หลายปีมานี้ ไทยเราหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าทศวรรษไหน ๆ หลายผู้หลากคนพยายามนำวัสดุธรรมชาติมาแปรรูปเป็นสิ่งต่าง ๆ เพื่อลดขยะและเพิ่มมูลค่าให้วัสดุที่ดูไร้ค่า หนึ่งในนั้นคือ ‘ผักตบชวา’ วัชพืชเจ้าปัญหาคู่แม่น้ำไทย ที่ในช่วงนี้กลับเป็นพืชมีค่า นำไปอัพไซเคิลให้เป็นสารพันสินค้าส่งขายได้ แต่ก่อนที่ผักตบชวาจะได้รับสปอตไลต์จากทั้งภาครัฐและประชาชนมากเป็นพิเศษจนกลายเป็นพืชเงินล้านเช่นทุกวันนี้ นุก-วิลาสินี ชูรัตน ผู้มีความรู้หลากหลายสาขา มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจการ์เมนต์กว่า 20 ปี และขบคิดการเพิ่มมูลค่าให้ผักตบชวามานานหลายสิบปี ถือเป็นคนแรก ๆ ที่หยิบผักตบชวามาแปรรูปเป็นเส้นใยเพื่อสร้างสรรค์เป็นแบรนด์สิ่งทอ Munie

‘ความยั่งยืนอยู่ตรงไหน’ 

‘อะไรที่เราจะรักและอยู่กับมันไปตลอดชีวิต’ 

‘สังคมและสิ่งแวดล้อมจะได้อะไรจากสิ่งที่เราทำ’ 

นี่คือ 3 คำถามที่เธอไตร่ตรองเมื่อแรกคิดสร้างแบรนด์ จนวันนี้ Munie ไม่ได้เป็นเพียงแบรนด์สิ่งทอจากผักตบชวาเพื่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจสังคม และหมั่นพัฒนานวัตกรรมและสินค้าอยู่เสมอ เพื่อให้ Munie เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายและเป็นชื่อเสียงให้ประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

แม้ปัจจุบัน นักธุรกิจหลายคนจะหันมาตีตลาดสิ่งแวดล้อมบ้างแล้ว แต่ Munie ก็ยังอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ล้มหายไปไหน 

เราอยากชวนทุกคนไปลงลึกถึงเบื้องหลังผืนผ้าจากใยผักตบชวาของนุก ทั้งเชิงงานฝีมือและการทำธุรกิจ เธอฝ่าฟันอะไรมาบ้าง แล้วอะไรที่เธอยึดมั่นเสมอจนทำให้ Munie เป็นที่รู้จักในหลายประเทศ

Munie แบรนด์สินค้าเส้นใยผักตบชวา จริงจังเรื่องนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมจนส่งออกอย่างยั่งยืน

จุดที่ล้ม จุดที่ลุก จุดที่อยากยั่งยืน

หากจะพูดถึง Munie ที่นุกปลุกปั้นมากับมือ เราจำเป็นต้องเข้าใจมรสุมชีวิตและการงานเมื่อหลายปีก่อนที่เธอเผชิญ จนเก็บ Pain Point เหล่านั้นมาพัฒนาเป็นแบรนด์สิ่งทอเพื่อโลกแบรนด์นี้

นุกเล่าให้ฟังว่าเมื่อ 20 ปีก่อน หลังเรียนจบจากหลากหลายสาขาวิชา ทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ เธอก็มุ่งหน้าสู่การทำธุรกิจการ์เมนต์ซึ่งกำลังมาแรงสุด ๆ เงินที่ได้มาช่วงแรกเรียกว่าเป็นกอบเป็นกำตามที่ตั้งใจไว้ แต่เมื่อนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐเริ่มเปลี่ยนไป เช่น มีการเปิดการค้าเสรีกับประเทศจีน SME ขนาดเล็กของเธอจึงไปไม่รอด แม้จะพยายามสู้ชีวิตด้วยการไปบุกตลาดต่างประเทศบ้าง แต่ชีวิตก็สู้กลับจนเธอกุมขมับและต้องปิดกิจการไป

“เราเคยเปิดหน้าร้าน 3 ร้านแต่สุดท้ายก็ต้องปิดไปทั้งหมด แล้วความยั่งยืนมันคืออะไร” เธอตั้งคำถามกับตัวเอง “ถ้าเรายังซื้อผ้าในท้องตลาดมาออกแบบแล้วตัดส่งขาย ใคร ๆ ก็ทำแบบเราได้ แล้วจุดแข็ง จุดต่างของเราคืออะไร” ณ จุดนั้นเองที่นุกเริ่มหวนคิดถึงการสร้างแบรนด์จริง ๆ จัง ๆ ขึ้นโดยหันกลับมาวิเคราะห์ว่า เธอคือใคร อะไรที่เธอจะรักและอยู่ด้วยกันตลอดชีวิต แล้วสิ่งที่เธอรักนั้นจะเข้าถึงลูกค้าได้มากแค่ไหน

“เราไม่ใช้ถุงพลาสติก เริ่มแยกขยะ และปิดน้ำและไฟเมื่อไม่ใช้มาตั้งแต่อายุ 12 – 13 ปี เพราะเราชอบอ่านข่าวมาก สิ่งที่อ่านเจอและจำได้จนถึงทุกวันนี้คือถุงพลาสติก 1 ใบใช้เวลาตั้ง 400 ปีในการย่อยสลาย มันทำให้เราสงสัยว่าแล้วโลกใบนี้จะเป็นยังไง” 

หลังตอบข้อสงสัยในตัวเองได้ ขอบเขตความเป็นเธอและแบรนด์ที่สร้างค่อย ๆ แคบลงเรื่อย ๆ จากแบรนด์เสื้อผ้าทั่วไปกลายเป็นแบรนด์ที่ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่นุกก็ทำให้แบรนด์ของเธอชัดเจนขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเข้าร่วมโครงการพัฒนาวิจัยเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการของภาครัฐ

“อาจารย์ที่ปรึกษาถามว่าเราสนใจพัฒนาเส้นใยไหนบ้าง มีทั้งมะพร้าว กล้วย กัญชง และผักตบชวา ด้วยความที่เราเคยนั่งเรือไปเรียนที่ศิริราชทุกวัน แต่ละปีก็จะเห็นว่าช่วงหนึ่งแม่น้ำเต็มไปด้วยผักตบชวา ข่าวก็นำเสนอทุกปีว่าภาครัฐโกยผักตบชวาขึ้นมาได้กี่ตัน วนไปแบบนี้จน 20 ปีก็ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ประเด็นผักตบชวาเลยอยู่ในใจตั้งแต่ตอนนั้น” 

การพัฒนาเส้นใยสิ่งทอจากวัชพืชเพื่อสร้างแบรนด์แสนยั่งยืนจึงเริ่มขึ้น ณ จุดนั้น

Munie แบรนด์สินค้าเส้นใยผักตบชวา จริงจังเรื่องนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมจนส่งออกอย่างยั่งยืน

จุดแข็งที่มีรอยร้าว

นุกเข้าสู่โครงการวิจัยเมื่อ พ.ศ.​ 2560 โดยเริ่มจากศึกษาโครงสร้างของผักตบชวาก่อนจะนำมาผลิตเป็นเส้นใยในเฟสแรก ซึ่งยังเปราะและขาดง่ายเกินไป แต่เมื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสักพักก็ได้เส้นใยผักตบชวาผสมฝ้ายสีขาวนวลพร้อมแปรรูป

“แรกเริ่มเราใช้ผักตบชวาแก่ที่ยาวหน่อยมาทำความสะอาดแล้วตากแห้ง จากนั้นก็นำมาระเบิดด้วยไอน้ำเพื่อทำเป็นเส้นใย ก่อนจะนำมาทอกับฝ้ายเพื่อเพิ่มความพริ้วและนุ่ม จนได้เป็นผ้าผืน 1 เมตรจากลำต้นผักตบชวา 500 ต้นที่มีผิวสัมผัสค่อนข้างสาก เหมือนเวลาเราลูบพื้นผิวของไม้หรือหิน ซึ่งเป็นเสน่ห์ของเส้นใยธรรมชาติที่เราตั้งใจเก็บไว้ ” เมื่อได้ผ้าสีขาวนวลมาแล้ว นุกก็นำผ้าเหล่านั้นไปตัดเย็บเป็นหมวกใบเก๋ รองเท้าสุดนุ่ม และกระเป๋าสารพัดประโยชน์

“แรกเริ่มมันเหมือนจะไปได้ดี เราได้ออกรายการสัมภาษณ์เยอะมาก แต่ทำอย่างนั้นอยู่ประมาณ 2 ปี เรากลับรู้สึกว่าตลาดของเราเล็กมากเลย เพราะไม่ว่าจะไปออกบูทที่งานไหน แม้เรื่องราวของเราจะดูน่าสนใจและน่าว้าว แต่พอเขาถามว่าสินค้าแต่ละชิ้นมีกี่สี แล้วเราบอกว่ามีแค่สีเดียว มันก็ไม่ตอบโจทย์เขาแล้ว” เธอเล่าถึงสภาวการณ์ที่คล้ายท้องฟ้าจะเริ่มสดใส แต่กลับมีเมฆเข้ามาบดบัง

“จุดแข็งของเราในตอนนั้นคือ การนำผักตบชวาที่เป็นวัชพืชไร้ค่า มาเพิ่มคุณค่าจนสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติก็จริง แต่เราไม่มีตัวเลือกให้ลูกค้า ราคาก็สูงมากจนไปต่อไม่ได้ เราจะยังเรียกว่ามันเป็นจุดแข็งได้ไหม” นุกตั้งคำถามกับตัวเองเพื่อหาทางออกให้แบรนด์

Munie แบรนด์สินค้าเส้นใยผักตบชวา จริงจังเรื่องนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมจนส่งออกอย่างยั่งยืน

จุดสำคัญคือหมั่นพัฒนา

“Pain Point สำคัญคือสินค้าของเรามีสีเดียว แล้วเราจะทำยังไงให้มีหลายสี จะย้อมด้วยสีเคมีเหรอ ก็ไม่ เพราะเกิดมลพิษแน่ ๆ แต่ถ้าย้อมด้วยสีธรรมชาติในระบบอุตสาหกรรม ต้นทุนจะสูงมากจนราคาผ้า 1 เมตรอาจจะแตะ 5,000 บาทก็ได้ ซึ่งมันไม่เมกเซนส์เลยว่าทำไมคนที่รักษ์สิ่งแวดล้อมต้องจ่ายแพงกว่า”

ทางออกสำหรับ Munie ที่นุกเลือกคือการกลับไปศึกษาโครงสร้างเส้นใยผักตบชวาอีกครั้ง เพื่อพัฒนาสูตรผสมระหว่างผักตบชวาและฝ้ายให้แข็งแรงทนทานกว่าเดิม โดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาปรับใช้ นอกจากนั้น เธอยังใช้ความรู้ด้านการตลาดที่ศึกษาอยู่เสมอมาหาตลาดที่ใช่สำหรับ Munie เรียกว่าจากเฟสแรกที่เธอมุ่งเน้นการสร้างแบรนด์เพื่อตอบโจทย์ตนเอง ในเฟสนี้นุกพยายามสร้างแบรนด์ให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น

“ตลาดเอเชียชอบผ้าสีสันสดใสและผ้าที่นุ่มลื่นซึ่งทำจากใยผักตบชวาและใยไหม ส่วนตลาดยุโรปจะชอบสีออกเอิร์ธโทนซึ่งคลาสสิกกว่า และจะชอบผ้าใยผักตบชวาผสมฝ้ายเพราะดูธรรมชาติกว่า ส่วนตัวเราโฟกัสตลาดยุโรป เพราะอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างไทยและยุโรปมันพอที่จะทำให้เราทำธุรกิจได้ โดยเราไม่บวกกำไรมากจนลูกค้าช็อก เราอยู่ได้ และชาวบ้านก็อยู่ได้ด้วย เราจึงเลือกพัฒนาโครงสร้างเส้นใยผักตบชวาผสมฝ้ายให้ดีกว่าเดิม แล้วคุมสีย้อมธรรมชาติร่วมกับชุมชนให้ตอบโจทย์ลูกค้า” 

กระบวนการต่อจากนั้นคือการนำเส้นใยผักตบชวาผสมฝ้ายที่ได้ไปย้อมสีธรรมชาติ แล้วจึงนำไปทอ ตัด และเย็บออกมาเป็นสินค้าซึ่งเป็นการย้อมแบบ Pitch Dye เพื่อให้สีที่ได้คงทนและสวยงามกว่าการย้อมแบบ Finish Dye หรือการมัดย้อมที่ต้องทอก่อนแล้วจึงย้อมสี แอบบอกว่ากว่าจะได้กระบวนการทั้งหมดนี้ นุกต้องทดลองสลับสับเปลี่ยนขั้นตอน และปรับสูตรโครงสร้างเส้นใยอยู่หลายครั้งทีเดียว

“เราลองมาหมดแล้ว Everything Jingle Bell ทั้งเอาเส้นใยเฟสแรกไปทอมือก่อน แต่ก็พบว่าคุณภาพเส้นใยลดลง แล้วก็เคยลองทำเส้นใยด้วยมือคนโดยไม่ใช้เครื่องจักร ซึ่งสวยมาก ๆ แต่มันทรมานคนแก่เกินไป ราคาก็สูงเกินกว่าตลาดจะรองรับไหว ต่อให้แบรนด์ระดับโลกผลิตสินค้าด้วยวิธีนี้ กลุ่มลูกค้าก็จะเล็กมาก ๆ อยู่ดี เราจึงต้องเลือกทางที่ทุกคนจะรับไหว” นุกเล่าถึงกระบวนการแสนโหดมันฮา ที่ย้อนกลับไปมองเท่านั้นถึงจะยิ้มให้เหตุการณ์เหล่านั้นได้

“เพื่อนเราบอกว่ามีคน 2 ประเภทเท่านั้นที่จะทำสิ่งนี้ได้ หนึ่ง คนที่รวยมาก สอง คนบ้า ซึ่งไม่รู้ว่าตัวเองบ้า แล้วคิดว่าเราเป็นแบบไหน” เธอโยนคำถามพลางหัวเราะ

Munie แบรนด์สินค้าเส้นใยผักตบชวา จริงจังเรื่องนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมจนส่งออกอย่างยั่งยืน
แบรนด์สิ่งทอจากเส้นใยจากผักตบชวาที่ล้มแล้วลุก ไม่หยุดพัฒนาเพื่อสร้างความยั่งยืนให้สังคมและโลกใบนี้

จุดที่เป็นมิตรกับโลกและสังคม

อ่านมาถึงจุดนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วความเป็นผักตบชวาเอย ความรักษ์โลกเอย และการวิจัยใด ๆ ที่เธอหมั่นพัฒนาเสมอนั้น เกี่ยวข้องกับชื่อแบรนด์ว่า Munie อย่างไร เราขอเฉลยว่ามูนี่หรือที่หลายคนมักเรียกผิดว่ามุณีนั้นเป็นความพยายามของนุกที่จะผสานคำ 5 คำเข้าด้วยกัน นั่นคือ M – Mankind (มนุษยชาติ) U – Unity (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว) N – Natural (ธรรมชาติ) I – Innovation (นวัตกรรม) และ E – Eco-friendly (เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) 

“เราเรียนวิทยาศาสตร์มา เลยอยากให้แบรนด์มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เสมอ เพราะมันเป็นแต้มต่อที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้งาน จากนั้นก็นำมาผนวกกับสิ่งที่เราเป็นนั่นคือมนุษย์ แล้วผสานกับจุดยืนที่อยากให้ธรรมชาติและมนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล สิ่งที่เราให้ความสำคัญในการทำ Munie เสมอ คือแนวทางเศรษฐกิจใหม่หรือ BCG Model​”

ขยายความให้เข้าใจง่าย ๆ BCG Model เป็นการรวมคำว่า Bioeconomy, Circular Economy และ Green Economy เข้าด้วยกัน เพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัสดุธรรมชาติ และเน้นการนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อกระจายรายได้ให้ชุมชน อีกทั้งสร้างความยั่งยืนให้สังคมและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง 

“เวลาเราเข้าไปทำงานกับชาวบ้าน เราไม่เคยกดหรือต่อค่าแรงเขาเลย มีแต่ถามว่าคิดเท่าไหร่ เพราะมันเป็นงานฝีมือที่ใช้ประสบการณ์และเวลา เรานั่งทอผ้าแล้วปวดหลัง เขาก็ปวดหลังเท่ากันกับเรา เราเป็นคน เขาก็เป็นคน เราควรให้คุณค่างานของเขาโดยไม่ต่อค่าแรงให้ต่ำ เพราะถ้าชุมชนอยู่ดีกินดี สังคมก็ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้นโดยที่เราไม่จำเป็นต้องรณรงค์เรื่องภาวะโลกรวนมากแบบตอนนี้

“อีกอย่าง เราเอาความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้งก็จริง แต่เราต้องเข้าใจจิตวิญญาณของชาวบ้านด้วย ไม่ใช่ยึดแต่ออเดอร์ของเราอย่างเดียว เช่น สีของผ้าจะขึ้นกับวัสดุธรรมชาติที่ชาวบ้านหาได้ในฤดูกาลนั้น อาจจะเป็นกาบมะพร้าว ประดู่ คราม ครั่ง ใบมะม่วง ถ้าลูกค้าอยากได้สีจากประดู่แต่ไม่ใช่หน้าประดู่ หน้าที่ของเราไม่ใช่การกดดันชาวบ้าน แต่ต้องจัดการสต็อกสินค้าใหม่ หรือถ้ามันเป็นหน้านา เขาก็ต้องไปทำนา หน้าฝนเขาก็ต้องไปจับปลา เราจะให้เขามาทอผ้าไม่ได้ มันเป็นวิถีของเขาที่เราต้องเข้าใจ” 

นุกอธิบายให้ฟังถึงกระบวนการการทำงานที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนประเด็นสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าเธอได้คะแนนเรื่องนี้ไปเต็ม ๆ ไม่ว่าจะเรื่องการออกแบบหรือการเลือกใช้วัสดุ

“เราพยายามวางแพตเทิร์นให้เหลือเศษผ้าน้อยที่สุด ผ้าที่เหลือก็นำมาทำเป็นงานแพตช์เวิร์กแต่ขนาดเหลือเศษผ้าคนก็ยังอินบ็อกซ์มาถามว่าขายมั้ย ทั้งที่แบรนด์อื่นต้องจ้างให้คนนำเศษผ้านั้นไปทิ้ง เราก็แอบภูมิใจว่าของเรามีคุณค่า

“กระทั่งเรื่องการออกแบบ เราอาจจะไม่ได้ออกแบบสินค้าให้หวือหวาหรือตามกระแสแต่เน้นความคลาสสิก เพื่อให้ลูกค้าใช้ของได้นานที่สุด ลูกค้าของเราจึงมีตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงสูงอายุ ซึ่งดูเป็นไปไม่ได้ในเชิงการตลาดที่ช่วงอายุของลูกค้าจะต่างกัน 40 – 50 ปี แต่เราทำได้ เพราะตลาดของเราคือคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและรักงานฝีมือ” 

แบรนด์สิ่งทอจากเส้นใยจากผักตบชวาที่ล้มแล้วลุก ไม่หยุดพัฒนาเพื่อสร้างความยั่งยืนให้สังคมและโลกใบนี้
แบรนด์สิ่งทอจากเส้นใยจากผักตบชวาที่ล้มแล้วลุก ไม่หยุดพัฒนาเพื่อสร้างความยั่งยืนให้สังคมและโลกใบนี้

จุดต่อไปของ Munie

จากวันที่เริ่มวิจัย ออกบูทเพื่อเก็บฟีดแบ็ก และพัฒนาสินค้าสม่ำเสมอ สารพันสิ่งทอจากเส้นใยผักตบชวาของนุกเดินทางไปอวดโฉมในหลายประเทศ ทั้งยังทำให้เธอได้เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพคนไทย 3 คนที่ได้เข้าร่วมโครงการ UN Environment Programme ได้เข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและในเดือนมิถุนายน ปี 2022 นุกจะนำนวัตกรรมโดยคนไทยจากสองมือของชุมชนไทยไปแสดงผลงานที่ Milan Design Week ด้วย

“คนอื่นอาจมองว่าเราประสบความสำเร็จมาก แต่เบื้องหลังมันเจ็บปวดนะ มันมีความเหนื่อย ความยาก ถามว่าทำไมยังทำ เพราะเราทำด้วยแพสชันล้วน ๆ แม้กำไรที่เป็นเม็ดเงินอาจจะไม่มาก แต่เรามีความสุขที่ได้ทำ ยิ่งเฉพาะเวลาไปออกบูทแล้วได้รับคำชื่นชมกลับมา เราก็จะมีแรงทำต่อเสมอ 

“หลายประเทศคิดว่าเราแค่นำผักตบชวามาตากแห้งแล้วสานมือ เพราะเขาคิดว่าสินค้านวัตกรรมจะต้องมีแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เราทำให้เขาเห็นว่าไทยเราก็มี เราก็บอกว่าไม่ใช่ แล้วเล่ากระบวนการทั้งหมดให้ฟัง มันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีประโยชน์ต่อประเทศนี้” นุกบอกถึงความภูมิใจและความตั้งใจที่จะพา Munie สู่ตลาดโลกให้กว้างกว่าเก่า 

แม้จะมีแบรนด์รักษ์โลกเกิดขึ้นมากี่แบรนด์ และแม้จะมีอีกหลายแบรนด์นักที่หยิบผักตบชวามาแปรรูปเป็นสินค้าบ้าง แต่ Munie ก็ยังก้าวเดินได้อย่างยั่งยืนเพราะจุดยืนที่นุกตั้งไว้ ทั้งเธอยังหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เส้นทางที่นุกตั้งใจเดินต่อไปจึงไม่ได้ซับซ้อน แต่คือการยกระดับงานฝีมือไทยให้ไม่เพียงสวย แต่ยังตอบโจทย์การใช้งานด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ 

“ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผ้าจากผักตบชวาถือเป็นนวัตกรรม แต่ปัจจุบันมีการผลิตผ้าจากเส้นใยต่าง ๆ ออกมามากขึ้น ผ้าจากผักตบชวาของเราจึงไม่ถือเป็นนวัตกรรมน่าตื่นเต้นในตอนนี้แล้ว ถามว่าเราคิดจะพัฒนาเส้นใยอื่นไหม อาจจะทำในเชิงเส้นใยเสริม แต่ไม่คิดพัฒนาให้เป็นเส้นใยหลักของ Munie เพราะเราพัฒนาเส้นใยจากแพสชัน และอยากสร้างความชัดเจนให้แบรนด์

“สิ่งที่เราต้องโฟกัสคือการไม่หยุดพัฒนา มันจะทำให้เราเป็นผู้นำไม่ใช่ผู้ตาม ถ้าเราคิดแต่จะตามรอยเท้าคนอื่น เราก็จะไม่มีรอยเท้าและความยั่งยืนเป็นของตนเอง ซึ่งมันหล่อเลี้ยงชีวิตเรา แถมทำประโยชน์ให้สังคม ให้สิ่งแวดล้อม และให้ประเทศชาติด้วย” นุกทิ้งท้าย

แบรนด์สิ่งทอจากเส้นใยจากผักตบชวาที่ล้มแล้วลุก ไม่หยุดพัฒนาเพื่อสร้างความยั่งยืนให้สังคมและโลกใบนี้

Munie Eco Lifestyle

โทรศัพท์ : 08 3244 9848

เว็บไซต์ : www.muniefashion.com

Facebook : Munie eco lifestyle

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ