11 พฤศจิกายน 2020
4 K

เมื่อการสวมเสื้อเป็นมากกว่าการปกปิดร่างกาย ทว่าเป็นการแสดงตัวตนของคนที่หยิบมันมาไว้บนเรือนกาย มากกว่านั้นยังคลับคล้ายการสวมร่องรอยประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ อย่างเสื้อวงดนตรีถูกผลิตเป็นครั้งแรกช่วง ค.ศ. 1960 ขนาด The Beatles วงดนตรีระดับตำนาน ยังเคยขายเสื้อวงจนยอดจำหน่ายพุ่งสูงเกือบแซงยอดอัลบั้ม

ยิ่งทศวรรษ 70 – 90 นับเป็นยุคทองของศิลปินที่หันมาทำเสื้อยืดวงดนตรีของตนเอง ซึ่งการครอบครองเสื้อวงดนตรีถือเป็นการอุดหนุนวงนั้น ไม่ก็ถูกมองว่าเป็นสาวกของวงโดยปริยาย เมื่อกาลเวลาผ่านหลายสิบปี เสื้อวงมีจำนวนน้อยลง กลายเป็นของหายาก แถมมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ณ วันนี้ การพบเจอเสื้อยืดวงดนตรีของแท้ฉบับดั้งเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย จนกระทั่งผมพบกับ Museum of TEEs Thailand คลังขุมทรัพย์เสื้อยืดหายากแห่งแรกของยุคนี้ 

Museum of TEEs Thailand พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดที่มีตั้งแต่ Street Brand จนถึงเสื้อวงราคาหลักล้าน

Museum of TEEs Thailand เป็นพิพิธภัณฑ์เสื้อยืดของ เบียร์-พันธวิศ ลวเรืองโชค หัวเรือของกิจการรับออกแบบนาม Apostrophys Group ซึ่งเสื้อยืดทั้งหมดมาจากการสะสมตั้งแต่เขาเป็นเด็ก ทั้งจากการคุ้ยกองเสื้อตามตลาด (ที่มักเจอของดีเสมอ) การซื้อขายระหว่างมิตรสหาย จนถึงการประมูลจากในประเทศไทยและต่างประเทศ

Museum of TEEs Thailand พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดที่มีตั้งแต่ Street Brand จนถึงเสื้อวงราคาหลักล้าน

เมื่อผมเดินเข้ามาด้านในก็พบเสื้อยืดนับร้อยตัวแขวนเรียงรายบนเพดาน และเสื้อยืดอีกจำนวนมากก็แขวนอยู่บนราวตั้งพื้น โดยมี ช้อปปิ้ง-รุจาภา สัมมาวรรณ ผู้ดูแล Museum of TEEs Thailand เป็นไกด์นำเยือนและชวนผมทำความรู้จักกับพิพิธภัณฑ์เสื้อยืดหายากแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ถ้าพร้อมแล้ว เลือกเสื้อยืดตัวเก่งไปลุยกัน!

พื้นที่ (เสื้อยืด) ส่วนกลาง

วินาทีแรกที่ผมเห็น Museum of TEEs Thailand ดูไม่เหมือนพิพิธภัณฑ์อย่างที่คิดเอาไว้ ด้วยอาคารที่มีกระจกสะท้อนแสง พ่วงอาคารสองชั้นด้านข้าง สถานที่ตรงหน้าดูเป็นบริษัทแห่งหนึ่งเสียมากกว่า สิ่งที่คิดนั้นไม่ผิดเสียทีเดียว เมื่อมารู้ทีหลังว่า ก่อนจะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ เบียร์ทำงานเป็นผู้ดูแลบริษัทออกแบบภายในและมีบริษัทในเครือที่ต้องดูแลอีก 3 แห่ง ซึ่งพิพิธภัณฑ์เสื้อยืดเพิ่งเปิดได้เพียง 2 ปี หลังจากเขาย้ายศูนย์กลางการทำงานมาย่านลาดพร้าว 

แรกเริ่มเดิมทีเบียร์เป็นคน ‘เล่น’ เสื้อยืดมานานแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเสื้อวงดนตรีหายาก โดยเฉพาะวงดนตรีช่วงยุค 90 อย่างวง Guns N’ Roses, Metallica, Björk, Butthole Surfers, Run-DMC, KISS จนถึงวงชื่อดังตลอดกาลอย่าง Nirvana เมื่อจำนวนเสื้อยืดเพิ่มตามระยะเวลาการสะสม เขามองว่าถ้าเก็บไว้คงเสื่อมสภาพ เลยเกิดความคิดที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เสื้อยืดเป็นของตัวเอง ซึ่ง Museum of TEEs Thailand เป็นพิพิธภัณฑ์เสื้อยืดแห่งแรกในประเทศไทย

มิวเซียมแห่งนี้จัดแสดงเสื้อยืดอันทรงคุณค่าจากคลังแสงของเบียร์สู่สายตาของนักสะสมและคนที่สนใจ 

Museum of TEEs Thailand พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดที่มีตั้งแต่ Street Brand จนถึงเสื้อวงราคาหลักล้าน
Museum of TEEs Thailand พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดที่มีตั้งแต่ Street Brand จนถึงเสื้อวงราคาหลักล้าน

บางเดือนหรือบางเทศกาลจะมีธีมการจัดแสดง อย่างช่วงนี้ (ตุลาคม 2563) เป็นธีมเสื้อยืดสยองขวัญ มีเสื้อยืดสกรีนลายจากภาพยนตร์กระตุกขวัญอย่าง Chucky, Scream, Friday the 13th, Freddy Krueger  มีเสื้อยืดวง Queen ที่ทำออกมาตอนวงยังไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งคอลเลกชันจัดแสดงมีทั้งเสื้อยืดสะสมของเบียร์และคนที่ ‘เล่น’ เสื้อเหมือนกับเขา 

“เคยมีค่ายเพลงเข้ามาคุยกับเราเกี่ยวกับโปรเจกต์เสื้อ และมีคนทักมาหาเราว่าเขาไม่ได้มีเสื้อวงครบทุกตัวนะ แต่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการจัดแสดงเสื้อวงดนตรีไทย เขาถ่ายภาพมาให้เราดู เป็นของ Bodyslam หมดเลย หมวก เสื้อ ของที่ระลึก เราเลยคิดว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนกลางที่ให้ใครก็ได้เข้ามาใช้พื้นที่สำหรับจัดแสดงงาน” ไกด์สาวอธิบาย

พื้นที่มิวเซียมแห่งนี้จึงเป็นเสมือนพื้นที่ส่วนกลางสำหรับคนรักเสื้อยืดที่มีความพิเศษต่างกัน บางคนสะสมเสื้อวินเทจมากกว่าพันตัว บางคนสะสมเฉพาะวงดนตรีวงเดียว อย่างเบียร์นอกจากสะสมเสื้อวงที่ตัวเองชอบในยุค 90 ยังมีเสื้อแจ็กเก็ต ของที่ระลึก เช่น เสื้อกีฬาโอลิมปิก เสื้อบอล ถ้าใครมีของดีที่อยากสำแดงก็เอามาจัดแสดงที่มิวเซียมได้นะ

Museum of TEEs Thailand พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดที่มีตั้งแต่ Street Brand จนถึงเสื้อวงราคาหลักล้าน

เสื้อยืดที่เป็นมากกว่าเสื้อยืด

“ตัวนี้ราคาประมาณห้าแสนบาท” เรามองตามนิ้วชี้ของช้อปปิ้งที่หันไปทางเสื้อยืดลายกล่องหัวใจ ถ้าใครเป็นบิ๊กแฟนของ Nirvana จะรู้ว่าลายบนเสื้อมาจากเพลง Heart-Shaped Box (อะไรกันนะที่ทำให้เสื้อตัวนี้ราคาครึ่งล้าน)

“มีปัจจัยอะไรบ้างครับที่ทำให้เสื้อยืดราคาสูงขนาดนี้” ผมสงสัย

“เป็นเพราะความพอใจและคนมีชื่อเสียงใส่ลายเดียวกัน” เธอหยิบเสื้อตัวนั้นลงมาให้ผมชมตรงหน้า

“อย่าง Heart-Shaped Box จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) เคยใส่มาแล้ว หลังจากนั้นราคาเสื้อก็ขึ้นทันที ยิ่งเป็นตัวดั้งเดิมที่ผลิตตั้งแต่ยุคนั้นจะยิ่งแพง เหมือนตัวนี้ที่กลายเป็นหนึ่งในบรรดาเสื้อ OVP (All-Over-Print T-Shirt) ที่อยู่ในเบญจภาคี

“เสื้อเบญจภาคีเป็นเสื้อยอดฮิตที่มีราคาสูง อย่าง Metalica แมงมุม จริงๆ ไม่ได้ชื่อ Metalica แมงมุม พอเสื้อฮิตมากๆ เลยมีชื่อเล่นไว้เรียกกัน ซึ่งเบญจภาคีที่เป็น OVP มีวง KISS, Nirvana, AC/DC และ Ozzy Osbourne”

Museum of TEEs Thailand พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดที่มีตั้งแต่ Street Brand จนถึงเสื้อวงราคาหลักล้าน
Museum of TEEs Thailand พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดที่มีตั้งแต่ Street Brand จนถึงเสื้อวงราคาหลักล้าน

วิธีการดูเสื้อว่าแท้หรือไม่แท้มีอยู่หลายวิธี ตั้งแต่ป้ายคอเสื้อจนถึงตะเข็บเสื้อ ป้ายที่อยู่บนคอเสื้อนับว่าเป็นสิ่งสำคัญในการแยกว่าเสื้อตัวไหนผลิตในช่วงปีไหน เสื้อยุค 80 -90 มักมีป้ายคอเสื้อ แต่ละปีทำรูปแบบป้ายแตกต่างกันจนแยกได้ ปัจจุบันเสื้อบางตัวไม่ได้ทำป้ายหลังคอเสื้อกันแล้ว แต่เป็นการปั๊มลายตรงคอเสื้อแทนเพื่อลดต้นทุน 

ส่วนตะเข็บเสื้อยุค 90 จะเย็บตะเข็บเดี่ยวตรงชายเสื้อและแขนเสื้อ เสื้อบางตัวถึงเป็นของแท้เหมือนกัน แต่เป็นการผลิตซ้ำอีกครั้ง ทำให้ราคาไม่ได้สูงเท่ากับปีแรกที่ผลิต ดังนั้น การซื้อเสื้อที่มีความพิเศษแบบนี้ต้องตรวจเช็กอย่างดี อาศัยความมุ่งมั่นอดทนในการตามหา ซึ่งความยากลำบากในการซื้อกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาเสื้อเพิ่มขึ้น

Museum of TEEs Thailand พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดที่มีตั้งแต่ Street Brand จนถึงเสื้อวงราคาหลักล้าน

เพราะมันกลายเป็นเสน่ห์และความพึงพอใจนั่นเอง

“นักสะสมบางคนไม่เหมือนกัน เขาไม่ได้สนเลยว่าคนอื่นซื้อเสื้อตัวนี้มาเท่าไหร่ เขาอาจซื้อมาหลักร้อย แล้วมาขายเราหลักหมื่นก็ได้ ถ้ามันมีคุณค่าทางจิตใจกับเขา วงการมันเป็นแบบนี้” ช้อปปิ้งขยายใจความสำคัญ

MOTT x เชอรี่ สามโคก

Museum of TEEs Thailand ไม่ได้ตั้งใจเป็นร้านขายเสื้อยืดแต่แรก จุดประสงค์หลักมีเพียงแค่จัดแสดงเสื้อยืดหายาก แต่มีบ้างบางตัวที่ปล่อยขาย (จำนวนไม่มากนัก) ตั้งแต่เสื้อราคาหลักร้อยถึงระดับราคาสูง 3 ตัวล้าน!

ช้อปปิ้งพาผมเดินไปที่บริเวณนั่งเล่นสำหรับฟังแผ่นเสียงของมิวเซียมซึ่งรอบล้อมด้วยราวเสื้อยืด ไกด์สาวหยิบเสื้อยืดสีดำสกรีนด้วยลายที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร หลายคนคงไม่คุ้นตาว่าเป็นเสื้อยืดของวงดนตรีวงไหน เพราะนั่นเป็น H.O.C (The Haus of Custom) by MOTT เสื้อแบรนด์ของ Museum of TEEs Thailand 

เสื้อออกแบบด้วยลายสกรีนที่มีความสร้างสรรค์ ดีไซเนอร์ได้แรงบันดาลใจจากวงดนตรีและภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Evangelion ผสมกับวง KISS ด้วยการ Mix and Match อย่างลงตัว ทำให้ผมเกิดความรู้สึกว่า การทำเสื้อยืดไม่ได้ทำเพื่อสวมใส่เพียงอย่างเดียว แต่นั่นเป็นการถ่ายทอดงานศิลปะให้เป็นที่ประจักษ์ต่อทุกสายตา

Museum of TEEs Thailand พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดที่มีตั้งแต่ Street Brand จนถึงเสื้อวงราคาหลักล้าน
Museum of TEEs Thailand พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดที่มีตั้งแต่ Street Brand จนถึงเสื้อวงราคาหลักล้าน

ความน่าสนใจของเสื้อยืดที่ทำขึ้นมา คือการทำงานร่วมกับ เชอรี่ สามโคก เธอลงทุนถ่ายภาพนู้ดเพื่อสกรีนบนเสื้อ อาจฟังดูเหมือนเสื้อลายนู้ดทั่วไป แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่เสื้อยืดได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากเสื้อยืดของวงดนตรีต่างประเทศ มาผสมผสานจนกลายเป็นเสื้อคอลเลกชัน เชอรี่ สามโคก ที่มีความสวยงามจนน่าประหลาดใจ 

“เราทำเสื้อขายเองเพื่อสำรวจตลาดว่าเขาชอบแบบไหน เราตั้งกลุ่มทาร์เก็ตถูกมั้ย ผลออกมามีคนซื้อเสื้อแบรนด์เราเยอะมาก ส่วนการสั่งซื้อทางเพจเรียกว่าเพจแตกเลย” แอดมินเพจประจำมิวเซียมพูดด้วยรอยยิ้ม

ส่วนเสื้อแบรนด์ H.O.C ออกมาเพียง 5 เวอร์ชันเท่านั้น ก่อนจะมีเสื้อแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานมานี้ภายใต้ชื่อแบรนด์ ‘UR. YOUR BRAND’ ติดตามรอลุ้นเสื้อลายสวยเท่ได้ที่เพจ Museum of TEEs Thailand นะ

Museum of TEEs Thailand พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดที่มีตั้งแต่ Street Brand จนถึงเสื้อวงราคาหลักล้าน

แลนด์มาร์กสำหรับแฟนวงดนตรี

พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดตั้งปักหลักอยู่ในสถานที่ที่สัญจรได้ยาก เพราะไม่อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ถึงกระนั้นก็ไม่อาจหยุดคนที่สนใจได้ ช้อปปิ้งเล่าให้ผมฟังว่า ผู้มาเยือนมาจากต่างจังหวัดก็มี แถมมีตั้งแต่วัยนักเรียนที่มาถามหาเฉพาะวงดนตรีที่ชอบ ไปจนถึงวัยกลางคนที่เป็นแฟนเพลงจริงๆ แม้แต่ขบวนรถมอเตอร์ไซค์ Harley Davidson ก็เคยแห่กันมาดูถึงที่ 

“กลายเป็นว่าหลายอย่างมันถูก Shaped ไปเอง บางครั้งเราเจอผู้ชายกับผู้หญิงใส่เสื้อยืดวง Metallica คู่กันแล้วเขาเดินเข้ามาถ่ายรูป เหมือนว่าเสื้อยืดวงดนตรีเป็นยูนิฟอร์มที่เขาใส่มามิวเซียม ซึ่งเขาเลือกเอง ไม่เกี่ยวกับเรา

“คุณเบียร์เคยพูดว่าจะทำมิวเซียมแค่สองปี แต่ถ้าไม่ได้เสียหายอะไร เขาก็อยากให้มันอยู่ต่อ” เธอยิ้ม

Museum of TEEs Thailand พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดที่มีตั้งแต่ Street Brand จนถึงเสื้อวงราคาหลักล้าน
Museum of TEEs Thailand พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดที่มีตั้งแต่ Street Brand จนถึงเสื้อวงราคาหลักล้าน

หลังจากจบบทสนทนา ผมเดินไปดูเสื้อตัวหนึ่งของวงดนตรี Pink Floyd ซึ่งเป็นหนึ่งในวงผมชื่นชอบมาก และเป็นตัวที่ช้อปปิ้งบอกว่าเป็น ‘ผ้าตาย’ เสื้อที่ผ่านกาลเวลามานานมากจนเนื้อผ้าบางแทบจะขาดตลอดเวลา 

การทำให้เสื้อยืดเหล่านี้เหลือรอดมาถึงทุกวันนี้ต้องอาศัยการดูแลอย่างดีมาก แม้ลวดลายจะเลือนลาง แต่ก็ทำเอาผมนึกถึงบรรยากาศที่เสื้อตัวนี้ถูกสวมใส่โดยแฟนเพลงคนใดคนหนึ่ง ที่กำลังตะโกนโหวกเหวกอย่างดีอกดีใจเมื่อเห็น โรเจอร์ วอเทอร์ส (Roger Waters) และ เดวิด กิลมอร์ (David Gilmour) สองสมาชิกจากวง Pink Floyd ขึ้นเวทีและสร้างเสียงดนตรีดังสั่นสะท้านไปทั้งเวที 

ผมเชื่อว่ายังมีเสื้อยืดอีกหลายตัวใน Museum of TEEs Thailand ที่ผ่านเรื่องราวและเต็มไปด้วยความทรงจำ

Museum of TEEs Thailand

ที่ตั้ง : 1/14 ซอยลาดปลาเค้า 50 ถนนลาดพร้าว แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร 10230 (แผนที่)

เบอร์โทรติดต่อ : 0 2194 1554

Facebook : Museum of TEEs Thailand

Writer

Avatar

ภูมิ เพชรโสภณสกุล

อดีตนักศึกษาเอกปรัชญา นักหัดถ่าย นักหัดเขียน เป็นทาสแมว ที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักดนตรี

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ