14 กรกฎาคม 2561 ถือเป็นวันครบรอบ 17 ปี ของ ‘บ้านพิพิธภัณฑ์’ หรือ ‘House of Museums’ กระสวยเวลาที่ปิดผนึกความทรงจำและความรู้สึกจากอดีตเอาไว้ให้คนกรุงได้คิดถึงกับสโลแกนคุ้นหู ‘เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า’

โอกาสนี้เราเลยขอชวนทุกๆ คนมาเดินย้อนรอยอดีตด้วยกับ อาจารย์เอนก นาวิกมูล ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ พร้อมย้อนดูความเปลี่ยนแปลงตลอด 17 ปีที่ผ่านมาของวงการพิพิธภัณฑ์ของบ้านเราว่า เดินหน้าไปถึงไหน หรือยังขาดแคลนอะไรกันอยู่บ้าง

ถ้าใครสนใจถ้าพิพิธภัณฑ์หรือประวัติศาสตร์ ต้องเคยประสบพบเห็นงานของอาจารย์เอนก นาวิกมูล มาบ้างไม่มากก็น้อย ท่านเป็นคนที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ได้สนุกและแม่นยำ ผ่านทั้งงานสอน งานบรรยาย และงานเขียนหนังสือ ซึ่งมีมากกว่าร้อยเล่ม ถือเป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อชาติ ได้รับรางวัลทรงเกียรติมากมาย อาทิ ผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น (พ.ศ. 2534) และได้รับการยกย่องเป็นนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดีเด่น (พ.ศ.2536) อีกทั้งยังได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2554 เป็นต้น

ถ้าอยากจะรู้จักตัวตนและความรักที่อยู่เบื้องหลังงานของท่านทั้งหมด แนะนำว่าต้องหาเวลาแวะมาเดินตามท่านใน ‘บ้านพิพิธภัณฑ์’ สักครั้ง

บ้านพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 170 / 17 หมู่ที่ 17 หมู่บ้านคลองโพแลนด์ ซอยคลองโพ 2 ถนนศาลาธรรมสพน์ (ถนนต่อจากถนนพุทธมณฑลสาย 2 ด้านทางรถไฟ) เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ เริ่มเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ พ.ศ. 2544 

อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์

เพียงก้าวแรกในพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้ เรารู้สึกได้ถึงการย้อนอดีต ด้วยการจัดแสดงสิ่งของชาวบ้านชาวเมือง ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จวบจนปัจจุบัน ตั้งแต่ของเล็กๆ อาทิ ของเล่นกระจุกกระจิก กระป๋องสังกะสีใส่ลูกอม ยันของใหญ่ อย่างเครื่องฉายหนัง พร้อมเก้าอี้นั่งโบราณครบเซ็ต! ให้กลิ่นอายของบรรยากาศสมัยก่อนที่หาดูได้ไม่ง่ายในปัจจุบัน

“เราแสดงวิถีชีวิตชาวบ้าน ชาวตลาด ชาวเมือง เมื่อก่อนพิพิธภัณฑ์แบบนี้ไม่ค่อยมี ข้าวของเลยถูกทิ้งไปเยอะ เพราะไม่มีใครจะเก็บ เราเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ก็เลยจัดทำขึ้นมา” อาจารย์เอนกเล่า

อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์

บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มี 3 ชั้น การจัดแสดงแบ่งออกเป็นโซนๆ จำลองรูปแบบร้านรวงที่เป็นบริบทของวัตถุเหล่านั้น เช่น ร้านของชำจันอับ ร้านจี้มิ้นขายยา ร้านหนังสือ ‘ลิขิตสาสน์’ ร้านถ่ายรูป ร้านตัดผม ฯลฯ นอกจากจะได้ถ่ายรูปสวยๆ เก๋ๆ แล้ว หากเราลองมอง สังเกต และสอบถามความเป็นมาของวัตถุแต่ละชิ้น เราจะเห็นความไม่ ‘ธรรมดา’ ที่ซ่อนอยู่ด้วย เช่น ตู้และเฟอร์นิเจอร์ร้านทองที่ยกมาจากห้างทองยั่งคิ้วแม่กิมอิ้ด จังหวัดระยอง (เปิดทำการมา 28 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2520) การจำลองที่ว่าการอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา การจัดแสดงห้องเรียนทั้งห้องจากโรงเรียนตะละภัฏศึกษา (ครั้งหนึ่งเคยเป็นวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เลิกกิจการไปเมื่อ พ.ศ. 2538) ทั้งหมดนี้มีผู้บริจาคมาให้อาจารย์ ด้วยความเชื่อมั่นของเจ้าของเก่าว่า ท่านจะดูแลและส่งต่อความทรงจำของพวกเขาให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

ความเบ็ดเตล็ดนี้ชวนเราตั้งคำถามว่า อาจารย์เอนกตั้งใจจะเก็บหรือจัดแสดงอะไรบ้าง มีวิธีการเลือกของที่เข้ามาในคอลเลกชันอย่างไร ท่านตอบเราว่า

อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์

อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์

“บ้านพิพิธภัณฑ์พยายามรับของในยุคคุณปู่คุณย่าไว้ก่อน เพราะของยุคนั้นคลาสสิก สวย ของปัจจุบันไม่ใช่ไม่สวย แต่ปัญหาใหญ่คือพื้นที่เรายังไม่พร้อม เลยต้องยึดเอาของเก่าไว้ก่อน ยุค 2500 ยุค 2490 70 80 เราเก็บของที่ดูเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่เก็บทั้งหมด พอให้ดูเพลินๆ แล้วคนที่สนใจศึกษาก็ไปลงรายละเอียดจากที่หอสมุด หรือที่อื่นๆ ต่อ”

สรุปว่า ที่นี่เน้นการเล่าประวัติศาสตร์สังคม (Social History) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคม และปฏิสัมพันธ์ของผู้คนมากกว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องของสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งมักเป็นเส้นเรื่องหลักที่เราเจอบ่อยๆ เมื่อไปเยือนพิพิธภัณฑ์ระดับชาติทั้งในและต่างประเทศ

ด้วยการเก็บเรื่องราวทางสังคมนี้ นอกจากเราจะได้ภาพประวัติศาสตร์ที่รอบด้านมากขึ้นแล้ว อาจารย์ยังเสริมว่าทำให้เห็นวิวัฒนาการของนวัตกรรมต่างๆ ที่พัฒนาต่อยอดกันมา ต่างประเทศถึงได้ให้ความสำคัญในการเก็บกันมาเป็นพันปี เช่น ต้องมีระบบแอนะล็อกแบบแผ่นเสียงมาก่อน ถึงจะมาเป็นดิจิทัลได้

ในด้านการบริหารจัดการ เส้นทางของบ้านพิพิธภัณฑ์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ส่วนมากต้องอาศัยน้ำพักน้ำแรงของอาสาสมัครและผู้บริจาค ที่ดินที่ตั้งอยู่ก็มาจากการบริจาค อาคารมาจากเงินบริจาค ข้าวของก็มาจากการบริจาค กำลังเจ้าหน้าที่ที่มาเปิดพิพิธภัณฑ์ให้บริการในวันเสาร์และอาทิตย์ก็เหมือนการบริจาคเวลา เพราะไม่มีเงินเดือน

อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์

“ปัญหาของพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยทั้งราชการและเอกชนคือ ไม่มียานแม่ หรือหน่วยงานใหญ่ที่ดูแลโดยตรง โดยเฉพาะของเอกชน จะล้มลุกคลุกคลานก็ล้มไป ตายไป เงินจึงสำคัญมาก ถ้าพิพิธภัณฑ์ทั่วไปมีสายป่านยาวหน่อยก็จะทำได้ แต่ถ้าเล็กๆ ก็ล้มลุกคลุกคลานหน่อย เป็นวัดวาอารามก็ทำไปตามความรู้ความสามารถของคนในท้องถิ่น ดังนั้นที่บอกว่ามียานแม่ ก็คือผู้ที่คอยช่วยเรื่องงบประมาณ ช่วยให้ความรู้ พาคนที่สนใจเรื่องพิพิธภัณฑ์ไปดูงานต่างประเทศบ้าง จะทำให้เกิดพลังขึ้นเยอะเลย ไม่ใช่ปล่อยให้เขาสู้ไปเรื่อยๆ”

17 ปีผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ จำนวนอาสาสมัครที่หมุนเวียนอยู่ราว 10 – 20 คน ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก ทว่าข้าวของบริจาคที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้บ้านพิพิธภัณฑ์มีโครงการจะเปิดสาขา 2 ที่ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ห่างจากบ้านพิพิธภัณฑ์ไปราว 23 กิโลเมตร

“เขาบริจาคตู้คอนเทนเนอร์มา 15 ตู้ ก็ไปจัดตั้งเรียบร้อย มุงหลังคาเสร็จแล้ว กำลังทำฝ้าเพดาน จากนั้นคือทำทางเดินสองข้างและเจาะห้องต่างๆ จากเจาะห้องก็ต้องมาขุดคลองเล็กๆ ตรงกลาง สมมติว่าเป็นตลาดริมน้ำ มันก็ได้บรรยากาศ แล้วก็ต้องปรับพื้นที่ปลูกต้นไม้ให้ดูสวยงามต่ออีก ปลูกผัก ปลูกดอกไม้ เลี้ยงสัตว์เล็กๆ น้อยๆ เป็นที่เที่ยวแบบหย่อนใจ แต่จะให้บรรยากาศเหมือนสมัยคุณปู่คุณย่าเป๊ะๆ ไม่ได้หรอก เพราะว่าอาคารเหล็กนั้นทำไปตามที่เขาบริจาค”

สุดท้ายอาจารย์ก็ยังขอฝากให้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการ ‘เก็บ’ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์

“บ้านพิพิธภัณฑ์ตั้งขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้คนมาเห็น รู้สึกสนุก และอยากจะเก็บ เก็บไว้สักมุมหนึ่งในบ้านก็ยังดี หรือมีสักกล่องหนึ่งก็ยังดี เด็กรุ่นใหม่เขาอาจจะเก็บกล่องของเล่นหรืออะไรบางอย่างที่เขาใช้เป็นประจำ ดินสอสวยๆ ปากกาสวยๆ หรือว่าตั๋วรถไฟฟ้าก็ได้ เก็บเป็นระลึกไว้แผ่นหนึ่งก็ยังดี เหมือนใส่กล่องเวลา แล้วอีกสัก 10 หรือ 20 ปี มันจะดูแปลกแน่นอนเลย นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่า ที่เราพยายามจะบอกว่า ‘เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า’ เราจะกลับมาดูด้วยความเพลิดเพลิน หวนคิดถึงสมัยวัยเด็ก

“จึงอยากให้ทุกคนช่วยเก็บตัวอย่าง ไม่ใช่เก็บทั้งหมด หนังสือพิมพ์ก็เก็บได้นะ เก็บตามปีเกิด พอวันเกิดเราก็เก็บสักฉบับหนึ่ง หรือว่าเก็บของใช้ ยกตัวอย่างเช่น สบู่ ก็เลือกที่สวยๆ หรือกล่องขนม คุกกี้ มีสวยๆ แล้วค่อยส่งมอบให้พิพิธภัณฑ์ในตำบล ถ้ายังทำเป็นพิพิธภัณฑ์ไม่ได้ก็ให้ทำเป็นสมุดภาพ รวบรวมภาพในชุมชนนั้นมาตีพิมพ์ ถ่ายภาพข้าวของในชุมชนนั้นที่เก่า คลาสสิก มาตีพิมพ์ นี่คือพิพิธภัณฑ์ในหนังสือ ใช้งบไม่กี่แสน แล้วต่อไปของแบบนี้ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นๆ เอง”

แน่นอนว่า การเก็บจะช่วยให้สิ่งของต่างๆ มีอยู่ต่อไปถึงคนรุ่นหลัง แต่คำถามว่าด้วย ‘คุณค่า’ ยังค้างในใจของเราหลังจากที่เดินออกมาจากบ้านพิพิธภัณฑ์

อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ อาจารย์เอนก, บ้านพิพิธภัณฑ์, ประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์

เราควรจะให้ค่ากับอะไร? เราจะทำให้คนอื่นมองเห็นคุณค่าของมันได้อย่างไร? กาลเวลาเพิ่มมูลค่าให้สิ่งของได้เสมอจริงหรือ?

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการสะสมนั้นๆ นำไปสู่การเล่าประวัติศาสตร์บางอย่าง (หรือการไม่ได้เล่าบางอย่าง) ให้กับคนรุ่นหลัง คำถามนี้อาจไม่มีคำตอบที่ตายตัว

อย่างไรก็ดี เราก็ยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตจะยังคงมีพิพิธภัณฑ์ที่เกิดจากคนตัวเล็กๆ อีกเยอะๆ และมีระบบช่วยเหลือพวกเขาให้ช่วยกันเล่าเรื่องประวัติศาสตร์สังคมและส่งต่อมุมมองของ ‘คุณค่า’ ที่หลากหลายกันต่อไปนานเท่านาน

 

บ้านพิพิธภัณฑ์

เลขที่ 170 / 17 หมู่ที่ 17 หมู่บ้านคลองโพแลนด์ ซอยคลองโพ 2 ถนนศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10170
โทรศัพท์: 02 457 2603, 089 200 2803, 089 666 2008
เปิดทำการ: วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 17.00 น.
ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท

Writer & Photographer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร