เคยมีความรู้สึกอย่างนี้บ้างไหมครับ เวลาเราเดินทางไปต่างประเทศ จะเป็นประเทศอะไรก็แล้วแต่ แล้วเราได้ไปพบเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่มีในบ้านเรา ถ้าของนั้นเป็นเรื่องที่ดีงามเป็นประโยชน์ เราย่อมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงบ้านเราและอยากให้มีของอย่างนั้นเกิดขึ้นบ้าง ผมเชื่อว่าความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นในใจของเราอยู่เสมอ

เมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว กลางปีพุทธศักราช 2523 ผมเดินทางไปศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่นครนิวยอร์กซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ผมได้พบอะไรที่แปลกใหม่หลายอย่าง ซึ่งเวลานั้นไม่มีในบ้านเรา ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น ร้านขายไก่ทอดหรือขายแฮมเบอร์เกอร์ยี่ห้อต่างๆ เรื่อยไปจนถึงเรื่องที่สำคัญกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถใต้ดิน ซึ่งเป็นระบบที่มีโครงข่ายโยงใยครอบคลุมถึงกว่า 400 สถานี แต่ละวันมีคนใช้รถใต้ดินนับล้านคน ในขณะที่ผมผู้เดินทางไปจากเมืองไทยคุ้นเคยแต่การขึ้นรถเมล์หรือรถประจำทาง ที่มีชื่อเสียงในเรื่องของความเสี่ยงภัยและความแออัดติดระดับโลกไม่แพ้ใครเลยทีเดียว

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผมจะตื่นตาตื่นใจกับรถใต้ดินขบวนแรกที่ได้เห็นที่มหานครแห่งนั้นเป็นอย่างยิ่ง ทุกอย่างแปลกตาไปหมด ตั้งแต่อุโมงค์ที่ลงไปจากระดับพื้นดิน ส่วนใหญ่ต้องใช้บันไดเดินเท้าลงไปเอง ไม่มีบันไดเลื่อน ข้อนี้ก็เข้าใจได้ เพราะระบบใต้ดินของเมืองนิวยอร์กสร้างมาตั้งแต่ปีคริสตศักราช 1904 ถ้าคิดเป็นพุทธศักราชแบบบ้านเราก็คือปีพุทธศักราช 2447 ปลายรัชกาลที่ 5 นู่น ตอนนั้นคงยังไม่มีใครรู้จักบันไดเลื่อนกระมัง

พอลงไปถึงสถานีที่อยู่ใต้ดินในระดับความลึกเท่ากับตึกหลายชั้น กลิ่นอายของสถานีรถใต้ดินของนิวยอร์กก็มีความอบอวลที่เป็นกลิ่นเฉพาะของตัวเอง ชนิดที่เขียนคำอธิบายไม่ถูกกันเลยทีเดียว แต่ขบวนรถใต้ดินของเขามาตรงเวลา และมีความถี่อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้

ตลอดระยะเวลาที่ผมได้เรียนหนังสืออยู่ที่นครแห่งนั้น ผมจึงได้ใช้รถใต้ดินของเขาอยู่เสมอ และแน่นอนว่า ในหัวใจและในสมองย่อมมีคำถามว่า เมื่อไหร่บ้านเราจะมีพาหนะเดินทางแบบนี้ สำหรับขนส่งประชาชนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งด้วยความสะดวกสบายตรงเวลาแบบเขาบ้างหนอ

ด้วยความรู้งูๆ ปลาๆ แบบของผม ทำให้พอทราบว่า ระบบรถใต้ดินอย่างนี้เกิดขึ้นที่เมืองลอนดอนเป็นแห่งแรกในโลก คนทั่วไปเรียกเป็นภาษาปากว่า Tube ซึ่งแปลว่าท่อ อันหมายถึงอุโมงค์ที่รถใต้ดินวิ่งไปมานั่นเอง รถใต้ดินของเขาเริ่มให้บริการครั้งแรกเมื่อปีคริสตศักราช 1863 หรือพุทธศักราช 2406 ในรัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ตรงกับรัชกาลที่ 4 ของเมืองไทย เก่าดึกดำบรรพ์ขึ้นไปกว่ารถใต้ดินของนครนิวยอร์กอีกหลายสิบปี

เมื่อผมเรียนหนังสือจบจากนิวยอร์กและกลับมาสอนหนังสือเป็นครูบาอาจารย์อยู่ในเมืองไทย ผมได้ใส่ใจติดตามข่าวคราวเรื่องนี้อยู่เสมอ ว่าเมื่อไหร่บ้านเราจะมีรถใต้ดินกับเขาบ้าง สำหรับชาวบ้านร้านตลาดธรรมดาก็มีความสงสัยเป็นกำลังว่า บ้านเราจะทำรถใต้ดินแบบเมืองอื่นเขาได้หรือ เพราะบ้านเราเป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมอยู่เสมอ ถ้าทำรถใต้ดินแล้วฝนตกหนัก รถใต้ดินต้องจมน้ำแน่เลย อะไรทำนองนี้

ส่วนผมเองนั้นมีความเชื่อตรงกันข้าม ผมนึกว่ามนุษย์เรามีความสามารถเกินกว่ายุคหินยุคโลหะมาไกลมากแล้ว ปัญหาที่คิดว่าน้ำจะท่วมอุโมงค์รถใต้ดินนั้น น่าจะไม่เกินความสามารถของผู้มีความรู้ทางวิศวกรรมซึ่งบ้านเรามีอยู่มากมาย ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ใครจะเป็นคนกล้าตัดสินใจให้มีการลงทุนในเรื่องนี้ และจะเริ่มนับหนึ่งกันเมื่อไหร่ต่างหาก

นอกเหนือจากรถใต้ดินแล้ว ระบบขนส่งมวลชนอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมอยู่ในนานาประเทศ คือจัดให้รถที่ว่าวิ่งอยู่บนดิน หรือยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นรถวิ่งลอยฟ้า โดยทำเสาสูงขึ้นไปรับระบบราง เพื่อให้รถวิ่งอยู่ในระดับที่ไม่ก่อกวนความเป็นไปในระดับพื้นราบของรถยนต์ธรรมดา ระบบนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ผ่านไปอีกร่วม 20 ปี บ้านเราจึงมีการตัดสินใจทำระบบขนส่งมวลชนที่จำเป็นสำหรับมหานครขนาดใหญ่กับเขาบ้าง ในเวลาไล่เลี่ยใกล้เคียงกันก็ทำทั้งรถไฟฟ้าและรถใต้ดินไปพร้อมกัน ถ้าความเข้าใจของผมไม่ผิดพลาด รถไฟฟ้านั้นเป็นเรื่องที่เอกชนมารับสัมปทานไปดำเนินการ ลงทุนเองจัดการเองทั้งหมด มีชื่อบริษัทอย่างเป็นทางการว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เรียกโดยย่อว่า BTS บริษัทนี้ถนัดเหาะเหินเดินอากาศครับ ทำรถไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ระดับยอดเสาสูงตามแนวถนนอย่างเดียว

ส่วนรถขนส่งมวลชนอีกระบบหนึ่งที่เป็นรถใต้ดินนั้น ทางราชการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นเพื่อดำเนินการโดยเฉพาะ เรียกว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เรียกย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า MRT

ด้วยอายุอานามเวลานี้ผมต้องกลับไปค้นคว้าเพิ่มเติมจึงได้ข้อมูลว่า รถที่ผมเรียกเองตามภาษาปากว่ารถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช 2542 และถ้าความทรงจำของผมไม่ผิดพลาด วันที่เปิดอย่างเป็นทางการนั้นคือวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542 ซึ่งเป็นวาระเฉลิมพระชนมพรรษาหกรอบหรือ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินก่อน

ส่วนรถใต้ดินเอ็มอาร์ทีซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนอีกระบบหนึ่งที่จัดสร้างโดยทางราชการ เปิดเดินรถหลังจากนั้นราว 5 ปี คือเริ่มเดินรถ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พุทธศักราช 2547 มีชื่อเส้นทางสายแรกอย่างเป็นทางการว่า เฉลิมรัชมงคล ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าพร้อมด้วยสมเด็จพระพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนรถใต้ดินเป็นสิริมงคลแก่กิจการ ที่เป็นของแปลกใหม่ในประเทศไทยด้วย

ทั้งรถไฟฟ้าและรถใต้ดินเมื่อแรกเปิดทำการนั้นก็มีเส้นทางที่ให้บริการและจำนวนสถานีในเส้นทางไม่มากเท่าไหร่ จากนั้นไปต่างฝ่ายต่างก็ขยายเส้นทางการให้บริการออกไปยืดยาว โดยมีโครงข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งของกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ตัวอย่างเช่นรถไฟฟ้าสายดั้งเดิมที่แต่ก่อนวิ่งจากเพียงแค่หมอชิตไปจนถึงอ่อนนุช เวลานี้ก็วิ่งข้ามพื้นที่ถึงสามจังหวัดเข้าไปแล้ว คือสถานีคูคตที่จังหวัดปทุมธานี วิ่งทะลุกรุงเทพมหานครไปจนถึงจังหวัดสมุทรปราการ มีปลายทางอยู่ที่สถานีเคหะ ใกล้กันกับบางปูโน่น

ส่วนรถใต้ดินที่เดิมวิ่งอยู่ในเส้นทางจากหมอชิตไปถึงหัวลำโพง ตอนนี้ก็ขยายบริการไปไกลมากแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เพิ่งจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเส้นทางต่อขยายของรถใต้ดินดังกล่าวเมื่อไม่กี่เพลามานี้

อย่างไรก็ดี ด้วยที่มาที่ไปที่รถไฟฟ้าบีทีเอสกับรถใต้ดินเอ็มอาร์ทีเป็นกิจการคนละเจ้าของและต่างคนต่างทำมาหาได้ ประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการจึงพบว่า ระบบการเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งมวลชนสองชนิดนี้ไม่ได้ออกแบบให้เป็นการเชื่อมเนื้อเดียวกันมาตั้งแต่ต้น ภาพที่เราพบเห็นจึงเป็นการที่ผู้โดยสารต้องออกจากระบบหนึ่งแล้วเดินไปเข้าอีกระบบหนึ่ง เช่น ที่เกิดขึ้นที่สถานีศาลาแดงของรถไฟฟ้ากับสถานีสีลมของรถใต้ดิน เป็นต้น

ระบบบัตรโดยสารก็คนละกิจการกัน ผมเองไปไหนมาไหนก็ต้องพกบัตรสองใบของแต่ละกิจการติดตัวอยู่เสมอ

ไม่เป็นไรครับ ถึงไม่ได้อะไรเต็มร้อยดั่งใจ แต่เท่าที่มีอยู่เวลานี้ก็ถือว่าใช้การได้ดีแล้วในระดับหนึ่ง เวลาผ่านไปรวดเร็วมากครับ ก่อนที่รถใต้ดินจะเปิดทำการในปีพุทธศักราช 2547 ย้อนหลังไปอีกแปดปี ในวันที่ 19 พฤศจิกายนพุทธศักราช 2539 เมื่อการก่อสร้างรถใต้ดินดำเนินการไปได้ระยะหนึ่งพอที่จะประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แล้ว รัฐบาลได้กราบบังคมทูลพระกรุณาเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ระบบรถใต้ดินที่ว่า โอกาสนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีดังกล่าวที่บริเวณมณฑลพิธีหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพหรือที่ชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไปว่าสถานีหัวลำโพง

ในงานพิธีนั้น ผมมีโอกาสไปร่วมพิธีด้วย แต่ไม่ใช่ในฐานะแขกผู้มีเกียรติอะไรหรอกนะครับ ผมไปทำงานในฐานะผู้บรรยายถ่ายทอดสดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยซึ่งถ่ายทอดงานนั้นไปสู่ความรับรู้ของคนทั้งประเทศ จำได้ว่า มีการสร้างรถโดยสารจำลองเพื่อให้แขกเหรื่อทั้งหลายได้ขึ้นไปสัมผัสบรรยากาศ ‘ตู้โดยสาร’ รถใต้ดินที่จะได้ใช้บริการในอนาคตด้วย

ย้อนตำนาน 24 ปี MRT ผ่านโมเดลรถไฟฟ้าที่แจกในวันวางศิลาฤกษ์

ของชำร่วยที่แจกเป็นที่ระลึกในงานดังกล่าวก็เป็นตู้รถไฟจำลองของรถใต้ดินเหมือนกันกับที่ทำรถขนาดเท่าของจริงตั้งแสดงไว้ในบริเวณงานนั้นแหละครับ ผมไม่แน่ใจว่าเจ้าภาพทำแจกใครบ้าง รู้แต่เพียงว่าตัวเองได้รับแจกมาหนึ่งชิ้น และยังอยู่ในความครอบครองของผมจนวันนี้

ย้อนตำนาน 24 ปี MRT ผ่านโมเดลรถไฟฟ้าที่แจกในวันวางศิลาฤกษ์
ย้อนตำนาน 24 ปี MRT ผ่านโมเดลรถไฟฟ้าที่แจกในวันวางศิลาฤกษ์

คู่กันกับของที่ระลึก สิ่งที่ยังเก็บงำอยู่ที่บ้านของผมเช่นกันคือสูจิบัตรกำหนดการงานพิธีสำคัญดังกล่าว นอกจากกำหนดการรายละเอียดแล้ว ยังมีคำกราบบังคมรายงานของนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี และนายธีระพงษ์ อรรถจารุสิทธิ์ ผู้อำนวยการองค์การรถไฟฟ้ามหานคร (ซึ่งเป็นชื่อเก่าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ในวันนั้นด้วย หน้าปกสูจิบัตรมีตราพระราชพิธีกาญจนาภิเษกเป็นสำคัญ เพราะในปีดังกล่าวเป็นปีมหามงคลที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

ย้อนตำนาน 24 ปี MRT ผ่านโมเดลรถไฟฟ้าที่แจกในวันวางศิลาฤกษ์
ย้อนตำนาน 24 ปี MRT ผ่านโมเดลรถไฟฟ้าที่แจกในวันวางศิลาฤกษ์

แม้จนทุกวันนี้ การก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนทางรถไฟฟ้าและรถใต้ดินก็ยังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายกิจการไปรองรับความต้องการของประชากรที่มีเพิ่มมากขึ้นพร้อมกันกับที่เมืองของเราก็มีขนาดใหญ่โตกว้างขวางขึ้นด้วยเช่นกัน อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเมื่อทุกอย่างสร้างครบตามแผนแล้ว การจราจรที่ติดขัดมโหฬารเพราะการก่อสร้างอยู่ในเวลานี้คงทุเลาเบาบางลง สมใจนึกเราเสียที

ถึงวันนี้ก็โล่งอกแล้วนะครับว่า เมืองไทยของเราทำรถใต้ดินได้โดยน้ำไม่ท่วมอุโมงค์

คนไทยเรานั้นถ้าตั้งใจจะทำอะไรจริงแล้วก็ทำได้ทั้งนั้น โปรดเชื่อ!

Writer

Avatar

ธงทอง จันทรางศุ

คนวัยเกษียณจากอาชีพครูและการทำราชการหลายกระทรวง ผู้รักการอ่านและงานเขียนเป็นชีวิตจิตใจ ใช้เวลาทุกวันคืนอยู่กับหนังสือ ของกระจุกกระจิก และสมบัติพระศุลีทั้งปวง

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน