บ้านหลังนี้มีความพิเศษตั้งแต่หน้าประตู
ถ้าเรามองลอดผ่านประตูรั้วเหล็กที่มีสิงห์คาบดาบเข้าไป ใต้ป้ายชื่อ ‘บำรุงชาติสาสนายาไทย’ นั้นจะมีบานประตูไม้สีเข้มทรงสูงและแคบ ประดับด้วยกระจกสี สลับกับบานไม้สลักลายรูปเฉลวและหม้อยา สัญลักษณ์ของการปรุงยาแผนไทยโบราณ ซึ่งดูแปลกตาเหลือเกินเมื่อมาอยู่กับสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล อีกทั้งยังถูกขนาบข้างด้วยเหล่าขวดแก้ว ที่ด้วยทรงแล้วดูเหมือนขวดยาอังกฤษสมัยก่อน แต่ถ้าเข้าไปอ่านใกล้ๆ ก็จะเห็นเป็นชื่อยาตำรับไทยอย่างเด่นชัด ‘ยากำลังราชสีห์น้ำ’ ‘ยาอินทรจักรน้ำ’ ‘ยาหอมอุดมนพรักน้ำ’ ‘ยามหากำลัง’ ‘ยาขับเลือดน้ำคาวปลา’ ฯลฯ ซึ่งพอที่จะสร้างความพิศวงให้ผู้คนที่ผ่านไปมา (รวมทั้งเราด้วย) รู้สึกสงสัยใคร่รู้ว่าบ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในตรอกทางสามแพร่งของถนนบำรุงเมืองนี้ มีความเป็นมาอย่างไร? มีใครเป็นเจ้าของ? และที่สำคัญ มันยังดำรงอยู่ในวันนี้ได้อย่างไร?




“บ้านหมอหวาน หรือชื่อเต็มคือ บำรุงชาติสาสนายาไทย เป็นบ้านซึ่งมีอายุเก้าสิบกว่าปีแล้ว สร้างในปลายสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นทั้งร้านขายยา เป็นทั้งสำนักงาน และเป็นทั้งบ้านพักอาศัยของครอบครัวด้วย”
คุณเอ๊ะ-ภาสินี ญาโณทัย ทายาทรุ่นที่ 4 ของบ้านหมอหวานได้เล่าให้เราฟังว่าตัวบ้านหลังนี้สร้างทั้งแต่ พ.ศ. 2467 ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้ว ก่อนหน้านั้นเพียง 1 ปี มีการตราพระราชบัญญัติการแพทย์ขึ้นเป็นฉบับแรกในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยออกมาเป็นกฎหมายเพื่อจะยกระดับมาตรฐานการแพทย์ การสาธารณสุข ของเราให้ทันสมัยเหมือนสากล


แต่ในขณะเดียวพระราชบัญญัติฉบับที่ว่าก็ส่งผลต่อหมอไทยในยุคนั้นอย่างมาก เพราะมีหมอไทยไม่น้อยที่อาจไม่ได้เรียนในโรงเรียน แต่สืบทอดกันในตระกูล หรือใช้วิธีครูพักลักจำมาจากพระสงฆ์ที่ปรุงยา บ้างอาจอ่านเขียนไม่ออกและไปสอบกับเขาไม่ได้ ก็ต้องล้มเลิกกิจการไป หลายๆ คนกลัวว่าตัวจะกลายเป็นคนผิดกฎหมาย ก็ต้องทำงานอย่างหลบๆซ่อนๆ แถมความนิยมยาฝรั่งก็เริ่มเข้ามาในพระนครเช่นกัน ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าเป็นยุคซบเซาของหมอแผนไทยก็คงไม่ผิดนัก
แต่ทว่า หมอหวาน รอดม่วง หนึ่งในหมอยาย่านพระนครในช่วงนั้น กลับมาสร้าง ‘ร้านบำรุงชาติสาสนายาไทย’ ขึ้นบนที่ดินผืนนี้ และสร้างแบบร้านขายยาฝรั่ง (Apothecary) ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเป็นการแสดงนัยบางอย่างที่สำคัญทีเดียว
“พี่เชื่อว่าหมอหวานสร้างอย่างฝรั่งเพื่อที่จะทำให้เห็นว่า แม้ว่าจะเป็นหมอไทย ปรุงยาไทย ก็ไม่ได้แปลว่าฉันคร่ำครึและไม่เอาความทันสมัยเข้ามา” คุณภาสินีเล่า “ไม่เพียงแค่รูปแบบอาคาร พอเข้ามาจะพบว่ามีอุปกรณ์ทางแพทย์หลายๆ อย่างซึ่งเป็นอุปกรณ์แบบตะวันตก เช่น หูฟัง ปรอทวัดไข้ มีบีกเกอร์ มีตะเกียงแอลกอฮอล์ สำหรับการกลั่นสกัด ฯลฯ
ทำให้เห็นว่าหมอหวานมีความพยายามอย่างมากที่จะปรับให้ยาไทยมีความทันสมัย สู้กับยาฝรั่งได้ มีแม่พิมพ์ทองเหลือง ซึ่งใช้เป็นบล็อกพิมพ์อัดเนื้อยาให้มีขนาดเท่าๆ กันในแต่ละเม็ด ให้มีมาตรฐานในการกินยาแต่ละครั้ง
ถือเป็นสัญลักษณ์ของการปรับตัวของหมอไทยในยุคนั้น”


จากตอนนั้นถึงตอนนี้ ผ่านมากว่า 90ปี การสืบกิจการจากบ้านหมอ กลายเป็นบ้านของลูกหมอ หลานหมอ และเหลนหมอ ตามลำดับ ลูกค้าคนไข้ที่เคยไปมาหาสู่เป็นประจำก็ลดน้อยลงเหลือไม่ถึง 20 ราย เมื่อมาถึงรุ่นของคุณภาสินี เธอจึงมีไอเดียที่จะขยายวงผู้ใช้ออกไป
จากผู้สูงอายุ ก็เป็นกลุ่มวัยที่ลดลงมาอย่างวัยทำงาน วัยรุ่น จนจับพลัดจับผลูมาเป็นพิพิธภัณฑ์ไปด้วย
“เจตนาแรกเราก็ไม่ได้ตั้งใจแบบนั้น เราแค่คิดว่าเราจะสื่อสารทำความเข้าใจยังไงให้คนรู้ว่า ยาไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวยาหลักของที่นี่คือยาหอม เป็นยาที่เหมาะสำหรับทุกคน มันบำรุงหัวใจ ไม่จำเป็นต้องรอให้แก่ก่อน หรือเป็นลมก่อนแล้วค่อยใช้ เราค้นดูแล้วพบงานวิจัยที่พูดถึงวัฒนธรรมการใช้ยาหอมในสังคมไทย ซึ่งก็พูดว่าการจะพัฒนายาหอมให้มันยังอยู่ได้ในยุคปัจจุบัน จะไปปรับให้มันมีความทันสมัยเหมือนยาฝรั่งก็คงไม่ใช่แนวทาง สิ่งหนึ่งที่ควรจะทำคือการชี้ให้เห็นถึงคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์หรือบริบททางวัฒนธรรม
“เราเลยหันกลับมาดูว่า อ้อ สิ่งที่เรามีอยู่มันสามารถนำเสนออะไรได้มากกว่าแค่ความเป็นยา ทั้งตัวอาคาร ตัววัตถุต่างๆ ที่อยู่ในบ้าน เป็นต้น” คุณภาสินีอธิบาย “แล้วเราก็เริ่มพบว่ามีคนที่มาบ้านเราโดยไม่ได้อยากจะซื้อยา แต่อยากจะมาเที่ยว เลยคิดว่าเราน่าจะนำเสนอกิจการที่เรากำลังทำ ควบคู่ไปกับการปรุงยา เป็นการเล่าเรื่อง”


ถ้าจะบอกว่าตำรับยาของหมอหวานถือเป็นขุมทัพย์เลอค่าของพิพิธภัณฑ์นี้ก็คงไม่ผิดเท่าไร แม้ว่าในปัจจุบัน ตำรับยามากมายที่เคยมีนั้นถูกลดทอนลงมาเหลือเพียงยาหอม 4 ตำรับเท่านั้น ซึ่งคุณภาสินีให้เหตุผลกับเราว่าไม่สามารถหาวัตถุดิบหลายๆ ชนิดได้เหมือนสมัยก่อน และการถ่ายทอดกระบวนการปรุงที่สลับซับซ้อนอาจจะขาดช่วงไปบ้าง ก็เลยเลือกปรุงเฉพาะตำรับที่มั่นใจว่าถูกต้องแน่นอน “พอมาถึงรุ่นพี่ พี่รับปากกับตัวเองว่า 4 ตำรับนี้มันต้องอยู่” เธอว่าอย่างนั้น
4 ตำรับที่ว่านี้ คือ 1. ยาหอมสุรามฤทธิ์ 2. ยาหอมอินทรโอสถ 3. ยาหอมประจักร์ และ 4. ยาหอมสว่างภพ
“พอพูดถึงยาหอมปุ๊บ แน่นอนว่าคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นยาดม ใช้ดมเพื่อให้สดชื่น แต่จริงๆ แล้วยาหอมเป็นยากิน กินเพื่อบำรุงให้หัวใจทำงานได้ดี” คุณภาสินีเล่าขณะที่สาธิตการทำยาหอมให้เราดูเป็นขวัญตา
คนสมัยก่อนนอกจากจะใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านแล้ว เวลาไปมาหาสู่กัน ถ้าเขาเจอตำรับยาหอมที่ดี เขาก็จะซื้อมาฝากกัน อยากให้เธอสดชื่น หรืออยากให้ความปรารถนาดีกับเธอ ก็ให้ยาหอมกัน ถือเป็นวัฒนธรรมการให้ยาหอมที่เคยมีในอดีตของสังคมไทย
คนสมัยก่อนเรียกว่า ‘ยาว่าง’ คือไม่ต้องเจ็บป่วย ว่างๆ ฉันก็กินยาหอม และมีประโยคว่า ‘โปรยยาหอม’ ด้วย ซึ่งเวลาใครพูดชื่นชมให้กำลังใจใครก็จะเรียกว่าเป็นการ ‘โปรยยาหอม’
ในตัวส่วนผสมยาหอมทั้งสี่ตำรับนั้นก็ต้องปรุงจากสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมตามชื่อ เช่น เกสรดอกไม้ 5 อย่างคือ เกสรมะลิ พิกุล บุนนาค สารภี และบัวหลวง หรือหญ้าฝรั่น (Saffron) เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ยาหอมตำรับหนึ่งนั้นมีสมุนไพรประกอบกันหลายสิบชนิดมาก มันอาจจะไม่เข้าข่าย ‘หอม’ ทุกตัว เช่น ชะมดเช็ด หรือไขของตัวชะมด ซึ่งเมื่อลองดมแล้วมันเป็นกลิ่นที่หาคำบรรยายได้ยากพอสมควร แต่คงไม่ใช้คำว่า ‘หอม’ แน่ๆ
ระหว่างที่คุยกัน คุณภาสินีจะค่อยๆ แนะนำสิ่งของต่างๆ ในบ้านที่เธอเคยคุ้น บางชิ้นดูธรรมดาและไม่มีป้ายอธิบายใดๆ แต่เมื่อเธอหยิบมันมาเล่ากลับสนุกกว่าที่คิด ตั้งแต่ตัวพิมพ์อักษรโบราณที่ถูกนำมาแกะเป็นฟอนต์ที่ใช้บนบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบัน ไปจนถึงส่วนผสมของยาแปลกๆ อย่างคุลิก่า เม็ดกรวดในถุงน้ำดีของค่าง หรืออำพันทอง อสุจิปลาวาฬ เป็นต้น แน่นอนว่าประสบการณ์สุดวิเศษนี้ต้องแลกมาด้วยความเหนื่อยของผู้บรรยายที่ไม่สามารถมีใครแทนได้ อีกทั้งยังต้องสละความเป็นส่วนตัวของคำว่า ‘บ้าน’ เพื่อเปิดรับและแบ่งปันกับคนข้างนอกแบบเต็มเวลาด้วย ในประเด็นนี้คุณภาสินีเล่าให้เราฟังว่า



“ตอนแรกๆ สนุกมากค่ะ ตอนที่ออกจากงานมาทำใหม่ๆ เมื่อ 9 ปีที่แล้ว อะไรที่เคยคิดว่าอยากจะทำ มันได้ทำหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นการเอาเนื้อหาที่เราสะสมไว้มาใช้ มีโอกาสไปออกบูทนิทรรศการยาหอมที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำบรรจุภัณฑ์และปั้นแบรนด์ขึ้นมา ได้สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรของกระทรวงอุตสาหกรรม ทาง กทม. ก็เข้ามาสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ฯลฯ
“แต่พอทำมาสักระยะหนึ่ง เราต้องเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น มันก็มีบางส่วนที่เรารู้สึกไม่ชอบทำแต่ก็ต้องทำ และความยากอีกอย่างคือการดีลกับใจตัวเอง คือการที่มีบ้านกับที่ทำงานเป็นที่เดียวกัน บางมุมเหมือนจะแฮปปี้ เช่นไม่ต้องออกไปรถติด แต่ช่วงแรกๆ มันก็แยกไม่ค่อยออกว่านี่ฉันกำลังนอนอยู่ในที่ทำงานใช่ไหม? นี่ฉันพักผ่อนจริงๆ หรอ?” เธอหัวเราะ
“แต่พอเริ่มบาลานซ์และปรับที่ใจได้ ก็ผ่านมาได้ และอีกความยากที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ คือการบริหารจัดการที่ตรงนี้ เพราะอย่างที่ทราบว่ามันเป็นทั้งบ้าน เป็นทั้งร้านขายยา เป็นออฟฟิศ มันก็ทำให้เราต้องวางระบบการบริหารจัดการให้ดี ทำให้มันคล่องตัวมากขึ้น ตอนแรกก็เครียดว่ามันควรจะเป็นอย่างนี้ๆ พอเราคุยกับตัวเองจนโอเค เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย เป็นธรรมชาติ แล้วก็เป็นแบบที่เราเป็น ไม่ต้องไปประดิษฐ์เยอะ…แค่ให้เขามา


“แต่ละคนที่เข้ามาจะได้อะไรกลับไปไม่เหมือนกัน ช่วงแรกๆ เราไปยึดกับความคาดหวังของคน ว่าถ้าเขามาแล้วจะผิดหวังไหม จะมีคำถามที่คนถามบ่อยมากคือ “มีแค่นี้เองหรอ?” ในขณะที่บางคนก็จะบอกว่า โอย แค่ตู้เนี่ย ให้ยืนดู คุย ก็ครึ่งวันแล้ว มันก็แล้วแต่คน”
สำหรับเราคงเป็นผู้ชมแบบหลังที่รู้สึกว่า ภายในบ้านหลังเล็กๆ นี้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตด้วยความรักและความตั้งใจจริง มันมีทั้งมนตร์ขลังของประวัติศาสตร์และการเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเรา ทำให้รู้สึกว่าน่าสนใจกว่าพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ หลายที่เสียอีก!
อันนี้ชมชอบจากใจจริง ไม่ใช่แค่ ‘โปรยยาหอม’ นะจ๊ะ