เมื่อโรงภาพยนตร์ลิโดที่อยู่คู่คนรักหนังมา 50 ปีต้องปิดตัวลงเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า ความอาลัยของแฟนหนังและคนที่รักบรรยากาศของที่นี่ สะท้อนให้เห็นความผูกพันบางอย่างของคนกับหนัง และวัฒนธรรมการไปดูหนังฟิล์ม แม้การโหลดออนไลน์หรือการสตรีมหนังทุกวันนี้จะสะดวกขึ้นมากก็ตาม เพราะการดูหนังอาจเป็นมากกว่ากิจกรรมบันเทิงที่ดูเสร็จแล้วก็จบกันไป

วันนี้เราเลยถือโอกาสมาเยือน ‘หอภาพยนตร์’ สถานที่จัดเก็บอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ไทย ที่ซึ่งเราจะทำได้มากกว่าการดูภาพยนตร์ คือได้เห็นภาพด้วยว่าสื่อชนิดนี้สามารถขยายต่อยอดไปเป็นอะไรได้บ้าง

‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio

“งานอนุรักษ์ (ภาพยนตร์) มันเป็นกระบวนการ เราเป็นหนึ่งในกระบวนการอนุรักษ์ ก็คืออนุรักษ์เก็บสิ่งของ และเราต้องทำองค์ความรู้จากมัน แล้วนำองค์ความรู้นี้ไปเผยแพร่ให้สาธารณชน นี่คืองานที่ผมรับผิดชอบอยู่”

คุณวินัย สมบุญณา หัวหน้าฝ่ายเผยแพร่แห่งหอภาพยนตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นมาและพันธกิจของที่นี่ ซึ่งนอกจากจะอนุรักษ์ซ่อมแซม จัดเก็บภาพยนตร์ เพื่อให้คนได้มาศึกษาแล้ว ที่นี่ยังทำงานกันอย่าง Active มากในการเผยแพร่องค์ความรู้จากภาพยนตร์ไปสู่คนทุกเพศทุกวัย ทั้งใกล้และไกลอีกด้วย

‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio ‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio ‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio

“มันไม่จบที่ว่าหาหนังมาแล้วมาเก็บ เพราะเก็บอย่างเดียวมันไม่มีประโยชน์ ทำยังไงให้มันได้ประโยชน์คือเก็บแล้วต้องกลั่นองค์ความรู้ เราก็ต้องทำวิจัยจากสิ่งที่เราเก็บ บางทีเราได้เสื้อผ้ามา เราก็สามารถศึกษาได้ว่าหนังเรื่องนี้มันสร้างมาจากอะไร ทำไมถึงมีการออกแบบเสื้อผ้าอย่างนี้ แล้วคนทำหนังนี้เขาคิดอะไร เป็นต้น คือหนังเรื่องนึงมันสร้างจากหลายองค์ประกอบ มันไม่ได้แค่คิดขึ้นมาได้ก็ทำออกมาได้เลย” คุณวินัยอธิบาย

อันที่จริง การจัดทำหอภาพยนตร์ หรือถ้าแปลกันตามตัวอักษรคือ ‘หอจดหมายเหตุสำหรับภาพยนตร’ (Film Archive) มีในต่างประเทศมายาวนานแล้ว เพื่อที่จะจัดเก็บสื่อชนิดนี้ไว้ให้เป็นประโยชน์ด้านการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ แต่ในเมืองไทยเพิ่งจะเกิดหอภาพยนตร์มาได้ 30 กว่าปีเท่านั้นเองโดยคุณโดม สุขวงศ์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหอภาพยนตร์แห่งนี้ เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในการริเริ่มโครงการจัดตั้งเพื่อให้มีหน่วยงานที่จัดเก็บภาพยนตร์ได้ถูกต้องตามหลักสากล และเพื่อการศึกษาค้นคว้า เนื่องจากภาพยนตร์เป็นสื่อสำคัญที่บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต

‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio

ที่น่าสนใจคือการค้นพบฟิล์มภาพยนตร์เก่าสมัยรัชกาลที่ 7 ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวกรมรถไฟหลวงในอดีต เป็นแรงผลักดันสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การก่อตั้งหอภาพยนตร์ได้สำเร็จใน พ.ศ. 2527  เมื่อเริ่มแรกก็เป็นหน่วยงานที่เล็กที่สุด มีฐานะเท่ากับ ‘งาน’ สังกัดกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในขณะนั้น ซึ่งอยู่ภายใต้กรมศิลปากรอีกที ต่อมาเมื่อมีโมเดลองค์การมหาชนเกิดขึ้น ก็ได้มีการยื่นขอปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้ดำเนินงานได้คล่องตัวขึ้นและขยายไปสู่ผู้ใช้ในวงกว้างได้มากขึ้น จึงได้เกิดเป็นหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้สำเร็จในปี 2552

เมื่อได้ฟังก์ชันการเก็บและอนุรักษ์ให้คงสภาพที่ดีแล้ว งานที่สำคัญและต้องใช้แรงขับเคลื่อนบวกความใจรักไม่แพ้กันเลยก็คืองานเผยแพร่ที่คุณวินัยดูแลอยู่นั่นเอง

“คำขวัญของเราคือภาพยนตร์ให้เกิดปัญญา เพราะฉะนั้น เราต้องนำภาพยนตร์ออกมาเผยแพร่ให้คนได้ใช้มัน แล้วก็ทำภาพยนตร์ให้เป็นสื่อการเรียนรู้ เป็นสื่อที่ทำให้เกิดการขบคิด ต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น (คนที่เข้ามาใช้บริการ) จะมีทุกช่วงวัยเลย” คุณวินัยกล่าว

‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio ‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio

ช่องทางเผยแพร่อย่างแรกสุดเลยก็คือการจัดโปรแกรมฉายหนังที่หอภาพยนตร์ โดยวันอังคารถึงศุกร์ช่วง 5 โมงครึ่งจะจัดฉายหนังเพื่อให้คนทำงานสามารถมาดูหลังเลิกงานได้ สำหรับในช่วงกลางวันก็จะเปิดให้จองเวลาเข้ามาเป็นหมู่คณะ ซึ่งรองรับกลุ่มผู้ชมที่หลากหลาย เช่น ชมรมผู้สูงอายุ และโรงเรียนต่างๆ โดยทางหอภาพยนตร์มีโครงการ ‘โรงหนังโรงเรียน’  ที่สนับสนุนให้คุณครูมาใช้โรงหนังเป็นห้องเรียน โรงเรียน ในเขตจังหวัดนครปฐมและชานเมืองกรุงเทพฯ ในย่านฝั่งธนบุรีก็จะได้รับข้อมูลตรงนี้ แล้วก็พาเด็กมาดูหนังที่หอภาพยนตร์อยู่ไม่ขาดสาย

ส่วนหนังที่เลือกมาฉายก็จะจัดโปรแกรมให้เหมาะกับระดับช่วงวัย เช่น ป.1 – 3, ป.4 – 6 ตามการเรียนการสอนในโรงเรียน พอดูหนังเสร็จก็จะมีวิทยากรของหอภาพยนตร์มาพูดคุยกับเด็กๆ เพื่อเน้นสิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนัง ซึ่งคุณวินัยกล่าวว่าสิ่งที่ได้จากประสบการณ์การดูหนัง ไม่ใช่เพียงแค่เรื่ององค์ความรู้จากเนื้อเรื่องของหนัง แต่ยังกินความไปถึงการเรียนรู้ทางสังคมด้วย

‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio ‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio

“หนังมันเป็นสิ่งที่ต้องดูในโรงหนัง และเป็นวัฒนธรรมทางสังคม เราต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันจากการเข้ามาดูหนังด้วย เพราะฉะนั้น เด็กก็จะได้เรียนรู้ว่าเมื่อคุณเข้ามาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ที่ทุกคนใช้ร่วมกัน คุณต้องทำตัวยังไง เด็กบางคนยังไม่เคยได้เข้าโรงหนังมาก่อนก็ได้มาเข้าที่เราเป็นที่แรก

“ซื้อตั๋วเสร็จ คุณเข้าโรงหนัง คุณต้องมีสมาธิกับมัน บางทีการที่คุณพูดคุยกันก็จะไปรบกวนคนข้างๆ ได้ นี่คือวิถีชีวิตที่เขาจะต้องไปเจอข้างนอกต่อไป นี่คือเป็นการปลูกฝังอย่างหนึ่ง”

‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio ‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio

นอกจากนี้ ในวันเสาร์-อาทิตย์ ยังมีโปรแกรมฉายหนังที่เน้นกลุ่มผู้ชมครอบครัว โดยโปรแกรมทั้งหมดจะวางไว้ 2 เดือน สามารถเข้าไปดูตารางได้ที่เว็บไซต์หรือวารสารหอภาพยนตร์ เรียกได้ว่าแค่งานส่วนนี้ก็จัดเต็มแทบทุกวันแล้ว

หากมาถึงถิ่นแล้ว ที่นี่ไม่ได้มีแค่ฉายหนังพร้อมวิทยากรให้ความรู้เท่านั้น แต่ในบริเวณหอภาพยนตร์เองก็มีพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการเพื่อให้ความรู้ในรูปแบบที่ย่อยง่าย เช่น เมืองมายา ที่เป็นฉากและอาคารต่างๆ คล้ายฉากภาพยนตร์ใน Universal Studio ที่อเมริกา ซึ่งจะบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก

‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio

มีกระทั่งการจำลองเครื่องฉายหนังในศตวรรษที่ 19 ได้แก่ เครื่อง Kinetoscope ที่ประดิษฐ์โดยโทมัส เอดิสัน ซึ่งทำงานด้วยกลไกแบบตู้ถ้ำมอง โดยให้มองผ่านช่องส่องเล็กๆ ลงไปในตู้ และเครื่องฉายขึ้นจอแบบกลไกหมุนมือที่คิดค้นโดยพี่น้องตระกูลลูมิแอร์

ส่วนในอาคารพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยก็จะเก็บสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ ที่เล่าบริบทความเป็นมาของภาพยนตร์ไทยตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนปัจจุบัน อาทิ ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันที่โฆษณา ‘การละเล่น’ ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการใน พ.ศ 2440 ซึ่งมีคำอธิบายว่าเป็น ‘รูปที่สามารถกระดิก แลทำท่าทางต่างๆ ได้’ (ก็คือการฉายหนังนั่นแหละ) หรืออุปกรณ์ทำซับไตเติ้ลสมัยก่อนที่ใช้แผ่นบล็อกทองแดงที่กัดให้เป็นตัวอักษรตอกลงไปบนแผ่นฟิล์มแต่ละเฟรมๆ หรือที่เรียกว่า ‘ซับตอก’ เป็นต้น

‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio

การเผยแพร่อีกช่องทางหนึ่งที่คนทั่วไปน่าจะได้ยินชื่อคุ้นหูที่สุดเลยก็คือ ‘เทศกาลภาพยนตร์’ ซึ่งเป็นอีเวนต์พิเศษที่หอภาพยนตร์มักจะร่วมกับภาคีเครือข่ายและบ่อยครั้งจะจัดในเมือง อาทิ เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ที่จัดร่วมกับเกอร์เธ่และสถาบันทางวิทยาศาสตร์ เช่น สวทช. หรือเทศกาลหนังเงียบที่เพิ่งจัดไปที่โรงหนังลิโดและสกาลาเมื่อเร็วๆ นี้ “เราเป็นเทศกาลสุดท้ายของลิโดนะครับ วันสุดท้ายที่ปิดเทศกาลเรา แล้วก็ปิดลิโดด้วยเลย” คุณวินัยกล่าวด้วยน้ำเสียงอาลัย

ที่น่าตื่นเต้นก็คือ แผนการเผยแพร่ของหอภาพยนตร์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่รอบๆ ที่ตั้งองค์กรกับในกรุงเทพฯ เท่านั้น เมื่อถามถึงโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ คุณวินัยแง้มให้เราทราบถึงโครงการที่จะนำหอภาพยนตร์ ‘อย่างย่อ’ หรือเรียกว่า ภาพยนตร์สถาน ไปตั้งไว้ตามเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดด้วย เหมือนขยายสาขา และได้มีการทดลองนำร่องไอเดียนี้ที่เชียงใหม่ ซึ่งได้รับผลตอบรับจากคนในพื้นที่ดีมาก

‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio

โดยเมื่อต้นปี ทางหอภาพยนตร์ได้นำรถโรงหนังไปทดลอง (แทนการสร้างขึ้นมาจริงๆ) ไปจอดเพื่อทำหน้าที่เป็นภาพยนตร์สถาน แล้วนำเอาโปรแกรมภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์ที่ศาลายาไปฉาย มีกิจกรรมต่างๆ ทั้งเชิญวิทยากรร่วมดูหนังและเสวนา เช่น อ.แดง-กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน นักวิจารณ์หนัง หรือดูหนังกับ ม.ล.วราภา เกษมศรี ซึ่งเป็นบุคคลเบื้องหลังทางด้านภาพยนตร์ ทั้งมีการเชิญดาราคือคุณสืบเนื่อง กันภัย ซึ่งเป็นชาวเชียงใหม่ มาร่วมพูดคุยสนทนา ซึ่งเสียงตอบรับ 99% อยากให้มีสถานที่แบบนี้เกิดขึ้น

แต่สำหรับคนกรุงเทพฯ หรือในบริเวณใกล้เคียง ทางคุณวินัยก็อยากให้ลองเข้ามาใช้บริการที่หอภาพยนตร์ดู คือถ้าคิดถึงหนัง ก็อยากให้คิดถึงที่นี่

‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio

‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio ‘หอภาพยนตร์’ กับการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอย่าง Universal Studio

“คนมักจะบ่นว่าเราไกล แต่ว่าถ้ามาจริงๆ จะรู้สึกว่ามันไม่ไกล ในอนาคตหวังว่าเมื่อมีระบบขนส่งที่ดีขึ้น…ผมว่ามันน่าจะเป็นสถานที่ที่พร้อมให้บริการกับเป็นสถานที่แฮงเอาต์ พูดง่ายๆว่าคุณจะมาหาความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์หรือจะมาพักผ่อนก็ได้ จะมานั่งห้องสมุดเราทั้งวันเลยก็ได้ …สิ่งที่เราทำอยู่มาจากภาษีของประชาชน เพราะฉะนั้น เราถึงอยากให้พวกคุณมาใช้บริการ”

สุดท้ายนี้ แม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถนำโรงหนังลิโดกลับมาได้ แต่เรายังสามารถสนับสนุนองค์กรอิสระเกี่ยวกับภาพยนตร์อย่างหอภาพยนตร์ได้อยู่ เพื่อหวนสร้าง ‘มูลค่า’ และ ‘คุณค่า’ สู่วงการจอเงินอีกครั้ง และอนุรักษ์วัฒนธรรมการฉายและชมภาพยนตร์ดีๆ ในโรงภาพยนตร์ที่หลากหลาย ให้อยู่กับเมืองไทยกันต่อไป

ว่าแล้วก็โบกรถไปศาลายาโลด!

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

ที่ตั้ง 94 หมู่ 3 ถนนพุทธมณฑล สาย 5 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล นครปฐม 73170

โทรศัพท์ 02 482 2013-14, 02 482 1087-88

E-mail [email protected]

เวลาทำการ:

ห้องสมุด วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9:00-17:00 น.

พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยและเมืองมายา  วันเสาร์ – อาทิตย์ และ วันหยุดนักขัตฤกษ์ วันละ 6 รอบ เวลา 10:00 น. 11:00 น. 13:00 น. 14:00 น. 15:00 น. และ 16:00 น.

โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา    วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 17:30 น. วันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 13:00 น. 15:00 น. และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 13:00 น.

Writer & Photographer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร