12 กุมภาพันธ์ 2018
26 K

เมื่อเราเลือกที่จะมีชีวิตในกรุงเทพฯ ความวุ่นวาย เหนื่อยล้า และรีบเร่ง จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปด้วยโดยปริยาย ยังโชคดีที่ในบริเวณสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร มีสถานที่ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น ‘โอเอซิสทางใจ’ ของคนเมืองซ่อนอยู่ ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือที่คนมักจะเรียกกันตามชื่อเล่นว่า ‘สวนโมกข์กรุงเทพ’ นั่นเอง

“เรากำหนดกันตั้งแต่เริ่มเลยนะครับว่ากลุ่มเป้าหมายเราคือคนที่ผ่านชีวิต ผ่านงานมาสักระยะหนึ่ง หรือยังไม่ผ่านแต่ตั้งคำถามกับชีวิต หรือเพราะสนใจพระพุทธศาสนา คืออยากได้อะไรบางอย่างไปใช้ในชีวิตเพื่อไม่ให้บ้า เพื่อไม่ให้เอาไม่อยู่ ผมใช้คำนี้ เพื่อไม่ให้เอาไม่อยู่ในโลกนี้ เพราะโลกนี้มันเอาไม่อยู่เยอะมาก เพราะฉะนั้น กลุ่มเป้าหมายของเรา พอเราโฟกัสกลุ่มเป้าหมายอย่างนั้นเสร็จนะครับ เราก็พัฒนานานากิจกรรมเพื่อ serve กลุ่มนี้”

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ บอกเราว่า ด้วยแนวคิดที่ไม่ยึดติดอยู่กับหลักการของสถานปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาแบบเดิมๆ ทำให้จุดยืนของสวนโมกข์กรุงเทพนั้นมีความแตกต่าง เน้นการเข้าถึงผู้คนที่ต่างจริตต่างวัย โดยใช้หลักคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุเป็นสื่อหลัก

“ตลอดชีวิต 86 ปีของคนคนหนึ่งที่…พอโตถึงวัยบวชก็บวชตามประเพณี…แต่แล้ว บวชไปบวชมา เอนจอย! ท่านก็เรียนไปเรื่อยๆ ค้นไปเรื่อยๆ ทำงานไปเรื่อยๆ ทำให้ 86 ปีของท่านได้ทำสิ่งที่เหลือเชื่อจนยูเนสโกบรรจุให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก มิหนำซ้ำ สิ่งที่ท่านคิด ท่านทำ ท่านจดไว้หมด แล้วเก็บรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ ก็นำมาสู่หน้าที่เบื้องต้นของเราคือเก็บของพวกนี้ไว้ ก็คล้ายๆ มิวเซียมนะครับ แต่เนื่องจากว่าของเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ในวิชาสากล เขาบอกว่าอย่างนี้เรียกว่าจดหมายเหตุ เรียกว่าหอจดหมายเหตุ” 

อย่างไรก็ดีคุณหมอบัญชาได้เล่าว่าทีมผู้จัดตั้งเล็งเห็นว่านี่เป็นเรื่องเฉพาะทางมาก ต้องเป็นผู้สนใจธรรมะ และสนใจในระดับที่ต้องอยากอ่านเอกสารของพระซึ่งดู ‘น่าเบื่อ’ และไม่เชื้อเชิญสำหรับคนทั่วไป จึงเป็นที่มาของชื่อเล่นที่ดูเป็นมิตรอย่าง ‘สวนโมกข์กรุงเทพ’ ที่เรารู้จักกันดี และที่นี่พยายามจะเป็นส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะ ทำให้คนรู้สึกว่าพวกเขามาใช้งานพื้นที่นี้ได้ตามอัธยาศัย 

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

“เรามีวัตถุประสงค์สามอย่าง อย่างที่หนึ่งก็คือ เก็บรักษาเอกสาร บันทึกเรื่องราว ข้อมูล ตลอดจนวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวกับท่านอาจารย์พุทธทาสให้สมบูรณ์ที่สุด อย่างที่สอง เก็บแล้วมันก็อยู่ในคลัง เราต้อง transfer ออกมาเป็นดิจิทัล แล้วทำให้ผู้คนเข้าถึงทางออนไลน์ให้ได้มากที่สุด เรียกว่าไม่หวง คือไม่ได้เก็บไว้เป็นของมีค่าห้ามใครดู แต่เก็บไว้เพื่อรักษาไม่ให้เสียหาย ในขณะเดียวกัน ปล่อยให้คนได้เห็นอย่างกว้างขวาง และเมื่อ 8 – 9 ปีที่แล้วเราก็เริ่มมีแผนกที่สาม ที่เรียกว่าฝ่ายเผยแผ่ คือทำหน้าที่เอาของดีเหล่านี้มาพัฒนาเป็นกิจกรรม คือถ้าบอกให้มาอ่าน ก็ไม่มาอ่านใช่มั้ยครับ เราเลยออกเป็นกิจกรรมหลากหลายที่เราเรียกว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ …หรือ อ.พุทธทาส ใช้คำว่าโรงมหรสพทางวิญญาณนั่นเอง”

เมื่อเห็นว่าเราสนใจเรื่องการจัดกิจกรรมเป็นพิเศษ คุณหมอจึงอธิบายเพิ่มเติมให้เราฟังว่าสวนโมกข์กรุงเทพมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อยู่สี่แนวด้วยกัน

“แนวที่หนึ่งคือ เรียนรู้เชิงทฤษฎี ก็มีกลุ่มท่องจำ กลุ่มทบทวน กลุ่มถก กลุ่มคุยกัน ในเชิงปริยัติ เช่น มีคลาสคุยกันเรื่องคู่มือมนุษย์ มนุษย์ต้องมีคู่มือ มีห้องเรียนว่าด้วยธรรมโฆษณ์อย่างจริงจังที่เน้นเรื่องในพระสูตร ในพระไตรปิฎก มีวงเสวนาว่าด้วยหนังสือเล่มไหนน่าอ่าน ไม่รู้จะเริ่มเล่มไหน เยอะจัง หรืออ่านแล้วหลับทุกที ก็มาหาเล่มที่มันถูกใจคุณก่อน…

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

ส่วนแนวที่สอง เราเรียกว่าเชิงปฏิบัติ ก็เพื่อให้ลงลึกเลย แต่หลายคนก็ไม่อยากไปลึก เรื่องลงลึกเนี่ย แน่นอน อ.พุทธทาส และพระพุทธเจ้าฝากอานาปานสติไว้ แต่หลายคนบอกว่าอานาปาฯ ยาก หลับทุกที (หัวเราะ) ไม่ก้าวหน้า สุดท้ายเราก็นิมนต์กลุ่มสายหลวงพ่อเทียนที่เน้นเคลื่อนไหว หรือภาวนาในรูปแบบเซน แนวชิลล์ๆ ตามแบบของหมู่บ้านพลัม หรือแม้กระทั่งแนวของ อ.โกเอ็นก้า ซึ่งเป็นที่นิยม เราก็เชิญมาทำ เพราะงั้นก็มีหลากหลายแนวให้คุณลอง แล้วถ้าชอบ คุณไปสิ ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่นี่ ไปที่สวนโมกข์ก็ได้ ไปหนองป่าพงก็ได้ ไปกับหลวงพ่อเทียนก็มีหลายวัด หรือไปศูนย์ของ อ.โกเอ็นก้า ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ฯลฯ

แต่ถึงหลากหลายขนาดนี้บางคนก็ยังไม่ชอบอีก เราก็มีแนวที่สาม ก็คืออิงประเพณี เรามีตักบาตร เรามีวิสาขะ มีอาสาฬหะ มีมาฆะ มีปีใหม่ เพราะบางคนบอกว่าต้องหาโอกาสหาจังหวะมา แต่ธรรมดาไม่มา

และสุดท้ายแนวที่สี่ เราทำแบบชิลล์ๆ เลย ดูหนังหาแก่นธรรม เพลงภาวนา ก็มีกิจกรรมแบบเอนเตอร์เทนกันแบบ พระบางวัดก็ เอ๊ะ สวนโมกข์พาไปดูหนัง แล้วฟังเพลง แต่สุดท้ายเราก็เกิดหนังที่มีคุณค่ามาก  มีเพลงภาวนาเกิดขึ้น”

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนโมกข์กรุงเทพ

จากกลุ่มผู้ใช้ที่ตอนแรกเป็นกลุ่มอายุ 50 – 60 ปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้ของที่นี่กว้างขึ้นมาก อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปี มากันเป็นครอบครัว เป็นหมู่คณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำงานในกรุง และนอกจากนี้ผู้ใช้ยังให้ความสนใจอย่างล้นหลามกับกิจกรรมสาย ‘ภาวนา’

“คนเมืองน่ะ กระฎุมพี ชนชั้นกลางน่ะ ชอบถกชอบเถียงใช่ไหม ชอบทฤษฎีใหม่ๆ มีคน view เยอะ แชร์เยอะ ใช่ไหม ปรากฏว่าไม่ใช่ ที่นี่ที่มาเยอะสุดเป็นงานภาวนา เราก็แปลกใจเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราจัดวงเสวนา คนมาแค่ 20 คน แต่ถ้านิมนต์พระมาแล้วมีการแสดงธรรมมีมาภาวนา 100 ขึ้น ถ้าเป็นงานประเพณีพิธีกรรม 300 – 400 จนถึง 1,000 นะ อันนั้นเพราะมันมีประเพณีพิธีกรรม แต่เราก็เอาเนื้อหาคอนเทนต์แล้วก็เอางานภาวนาเข้าไปแฝงด้วย…ขออีกสักตัวอย่างหนึ่งที่เราพบ เราจัดสวดมนต์ข้ามปี อย่าลืมว่าเราจัดก่อนที่มันจะเกิดกระแสใหญ่ในประเทศนี้นะ เราเป็นคนเริ่ม สุดท้ายเนี่ยหลายๆ ฝ่ายรู้ข่าวก็ เอ้ย เอาสิ เลยขยายใหญ่ แล้วเราก็แฮปปี้มากที่มัน viral ไปทั่วประเทศ…แต่แล้วเราตัดสินใจว่าเอาให้ลึกกว่านั้นไหม นั่งสมาธิกันมันทั้งคืนเลย ถือเนสัชชิกธุดงค์ ซึ่งยากมาก

สวนโมกข์กรุงเทพ สวนโมกข์กรุงเทพ สวนโมกข์กรุงเทพ สวนโมกข์กรุงเทพ

“พระพุทธเจ้าท่านทรงบอกไว้ว่าถ้าใครอยากปรารภความเพียร ลองฝืนสิ่งที่เคยทำ และมีข้อหนึ่งที่ว่าลองไม่เอนกายลงนอนตลอดคืน หลับก็ให้มันนั่งหลับ ยืนหลับ หรือเดินหลับ ก็ตามใจ แต่อย่าให้หลังลงไปแนบพื้น…ตอนแรกไม่ค่อยกล้า แต่สุดท้ายประกาศลอง แล้วตกลงกันนะ ผมตกลงกับท่านอาจารย์สิงห์ทอง บอกว่า อาจารย์ ไม่มีใครก็เราสองคนนะขอรับ ปรากฏว่านัดแรกอยู่กันเป็นร้อย หลังจากนั้น ทุกปีอยู่กันเป็นพัน! อยู่นั่งกันอย่างนี้ แล้วเป็นที่ตื่นเต้นมาก เนสัชชิกที่นี่ล่ะครับ ข้ามคืน เริ่มกันตั้งแต่ 5 – 6 โมงเย็น ทำวัตรเสร็จแล้วฟังธรรม นั่งสมาธิ สวดมนต์ข้ามปี ฟังธรรม จน 8 โมงเช้ากลับไป บางคนก็ไม่ต้องนอนอีกเลย บางคนก็ต้องไปงีบสักนิดก็แล้วแต่ แต่อันนี้ยืนยันว่างานเชิงลึกมีตลาด และจริงๆ แล้วชาวพุทธต้องเจอของอย่างนี้ เราทำแต่เรื่องผิวๆ ธรรมดา ก็เป็นแค่เปลือก กระพี้ ของพระพุทธศาสนา ไม่ถึงแก่น ไปไม่ถึงทรัพย์ที่อยู่ในขุม

เพราะฉะนั้น นี่ก็คือสิ่งที่เราพบว่างานเชิงภาวนาได้รับความนิยมสูง เป็นงานเชิงลึกอย่างจริงจัง ถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น อาจจะด้วยสองสามเหตุ เหตุที่หนึ่งก็คือ ใครเขาไม่ค่อยทำ เพราะที่นี่ทำ คนก็เลยเยอะ เหตุที่สองก็คือ นอกจากใครไม่ทำแล้วเนี่ย สิ่งที่ทำมันเป็นของแท้ ทำให้คนเขาได้สัมผัส แล้วพบว่านี่แหละคือหัวใจ ก็เลยมากันแล้วบอกต่อ”

งานเชิงภาวนาที่คุณหมอพูดถึงนี้ยังถูกโยงขยายไปสู่รูปแบบกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย อาทิ การจัดดอกไม้ภาวนา ฟังเพลงภาวนา วาดรูปภาวนา ปลูกผักภาวนา หรือแม้กระทั่งปั่นไอติมภาวนาสำหรับครอบครัว ซึ่งทุกกิจกรรมล้วนกลับมาที่แก่นของ ‘การสร้างเนื้อหาที่ดี โยงเข้ากับทางธรรม และเจริญสติ’ ตลอดการปฏิบัติ

“มีเด็กกลุ่มหนึ่ง นี่หนุ่มสาวทั้งหมดเลย พวกนี้มานั่งมัดไม้กวาดกัน ถามว่าทำไม เขาบอกว่า คุณหมอ การกวาดสำหรับพระเนี่ยเป็นข้อวัตร การกวาดคือการเจริญสมาธิ ขณะเดียวกันก็ปัดกวาดสิ่งที่เป็นมลทินในใจออกไปด้วย คือกวาดหญ้าไปด้วยกวาดมลทินใจไปด้วย เพราะฉะนั้น พวกเราทำไม้กวาดเพื่อส่งไปถวายพระ ขณะทำก็เป็นสมาธิ ผมนั่งดู เฮ้ย คนหนุ่มคนสาวชอบมานั่งมัดไม้กวาดแล้วก็ส่ง อันนี้ผมต้องใช้คำว่ากิจกรรมเหลือเชื่อ เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นได้ทั้งหมดด้วยซ้ำ” คุณหมอกล่าว พลางชี้ให้เราอ่านตัวหนังสือที่อยู่บนเสื้อของท่าน

สวนโมกข์กรุงเทพ สวนโมกข์กรุงเทพ สวนโมกข์กรุงเทพ

“อย่างเสื้อตัวนี้ On Duty ธรรมะคือหน้าที่ อันนี้ไม่ใช่คำพุทธทาสนะครับ คำพระพุทธเจ้า เป็นคำดี ไม่ใช่คำพระพุทธเจ้าด้วย เป็นคำโบราณของคนอินเดีย คำว่า duty กับคำว่า ‘ธรรมะ’ (ทะ-ระ) ที่แปลว่า ทรงอยู่ รากศัพท์เดียวกันทั้งละตินและอินเดียแปลว่า ทรงอยู่ คือการทำเพื่อให้อยู่ได้ ทำเพื่อให้รอด ถ้าใครไม่ทำมันไม่รอด ลองไม่ทำหน้าที่สิ ใช่มั้ยครับ เพราะฉะนั้น กิจกรรมเราก็จะงอกไม่จบ อันไหนที่เราทำแล้วแป้ก คนน้อย เราก็ค่อยลด (หัวเราะ)”

สุดท้ายเราย้อนกลับมาคุยกันเรื่องของการจัดการสิ่งที่เป็นคอลเลกชันของที่นี่ นั่นก็คือ จดหมายเหตุท่านพุทธทาส ซึ่งกำลังถูกทยอยแกะความและสร้างเป็นเอกสารดิจิทัลอยู่ในขณะนี้อย่างน่าตื่นเต้น

“ตามหลักการแบบมิวเซียม มิวเซียมก็คือต้องเอาของทั้งหมดมาทำความสะอาดอนุรักษ์ใช่มั้ยครับ ปฏิสังขรณ์ซ่อมแซม เสร็จแล้วเก็บรักษาให้ดี ทำฐานข้อมูลประกอบวัตถุแต่ละชิ้น แล้วชิ้นที่เหมาะที่ควรก็เอาไปจัดแสดงถาวร ที่อาจจะไม่เหมาะต่อการแสดงถาวรก็จัดแสดงพิเศษ

“ของเราตอนนี้ไม่ทำเฉพาะแค่เอกสาร เราเก็บวัตถุทุกอย่างที่เกี่ยวกับท่านอาจารย์ จริงๆ เราอยากจะเก็บสวนโมกข์ไชยามาใส่ไว้ด้วยทั้งสวนโมกข์เลย…ทั้งรูปภาพอีก มีวิดีโออีก มีเทปบันทึกเสียงแสดงธรรมของท่านอีก…

“ตอนนี้ก็ทยอยรับอาสาสมัครมาช่วยทำความสะอาดและทยอยซ่อมแซมแล้วทำทะเบียนที่ได้ digitize หรือ transfer มาเป็น digital format ไม่ว่าเอกสาร ไม่ว่าสิ่งของ ไม่ว่าเสียง ประมาณ 50% ออนไลน์แล้ว ส่วนที่เป็นเอกสารลายมือของ อ.พุทธทาส นั้นเรียบร้อยหมดแล้ว แต่ส่วนที่เป็นสาระสังเขปน่าจะสัก 10% โดย 2 – 3 ปีนี้เราจะเร่งทำเรื่องนี้ ทั้งสิ่งพิมพ์ รวบรวมโสตทัศนจดหมายเหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าใครสนใจอยากเป็นคนแรกที่ได้จับ ได้อ่าน ได้สรุป เพื่อให้คนอื่นได้อ่าน ก็เชิญมาเป็นอาสาสมัครกับเรา คุณจะได้สัมผัสกับของแท้ดั้งเดิม ไม่ใช่แค่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลเท่านั้น” คุณหมอกล่าว

สวนโมกข์กรุงเทพ

ในอนาคตอันใกล้นี้ สวนโมกข์กรุงเทพยังคงมีโครงการที่จะพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ ทั้งห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ อีกทั้งห้องหนังสือและสื่อธรรม ให้เป็น ‘Co ธรรมะ-working space’ หรือแหล่งชุมนุมของคนสนใจธรรม เพื่อมาพบปะแลกเปลี่ยนและทำงานธรรมกัน มีบรรยากาศที่คึกคัก รวมทั้งมีงานจดหมายเหตุออกมาบริการถึงที่ด้วย

คอลเลกชันที่ดูเผินๆ แล้วเฉพาะกลุ่มมากของที่นี่เพียงหยิบยกมาเชื่อมโยงอย่างสร้างสรรค์ ก็สามารถสร้างบรรยากาศให้เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ที่สนุกสนานและเป็นเหมือนโอเอซิสให้แก่สุขภาวะทางใจของผู้ใช้ได้อย่างมีพลัง นับเป็นอีกมิติหนึ่งของบทบาทพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ที่เราแอบหวังว่ามันจะพัฒนากระจายวงกว้างออกไปยังพิพิธภัณฑ์ต่างๆได้ไม่นานเกินรอ สาธุ

สวนโมกข์กรุงเทพ

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)
ถนนนิคมรถไฟสาย 2 เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
โทร. 02 936 2800
www.bia.or.th
เปิดทำการวันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 18.00 น.

Writer & Photographer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร