อจากลูกค้าสองพันเจ้าทั่วโลก ทำให้รู้สึกมั่นใจขึ้น”

15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ

8. นำงานฝีมือและความประณีตมาอยู่รวมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ 

คุณมอริทซ์เล่าว่า การทำให้งานออกแบบยุคเก่ากลายเป็นสิ่งที่ทันสมัย หรือการรวมงานฝีมือเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ถือเป็นทางรอดของธุรกิจยุคนี้ การทำสิ่งต่างๆ ให้อยู่ยืนยาวไร้กาลเวลา

เราถามคุณมอริทซ์ว่า อะไรคือความท้าทายของธุรกิจที่พึ่งการใช้ทักษะและงานฝีมือขั้นสูง

เขาก็รีบตอบทันทีว่า สำหรับเขาไม่มีอะไรยากหากชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่แบรนด์อยากรักษาไว้ “ถ้าอยากให้แบรนด์อยู่ยาวนาน คุณต้องมีแก่นกลาง มีเรื่องราวในตัวเอง หาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อสร้างความเป็นต้นตำรับ ซึ่งต้องมาพร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ยึดมั่นในหลักการที่เชื่อและรักษามันให้ได้ จากนั้นอะไรที่เกิดตามมาคุณก็แค่ปล่อยให้เกิดขึ้น”

9. ขณะที่งานแฮนด์เมดของหลายๆ บริษัท คือ งานทำด้วยมือจากที่ไหนสักแห่งในโลก แต่สำหรับ MYKITA คือการทำทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง ด้วยมือของช่างฝีมือจริงๆ ที่โรงงานในเบอร์ลินจริงๆ

15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ

กระบวนการตั้งแต่ร่างแรกเริ่มจนถึงแว่นตาชิ้นสำเร็จ มาจาก MYKITA Haus เป็นทั้งสำนักงานและโรงงานผลิตรับผิดชอบทุกกระบวนการ 

“สิ่งที่ทำให้แบรนด์แข็งแรง คือทุกคนใน MYKITA Haus ที่เบอร์ลินทำแว่นตาได้ สร้างเฟรมด้วยมือได้ เพราะทุกคนรู้ว่างานทุกชิ้นมีความเชื่อใจจากลูกค้าอยู่ในนั้น” คุณมอริทซ์เล่า

15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ

10. MYKITA เป็นแบรนด์ที่ไม่ใช้ Celebrity Endorsement แต่มีนักแสดงและคนดังแถวหน้าชื่นชอบและเป็นแฟนตัวยงของแบรนด์จำนวนมาก

บ่อยครั้งที่เห็นแบรนด์อื่นๆ ลงทุนกับ Celebrity Endorsement มหาศาลเพื่อสร้างการรับรู้และจดจำ MYKITA กลับเป็นแบรนด์ที่คนดังระดับโลกเลือกใช้เพราะชื่นชอบจริงๆ คุณมอริทซ์เล่าว่า คนเหล่านี้มีต่างมีสไตล์ส่วนตัวที่เขาชอบ และ MYKITA ให้ความรู้สึกที่แตกต่างและเป็นออริจินอลในคราวเดียวกัน 

“ช่วงครบรอบปีแรกของแบรนด์ ผมมีโอกาสเจอแบรด พิตต์ และแองเจลินา โจลี ใส่แว่นรุ่นเดียวกันทรงเดียวกัน นั่นทำให้คนเริ่มหันมาสนใจจนถึงวันนี้ นับเป็นเรื่องที่โชคดีมากๆ”

11. วิธีตั้งชื่อรุ่นของแว่นตา MYKITA เหมือนกับการตั้งชื่อคน 

เช่น WES, CARLO, GISELLE, ELISA, ARMSTRONG เป็นต้น

ทีมงานมีหน้าที่คิดว่าคนใส่แว่นหน้าตาแบบนี้น่าจะชื่ออะไร ความท้าทายใหม่คือ ต้องคิดตั้งชื่อไม่ให้ซ้ำกับแว่นนับร้อยรุ่นที่ออกมาตลอด 16 ปี

15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ
มอริทซ์ ครูเกอร์ (Moritz Krueger)

12. MYLON คือแว่นตารุ่นที่ทำจากไนลอน (Polyamide) ในการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) มีชื่อเรียกเทคนิคว่า Selective Laser Sintering แบบเดียวกับที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์

เช่นเดียวกับแว่นตารุ่นอื่นๆ ของ MYKITA พวกเขาเริ่มจากเสาะหาและพัฒนาวัสดุที่ใช้ตั้งต้นทำแว่นตา ความยืดหยุ่นสูงของโพลิเมอร์พิเศษชนิดนี้ ทำให้ MYLON เหมาะสำหรับทำ Tailor-Made ตัดพิเศษเข้ากับใบหน้าและการใช้งานของผู้สวมใส่ได้เลย และยังเปิดให้นักออกแบบของ MYKITA ทำงานได้อย่างอิสระ 

มีข้อมูลว่าวิธีการผลิตแว่นรุ่นนี้เป็น Zero-Wasted โดยผงแป้งโพลีอะมายด์จากการตัดจะถูกนำมาใช้หลอมซ้ำ คุณมอริทซ์เล่าเพิ่มเติมว่า ความยากของเทคนิคนี้คือการทำสีบนผิวสัมผัสและการพัฒนาให้สินค้าออกมาดูสวยมีราคา จากคุณสมบัติยืดหยุ่นสูงทนทาน และป้องกันความร้อนเย็นจากอากาศได้ดี ทำให้เหมาะกับทุกกิจกรรมโปรดกลางแจ้ง ไม่ว่าจะใส่เดินทางไปทำงานตอนเช้า โยคะในสวน วิ่ง หรือใส่ไปทำธุระสำคัญในเมือง

15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ
15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ

13. MYKITA WALL กำแพงสีขาวสัญลักษณ์ของร้าน MYKITA

15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ

นอกจากแว่นตาและเรื่องราวการออกแบบแล้ว MYKITA WALL เป็นอีกสัญลักษณ์ที่เห็นแต่ไกลก็รู้เลยว่านี่คือชั้นวางแว่นตาของแบรนด์ แม้ว่าจะเป็น Pop-up เล็กๆ ในร้านแว่นที่ไหนในโลก นอกจากดึงเสน่ห์ของแว่นตาแต่ละรุ่นออกมาครบถ้วนแล้ว การตกแต่งภายในของร้านยังเป็นที่พูดถึงในวงการสถาปนิกและตกแต่งภายใน กลายเป็นแรงบันดาลใจและต้นแบบของการออกแบบร้านไลฟ์สไตล์ คาเฟ่ โรงแรม และอื่นๆ ไม่เพียงจุดวางแว่นแต่ยังมีห้องแล็บตรวจสายตาหลังกระจกใสบานใหญ่ แสดงถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างความประณีตและเทคโนโลยีสื่อความหมายในคอนเซปต์ MYKITA’s Modern Manufactory 

15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ
15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ

สำหรับ Flagship Store ร้านแรกในกรุงเทพใช้สีเขียวอ่อนเป็นสีหลักในการตกแต่ง กลมกลืนกับพื้นที่ตั้งอย่างสินธรวิลเลจ เช่นกันกับอีก 16 ร้านสาขาทั่วโลก อย่างเบอร์ลิน โคเปนเฮเกน ลอสแอนเจลิส นิวยอร์ก ปารีส โตเกียว เวียนนา ซูริก

มอริทซ์ ครูเกอร์ (Moritz Krueger)
15 เรื่องเบื้องหลัง MYKITA แบรนด์แว่นตาจากเบอร์ลินที่เก่งออกแบบโครงสร้างล้ำๆ

เราขอให้คุณมอริทซ์แนะนำวิธีเลือกแว่นตาสำหรับแฟชั่นนิสต้า ซึ่งเขาตอบทันทีว่า “มาที่ร้านและลองแว่นให้มากเท่าที่คุณอยากลอง”

14. หัวใจในการสร้างแบรนด์ของ MYKITA คือ ผู้คนในองค์กร

คุณมอริทซ์พูดถึงความพยายามบ่อยพอๆ กับคำว่า Material ที่เขาหลงใหล ความพยายามที่ไม่ใช่การฝืนสร้าง แต่ทำสิ่งต่างๆ เพราะชอบมันมากจริงๆ

“ในมุมของธุรกิจที่เราประสบความสำเร็จ เพราะเรารู้ว่าจะนำเสนอสิ่งที่ใช่ สิ่งที่ตอบโจทย์ผู้คนได้อย่างไร ลูกค้าเชื่อใจในแบรนด์ของเรา ไม่ตั้งคำถามกับคุณภาพและราคาสินค้า ในมุมของแบรนด์สำหรับผม สิ่งสำคัญคือการรักษาบรรยากาศในองค์กร และการพาทุกคนไปด้วยกันไม่ว่าจะเจอเรื่องใหญ่แค่ไหน ทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของผู้บริหาร คุณเพียงต้องรักษาเป้าหมายที่มีร่วมกัน”

มอริทซ์ ครูเกอร์ (Moritz Krueger)

คุณมอริทซ์ยังเล่าอีกว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนมีการประชุมประจำปี พวกเขาคุยแผนทำงานระยะ 2 ปีร่วมกับทีมงานนับพันภายใต้สำนักงานใหญ่นั้น สิ่งที่น่าสนใจคือเนื้อหาส่วนใหญ่ของแผนการเหล่านั้นเป็นความลับสุดยอดขององค์กรที่บอกคนภายนอกไม่ได้ แต่คุณมอริทซ์ก็ยังอยากจะบอกทีมงานทั้งหมด

มอริทซ์ ครูเกอร์ (Moritz Krueger)

“เป็นเรื่องสำคัญที่พวกเขาควรรับรู้ และเราก็เชื่อในกันและกันมากๆ เราคุยแผนธุรกิจและกลยุทธ์ระหว่างกันตลอดเวลา เพราะเราอยากให้เขาเข้าใจและเห็นจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นทำให้เขารู้คุณค่าของตัวเอง มีพลัง และพร้อมทำงานต่อ จริงๆ พวกเขาทุ่มเทกับงานเยอะมากก็สมควรได้รับความเชื่อมั่นนี้” คุณมอริทซ์ยิ้ม

15. ธุรกิจที่ดีในนิยามของ MYKITA คือ ความซื่อตรง

ความซื่อตรงต่อสิ่งที่ทำ ต่อแว่นตาที่ออกแบบสร้างสรรค์

“ผมมักจะชวนคนไปดูการทำงานของเราที่โรงงานอย่างไม่มีอะไรต้องปิดบัง เราเปิดให้ดูได้หมดเลยว่าเราทำแว่นของเรายังไง” คุณมอริทซ์ทิ้งท้าย

มอริทซ์ ครูเกอร์ (Moritz Krueger)

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ปรีชญา จงศรีสวัสดิ์

ช่างภาพที่เชื่อว่าการตายอย่างมีคุณภาพคือการตายด้วยของกินที่ดีและอร่อย