ใกล้วันปีใหม่เข้ามาแล้ว นี่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่หลายคนมองย้อนสิ่งที่ผ่านไปตลอดทั้งปี และเริ่มวางแผนทำอะไรใหม่ๆ ในปีหน้า เพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีกว่าเก่า โดยเฉพาะคนที่อยากนำเงินที่ได้มาจากการทุ่มเททำงานมาทั้งปีมาขยายดอกผลด้วยการ ‘ลงทุน’ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี วันนี้เรามีพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่จะมาช่วยเปิดมิติใหม่ ให้ได้ลองทำความรู้จักสภาพทางการเงินของตัวเอง และเรียนรู้เรื่องการลงทุนได้อย่างสนุกสนาน

INVESTORY

INVESTORY

พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน ‘INVESTORY’ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากพิพิธภัณฑ์ในความรับรู้ของคนส่วนมากอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่ในแง่ของสื่อที่ทันสมัยและรูปแบบของนิทรรศการที่มีลักษณะ interactive เป็นหลัก หากแต่ประสบการณ์ที่ผู้เข้าชมจะได้รับเป็นการเรียนรู้แบบวิถีเฉพาะตัว หรือ personalized learning ทำให้ทุกคนที่ก้าวเข้ามาได้ความรู้และประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ผู้เข้าชมจะได้รับบัตรประจำตัวที่เรียกว่า Hero card ซึ่งใช้เทคโนโลยี RFID เก็บข้อมูลของผู้เข้าชมตั้งแต่จุดลงทะเบียน ทั้งลักษณะการใช้จ่าย อายุ ฯลฯ รวมถึงข้อมูลการเรียนรู้ของแต่ละคนไปตลอดเส้นทางในนิทรรศการ สุดท้ายข้อมูลทั้งหมดก็จะถูกประมวลผล และส่งกลับไปยังอีเมลของแต่ละคนที่ลงทะเบียนไว้

“ทุกคนมีการเก็บเงินที่ไม่เหมือนกัน มีรายได้ที่ไม่เหมือนกัน รายจ่ายที่ไม่เหมือนกัน แล้วก็มีการยอมรับความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นสิ่งที่ผู้เข้าชมแต่ละคนจะได้รับจึงเป็นสิ่งที่เฉพาะตัวจริงๆ และจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาด้วย สมมติว่าเวลาผ่านไป มีรายได้เพิ่ม ก็จะได้คำตอบอีกแบบหนึ่ง” คุณภัทรา โพธิเวชกุล เจ้าหน้าที่ INVESTORY กล่าว

สื่อมัลติมีเดีย นิทรรศการ

INVESTORY จัดตั้งโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกในประเทศไทย คู่กับห้องสมุดมารวย ซึ่งเป็นห้องสมุดด้านตลาดทุนชั้นนำในระดับประเทศ ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ แห่งใหม่ เพื่อให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้เรื่องการลงทุนที่ครบวงจร

เมื่อเข้ามาที่ INVESTORY เราจะได้ตรวจสอบสุขภาพทางการเงินและประเมินความพร้อมในการลงทุนของตนเอง ตลอดจนได้ทดลองซื้อขายหลักทรัพย์จริงๆ

คุณภัทราเล่าถึงห้องสำคัญต่างๆ ใน INVESTORY ให้เราฟังว่า เริ่มตั้งแต่จุดลงทะเบียน ผู้เข้าชมจะใส่ข้อมูลส่วนตัวลงไปในบัตร RFID จากนั้นก็มาตรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเองที่ห้อง Check & Shock เพื่อประเมินว่า ตอนนี้ตนมีความพร้อมทางการเงินแค่ไหน และการออมเงินของเราตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันเกษียณ เมื่อไม่มีรายได้เข้ามาอีก จะมีเงินพอใช้ไปจนตายหรือเปล่า!

คนส่วนมากพอมาเช็กแล้วก็ช็อก เพราะโดยทั่วไปแล้ว ลำพังผลตอบแทนจากดอกเบี้ยธนาคารนั้น ยังไกลจากจำนวนเงินที่จำเป็นต้องมีหลังเกษียณอยู่หลายขุม! ทีนี้ก็ต้องมาดูว่าถ้าเราไม่สามารถเก็บเงินได้พอ จะทำยังไงกับจำนวนเงินที่เรามีอยู่ เพื่อจะเพิ่มพูนมันให้เท่ากับยอดที่เราต้องการ

นิทรรศการ

“นอกจากเงินฝากที่เราคุ้นเคยกัน ยังมีทางเลือกในการลงทุนแบบอื่นอีก อย่างเช่นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะมีหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม แล้วก็มีอนุพันธ์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่มีโอกาสเพิ่มผลตอบแทนให้เราได้มากกว่าเงินฝาก” คุณภัทรากล่าวเสริม

คนทั่วไปอาจไม่คุ้นเคยกับหลักทรัพย์ทั้งสี่ประเภท แต่พอเข้ามาใน INVESTORY ก็ถูกทำให้เข้าใจง่ายขึ้น ด้วยการแปลงให้เป็นตัวละคร SET Heroes ซึ่งฮีโร่แต่ละคนจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในหลักทรัพย์แต่ละประเภท ได้แก่ Captain S ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหุ้น (Stocks), Guardian B ผู้เชี่ยวชาญเรื่องตราสารหนี้ (Bonds), Pro M ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทุนรวม (Mutual Funds) และ Lady D ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอนุพันธ์ (Derivatives) โดยคุณภัทราแอบกระซิบว่า ตัวละครทั้งสี่นี้มีต้นแบบมาจากพนักงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ

พอทำความรู้จักกับหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ แล้ว ผู้เข้าชมก็จะถูกนำไปสู่ห้อง Asset Allocation เพื่อหาสัดส่วนการลงทุนหรือที่เรียกว่าพอร์ตจำลอง ตามผลการประเมินจากช่วงอายุและคำตอบจากแบบสอบถามว่า ตัวเองยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน เช่น หากอายุยังน้อยหรือเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้มาก สัดส่วนการลงทุนในหุ้นก็อาจจะมากกว่าหลักทรัพย์ประเภทอื่น

“แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนจะเอาเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งได้ทั้งหมด ควรจะกระจายการลงทุนหรือกระจายความเสี่ยง ดังคำพูดที่ว่า อย่าใส่ไข่ในตระกร้าใบเดียว”

สื่อมัลติมีเดีย สื่อมัลติมีเดีย

หลังจากที่ได้พอร์ตจำลองแล้วก็มาถึงห้องไฮไลต์ของที่นี่คือ ห้อง Big Battle ซึ่งผู้เข้าชมจะได้ทดลองลงทุนซื้อขายหุ้นเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน และทำให้หลายๆ คนเริ่มรู้สึกว่าการลงทุนไม่ได้ยากอย่างที่คิด

สำหรับผู้สนใจจะเปิดพอร์ตเพื่อลงทุน ก็มีพื้นที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดพอร์ตว่าต้องติดต่อกับใครยังไง รวมทั้งค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

“วัตถุประสงค์หลักของเราคือ inspire to invest คือทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการลงทุนสำหรับผู้ใหญ่ สำหรับเด็กเราก็อาจจะ apply ได้ว่ามันคือทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการออม

“คนที่มีความรู้ด้านการลงทุนอยู่แล้วอาจมองว่าง่ายเกินไป แต่ถ้าในแง่ของคนที่ไม่เคยมีความรู้เลย หรือคนที่ยังไม่ได้ลงทุน หรือมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องยาก พอเข้ามาแล้วส่วนใหญ่จะเปลี่ยนความคิด คืออันนี้ไม่ได้พูดเองนะคะ แต่มีหลายคนที่เข้ามาแล้วบอกว่า เออนะ การลงทุนมันไม่ได้ยากอย่างที่เราคิดเลย มันเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันจริงๆ”

ด้วยรูปแบบนิทรรศการของ INVESTORY ส่วนใหญ่เป็นเกมและ interactive มีการวางเนื้อเรื่องโดยใช้ตัวละคร SET Heroes มาปราบศัตรูทางการเงินที่อยู่ในรูปลักษณ์ของมอนสเตอร์ที่มีรูปร่างเป็นลูกตากลมใหญ่ หรือแม้แต่ตัวเราเองก็ต้องเป็นหนึ่งในตัวละครที่จะเข้าไปอยู่ในการเดินเรื่อง เสมือนอยู่ในโลกของการ์ตูน จุดนี้อาจจะทำให้หลายคนรู้สึกว่าที่นี่ไม่เหมาะกับผู้ใหญ่วัยทำงานหรือเปล่า ซึ่งคุณภัทราก็ได้ตอบว่า

สื่อมัลติมีเดีย

“เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทุกคนมีมือถือเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ดังนั้น ถ้าเราจะเข้าถึงเด็กรุ่นใหม่ ต้องเอาเกมหรือเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยดึงความสนใจ แต่ในส่วนของผู้ใหญ่วัยทำงานหรือคนที่ไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี ทาง INVESTORY ก็ไม่ได้ละเลย มีการนำเสนอในรูปแบบ graphic board ให้ข้อมูล หรือคลิปเล่าเรื่อง และยังมีสื่อแบบให้สัมผัสหรือ hands-on ที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจด้วย

“เรื่องเกม เลือกตัวละคร มันเป็นกิมมิก พอเข้ามาใน INVESTORY ก็เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่ง… แต่ว่าข้อมูลการเรียนรู้ที่จะเอาไปประเมินเป็นข้อมูลจริง ดังนั้น ถึงแม้จะให้ถ่ายรูป ดูเหมือนเด็ก แต่ข้อมูลในนั้นก็ไม่ได้เด็ก”

คุณภัทราเล่าต่อว่า INVESTORY มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ นักเรียนชั้น ม.3 ขึ้นไป โดยมองว่าเด็กวัยนี้เริ่มเข้าใจแล้วว่าตัวเองมีรายได้ เริ่มจะหารายได้พิเศษเป็น ในขณะที่เด็กเล็กๆ พ่อแม่จะยังให้เงินอยู่ตลอดเวลา จึงอาจจะเข้าใจเนื้อหาได้เพียงบางส่วน

นิทรรศการ นิทรรศการ

“แต่ก็มีเด็กที่มาแล้วบอกว่า เออ หนูจะต้องไปหยอดกระปุกนะ! เหมือนกับทำให้เขามีแรงบันดาลใจว่าจะต้องเก็บเงินเพื่อให้ได้อะไรในอนาคต”

ส่วนผู้ใหญ่ที่ผ่าน INVESTORY มาแล้ว หากยังไม่มั่นใจ ก็สามารถหาหนังสือเกี่ยวกับลงทุนอ่านเพิ่มเติมได้ที่ห้องสมุดมารวย หรือลงคอร์สสัมมนาฟรีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้ เรียกว่าเป็นระบบส่งเสริมการเรียนรู้ทางการเงินและการลงทุนที่ค่อนข้างตอบโจทย์ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น ผู้ที่สนใจการลงทุนแต่ยังไม่มีพื้นความรู้ หรือเป็นจุดเสริมสำหรับผู้ที่มีความรู้เบื้องต้น

ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความพิเศษในเชิงสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ที่เฉพาะตัวของแต่ละคน

“พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน มีชื่อภาษาอังกฤษแบบเต็มว่า Investment Discovery Museum เพราะที่นี่ให้คุณมาเรียนรู้เรื่องของการลงทุนและค้นพบคำตอบได้ด้วยตัวเอง คนส่วนใหญ่ที่ได้ยินคำว่า พิพิธภัณฑ์หรือมิวเซียม มักจะไม่คิดว่าที่นี่มีอะไรที่แตกต่าง แต่อยากจะเชิญชวนว่า ใน INVESTORY มีจุดที่ทำให้ผู้เข้าชมเข้าใจตัวเองมากขึ้น ได้ตระหนักถึงสภาพทางการเงินที่เป็นอยู่ แล้วก็ทำให้เราต้องย้อนกลับมาคิดว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องเริ่มต้นลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับอนาคตของเราอย่างแท้จริง”

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ใช่แค่มองย้อนไปในอดีต แต่มองไปในอนาคตของตัวเราเองด้วย

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน

ตั้งอยู่ที่อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ทางออก 3)
เปิดทำการ วันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดให้บริการวันจันทร์ วันปีใหม่ และวันสงกรานต์)
เวลา 09:30 – 19:00 น.
อัตราค่าเข้าชม บุคคลทั่วไป 100 บาท (ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ)
เข้าชมฟรี สำหรับ เด็ก นักเรียน นักศึกษา (ไม่เกินระดับปริญญาตรี) พระภิกษุ สามเณร นักบวช ผู้พิการและผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)

ติดต่อเยี่ยมชมแบบกลุ่มได้ ทาง email: [email protected]
เว็บไซต์ www.set.or.th/INVESTORY
Line@ account: @investorymuseum

Writer & Photographer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร