01

แนวคิด Contemporary Collecting หรือการสะสมวัตถุร่วมสมัย กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในวงการมิวเซียมสากล

พวกเขาหันเหจากพันธกิจการเก็บวัตถุโบราณหายากในอดีต มาเก็บสิ่งของสามัญ และบ้างเป็นของที่มีอยู่ดาษดื่น ‘หาง่าย’ ในปัจจุบันแทน อาทิ พิพิธภัณฑ์ V&A Museum เลือกเก็บผลิตภัณฑ์ขนตาปลอมที่มีพรีเซนเตอร์เป็นนักร้องชื่อดัง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของกระแสบริโภคนิยม และการใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างฟุ่มเฟือย หรือที่ Museum of London ซึ่งเก็บภูเขาไขมัน (Fatberg) ที่อุดตันท่อน้ำทิ้งใต้ดิน โดยมองว่าเจ้าก้อนสิ่งปฏิกูลนี้บ่งบอกถึงวิถีชีวิต รวมถึงปัญหาการทิ้งขว้างขยะของคนเมืองในยุคนี้ 

ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย เรามีโอกาสไปพูดคุยเรื่องพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง ชื่อว่า ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’ ที่กำลังใช้แนวคิดเดียวกันนี้ในการสะสมสารพันสิ่งของร่วมสมัย เพื่อเป็นหมุดหมายของภาพรวมประวัติศาสตร์บ้านเราในอนาคต โดยพิพิธภัณฑ์นี้จัดเก็บวัตถุที่มาจากการประท้วงเรียกร้องทางการเมืองตั้งแต่อดีต (เท่าที่หาได้) จวบจนปัจจุบัน ตอนนี้มีของในสะสมนับพันชิ้นและมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน แถมยังมีนิทรรศการหมุนเวียนตามพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในหลายภาคทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี ที่นี่มีผู้ดูแลทุกสิ่งอย่างเพียงคนเดียว นั่นคือ อานนท์ ชวาลาวัณย์ หรือ พี่แว่น  

“ข้างบนมีอีกเยอะมาก รกไปหมด ต้องขอโทษด้วย อันนี้แค่สองสามเปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดเองนะ” พี่แว่นขอโทษขอโพยขณะยกกล่องกระดาษใบใหญ่มาให้ดู 

พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชนผู้สะสมวัตถุการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จน 2563

เขาอธิบายให้เราฟังว่า ตอนนี้พิพิธภัณฑ์ของเขายังไม่มีพื้นที่จัดแสดงถาวร นอกจากตัวเพจพิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of the Commonners จากนั้นเขาค่อยๆ หยิบของออกมาจัดเรียงบนโต๊ะด้านหน้าเรา มีทั้งโบราณวัตถุอย่าง ‘เหรียญปราบกบฏ’ เหรียญที่ระลึกซึ่งทำแจกผู้สนับสนุนรัฐบาลคณะราษฎรในการปราบกบฏคณะกู้บ้านกู้เมืองเมื่อ พ.ศ. 2476 จวบจนไอคอนแห่งการประท้วง พ.ศ. 2553 อย่าง ‘ตีนตบ’ อีกทั้งเสื้อยืดพิมพ์ลายประกาศหลากหลายอุดมการณ์ละลานตาไปหมด 

พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชนผู้สะสมวัตถุการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จน 2563

พี่แว่นเน้นย้ำกับเราว่า การจัดการของเขาอาจจะไม่ดีนัก อย่างที่บอกเราว่า “ตามมีตามเกิด” เนื่องจากเขาเองมีงานประจำเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันงานก็ล้นมืออยู่แล้ว 

“ก็ยังเก็บไปเรื่อยๆ แหละ ผู้บริจาคไม่ประสงค์ออกนาม” 

พี่แว่นชูเสื้อยืดสีขาวที่มีสีน้ำเงินสาดกระเซ็นเป็นรอยไปทั้งตัว พร้อมทั้งสายรัดข้อมือในการจับกุม เราจำได้ทันทีว่ามาจากคณะราษฎรอีสาน จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ด้านหน้าเสื้อสกรีนว่า Back to the Future ชวนให้ขบคิดถึงวนวัฏจักรการแสดงออกทางการเมืองในบ้านเราอย่างน่าสนใจ

02

ประเด็นแรกที่เราเริ่มคุยกันคือจุดเริ่มต้นความสนใจในการสร้างมิวเซียมของพี่แว่น ซึ่งถ้าย้อนไปน่าจะมาจากความสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ตั้งแต่เด็กของเขา เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงชอบ เขาจึงตอบว่า

“ก็เกลียดเลขอะ” พี่แว่นหัวเราะ “ตอนจบมอหกผมยังติดศูนย์วิชาเลขเลยนะ ไม่ได้ซ่อมด้วย ทิ้งแม่งเลย แต่วิชาประวัติศาสตร์นี่ชอบ อ่านเพลินเลย มันเป็น Storytelling แบบหนึ่ง สมัยเด็กไม่ได้มีการวิพากษ์อะไรจริงจัง จำได้เลยว่าช่วงมัธยมก็เคยยืมหนังสือ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ว่าด้วยบันทึก 14 ตุลา มาอ่าน ก็อ่านไม่รู้เรื่อง ด้วยความเป็นเด็กไง” 

พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชนผู้สะสมวัตถุการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จน 2563

พี่แว่นบอกเราว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาหันมาสนใจการวิพากษ์ประวัติศาสตร์ที่ตนอ่านนั้น เกิดขึ้นในห้องเสวนาห้องหนึ่งที่เขาพลัดหลงเข้าไปช่วงเรียนมหาวิทยาลัย 

“เป็นหัวข้อซึ่งสมัยนั้นก็ถือว่าแรงนะ คือศาสนาจำเป็นอย่างไร จัดโดยกลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน ซึ่งหนึ่งในผู้จัดตอนนั้นคือ ใจลส์ ใจ อึ๊งภากรณ์ ซึ่งปัจจุบันนี้ลี้ภัยไปแล้ว” พี่แว่นนึกย้อนถึงการ ‘เบิกเนตร’ ครั้งสำคัญ

“ตอนนั้นเราก็คิดว่า เออ พวกนี้มันบ้ารึเปล่า แต่เราก็ไม่ใช่พวกที่ชอบเถียงหรือด่าอะไร เราฟังและลองคิดวิเคราะห์ตามเหตุผลของเขา มันแล้วแต่บุคลิก บางคนถ้าเป็นคนแข็ง ยึดมั่นถือมัน พอไปอยู่ตรงนั้นคงจะด่าแล้วเดินออกไป” 

พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชนผู้สะสมวัตถุการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จน 2563

เหตุการณ์วันนั้นต่างจากพื้นเพโรงเรียนเดิมที่เป็นอนุรักษ์นิยมของเขาอย่างสิ้นเชิง หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มประชาธิปไตยแรงงานมากขึ้น เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียนมากขึ้น 

“วิชาประศาสตร์ไทยที่เคยต้องเรียนมีสองเล่ม เล่มแรกคือ สุโขทัยถึงอยุธยาเสียกรุง เล่มต่อมาคือ รัตนโกสินทร์ถึงรัชกาลที่ 7 ส่วนประวัติศาสตร์จาก พ.ศ. 2475 จนปัจจุบันกลายเป็นวิชาเลือกเสรี จะเรียนก็ได้ไม่เรียนก็ได้ เราก็ อ้าวเฮ้ย! ทำไมเรื่องใกล้ตัวเราไม่ถูกบังคับให้เรียน แต่ต้องไปจำเรื่องไกลออกไป ตอนสอบอาจารย์ให้เขียนตอบคำถามว่า ชื่นชอบพระมหากษัตริย์ไทยสมัยอยุธยาพระองค์ใดที่สุด ผมได้แต่เขียนวิจารณ์พระนเรศวรรัวๆ เลย จำได้ว่าได้เกรด G (Good) นะ ทั้งๆ ที่อาจารย์น่าจะเป็นอนุรักษ์นิยม แปลว่าเขาก็เปิดกว้างให้แนวคิดของเราเหมือนกัน”

03

ในช่วงมหาวิทยาลัย พี่แว่นเคยร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ของ International Institute of Social History จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหอจดหมายเหตุรวบรวมสิ่งของในการเคลื่อนไหวภาคประชาชนจากทั่วโลก ทำให้เริ่มเห็นว่ามีไอเดียการเก็บของในลักษณะนี้ 

นอกจากนั้น เขายังได้แรงบันดาลใจจากการไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ในประเทศต่างๆ อาทิ ที่พิพิธภัณฑ์ของ Redcross ในเมืองเจนีวา พี่แว่นประทับใจเรื่องราวการนำเสนอของ Redcross ที่เล่าว่าตนเป็นองค์กรกลางที่เอาจดหมายจากเชลยศึกสงครามไปส่งให้ครอบครัว 

พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชนผู้สะสมวัตถุการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จน 2563

ที่พิพิธภัณฑ์ Holocaust ที่ฟลอริดา พี่แว่นได้เห็นการจัดแสดงเสื้อผ้าคนยิวที่น่าจะเอามาจากสถานกักกัน กองอยู่อย่างน่าหดหู่ ไปจนถึงที่เขมร ซึ่งพี่แว่นยังจำการเอารูปถ่ายของคนที่ถูกจับมาเรียงกันอยู่ด้านหน้าที่พิพิธภัณฑ์ จากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่โตลเสลง 

“อาจจะใช้คำว่าชอบไม่ได้ แต่มันมีบางอย่างในนิทรรศการเหล่านี้ที่ทำงานกับเราแหละ” 

พี่แว่นชี้ว่าอีก 2 พิพิธภัณฑ์เมืองนอกที่เชื่อมโยงกับพิพิธภัณฑ์สามัญชนของเขาอย่างชัดเจนคือ พิพิธภัณฑ์บ้านของบิชอป Óscar Romero ที่ประเทศเอลซัลวาดอร์ มีการโชว์รถยนต์และเสื้อของบิชอปที่ใส่ในวันถูกลอบสังหาร และอีกที่คือการจัดแสดงส่าหรีเปื้อนเลือดของ อินทิรา คานธี 

“มันแปรมาเป็นแรงบันดาลใจว่า เสื้อจ่านิวเนี่ยต้องเอามาเก็บให้ได้นะ เป็นตรรกะเดียวกันเลย คือของที่อยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บางอย่างที่ถ้าสิบปีผ่านไปเด็กๆ ยุคนั้นมาดู เขาจะได้เห็นของจริงว่ามันจากสิ่งนี้ๆ เป็นเครื่องยืนยันว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นนะ”

พี่แว่นเน้นย้ำถึงความสำคัญในการเล่าเรื่องการเมืองบนท้องถนน เพราะหากไม่มีชิ้นส่วนเหล่านี้ เราก็จะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การเมืองในสภาหรือการเมืองภาพใหญ่นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

ว่าแล้วพิพิธภัณฑ์สามัญชนจึงเริ่มต้นขึ้น

“เลือกใช้คำว่าพิพิธภัณฑ์เพราะมันขลังดี แล้วก็จะสู้กับ Narrative ของรัฐด้วย ว่าโอเค รัฐมีเรื่องเล่าที่บอกว่ามีค่า ต้องไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เราเองในฐานะสามัญชน ก็มีเรื่องเล่าของเราเหมือนกัน”

พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชนผู้สะสมวัตถุการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จน 2563
พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชนผู้สะสมวัตถุการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จน 2563

04

“ชื่อนี้ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคสามัญชนแต่อย่างใดนะ” พี่แว่นหัวเราะร่า “แค่พอแปลเป็น Museum of the Commonners มันฟังดูเข้าที” 

หลักการเก็บสะสมของพี่แว่นนั้น ในแง่ลักษณะวัตถุ เขาเก็บทุกสิ่งอย่าง แต่ต้องเป็นของที่คนทั่วไปทำ ใช้ในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องบางอย่าง ประเด็นอะไรก็ได้ จะการเมือง สิ่งแวดล้อม เพศสภาพ ฯลฯ กล่าวคือมันต้องถูกใช้ในขบวน หรือการเคลื่อนไหวอะไรสักอย่าง

“ไม่มีนโยบายเฉพาะเจาะจงนะ แต่ถ้าไปเห็นก็เก็บ ตอนนี้พิพิธภัณฑ์มันคือตัวเรานั่นแหละ อันไหนที่เราไปเห็นแล้วเจ๋งวะ ก็เก็บ ไม่ว่าจากฝั่งไหนก็แล้วแต่ เราเก็บเพราะมันทำให้เรื่องเล่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าตอนนี้ยังค่อนข้างเป็นอัตวิสัยอยู่ มันยังไม่ได้มีการเขียน Policy Guideline ว่าของชิ้นไหนควรซื้อ ไม่ซื้อ เนื่องจากมันยังไม่มีความเป็นสถาบันองค์กรขนาดนั้น ก็แล้วแต่ว่าเราไปเจอชิ้นไหน หรือมีใครบริจาคอะไรมาให้มากกว่า” 

พี่แว่นขยายความว่า “ผมใช้คำว่าเป็นกลางไม่ได้เสียทีเดียว แต่ทุกขบวนการมีพื้นที่ตรงนี้แล้วกัน”

พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชนผู้สะสมวัตถุการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จน 2563
พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชนผู้สะสมวัตถุการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จน 2563

เมื่อมีของจำนวนหนึ่ง เขาก็เริ่มนำไปใช้ประกอบการรณรงค์ของ iLaw รวมไปถึงให้ยืมไปจัดแสดงในพื้นที่เล็กๆ อาทิ ร้านหนังสืออับดุล บุ๊กส์ ที่ขอนแก่น หรือ Many Cuts Art Space ที่ฉะเชิงเทรา โดยในแต่ละกรณีก็จะทำงานกับผู้จัดการหรือภัณฑารักษ์ของสถานที่นั้นๆ ซึ่งจะมาเลือกของจากคอลเลกชันไปจัดแสดงตามจุดประสงค์ที่ต่างกันไป 

แน่นอนว่าบางครั้งวิสัยทัศน์ของพวกเขาอาจจะไม่ตรงกับพี่แว่นร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงนี้พี่แว่นบอกว่าเขายินดีให้ยืม ส่วนคนดูจะชอบไม่ชอบ เขาจะวิจารณ์ผู้จัดเอง 

“ทุกคนมีอคติอยู่แล้วแหละ เพียงแต่ว่าคุณจะแสดงอคตินั้นมากน้อยแค่ไหน มีชั้นเชิงและศิลปะมากแค่ไหนเท่านั้นเอง” 

หากสิ่งของเหล่านี้ได้ถูกจัดแสดงเพื่อช่วยเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้สมบูรณ์มากขึ้น เขาก็แฮปปี้แล้ว 

“ว่าตามตรงนะ ตอนนี้เด็กๆ เขาเห็นของจริงกันหมดแล้วล่ะ เขาลงสนาม เขาเห็นป้าย ทำป้ายกันเองด้วยซ้ำ แต่ว่าถ้าเขาได้มาเห็นของจากรุ่นเก่าๆ ด้วยก็น่าจะดี อย่างรุ่น นปช. หรือพันธมิตร เขาทำยังไง หรือ กปปส. ทำยังไง คุณจะได้ไปต่อยอดในแบบของคุณ”

พี่แว่นแสดงความเห็นว่า ตอนนี้โลกของเราได้เปลี่ยนไปแล้ว และเปลี่ยนเร็วมาก พิพิธภัณฑ์อาจจะไม่ได้ให้บริการในเชิงให้ความรู้เท่านั้น แต่สามารถใช้ในฐานะอื่น ไม่ว่าจะเป็นคลัง เป็นหอจดหมายเหตุ ฯลฯ แต่สังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วม และนำสิ่งนี้ไปใช้ต่อยอดเพื่อตอบโจทย์ด้วย

พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชนผู้สะสมวัตถุการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จน 2563

05

เราสนทนากันไปถึงการเก็บของจากการประท้วงในปัจจุบันทุกวันนี้ ซึ่งมีการแสดงออกและสื่อสารผ่านทางออนไลน์ในรูปแบบดิจิทัล

“สำหรับผม คิดว่ามันยากพอๆ กัน แต่ยากคนละแบบ วัตถุมันยากเพราะต้องไปเจอตัวเจ้าของถึงจะขอมาได้ โอกาสการเข้าถึงมันยากกว่า ในขณะที่ออนไลน์ เราติดตามเฟซบุ๊ก ไถๆ อยู่เดี๋ยวมันก็เด้งขึ้นมาให้เรา แต่ถึงมันจะดูง่ายๆ มันก็ไปไวเหมือนกัน เช่นบางอันที่เรากดแชร์มาแล้วแต่ไม่ได้เซฟ ปรากฏว่าต้นทางลบโพสต์ ก็จบเลย หายไปเลย หาไม่ได้แล้ว” 

พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชนผู้สะสมวัตถุการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จน 2563

เราพูดคุยกันถึงวิธีเก็บสมัยใหม่ เช่นการกดตามแฮชแท็กหรือการทำ Crowdsourcing ให้คนมาใส่ข้อมูลเอง ซึ่งตรงนี้พี่แว่นบอกว่ามีการทำเว็บไซต์อย่าง mobdatathailand.org ที่เข้ามาช่วย และมีเพจที่เป็นพันธมิตร เช่น ศิลปะปลดแอก – FreeArts ที่จะโพสต์งานศิลปะเชิงการเมืองเป็นระยะ แต่มันก็ยังยากมากสำหรับเขา โดยเฉพาะการหวังพึ่งอัลกอริทึมที่นำเสนอข้อมูลแตกต่างกันมากตามปัจเจกบุคคล

“คุณไปอยู่ท่ามกลางกองข้อมูล ไม่ใช่คนทำพิพิธภัณฑ์หรอก คนทั่วไปนี่แหละ พอบันทึกรูปไว้ก็ไปอยู่ในโฟลเดอร์ ดาวน์โหลดแล้วคอมพิวเตอร์ก็รกมาก การจัดไฟล์แค่นี้บางทีใช้เวลาเป็นวันๆ แล้วลองจินตนาการดูว่ามันมีเพจกี่เพจ มันมีคนทำคอนเทนต์เท่าไร จะไปแหวกว่ายแล้วบันทึกเพื่อจัดระบบยังไง ตอนนี้คืองานหินมาก ต้องมีสมาธิมาก” 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่พี่แว่นเห็นชัดเจน คือความคิดสร้างสรรค์ในม็อบรุ่นปัจจุบัน เมื่อเราพูดกันถึงเรื่องนี้ พี่แว่นหยิบพัดลายหมุดคณะราษฎรใหม่ 2020 ขึ้นมา 

พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชนผู้สะสมวัตถุการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จน 2563
พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชนผู้สะสมวัตถุการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จน 2563

“อันแรกที่น่าสนใจ คือโลโก้ น่าสนใจมาก เด็กๆ พวกนี้เอาไปทำเป็นภาษาต่างๆ เป็นสีรุ้ง LGBT เปลี่ยนเป็นมือแมว ฯลฯ ในชั่วข้ามคืน! แค่ของชิ้นเดียว ซึ่งมันเป็น Fan Made จากหมุดคณะราษฎรเดิมด้วย แต่โลกยุคนี้เด็กๆ เขามีความสามารถในทางกราฟิก สามารถต่อยอดไปง่าย แป๊บเดียวมันไวรัลแล้ว มีภาษาเหนือ ภาษาอีสาน ภาษามลายู เอาไปทำเป็นขนมโตเกียว เป็นกระทะทองเหลืองปิ้งหมูกระทะ 

“แปลว่าเขาไม่ได้รู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป เขารู้สึกว่ามันใกล้ และการเมืองไม่ใช่เรื่องศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นเรื่องคุยได้ (กินได้) ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีมาก โลกมันจะเปลี่ยนได้ก็ต่อเมื่อคุณเลิกมองการเมืองเป็นเรื่องเฉพาะของนักการเมืองที่สกปรก แต่มันคือเรื่องของทุกคน 

“อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือตอนนี้เขาไปที่ไหนกันก็จะมีวัฒนธรรมใหม่คือไปฉีดพ่นสเปรย์ทิ้งไว้ที่นั่น ตอนแรกมีศิลปินทำบล็อกชื่อของคนที่สูญหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง แล้วก็ไปพ่นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ปรากฏว่าคนที่เคยเชียร์ม็อบบางส่วนไม่พอใจและตำหนิเขา ว่าไม่มีอารยะบ้าง กลายเป็นการถกกันในม็อบ ไม่นานต่อมาเราเริ่มเห็นการเปลี่ยน คือไม่พ่นสีแล้วแต่ใช้ชอล์กเขียนแทน เรียกได้ว่าเป็นวิวัฒนาการชั่วข้ามคืนเลยล่ะ” 

พี่แว่นยอมรับว่า สิ่งนี้คือสิ่งที่แตกต่างจากการประท้วงสมัยก่อน 

“เป็นวิถีชีวิตของคนนะ เด็กรุ่นอยู่กับการ์ตูน วันพีซ อยู่กับ แฮมทาโร่ เขาเสพสิ่งเหล่านี้อยู่ เขาก็หยิบจับมันมาเป็นกระบอกเสียงของเขา ในขณะที่ในม็อบที่ประชากรเป็นอีกรุ่นหนึ่ง ก็จะมีภาษาวาทกรรมอีกแบบไป” 

ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจจากการรวบรวมสิ่งของในยุคนี้ เพราะเราจะได้เห็นความกลมกล่อมอีกแบบ คือมีคนหลายรุ่นมารวมกัน จะยุคไหนช่วงไหนขอแค่คุณมีจุดร่วมบางอย่างก็ไปด้วยกันได้ 

พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยสามัญชนผู้สะสมวัตถุการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2476 จน 2563

“ผมว่ามันเป็นการเรียนรู้ระหว่างรุ่นนะ ผมเห็นคุณป้าเสื้อแดงมาเซิ้งอยู่หน้าเวทีคอนเสิร์ตวงฟังก์ หรือมาฟัง ประเทศกูมี ในขณะเดียวกัน เด็กรุ่นนี้ก็มีปรากฏการณ์ฝังหมุดของเขาเอง ซึ่งเขาอาจจะมีวิธีการแสดงจุดยืนแบบอื่นที่อาจจะไม่ต้องยึดโยงอะไรกับคณะราษฎรเลยก็ได้ แต่มันยังมีรากบางอย่างที่เขาอยากจะเก็บไว้ หรือป้ายขอโทษคนเสื้อแดงของม็อบนักศึกษาเป็นต้น” พี่แว่นอธิบาย

“เด็กเขาไม่ได้เอาคณะราษฎรมาต่อยอดในฐานะวีรบุรุษบนหิ้งบูชานะ เขามองว่าทุกสิ่งมันเป็นพลวัต และมันเอาไปปรับใช้ได้ การเอามาทำ Meme ไม่ใช่การลบหลู่ แต่คือการนำมาใช้เป็นสัญญะ ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นวิธีการมองที่คนรุ่นก่อนอาจจะไม่ค่อยสะดวกใจเท่าไร” 

เราสรุปกันว่า มันเป็นธรรมชาติที่เมื่อมีความเห็นอันหลากหลายเกิดขึ้น ความท้าทายคือ คุณจะบริหารความขัดแย้งในพวกเดียวกันอย่างไร คงเป็นเรื่องของหลักตามประชาธิปไตยให้ถกกันต่อไป

06

สุดท้ายพี่แว่นเอาของที่เขาได้มาจากคนที่ ‘เปลี่ยนฝ่าย’ หรือละทิ้งอุดมการณ์เดิมมาให้เราดูด้วย 

“เราได้รับบริจาคเสื้อที่อาจารย์เคยอยู่ฝั่งพันธมิตรส่งมาให้ หรือมีรูปวาดของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่ตอนนี้ศิลปินคนวาดไม่อินกับตัวบุคคลแล้ว การเปลี่ยนแปลงแนวคิดนี้มันก็เป็นกันได้นะ ทุกคนอาจจะมีสิ่งที่ตัวเองยึดมั่นถือมั่น แต่มันก็อาจมีจุดเปลี่ยน อย่างตัวผมเองก็หนึ่งคน อยู่ที่อีโก้ด้วย มันต้องอาศัยความกล้าที่ต้องออกมายอมรับแบบจริงใจแล้วไปต่อ” 

ตรงนี้ทำให้เรามองเห็นว่า คอลเลกชันนี้นอกจากหลักฐานของการเรียกร้องแล้ว ยังแสดงอีกสิ่งที่สำคัญ คือความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ในมนุษย์แต่ละคน ตามกาลเทศะ มันพูดถึงบริบทของมนุษย์ในยุคหนึ่ง การเรียกร้องและจุดยืนจากช่วงเวลาหนึ่งที่อาจจะสำเร็จและไม่สำเร็จ แต่ก็ไม่จีรัง

เราได้เห็นความคิด การแสดงออก สุนทรียะของการแสดงออก การวิพากษ์และเรียกร้องบางสิ่งที่เราเชื่อว่าน่าจะได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้มีความงดงามในตัวมันเอง แม้จะอยู่ในกล่องกระดาษกองๆ กันก็ตาม

“ใครมีของส่งมานะครับ ใครมีแรงหรือกำลังทรัพย์ก็ส่งมา” พี่แว่นยิ้มให้เราทิ้งท้าย ฝากประชาสัมพันธ์ให้อาจารย์ นักเรียนนักศึกษาที่ต้องการใช้วัตถุในคอลเลกชันของเขา สามารถติดต่อเข้ามาทางเพจโดยตรง

“ถ้าคุณอยากจะทำอะไรสักอย่าง คุณต้องลงมือทำมัน วันที่ผมเริ่มต้นเปิดเพจแล้วก็โพสต์รูปไป บางรูปก็ไม่มีคนมากดไลก์อะไรเลย คนติดตามก็น้อยหลักสิบ ก็แอบผิดหวังนะ พอพูดคำว่าพิพิธภัณฑ์มันดูเหมือนเป็นคำใหญ่ แต่จริงๆ มันก็ต้องเริ่มจากศูนย์ 

“สถาบันใดๆ ที่แม้จะดูยิ่งใหญ่อลังการขนาดไหน มันก็ต้องมาจากอิฐก้อนแรกใช่ไหม แน่นอนว่าการไม่มีทรัพยากรมันก็เป็นข้อจำกัด แต่อย่าให้มันจำกัดจนเราทำอะไรไม่ได้ ทำเท่าที่ได้ไปเรื่อยๆ เท่าที่กำลังเราไหว ถ้าคุณอยากจะทำอะไรในชีวิตสักอย่าง ก็ค่อยๆ ลงมือ วันหนึ่งอาจจะไม่ถึงสิ่งที่เราฝัน แต่อย่างน้อยมันก็มีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น และสุดท้ายถ้ามันมีคุณค่าพอ มันก็จะต้องมีคนรับต่อเอง มันจะไม่จบที่รุ่นคุณแน่นอน” 

ติดตามความเคลื่อนไหวของพิพิธภัณฑ์สามัญชนได้ที่

เว็บไซต์ : commonmuze.com

Facebook : พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of the Commonners

Twitter: @commonners

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ