ท่ามกลางสถิติและข้อมูลที่พรั่งพรูออกมา ตั้งแต่กรณีหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ถูกเพ่งเล็งและตัดงบสนับสนุนโดยผู้ว่า กทม. ประจวบพอดีกับวาระครบรอบ 10 ปีประหนึ่งตลกร้าย เราในฐานะประชาชนคนจ่ายภาษีจึงพลอยได้ทำความรู้จักเบื้องหน้าเบื้องหลังองค์กรนี้มากขึ้น

และที่สำคัญ ได้ฉุกเห็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ หอศิลปกรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับงานการศึกษาเป็นวาระที่ 2 รองจากการจัดแสดงศิลปะ (มีการแบ่งสัดส่วนงานของ พ.ศ. 2561 ดังนี้ งานนิทรรศการ 63% การศึกษา 15% กิจกรรมเครือข่าย 12% ดนตรีภาพยนตร์ 7% ห้องสมุดศิลปะ 3%) ชวนให้ตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมงานการศึกษาถึงถือเป็นพันธกิจสำคัญของที่นี่? เจ้าหน้าที่การศึกษาต้องทำอะไร อย่างไร ในหอศิลป์?

หอศิลป์, หอศิลป์กรุงเทพ, bacc, พาน้องท่องหอศิลป์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ว่าแล้วเราจึงจับเข่าคุยแบบเจาะลึกกับ คุณวรฉัตร วาทะพุกกณะ เจ้าหน้าที่การศึกษาของหอศิลปกรุงเทพฯ เพื่อไขทุกข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเรียนรู้ ที่ไม่ได้จบแค่แขวนภาพบนผนัง

คุณวรฉัตรเลือกที่จะยก ‘โครงการพาน้องท่องหอศิลป์’ เป็นเคสตัวอย่างเพื่อให้เราเข้าใจกลไกลของงานส่วนนี้มากขึ้น เริ่มมาจากพันธสัญญาของหอศิลป์กรุงเทพฯ ที่จะต้องทำกิจกรรมสำหรับบุคลากรของ กทม. ทุกปี จำนวน 2,000 คน

ทางทีมการศึกษาจึงมีการจัดอบรมครูภาควิชาศิลปะจากโรงเรียนในสังกัดของ กทม. โดยในช่วงแรกจะเน้นเรื่องเครื่องมือการสอน แต่พอเห็นว่าองค์ความรู้หลักของหอศิลป์นั้นอยู่ในตัวนิทรรศการ ดังนั้น จึงขยายขอบเขตงานมาสู่ ‘โครงการพาน้องท่องหอศิลป์’ ที่พาเด็กๆ และคุณครูมาทำความคุ้นเคยกับหอศิลป์ มาทำความรู้จักกับงานศิลปะ ‘ของจริง’ ในพื้นที่ ไม่ใช่แค่รูปสองมิติในหนังสือเรียน และมาเรียนรู้ผ่านนิทรรศการ ด้วยกิจกรรมที่ออกแบบขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเขาโดยเฉพาะ

หอศิลป์, หอศิลป์กรุงเทพ, bacc, พาน้องท่องหอศิลป์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

สิ่งที่ทีมต้องทำเป็นอันดับแรกคือ การลงพื้นที่ สำรวจความต้องการ รวมถึงความคาดหวัง ของผู้เข้าร่วมโครงการ (ทางทีมงานเลือกร่วมงานกับกลุ่มคุณครูศิลปะระดับประถมศึกษาตอนปลาย)

ซึ่งคุณวรฉัตรยอมรับว่า เจอกับปัญหาในหลายระดับ ตั้งแต่บุคลากรครูที่ไม่ได้จบด้านนี้มาโดยตรง หรือไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับศิลปะมาก่อน บ้างจับพลัดจับผลูมาสอนเพราะโรงเรียนขาดคน ไปจนถึงระบบการประเมินที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อีกทั้งทัศนคติที่มักมองว่าศิลปะเป็นสิ่งไกลตัว ทำให้ทางทีมงานต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อให้โครงการนี้ไม่เป็นภาระเพิ่มเติม และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

หอศิลป์, หอศิลป์กรุงเทพ, bacc, พาน้องท่องหอศิลป์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หอศิลป์, หอศิลป์กรุงเทพ, bacc, พาน้องท่องหอศิลป์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โจทย์ในปีแรกคือ ‘นิทรรศการประเทือง เอมเจริญ ร้อยริ้วสรรพสีสัน ตำนานชีวิตและสังคม’ ซึ่งจัดแสดงผลงานภาพวาดสีน้ำมันของอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตกรรม) พ.ศ. 2548

ทางทีมงานเลือกที่จะสอดแทรกความเป็นเกมควบคู่ไปกับการเรียนรู้เรื่ององค์ประกอบศิลป์ ตามหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงการศึกษา ทั้งนี้ก็เพื่อประสบการณ์การเรียนรู้ที่หอศิลป์ตอบโจทย์สิ่งที่คุณครูต้องสอนในโรงเรียนอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการเรียนจากในห้องเรียนมาที่หอศิลป์

“เขาก็จะเขียนคำใบ้ว่า ในภาพนี้เขาเห็นอะไรบ้าง มีโทนสีอะไร อะไรอยู่ตรงไหน แต่ห้ามเขียนชื่อภาพ แล้วก็มาสลับกัน ไปหาภาพที่เพื่อนเลือกเอาไว้ การตอบรับค่อนข้างดีมาก เพราะเด็กค่อนข้างสนุก เขาสามารถเอนจอยกับการดูงาน แม้งาน อ.ประเทือง เป็นงาน Abstract ดูยาก แต่เด็กเขาสามารถเข้าใจได้ เพราะว่าเขาต้องอธิบายให้เพื่อนเขาฟัง” คุณวรฉัตรกล่าว

หอศิลป์, หอศิลป์กรุงเทพ, bacc, พาน้องท่องหอศิลป์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หอศิลป์, หอศิลป์กรุงเทพ, bacc, พาน้องท่องหอศิลป์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เนื่องจากกลุ่มของนักเรียนนั้นมักจะมีขนาดใหญ่ ดังนั้น ทีมการศึกษาจึงต้องมีกิจกรรมเสริมเพื่อแบ่งกลุ่มนักเรียนออกมาจากพื้นที่นิทรรศการ โดยอีกกลุ่มนั้นจะได้อบรมเชิงปฏิบัติการ ลองสวมบทบาทเป็นอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ และสร้างงานศิลปะด้วยอุปกรณ์สีอะคริลิกหรือสีน้ำ ซึ่งพวกเขามักจะไม่ค่อยได้ใช้ที่โรงเรียนเท่าไรนัก

“คุณครูก็รู้สึกว่า เด็กไม่ได้วาดรูปเหมือนตอนอยู่โรงเรียน เราถือว่ามันค่อนข้างประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่เราต้องการ เด็กได้แสดงออก ได้สร้างผลงานของตัวเอง แต่มันก็มีหลายๆ ส่วนที่เราต้องปรับปรุงเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะการทำความเข้าใจลักษณะพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวัยนี้”

ในปีที่ 2 คุณวรฉัตรเล่าว่า โชคดีที่ ‘นิทรรศการดิน น้ำ ป่า ฟ้า : แรงบันดาลใจจากพ่อ’

เป็นเรื่องโครงการในพระราชดำริ ซึ่งเป็นหัวข้อที่เด็กๆ คุ้นเคยและต้องเรียนรู้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือการต้องทำความรู้จักกับรูปแบบของงานศิลปะที่หลากหลากกว่า 160 ผลงานในโชว์นี้

“เขาจะรู้จักแค่วาดรูป งานปั้น (แม้แต่) งานพิมพ์เขาก็แทบจะไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ แต่พอเขาได้มาเห็นงาน Installation ที่โอ้โห อลังการ มีหลอดไฟ มีต้นไม้ มีอะไรประหลาดๆ อยู่ในพื้นที่นิทรรศการ เขาก็รู้สึกว่า อ๋อ งานศิลปะมันไม่ได้มีแค่ภาพวาดนี่นา

หอศิลป์, หอศิลป์กรุงเทพ, bacc, พาน้องท่องหอศิลป์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หอศิลป์, หอศิลป์กรุงเทพ, bacc, พาน้องท่องหอศิลป์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

“เรามองว่าศิลปะมันเป็นเครื่องมือ เพราะถ้าเราพยายามยัดเยียดความซาบซึ้งแค่เรื่องสุนทรียะอย่างเดียว เด็กบางคนเขาอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่พอเราเอาไปเชื่อมโยงกับเรื่องที่เขาคุ้นเคย อย่างเช่นโครงการหลวง เรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องป่า เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการรีไซเคิล เขาก็เข้าใจมากขึ้น

“เพื่อให้เห็นว่าศิลปะมันอยู่เดี่ยวๆ ไม่ได้ มันมีความเป็นพหุศาสตร์อยู่ในนั้น มันเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารในเรื่องต่างๆ ที่ศิลปินเขาได้แรงบันดาลใจมา” คุณวรฉัตรอธิบายว่าหัวข้อนี้ทำให้เนื้อหากิจกรรมได้ทำงานร่วมกับวิชาอื่นๆ เช่นคณิตศาสตร์และสังคมศาสตร์ด้วย

“ยกตัวอย่างเช่นกิจกรรมทำงานประดิษฐ์ เด็กๆ เขาได้ขยำกระดาษ แล้วก็สร้างเป็นเหมือนงานสามมิติเกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริ ตอนสรุปเราก็เอาชิ้นงานมาต่อๆ กัน เวลาคนหนึ่งทำคน อีกคนหนึ่งทำเรื่องน้ำ อีกคนหนึ่งทำกังหัน ของพวกนี้ถ้ามันอยู่รวมกันมันก็จะเป็นสังคม พอเป็นสังคม เขาก็ได้เรียนรู้ว่า อ๋อ เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เรามีแค่น้ำไม่ได้นะ เราต้องมีป่านะ เราต้องมีฝน เราต้องมีบ้านนะ นอกจากมีน้ำ เราต้องมีคนที่คอยทำความสะอาดมันด้วย”

หอศิลป์, หอศิลป์กรุงเทพ, bacc, พาน้องท่องหอศิลป์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หอศิลป์, หอศิลป์กรุงเทพ, bacc, พาน้องท่องหอศิลป์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หอศิลป์, หอศิลป์กรุงเทพ, bacc, พาน้องท่องหอศิลป์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ปีนี้ ‘โครงการพาน้องท่องหอศิลป์’ จะถูกสานต่อเป็นปีที่ 3 ร่วมกับ ‘นิทรรศการ Beyond the Air We Breathe: Addressing Climate Change’ แต่ถึงแม้ว่าเนื้อหาจะเล่าเรื่องที่ใกล้ตัวอย่างสิ่งแวดล้อม ทีมงานก็มีความท้าทายที่จะต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาส หาแนวร่วมมาช่วยเพื่อทดแทนการตัดงบจาก กทม.

“ปีก่อนหน้านี้เราทำด้วยตัวเองมาตลอด ปีนี้ค่ารถที่จะไปรับเด็กยังไม่มี เราต้องเริ่มออกไปทำงานกับองค์กรที่เขาเป็นคนที่ผลิตครู (สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยหัวเฉียว) เป็นองค์ความรู้ทางด้านทฤษฎีมาเสริมทัพ อีกทั้งมีการทำวิจัยประกอบด้วย ซึ่งก็หวังว่าวันหนึ่งมันจะได้ตีพิมพ์เพื่อเป็นประโยชน์กับองค์กรในลักษณะหอศิลป์ในไทยหรือพิพิธภัณฑ์ เพื่อการจัดการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในอนาคต”

คุณวรฉัตรทิ้งท้ายกับเราว่า ทุกคนในทีมยังทำงานกันอย่างเต็มที่ภายใต้ความกดดัน

“โปรแกรมนี้เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งใน School Program ที่เราพยายามก่อสร้างร่างมันขึ้นมา เหมือนเวลาเราไปพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศที่คุณครูจากโรงเรียนมาทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ เพื่อที่จะช่วยกันออกแบบกิจกรรมให้เด็กๆ มาเรียนรู้ที่นี่ เหมือนใช้พื้นที่นี้เป็นเหมือนห้องเรียนห้องหนึ่ง

“ห้องเรียนที่ใช้เครื่องมือศิลปะในการเรียนรู้ แต่ก็มันก็เรียนรู้ได้ทุกเรื่องเลย ทั้งเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึก การตระหนักรู้ ถึงปัญหาโลกร้อน และตระหนักรู้เรื่องตัวเอง คือจริงๆ แล้วศิลปะมันไปได้ไกลมากเลย มันไม่ได้จบอยู่แค่ว่ามันสวยไหม”

ผู้เขียนเองก็ได้แต่หวังว่า การแจกแจงกระบวนการและวิสัยทัศน์ด้านพันธกิจการศึกษาของหอศิลป์ในบทสนทนานี้ ควบคู่ไปกับภาพรอยยิ้มของเด็กๆ อาจจะช่วยตอบคำถามว่าด้วย ‘ความคุ้มค่า’ และอธิบายกลไกลของการขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะร่วมสมัยในใจหลายๆ คนได้ ไม่มากก็น้อย

Writer & Photographer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร