บอล : จริงๆ ลุคไอ้แน็กทุกวันนี้ก็เหมือน จั๊ก ชวิน นะ 

ปิ๊ง : เหมือนตรงไหน ตีลังกาลงถังขยะนี่นะ

บอล : มันเริ่มมีชีวิตที่คล้ายๆ หนัง เทียบเคียงกันได้

เดียว : แต่ชาลี ตอนเด็กๆ ก็เป็นแบบนี้แหละ 

เอส : เขารักสัตว์ ชอบตกปลา เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก

ปิ๊ง : ตกปลานี่รักสัตว์ยังไง

เดียว : ชอบเล่นกับหมา พอเห็นจิ้งเหลนจะวิ่งไปเล่น คือเริ่มต้นจากการแกล้งสัตว์ก่อน

บอล : อ๋อ ใช้ชีวิตแบบนายพราน

เดียว : แล้วหลังจากนั้นอยู่กับสัตว์เยอะๆ ก็คงรักสัตว์ 

เอส : รักสัตว์แบบฮาร์ดคอร์นะ จับจิ้งจก จับงู มาพันตัว

แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ

บทสนทนาถึง แน็ก-ชาลี ไตรรัตน์ อดีตพระเอกภาพยนตร์เรื่องแรกของบรรดาผู้กำกับ แฟนฉัน เรียกเสียงหัวเราะได้ไม่หยุด เพราะใครจะไปเชื่อว่าเด็กน้อยในวันนั้น จะขึ้นแท่นเป็นดาราคนดังที่มียอดผู้ติดตามนับล้านได้

แต่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่า คือการที่หนังเล็กๆ ที่พวกเขาร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อ 17 ปีก่อน ยังถูกพูดถึงและกลายเป็นหนังในดวงใจของใครต่อใครถึงทุกวันนี้

หลังจากไม่ได้รวมตัวแบบพร้อมหน้าพร้อมตาหลายปี ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ชักชวน 6 ผู้กำกับ ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร, ปิ๊ง-อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม, ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์, เดียว-วิชชพัชร์ โกจิ๋ว, เอส-คมกฤษ ตรีวิมล และ บอล-วิทยา ทองอยู่ยง มาร่วมเปิดลิ้นชักความทรงจำ และตกตะกอนความคิดถึงจุดเปลี่ยนในชีวิต ผ่านต้นตำรับหนัง Feel Good เรื่องนี้อีกครั้ง

แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ

01

ชวนมาทำหนังกับ ‘เพื่อน’

ความผูกพันของผู้ชายทั้งหกก่อตัวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2536 นับแต่พวกเขากลายเป็นน้องใหม่ รุ่นที่ 29 ของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้วยความที่คณะนี้มีผู้ชายค่อนข้างน้อย ทุกคนจึงสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว เวลามีกิจกรรมอะไรก็เฮโลไปช่วยกันหมด ต่อมาเมื่อพวกเขาตัดสินใจเลือกเรียนภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง ก็ยังรวมกลุ่มช่วยกันทำหนัง คนนั้นถ่าย คนนี้กำกับ ที่เหลือก็ทำเสียง ทำแสง และงานจิปาถะอื่นๆ จนกระทั่งเรียนจบ จึงแยกย้ายไปตามเส้นทางของแต่ละคน

ต้น รับจ๊อบฉายไฟฟอลโลว์ตามลานไอซ์สเก็ต จากนั้นก็ไปช่วยกองหนังเรื่อง เสือโจรพันธุ์เสือ ก่อนลัดฟ้าไปเรียนต่อที่อังกฤษ พอกลับมาก็ไปอยู่บริษัทโฆษณาเล็กๆ 8 เดือน จึงย้ายไปเป็นครีเอทีฟหนังที่ Filmserf ในเครือ RS

ปิ๊ง กลับบ้านช่วยแม่ขายมอเตอร์ไซค์อยู่ 2 ปี แล้วก็กลับกรุงเทพฯ มาช่วยพี่ชายทำร้านที่ทองหล่อ พร้อมรับงานทำวิดีโอพรีเซนเทชันให้หน่วยงานต่างๆ อยู่ที่บริษัท 10 อาษา ไปด้วย

ย้ง เริ่มต้นงานด้วยการเขียนสคริปต์รายการ กระจกหกด้าน อยู่ 4 เดือน ก่อนลาออกไปเรียนภาษาที่เมืองนอก 2 – 3 เดือน จากนั้นก็กลับมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ฟีโนมีน่า ต่อมาเขาส่งหนังสั้น ด.เด็ก ช.ช้าง เข้าประกวดได้รางวัลชนะเลิศของมูลนิธิหนังไทย จึงได้โปรโมตให้เป็นผู้กำกับโฆษณาคนต่อไป

เดียว ไปเป็นหัวหน้าห้องฉายอยู่ที่เมเจอร์ฯ เอกมัย เวลาดึกๆ ก็มักพาชาวแก๊งมาดูหนังฟรี ทำงานได้ปีกว่า จึงชวนย้งไปเรียนภาษาต่อที่สหรัฐอเมริกา แต่ย้งกลับมาก่อน ส่วนเขาทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟอยู่ 3 ปี จนวีซ่าหมดอายุ พอไปเที่ยวก็เลยถูกจับขังอยู่ 3 เดือน ก่อนถูกส่งตัวกลับเมืองไทยในที่สุด

เอส พอเรียนจบก็ไปบวช เมื่อสึกออกมาก็ไปช่วย นนทรีย์ นิมิบุตร ผลิตสารคดีได้ 5 เทป จากนั้นก็ไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับหนังเรื่อง นางนาก และ ฟ้าทะลายโจร ก่อนจะหันมารับงานวิดีโอพรีเซนเทชันที่ 10 อาษา พร้อมกำกับละครโทรทัศน์

บอล รับจ๊อบฉายไฟฟอลโลว์เหมือนกับต้น จากนั้นก็มาทำงานเป็นคนอ่านบท คอยสกรีนคอมเมนต์ให้ผู้บริหารที่ Film Bangkok 2 ปี จากนั้นจึงลาออกรับงานถ่ายวิดีโอและละครสั้นอยู่ที่ 10 อาษา ที่เดียวกับปิ๊งและเอส

แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ

ทั้งหกไม่เคยคิดว่าเส้นทางอาชีพจะโคจรพบกันอีก กระทั่งในปีที่ 10 ที่รู้จักกันก็มีข้อเสนอที่เปลี่ยนชีวิตของพวกเขาตลอดกาลยื่นเข้ามา

เรื่องของเรื่องเริ่มต้นก่อนหน้านั้นประมาณ 2 ปี เมื่อรุ่นพี่นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ท่านหนึ่งลุกขึ้นมาทำเว็บบอร์ดชื่อ nitade.net หมายมั่นให้เป็นพื้นที่เม้ามอยของชาวคณะ และเพื่อกระตุ้นความสนใจ จึงเปิดคอลัมน์พิเศษชื่อ 7 one T โดยมีบรรณาธิการ 7 คนรับผิดชอบคอยหาเรื่องสนุกๆ มานำเสนอในแต่ละวัน

 จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ แห่ง Fat Radio (ในยุคนั้น) บ.ก. วันศุกร์ จึงดึงตัวบอลมาร่วมทีม โดยบอลได้เขียนเรื่องสั้นชื่อ อยากบอกเธอรักครั้งแรก เล่าถึงความรักวัยเด็ก (ของใครก็ไม่รูู้) เผยแพร่ช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2543

แม้อยากบอกเธอรักครั้งแรกจะไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ก็สร้างความประทับใจให้ใครหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ปิ๊ง เพื่อนสนิทของบอล ซึ่งหยิบเรื่องสั้นนี้ไปต่อยอดเป็นหนังสั้น หวังเข้าประกวดชิงรางวัลของมูลนิธิหนังไทย

“เหตุผลหนึ่งของการทำหนังก็เพื่อยื้อจะอยู่กรุงเทพฯ ต่อ เพราะตอนนั้นแม่จะลากกลับสุราษฎร์ ไปดูแลกิจการ เลยอ้างว่าจะทำหนังประกวด แล้วก็เอาเรื่องของบอลมาทำ เขียนบทไว้สิบกว่าหน้า โดยก่อนถ่ายก็เอาบทไปให้ พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) อ่าน แกก็คอมเมนต์ว่าดี” ปิ๊งย้อนเวลา

ปิ๊งเดินทางไปถ่ายทำหนังถึงบ้านเกิดบอลที่สระบุรี ถ่ายอยู่ปีกว่า แต่สุดท้ายก็ไม่เสร็จ

พอดีช่วงนั้น หับโห้หิ้น ฟิล์ม ต้องเตรียมตัวทำหนังเรื่องใหม่ ทว่าผู้กำกับหลักทั้งสองคนคือ เก้ง-จิระ มะลิกุล และ สิน-ยงยุทธ ทองกองทุน เพิ่งทำหนังของตัวเองเสร็จหมาดๆ ต้องใช้เวลาพักสมองอีกระยะหนึ่ง เก้งจึงนึกถึงบทหนังของปิ๊งว่าอาจนำมาต่อยอดได้ จึงให้ผู้จัดการกองถ่ายโทรศัพท์เรียกปิ๊งมาคุย ปิ๊งเลยชักชวนบอลในฐานะเจ้าของเรื่องไปด้วยกัน

“วินาทีที่ปิ๊งโทรมา ตอนนั้นอยู่ที่ท่ารถหมอชิต จังหวะกำลังขึ้นรถโทรศัพท์ก็ดังพอดี แต่เราซื้อตั๋วแล้ว ยังไงก็ต้องกลับ ไม่ได้ฉีกตั๋วแบบความฝันกลับมาแล้ว ที่สำคัญคือ สิ่งที่ปิ๊งเล่ากับความฝันสูงสุดอย่างการเป็นผู้กำกับ มันไม่เคยมีเลย เขาไม่ให้ทำหรอก” บอลเล่าไปหัวเราะ

สิ่งที่เก้งต้องการ คืออยากให้ทั้งคู่ไปตามเพื่อนภาคฟิล์มที่มีอยู่ 21 คนกลับมาทำหนังร่วมกัน เพราะเดิมทีเขาเคยสอนวิชาทำหนังให้เด็กกลุ่มนี้ แล้วรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ

ครั้งนั้นเก้งให้สัมภาษณ์ว่า 

“พวกนี้มันพิเศษ คือเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจคะแนนเลย เป็นรุ่นที่มีความแตกต่างของแต่ละบุคคลชัดเจนมาก…อย่างบทหนังที่พวกนั้นเอามาส่งผมนั้นหลากหลายและเป็นตัวเองมาก… ปีนั้นเป็นปีที่ผมไปดูงานกางจอ (กิจกรรมฉายหนัง ผลงานก่อนเรียนจบของแต่ละคน) ด้วยใจระทึก ถือเป็นจุดหักเหในชีวิตของผมเลย จากที่ตอนนั้นทำโฆษณา เบื่อฉิบหาย เริ่มรอคอยเมื่อไหร่จะถึงวันเสาร์ ผมอยากไปล้วงความลับเด็กเร็วๆ”

จากนั้น ข้อความ ‘พี่เก้งให้มาชวนไปทำหนัง’ ก็กระจายไปทั่ว แม้กระทั่งเดียว ซึ่งเป็นโรบินฮู้ดอยู่ที่สหรัฐอเมริกายังทราบข่าว

หลายเดือนต่อมา พวกเขา 6 คนไปรวมตัวกันที่หับโห้หิ้น ฟิล์ม แม้ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง

เก้งเล่าไอเดียคร่าวๆ ว่า อยากให้ทำหนังอินดี้ ถ่ายแบบดิบๆ ด้วยกล้อง 16 มม. จำนวน 2 ตัว พร้อมย้ำว่า การทำหนังต้องจริงจัง เนื่องจากเอาเงินนายทุนมาทำ ทุกคนจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อทุ่มเวลาเต็มที่

“ความจริงก็ตัดสินใจยากนิดหนึ่ง เพราะโฆษณาเงินดี แต่พอคิดว่าจะทำหนังกับเพื่อนก็โอเค และสมมติว่าหนังเจ๊งก็กลับมาทำโฆษณาได้” ย้งกล่าว

“คือหนังไทยในเวลานั้นมันยิ่งใหญ่จริงๆ คนที่จะได้ทำหนังไทย มันยากมาก” เดียวเสริม

“แต่ละเรื่องถูกกำกับโดยผู้กำกับรุ่นเก่าๆ ทั้งนั้น ไม่มีคนหน้าใหม่เลย อย่างพี่นนทรีย์ ถึงจะเป็น Gen ใหม่ก็จริง แต่เขาก็กำกับโฆษณามานานมาก หรือพี่ต้อม เป็นเอก ก็เหมือนกัน” ย้งขยายภาพให้ชัดเจนขึ้น 

พวกเขาใช้เวลาพัฒนาบทอยู่ตามร้านโดนัท ร้านส้มตำริมถนน และร้านเหล้า นาน 8 – 9 เดือน จนบท แฟนฉัน ร่างแรกเสร็จสมบูรณ์ เก้งประทับใจมาก จึงคิดว่าแทนที่จะทำหนังอินดี้ทุนต่ำ ก็ควรพัฒนาเป็นหนังเต็มรูปแบบ ถ่ายด้วยกล้อง 35 มม. ไปเลย และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นบันทึกหน้าสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย 

02

ฉีกทุกกฎหนังไทย

หากเทียบกับยุคเดียวกันแล้ว คงไม่ผิดถ้ากล่าวว่า แฟนฉัน คือภาพยนตร์ที่ท้าทายกรอบความเชื่อเดิมๆ ของอุตสาหกรรมหนังไทยมากที่สุดเรื่องหนึ่ง 

ตั้งแต่การหยิบประเด็นเด็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลหนังอาถรรพ์ที่ทำแล้วมีโอกาสเจ๊งมากกว่าเจ๋งขึ้นมาทำ รวมถึงการใช้ผู้กำกับหน้าใหม่พร้อมกัน 6 คน ซึ่งไม่มีที่ใดในโลกเคยทำมาก่อน

แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ
แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ

“หลังเขียนบทไปเกือบเสร็จแล้ว วันหนึ่งพี่ๆ ก็ถามว่า ตกลงเอาใครเป็นผู้กำกับ เหมือนเราจะเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนตอบว่าหกคนเลยครับ แล้วเขาก็นิ่งไปเลย” เอสย้อนเวลา

“ทุกอย่างมันดูนัวๆ คือพอทำบทด้วยกันแล้วก็เลยอิน จึงคุยกันเองว่าทำด้วยกันหกคนไหม แต่ตอนนั้นเราขาดประสบการณ์ ยังนึกภาพไม่ออกว่าการนั่งทำงานในกองถ่ายพร้อมกันจะมีปัญหาเยอะขนาดไหน” เดียวเสริม

แม้สิ่งที่ขออาจดูเป็นเรื่องบ้าบิ่น แต่ที่ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่า คือการที่ทีมงานจากหับโห้หิ้น ฟิล์ม ยินยอมให้ทั้งหกคนทำตามที่ขอ ส่วนหนึ่งอาจมาจากต้องการให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ แต่อีกมุมคงเพราะอยากพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า หนังเด็กดีๆ ก็ขายได้ เหมือนที่เคยทำสำเร็จมาแล้วตอนหนังกะเทยอย่าง สตรีเหล็ก ซึ่งเป็นหนังต้องห้ามอีกตระกูล

แต่ด้วยความที่หับโห้หิ้น ฟิล์ม เป็นเพียงโปรดักชันเล็กๆ ที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมายนัก ทีมงานจึงแบกความฝันนี้ไปเสนอกับสตูดิโอต่างๆ จนลงตัวที่ จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ และไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์

“ตอนนั้นพี่เก้งเขาอวยเรามาก อย่างตอนบทเสร็จก็เอาไปให้คุณไพบูลย์ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)) ชื่นชม จำได้ว่ามีการวาดรูปหน้าปก วาดแผนที่บ้านเจี๊ยบ น้อยหน่า ว่าใครอยู่ตรงไหน แล้วก็แนบแผ่นซีดีประกอบ พอเล่าถึงตรงนี้ก็กดเพลงออกมา” เดียวฉายภาพ

“เราทำตุ๊กตาหุ่นเชิดด้วย ไปเชิดให้เขาดูว่า เด็กคนนี้จะมาแบบนี้นะครับ สุดท้ายเขาถามว่าตกลงเอาเท่าไหร่นะ สิบล้าน โอเค พวกเอ็งรีบๆ พูด รีบไปได้แล้ว” ปิ๊งกล่าวต่อพร้อมเสียงหัวเราะ

“จริงๆ เขาคงซื้อตั้งแต่มีเพลงแล้วล่ะ มันครบวงจร” บอลตบท้าย

การทำงานแบบ 3 ขา กลายเป็นจุดแข็งของภาพยนตร์โดยปริยาย เพราะแต่ละโปรดักชันได้แบ่งปันทรัพยากรและประสบการณ์ที่มีร่วมกัน

จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ เอง ก็มีทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ นิตยสาร รวมถึงเพลง ซึ่งนำมาใช้ประกอบหนังหลายเพลง เช่น คอนเสิร์ตคนจน ของนกแล หรือ คนที่รู้ใจ ของแหวน ฐิติมา ที่สำคัญยังรับหน้าที่ตัวกลางเชื่อมประสานเรื่องลิขสิทธิ์กับค่ายเพลงต่างๆ ทั้ง EMI รถไฟดนตรี และนิธิทัศน์ อีกด้วย

ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งช่ำช่องการทำหนังวัยรุ่นมานานนับทศวรรษ ก็เข้ามาเติมเต็มเรื่องตลาด โดยเฉพาะชื่อหนัง ซึ่ง วิสูตร พูลวรลักษณ์ ขอให้เปลี่ยนจาก อยากบอกเธอรักครั้งแรก เนื่องจากตามสถิติหนังไทยแล้ว ชื่อหนังที่เหมือนกลอนพาไปไม่เคยรอดสักราย

“ชื่อแบบนี้เรียกคนเข้าไปดูหนังไม่ได้ มันไม่ท้าทายและไม่ใหม่พอสำหรับคนในยุคปัจจุบัน คำว่า ‘อยากบอกรักครั้งแรก’ มีกลิ่นอายความเชยมาครึ่งหนึ่งแล้ว มันไม่ร่วมสมัย หับฯ ก็ตกลง เปลี่ยนก็ได้” วิสูตรกล่าวไว้เมื่อ พ.ศ. 2546

กระทั่งสุดท้ายก็มาสรุปกันที่ชื่อ แฟนฉัน ซึ่งฟังครั้งแรกอาจรู้สึกแปลกๆ แต่วิสูตรเชื่อว่าชื่อนี้จะติดหู ติดนาน และวันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง

ขณะที่หับโห้หิ้น ฟิล์ม ในฐานะโปรดิวเซอร์หลัก มีภารกิจหลักในการทำยังไงก็ได้ให้หนังเรื่องนี้ไปรอด ภายใต้งบประมาณที่วางไว้คือไม่เกิน 15 ล้านบาท

วิธีการทำงานของเก้ง คือการปล่อยให้เหล่าศิษย์รักทำทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยเขากับทีมจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ผลงานที่ออกมาสะท้อนถึงตัวตนคนรุ่นใหม่ที่สุด

โดยก่อนเริ่มงาน ผู้กำกับแต่ละคนจะแบ่งหน้าที่กันไป ย้งรับตำแหน่งตากล้อง เอสเป็นแอ็คติ้งโค้ช เดียวเป็นฝ่ายคัดเลือกนักแสดง ส่วนบอล ปิ๊ง ต้น ประจำหน้ามอนิเตอร์ โดยต้นยังต้องรับหน้าที่ตัดต่อด้วย

“ตอนนั้นพี่ๆ มาคุยว่าค่ากำกับ ถ้าหารออกมาจะเหลือน้อยมาก เราเลยแก้ปัญหาด้วยการใส่ตำแหน่งให้ตัวเอง แล้วก็เอาทุกตำแหน่งโยนเข้ากองกลางแล้วหารหกอีกที รู้สึกจะได้คนละแปดหมื่นบาท ซึ่งตอนแบ่งงาน เราแบ่งตามศักยภาพ เช่นย้งถ่ายได้ก็ไปถ่าย ต้นตัดต่อได้ก็ไปตัด ส่วนผมไม่รู้จะทำอะไร ย้งก็เลยบอกว่างานแคสติ้ง ตอนทำโฆษณาโคตรสำคัญ และดูหน้าตาแล้วไม่มีใครทำ กูทำเองก็ได้” เดียวเล่าบรรยากาศช่วงนั้น

ทว่าด้วยความที่ทั้งหกไม่เคยทำหนังใหญ่จริงจังมาก่อน ประสบการณ์ที่มีอยู่จึงมาจากสมัยเรียนเป็นหลัก บวกกับการลองผิดลองถูกหน้างาน ผสานกันเป็นกระบวนการทำงานที่ฉีกแนว ไม่เหมือนใคร

แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ
แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ

เอาง่ายๆ อย่างการคัดเลือกนักแสดง เด็กที่คัดมาเกือบทั้งหมดแทบไม่เคยผ่านหน้าจอเลย เนื่องจากทีมผู้กำกับใช้วิธีการเดินสายหาเด็กตามโรงเรียนเป็นหลัก มากกว่าพึ่งพิงเด็กจากแคตตาล็อกของโมเดลลิ่ง พวกเขาจึงต้องหาวิธีทำยังไงก็ได้ให้เด็กกลุ่มนี้พร้อมแสดงที่สุด

“เราไม่รู้เลยว่าการใช้เด็กที่ไม่เคยเล่นอะไรมาก่อนมาเป็นสิ่งที่เขาไม่ทำกัน เราเลยได้เด็กแบบไอ้หยกที่เล่นเป็นมาโนช ซึ่งตามบทต้องเป็นคนขรึมๆ แต่กลับเป็นคนที่ซนที่สุดมาแทน เพราะตอนเลือกเราไม่มีแพตเทิร์นอะไรทั้งสิ้น เอากันแบบดิบๆ แค่อยากได้พอแล้ว หรืออย่างเรื่องการแสดงของเด็ก เวลาดูหนังเรื่องอื่น เรามักเห็นว่าเด็กชอบพูดแบบท่องจำ ดูไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งอาจเพราะกลัวผิดกลัวโดนผู้กำกับด่า หรือบางครั้งโดนพ่อแม่บังคับให้ท่องบท เราเลยคิดกันเองว่า เมื่อมันกลัวพวกเรา ก็พาไปเข้าค่ายสิ ไปเล่นกัน แค่นี้มันก็สนิทกันแล้ว” แอ็คติ้งโค้ชยกตัวอย่าง

แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ

ผลจากการพาเด็กไปเวิร์กช็อป ไปทำกิจกรรม ทดลองแสดงหนังสั้นร่วมกัน นอกจากจะทำให้เด็กๆ รู้สึกผ่อนคลาย ไม่กลัวผู้กำกับแล้ว ยังทำให้แต่ละก๊วนยิ่งสนิทกัน และกลายเป็นเรื่องง่ายเมื่อต้องถ่ายทำจริง

หรือแม้แต่การวางเฟรมภาพ ถ้าย้อนกลับไปจะพบว่า ภาพที่ปรากฏในหนังค่อนข้างมีเอกลักษณ์อย่างมาก

เหตุผลเป็นเพราะตอนที่ย้งตั้งเฟรมเสร็จ เขาแทบไม่ควบคุมกล้องเลย จนวันหนึ่งเก้งถึงกลับทักขึ้นมาว่า 

“ย้ง กูดูมึงมาประมาณยี่สิบคิวแล้ว มึงแปลกมากเลย มึงวางเฟรมเสร็จปุ๊บ แล้วก็เอามือไขว้หลัง”

“ตอนนั้นก็หวั่นไหวเหมือนกัน หรือว่าถ่ายผิดมาทั้งเรื่อง เพราะตอนเรียน เราก็ถ่ายนิ่งๆ มาตลอด ไม่เคยรู้ว่าต้องโอเปอร์เรตกล้องด้วย แต่พี่เก้งเขาก็บอกว่าที่ทักขึ้นมา ไม่ใช่ให้เปลี่ยน ก็เราทำถึงป่านนี้แล้ว คือเขาอยากรู้ว่าทำแบบนี้ทั้งเรื่องจนเสร็จแล้วจะเป็นยังไง” ย้งจำภาพวันนั้นได้ดี 

แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ
แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ

“ตอนถ่ายทำ ต้นตัดต่อไปด้วย แล้วพี่เก้งก็เอาไปให้คุณวิสูตรดู เขาคอมเมนต์กลับมาว่า มันดูเป็น ‘หนังอาร์ตเอเชีย’ มากเลย ซึ่งไม่ใช่คำชมนะ แต่หมายความว่าพวกมึงทำเรื่องที่ตลกให้เป็นหนังอาร์ตกันทำไม” บอลเสริมข้อมูล

“แต่ถ้ามองย้อนกลับไป เราจะเห็นเลยว่าหนังมีการดีไซน์ทั้งเรื่อง เพราะด้วยความที่เป็นนักเรียนหนัง ซีนบางซีนจึงเป็นสิ่งที่เรียนมา เช่น ถ่ายภาพนิ่งๆ ไว้ แล้วมีเสียงอาบน้ำ มันเป็นภาษาภาพ หรือการเปลี่ยนต้นไม้ต้นนี้เป็นอีกฤดูกาล ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เล่าไปเรื่อย” เดียวสรุปเรื่องราว

จากการทำงานที่นำจุดเด่นของทุกภาคส่วนมาผสมผสานกัน ทำให้ แฟนฉัน กลายเป็นดาวเด่นขึ้นมา ที่สำคัญ ยังเป็นการพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า ของดีอาจไม่จำเป็นต้องเกิดจากสูตรสำเร็จเดิมๆ ที่เคยเชื่อกันมาเสมอไป

03

‘ความไม่รู้’ ที่ลงตัว

“ถ้าลิสต์ออกมา คงมีข้อห้ามเกินร้อยอย่างที่ แฟนฉัน ทำ” เดียวเอ่ยขึ้นในวงสนทนา

เพราะ แฟนฉัน เป็นภาพยนตร์แห่งการทดลอง หลายอย่างทำไปตามความไม่รู้ ส่งผลให้พวกเขาต้องเผชิญกับเรื่องไม่คาดคิดมากมายตั้งแต่เริ่มเปิดกล้อง

“คิวแรกของ แฟนฉัน คือเด็กนั่งบนรถแล้วกินไอติมกัน ฉากแบบนี้ถ้าเป็นสมัยเรียน เราคงมีแค่กล้องตัวเล็กๆ กับเครื่องอัดเสียงอีกตัว แต่พอเป็นกองใหญ่ ทุกอย่างทุลักทุเลมาก เราต้องคุมเด็กห้าสิบหกสิบคน แล้วยังมีเรื่องตำแหน่งกล้อง ตำแหน่งคนอัดเสียง แถมรถก็ติดเครื่องไม่ได้ เพราะเสียงมันดังมาก อัดไดอะล็อกแล้วไม่ได้ยิน จึงต้องเรียกรถอีกคันมาลาก รวมทั้งต้องดีลกับ อบต. เพื่อกั้นถนนอีกสองถึงสามกิโล ตอนนั้นรู้สึกเลยว่า แค่ถ่ายเด็กคุยกันหลังรถ ทำไมถึงเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ รู้แบบนี้เขียนบทให้นั่งคุยกันข้างถนนดีกว่า” ต้นย้อนเวลา

แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ
แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ

เหตุการณ์ลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อย่างฉากแก๊งเด็กผู้ชายขี่จักรยานร้องเพลง คอนเสิร์ตคนจน ซึ่งพวกเขาใช้วิธีแบกกล้องและอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นหลังรถกระบะแล้วตามไปถ่าย แต่ปัญหาคือไม่เหลือที่ว่างให้ผู้กำกับนั่งดูมอนิเตอร์เลย ปิ๊ง บอล ต้น เลยต้องหันมอนิเตอร์มาด้านข้าง แล้ววิ่งไปพร้อมกับรถ แต่สุดท้ายก็พบว่าวิธีนี้ไม่เวิร์ก เพราะต้องวิ่งไปตลอด 1 – 2 กิโลเมตร ห้ามหยุด ไม่เช่นนั้นจะติดเฟรม

ด้วยเหตุนี้ แฟนฉัน จึงเป็นกองภาพยนตร์ที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก และพร้อมเปลี่ยนเสมอหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา เช่นฉากเจี๊ยบขอเข้าแก๊งเด็กผู้ชาย แต่กลับถูกสั่งให้พิสูจน์ความกล้าด้วยการทำภารกิจ 3 ข้อก่อน ซึ่งต้องปรับบทกะทันหัน เนื่องจากถ่ายทำไม่ทัน

“ความจริงไม่มีแก้ผ้ากระโดดน้ำ ปิ๊งเขียนให้เจี๊ยบไปขโมยมะม่วง พอขโมยเสร็จแล้วก็จะมีหมามาสะกิด อารมณ์แบบอย่ายุ่งน่า พอหันมาเจอหมาก็ร้องแฮ่! แล้ววิ่งหนี แต่พอดีวันนั้นฝนตก และเป็นวันสุดท้ายที่จะได้ถ่ายใต้ต้นไม้นั้นด้วย ก็เลยมานั่งคุยกันว่าเอาไงดี สุดท้ายมาคิดว่า เราต้องไปถ่ายฉากกระโดดน้ำอยู่แล้ว ก็เปลี่ยนเป็นแก้ผ้ากระโดดน้ำแทน พิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายเหมือนกัน ซึ่งเอาจริงน่าจะดีกว่าในบทด้วย” เอสเผยเบื้องหลังที่น้อยคนจะรู้

แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ

หรือแม้แต่บทสนทนาในเรื่องก็มีการปรับอยู่ตลอดเช่นกัน เนื่องจากผู้กำกับแทบไม่เคยให้นักแสดงเด็กอ่านบทเลย  ข้อดีของการทำงานแบบนี้ คือพวกเขาดึงความเป็นธรรมชาติออกจากตัวเด็กได้สูงมาก และยังช่วยเติมเต็มช่องโหว่ที่เคยขาดหายในช่วงพัฒนาบทให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

“ปกติเราจะไม่ได้ให้เด็กท่องบทมาก เช่น สมมติพรุ่งนี้มีถ่าย เราก็จะพาเด็กๆ ไปค้างก่อน แล้วบอกว่าพรุ่งนี้จะเล่นอะไรกัน แค่นี้พอ เล่นเท่าที่จำได้ ไม่ต้องไปท่อง หรือหลายๆ ฉาก เราใช้วิธีกระซิบบอกกันวันนั้นเลย เชื่อไหมพอหนังฉาย เด็กบางคนเพิ่งรู้ว่าเรื่องราวเป็นอย่างนี้” เอสอธิบาย

“คือแต่คนละคนจะรู้บทไม่เท่ากัน เพราะส่วนใหญ่เอสมักไปด้นสดหน้ากองซะเยอะ โดยใช้ ไอ้แจ๊ค (เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์) นี่แหละเป็นแกนกลางในการเพิ่มเรื่องหรือเปลี่ยนเรื่อง เนื่องจากคนอื่นเด็กกว่ามันหมด ก็เลยไม่ค่อยรู้ความเท่าไหร่ ในเรื่องมีหลายมุกแจ๊คคิดเพิ่มเอง เช่นฉากเตะบอล จำได้ว่าด้นสดเยอะเหมือนกัน” เดียวขยายความ

แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ
แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ

“ฉากเจี๊ยบให้ดอกไม้น้อยหน่าในงานโรงเรียนก็เหมือนกัน อันนั้นไม่ได้บอก โฟกัส (โฟกัส จีระกุล) ก่อน เรากระซิบให้แน็กเดินถือดอกไม้ไปให้จริงๆ เลย ฉะนั้น สิ่งที่ออกมาจึงเป็นรีแอ็คจริง โฟกัสอายจริง” ต้นย้อนถึงฉากในตำนาน

แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีสิ่งใดสำคัญเท่ากับการเคลียร์บทบาทการทำงานให้ชัดเจน ในฐานะของผู้กำกับภาพยนตร์ เพราะการที่คน 6 คน ซึ่งต่างบุคลิก ต่างวิธีคิด ต้องมาร่วมมารับผิดชอบสิ่งเดียวนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย

หลักหนึ่งที่พวกเขายึดถือเสมอ คือทีมเวิร์กต้องมาเป็นอันดับแรก ฉะนั้น การตัดสินใจใดๆ ต้องได้รับฉันทามติจากทุกฝ่าย แน่นอนว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทุกอย่างย่อมก้าวข้ามไปด้วยเหตุผลและมิตรภาพที่สั่งสมมายาวนาน

“เราเถียงกันเกือบทุกช็อต เถียงกันทุกเทก” บอลเปิดประเด็น

แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ
แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ

“เวลาบอกว่าผู้กำกับหกคนมาช่วยกันเลือกสีกางเกงหรือทะเลาะกันหน้ามอนิเตอร์ อาจฟังดูเป็นสิ่งที่โม้หรือโฆษณาได้ แต่เวลาอยู่ในกอง คนอื่นไม่ได้สนุกกับเราด้วย เขารำคาญว่าทำไม่ต้องรอ หลายคนคงรู้สึกว่าไอ้พวกนี่มันจะรอดหรือเปล่า เพราะอย่างแอ็กติ้งอะไรบางอย่าง ย้งบอกว่าดี แต่เอสบอกว่าไม่ใช่ ซึ่งความจริงเราไม่ถือกัน เพราะมองว่าเป็นหนังที่เราหกคนทักได้ แต่คนทำงานซึ่งเป็นมืออาชีพเขาไม่รู้สึกแบบนั้น หลังถ่ายไปได้สิบกว่าคิว เลยตัดสินใจเบรกกองไว้ก่อน เพื่อมาเคลียร์กันเอง เพราะตอนนั้นเหมือนเราสโคปไม่ถูกว่าต้องจัดการอย่างไรในฐานะผู้กำกับ” เดียวอธิบาย

“เรื่องหนึ่งที่นับถือพี่เก้งมาก เพราะสิ่งที่เขาแคร์มากกว่าหนังจะประสบความสำเร็จหรือไม่ คือเขากลัวพวกเราจะทะเลาะแล้วเลิกคบกัน เพราะว่าเขารู้ว่าจริงๆ แล้วไดเรกเตอร์มีได้แค่คนเดียว” เอสกล่าวต่อ

“แต่ผมเชื่อว่าเราคงไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะพวกเราเป็นเพื่อนกันเป็นสิบปี เราผ่านจุดที่ทะเลาะกันหนักๆ มาแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียน เลยรู้ว่าต้องจัดการยังไง” ย้งสรุปตบท้าย

04

สู่เส้นทาง..ตำนาน แฟนฉัน

หลังเคี่ยวกรำมานานร่วมปี ในที่สุดภารกิจทำหนังกับเพื่อนก็เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์

แฟนฉัน เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2546 วันเดียวกับแอนิเมชันฟอร์มยักษ์ Finding Nemo จากค่าย Pixar เข้าฉาย

เดิมทีฝ่ายการตลาดคาดการณ์ว่า แฟนฉัน น่าจะทำรายได้ประมาณ 30 – 50 ล้านบาท จากนั้นก็วางแผนจะส่งฉายตามเทศกาลหนังในต่างประเทศเพิ่มเติม แต่ปรากฏว่าเพียงวันแรกที่เข้าฉาย แฟนฉัน ทำรายได้ถึง 700,000 กว่าบาท และเข้าสู่หลัก 50 ล้านภายใน 5 วัน ก่อนจบทั้งโปรแกรมที่ 137 ล้านบาท กลายเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดประจำปี ลบอาถรรพ์หนังเด็กที่ฝังแน่นวงการภาพยนตร์ไทยแบบไม่เหลือซาก

ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีผู้วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

หลายคนบอกว่าเป็นเพราะความน่ารักแสนซนของเด็กๆ บ้างก็ยกความดีให้เพลงประกอบยุค 80 และอีกไม่น้อยเชื่อว่ามาจากการพลังของ 3 สตูดิโอที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์

แต่สำหรับผู้กำกับ 6 คนต่างย้ำว่า ทั้งหมดล้วนอยู่เหนือความคาดหมาย แม้ในใจจะเชื่อลึกๆ ว่า หากใครได้ชมก็คงหลงเสน่ห์หนังเด็กเรื่องนี้ไม่ยากก็ตาม ดังที่เก้งเคยกล่าวเมื่อนานมาแล้วว่า แฟนฉัน เป็น ‘อภิชาตฟิล์ม’ ดูเป็นสิบรอบแล้วก็ยังอิน น้ำตาไหลได้

“บางทีพี่เก้งเขาอาจมีเซนส์การตลาดอยู่ในหัว แต่เขาไม่เคยพูดสิ่งนี้กับเราเลยว่าทำแบบไหนแล้วจะขายได้ หรือทำแบบนี้แล้วคนดูจะชอบ” ย้งเอ่ยขึ้น

“แต่จุดที่ผมคิดว่ามีส่วนมากๆ คือหนังเรื่องนี้เป็นประสบการณ์ร่วม ทุกคนเคยเป็นเด็ก ทุกคนต้องเคยชอบหรือสนิทกับเพศตรงข้าม เพราะฉะนั้นพอมันเชื่อมโยงกับทุกคนบนโลก ก็เลยมีโอกาสที่คนดูแล้วอินได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า หนังจะดึงอารมณ์ได้หรือไม่” เอสช่วยเติมประเด็น 

แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ
แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ

“ซึ่งเราเชื่อว่าต้องดี เพราะกว่าหนังจะออกมาได้ มันผ่านกระบวนการยิงกันมาเละเทะตั้งแต่ถ่ายแล้ว มีคนห้าหก คนมาช่วยกันคอมเมนต์ขนาดนี้ สิ่งสำคัญคือจะทำยังไงให้คนได้ดูกันเยอะๆ เพราะถ้าเขาชอบ เขาจะไปบอกต่อ จำได้ว่าตอนนั้นฝ่ายการตลาดใช้วิธีชวนคนมาดูหนังด้วยม้วน VHS ที่หับโห้หิ้น ก่อนหนังจะเข้าโรง ซึ่งเราก็งงมากว่าทำได้ด้วยเหรอ ไม่ใช่แค่นั้น เขายังเอาหนังไปฉายตามมหาวิทยาลัยด้วย เหมือนแคมปัสทัวร์” ต้นเล่าถึงแผนโปรโมต

ความสำเร็จของ แฟนฉัน สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้คนมากมาย ทั้งนักแสดงและผู้กำกับ ซึ่งกลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืน มีสื่อมากมายหลายสำนักเข้าคิวกันขอสัมภาษณ์ และยังมีผู้คนเข้ามารุมล้อม โดยเฉพาะบอลซึ่งกลับบ้านทีไรก็มักมีคนฝากลูกหลานไปเล่นหนังอยู่เสมอ

แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น คือภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กลายเป็นหลักไมล์หนึ่งของอุตสาหกรรมหนังไทย 

แฟนฉัน ไม่ใช่หนังสำคัญหรือสุดยอดอะไรขนาดนั้น แต่ตำแหน่งการมาของมันมีอิทธิพลต่อคนทำงาน อย่างตอนแรกหับโห้หิ้น ฟิล์ม จะปิดบริษัทด้วยซ้ำไป หากยังทำหนังแล้วได้เท่าทุนอยู่ หรือทำแล้วไม่มีอนาคตมาก ก็คงเลิกกลับไปทำโฆษณาเหมือนเดิม แต่พอ แฟนฉัน สำเร็จ เขาก็เลยรวมตัวจนกลายเป็น GTH ด้วยความหวังว่า ผู้กำกับเหล่านี้จะไปผลิตโปรเจกต์ของตัวเองต่อไป ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ” เดียวเล่าจุดตั้งต้นของอดีตค่ายหนังอารมณ์ดี

“ถ้ามองในแง่อุตสาหกรรม แฟนฉัน ก็เหมือนการเปิดประตูให้สตูดิโอทั้งหลายกล้าลองกับผู้กำกับหน้าใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบทำงานสิบปี บางคนจบมาแค่สองถึงสามปีก็ได้เป็นผู้กำกับหนังแล้ว” บอลอธิบายต่อ

“มันทำให้เรารู้ว่า สิ่งนี้เป็นอาชีพได้จริงๆ เพราะสมัยที่ผมเรียนนิเทศ การเรียนฟิล์มเป็นอะไรที่ห่วยมาก มองไม่เห็นอนาคตเลย” ต้นฉายภาพ

แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ

ผ่านมาเกือบ 17 ปี เอส บอล ย้ง ปิ๊ง และต้น กลายเป็นผู้กำกับดังที่สร้างหนังประสบความสำเร็จมากมาย ส่วนเดียว แม้ไม่มีผลงาน แต่ก็ยังทำหน้าสนับสนุนงานของเพื่อนๆ อยู่เบื้องหลังเสมอมา 

แม้วันนี้โอกาสที่เพื่อน 6 คนจะกลับมาทำงานร่วมกันในฐานะผู้กำกับคงไม่มีอีกแล้ว

เพราะด้วยประสบการณ์ที่มากขึ้น บวกกับเส้นทางชีวิตที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะย้งที่ทุ่มเวลาเกือบทั้งหมดดูแลนาดาว บางกอก บริษัทผลิตละครและซีรีส์ รวมถึงบริหารศิลปินในเครือ GDH เช่นเดียวกับเดียว ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารของน้ำดีไม้งาม บริษัทโปรโมตหนังและคอนเทนต์ของ GDH รวมถึงงานของรัชดาลัยเธียเตอร์

แต่ แฟนฉัน ก็ยังเป็นภาพความทรงจำที่สวยงาม ซึ่งมักถูกหยิบยกมาพูดถึงเสมอมา

สิ่งหนึ่งที่แต่ละคนได้เรียนรู้จากหนังความยาว 111 นาทีเรื่องนี้ ไม่ใช่ทักษะการกำกับหนัง แต่คือทักษะของการใช้ชีวิต ซึ่งต้องอาศัยการเปิดใจและยอมรับซึ่งกันและกัน

“เราได้เรียนรู้ว่าทีมงานรู้สึกยังไง เพราะเราก็เป็นทีมงานเหมือนกัน ไม่ได้เป็นผู้กำกับตั้งแต่แรก” เอสเล่าก่อน

“สิ่งที่ แฟนฉัน สอนผม คือการทำงานเป็นทีม เพราะพอเรามากำกับคนเดียว ตัดสินใจคนเดียว เราจะรู้สึกว่าสิ่งที่เราคิดดีสุดเสมอ แต่ แฟนฉัน ทำให้เรารู้ว่า การมีคนอื่นช่วยคอมเมนต์ในสิ่งเดียวกัน ได้รับฟังความเห็นอื่นบ้าง มันก็ดี บางครั้งเราก็โหยหาสิ่งนี้นะ แต่ว่าคงไม่มีให้เราอีกแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำงานที่เยอะขึ้น ถ้าสิ่งไหนที่เราไม่มีก็ต้องรีบเติมได้แล้ว ไม่งั้นเราไม่รอดแน่ ตัวอย่างง่ายๆ เช่นมุกตลกหรือความน่ารักทั้งหลาย มันมาจากคนอื่นร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างผมไม่มีทางคิดมุกให้ไอ้แจ๊คได้แน่นอน” ต้นอธิบาย

“ตอนที่ทำ แฟนฉัน ทุกอย่างเราทำด้วยคอมมอนเซนส์ล้วนๆ ไม่มีอีโก้หรือตำแหน่งใดๆ บทบาทของเราเหมือนเป็นครีเอเตอร์มากกว่า ซึ่งผมมองว่าสิ่งนี้เป็นความรู้สึกที่เพียวมาก แบบที่ผ่านไปแล้ว คงยากมากที่เราจะกลับไปหาความรู้สึกแบบนั้นได้อีก สำหรับผมแล้ว แฟนฉัน เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้อีกแล้ว” เดียวกล่าวทิ้งท้าย

และทั้งหมดคือบทสรุปของภาพยนตร์แห่งปรากฏการณ์ที่ฝังแน่นในใจใครหลายคน ไม่แพ้ ‘รักครั้งแรก’ เลย

แฟนฉัน ความทรงจำ 6 ผกก. เรื่องหนังที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าของดีไม่ต้องเกิดจากสูตรเดิมๆ

ขอบคุณภาพประกอบ ภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน โดย ปราเมศร์ ชาญกระแส (จาก Facebook : GDH และ หนังสือแฟนฉัน from filmmaking to marketing)


เรียบเรียงจาก

  • บทสัมภาษณ์ 6 ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2563
  • หนังสือ แฟนฉัน from filmmaking to marketing สำนักพิมพ์ openbooks
  • นิตยสาร open ปีที่ 5 ฉบับที่ 36 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2546
  • นิตยสาร Bioscope ปีที่ 2 ฉบับที่ 23 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 – รายการ GTH FamilyEp.1 แฟนฉัน แฟนกัน 10 ปี

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว