ในช่วงเวลาแห่งการรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เราได้เห็นพิพิธภัณฑ์ทั่วทั้งแผ่นดินพร้อมใจกันจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ หรือจัดแสดงวัตถุสิ่งของ รวมไปถึงเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระองค์มากมาย แต่มีพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่มีแนวคิดการเล่าเรื่องที่แตกต่าง นำมาสู่รูปแบบที่แปลกใหม่และน่าสนใจจนเราอยากนำเสนอ นั่นก็คือ ‘พิพิธภัณฑ์ออนไลน์เฉลิมพระเกียรติเพื่อพ่อ’ จัดทำโดยกลุ่ม Infographic Thailand

คุณรัชพล ผะอบเหล็ก สมาชิกทีมฝ่าย Infographic Creative เล่าที่มาที่ไปของโปรเจกต์นี้ให้เราฟังว่า

“จากเหตุการณ์สวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีคนถ่ายทอดเรื่องของในหลวงท่านหลายแง่มุมมาก แต่แง่มุมที่เราเห็นมากที่สุดคือมุมที่ทำให้เราเศร้ามากขึ้นไปอีก เราในฐานะนักเล่าเรื่องด้วยข้อมูลคนหนึ่งเลยอยากนำเสนอในทางที่แตกต่างกันออกไป คือเล่าด้วยความสุข ความทรงจำ เลยเกิดเป็นคอนเซปต์ Moment ที่เก็บรวบรวมช่วงเวลาดีๆ ของพระองค์ท่านไว้ในที่เดียว แล้วถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังรู้สึกถึง Moment เหล่านั้นเหมือนที่เราเห็น”

หากใครไม่คุ้นชื่อ Infographic Thailand ขอให้นึกย้อนไปถึงตอนน้ำท่วมปี 2554 หลายคนคงจำวิดีโอของทีม ‘รู้ สู้ Flood’ ที่ทำออกมาให้ความรู้สำคัญและข้อควรปฏิบัติในช่วงวิกฤตนั้นได้ จากกระแสตอบรับที่ดีเยี่ยม หนึ่งในทีมงานผู้จัดทำ motion graphic ชิ้นนั้น จึงตั้งปณิธานและต่อยอดรวมพลังกับผู้ร่วมอุดมการณ์อีกจำนวนหนึ่ง มาเปิดเพจ Infographic Thailand บนเฟซบุ๊ก มีจุดประสงค์หลักเพื่อเผยเเพร่ความรู้ด้วยกลวิธีแบบ Infographic ทั้งในรูปแบบภาพนิ่งและวิดีโอ เสพง่าย อ่านสนุก ได้ข้อคิด ได้วิธีหรือความรู้ใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้อ่านมีชีวิตที่ดีขึ้นได้นั่นเอง

ปัจจุบัน เพจของพวกเขามีคนติดตามกว่า 3 แสนคน แม้ว่าการขยับขยายจากแค่สร้างเนื้อหาลงในโซเชียลเน็ตเวิร์ก มาสู่การสร้างพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ อาจฟังดูเป็นก้าวกระโดดที่ใหญ่สำหรับทีม Infographic Thailand แต่สำหรับพวกเขา คาแรกเตอร์หลักของ ‘พิพิธภัณฑ์’ คือสถานที่รวบรวมและถ่ายทอดข้อมูลความรู้ ซึ่งไม่ต่างจากสิ่งที่พวกเขาทำอยู่มากนัก อาจจะแค่มีขอบเขตที่กว้างขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีเนื้อหาที่เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นด้วย

“คนรุ่นใหม่มองพิพิธภัณฑ์หลายแบบนะ ขึ้นอยู่กับว่าในห้องนั้นนำเสนออะไร การที่ของในห้องเก่าก็ไม่ผิด ถ้ามันมีค่าและต้องรักษาเอาไว้ และการเปลี่ยนเป็นออนไลน์ที่แม้จะหน้าตาเปลี่ยนไป แต่สุดท้ายความมีค่าของสิ่งที่กำลังนำเสนออยู่ก็ยังอยู่ภายในเหมือนเดิม”

โปรเจกต์ใหม่นี้พวกเขาได้รับการสนับสนุนจาก AIS เมืองไทยประกันชีวิต และธนาคารไทยพาณิชย์ ในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 รูปแบบออนไลน์ ต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากกายภาพของห้องเก็บของเก่าที่คนอาจเคยคุ้น

พวกเขาตั้งเป้าที่จะสร้างสื่อสำหรับคนรุ่นใหม่ และมองว่า การจะสร้าง Moment ให้คนจดจำได้และมีประสิทธิผลในระยะยาว ผู้ใช้จำเป็นจะต้องมีประสบการณ์ร่วมกับมิวเซียมได้ด้วย อย่างในพิพิธภัณฑ์จริงผู้ใช้เดินได้ ดูได้ หรือบางครั้งก็จับวัตถุจริงได้ พอแปลงมาอยู่บนโลกออนไลน์ แม้ว่าข้อมูลจะเสพง่ายขึ้น ก็ยังจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับการมีประสบการณ์ร่วมของคนที่เข้ามาดูในทุกๆ ห้องของเว็บ แต่ละส่วนจึงออกแบบให้มี Interactive ที่ผู้ใช้คลิกดูและบังคับการชมได้ด้วยตัวเองทุกหน้า มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้สร้างเนื้อหาได้ (Crowdsourcing) ไปจนถึงการนำเทคโนโลยี VR 360 องศาเข้ามาผสมด้วย ทั้งหมดนี้ถือเป็นความตั้งใจของทีมที่จะผลักดันโครงการนี้ให้สมกับนิยามของ ‘Interactive Online Museum’ หรือพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ที่ให้ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์มากกว่าแค่มิวเซียมปกติทั่วไปนั่นเอง

ว่าแล้วก็อย่ารอช้า เราลองคลิกเข้าไปดู ‘พิพิธภัณฑ์ออนไลน์เพื่อพ่อ’ ด้วยกันเลยดีกว่า…

สิ่งแรกที่สะดุดตาคือโทนสีและสไตล์ของพิพิธภัณฑ์ที่อบอุ่นและเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะในห้องแรก ‘๘๙ ปีของพ่อ’ เป็นการเล่าพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ประสูติ เรื่องราวตอนทรงพระเยาว์ที่สวิตเซอร์แลนด์ วาระเสด็จขึ้นครองราชย์ การทรงงานในโครงการพระราชดำริ มาจนถึงการสวรรคตเมื่อปีที่ผ่านมา ทางทีมเลือกเล่าเรื่องด้วยเทคนิคภาพวาดร่วมสมัย ซึ่งต่างจากที่อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพจริง การใช้ภาพวาดนี้ทำให้ถ่ายทอดเนื้อหาสาระที่สมบูรณ์ ต่างจากภาพจริงที่มีข้อจำกัดทั้งการขออนุญาตและความสมบูรณ์ของภาพที่มีน้อย ทางทีมจึงตัดสินใจวาดขึ้นมาใหม่ให้เป็นทิศทางเดียวกันทั้งหมด เลื่อนเมาส์เพื่อรับชมได้อย่างต่อเนื่องลื่นไหล แต่ละภาพมีเนื้อหาประกอบไม่ยืดยาว ประหนึ่งป้ายคำอธิบายวัตถุแสดงให้อ่านเพลินๆ

อีกห้องที่น่าประทับใจคือห้อง ‘รักของพ่ออยู่รอบตัวเรา’ เป็นห้องจัดแสดงแบบ 360 องศา ไม่ว่าจะนั่งชมจากจอหรือใส่แว่น VR ก็ได้ประสบการณ์เสมือนนั่งอยู่ในห้องนั้นจริงๆ มองไปทางไหนก็จะเห็นสิ่งของประจำวันที่ล้วนมีเรื่องราวของพระองค์ซ่อนอยู่ หลายๆ เรื่องทำให้เรารู้สึกว่าพระราชกรณียกิจของพระองค์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอย่างที่คิด เช่น บนโต๊ะอาหารเราจะเห็นกล่องนม เล่าถึงการเสด็จฯ เยี่ยมชมกิจการโคนมของประเทศเดนมาร์กในปี 2503 เป็นที่มาของการเปิดฟาร์มโคนม ‘ไทย-เดนมาร์ค’ ใน พ.ศ. 2505 ทางประเทศเดนมาร์กส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมแก่เกษตรกรชาวไทยด้วย มีขวดเกลือที่เล่าถึงโครงการนำร่องเกลือไอโอดีน ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ในหลวงทรงคำนึงถึงปัญหาภาวะโภชนาการของประชาชน มีโถข้าวสวย เล่าถึงแปลงนาทดลองในพระตำหนักจิตรลดา

บนตู้หนังสือก็มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน (เริ่มจัดทำเมื่อ พ.ศ. 2512) บนโต๊ะทำงานมีแผนที่ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นสิ่งติดพระวรกายตลอดเวลา อีกทั้งแก้วกาแฟ ที่เล่าถึงการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรบนดอยอินทนนท์เมื่อ พ.ศ. 2517 และทรงสนับสนุนให้มีโครงการหลวง เข้าไปส่งเสริมการปลูกกาแฟเพื่อรักษาพื้นที่อย่างเหมาะสม และสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้ราษฎรในเวลาต่อมา ฯลฯ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าใจที่สุดของพิพิธภัณฑ์นี้สำหรับเราไม่ได้อยู่แค่ในวิธีการนำเสนอเนื้อหาที่ย่อยง่ายเท่านั้น แต่ไฮไลต์ของการเป็นพิพิธภัณฑ์ออนไลน์คือความอยู่บนพื้นที่ ‘เปิด’ อย่างแท้จริง ซึ่งตัวตึกของพิพิธภัณฑ์ทั่วไปไม่สามารถทำได้

คำว่า ‘เปิด’ ในที่นี้ไม่ใช่เพียงเวลาทำการที่เข้าไปได้ตลอด 24 ชั่วโมง ยังรวมถึงการเป็นพื้นที่ซึ่งคนสามารถโต้ตอบ แสดงความเห็น และสร้างเนื้อหาใหม่ ลงไปด้วยได้ เราเห็นกลวิธี crowdsourcing หรือการรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้ได้ในหลายส่วน เริ่มจากห้องจัดแสดงภาพของนักวาดรุ่นใหม่ จำนวน 89 ภาพตามพระชนมพรรษาของพระองค์ท่าน

และที่น่าสนใจมากๆ คือห้อง ‘พ่อในความทรงจำของฉัน’ ซึ่งเปิดในผู้ใช้งานลงทะเบียนจากเฟซบุ๊ก และสามารถเขียนความทรงจำดีๆ เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 อัพโหลดขึ้นในที่สาธารณะ ความทรงจำเหล่านี้จะถูกจัดส่งเป็นจดหมายถึงสำนักพระราชวังในอนาคต

“ปัจจุบันคนนิยมทำอะไรที่ง่ายและสะดวกมากขึ้นเลยคิดว่าการเขียนผ่านระบบออนไลน์น่าจะตอบโจทย์คนเข้าชม…ตัวพิพิธภัณฑ์เองเป็นเสมือนพื้นที่โชว์ผลงานและสิ่งมีค่า คนทั่วไปน่าจะอยากมีผลงานของตัวเองในพิพิธภัณฑ์บ้าง การจะส่งไปสำนักพระราชวังเป็นสิ่งที่ยุ่งยากในฐานะบุคคล การรวมเป็นกลุ่มน่าจะง่ายกว่า หลังจากเราเปิดมาครบ 2 – 3  ปี จะมีการรวบรวมจดหมายทั้งหมดและทำเรื่องยื่นจดหมายเข้าไปเก็บไว้ที่สำนักพระราชวัง” คุณรัชพลอธิบาย

“จุดเริ่มต้นเกิดจากเราเห็นว่า เพราะใน ณ วินาทีนั้น เป็นวินาทีที่ทุกคนอัดอั้น เเละอยากเเชร์เรื่องราวต่างๆ ของในหลวง เราจึงอยากเปิดพื้นที่นี้ขึ้นมาให้ได้ร่วมเเชร์ความทรงจำกันครับ”

ตอนนี้มีผู้เข้ามาร่วมเขียนกว่า 250 คนแล้ว แต่ละเรื่องต่างส่งเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ใช่เสียงของภัณฑารักษ์หรือนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น แต่เป็นเสียงของผู้ใช้ทุกๆ คนที่ตั้งใจจะส่งต่อความทรงจำของตัวเองอย่างเป็นปัจเจก บางเรื่องเศร้า บางเรื่องซึ้ง อย่างเรื่องที่คุณรัชพลประทับใจเป็นพิเศษเป็นเรื่องที่ผู้เขียนเคยเป็นนักวิ่งทีมชาติ ซึ่งถึงแม้เขาจะไม่เคยพบในหลวง แต่เขารับเอาคำสอนและความรู้สึกที่มีต่อในหลวงเป็นกำลังใจในการแข่งทุกครั้ง นประสบความสำเร็จ

“มันมหัศจรรย์มากที่คนคนหนึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจในการทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นต่อๆ มาได้มากมายขนาดนี้” คุณรัชพลกล่าว

ข้อดีอีกอย่างของการทำพิพิธภัณฑ์ออนไลน์คือ ทีมงานสามารถประเมินผลการใช้งานของมิวเซียมจากตัวเลขที่ชัดเจน นอกจากจำนวนการเปิดเข้าชมแล้ว ยังนับยอดการเเชร์ ดูโปรไฟล์ของผู้ที่สนใจ รวมไปถึงการพูดถึงในสื่ออื่นๆ นอกจากเฟซบุ๊ก เช่น ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม สำนักข่าวทางโทรทัศน์ และเว็บไซต์ต่างๆ ให้ความสนใจอย่างมาก และยังมีการนำพิพิธภัณฑ์ไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในหลายโรงเรียน โดยเฉพาะห้องใหม่ของพิพิธภัณฑ์ที่จะเปิดเพิ่มในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อนำเสนอภาพบรรยากาศจำลอง ริ้วขบวน และพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ผู้ชมสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ทีละจุดตั้งแต่จุดตั้งต้นจนถึงหน้าพระเมรุในรูปแบบ 360 องศา มีข้อมูลครบถ้วนและเห็นภาพชัดเจน แต่ละโซนนำไปบรรยายประกอบการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยรวมแล้ว ‘พิพิธภัณฑ์ออนไลน์เฉลิมพระเกียรติเพื่อพ่อ’ อาจมีลักษณะที่แตกต่างจากนิยามของพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติทั่วไป แต่เมื่อเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์มีความเกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ แน่นอนว่ารูปทรงของพิพิธภัณฑ์คงไม่สามารถจำกัดอยู่ในกรอบของกำแพงอาคารอีกต่อไป การใช้ crowdsourcing เพื่อสร้างเนื้อหา ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ใช้ความได้เปรียบของออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อีกแง่หนึ่งก็ทำให้เกิดคำถามเรื่องการคัดกรองเนื้อหา เช่น เรื่องใดควรเล่าในพิพิธภัณฑ์นี้ (โดยเฉพาะเนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของผู้คน) หรืออะไรควรอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์ มาตรฐานของพิพิธภัณฑ์คืออะไร คำถามเหล่านี้คงเป็นประเด็นที่นักพิพิธภัณฑ์รวมไปถึงผู้ใช้สมัยใหม่ต้องช่วยกันคิดและจับตามองกันต่อไป

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร