ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2551 นิทรรศการเปิดตัวของมิวเซียมสยาม ‘เรียงความประเทศไทย’ ได้สร้างกระแสความตื่นตาตื่นใจให้กับทั้งผู้ชมและวงการพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างมาก มีคนไม่น้อยถือว่านิทรรศการนั้นเป็นหมุดหมายของกระบวนทัศน์ใหม่ (New Museology) ในบ้านเราด้วยซ้ำ เนื่องจากเป็นนิทรรศการที่ไม่เน้นของ แต่เน้นวิธีการเล่าเรื่อง อีกทั้งให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์ของผู้ชมกับตัวนิทรรศการ และมีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาอย่างไม่เคยมีมาก่อน

มาวันนี้นิทรรศการชุดนั้นถูกแทนที่ด้วย ‘ถอดรหัสไทย’ นิทรรศการชุดใหม่ที่ใช้เวลาสร้างกว่า 18 เดือน และเป็นม้าตัวเต็งที่จะเรียกเสียงฮือฮาให้กับวงการมิวเซียมของบ้านเราอีกครั้ง

แนวคิดของนิทรรศการนี้คืออะไร นิทรรศการนี้ช่วยเรา ‘ถอดรหัส’ อัตลักษณ์ของเราอย่างไร คุณปรมินทร์ เครือทอง ที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ผู้อยู่เบื้องหลังงานภัณฑารักษ์ของนิทรรศการใหม่นี้จะมาเล่าให้เราฟังกัน

“เราตั้งโจทย์เสมอว่า อะไรก็ตามที่เข้ามาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต้องมี story จะเอาพระพุทธรูปมาวางก็ได้ แต่คุณต้องอธิบายได้มากกว่าแค่มันเป็นศิลปะยุคไหน ต้องพูดได้มากกว่านั้น”

ครุฑ

คุณปรมินทร์เล่าว่าแก่นความคิดของนิทรรศการชุดใหม่นี้ยังคงคล้ายกับชุดเก่า นั่นคือ ‘หลากหลายคือไทยแท้’ เนื้อหาของนิทรรศการพยายามสื่อสารถึงการผสมผสานของความคิด วัฒนธรรม และความรู้ ซึ่งมีอิทธิพลดั้งเดิมมาจากหลายเชื้อชาติ ทั้งฝรั่งตะวันตก จีน แขกมลายู แขกเปอร์เซีย มอญ ฯลฯ หล่อหลอมให้เราเป็นไทยในแบบทุกวันนี้

“ถ้าเรายอมรับความแตกต่าง ความหลากหลาย แล้วเราเชื่อว่าความหลากหลายคือความสวยงาม มันจะทำให้เราไปไกลกว่านี้ มิวเซียมสยามมีหน้าที่จุดประกายความคิดตรงนี้ว่า เฮ้ย เราลองมองตัวเองใหม่ซิ ว่าเราเกิดมาจากการผสมผสานอะไร มีสัดส่วนเท่าไร”

ในนิทรรศการที่แล้วเราเห็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิ อย่างเจ้าแม่โคกพนมดี ที่ค้นพบพร้อมกับหอยจากมัลดีฟส์ สะท้อนว่าที่นี่มีการค้าขายกันมา 3,000 – 4,000 ปีแล้ว ยาวมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์

“ที่นี่มีสี่สิบกว่าชาติพันธุ์อยู่ในนี้ เขมรขุดคลอง ลาวสร้างวัง ผสมจนสวยงาม แต่ถ้าเราอยู่ของเราคนเดียวไม่รับอะไรเลยเนี่ย สังคมมันจะกระด้างมาก” คุณปรมินทร์เล่า

ห้องเรียน

แม้ว่าแนวคิดในนิทรรศการใหม่นี้จะยังคงจุดประกายและตั้งคำถามเหมือนเก่า แต่การจัดแสดงถูกออกแบบให้ต่างออกไปจากเดิมพอสมควร ครั้งนี้มีห้องนิทรรศการ 14 ห้อง แต่ละห้องมีธีมเฉพาะ เช่น ‘ไทยรึเปล่า’ ที่ชวนตั้งคำถาม โดยหยิบยกกรณีตัวอย่างปรากฏการณ์ ‘ความเป็นไทย’ ที่เป็นข้อถกเถียงในสังคม อาทิ เลดี้กาก้าสวมชฎา ชุดประจำชาติมิสยูนิเวิร์ส นักแสดงหน้าฝรั่งเล่นละครไทย เป็นต้น

นิทรรศการ

‘ไทยเชื่อ’ ห้องที่รวบรวมวัตถุด้านความเชื่อของเมืองไทยกว่า 108 สิ่ง ทั้งผี พราหมณ์ พุทธ

นิทรรศการ

‘ไทยสถาบัน’ นำเสนอแก่นแนวคิดเรื่องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

exhibition

‘ไทยตั้งแต่เกิด’ โชว์พัฒนาการความเป็นไทยใน 9 ยุคสมัย

นิทรรศการ

‘ไทยอลังการ’ ภายในจำลองบรรยากาศของท้องพระโรงและพระที่นั่ง

พิพิธภัณฑ์

‘ไทยวิทยา’ จำลองบรรยากาศห้องเรียน 4 ยุคสมัย ได้แก่ ยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย ความเป็นไทยยุค 2500 ความเป็นไทยยุคโลกาภิวัตน์ และความเป็นไทยยุคพอเพียง

ห้องเรียน

อีกหนึ่งในจุดเด่นของนิทรรศการใหม่นี้คือความ ‘ถาวร แต่ ไม่ถาวร’ เนื่องจากนิทรรศการตั้งใจออกแบบให้มีความเป็นเอกเทศ ไม่มีเส้นเรื่องตายตัว สามารถปรับเปลี่ยน ดึงเนื้อหาเข้าออกได้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มิวเซียมสยามตั้งใจให้ตัวเองมีความทันสมัย และมีพื้นที่พอที่ตอบกระแสต่างๆ ได้ทันที

สิ่งที่ต่างมากจากนิทรรศการครั้งที่แล้วคือการคัดเลือกเนื้อหาให้มีความกระชับ แต่หลากหลายมากขึ้น

“เราไม่ได้ใช้บอร์ดที่มีแต่ตัวหนังสือ เต็มไปด้วยคำอธิบาย เราเรียนรู้แล้วว่าปัจจุบันคนไม่อ่านเกิน 5 บรรทัด ไม่ยืนอ่านอะไรเกิน 5 วินาที ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องไปบังคับให้เขาทำอะไรแบบนั้นที่นี่ บอร์ดข้อมูลเลยเหลือแค่นิดเดียว เป็นคอนเซปต์ของห้อง ส่วนเนื้อหาเราใช้ visual language แทนที่จะอ่านบอร์ดแล้วดูภาพประกอบ เราเริ่มจากเอาภาพประกอบมาวางให้เห็นเต็มไปหมด คุณชอบอันไหนก็ค่อยไปดูอันนั้น ทั้งหมดจะเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่ง content ในสมองของผู้ชมเอง”

นิทรรศการ

แล้วการถอดรหัสคืออะไร ผู้ชมจะสามารถถอดรหัส ‘ความเป็นไทย’ ในนิทรรศการนี้ได้ไหมอย่างไร

จากปากคำของคุณปรมินทร์ เราพบว่าความหมายของการ ‘ถอดรหัสไทย’ ในนิทรรศการนี้ ดูเหมือนเป็นการหยิบเอาสิ่งรอบๆ ตัวเรามาสืบความเป็นมาเป็นไป รวมถึงหารากเหง้าแท้จริง (ที่เราอาจคิดไม่ถึง) ของมัน

“คุณจะมา ‘คุณพระช่วย!’ ที่นี่ไม่ได้นะ เพราะทุกอย่างที่คุณเห็นที่นี่คุณเห็นหมดแล้ว แต่เรามาดูว่าเห็นมันเป็นไทยได้อย่างไร อย่างตัวนางกวัก ถ้าเราเอามันมาในแบบที่คนคุ้นเคย มันจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า touch point ซึ่งเราต้องการมาก บางครั้งเราไปพิพิธภัณฑ์ที่ไหนก็ตาม นอนหลับไปคืนหนึ่งตื่นมาแล้วจำไม่ได้ว่า ที่นั่นมีอะไรนะ อันนี้อันตรายมาก…”

มิวเซียมสยาม มิวเซียมสยาม

“ในขณะเดียวกันมันมีหน้าที่ทาง content คือ หลังปี 30 มา สิ่งที่เรียกว่าป๊อปมันเป็นการเติบโตของคนชั้นกลางที่สามารถแหวกกรอบทั้งหลายทั้งปวงของความเป็นไทย tradition อะไรก็สร้างขึ้นมาได้ ความเป็นไทยมันมีเสรีมากขึ้น มุมมองของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ เข้ามาแล้วก็บิดนั้น บิดนี้ ซึ่งกล้ามากนะ” คุณปรมินทร์กล่าว

ในแง่เนื้อหา เราได้รับคำใบ้ว่า ห้องสำคัญคือ ห้อง ‘ไทยแค่ไหน’ ถือเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า สรุปแล้วความเป็นไทยดูกันอย่างไร วัดกันอย่างไร ทำไมแบบนี้คือไทย เป็นคำตอบที่พบบ่อย

พิพิธภัณฑ์

และที่พลาดไม่ได้อีกห้องคือ ห้อง ‘ไทยแปลไทย’ หรือห้องลิ้นชัก ที่จะมีข้อมูลแน่นๆ ให้ไปศึกษาต่อได้อีก

พิพิธภัณฑ์

เมื่อถามว่านิทรรศการนี้มีวิธีทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างไร คุณปรมินทร์ให้น้ำหนักกับการเป็น discovery museum (พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้) โดยมองว่าควรมีการแทรกแซงให้น้อยที่สุด และให้ผู้ชมค้นพบเอง

แม้เราจะไม่เข้าใจในเจตนาการซ่อนเนื้อหาให้ผู้ชมต้องตีความเองผิดๆ ถูกๆ ในพิพิธภัณฑ์ แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าไม่คำนึงถึงตัวใจความหลักแล้ว กายภาพของนิทรรศการชุดนี้มีความสนุกสนานมากๆ อย่างห้อง ‘ไทยชิม’ ที่มีการใช้เทคโนโลยีฉายแอนิเมชันลงบนจานข้าว

นิทรรศการ มิวเซียมสยาม

หรือห้อง ‘ไทยประเพณี’ ที่ผู้ชมยกกล่องใส่เกมการละเล่นต่างๆ ของไทยมาเล่นกันจริงๆ ในห้องได้ รับรองว่าถูกใจเด็กๆ แน่นอน

นิทรรศการ

คุณปรมินทร์มองว่า กลุ่มผู้ชมเป้าหมายของมิวเซียมสยามอยู่ที่ตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป คือผู้ชมตั้งแต่ระดับ ม.1 ถือว่า walk in ได้โดยไม่ต้องมากับกลุ่ม และมีความรู้ความเข้าใจโดยเฉลี่ยในระดับที่ไม่ยากและไม่ง่ายเกินไป คนอายุ 40 ที่ไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์เลยก็อ่านเข้าใจเนื้อหาระดับนี้ได้

“เราเรียกร้องสูงนะ แต่เมื่อเราลุกขึ้นมาเป็น discovery museum แล้ว ผมมองว่าเราควรจะแทรกแซงให้น้อยที่สุด play and learn คือการออกแบบที่เราจะต้องชี้ชวน ดึงความสนใจ ให้คุณมาเล่น แล้วเกิดการเรียนรู้ ส่วนระยะห่างสำหรับบางคนที่ทำยังไงก็ไม่เรียนรู้สักที ผมมองว่าคือสิทธิ์ของผู้ดูว่าเขาต้องการแค่นั้น เขาอยากจะนั่งห้องนี้ทั้งวัน อยากจะอ่านทีละตัว ค่อยๆ คัดลอก หรือจะถ่ายรูป อะไรก็ตามสะดวก ถามว่าคุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง ก็แล้วแต่คุณ”

มิวเซียมสยาม

มิวเซียมสยามตั้งปณิธานว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมกว่า 30,000 คน ภายในสิ้นปี 2560 พร้อมตั้งเป้าผู้เข้าชมกว่า 5 แสนคน ภายในปี 2561 ด้วย

“สิ่งที่เราทำคือ exhibition lab ไม่ได้ยืนยันว่าจะประสบความสำเร็จ อาจจะล้มเหลวก็ได้

แต่เราก็เรียกมันว่าการเรียนรู้ เผื่อคนสายงานพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศที่เขาต้องการคำแนะนำจากเรา เราก็จะบอกได้ว่าควรจะทำแบบไหน” คุณปรมินทร์เล่า

“ทุกวันนี้เราก็พยายาม เราไม่ได้บอกว่าเราเซียน เราก็เรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องเรียนรู้กันไป

นอกจากตัวนิทรรศการแล้ว มิวเซียมสยามยังมีฝ่ายวิชาการที่จัดงานเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านงานพิพิธภัณฑ์ในไทย อย่าง Museum Academy คอร์สอบรมฟรีสำหรับนักพิพิธภัณฑ์ รวมไปถึงงานสัมมนาวิชาการ Museum Forum ที่เชิญผู้นำด้านแนวคิดและการปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์จากทั่วโลกมาให้ความรู้แลกเปลี่ยนกับผู้คนในสายงานที่บ้านเรา แสดงให้เห็นถึงต้องการที่จะขับเคลื่อนทั้งวงการไปข้างหน้า ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองไกลกว่าแค่สิ่งจัดแสดงภายในกำแพงของตัวเอง

“การขับเคลื่อนคือทุกๆ คนต้องช่วยกันเรียนรู้ ช่วยกันรักพิพิธภัณฑ์ ทำยังไงให้คนรักพิพิธภัณฑ์ นั่นคือสิ่งที่มิวเซียมสยามควรจะพาคนไทยทุกๆ คนมา พอทุกๆ คนรักมัน มาเฝ้ามองมัน หรือมาจับผิดมัน จะทำให้เราทำงานหนักขึ้น ทำให้เราระวังมากขึ้น และจริงจังกับมันมากขึ้น

“10 ปีนี้ผมว่าเราทำไปเยอะนะ เราเชื่อว่าถ้าเราไปเรื่อยๆ คนจะตามเรา แล้วเราก็จะไม่หักหลังเขา พอมาก็ได้มาเห็นอะไรที่มันกระตุกต่อมความคิด มันน่าจะได้ผล”

พิพิธภัณฑ์

มิวเซียมสยาม

เปิดให้บริการ วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น. *หมายเหตุ หยุดทุกวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ค่าเข้าชม นักเรียน นักศึกษา (อายุ 15 ปีขึ้นไป) 50 บาท / ผู้ใหญ่คนไทย 100 บาท / ผู้ใหญ่ชาวต่างชาติ 200 บาท

Writer & Photographer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร