นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อีกแรงจูงใจที่ทำให้ใคร ๆ ต่างอยากมาเยือนเชียงใหม่คือวัฒนธรรมอันงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงกิจกรรมหรือประเพณีต่าง ๆ ซึ่งมีให้สัมผัสแทบทุกฤดูกาล ตั้งแต่งานขนาดย่อมระดับท้องถิ่น ไปจนงานใหญ่ระดับเทศกาลที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองให้คึกคัก ขณะเบื้องหลังความสำเร็จต้องอาศัยแรงกำลังจากหลายภาคส่วนช่วยกันปลุกปั้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน ตลอดจนผู้เล่นสำคัญที่มักถูกมองข้ามอย่าง ‘ออร์แกไนเซอร์’
‘เมืองงาม ครีเอชั่น’ คือบริษัทออร์แกไนเซอร์เฉพาะด้านวัฒนธรรมล้านนาเบอร์ต้น ๆ ของเชียงใหม่ ซึ่งอยู่เบื้องหลังการเนรมิตกิจกรรมทางวัฒนธรรมมากมายให้ออกมาตราตรึงใจ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีปี๋ใหม่เมือง ประเพณีเตียวขึ้นดอยสุเทพ กิจกรรมยอสวยไหว้สาพระญามังราย กิจกรรมต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง อีกทั้งยังเชี่ยวชาญการจัดขบวนแห่ จัดงานสาธิตภูมิปัญญา และรังสรรค์กาดหมั้วคัวเมือง เพื่อถ่ายทอดวิถีล้านนาผ่านภูมิปัญญาอาหารพื้นบ้าน
กระนั้นก็ไม่ใช่ทุกคนจะคุ้นเคยกับชื่อ เมืองงาม ครีเอชั่น เพราะดูเหมือนใครต่อใครต่างติดปากเรียก ‘ทีมงานครูเบิร์ท’ เสียมากกว่า ครูเบิร์ท หรือ ประสงค์ แสงงาม คือชายวัย 44 ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงศิลปวัฒนธรรมล้านนามาเกือบครึ่งชีวิต ทั้งในบทบาทอาสาสมัครโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา นักดนตรีพื้นเมืองรับจ้าง ครูสอนดนตรีพื้นเมืองสารพัดอย่าง พ่อค้างานหัตถศิลป์ ไกด์นำเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระทั่งกลายมาเป็นกำลังและมันสมองของบริษัทแห่งนี้ ซึ่งมีเป้าหมายส่งมอบความสุข ความงาม และความหมายของวัฒนธรรมล้านนา ควบคู่ฟื้นฟูมรดกทางภูมิปัญญาและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชนที่มีใจร่วมสืบสานพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
พิสูจน์ศรัทธา
“เป็นยังไงบ้างครับ มารับงานทางนี้”
“ก็มีคนทักมาในกล่องข้อความนะว่ามังกรต่างถิ่นจะสู้งูดินเจ้าที่ได้รึเปล่า” ชายผู้มีย่ามผ้าฝ้ายแขวนบนหัวไหล่เสมอเปล่งเสียงหัวเราะ “แต่เราไม่เก็บมาคิดหรอกครับ แค่ทำเต็มที่ให้งานออกมาดีที่สุด อีกอย่างมันไม่ได้มีอะไรยาก เพราะลำพูนก็เป็นเขตอารยธรรมล้านนาเหมือนกันด้วย”
เราสนทนากันในร้าน Temple House ซึ่งตั้งอยู่เคียงถนนอินทยงยศที่ขณะนี้กำลังถูกแต่งแต้มสีสันบรรยากาศย้อนวันวานสู่ย่านอันเฉิดฉายในงาน ‘อินทยงยศ ถนนสายวัฒนธรรม : เล่าขานตำนานร่วมสมัยร้อยปีลำพูน’ ประเดิมการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างถิ่นครั้งแรกของ เมืองงาม ครีเอชั่น
ในเชียงใหม่ ชื่อเสียงของ เมืองงาม ครีเอชั่น เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการร่วมออกแบบขบวนแห่ ดูแลกิจกรรม และสร้างสรรค์ความรื่นรมย์ในโปรเจกต์ฟื้นฟูประเพณีโบราณ อย่างประเพณีเตียวขึ้นดอยสุเทพ ประเพณีปี๋ใหม่เมือง รวมถึงประเพณีแห่นมสดรดถวายต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง 3 ปีต่อเนื่องที่ทางเจ้าภาพสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่วางใจใช้ออร์แกไนเซอร์หน้าเดิมโดยตลอด เหตุผลหลักหาใช่เพียงทีมงานคุณภาพและเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมสรรพ หากเป็นคุณสมบัติด้านความรู้ความเข้าใจในศิลปวัฒนธรรมล้านนาของผู้รับจ้าง ซึ่งหล่อหลอมขึ้นจากความรัก ความใฝ่ฝัน และประสบการณ์ของหัวเรือใหญ่อย่างครูเบิร์ท
นอกจากความแก่นแก้วซุกซนตามประสา ครูเบิร์ทเล่าว่าตัวเขาหลงใหลการเล่นดนตรีพื้นเมืองมาตั้งแต่เด็ก จนถึงขั้นเป็นตัวตั้งตัวตีร่วมกับคุณครูก่อตั้งชุมนุมสืบสานล้านนาของโรงเรียนเชียงดาววิทยาคม จวบย้ายมาเรียนคณะวิจิตรศิลป์ สาขาศิลปะไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาก็ใช้ความสามารถนี้หารายได้เสริมควบคู่ขันอาสาไปช่วยงานโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมล้านนาหลากหลายรูปแบบ ซึ่งก่อเกิดเป็นองค์ความรู้สั่งสม ก่อนจบออกมาทำงานที่นี่อีกพักใหญ่ในฐานะครูภูมิปัญญาด้านดนตรีพื้นเมือง
“ช่วงที่ทำงานอยู่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เราได้ดูแล ‘โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ’ เดินทางไปทั่วทุกจังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อไปดูเรื่องกระบวนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ พร้อมพยายามเชื่อมโยงเรื่องของการศึกษาทางเลือกกับหน่วยงานและโรงเรียนต่าง ๆ ตามแผน ‘สืบสานภูมิปัญญาเพื่อการพึ่งพาตนเอง’ จนกระทั่งวันหนึ่ง เราเกิดมีคำถามกับตัวเองว่าที่ผ่านมาเราได้แต่ออกไปบอกคนอื่นให้ใช้ภูมิปัญญาพึ่งพาตัวเอง แต่ทำไมตัวเรายังต้องมานั่งเขียนโครงการขอเงินสนับสนุน พึ่งตัวเองไม่ได้เสียที”
ครบ 5 ปี ครูเบิร์ทตัดสินใจลาออกจากการเป็นผู้สอน ลงมือค้นหาวิถีทางเพื่อพิสูจน์ความเชื่อที่ว่าภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษอันมีคุณค่านำมาต่อยอดเลี้ยงชีพได้จริง
เปิดร้านขายงานหัตถกรรม ทำทัวร์เชิงวัฒนธรรม ก่อนจับพลัดจับผลูมาเป็นที่ปรึกษาจัดขบวนกฐิน ทอดผ้าป่า ลามไปช่วยเป็นธุระให้คนที่อยากจัดงานบุญพิธี งานแต่งงานแบบล้านนา กิจกรรมสาธิตด้านภูมิปัญญาต่าง ๆ รวมถึงจัดกาดหมั้วคัวเมือง จนจากงานเฉพาะกิจกลายมาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สม่ำเสมอและเพียงพอหล่อเลี้ยงชีวิตครอบครัวและทีมงาน
“พอเริ่มเห็นภาพชัดว่าสิ่งนี้แหละเลี้ยงอุดมการณ์และตัวเราเองไปพร้อม ๆ กันได้ เราก็เลยอยากทุ่มเทและจริงจังกับมันให้มากขึ้น”
บทสรุปคือการก่อตั้งเมืองงาม ครีเอชั่น บริษัทออร์แกไนเซอร์ส่งเสริมวัฒนธรรม เพื่อสร้างสรรค์เมืองให้งดงาม
ดีเอ็นเอล้านนา
ผลตอบรับของโปรเจกต์ฟื้นฟูประเพณีโบราณเป็นเครื่องการันตีในความเชี่ยวชาญและประณีต อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในใบเบิกทางส่งให้เมืองงาม ครีเอชั่น ก้าวขึ้นมาดูแลงานระดับจังหวัด อย่างกิจกรรมยอสวยไหว้สาพระญามังราย พิธีสักการะพญามังรายผู้ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ และกิจกรรมต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง พิธีจุดผางประทีปนับหมื่นดวงรอบคูเมือง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในประเพณียี่เป็ง
“2 กิจกรรมนี้ถือเป็นวาระสำคัญประจำปีของเมืองเชียงใหม่ แน่นอน เมื่อต้องจัดงานที่เกี่ยวข้องกับประเพณี สิ่งแรกที่จำเป็นต้องคำนึงคือความถูกต้องและเหมาะสม เราจึงพยายามออกแบบและสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้กรอบขนบธรรมเนียมและจารีตซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณ เพราะรากฐานของเมืองงาม ครีเอชั่น คือการสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมล้านนา”
ทั้งจากการได้เห็น ได้สัมผัส กอปรกับก่อนหน้าเคยมีโอกาสจัดทำองค์ความรู้เกี่ยวกับประเพณีล้านนา 12 เดือน ซึ่งต้องอาศัยการค้นคว้าข้อมูลจากตำราควบคู่เก็บเกี่ยวจากผู้เชี่ยวชาญ อาทิ อาจารย์มณี พยอมยงค์ อาจารย์อุดม รุ่งเรืองศรี และอีกหลายท่าน เหล่านี้ช่วยเติมเต็มความเข้าใจในประเพณีและพิธีกรรมล้านนาของครูเบิร์ทให้ยิ่งลึกซึ้ง
นี่คือต้นทุนที่ทำให้เขาถึงกับยิ้มภูมิใจพลางกระซิบว่าทุกอย่างผ่านไปได้สวย แถมในปีต่อ ๆ มา เมืองงาม ครีเอชั่น ยังเป็นบริษัทที่ทางผู้จัดอย่างเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่เอ่ยปากชวนร่วมงานด้วยอยู่เสมอ
“แต่การจัดงานด้านวัฒนธรรม บางครั้งก็ไม่ได้ใช้แค่ความรู้ความเข้าใจนะครับ เพราะเรายังต้องใช้สิ่งพิเศษที่เรียกว่า ‘เซนส์’ ด้วย”
เกรงว่าหัวคิ้วของผมจะสื่อสารแทนความคิด ครูเบิร์ทเลยต้องรีบขยายความให้ฟังว่าการจัดงานด้านวัฒนธรรมจะออกมาสวยงาม หรือดึงมนต์เสน่ห์ในอัตลักษณ์ล้านนาออกมาสร้างความประทับใจได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเซนส์ของผู้จัดและทีมงานทุกคน
“แล้วความงามแบบล้านนาที่ว่าคือแบบไหนเหรอครับ” ผมถาม
“อืม…” ครูเบิร์ทครุ่นคิด พลันเอ่ยออกมา “จริง ๆ เราก็ไม่ปฏิเสธนะว่าความงามมันขึ้นอยู่กับมุมมอง มีหลายมิติและเกี่ยวโยงกับความรู้สึกด้วย แต่การจะจัดงานให้คนมองแล้วรู้สึกว่าสวยและสัมผัสถึงความเป็นล้านนา ไม่ว่าจะสัมผัสจากบรรยากาศ การตกแต่งประดับประดา ชุดเสื้อผ้าหรือข้าวของเครื่องใช้ ทีมผู้จัดจำเป็นต้องมีเซนส์ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ หรืออาจเรียกว่ามีดีเอ็นเอความเป็นล้านนาฝังอยู่ในตัวด้วย”
ร่วมกันสรรสร้าง
แม้รูปแบบงานที่เมืองงาม ครีเอชั่น พร้อมบริการค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่างานประเพณี งานแต่งงาน งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานประชุมสัมมนา งานมหกรรมแสดงสินค้า เรื่อยไปจนจัดกาดหมั้วคัวเมือง แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับงานใดก็ตามที่อยู่นอกเหนือไปจากวัฒนธรรมล้านนา
“เคยมีคนติดต่อมาชวนไปทำประเพณีแห่ผีตาโขนทางภาคอีสาน แต่เราขอปฏิเสธ เพราะฐานองค์ความรู้วัฒนธรรมอีสานของเราไม่พร้อม”
ฐานองค์ความรู้ คือสิ่งที่เมืองงาม ครีเอชั่น ยกให้เป็นหัวใจหลักของการทำงาน
“ในกระบวนการทำงาน สิ่งแรกที่เราต้องรู้คือคอนเซปต์ ยกตัวอย่างงานอินทยงยศ ถนนสายวัฒนธรรม : เล่าขานตำนานร่วมสมัยร้อยปีลำพูน เราต้องคุยกับผู้ว่าจ้างก่อนว่าเขาอยากนำเสนอลำพูนในยุคไหน พอกำหนดยุคได้ก็มาออกแบบธีมงานในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งตรงนี้เองเราต้องค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม กับวิถีชีวิตของชาวลำพูนย่านถนนอินทยงยศในยุคนั้น โดยอาศัยทั้งการอ่านเอกสาร ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และศึกษาผ่านภาพเก่าจากหอจดหมายเหตุหริภุญชัย ตลอดจนลงพื้นที่ชุมชนเพื่อเก็บเรื่องราวจากประสบการณ์ ขอความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบ ธีมงาน แล้วก็ชวนทุกคนมามีส่วนร่วมกับการจัดงานด้วย”
ครูเบิร์ทย้ำว่าการลงพื้นที่ชุมชนเป็นกระบวนการที่ขาดไม่ได้ เพราะเมืองงาม ครีเอชั่น วางการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นเป้าหมายหนึ่งของการทำงาน
“เราพยายามกระจายรายได้และเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้เข้ามีบทบาทกับงานมากที่สุด เช่น พวกโครงสร้างไม้ไผ่ แคร่ ร่ม ก็จะหาเช่าในละแวกนี้ดูก่อน หรือกิจกรรมสาธิตภูมิปัญญาต่าง ๆ ถ้าติดต่อเครือข่ายช่างฝีมือจากเชียงใหม่มาเลยมันง่ายกว่ามาก แต่เราไม่ เพราะลึก ๆ ทุกงานเราไม่อยากให้พอจบแล้วต่างคนต่างแยกย้าย แต่อยากให้สิ่งที่พวกเราร่วมแรงร่วมใจทำกันขึ้นมาเกิดการถ่ายทอดและสานต่ออย่างยั่งยืน”
ขณะเดียวกัน หากเป็นงานที่รังสรรค์ในจังหวัดเชียงใหม่ เมืองงาม ครีเอชั่น จะอาศัยเชื่อมโยงการทำงานกับเครือข่ายชุมชนหัตถกรรมและกลุ่มช่างฝีมือ อาทิ ชุมชนเมืองสาตรหลวง แหล่งหัตถกรรมทําโคมล้านนาเจ้าประจำช่วงประเพณียี่เป็ง กลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ โรงเรียนอุ้ยสอนหลาน กลุ่มสล่าโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เมื่อต้องมีกิจกรรมสาธิตภูมิปัญญาล้านนา หรือศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเวียงกุมกามศิริศิลป์ ที่ออกแบบโคมตุงล้านนาสำหรับตกแต่งงานได้สารพัดรูปแบบ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในการจัดกาดหมั้วคัวเมือง ซึ่งถือเป็นรูปแบบงานจัดเลี้ยงที่เมืองงาม ครีเอชั่น สร้างสรรค์ได้อย่างมีเอกลักษณ์ ก็พยายามเชื่อมโยงสินค้า อาหาร และงานหัตถกรรมจากกลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์เพื่อนำเสนออัตลักษณ์และความงามในความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างสมกับเป็นตลาดพื้นถิ่นดินแดนล้านนาด้วย
“เวลารับงานมา เราพยายามคิดตลอดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านและเครือข่ายที่เขามีความตั้งใจอนุรักษ์งานหัตถกรรมล้านนาได้ประโยชน์ร่วมกับเรา บางครั้งก็นำเสนอผู้ว่าจ้างไปเลยว่าน่าจะมีซุ้มไม้ไผ่ น่าใช้หลังคาใบตองตึงนะ หรือวางคอนเซปต์การจัดงานที่เกื้อหนุนกลุ่มคนเหล่านี้
“เพราะไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อสืบสานภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ แต่เรายังมีแนวคิดเชื่อมโยงส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เครือข่ายและชุมชนที่เรามองเห็นศักยภาพก้าวไปข้างหน้าและหล่อเลี้ยงชีวิตได้ด้วยศิลปวัฒนธรรม”
กำไรและใจรัก
ช่วงระยะปีสองปีหลังผ่านพ้นพิษโควิด ธุรกิจออร์แกไนเซอร์ด้านวัฒนธรรมในเชียงใหม่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น ในมุมของผู้ประกอบการที่เดินบนถนนสายนี้มากว่าทศวรรษวิเคราะห์ว่า ส่งผลมาจากปัจจัยความเปลี่ยนแปลงของตลาดที่เปิดกว้าง และศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านกลายเป็นประสบการณ์และคุณค่าที่ผู้คนโหยหาอยากสัมผัส
“สมัยนี้เราสังเกตว่าคนรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาทำอาชีพออร์แกไนเซอร์ด้านวัฒนธรรมกันเยอะ ซึ่งหลายทีมก็มีไอเดียน่าสนใจมาก บ้างฟื้นฟูเรื่องสัปทนล้านนาเพื่อนำมาใช้ในงาน หรือมีสไตล์การจัดดอกไม้ตกแต่งบรรยากาศแบบย้อนยุคไปราวรัชสมัยของรัชกาลที่ 7”
ความเปลี่ยนแปลงของวงการที่น่าตื่นเต้นและมีชีวิตชีวานี้ไม่เพียงช่วยเติมไฟในการทำงาน ทว่ายังเปิดมุมมองใหม่ให้กับออร์แกไนเซอร์รุ่นพี่
“งานของน้อง ๆ รุ่นใหม่ ทำให้เรามองเห็นความงามในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นชัดขึ้นว่าความเป็นล้านนาก้าวไปสู่ระดับสากลได้”
จะล้านนายุคไหนไม่มีถูก ไม่มีผิด ไม่เคยคิดว่าใครเป็นคู่แข่ง แต่มองว่าทุกทีมล้วนคือคนที่จะมาร่วมแรงฟื้นฟูและเชิดชูความเป็นล้านนา เพราะลึก ๆ ครูเบิร์ทเชื่อว่าคนที่เลือกเดินเส้นทางนี้ต่างรักในศิลปวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน เนื่องจากนี่ไม่ใช่อาชีพสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ จึงเป็นงานที่ค่อนข้างคัดคนและยากจะประสบผลสำเร็จหากขาดใจรัก
“คนที่จะทำอาชีพนี้ได้ หลักสำคัญเลยคือต้องมีความจริงใจและจริงจัง เราเองบางครั้งก็ทำจนลืมว่ากำไรอยู่ตรงไหน เพราะไม่ได้เอาเงินหรือผลกำไรมาเป็นตัวตั้ง อย่างนั้นมีแต่จะทำให้งานติดขัด เลยทำกันแบบ ‘ฉิบหายไม่ว่า เอาหน้าไว้ก่อน’ คือมีทรัพยากรอะไรในมือก็ขนมาเสริมเติมแต่ง ไม่หวง ไม่คำนวณมาก เน้นสร้างชื่อเสียงดีกว่าไปเป็นชื่อเสียให้ใครครหา เพื่องานที่ออกมาตรงตามความต้องการของเจ้าภาพ ของตัวเอง ส่วนรอยยิ้ม คำชม และความสุขของคนมาเที่ยวงาน ตรงนี้สำหรับเราถือเป็นกำไรมหาศาลแล้วครับ”
ครูเบิร์ทกล่าวอย่างอิ่มเอมก่อนตอบเรื่องแผนการต่อไปของเมืองงาม ครีเอชั่น สั้น ๆ ว่า “ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด” เรียบง่ายและเข้าใจได้ อนาคตจะขึ้นหรือลงย่อมเป็นผลจากการกระทำในวันนี้ กระนั้นถึงวันใดที่โอกาสและจังหวะนำพา เขาฝันไว้ว่าอยากเนรมิตประเพณีโบราณและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่สูญหายไปแล้วให้กลับคืนมาอีกครั้ง เพื่อเป็นดั่งสะพานแก่คนรุ่นหลังได้เชื่อมโยงรากเหง้า เข้าใจตัวตน สู่การเรียนรู้ ต่อยอด และสืบสาน ให้มรดกทางวัฒนธรรมล้านนาอันงดงามเป็นสิ่งที่ทุกคนกล้าเอาออกมาอวดแขกบ้านแขกเมืองด้วยความภาคภูมิใจ