“ผมเคยฝันว่า ผมวาดรูปไม่ได้ วาดรูปไม่เป็น เป็นฝันร้ายที่สุดในชีวิตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เฮ้ย เราวาดรูปไม่ได้จริง ๆ หรอวะ มาลองวาดก็รู้ว่ามันเป็นความฝันนี่นา เรายังจับปากกาวาดรูปได้อยู่เลย มันเลยกลายเป็นว่าตื่นเช้ามาก็ต้องฝึกวาด”

เมืองมนต์ นักวาดไร้ดินสอผู้หลงมนต์เมือง วาดตั้งแต่เรือนอีสานไปถึงแผนที่กรุงศรีอยุธยา

ความโชคดีหนึ่งของอาชีพสื่อ คืออยากไปคุยกับใครก็ได้คุย วันนี้โชคดีที่อาจารย์เมืองมนต์เสียสละเวลาช่วงเช้าที่อาจวาดเรือนได้หลายเรือน วาดวัดได้หลายวัด มานั่งคุยกับเรา

เมืองมนต์ เคหารมย์ เป็นนักวาดรูปสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงในหมู่คนวาดภาพด้วยกัน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลายคนที่สิงอยู่ตามกลุ่มต่าง ๆ ในเฟซบุ๊กก็จะเห็นผลงานอันมีเส้นสายเป็นเอกลักษณ์และละเอียดลออของอาจารย์บ่อย ๆ 

ด้วยพื้นฐานจากการเป็นสถาปนิก เมืองมนต์หลงใหลการวาดเรือน วัดวา เมืองต่าง ๆ จนรวมภาพวาดออกขายได้หลายเล่ม และที่เป็นกระแสฮือฮาก็คือการวาดแผนที่แผ่นใหญ่ มีตั้งแต่แผนที่กรุงเทพฯ ที่ใช้เวลาเก็บข้อมูลและคลุกคลีกับพื้นที่ถึง 10 ปี และแผนที่กรุงศรีอยุธยาในยุคก่อนเสียกรุงซึ่งตัวเขาเองก็เกิดไม่ทัน แต่มีแรงวาดขึ้นมาเมื่อติดละคร บุพเพสันนิวาส

ที่ใคร ๆ เรียกว่า ‘อาจารย์’ เพราะเขาทั้งสอนวาดรูปทางออนไลน์ ทั้งเปิดคอร์สสอนผู้คนหลากหลายวัยทางออฟไลน์ สำหรับเราที่รู้จักเขาฝ่ายเดียวตั้งแต่มัธยม ไม่เคยได้คุยกันสักคำ แต่การเสพผลงาน รวมไปถึงการลงทุนปรินต์มานั่งวาดตาม ก็ทำให้รู้สึกเหมือนเขาเป็นอาจารย์อีกท่านของเรา

ชายผู้มีการวาดรูปเป็นชีวิต มีปากกาเป็นอวัยวะที่ 33 และยังกลัวฝันร้ายว่าจะวาดรูปไม่ได้ แม้จะผ่านไปถึง 30 ปี อยู่กับเราในคอลัมน์ Studio Visit แล้ว

เมืองมนต์ นักวาดไร้ดินสอผู้หลงมนต์เมือง วาดตั้งแต่เรือนอีสานไปถึงแผนที่กรุงศรีอยุธยา

นักวาดบนพื้นทราย

เราต่อสายไปคุยกับเขาถึงนครพนม เมืองที่เขาสนใจและขลุกตัวอยู่ในช่วงปีหลัง ๆ เขาว่านครพนมเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ในแง่วัฒนธรรม เชื้อชาติที่หลากหลาย และประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำโขง จนถึงตอนนี้ เมืองมนต์วาดมุมต่าง ๆ ของนครพนมจนใกล้จะรวมเล่มเป็น ‘ออนซอนสะออนนครพนม’ ได้แล้ว

เมืองมนต์ เคหารมย์ หรือ อ๊อด จบจากวิทยาลัยเทคนิคดุสิต ภาควิชาสถาปัตยกรรม เคยทำอาชีพผู้ช่วยสถาปนิกและสถาปนิก ก่อนออกจากบริษัทมาเป็นศิลปินอิสระไม่นานมานี้ แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ใช้ชีวิตด้วยการวาดรูปมาตั้งแต่จำความได้ราวคาบปากกามาเกิด

“ตอนนี้หายจากเป็นสถาปนิกแล้วครับ แต่ยังหายไม่ขาด มีรับงานบ้าง ยังต้องกินยาต่อเนื่องอยู่” เมืองมนต์ระเบิดหัวเราะขณะตอบคำถามเรื่องอาชีพ

เมืองมนต์ นักวาดไร้ดินสอผู้หลงมนต์เมือง วาดตั้งแต่เรือนอีสานไปถึงแผนที่กรุงศรีอยุธยา

เมืองมนต์ไม่ใช่คนนครพนมอย่างที่เราเข้าใจตอนแรก เมื่อเขานัดช่างภาพของเราที่หอนาฬิกาอนุสรณ์เวียดนาม จ.นครพนม แต่พื้นเพเดิมเป็นคนอุบลราชธานี ก่อนจะย้ายตามพ่อแม่มาหาชีวิตที่ดีขึ้นที่กรุงเทพฯ ตอนอายุได้ 2 ขวบ โดยที่แม่มาขายส้มตำ พ่อทำงานรับเหมาก่อสร้าง หลังจากอยู่กรุงเทพฯ หลายสิบปี เขาก็ย้ายกลับไปอยู่อีสาน คราวนี้ไม่ใช่อุบลฯ แต่เป็นกาฬสินธุ์บ้านภรรยา

“ตอนเด็ก ๆ ปิดเทอม นั่งรถไฟกลับมาที่บ้านเกิดเมืองนอน ไม่มีอะไรทำ ใต้ถุนบ้านมีดินทรายละเอียด ๆ เราก็เอานิ้วไปวาด” เขาเล่าอย่างสนุกสนาน “ตอนนั้นไม่มีตำรา เราก็เอาสภาพแวดล้อมที่อยู่ตรงนั้นมาเป็นครูผู้สอน อยากวาดใบไม้ก็หยิบใบไม้มาวาด เจอวงกลม เจอสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ก็วาดไปเรื่อย ๆ จนประกอบเป็นรูปร่างต่าง ๆ”

จุดหนึ่งที่สำคัญในชีวิตของเขาคือการได้พบ ‘อาจารย์สมชาย’ อาจารย์ศิลปะชั้นมัธยมต้นที่เขาชื่นชมว่า ‘เก่งมาก’ และขลุกตัวอยู่กับอาจารย์ตลอด แม้เพื่อน ๆ จะรวมตัวเตะฟุตบอลกันอยู่ อาจารย์สเก็ตช์ เด็กชายเมืองมนต์ก็เสิร์ฟน้ำบ้าง ช่วยเหลาดินสอให้บ้าง อาจารย์ก็ใจดีช่วยแนะนำวิธีการวาดภาพให้เด็กชายลองขีดตาม จนกระทั่งได้เป็นครูผู้ช่วยตั้งแต่วัยมัธยมต้น

เมืองมนต์ นักวาดไร้ดินสอผู้หลงมนต์เมือง วาดตั้งแต่เรือนอีสานไปถึงแผนที่กรุงศรีอยุธยา

แปลว่าอาจารย์เพิ่งมาเริ่มวาดแนวสถาปัตย์ตอนที่ต่อเฉพาะทางเหรอ?

“ใช่ครับ ผมไปเจอเทคนิคการวาดรูปแบบ Isometric แล้วก็ Perspective การจะสร้างภาพภูมิทัศน์ วาดภาพเมือง หลักวิชานี้อธิบายได้ ผมรู้สึกโชคดีมากที่ได้เรียนสถาปัตย์และได้เปิดโลกทัศน์อะไรบางอย่าง” เขาพูดเสียงจริงจัง 

“ผมชอบวิชาพวกนี้มาก เพราะมันทำให้วาดรูปสถานที่ต่าง ๆ ได้มีสัดส่วน มีสเกล มีความชัดลึกของสภาพแวดล้อม มันตอบโจทย์ผมหมดเลยจริง ๆ”

ถ้านี่เป็นการ์ตูนโชเน็น นี่ก็คงเป็นฉากที่พระเอกค้นพบพลังของตัวเอง และตื่นเต้นที่จะได้รู้ว่าตัวเองจะได้ทำอะไรยิ่งใหญ่อีกมากมายในอนาคต

เมืองมนต์ นักวาดไร้ดินสอผู้หลงมนต์เมือง วาดตั้งแต่เรือนอีสานไปถึงแผนที่กรุงศรีอยุธยา
เมืองมนต์ นักวาดไร้ดินสอผู้หลงมนต์เมือง วาดตั้งแต่เรือนอีสานไปถึงแผนที่กรุงศรีอยุธยา

นักวาดไร้ดินสอ

อาจารย์ชอบวาดรูปมากกว่าออกแบบรึเปล่า?

“ใช่” อาจารย์เมืองมนต์ตอบรวดเร็ว “ชอบเพราะว่าผมมีอิสระ จะวาดอะไรก็ได้ มันเรื่องของผม ผมคิดว่างานศิลปะเป็นงานที่ทำตามใจตัวเองได้มากที่สุด ไม่มีใครบังคับเราได้ และถ้ามีคนชอบก็ดีใจ

เอกลักษณ์ของเมืองมนต์ คือการใช้ปากกาวาดสด ๆ ไม่มีการร่างด้วยดินสอก่อน แต่ถึงอย่างนั้นสัดส่วนต่าง ๆ ก็ออกมาถูกต้องไม่ขัดตา

“แล้วทำไมคุณถึงใช้ดินสอก่อน” อาจารย์ถามกลับแทนการตอบคำถามที่ว่า ทำไมถึงไม่ใช่ดินสอ

กลัวไม่เป๊ะ – เราตอบ

“งานศิลปะมันมีอะไรเป๊ะ” เมืองมนต์หัวเราะเสียงดัง

เมืองมนต์ นักวาดไร้ดินสอผู้หลงมนต์เมือง วาดตั้งแต่เรือนอีสานไปถึงแผนที่กรุงศรีอยุธยา

“ผมใช้ปากกาวาดเพราะไม่กลัวที่จะผิด ผมไม่ชอบความเป๊ะ มนุษย์เป็นอะไรที่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว สองมือคุณยังขนาดไม่เท่ากันเลย ตาก็ยังเอียงข้าง มือก็มีถนัดซ้ายถนัดขวา เราไม่สามารถทำอะไรสมบูรณ์แบบได้”

พูดไปก็เหมือนจะง่าย จริง ๆ แล้วเขาเองก็เคยเป๊ะมาก่อนเหมือนกัน แต่มาวันหนึ่ง เมื่อเขาหลุดจากความเป๊ะที่เคร่งเครียดนั้นมาแล้ว อาวุธของเขาก็เหลือแค่ปากกาด้ามเดียวกับกระดาษ และเขาก็ชื่นชอบร่องรอยเส้นร่างด้วยปากกาที่ปรากฏให้เห็นเสียด้วย “จะได้รู้ที่มาที่ไปของงาน” เขาว่า

เมืองมนต์วาดไปทั่วเมือง บางทีก็เป็นวัดวาอารามที่มีดีเทลเยอะ ๆ ทั้งช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ บางทีก็เป็นสถาปัตยกรรมอื่น ๆ บ้านเรือนบ้าง อาคารเก่าบ้าง โรงเรียนบ้าง แล้วแต่ว่าสายตาจะเห็นความงามของ Perspective ที่ไหน และจะประทับใจกับแสงเงาจากพระอาทิตย์เมื่อไหร่ ซึ่งโดยปกติแล้วก็ไม่ได้เลือกล่วงหน้านักว่าจะวาดอะไร

เมืองมนต์ นักวาดไร้ดินสอผู้หลงมนต์เมือง วาดตั้งแต่เรือนอีสานไปถึงแผนที่กรุงศรีอยุธยา
เมืองมนต์ นักวาดไร้ดินสอผู้หลงมนต์เมือง วาดตั้งแต่เรือนอีสานไปถึงแผนที่กรุงศรีอยุธยา

สำหรับสถานที่วาดภาพ เขาบอกว่าหากตรงนั้นนั่งวาดได้สะดวก ๆ คนไม่พลุกพล่านจนเกินไป สภาพดินฟ้าอากาศเป็นใจ เขาก็นั่งวาดที่นั่นได้เลย (เรียกว่า On Location) แต่หากไม่สะดวกอย่างนั้น ก็อาจจะเก็บภาพมานั่งวาดที่ร้านกาแฟหรือที่บ้านก็ได้

“ผมเป็นคนที่ไม่ทรมานตัวเอง และแทบจะไม่ยืนวาดเลย การวาดภาพควรจะมีความสุข ดูรูปแล้วเจ๋งแต่ร่างกายไม่ไหวก็ไม่ดี” เขาเผย “ถ้าไปยืนพิงกำแพงวาดร้อน ๆ เหงื่อแตก แล้วเส้นออกมาไม่เป็นตัวเรา ยอมถ่ายภาพไว้แล้วเดินไปหาร้านกาแฟนั่ง สั่งกาแฟ สั่งเค้กสักชุดดีกว่า ภาพจะได้ดีขึ้น”

หากไปส่องเฟซบุ๊กเมืองมนต์ จะเห็นว่าบางรูปอาจารย์ก็วาดคร่าว ๆ เหมือนเป็นการสเก็ตช์ไว ๆ แต่บางรูปก็มีเส้นสายละเอียดลออมาก ๆ ตรงนี้อาจารย์บอกว่า “แล้วแต่ความอยากมัน” หากรู้สึกว่าอยากใช้วิชา อยากอยู่กับภาพไหนนาน ๆ อาจารย์ก็จะใช้สมาธิฝนเส้นละเอียด ๆ คม ๆ นับพันเส้น จนออกมาเป็นภาพที่มีความชัดลึก

เมืองมนต์ นักวาดไร้ดินสอผู้หลงมนต์เมือง วาดตั้งแต่เรือนอีสานไปถึงแผนที่กรุงศรีอยุธยา

ความเป็นอีสานส่งผลอะไรต่อความชอบด้านสถาปัตยกรรมหรือการวาดรูปของอาจารย์ไหม?

“ส่งผลนะ เรารักถิ่นฐาน รักความเป็นชาวอีสาน และภูมิใจในสภาพแวดล้อมที่เคยอยู่ก่อนจะรู้เรื่องรู้ราวที่เป็นบ้านเพิงไม้ของชาวไทดำ” เขาตอบ “คนอีสานมีเชื้อสายที่แตกแขนงลงไปเป็นลาวซ่ง ภูไท ลาวพวน ลักษณะบ้านก็แตกต่างกัน ผมเห็นมาตั้งแต่เด็กเลยชอบครับ

“ผมทำอาชีพสถาปนิก อยู่กับบ้านก่ออิฐถือปูน ผ่านกระบวนการสวย ๆ งาม ๆ มานาน ก็เกิดความเบื่อ ผมชอบเส้นสายที่ชาวบ้านเขาออกแบบ มีไม้ทับเกล็ด ไม้ไผ่ขัดแตะ หลังคามุงจาก นี่แหละคือครูที่ดีในการสอนผมวาดลายเส้น”

นักวาดแผนที่

หลักจากชวนคุยเรื่องการวาดเส้นไปได้สักพัก เราก็ไม่พลาดที่จะถามถึงการวาด ‘แผนที่เมือง’ บนกระดาษเยื่อไผ่ของเมืองมนต์ จนถึงตอนนี้เขาวาดมา 7 สถานที่ 8 แผ่น ได้แก่ แผนที่กรุงเทพฯ กรุงศรีอยุธยา (2 ภาพ) เชียงใหม่ เพชรบุรี หลวงพระบาง นครศรีธรรมราช นครพนม โดยมีนครปฐมและเวียงจันทน์กำลังต่อคิว

“เราวาดเพราะไม่เคยวาด” เมืองมนต์เล่าอย่างอารมณ์ดี “เราเป็นศิลปินก็ต้องสร้างงานใหม่ ๆ ออกมานำเสนอคนอื่น พอทำงานเดิม ๆ ก็ลองเปลี่ยนสไตล์การทำงาน ใช้วิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมืองลองวาดบ้าน วาดนู่นนี่นั่นเข้าไป จนเกิดมาเป็นงานแผนที่

“อีกประเด็นหนึ่งคือ ผมอยากอยู่กับลายเส้นนาน ๆ ก็เลยอยากทำแผนที่” เขาเสริม

สำหรับเมืองมนต์แล้ว การทำแผนที่ให้ดี ไม่ใช่แค่การเปิด Google Maps มาวาด หากเขาใช้วิธีเดียวกับตอนฝึกวาดรูปสมัยมัธยมต้น ก็คือการเอาตัวลงไป ‘ขลุก’ ลงไป ‘คลุกคลี’ กับสิ่งที่ต้องการศึกษา อย่างหลวงพระบาง กว่าจะวาดจนเสร็จ เขาก็เทียวไปเทียวมา 5 – 6 ครั้ง สร้างความผูกพัน วาดมุมนั้นมุมนี้ของเมืองจนรวมได้เป็นหนังสือ ‘The Spirit of Lungprabang ดินแดนแห่งบรรพชน’ แล้วค่อยออกมาเป็นแผนที่หลวงพระบางจริง ๆ

ส่วนแผนที่กรุงศรีอยุธยาที่เขาตั้งชื่อเล่นให้ตามละครที่ติดว่า ‘ออเจ้า’ เขาใช้วิธีศึกษาแผนที่โบราณ รีเสิร์ชสถานที่สำคัญ ๆ และเดินทางไปดู ไปวาดรูป ถ่ายรูปอยุธยาจนพรุน เช้านั่งรถไฟไป เย็นนั่งรถไฟกลับ วันรุ่งขึ้นก็ไปใหม่ แม้สถานที่จะเปลี่ยนไป แต่โครงเดิมก็ยังอยู่

“นอกนั้นก็ยอมรับว่ามโนเอานะ” นักวาดพูด “ภาพวาดทุกภาพเกิดจากการมโนเยอะเลยนะ มันไม่มีทางที่จะทำทุกอย่างให้เป๊ะ เมื่อไหร่ที่คุณคิดอยากวาดภาพให้เหมือน มันก็ไม่เหมือนแล้ว แต่เมื่อไหร่ที่คุณวาดตามสไตล์ตัวเองนั่นแหละ มันจะเกิดงานใหม่ ๆ ขึ้นมา

“เราขายจินตนาการของเรา เหมือนกับคนแต่งเพลงที่รักที่สื่อสารความรักออกมา แต่เราสื่อสารด้วยภาษาของศิลปะ เพราะศิลปะเป็นการสื่อสารแรก ๆ ของมนุษย์

แผนที่กรุงเทพฯ
แผนที่กรุงศรีอยุธยา

นักวาดเพื่อชีวิต

ผมวาดรูปของผมไปเรื่อย จนกระทั่งคนจำลายมือลายเส้นเราได้ จำสไตล์งานเราได้ การได้สไตล์งานเนี่ยมันมากกว่าถูกรางวัลที่หนึ่งอีกนะ” การหาสไตล์ไม่ใช่เรื่องง่าย และกว่าจะกลายเป็นภาพจำ ‘สไตล์อาจารย์เมืองมนต์’ ของคนหัดวาดหลาย ๆ คน อาจารย์เองก็ผ่านการฝึกฝนมาหลายสิบปี

ในทางกลับกัน เมืองมนต์ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเจ้าของสไตล์การวาดแบบนี้แต่อย่างใด แต่เขาชื่นชอบงานของนักเดินทางชาวอังกฤษ-ชาวฝรั่งเศสสมัยก่อน และนำมาตีความใหม่เป็นเส้นสายของตัวเอง ซึ่งหากใครจะหัดวาดแบบที่เขาวาดบ้าง เขาก็ยินดีมาก

“ทุกวันนี้ผมวาดรูปเพื่อเติมเชื้อไฟ ผมใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตก็จะหาลายเส้นของตัวเองได้ เราก็ไม่อยากจะทิ้ง ผมจะวาดไปจนกว่าจะไม่มีแรง โลกนี้ยังมีอะไรเป็นพันเป็นหมื่นที่ผมยังไม่ได้วาด มัน Never die เลย” เมืองมนต์เล่าด้วยน้ำเสียงที่มีพลังแรงกล้า ทำเอาเราที่ตั้งใจจะถามต่อว่าเขาจะทำยังไงหากรู้สึกหมดไฟพับเก็บคำถามนั้นไป

ที่สำคัญอีกอย่าง ด้วยบทบาท ‘อาจารย์’ เมืองมนต์ได้ส่งต่อความรู้และทักษะการวาดรูปไปให้คนมากมาย ทั้งไลฟ์สอนวาดในเฟซบุ๊ก เปิดคอร์สเรียนโดยมีเด็ก 4 ขวบเป็นลูกศิษย์ซึ่งอ่อนวัยที่สุด และมีคุณลุงอายุ 90 เป็นลูกศิษย์ที่สูงวัยที่สุด

“ยอมรับเลยว่าการวาดรูปเป็นชีวิตของผม ผมมีกินมีใช้เพราะวาดรูป มีชื่อเสียง มีอะไรทุกอย่างก็เกิดจากการวาดรูป ผมยังนึกภาพไม่ออกเลยว่าถ้าวาดรูปไม่เป็น เราจะต้องทำอะไรวะ อาจจะเดินเรื่อยเปื่อยละมั้ง” 

เขาบอกว่าการวาดรูปนั้นต่อยอดไปได้มากมาย รูปวาดเป็นตั้งทั้งหมดก็เป็นลิขสิทธิ์ของเขา อยากจะทำเป็นผลิตภัณฑ์อะไรก็ยังทำได้ หากเด็ก ๆ คนไหนอยากเรียนศิลปะแต่พ่อแม่ไม่สนับสนุน เพราะกลัวชีวิตจะไม่มั่นคง ก็สืบค้นแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคตไปนำเสนอให้ผู้ปกครองฟังก่อนได้

“คนที่กำลังฝึกวาดรูปอยู่ อ่านเสร็จแล้วก็ไปวาดนะ” ชายผู้กลัวฝันร้ายหัวเราะอีกครั้ง “วาดรูปให้มันเสร็จ แล้วจะดีต่อตัวคุณเอง นี่คือสิ่งที่ผมฝากไว้ครับ ไม่มีอะไรลึกซึ้ง ไม่มีคำคมหรือปรัชญาอะไรทั้งสิ้น”

ภาพ : เมืองมนต์ เคหารมย์

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

เจษฎาภรณ์ บัวสาย

เจษฎาภรณ์ บัวสาย

ช่างภาพอาชีพ สารคดีท่องเที่ยว อีเวนท์ และ เวดดิ้ง