ใครจะไปคิดว่าเจ้าวัตถุโลหะเล็กๆ ทรงกลมในกระเป๋าของเราจะสามารถเล่าเรื่องประวัติศาสตร์มนุษยชาติได้อย่างสนุกสนาน รวมถึงเป็นสื่อในการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมได้ด้วย ว่าแล้วจะช้าอยู่ไย ขอเชิญทุกๆ คน ขอเน้นคำนี้อีกครั้งว่า ‘ทุกๆ คน’ ไม่ว่าจะลูกเล็กเด็กแดง ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ เพราะ ‘พิพิธภัณฑ์เหรียญ’ เขามีบริการให้คุณได้เรียนรู้อย่างเท่าเทียมด้วยนะเออ

พิพิธภัณฑ์นี้อยู่ในสังกัดกรมธนารักษ์ ตั้งอยู่บนถนนจักรพงษ์ ใกล้ๆ สนามหลวง หรือวัดพระแก้วนี่เอง

พิพิธภัณฑ์เหรียญ

เดิมทีเคยเป็นสำนักงานของสำนักบริหารเงินตรา มีหน้าที่ในการจ่ายแลกเหรียญให้กับประชาชน จนมาถึงปี 2555 ทางกรมธนารักษ์มีแนวคิดต้องการเปลี่ยนอาคารนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเกี่ยวกับภารกิจหน้าที่ของกรมธนารักษ์ เลยเป็นที่มาของพิพิธภัณฑ์เหรียญ ส่วนสำนักบริหารเงินตราถูกย้ายไปอยู่บริเวณเดียวกับโรงกษาปณ์รังสิต ซึ่งทำให้กระบวนงานการผลิตและการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์สอดคล้องกันมากขึ้นด้วย เนื้อหาจัดแสดงหลักๆ ก็ตามชื่อเลย คือว่าด้วย ‘เหรียญ’ รวมทั้งก่อนที่มันจะเป็นเหรียญเนี่ย แต่เดิมมีการใช้อะไรเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกัน แล้ววิวัฒนาการใดของมนุษย์ที่เปลี่ยนสื่อกลางนั้นให้กลายมาเป็นเหรียญ

มีการจัดแสดงว่าเหรียญมีรูปแบบอย่างไรบ้าง (ไม่ใช่เฉพาะของประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลก) ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งตอนนี้เพิ่งเปิดแสดงระยะแรก มีจุดเด่นคือ ‘ห้องปฐมบทแห่งเงินตรา’ ซึ่งเล่าเรื่องยุคเริ่มต้นว่าการแลกเปลี่ยนกันในอดีตมีความเป็นมาอย่างไร มีการนำเทคโนโลยีแอนิเมชัน 4D ที่ตื่นตาตื่นใจมาฉายบนผนังถ้ำแบบ 360 องศา ผู้ชมจะได้รับอรรถรสของหนังไปพร้อมประสาทสัมผัสทั้งตาดู หูฟัง พื้นสั่นสะเทือน และร่วมถึงได้กลิ่นด้วย

พิพิธภัณฑ์เหรียญ พิพิธภัณฑ์เหรียญ

ส่วนระยะที่สองนั้นคาดว่าจะเปิดให้ชมได้ภายในปีนี้ แต่จะเล่าให้ฟังก่อนว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับตัวเหรียญ ตั้งแต่เหรียญรุ่นแรกที่ปรากฏอยู่ในเขตดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน คือเหรียญสมัยฟูนัน มีอายุเกือบ 2,000 ปี ต่อมาเป็นสมัยทวารวดี ศรีวิชัย แล้วก็มาเป็นเงินพดด้วงในสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นเงินตราที่ใช้แลกเปลี่ยนยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยใช้ต่อเนื่องมาถึงสมัยอยุธยา ธนบุรี จวบจนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 จึงเปลี่ยนมาเป็นเหรียญกลมแบนที่เราใช้กันในปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์เหรียญ พิพิธภัณฑ์เหรียญ

ย้อนให้ดูการเปลี่ยนนิยามจากเงิน (Silver) หรือการกำหนดมูลค่าเงินตามระบบน้ำหนัก โดยมีหน่วยเป็น ‘บาท’ หรือ ‘สลึง’ ซึ่งเป็นมาตราชั่งตามระบบน้ำหนักสมัยก่อน (เทียบกับปัจจุบันที่  1 บาทหนักประมาณ 15.2 กรัม) เปลี่ยนแปลงมาเป็น ‘เงินตรา’ (Money) ได้อย่างไร เป็นต้น

“บางทีเราก็ลืมไปว่าเหรียญนั้นผูกพันกับชีวิตคนเราทุกขั้นตอนตั้งแต่เกิด เรามีพิธีทำขวัญเดือน พิธีบวชนาค พิธีทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกับเหรียญทั้งนั้น เวลาเราไปไหนเราโยนเหรียญลงไปในบ่อน้ำพุบ้าง หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ บ้าง อันนี้เป็นความเชื่อไม่ใช่เฉพาะของไทยอย่างเดียว แต่เป็นนานาชาติ อย่างตอนแต่งงานเราก็ต้องใช้เหรียญในสินสอด ลองคิดดูนะครับ เวลาเขาลงท้ายด้วยเลขมงคล ลงท้ายด้วยเลข 9 จะ 999,999 เก้าบาทสุดท้ายยังไงก็ต้องใช้เหรียญ”

พิพิธภัณฑ์เหรียญ

ผู้อำนวยการส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน คุณชลทิตย์ ไชยจันทร์ เล่าให้เราฟังถึงเนื้อหาที่เราคิดไม่ถึงเกี่ยวกับเหรียญที่ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ไล่ยาวตั้งแต่ประวัติจนถึงคอลเลกชันที่กำลังจะเปิดให้เข้าชมในอนาคตอันใกล้นี้ โดยท่านบอกว่าคนที่เข้ามาส่วนใหญ่มักจะนึกไม่ถึงว่าจริงๆ แล้วเหรียญนั้นผนวกเข้ากับวิถีชีวิตของเราเสมอมา

“ถ้าเราสังเกตดู หยิบเหรียญขึ้นมาเหรียญหนึ่ง มันมีครบนะครับ ทั้งสัญลักษณ์ความเป็น ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ชาติคือตัวอักษรไทย มีตัวเลขไทย ด้านหลังก็จะเป็นวัดหรือสถานที่สำคัญทางศาสนา  เช่น วัดพระแก้ว วัดอรุณฯ และด้านหน้าก็เป็นพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ด้วย”

พิพิธภัณฑ์เหรียญ พิพิธภัณฑ์เหรียญ

แต่นอกจากเนื้อหาที่น่าสนใจแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่เราอยากชวนทุกคนมาดูที่พิพิธภัณฑ์เหรียญแห่งนี้ก็คือการให้ความสำคัญด้าน ‘การเข้าถึง’ หรือ ‘Accessibility’ ถือเป็นหนึ่งในคำสำคัญของการปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ทั่วโลก เนื่องด้วยข้อบังคับทางกฎหมายของหลายๆ ประเทศ กำหนดให้พื้นที่สาธารณะจะต้องเข้าถึงได้โดยคนทุกคนที่เสียภาษี ไม่ว่าจะอายุเท่าไร เพศอะไร มีความบกพร่องทางกายภาพแบบไหนก็ตาม บวกกับวิสัยทัศน์ใหม่ในวงการพิพิธภัณฑ์ที่ต้องการให้ทุกคนเข้ามาเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม

แนวคิดการออกแบบสภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลาย หรือ ‘อารยสถาปัตย์’ (Universal Design) จึงเอามาประยุกต์ใช้ในพิพิธภัณฑ์กันมากขึ้น สำหรับใครที่อยากจะรู้ว่าหน้าตาของ ‘อารยสถาปัตย์’ ที่ว่านี้เป็นอย่างไร? ก็ไม่ต้องไปไกลถึงเมืองนอก เพราะพิพิธภัณฑ์เหรียญ ในสังกัดของกรมธนารักษ์ นำแนวคิดนี้มาใช้ให้เราดูเป็นตัวอย่างกันแล้ว!

พิพิธภัณฑ์เหรียญ

พิพิธภัณฑ์เหรียญ

“กรมธนารักษ์ต้องการจะสร้างพิพิธภัณฑ์ให้เป็นพื้นที่ของคนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกภาษา ให้สามารถเข้ามาดูที่นี่ได้ เริ่มตั้งแต่เมื่อเข้ามาก็จะมีทางลาด มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการ เดินเข้ามาก็มีเบรลล์บล็อก คนพิการสามารถเดินได้ คนปกติก็สามารถเดินได้ มีรถเข็นไว้บริการ มีเครื่องตรวจอาวุธ ซึ่งผมก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอารยสถาปัตย์นะ เพราะเราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย” ท่านผู้อำนวยการอธิบาย “แม้กระทั่งห้องพยาบาลเราก็มีไว้บริการ มีลิฟต์สำหรับขึ้นชั้นสอง มีอักษรเบรลล์ประกอบการจัดแสดง มีโมเดลที่สามารถสัมผัสได้ทั้งคนตาดีและคนที่บกพร่องทางการมองเห็น อาจจะไม่ได้มีอยู่ทุกช่วง แต่เราจัดวางตำแหน่งไว้อย่างดี เพราะคนที่บกพร่องทางการมองเห็น อาจจะต้องใช้เวลาในการสัมผัสมากกว่าการชมของคนปกติ”

พิพิธภัณฑ์เหรียญ พิพิธภัณฑ์เหรียญ พิพิธภัณฑ์เหรียญ

แน่นอนว่าการออกแบบสภาพแวดล้อมแบบนี้ต้องได้รับการปรึกษาจากทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น (อาทิ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย) ทางทีมวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และทีมตกแต่งภายใน จะต้องมีที่ปรึกษา บริษัทที่ประมูลงานไปก็ต้องสร้างออกมาให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และที่สำคัญคือ ต้องใช้การได้จริงด้วย

นอกจากตัวอาคารแล้ว ทีมพนักงานก็เป็นอีกส่วนที่ทางพิพิธภัณฑ์ให้ความสำคัญ โดยที่นี่จะมีการนำชมเป็นรอบ ถ้าเป็นการนำชมปกติก็จะเป็นภาษาไทยและอังกฤษ หากต้องการภาษาอื่นๆที่นี่ก็มี Audio Guide ให้เลือกถึง 7 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน และภาษาฝรั่งเศส ส่วนกรุ๊ปพิเศษอื่นๆ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มผู้บกพร่องทางการมองเห็นจะมีเจ้าหน้าที่ตามประกบเป็นกลุ่มเล็ก คือ 2 ท่านต่อเจ้าหน้าที่ 1 คน ซึ่งในส่วนนี้มีการฝึกเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม อาทิ ไม่ใช้คำว่า ‘ทางนี้’ หรือ ‘ทางนั้น’ ฝึกการพาเดิน การพาให้สัมผัส หรือแม้กระทั่งฝึกภาษามือเบื้องต้น

พิพิธภัณฑ์เหรียญ

พิพิธภัณฑ์เหรียญ

นอกจากนี้ การทำแบบสำรวจสอบถามก็ถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการ ที่ทำให้ได้รับความคิดเห็นจากผู้ใช้ที่หลากหลาย และสามารถนำมาต่อยอดพัฒนาการบริการและการจัดแสดงได้อย่างตรงความต้องการเฉพาะทางต่อไป

“ถามว่ามันยุ่งยากไหม มันก็ยุ่งยากกว่าปกติ แต่สิ่งที่กรมธนารักษ์ต้องการคือ เมื่อเราทำไปแล้วคุณสามารถเข้ามาใช้ได้หมด สังเกตไหมว่าขนาดเหรียญสิบก็มีอักษรเบรลล์ด้านหลัง ทีนี้ในพิพิธภัณฑ์เราก็ต้องคำนึงถึงเรื่องพวกนี้เหมือนกัน เรายุ่งยากในครั้งแรกครั้งเดียว แต่ต่อๆ ไปมันก็จะง่ายขึ้น รองรับคนได้หลากหลายขึ้น” ท่านผู้อำนวยการกล่าว

แล้วทำไมที่อื่นถึงไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า มันเป็นปัญหาไข่กับไก่ ที่คนในวงการพิพิธภัณฑ์มองว่าคนไม่มาใช้ก็เลยไม่ทำ หรือเพราะไม่ทำคนก็เลยไม่มาใช้ หรือเป็นเพราะพิพิธภัณฑ์ส่วนมากมองแค่ตัวเลข จึงออกแบบงานบริการของตนตามผู้ที่เข้าใช้ส่วนใหญ่เป็นหลัก ดังนั้น ความต้องการของกลุ่มเฉพาะทาง (ซึ่งอาจไม่ได้มาเข้าพิพิธภัณฑ์จำนวนมากเหมือนกลุ่มอื่นๆ) จึงถูกมองว่าไม่ใช่ความสำคัญ-เราถาม

พิพิธภัณฑ์เหรียญ พิพิธภัณฑ์เหรียญ

“ผมคิดอีกแบบหนึ่ง ผมคิดถึงความเท่าเทียม บางทีเราเลือกเกิดไม่ได้ ดังนั้น ที่ไหนๆ ก็ควรมีอะไรที่มันเท่าเทียมกันสำหรับพวกเขา ไม่ใช่สร้างรองรับแค่คนทั่วไป สังเกตดูอย่างต่างประเทศเวลาทำรถเมล์เขาก็ทำชานเตี้ยๆ ให้รถเข็นขึ้นได้ ผมไม่สามารถไปบังคับให้หน่วยงานอื่นทำตามกรมธนารักษ์ได้ แต่กรมธนารักษ์มีแนวคิดว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน ดังนั้น คุณควรได้รับการบริการที่เท่าเทียมด้วยเช่นกัน ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในสังคม”
ได้ยินคำตอบแบบนี้ เราถึงกับลุกขึ้นยืนปรบมือให้ท่านรัวๆ!

“ผมอยากเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป นักเรียนนักศึกษา หรือแม้แต่นักพิพิธภัณฑ์เอง มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นี้ อยากให้มาลองดูว่าพิพิธภัณฑ์เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่แค่ห้องเก็บของ พิพิธภัณฑ์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้จริงๆ มันเป็นยังไง พิพิธภัณฑ์ที่นอกจากดูแล้วได้ความรู้แล้วเราไม่เบื่อ มีความสนุกสนาน มันเป็นยังไง”

พิพิธภัณฑ์เหรียญ

บอกเลยว่าใครที่อยากศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เงินตรา รวมทั้งวิธีการใช้ ‘อารยสถาปัตย์’ ในงานพิพิธภัณฑ์ ต้องไม่พลาดพิพิธภัณฑ์เหรียญแห่งนี้ และถ้าใครอยากจะรอไปชมตอนพิพิธภัณฑ์เปิดอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้ก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าไปช่วงนี้ เขาเปิดให้เข้าชมฟรี ไม่เสียเงินค่าเข้านะจ๊ะ ได้ทั้งดูเหรียญ แถมเหรียญในกระเป๋าก็เก็บไปหยอดตู้กด กินน้ำอัดลมได้อีกคนละกระป๋องด้วย!

พิพิธภัณฑ์เหรียญ

เปิดทำการ วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.00- 18.00 น. (ปิดให้บริการทุกวันจันทร์)

เข้าชมเป็นรอบ ทุกๆ 20 นาที รอบแรกเวลา 10.00 น. และรอบสุดท้ายเวลา 17.00 น.

(นอกเหนือจากส่วนนิทรรศการถาวร สามารถเดินดูห้องจัดแสดงอื่นๆ ได้ตามอัธยาศัย โดยไม่จำกัดเวลา)

ไม่เสียค่าเข้าชม

โทร 022820818

www.coinmuseum.treasury.go.th

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล