The Cloud X ไทยประกันชีวิต

 ‘คลองเตย’ คนภายนอกเรียกว่าสลัม และมีภาพจำเคล้าอคติว่าที่นี่ไร้ซึ่งหนทางพัฒนา เป็นแหล่งรวมปัญหาสังคมทั้งเรื่องเยาวชน ยาเสพติด ไปจนถึงการเป็นแหล่งซ่องสุมขนาดใหญ่ใจกลางกรุง ที่มีผู้อยู่อาศัยอยู่หลายหมื่นคน

คนมากมายตัดสิน ทั้งที่ไม่เคยเข้ามาสัมผัสว่าแท้จริงแล้ว ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีเพียงแสงรำไรส่องผ่านกำแพงหนาทึบของสังคม แต่ต้นกล้าเล็กๆ แห่งความเปลี่ยนแปลงนับร้อยนับพันต้น กำลังค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงในชุมชนแห่งนี้

ไม่แปลก ถ้าคุณจะไม่เคยได้ยินชื่อ Music Sharing กลุ่มครูดนตรีอาสากลุ่มเล็กๆ ที่ทำงานพัฒนาสังคมในพื้นที่คลองเตยอย่างแข็งขันมากว่า 9 ปีแล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นจากผู้หญิงแกร่งที่ชื่อ ครูแอ๋ม-ศิริพร พรมวงศ์ และไม่ใช่แค่เด็กในคลองเตย ครูแอ๋มยังเป็นหนึ่งในเรี่ยวแรงหลัก ที่ผลักดันให้เกิดเครือข่ายดนตรีที่แข็งแกร่งของเยาวชนด้อยโอกาสทั่วประเทศ 

Music Sharing กลุ่มครูดนตรีอาสาผู้เปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสดีๆ และเสียงดนตรี

‘ดนตรี’ ทำให้เด็กๆ ในชุมชนแออัดมีอนาคตที่กว้างไกลขึ้น เพราะเขาได้เห็นและเรียนรู้ว่าแม้จะมีโอกาสน้อยกว่าเด็กคนอื่น แต่ยังมีเส้นทางอีกมากมายให้ก้าวเดิน เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยไม่ต้องไปพึ่งยาเสพติดและกลายไปเป็นปัญหาของสังคม 

ไม่ใช่แค่สอนดนตรีให้เด็กๆ แต่ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา Music Sharing สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ ผลิดอกออกผลจนทุกวันนี้เห็นชัดเป็นรูปธรรม ทั้งการเปลี่ยนโรงฆ่าสัตว์เก่า พื้นที่รกร้างเสื่อมโทรม แหล่งซ่องสุมของผู้ติดยาเสพติด ให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และเรียนรู้ของชุมชน

Music Sharing กลุ่มครูดนตรีอาสาผู้เปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสดีๆ และเสียงดนตรี
Music Sharing กลุ่มครูดนตรีอาสาผู้เปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสดีๆ และเสียงดนตรี

เมื่อคนในชุมชนเข้มแข็งและแข็งแรง เขาก็พร้อมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ครูแอ๋มบอกว่า ‘ดนตรี’ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง แม้จะในซอกมุมที่เล็กที่สุดของสังคมก็ตาม

แม้แต่ช่วงเวลาที่ทุกคนอ่อนแอที่สุด ที่โรคระบาด COVID-19 ส่งผลกระทบต่อชุมชนแออัดมากกว่าใคร โดยเฉพาะชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างคลองเตย ก็เป็นน้ำพักน้ำแรงของครูดนตรีอาสาเหล่านี้นี่แหละที่สร้างระบบภูมิคุ้มกันแสนแน่นหนา เพื่อเยียวยาความทุกข์ยากที่เกิดขึ้น 

หลายเดือนของโรคระบาด พวกเขาวางเครื่องดนตรี ออกเดินสำรวจสำมะโนครัวของคนนับหมื่นในชุมชนคลองเตย เพื่อประเมินความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น จากนั้นประสานงานกับกลุ่มคนมากมาย กลายเป็นโปรเจกต์ระดมทุนขนาดใหญ่ ที่นำความช่วยเหลือมาสู่คลองเตยได้สำเร็จ

Music Sharing กลุ่มครูดนตรีอาสาผู้เปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสดีๆ และเสียงดนตรี

ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา คนในคลองเตยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าร้อยละ 50 บางครัวเรือนตกงานกันยกบ้าน มีคูปองเงินสดที่เป็นเหมือนสกุลเงิน ‘ปันกันอิ่ม’ ใช้หมุนเวียนกันในชุมชน โดยเงินนี้ไม่ได้แจกจ่ายไปแบบมั่วๆ แต่วางระบบมาอย่างดี ผ่านฐานข้อมูลที่รัดกุมและแม่นยำ 

โรงเรียนดนตรีของเด็กๆ เพิ่งกลับมาเปิดทำการสอนได้ไม่กี่วันที่ผ่านมา แม้ฝุ่นตลบของ COVID-19 จะจางไปแล้ว แต่คนในชุมชนแออัดยังได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เมื่อครอบครัวไม่มีอันจะกินอยู่ โอกาสที่เด็กๆ จะหลุดจากระบบการศึกษาในโรงเรียนนั้นมีสูงมาก Music Sharing จึงเริ่มขยับอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กทุกคนจะยังได้เรียนหนังสือ

เราจะไปคุยกับพวกเขาถึงภารกิจในซอกมุมที่เล็กที่สุดซึ่งดำเนินมากว่า 9 ปี เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเข้มแข็ง โดยเริ่มจากตัวโน้ตสั้นๆ ที่เรียกว่า ‘ดนตรี’ 

โน้ตตัวที่ 1 

เรื่องราวของครูอาสาสมัคร

ครูแอ๋มเล่าถึงจุดเริ่มต้นแสนเรียบง่ายของ Music Sharing ว่า สมัยที่เธอยังเป็นนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ด้วยความที่หลงรักการเล่นกีตาร์มาตั้งแต่เด็กๆ เธอจึงชวนเพื่อนๆ ที่เรียนด้านดนตรีด้วยกัน มาทำค่ายเด็ก โดยเปิดรับบริจาคเครื่องดนตรีให้น้องๆ ชาติพันธุ์ในจังหวัดน่าน 

ผลปรากฏว่าเสียงตอบรับดีมาก มีคนมากมายสนใจบริจาคเครื่องดนตรีมาให้ เรียกว่าข่าวการรับบริจาคครั้งนั้นถูกแชร์ต่อกันไปไกล จนได้รับเครื่องดนตรีมามากเกินจำเป็นสำหรับน้องๆ ในพื้นที่เดียว ครูแอ๋มจึงเริ่มกระจายเครื่องดนตรีให้เด็กในพื้นที่อื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนชาติพันธุ์บนดอยตามจังหวัดอื่นๆ มาจนถึงชุมชนคลองเตยในกรุงเทพฯ 

คำถามต่อไปคือ “เมื่อมีเครื่องดนตรีแล้ว เด็กๆ จะเล่นได้อย่างไร หากไม่มีครูสอนดนตรี เพราะเด็กจำนวนมากในสังคมอยากเรียนดนตรี แต่ไม่มีโอกาส อาจเพราะผู้ปกครองไม่มีเงินมากพอที่จะส่งเสีย หรือบางครอบครัวอาจไม่สนับสนุน

Music Sharing กลุ่มครูดนตรีอาสาผู้เปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสดีๆ และเสียงดนตรี

“เราเริ่มเข้าไปสอนดนตรีให้เด็กๆ ในชุมชนคลองเตยทุกวันเสาร์ ตอนแรกๆ สอนเอง แต่เด็กที่มาเรียนก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องรับสมัครครูดนตรีอาสามาร่วมทีม ครูดนตรีอาสาแต่ละคนจะแวะเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาช่วยสอน เพราะมันกิจกรรมอาสาสมัคร เขาก็จะไม่ได้อยู่ยาวหลายปี ส่วนใหญ่จะเข้าๆ ออกๆ”

ครูแอ๋มอธิบายว่า Music Sharing ที่เป็นชื่อกลุ่มมาจนถึงทุกวันนี้ ก็มาจากเฮดไลน์บนโปสเตอร์ที่ทำกันง่ายๆ ตอนที่รับบริจาคเครื่องดนตรีนี่แหละ “เรารับบริจาคเครื่องดนตรีทุกประเภท แต่จะยืนพื้นที่กีตาร์ เบส อูคูเลเล่ กลองชุด และคีย์บอร์ด เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนได้ทดลองเล่นเครื่องดนตรีที่หลากหลาย เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเขามีทักษะหรือชอบอะไร จนกว่าเขาจะได้ลองเล่นมันจริงๆ จังๆ”

Music Sharing กลุ่มครูดนตรีอาสาผู้เปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสดีๆ และเสียงดนตรี
Music Sharing กลุ่มครูดนตรีอาสาผู้เปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสดีๆ และเสียงดนตรี

ช่วงแรกๆ ด้วยจำนวนเด็กในชุมชนหลายสิบคน ทำให้กีตาร์ตัวหนึ่งต้องผลัดกันเล่น 5 คน เด็กๆ ที่มาเรียนมีอายุตั้งแต่ 6 – 7 ขวบ ไปจนถึงวัยรุ่นอายุ 13 – 14 ปี Music Sharing จึงเริ่มขยับขยาย จากที่สอนทุกวันเสาร์ให้เด็กๆ แค่ชุมชนเดียว ทุกวันนี้มีชุมชนมาเข้าร่วมถึง 9 ชุมชนในพื้นที่คลองเตย และสอนอาทิตย์ละ 6 วัน 

โน้ตตัวที่ 2

ห้องเรียนดนตรีของเด็กยากจน

“เราไม่ได้สอนแค่การใช้เครื่องดนตรี การอ่านโน้ต แต่เราใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการสอนและสื่อสารกับเด็ก อาจเพราะเรามีพื้นฐานมาจากกลุ่ม ‘สลึง’ สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งใช้กระบวนการเพลงทำงานกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว มันเลยมีทั้งเรื่องดนตรีและการพัฒนาสังคมผสมผสานอยู่ด้วยกัน

“เมื่อกิจกรรมอาสาสมัครขยายใหญ่ขึ้น เราจึงเริ่มขอทุนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขยายเรื่องกระบวนการดนตรีในการพัฒนาเด็กออกไปอีกหลายพื้นที่ จากเด็กในชุมชนแออัดคลองเตย สู่เด็กไร้สัญชาติ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีฐานะค่อนข้างยากจน

“ทุกวันนี้ Music Sharing มีพื้นที่ในเครือข่ายอยู่ประมาณสามสิบพื้นที่ทั่วประเทศ สิ่งที่เราทำคือการนำเครื่องดนตรีที่ได้รับบริจาคไปให้ เวิร์กช็อปและสอนกระบวนการ รวมถึงให้ทุนสนับสนุนตามความเหมาะสม เพื่อให้แต่ละพื้นที่รันกระบวนการต่อไปได้”

Music Sharing กลุ่มครูดนตรีอาสาผู้เปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสดีๆ และเสียงดนตรี

นอกจากการนำเครื่องดนตรีไปบริจาค และการจัดหาทีมครูดนตรีอาสาในพื้นที่แล้ว Music Sharing ยังมีกิจกรรมที่ช่วยสร้างแรงจูงใจในการเล่นดนตรีให้เด็กๆ ด้วย อย่างค่ายดนตรี ให้เด็กจากหลายพื้นที่ในเครือข่ายมาเจอกันเพื่อเรียนรู้และแบ่งปัน คือมาเห็นกันและกันผ่านดนตรีที่แตกต่าง เช่น ดนตรีชาติพันธุ์เป็นยังไง ดนตรีของรถแห่เป็นยังไง

Music Sharing กลุ่มครูดนตรีอาสาผู้เปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสดีๆ และเสียงดนตรี

“พื้นที่ต้นแบบที่เราทำงานหลักๆ ยังคงเป็นที่ชุมชนคลองเตย เราทำงานกับเด็กและเยาวชนที่นี่มาเกือบสิบปี เราเห็นการเปลี่ยนแปลง เด็กๆ หลายคนเติบโตขึ้นมาเป็นแกนนำ จากที่เขาไม่เคยมีความคิดความฝันถึงชีวิตในอนาคต ตอนนี้หลายคนค้นพบเป้าหมายและแรงบันดาลใจ อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น อยากเล่นดนตรีให้เก่งๆ และอยากเรียนต่อทางด้านนี้”

Music Sharing กลุ่มครูดนตรีอาสาผู้เปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสดีๆ และเสียงดนตรี

ครูแอ๋มบอกว่า ความยากของโครงการดนตรีสำหรับเด็ก คือเป็นโครงการจะต้องถูกทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะต้องรอคอยอย่างอดทน กว่าจะเห็นพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของเด็กที่ค่อยๆ เกิดขึ้นแล้ว เพราะการดนตรีเป็นทักษะที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน เรียนรู้ ยังต้องอาศัยการทุ่มเทพลังอย่างมาก

แต่ผลลัพธ์ที่เฝ้ารอนั้นคุ้มค่า ดนตรีช่วยเปิดพื้นที่ทางเลือกดีๆ ให้กับเด็ก ช่วยดึงพวกเขาออกมาจากการตกไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงและอบายมุขรอบตัว เพราะพวกเขาได้รับการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้รู้จักการทำงานร่วมกัน รวมถึงได้รับการปลูกฝังให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของก้าวต่อๆ ไปอีกมากมายที่จะช่วยให้เด็กหลายคนพลิกชีวิตมาไกลเกินฝันด้วยพลังของดนตรี 

โน้ตตัวที่ 3

บันไดสำหรับดนตรีที่เอื้อมไม่ถึง

“พอสิ่งที่ทำเริ่มเห็นชัด กลับเป็นทางผู้ปกครองที่กังวลว่าลูกจะไม่ได้มาทำกิจกรรมกับเรามากกว่า เพราะเห็นแล้วว่าน้องๆ ที่มาเรียนดนตรี มาอยู่กับเราส่วนใหญ่รอดพ้นจากความเสี่ยงในชีวิตเยาวชน อย่างเรื่องการท้องในวัยรุ่นของเด็กผู้หญิง และการติดยาเสพติดของเด็กผู้ชาย

“ที่ผ่านมา น้องคนไหนใฝ่เรียนรู้ มีความสามารถด้านดนตรี แต่ไม่มีเงินเรียน เราก็พยายามช่วยเหลือ แม้ผู้ปกครองจะไม่สามารถสนับสนุน เราก็หาวิธีที่จะจ่ายค่าเล่าเรียนให้ โดยตั้งกองทุนการศึกษาสำหรับเด็กๆ ที่ตั้งใจอยากเรียนต่อด้านดนตรีอย่างจริงจัง”

Music Sharing กลุ่มครูดนตรีอาสาผู้เปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสดีๆ และเสียงดนตรี

9 ปีที่ผ่านมา Music Sharing จึงเป็นเหมือนพื้นท่แห่งความปลอดภัย และพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ในคลองเตย เพราะเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่อาจต้องเผชิญกับปัญหาในครอบครัวจนขาดที่พึ่งทางใจ พวกเขาอาจต้องการใครสักคนที่เป็นเพื่อนคอยรับฟังปัญหา เพื่อเยียวยาให้เข้มแข็งและก้าวเดินไปบนเส้นทางที่ผิดพลาด

“จนถึงจุดหนึ่ง เราก็ตระหนักว่าเราไม่ได้ทำแค่เรื่องดนตรีเพียงอย่างเดียวแล้ว เพราะดนตรีในชุมชนแออัดเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องเด็ก ชุมชน มันใหญ่และซับซ้อนกว่านั้น

ภารกิจพิชิต COVID-19 ของครูดนตรีอาสาที่ใช้เวลาเกือบ 10 ปี เปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสที่แต่งแต้มไปด้วยศิลปะ ดนตรีและพื้นที่ชีวิตดีๆ ของเด็กคลองเตย
ภารกิจพิชิต COVID-19 ของครูดนตรีอาสาที่ใช้เวลาเกือบ 10 ปี เปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสที่แต่งแต้มไปด้วยศิลปะ ดนตรีและพื้นที่ชีวิตดีๆ ของเด็กคลองเตย

“ดนตรีเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองหลายคนที่ยากจนไม่เคยคิดฝันว่าจะเอื้อมถึง การที่เราเอาดนตรีเข้าไปในชุมชน ทำให้ความหวังในการเล่นดนตรีของเด็กๆ เป็นจริงขึ้นมา อีกอย่างหลายครอบครัวไม่ได้รู้สึกว่าดนตรีเป็นเรื่องจำเป็นมากเท่ากับปากท้อง จึงมองว่าเสียเวลา เพราะไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นแล้วจะจะเรียนไปทำไม แต่สำหรับเราคิดว่า เด็กเล็กเป็นวัยที่เขาต้องการพื้นที่เล่น ดนตรีไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งทั้งหมด แต่เขาต้องการพื้นที่ปลอดภันที่ให้เขาได้สนุก

“ในขณะที่วัยรุ่นก็ต้องการการรับฟังและการยอมรับตัวตน เขาจะมีภูมิต้านทาน มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น มีแรงบันดาลใจในการเติบโตและใช้ชีวิต เพราะเขาได้ออกไปเห็นอะไรที่มากกว่าโลกของตัวเองในชุมชนแออัดคลองเตย พอโลกที่เขาเห็นมันกว้างขึ้น เขาก็จะเห็นว่าอนาคตที่ดีกว่ามันเป็นยังไง แม้ชีวิตและครอบครัวจะมีข้อจำกัดมากมายทั้งเรื่องการเงิน ฐานะเศรษฐกิจ ความรู้การศึกษา การที่เขาจะพาตัวเองให้ไปอยู่อีกระดับของสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เขาก็มีแรงบันดาลใจที่อยากจะสู้กับมัน”

โน้ตตัวที่ 4

บทบาทของครูในช่วงเวลาวิกฤติ

ทุกปี Music Sharing จัดเทศกาลคลองเตยดีจัง เป็นพื้นที่ให้เด็กในชุมชนมาแสดงโชว์ร่วมกับศิลปิน ถือว่าเป็นงานใหญ่ประจำปีที่เด็กๆ ตื่นเต้นและซุมซ้อมกันอย่างแข็งขัน 

“เมื่อก่อนเป็นงานเล็กๆ ใช้พื้นที่แค่สนามบาสฯ ตอนนี้เป็นเทศกาลดนตรีและศิลปะที่แทบจะเรียกได้ว่าปิดชุมชนจัดงาน คนมาร่วมงานเป็นพันคน ปกติจะจัดสองครั้งต่อปี คืองานใหญ่เดือนเมษายนและงานย่อยเดือนตุลาคม

ภารกิจพิชิต COVID-19 ของครูดนตรีอาสาที่ใช้เวลาเกือบ 10 ปี เปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นดินแดนแห่งโอกาสที่แต่งแต้มไปด้วยศิลปะ ดนตรีและพื้นที่ชีวิตดีๆ ของเด็กคลองเตย

“คนจัดงานคือคนในชุมชน ไม่ใช่แค่เฉพาะเด็กๆ ที่เรียนดนตรีกับ Music Sharing แต่รวมถึงพ่อแม่พี่น้องที่มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ตอนแรกผู้ปกครองเขารู้สึกประหลาดใจมาก เพราะไม่คิดว่าเด็กๆ ในชุมชนจะทำได้ขนาดนี้ เขาไม่คิดว่าลูกหลานจะประสานงาน จัดการนั่นนี่ได้ เราก็ใช้วิธีคือให้เด็กทำงานประกบคู่กับเรา เราทำ เด็กทำ เป็นทีมเดียวกัน และมี Reflection กันตลอด

“เมื่อมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เราก็ประเมินกันว่า เราจะยังจัดงานประจำปีดีไหมนะ ควรเลื่อนออกไปก่อนไหม เพราะเด็กๆ ในชุมชนก็ตั้งใจเตรียมตัวกันมาประมาณนึงแล้ว สุดท้ายด้วยสถานการณ์ จากแผนที่จะจัดใหญ่ ค่อยๆ ลดขนาดลงมา จนกลายเป็นไม่สามารถจัดงานได้เลยด้วยเงื่อนไขของโรคระบาด”

เมื่อจัดงานคลองเตยดีจังไม่ได้ กลุ่มครูดนตรีอาสาก็ไม่ได้ไปไหน ด้วยความที่เป็นห่วงเด็กๆ เนื่องจากตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์สูงขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาจึงลงไปพูดคุยกับชุมชนถึงผลกระทบที่ได้รับอะไรบ้าง และในฐานะครูที่ทำงานกับชุมชนมายาวนาน พวกเขาจะช่วยเหลือชุมชน รวมถึงเด็กๆ ได้จากทางไหนบ้าง 

Music Sharing, ชุมชน, แออัด, คลองเตย

“เราเป็นห่วงเด็กๆ เมื่อมีมาตรการล็อกดาวน์ ไม่ให้ออกจากบ้านแล้วเด็กๆ จะได้กินอะไร มีข้าวกินไหม คือธรรมดาเด็กๆ ในชุมชนก็ไม่ได้อิ่มหนำ เหลือกินเหลือใช้กันอยู่แล้ว ถ้าเป็นวันต่อวัน ครอบครัวก็คงพอหาเลี้ยงประทังชีวิตได้ แต่ถ้าต้องกักตุน เขาไม่มีเงินพอ เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างรายวัน เมื่อไม่มีงานจึงได้รับผลกระทบไปเต็มๆ”

โปรเจกต์คลองเตยดีจัง ‘ปันกันอิ่ม’ และ ‘ปันกันเล่น’ จึงเกิดขึ้น ซึ่งปันกันเล่นหมายความว่า ให้เด็กๆ เล่นอยู่ที่บ้านในช่วงล็อกดาวน์นั่นเอง 

“ปันกันเล่น เกิดจากที่เราคุยกันว่าจะทำยังไงให้เด็กๆ ได้เล่นที่บ้าน มีกิจกรรมกับผู้ปกครอง อาจเป็นการวาดรูประบายสี อ่านนิทาน แต่ปัญหาคือครอบครัวของเด็กๆ เหล่านี้ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ แค่จะหุงหาอาหารยังยากเลย เราจึงทำเรื่องรับบริจาคจากของเล่น เหมือนตอนรับบริจาคเครื่องดนตรีเลย โดยทำเป็นชุดการเรียนรู้ แล้วก็ส่งให้ตามบ้านตามอายุและพัฒนาของเด็กว่าควรจะเล่นของเล่นแบบไหน”

Music Sharing, ชุมชน, แออัด, คลองเตย

โน้ตตัวที่ 5

สกุลเงินใหม่ในชุมชนแออัด

ส่วนปันกันอิ่ม ครูแอ๋มอธิบายว่า “ในพื้นที่คลองเตย แต่ละครัวเรือนมีสมาชิกจำนวนหลายคนมาก แม้จะทำงานในพื้นที่มาเกือบสิบปี แต่ที่ผ่านมาเราทำงานกับเด็กและเยาวชน เราไม่รู้ว่าใครบ้างที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีข้อมูลว่า ใครตกงาน ใครป่วย หรือมีปัญหาเรื่องอะไร ไม่มีข้อมูลก็ทำงานไม่ได้ ดังนั้นเราจึงเริ่มต้นจากการสำรวจข้อมูลก่อน หลังทำการสำรวจอยู่นานหลายเดือน ก็พบว่ามีคนตกหล่นเยอะจากการช่วยเหลือเยอะมาก”

เช่น บางชุมชนมีคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ 400 หลังคาเรือน แต่พอลงพื้นที่ไปสำรวจจริงๆ เคาะสำรวจกันบ้านต่อบ้าน พบว่ามีคนอาศัยอยู่ในชุมชนเกือบพันหลังคาเรือน ปริมาณมาณแทบจะเท่าตัว โดยเป็นคนเร่ร่อน หรือเป็นบ้านที่เป็นเพิงสังกะสีที่ปลูกไว้เมื่อครอบครัวขยายออกมา ครูแอ๋มเอ่ยว่า รู้ไหมว่าคนที่ได้รับบริจาคและความช่วย เวลามีสื่อมวลชนออกข่าวไป ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในระบบเท่านั้น

“ในพื้นที่ชุมชนย่อยสิบกว่าแห่ง มีคนตกงานและถูกลดปริมาณงานรวมถึงรายได้ลงถึงประมาณเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ หลายๆ ครอบครัวไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไป ไม่มีเงินไปซื้อข้าว เพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เราเลยเริ่มปันกันอิ่ม ด้วยการระดมทุนข้าวสารอาหารแห้ง ทำเป็นถุงยังชีพ นำไปมอบให้ชุมชนก่อนอย่างแรก”

ต่อมาทีม Music Sharing พยายามคิดเครื่องมือที่จะทำให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและเท่าเทียมมากขึ้น เพราะแต่ละครอบครัวก็ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน จึงออกมาเป็นระบบคูปองหมุนเวียนใช้แทนเงินในพื้นที่ ซึ่งได้ต้นแบบมาจากเครือข่ายพุทธิกา โดยให้ร้านค้าเป็นเสมือนสะพานบุญในการส่งต่ออาหารให้กับชุมชนโดยใช้ระบบคูปอง

“รูปแบบของระบบคูปองหมุนเวียน เริ่มจากเรารับบริจาคเงินจากคนนอกชุมชนที่อยากช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ จากนั้นนำคูปองแทนเงินสดไปแจกจ่ายให้คนในชุมชน โดยใช้ข้อมูลที่ทำการสำรวจมาเป็นแหล่งอ้างอิงว่าแต่ละครัวเรือน แต่ละคนควรได้คูปองจำนวนเท่าไหร่ วัดจากความเดือดร้อนจริงของเขา โดยแต่ละคนจะได้รับเงินสามสิบบาทต่อมื้อ คนในชุมชนจะใช้คูปองนี้จับจ่ายข้างของที่ร้านค้าชุมชน ไม่ต้องเดินทางออกไปรับอาหารแจกนอกชุมชน และเลือกได้ว่าอยากกินอะไร อยากกินเมื่อไหร่

Music Sharing, ชุมชน, แออัด, คลองเตย

“ตอนนั้นการแพร่ระบาดหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ แผนนี้จึงออกแบบมาเพื่อสร้างระบบระยะยาว เพราะถ้าถึงจุดที่เราไม่สามารถเข้าชุมชนได้ ทุกคนต้องอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ระบบคูปองหมุนเวียนนี้ก็จะยังทำงานต่อไปได้ ในขณะที่ถุงยังชีพ หลังแจกจ่ายออกไปและมาสำรวจผล เราค้นพบว่ามีชาวบ้านตกหล่นจากการช่วยเหลือมากกว่าครึ่งหนึ่ง เราจึงเน้นการช่วยเหลือไปที่คูปองมากกว่า

โน้ตตัวที่ 6

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ระบบคูปองหมุนเวียน นอกจากจะช่วยเรื่องปากท้องให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีอาหารสดใหม่กินแล้ว ยังเป็นการช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนหมุนเวียน พ่อค้าแม่ขายในชุมชนยังเปิดร้านพึ่งพาตัวเองอยู่ได้ เพราะคนในชุมชนยังสามารถจับจ่ายกันได้จากคูปองที่ได้รับ นึกภาพเหมือนศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า เราแปลงเงินจากผู้บริจาคเพื่อช่วยเหลือเป็นคูปอง แทนที่จะเอาไปซื้อของทำถุงยังชีพ เพราะอยากให้ร้านค้าในชุมชนยังขายได้

Music Sharing, ชุมชน, แออัด, คลองเตย

“เราคิดว่าแบบนี้น่าจะดีกว่าพวกอาหารแห้งอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะผู้รับคูปองก็จะได้อาหารที่สดใหม่และตรงกับความต้องการ เพราะบางคนอยากกินข้าวมันไก่ บางคนอยากกินส้มตำ หรือบางคนป่วยไข้อยากกินของร้อนๆ ก็เลือกกินตามความต้องการ คล้ายๆ กับการทำโรงทาน” ครูแอ๋มอธิบายพร้อมเอาตัวอย่างคูปองที่ในช่วงการระบาด มีหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่คลองเตยหลายหมื่นใบให้ดู

เรามองว่าระบบคูปองหมุนเวียนนี้ เป็นสกุลเงินพิเศษในภาวะวิกฤตโดยเฉพาะ “เศรษฐกิจในชุมชนยังหมุนเวียน คูปองสามารถใช้ได้แค่ในชุมชน ถือเป็นการลดการกระจายตัวและการเดินทางออกนอกพื้นที่ของผู้คนไปในตัว” 

Music Sharing, ชุมชน, แออัด, คลองเตย

พื้นที่คลองเตยประกอบด้วย 40 ชุมชนย่อย ตลอดเวลาหลายเดือนเรื่อยมาจนถึงวันนี้ ครูดนตรีอาสาที่ทำหน้าที่เป็นนักพัฒนาชุมชนออกสำรวจครัวเรือนเพื่อสร้างฐานข้อมูลประชากร และแผนที่ชุมชนซึ่งไม่เคยมีใครใส่ใจจะทำอย่างละเอียดมาก่อน คนมากมายอาศัยอยู่ที่นี่อย่างไร้ตัวตน ในซอกหลืบของเมืองใหญ่ 

“มีอาสาสมัครหลายสิบคนหมุนเวียนกันมาช่วยเดินเก็บข้อมูล เราลงไปเคาะทีละบ้านๆ นอกจากเก็บข้อมูลก็ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เพราะชุมชนมีความเครียดสูง อย่างคุณยายคนหนึ่งที่ต้องแบกรับภาระของบ้าน ต้องแอบไปร้องไห้คนเดียวเพราะไม่อยากให้ลูกหลานเห็น การได้คุยกับเราเขาก็ได้ระบายความอัดอั้น” 

ครูแอ๋มบอกว่า ตอนนี้ทีม Music Sharing สำรวจทำฐานข้อมูลประชากรและแผนที่ชุมชนไปแล้ว 13 ชุมชน อาจฟังเหมือนไม่เยอะ เมื่อเทียบกับจำนวน 40 กว่าชุมชนในคลองเตย แต่คลองเตยครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ 

สำหรับเรา มองว่านี่เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะเหล่าครูดนตรีอาสาไม่ได้หยุดแค่นี้ พวกเขากำลังขยายการเก็บข้อมูลออกไปเรื่อยๆ และเมื่อมีระบบข้อมูลที่แข็งแรง พวกเขาก็เข้าถึงเด็กๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัว เกี่ยวโยงกับปัญหาการศึกษาของคนรุ่นลูกอย่างแนบแน่น และนั่นเป็นปัญหาใหญ่ระยะยาวที่กำลังตามมา

โน้ตตัวที่ 7

เปิดภาคการศึกษาอีกครั้ง

ตอนนี้โรงเรียนดนตรีของครูอาสากลับมาเปิดทำการอีกครั้ง หลังหยุดยาวหลายเดือนเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ตั้งแต่เปิดทำการในพื้นที่ชุมชนแออัดแห่งนี้มา  

“ตอนนี้ฝุ่นตลบของการระบาดเบาบางลงจนแทบไม่มีแล้ว ทุกอย่างซบเซาไปหมด คนในสังคมเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ในคลองเตยยังเต็มไปด้วยคนตกงานรวมถึงผู้ปกครองหลายคน แต่เด็กๆ ก็ต้องไปโรงเรียนแล้ว นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นกับหลายครอบครัวในชุมชนคลองเตย ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีจะกิน และยังต้องหาเงินให้ลูกไปโรงเรียนอีก

“ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องสำคัญอันดับแรกที่ครอบครัวของน้องๆ ในคลองเตยนึกถึง คือเรื่องปากท้อง พอเด็กเปิดภาคเรียน แน่นอนว่าโรงเรียนรัฐบาลไม่ต้องจ่ายค่าเทอม แต่มันยังมีค่าอุปกรณ์การศึกษา ค่าสนับสนุนการเรียน ค่าขนมและจิปาถะอีกมากมาย จากการสำรวจ ผู้ปกครองทุกคนอยากให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือ แต่ปัญหาคือ ถ้าไม่มีเงินที่จะเรียนได้ เขาก็ต้องให้เด็กออกมาทำงานจุนเจือครอบครัว”

ดังนั้น โรงเรียนดนตรีแห่งนี้จึงกำลังพยายามอย่างเต็มที่ ไม่ให้มีเด็กในพื้นที่ดูแลหลุดจากระบบการศึกษาในโรงเรียน ผ่านการนำข้อมูลจากการสำรวจไปวิเคราะห์ เพื่อดูว่าคนในชุมชนคลองเตยต้องการความช่วยเหลือทางการศึกษาในรูปแบบใดและอย่างไร โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. 

Music Sharing, ชุมชน, แออัด, คลองเตย

“เราคิดว่า แต่ละครอบครัวต้องการความช่วยเหลือไม่เหมือนกัน เพราะเด็กแต่ละคนก็มีภูมิหลังและบริบทต่างกัน เมื่อวิเคราะห์ชุดข้อมูล เราจะได้รู้ว่าจะสามารถเข้าไปสนับสนุนได้จากตรงไหน แน่นอนว่าปลายทางคืออยากให้เด็กๆ ได้ร่ำเรียน แต่ก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการศึกษาในระบบอย่างเดียว

“สมมติว่ามีน้องในชุมชนคนหนึ่งเรียนจบมัธยม แล้วไปทำงานพิเศษที่คลินิกกายภาพบำบัด ทำงานจนน้องสะสมทักษะเกี่ยวกับการจัดกระดูก การบริหารกล้ามเนื้อ และอยากเรียนต่อด้านกายภาพบำบัดเฉพาะทาง เราก็พร้อมสนับสนุนให้น้องได้เรียนต่อในสาขาอาชีพที่เขาต้องการ

“ทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด เด็กที่ครอบครัวหลุดจากระบบงาน ระบบเศรษฐกิจ มีแนวโน้มที่จะหลุดจากระบบการศึกษา และไม่ใช่แค่นั้น ครอบครัวที่อยู่ภายใต้ภาวะกดดันมากๆ จะมีความเครียด แนวโน้มความรุนแรงและปัญหาอีกมากมายภายในบ้านหลังหนึ่ง ดังนั้นความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กสักคน จึงมีหลากหลายปัจจัยที่ล้วนเกี่ยวโยงกันหมด”

Music Sharing, ชุมชน, แออัด, คลองเตย

ภาพ : Music Sharing

ปลายเดือนตุลาคมนี้ เตรียมพบกับงาน คลองเตยดีจัง ที่จะกลับมาอีกครั้งในแบบมินิ ที่ชุมชนเกาะกลาง ใต้ทางด่วนใกล้สำนักงานเขตคลองเตย ใครอยากเป็นอาสาสมัครช่วย Music Sharing สร้างงานศิลปะบนตอม่อ ติดตามรายละเอียดที่ Facebook : Music Sharing ไว้ให้ดี จะประกาศรับสมัครเร็วๆ นี้

โดย Music Sharing มีการจัดตั้งกองทุนคลองเตยดีจังขึ้น เพื่อใช้เป็นทุนในการจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ในชุมชน และนำมาบริหารจัดการค่าน้ำค่าไฟในพื้นที่ดนตรีและศิลปะของชุมชน โดยเงินจะมาจากการระดมทุนด้วยการเปิดหมวกเล่นดนตรีของเด็กๆ ในชุมชน ไปจนถึงการขายสินค้ามือสองของคนในชุมชนและการรับบริจาค

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน