The Cloud x Museum Siam

ของจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ทุกชิ้นล้วนมีคุณค่าและเรื่องราวซ่อนอยู่มากมาย ภายใต้รูปลักษณ์ที่สร้างสรรค์ด้วยความประณีต ผ่านการใช้งานจนสึกกร่อน บางชิ้นเก็บรักษาด้วยความเคารพ และเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมายไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย คุณอาจเคยมองข้ามของจัดแสดงบางชิ้นเพราะคิดว่าไม่น่าสนใจ แต่ความเป็นจริงอาจซ่อนไปด้วยเรื่องราวที่ชวนให้ติดตาม 

Take Me Out นี้ เราขออาสาพาไปชม 10 สมบัติล้ำค่าจากพิพิธภัณฑ์ทั้ง 10 แห่งย่านพระนคร พื้นที่ที่แฝงไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสต์ที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงมามากมาย แต่ยังมีกลิ่นอายที่หลงเหลือจากอดีตซุกซ่อนตัวอยู่ 

สี่ตำหรับยาหอม ณ บำรุงชาติสาสนายาไทย (บ้านหมอหวาน) 

ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยโบราณที่เพิ่มพลังให้ร่างกาย

สมบัติแห่งชาติที่น่ารู้จักใน พิพิธภัณฑ์ 9 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์

ในอาคารเก่าแก่สไตล์โคโลเนียลย่านบำรุงเมือง ‘บ้านหมอหวาน’ หรือ ‘บำรุงชาติสาสนายาไทย’ ของหมอหวาน รอดม่วง แพทย์แผนโบราณในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในมียาหอมล้ำค่าอยู่ 4 ตำรับ ได้แก่ ยาหอมสว่างภพ ยาหอมประจักร ยาหอมอินทรโอสถ และยาหอมสุรามฤทธิ์ ซึ่งใช้ทองคำเปลวเป็นส่วนผสม ยกเว้นยาหอมสุรามฤทธิ์ที่หุ้มยาทั้งเม็ดด้วยทองคำเปลว ทั้งหมดประกอบด้วยสมุนไพรหลากชนิด นับเป็นสมบัติแห่งชาติที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างยิ่ง

นอกจากเม็ดยาโบราณ สมบัติที่น่าชื่นชมของบ้านหมอหวานคือเจตนารมณ์มุ่งมั่น ที่ต้องการถ่ายทอดมรดกทางภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนให้อยู่คู่กับสังคมไทย

ที่อยู่ : 9 ซอยเทศา ถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร

เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น.

ข้อมูลเพิ่มเติม : mowaan.com

ภาพสีน้ำมันประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ของขวัญชิ้นสำคัญที่แสดงสัมพันธไมตรีไทย-สหรัฐอเมริกา ในสมัยรัชกาลที่ 4 

สมบัติแห่งชาติที่น่ารู้จักใน พิพิธภัณฑ์ 9 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์

อดีตที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซ่อนสมบัติสำคัญสิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปอาจไม่รู้ คือภาพวาดสีน้ำมัน นายพลยอร์ช วอชิงตัน (George Washington) ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องราชบรรณาการที่ เทาเซนต์ แฮรีส (Townsend Harris) ทูตชาวสหรัฐฯ ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ พ.ศ. 2399 ภาพนี้วาดโดยเรมบรันต์ พีล (Rembrandt Peale) ศิลปินชาวอเมริกัน ซึ่งวาดไว้ทั้งหมด 76 ภาพ แต่ความพิเศษของภาพวาดนี้ คือเป็นภาพเดียวที่อยู่นอกสหรัฐอเมริกา 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนนี้มาก จนพระราชทานพระนามพระโอรสองค์หนึ่งว่า ‘ยอร์ชวอชิงตัน’ ตามชื่อของยอร์ช วอชิงตัน และต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามให้ใหม่ว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร ซึ่งทรงได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าพระองค์สุดท้าย

ที่อยู่ : ชั้น 2 พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

เวลาทำการ : วันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์และอังคาร)

ข้อมูลเพิ่มเติม : www.finearts.go.th/museumbangkok/

โฉนดที่ดินฉบับแรกของไทย ณ พิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน

เอกสารสำคัญที่พลิกรูปแบบการจัดสรรที่ดินของไทย

สมบัติแห่งชาติที่น่ารู้จักใน พิพิธภัณฑ์ 9 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์

ในอดีตเกิดการถกเถียงกันหลายครั้งเรื่องกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของผู้ถือครองที่ดิน จนกระทั่งรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการให้สำรวจวัดปักเขตที่ดิน เกิดเป็นโฉนดที่ดินฉบับแรก เพื่อจัดระเบียบในการถือครองกรรมสิทธิ์ ซึ่งหาดูต้นฉบับของจริงได้ที่พิพิธภัณฑ์กรมที่ดินแห่งนี้ที่เดียว บนโฉนดเลขที่ 1 มีพระนามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ทรงถือกรรมสิทธิ์ ปัจจุบันโอนให้แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ประชาชนเช่าทำกินได้เท่านั้น ซื้อขายไม่ได้ 

ที่อยู่ : สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ถนนพระพิพิธ แขวงพระราชวัง 

เวลาทำการ : เวลา 09.00 -16.00 น. 

ข้อมูลเพิ่มเติม : www.dol.go.th/museum

ตำราที่เขียนด้วยลายมือสุนทรภู่ ณ พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดารามวรวิหาร

ลายมือมหากวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมบัติแห่งชาติที่น่ารู้จักใน พิพิธภัณฑ์ 9 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์

หากพูดถึงวรรณคดีไทยก็คงจะต้องนึกถึง สุนทรภู่ กวีเอกของไทยผู้ประพันธ์กลอน นิราศ นิทาน บทเสภา วรรณกรรม และตำราต่างๆ ที่พัฒนามาเป็นแบบเรียนภาษาไทยที่มีคุณค่าในด้านของมรดกทางภูมิปัญญา 

หลายคนอาจสงสัยว่าครูกวีที่มีบทประพันธ์มากมาย จะมีลายมืออย่างไรเมื่อเขียนบทประพันธ์ แนะนำให้ตามรอยไปดูที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดารามวรวิหาร ภายในห้องแรงบันดาลใจไม่รู้จบ จะพบตำราที่เขียนด้วยลายมือสุนทรภู่ที่เก็บไว้เป็นอย่างดี

ที่อยู่ : ห้องแรงบันดาลใจไม่รู้จบ พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดารามวรวิหาร

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น. 

Facebook : Sunthon Phu Museum Wat Thepthidaram พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม

ห้องทำงานอาจารย์ฝรั่ง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี 

ผลงานและร่องรอยการทำงานของบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย

สมบัติแห่งชาติที่น่ารู้จักใน พิพิธภัณฑ์ 9 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ศิลปินชาวอิตาลีสัญชาติไทย ผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ‘อาจารย์ฝรั่ง’ เป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานให้กับเหล่าศิลปินระดับแนวหน้าของไทย และเป็นบุคคลที่นักเรียนศิลปะเคารพรักตลอดมา 

พิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้จัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือของลูกศิษย์รุ่นเก่าเพื่อรำลึกถึงคุณความดีของอาจารย์ เดิมเป็นห้องทำงานและสอนหนังสือของอาจารย์ฝรั่ง ภายในมีข้าวของเครื่องใช้ที่เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ทั้งสมุด ตำราต่าง กระดานดำ รูปปั้น เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องเล่นแผ่นเสียง เสื้อคลุมของอาจารย์ที่ยังคงเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศอบอุ่น ชวนให้คิดถึงเมื่อวันที่ยังเป็นห้องเรียน นอกจากนี้ลูกศิษย์ระดับศิลปินแห่งชาติยังนำของใช้ที่อาจารย์เคยได้รับจากอาจารย์ฝรั่ง เช่น แว่นตา กล่องสีน้ำ ไปจนถึงข้าวของสารพัดมาจัดแสดง ทั้งยังมอบผลงานชิ้นเอกให้พิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้เก็บประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัย 

ที่อยู่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี กรมศิลปากร 

เวลาทำการ : 08.00 – 17.00 น. (ปิดวันอาทิตย์)

ติดต่อ : 0 2223 6162

ข้อมูลเพิ่มเติม : www.finearts.go.th/museumsilpabhirasri

เศียรพระพุทธรูปองค์ยักษ์ ณ หอประติมากรรมต้นแบบ 

ต้นแบบประติมากรรมสำคัญแห่งนครปฐม

สมบัติแห่งชาติที่น่ารู้จักใน พิพิธภัณฑ์ 9 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์

หอประติมากรรมต้นแบบในรั้วที่ทำการกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากรวังท่าพระ เป็นอดีตโรงปั้นหล่อรูปประติกรรมสำคัญของชาติ ปัจจุบันเป็นหอเก็บงานศิลปะชั้นครู โดยเฉพาะผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จัดแสดงต้นแบบประติมากรรมที่นำไปใช้ทั่วประเทศ 

ชิ้นงานที่โดดเด่นในพิพิธภัณฑ์นี้ คือเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่จำลองจากพระศรีศากยะทศพลญาณ พระพุทธรูปปางลีลาในจังหวัดนครปฐม ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ และลูกศิษย์ขยายขนาดไว้ให้เป็นตัวอย่างพุทธลักษณะที่งดงามน่าศึกษา

ที่อยู่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี กรมศิลปากร 

เวลาทำการ : 08.30 – 16.00 น. (ปิดวันอาทิตย์)

ติดต่อ : 0 2222 5820

พระนิรันตราย ณ พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่พ้นภัยจากขโมยอย่างน่าอัศจรรย์

สมบัติแห่งชาติที่น่ารู้จักใน พิพิธภัณฑ์ 9 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์

พระนิรันตราย พระพุทธรูปทองคำ ขุดพบที่ชายดงศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี แทนที่จะนำไปหลอมขาย แต่ผู้พบนำทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 4 จึงนับว่าเป็นเหตุการณ์พ้นภัยครั้งที่ 1 ก่อนอัญเชิญไปประดิษฐานคู่กับพระกริ่งทองคำองค์น้อย ณ หอเสถียรธรรมปริตร ต่อมามีโจรลักลอบเข้าไปโจรกรรมพระกริ่งองค์น้อย แต่ไม่เอาพระนิรันตรายออกมาด้วยทั้งที่วางอยู่คู่กัน เหตุอัศจรรย์ที่พระพุทธรูปโบราณที่พ้นภัยถึง 2 ครั้ง รัชกาลที่ 4 จึงถวายพระนามว่า ‘พระนิรันตราย’

ต่อมาทรงมีพระราชดำริให้หล่อพระพุทธรูปตามแบบพระนิรันตรายที่ทรงสร้างขึ้นใหม่อีก 18 องค์เท่ากับจำนวนปีที่ทรงครองราชย์เพื่อพระราชทานแก่วัดธรรมยุต นับเป็นพระพุทธรูปสำคัญในประวัติศาสตร์ประติมากรรมสงฆ์

ที่อยู่ : พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร 248 ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ 

เวลาทำการ : เปิดวันเสาร์และอาทิตย์ 09.00 – 15.00 น.

ติดต่อ : 08 9441 0488

ชิ้นส่วนต้นลำพูต้นสุดท้าย ณ พิพิธบางลำพู

ความทรงจำสำคัญของชุมชนบางลำพู 

สมบัติแห่งชาติที่น่ารู้จักใน พิพิธภัณฑ์ 9 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์

สมัยก่อนบริเวณบางลำพูมีต้นลำพูมากมายจนกลายเป็นที่มาของชื่อย่าน ต่อมาเมื่อต้นไม้ค่อยๆ หายไป เหลือต้นสุดท้ายที่ยืนต้นตายเมื่อครั้งเกิดอุทกภัย พ.ศ. 2554 ชาวบางลำพูที่รักและผูกพันกับต้นไม้เก่าแก่จึงนำกิ่งต้นลำพูมาทำเป็นต้นไม้จำลองขนาดใหญ่ จัดแสดงอยู่ในพิพิธบางลำพู พิพิธภัณฑ์สำคัญที่ตั้งอยู่ในย่านการค้าเก่าแก่ของกรุงเทพฯ เก็บเรื่องราวของชุมชนบางลำพูในอดีตตั้งแต่ต้นยุครัตนโกสินทร์ นิทรรศการที่แสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบางลำพู บรรดาช่างทำเครื่องเงินและเครื่องถมที่หาได้ยากในปัจจุบัน 

ที่อยู่ : พิพิธบางลำพู ถนนพระสุเมรุ แขวงชนะสงคราม 

เวลาทำการ : 10.00 – 18.00 น. (ปิดวันจันทร์)

ติดต่อ : 0 2281 9828

ข้อมูลเพิ่มเติม : banglamphumuseum.treasury.go.th/

เหรียญกลมแบนรุ่นแรกของไทย ณ พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ 

วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงเหรียญของไทย

สมัยโบราณชาวสยามใช้เบี้ยหอย เงินพดด้วง และในที่สุดก็ผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นใช้ โดยเหรียญกษาปณ์กลมแบนรุ่นแรกจัดทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ยุคนั้นประเทศไทยเริ่มติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติมากขึ้น จึงต้องปรับรูปแบบเงินตราให้ใช้งานได้ง่าย ทันสมัยและเป็นสากล นับเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญของการชาติสยามในการปรับตัวเข้าสู่ยุคปัจจุบัน

ใครอยากเห็นเงินเหรียญกลมแบนรุ่นแรก ไปชมได้ที่ ‘ห้องกษาปณ์รัตนโกสินทร์’ ชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ห้องนี้ยังจัดแสดงเงินตราที่ผลิตขึ้นทั้งหมดในยุครัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัยแรกจนถึงเหรียญที่ใช้ในรัชกาลปัจจุบัน เหมาะกับคนสนใจประวัติศาสตร์เงินตรามากๆ 

ที่อยู่ : ถนนจักรพงษ์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 

เวลาทำการ : วันอังคาร-วันศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.วันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00 – 18.00น. 

ข้อมูลเพิ่มเติม : http://coinmuseum.treasury.go.th

บันไดไร้คาน ณ มิวเซียมสยาม

สถาปัตยกรรมล้ำยุผคเมื่อร้อยปีก่อน

สมบัติแห่งชาติที่น่ารู้จักใน พิพิธภัณฑ์ 9 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์

สมบัติชิ้นสุดท้ายไม่ได้มีป้ายคำอธิบายบอกเหมือนกับชิ้นอื่นๆ ที่ผ่านมา ไม่ได้ซ่อนอยู่ในห้องปิดลับของพิพิธภัณฑ์ แต่กลับอยู่ในจุดที่ทุกคนอาจมองข้ามไป เพราะสมบัติชิ้นนี้อยู่เหนือหัวของเราหากยืนอยู่ที่โถงกลางมิวเซียมสยาม

สมบัติแห่งชาติที่น่ารู้จักใน พิพิธภัณฑ์ 9 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์

บันไดไม้สองชั้นมีความพิเศษตรงที่เป็นบันไดไม่มีคาน อาศัยลูกนอนบันไดยึดกับกำแพงเท่านั้น ถึงแม้ไม่มีคานช่วยรับน้ำหนัก แต่บันไดก็ยังแข็งแรงและเป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมโบราณที่สง่างามผ่านกาลเวลาของอดีตตึกที่ทำการกระทรวงพาณิชย์ แสดงถึงการก่อสร้างที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ 

ที่อยู่ : 4 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง

เวลาทำการ : 10.00 – 18.00 น. (ปิดวันจันทร์)

ติดต่อ : 0 2225 2777

ข้อมูลเพิ่มเติม : www.museumsiam.org


อ่านเรื่องราวของ 200 ที่เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์เพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer & Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน