16 พฤศจิกายน 2017
10 K

การเล่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเรื่องที่ละเอียดอ่อนในช่วงเปลี่ยนผ่านแผ่นดิน แต่มีนิทรรศการหนึ่งในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เลือกเล่าเรื่องราวดังกล่าวผ่านอิสตรีผู้เคยมีชีวิตอยู่ถึง 5 แผ่นดิน และทรงขึ้นชื่อว่าเป็น ‘กุลสตรีศรีสยาม’ แถมยังมีวิธีนำเสนอที่ไม่ไกลตัว และเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนคนทั่วๆ ไปได้อย่างดี

โดยเฉพาะเรื่อง ‘ความรัก’

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

อาคารสีเขียวอ่อนตรงสะพานผ่านฟ้า น่าจะเป็นภาพคุ้นตาของหลายๆ คนที่สัญจรไปมาในกรุงเทพฯ และแถวเกาะรัตนโกสินทร์ แต่นอกจากจะได้ชมสถาปัตยกรรมของอาคารที่สวยงามแล้ว วันนี้เรายังอยากชวนไปชมเรื่องราวดีๆ ด้านในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกันด้วย

ที่นี่มีจุดเริ่มมาจากการที่พิพิธภัณฑ์รัฐสภาได้รับพระราชทานสมบัติส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 7  จากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นจำนวนเจ็ดร้อยกว่าชิ้น ซึ่งเคยจัดแสดงอยู่ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ที่นั่น จนเมื่อเกิดสถาบันพระปกเกล้าฯ ขึ้น จึงมีการเคลื่อนย้ายและได้สถานที่จัดแสดงเป็นอาคารปัจจุบัน

แต่เดิมแรกสุดที่นี่เคยเป็นห้าง ‘ยอนเซมสัน’ ออกแบบโดย นายชาร์ล เบเกอแลง สถาปนิกชาวฝรั่งเศส-สวิส ขายสินค้านำเข้าจากประเทศอังกฤษในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 6 เมื่อเลิกกิจการไปจึงเปลี่ยนเป็น ‘ห้างสุธาดิลก’ จนกระทั่ง พ.ศ. 2476 ถูกเช่าโดยกรมโยธาเทศบาล และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ภายใต้การดูแลของสถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา

มีการจัดแสดงทั้งหมด 3 ชั้น แต่ละชั้นเต็มไปด้วยของที่น่าสนใจ ยังมีการจัดแสดงที่น่าสนใจไม่น้อย ตั้งแต่การจำลองบรรยากาศโรงหนังศาลาเฉลิมกรุง ไปจนถึงวัตถุสำคัญอย่างลายพระราชหัตถเลขา (จดหมาย) ประกาศสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 เป็นต้น

ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร

“เรามีพันธกิจหลักในการเผยแพร่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน…และในช่วงรัชกาลที่ 7 ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เปลี่ยนผ่านจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นเราต้องให้คนรุ่นใหม่ได้แง่คิดและมุมมองว่า จากประเทศสยามเปลี่ยนมาเป็นประเทศไทยของเราในปัจจุบันได้อย่างไร” คุณฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร นักวิชาการชำนาญการประจำพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่าและรับอาสาพาเราเดินชมหนึ่งไฮไลต์ของที่นี่ นั่นก็คือ ‘นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระมเหสีองค์เดียวในรัชกาลที่เจ็ด’

ก่อนเข้าไปชม คุณฉัตรบงกชเล่าว่า นิทรรศการนี้เกิดขึ้นจากทางคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งมีท่านศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน ได้อนุมัติงานวิจัยขึ้นมาเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มีลักษณะเป็นงานวิจัย ‘ประวัติศาสตร์บอกเล่า’ มีหม่อมราชวงศ์ พฤทธิสาณ ชุมพล เป็นผู้ศึกษาค้นคว้าและสังเคราะห์ข้อมูล

“ประวัติศาสตร์บอกเล่าคือการค้นคว้าที่ไม่ใช่แค่จากหนังสืออย่างเดียว แต่มาจากความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ เป็นเรื่องวงใน เป็นความรู้สึกของผู้คนต่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ว่าพระองค์เป็นอย่างไร มีการสัมภาษณ์ทั้งบรรดาเจ้านาย ไปจนถึงข้าราชบริพาร และประชาชนที่เคยเฝ้าพระองค์ด้วย เรื่องเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดผ่านคำพูด แล้วถูกนำไปเปรียบเทียบกับเอกสารยืนยันอีกต่อหนึ่ง”

งานวิจัยนี้พิมพ์เป็นเล่มหนังสือพระราชประวัติของพระองค์ชื่อ ‘กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน’ ต่อมาพิพิธภัณฑ์นำเนื้อหาในเล่มมาย่อยให้เป็นนิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวตลอดพระชนม์ชีพเกือบ 80 พรรษาของพระองค์ท่าน ว่าทรงผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้าง และพระองค์ทรงมีพระราชจริยวัตรที่งดงามอย่างไร

“เราเลือกใช้พระราชวจนะ (คำพูด) ของพระองค์ท่านเพื่อให้คนที่เข้ามาฉุกคิดและตั้งคำถามว่า ผู้หญิงคนนี้คือใคร ท่านทรงใช้ชีวิตอย่างไร ปรับพระองค์อย่างไรกับเหตุการณ์ต่างๆ และถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างไร” คุณฉัตรบงกชอธิบาย

“สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จพระราชสมภพในแผ่นดินของรัชกาลที่ 5 จากนั้นอภิเษกสมรสในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 และขึ้นเป็นพระราชินีในรัชกาลที่ 7 แม้ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองท่านก็ทรงอยู่เคียงข้างพระสวามีเสมอ…อย่างตรงทางเข้านิทรรศการจะมีคำโปรยว่า “ต้องมีศักดิ์ศรี…ต้องมีสัจจะ” ซึ่งเรานำมาจากพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน เมื่อเสด็จฯ กลับมาเมืองไทยในช่วงนั้น”

ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ

ภายในนิทรรศการแบ่งออกเป็น 6 โซน

แต่ละโซนเล่าเรื่องผ่านเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เข้าถึงได้ง่าย เริ่มจากโซนพระราชประวัติในวัยเยาว์ พูดถึงความเป็นผู้หญิงคนเดียวในหมู่พี่น้องผู้ชายทั้งหมด ค่อยๆ อธิบายให้เห็นถึงการบ่มเพาะพระอุปนิสัยที่กล้าหาญตั้งแต่เด็ก อีกทั้งการหล่อหลอมทั้งทางสภาพแวดล้อมและทางสายพระโลหิต

จนกระทั่งทรงพบ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ที่พระราชวังพญาไท จนเกิดพระราชหฤทัยรักใคร่ และมีพระราชพิธีอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน เมื่อ พ.ศ. 2461 นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำธรรมเนียมของชาวตะวันตกในการถามตอบความสมัครใจของคู่สมรสมาปรับใช้ องค์คู่อภิเษกสมรสยังทรงลงพระนามในสมุด ‘ทะเบียนแต่งงาน’ อันมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระบรมนามาภิไธยเป็นประจักษ์พยานอีกด้วย

แหวนแต่งงาน ร.7 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ

ถัดมามีการจัดแสดงฉลองพระองค์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงนิยามของผู้หญิงที่กำลังเปลี่ยนแปลงในยุค ‘โมเดิร์น’ โดยผสมผสานสิ่งที่เก่าและใหม่ ตั้งแต่ฉลองพระองค์แบบยุโรปผสมไทย เข้าชุดกับพระมาลา และทรงเครื่องประดับที่พองาม ซึ่งท่านทรงเลือกตามวาระต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเสด็จประพาสร่วมกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ท่านถือเป็นตัวแทนของภาพลักษณ์ผู้หญิงไทยในสายตาโลกสมัยนั้นได้อย่างดีเยี่ยม

“เรามีการออกพระราชบัญญัติลักษณะผัวเมีย (พ.ศ. 2473) อีกทั้งกฎหมายอื่นๆ จากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้าร่วมองค์การสันนิบาตชาติเลยนะ ก็ต้องมีการพัฒนาตัวตนของเราให้เท่าเทียมกับชาติตะวันตกด้วย”

นอกจากนี้เราจะเริ่มเห็นลูกเล่นที่น่ารักอีกอย่างในนิทรรศการ เป็นกล่องเล็กๆ ที่มีปี พ.ศ. อยู่ด้านหน้า เมื่อเปิดข้างในจะมีภาพและข้อมูลเกี่ยวกับ ‘เรื่องของผู้หญิงในสากล’ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการแต่งกายในช่วงวิคตอเรีย การลุกขึ้นมานิยมใส่กางเกงตาม Coco Chanel การบินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกของอมีเลีย แอร์ฮาร์ต การก่อตั้งสมาคมนักกอล์ฟอาชีพสตรีหรือ LPGA, ฯลฯ ให้เราได้ดูและเปรียบเทียบว่าประเทศไทยเรากำลังก้าวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกตอนนั้นอย่างไร

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

อีกหนึ่งจุดสำคัญคือฉากจำลองของพระราชวังไกลกังวลในวันที่พระองค์ทราบข่าวการปฏิวัติ ก็มีการจำลองเสียงพระองค์ท่าน มีกระแสพระราชดำรัสที่แสดงความเด็ดเดี่ยวว่าจะทรงอยู่เคียงข้างพระสวามีแม้ในวาระวิกฤต

“เมื่อฉันได้รู้เรื่องจากในหลวง ฉันก็บอกว่าไม่ไปหรอก ยังไงก็ไม่ไป ตายก็ตายอยู่แถวนี้”

ต่อจากนั้นถึงเป็นเรื่องราวชีวิตเมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ มีข้อความจากหนังสือพิมพ์อังกฤษอย่าง The Daily Telegraph และสื่อหัวอื่นๆ ด้วย ไล่มาเป็นการจัดแสดงของสะสมของพระองค์ท่านยามประทับอยู่ ณ ตำหนัก Virginia Water ประเทศอังกฤษ พร้อมภาพถ่ายเรียงราย แสดงถึงชีวิตคู่เปี่ยมรักให้เราได้แอบยิ้มตามไปด้วย

แล้วตัดด้วยอารมณ์ตรงข้ามอย่างฉับพลันด้วยโซนสีมืดทึมชื่อว่า ‘จากนิราศสู่นิรันดร์’ แสดงช่วงเวลาการสวรรคตของรัชกาลที่ 7 มีวัตถุจัดแสดงเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ในชุดเรียบง่ายสีขาวดำในกรอบเล็กๆ คู่กับพระราชดำรัสของพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ สั้นๆ ว่า “…เขาเอาไปแล้ว…” ถือเป็นความเรียบง่ายแต่ทรงพลังมากๆ เลยทีเดียว

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในโซนต่อมาเล่าถึงชีวิตของท่านหลังเสด็จนิวัตประเทศไทย แม้จะสูญเสียพระสวามี แต่พระองค์ยังคงอุทิศพระองค์ในการประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม และรักษาพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ได้อย่างสง่างาม โซนนี้มีแบบจำลองวังสวนบ้านแก้วที่จังหวัดจันทบุรี ท่านได้ทรงรวบรวมเงินเพื่อสร้างโรงพยาบาลที่นั่น และอุทิศชื่อในนามพระสวามี อีกทั้งยังมีน้ำพระทัยช่วยเหลือข้าราชบริพาร เป็นที่มาของโครงการส่วนพระองค์ต่างๆ อาทิ การสนับสนุนงานทอเสื่อของชาวบ้าน และก่อตั้ง ส.บ.ก. อุตสาหกรรมชาวบ้านและหัตถกรรมขึ้นมา เป็นต้น

ตลอดเวลาช่วงนั้น ข้าราชบริพารรอบข้างต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าท่านทรงเปี่ยมไปด้วยเมตตา ไม่เคยแสดงกิริยาที่เกรี้ยวกราด และวางตัวสมเป็นผู้ดีอย่างยิ่ง

ในจุดนี้เราจะสามารถฟังคำพูดและดูรายนามของผู้ให้สัมภาษณ์ เป็นประจักษ์พยานของความดีงามของพระองค์ได้ด้วย

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

โซนสุดท้ายคือการเล่าเรื่องการสวรรคต ตรงนี้ไม่มีเนื้อหาข้อความที่ยาวยืด มีเพียงภาพเตียงสีขาวของพระองค์จากวังศุโขทัย วางคู่กับโต๊ะหัวเตียงเรียบๆ แต่หากใครได้ลองเปิดดูจะได้พบกับขวดโคโลญจ์

มีขวดโคโลญจ์ No. 4711 ให้ลองดมกลิ่นหอมที่พระองค์ทรงโปรดบนพระวรกายของพระองค์ ทำเอาเราถึงกับน้ำตาซึม

ติดๆ กันเป็นงานพระบรมศพที่กรุงเทพฯ

ตามศักดิ์แล้วท่านถือเป็นสมเด็จอาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และในช่วงบั้นปลายชีวิตก็ได้ทรงงานรับใช้พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วย เราจะจึงได้เห็นในส่วนปิดท้ายนิทรรศการที่เล่าเรื่องงานถวายพระเพลิงของพระองค์ท่านใน พ.ศ. 2527 ซึ่งพระราชพิธีของท่านถูกจัดขึ้นอย่างใหญ่โตและสมพระเกียรติที่ท้องสนามหลวง บางคนอาจจะมองว่าเป็นการทดแทนการถวายพระเพลิงพระบรมศพที่เรียบง่ายของรัชกาลที่ 7 ซึ่งสวรรคตที่อังกฤษด้วย

“คนที่มาจะได้เรียนรู้ไม่ใช่แค่พระชีวประวัติของท่าน แต่จะได้เข้าใจความรู้สึกของท่านด้วย การที่ท่านเกิดมาในฐานันดรศักดิ์นี้ ชีวิตของท่านเป็นอย่างไร ตั้งแต่วัยเยาว์ เป็นเจ้าหญิง สู่การที่ต้องขึ้นเป็นพระราชินี กระทั่งต้องสละพระราชสมบัติ จากนั้นก็เป็นหญิงหม้ายอยู่ที่อังกฤษ จนเสด็จนำพระบรมอัฐิกลับมา และไปประทับที่วังสวนบ้านแก้วที่จันทบุรี กล่าวคือมีความผันแปรตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งคนที่มาก็น่าจะได้แนวคิดเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถ การแก้ปัญหาและการใช้ชีวิตกลับไป”

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ก่อนออกมาเราถามคุณฉัตรบงกชว่า ชอบส่วนไหนของนิทรรศการเป็นการส่วนตัวบ้าง คุณฉัตรบงกชกล่าวว่าประทับใจเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของพระองค์ แม้หลังรัชกาลที่ 7 สวรรคตแล้ว เวลาท่านเสด็จฯ ไปไหนก็จะนำพระบรมอัฐิไปด้วยเสมอ

ถือเป็นการแสดงว่าทรงรักษาคำสัตย์สัญญาที่ให้ไว้ตอนอภิเษกสมรสว่าจะดูแลรักใคร่กันตลอดไปจริงๆ

“ของที่ประทับใจมากๆ เป็นลายเมฆที่วังไกลกังวลที่รัชกาลที่ 7 ทรงสร้างให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จะมีลายเมฆรัศมี จะมีก้อนเมฆกับแสงอาทิตย์และมีลูกศรสามศรอยู่ด้วยกัน เป็นเพราะพระนามรำไพพรรณีแปลว่า แสงอาทิตย์ที่ผ่านก้อนเมฆ ส่วนพระนามของรัชกาลที่ 7 คือ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ซึ่งแปลว่า ผู้ทรงอำนาจด้วยศร ดังนั้น ตราสัญลักษณ์นี้จึงเป็นเหมือนเครื่องหมายความรักของทั้งสองพระองค์ด้วย”

สุดท้ายคุณฉัตรบงกชยังฝากเชิญชวนทุกๆ คนให้ได้มาดูนิทรรศการนี้ เพราะเชื่อว่าทุกๆ คนจะได้อะไรกลับไปไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะผู้หญิงสมัยใหม่

“ท่านทรงเป็นแบบอย่างให้เราได้เลยนะ คือกุลสตรีไม่ใช่แค่เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีคุณลักษณะ ความสามารถ มีรสนิยม และมีจิตใจเป็นคนดีด้วย…สามารถอยู่ดูแลคู่ชีวิต รู้ว่าตอนไหนควรอยู่เคียงข้าง ตอนไหนควรเป็นคู่คิดที่ปรึกษา หรือตอนไหนควรถอยออกมา” คุณฉัตรบงกชเล่า

“พี่ประทับใจมาก เคยมีคู่แต่งงานมาขอถ่ายรูปแต่งงานที่นี่ในวันแต่งงานของเขาด้วย เขาทำหนังสือเข้ามาขอเพราะว่าเขาเห็นท่านสองพระองค์เป็นแบบอย่างความรักที่ยืนยาวตลอดชีวิต”

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขอขอบพระคุณ

ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
คุณวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
คุณกาญจนา ศรีปัดถา ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
และ คุณฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร นักวิชาการชำนาญการ
ภาพ : เบญจ เขมาชีวะ และ บุณฑริก เขมาชีวะ

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

เปิดทำการตั้งแต่วันอังคาร-วันอาทิตย์
เวลา 09:00-16:00 น.
ไม่เสียค่าเข้าชม
โทร 02 280 3413-4

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร