ในช่วงปีที่ผ่านมา หากใครมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กลางเกาะรัตนโกสินทร์ คงได้สัมผัสบรรยากาศห้องจัดแสดงซึ่งได้รับการบูรณะใหม่จนดูแปลกตา จากโถงเก่าที่แน่นไปด้วยวัตถุและป้ายอธิบายข้อมูล กลายเป็นห้องจัดแสดงที่เปิดโล่ง แสงไฟสลัวส่องลงมาเฉพาะจุด ขับโบราณวัตถุชิ้นเอกที่ถูกคัดสรรมาให้ดูโดดเด่นเป็นสง่า ผสมผสานทั้งเนื้อหาของ ‘ประวัติศาสตร์’ และ สุนทรียะของ ‘ศิลปะ’ เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ที่กำลังจะสร้างวิสัยทัศน์และมาตรฐานใหม่ให้กับวงการพิพิธภัณฑ์ไทยอย่างเงียบๆ

ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คุณรักชนก โคจรานนท์ ให้เกียรติเล่าความเป็นมาเป็นไป และพาเราเยี่ยมชม ‘งานหลังบ้าน’ ของพิพิธภัณฑ์ที่กำลังดำเนินอยู่

พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ, พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ,

โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2555 จากความตั้งใจเพื่อฟื้นคืนชีวิตให้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ซึ่งเดิมเคยเป็นพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาจนถึงรัชกาลที่ 4 มีอาณาบริเวณครอบคลุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ ไปจนถึงสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ถือเป็นโครงการบูรณะครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี ทั้งในส่วนของอาคารที่ทรุดโทรม และวิธีเล่าเรื่องผ่านโบราณวัตถุอีกด้วย

ความเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มปรากฏให้เห็นแล้วที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ทางกรมศิลป์ได้เลือกเปลี่ยนการจัดแสดงเมื่อปี 2557 ผนังต่อเติมถูกรื้อออก จากที่เคยกั้นเป็นห้องๆ กลับไปเป็นโถงโล่ง ตามแบบแผนของสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และแม้ว่าหัวข้อของนิทรรศการยังคงเป็น ‘ประวัติศาสตร์ชาติไทย’ เหมือนเดิม แต่แผ่นผนังที่เคยอัดแน่นไปด้วยเนื้อหา อีกทั้งสื่อสารสนเทศอื่นๆ ถูกเอาออกไปหมด ปล่อยโบราณวัตถุให้จัดวางบนแท่นฐานอย่างประณีต เป็นพระเอกหลักในการเล่าเรื่องแทน

โบราณวัตถุที่คัดเลือกมาจำนวน 111 ชิ้น ถือเป็นตัวแทนศิลปะในแต่ละยุคสมัยของไทย ตั้งแต่กลองมโหระทึกวัดเกษมจิตตารามที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี, ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1, ประติมากรรมสำริดพระอิศวรจากสมัยสุโขทัย, เศียรพระพุทธรูปขนาดยักษ์จากสมัยอยุธยา ยาวมาถึงศิลปวัตถุชิ้นเอกของกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย

พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ, พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ,

นอกจากนี้ ยังออกแบบไฟใหม่ทั้งหมด ทั้งหลอดแอลอีดีซึ่งต้องไม่ทำให้เกิดความร้อนในตู้จัดแสดง และไฟด้านนอกที่สร้างมาสำหรับการส่องโบราณวัตถุตรงตามมาตรฐานพิพิธภัณฑ์สากลโดยเฉพาะ ถือเป็นการสร้างมาตรฐานนำร่องให้กับการปรับปรุงพระที่นั่ง หมู่พระวิมานทุกหลัง ภายในเวลา 5 – 6 ปีข้างหน้านี้

แน่นอนว่าโครงการระดับนี้มีความยากไม่ใช่เล่น ประการแรกคือ จำนวนวัตถุในคอลเลกชันที่มีปริมาณมากนับแสนชิ้น แต่พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ไม่สามารถขยับขยายได้ ทำให้ก่อนการบูรณะแต่ละครั้งต้องทำทะเบียนโดยละเอียด เพื่อจะได้เคลื่อนย้ายวัตถุเข้าออกพื้นที่ได้ เป็นขั้นตอนที่กินเวลามาก อีกทั้งวัตถุแต่ละชนิดยังต้องมีการอนุรักษ์ที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการคุมสภาพแวดล้อมอย่างเข้มงวด ทั้งเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น และรอบระยะเวลาในการจัดแสดง วัตถุที่ละเอียดอ่อน เช่น ผ้าและหนัง ต้องหมุนเวียนเพื่อไม่ให้ออกมาสัมผัสอากาศและแสงนานจนเกินไป ดังนั้นตู้จัดแสดง กระจก แสงไฟ กระทั่งตัวอาคารเองก็มีผล ยิ่งอาคารโบราณสถานจะยิ่งมีความชื้นมาก แค่ปิดห้องไว้หลายวันต่อเนื่องก็ชื้นแล้ว

พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ, พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ,

พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ, พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ,

ประการที่สอง บริบทที่ทับซ้อนกันของพิพิธภัณฑ์ ‘แห่งชาติ’ แห่งนี้ ซึ่งมีหน้าที่ต้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ของชาติ ทั้งยังมีประวัติศาสตร์ความเป็นวังหน้าเดิมที่ผูกพันอยู่กับพื้นที่และอาคาร จะเลือกจัดแสดงประวัติศาสตร์ส่วนไหน ในบริเวณใด เป็นเรื่องที่ภัณฑารักษ์ต้องร่วมกันคิด

ประการที่สาม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีบทบาทที่ต้องดูแลเครื่องใช้สำคัญในพระราชพิธีอีกด้วย เมื่อมีกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงในเร็ววันนี้ โรงราชรถที่ปกติเป็นพื้นที่จัดแสดงต้องกลายมาเป็น live workshop ที่มีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครมานั่งบูรณะราชรถให้เห็นกันสดๆ และยังต้องนำวัตถุจัดแสดงนี้ไปประกอบพระราชพิธีอีกด้วย

สิ่งที่น่าจับตามอง เป็นไฮไลต์สำคัญของโครงการนี้ คือการบูรณะหมู่พระวิมาน ซึ่งมีลักษณะเป็นห้องเชื่อมต่อกันนับสิบห้อง ติดกับพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยซึ่งเป็นท้องพระโรงเดิม ห้องเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนการจัดแสดงใหม่ เพื่อย้อนเวลากลับไปสู่บรรยากาศการใช้งานเดิมสมัยยังเป็นวังหน้า

พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ, พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ, พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ,

เราได้รับสิทธิพิเศษให้แง้มประตูไม้กลอนหนาเข้าไปชมห้องเหล่านี้ได้เล็กน้อยก่อนจะเปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมจริง

เช่น ห้องผ้าในราชสำนักสยาม ที่จัดโชว์เครื่องนุ่งห่มของพระมหากษัตริย์และขุนนางชั้นสูงอย่างงามสง่า แต่ละชิ้นจัดวางในตู้ทรงสูง ดูเลอค่า จัดวางอย่างโปร่งๆ สามารถชมความงามของวัตถุเหล่านี้ได้อย่างเต็มตามากขึ้น ทั้งยังมีห้องโลหะเครื่องยศเจ้านาย ห้องดนตรีการแสดงการละเล่น และ ห้องศาสตราวุธ ซึ่งทั้งสี่ห้องนี้จะเป็นชุดแรกของหมู่พระวิมานที่จะบูรณะเสร็จ พร้อมเปิดให้เข้าชมได้ภายในเดือนธันวาคมปีนี้

พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ, พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ,

นอกจากนี้หลายๆ คนอาจจะไม่ทราบว่า มีอีกห้องหนึ่งที่ได้รับการปรับปรุงจนเสร็จและสามารถเปิดให้เข้าชมได้แล้ววันนี้ คือพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเคยทรงดำรงพระราชอิสริยยศเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดิน เคียงคู่รัชกาลที่ 4 อีกด้วย

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ได้รับการคืนสภาพให้เสมือนกลับไปเป็นบรรยากาศสมัยวังหน้า ช่วงที่เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ชั้นสองเป็นห้องส่วนพระองค์ ชั้นล่างเป็นส่วนของข้าราชบริพาร ตอนนี้ชั้นบนได้แปลงรูปลักษณ์กลับไปเป็นห้องพระบรรทม ห้องสมุดและห้องทรงพระอักษร ฯลฯ มีกระทั่งป้ายชื่อภาษาจีนของท่าน ‘แซ่เจิ้ง’ ประดับอยู่ด้วย มีเครื่องราชบรรณาการที่ทรงได้รับจากต่างประเทศในสมัยนั้น ของจริงที่หลงเหลือจนถึงทุกวันนี้มีเพียงรูปวาดของประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ตามธรรมเนียมสมัยนั้นที่มักมอบภาพเขียนหรือรูปปั้นของผู้นำประเทศให้ และยังมีกระจกบานใหญ่ 2 บานที่สหรัฐอเมริกานำมาถวายตอนทำสนธิสัญญา

พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ, พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โฉมใหม่, กรุงเทพ,

ในสมัยรัชกาลที่ 4 เรามีกษัตริย์ 2 พระองค์ คือพระจอมเกล้ากับพระปิ่นเกล้า… เวลาที่ต่างประเทศมา ต้องมีเครื่องราชบรรณาการให้ทั้งในวังหลวงและวังหน้า” ผอ.รักชนกอธิบาย

ชั้นล่างที่เคยเป็นที่อยู่ของข้าราชบริพารไม่ได้จัดแสดงตามการใช้งานเดิม แต่เป็นนิทรรศการเล่าเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และประวัติศาสตร์อาคารหลังนี้ รวมถึงเบื้องหลังการทำงานบูรณะที่นี่

เป็นการเลือกนำเสนอเรื่องราวที่ต่างกัน ภายในอาคารหลังเดียวที่มีสองเรื่องราวซ้อนทับกันอยู่นั่นเอง

พิพิธภัณฑ์ที่เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ความสำคัญอยู่ที่ตัววัตถุ…บางคนบอกว่า ไม่ใช่! พิพิธภัณฑ์ต้องให้ความสำคัญกับคนดู ให้ความสำคัญกับการมาเรียนรู้ แต่ถ้าเราไม่ดูแลวัตถุให้ดี…การเรียนรู้ต่อไปก็คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ จึงต้องคุมทั้งสองเรื่อง ทั้งเรื่องการอนุรักษ์และการบริการทางการศึกษาควบคู่กันไป”

วันนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เลือกเปลี่ยนตัวเอง โดยไม่ทิ้งพันธกิจความเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่เน้นการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ขณะเดียวกันก็เน้นความสวยงามและความเข้าถึงได้ของผู้ชมมากขึ้นเช่นกัน แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่นี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาข้ามคืน แต่เราก็ขอส่งใจช่วยเจ้าหน้าที่ของกรมศิลป์ และเฝ้ารอดูการเปิดตัวห้องหมู่พระวิมานเวอร์ชันใหม่ปลายปีนี้ ถึงตอนนั้นใครที่เคยคิดว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเราล้าสมัย อาจจะได้เปลี่ยนใจกันบ้างล่ะ!

ภาพ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan