Movin’On Summit คืองานประชุมสุดยอดว่าด้วยการสัญจรที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Mobility ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา

อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ ทุกปีเหล่าคนทำงานเกี่ยวกับการเดินทางที่ยั่งยืนทุกรูปแบบ ทุกสาขาอาชีพ จากทั่วโลก จะเดินทางมาพบปะเพื่ออัพเดตข้อมูลข่าวคราวความก้าวหน้าที่สุดทุกด้านในงานนี้ เป็นระบบนิเวศที่ชวนคนคิดเหมือนกันมาเจอกัน เพื่อจับมือเดินต่อไปด้วยกัน

Movin’On Summit 2019 จัดด้วยงบประมาณจาก Movin’On Sustainable Mobility Fund ซึ่งมีมิชลินเป็นแกนนำ ตามด้วยเหล่าพันธมิตรอีกกว่า 150 ราย ปีนี้มีนักวิชาการ นักธุรกิจ ข้าราชการ คนทำงานด้านเมือง และสื่อมวลชน 5,000 คน จาก 44 ประเทศ เดินทางมาร่วมงาน ระหว่างวันที่ 4 – 6 มิถุนายน 2562

ในงานนี้มีกิจกรรมพูดคุยทั้งหมด 42 ช่วง โดยวิทยากร 95 คน ถ้าพูดกันแบบไม่ลำเอียง ช่วงที่เรียกเสียงปรบมือในงานได้กึกก้องที่สุด คือการพูดช่วงแรกหลังเปิดงาน เป็นช่วงที่เนื้อหาน่าตื่นตาและแตกต่างจากช่วงอื่นๆ ในงาน เพราะพูดเรื่องการออกแบบสวนสาธารณะในเมืองเพื่อช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วิทยากรคนนั้นเป็นชาวไทยชื่อ กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกจากบริษัท Landprocess

ผู้จัดงานรู้จักเธอผ่านสื่อระดับนานาชาติและการขึ้นพูดบนเวทีสำคัญในหลายประเทศ จบจากงานนี้เธอก็เดินทางต่อไปพูดที่คอสตาริกา

(รออ่านบทสัมภาษณ์เธอแบบเต็มๆ ได้เร็วๆ นี้ที่ The Cloud)

ปีที่แล้ว The Cloud พาไปทำความรู้จักภาพรวมของงาน Movin’On Summit ไปแล้ว ปีนี้เราขอเปลี่ยนมาเล่าทิศทางของการเดินทางที่โลกกำลังจะมุ่งไป ซึ่งเราได้มาจากการพูดคุยกับ Florent Menegaux, CEO of the Michelin Group และผู้บริหารระดับสูงของมิชลินอีกหลายคน รวมถึงผู้คนมากมายที่มีส่วนร่วมกับงานนี้ในรูปแบบต่างๆ

สิ่งที่เห็นได้ชัดมากจากงานนี้ก็คือ ทิศทางการพัฒนายวดยานพาหนะในอนาคต ไม่มี ‘น้ำมัน’ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป ถ้าอธิบายด้วยคำศัพท์สวยๆ ก็ต้องบอกว่า ตอนนี้เป็นยุคของ

Decarbonization หรือ Low-carbon Economy

ถ้าน้ำมันกำลังจะไป แล้วอะไรบ้างที่กำลังจะมา

ไปดูกัน

01

รถยนต์จะเริ่มใช้ยางไร้ลมในอีก 5 ปี

Movin’On Summit 2019

เขียนกันแบบไม่ได้อวยเจ้าภาพ แต่เรื่องที่ว้าวที่สุดในงานนี้คือการเปิดตัวยางรุ่นใหม่ของมิชลิน

อัพทิส คือยางรถยนต์รุ่นที่ว่า Uptis ย่อมาจาก Unique Puncture-proof Tire System หมายถึงระบบยางป้องกันการแตกรั่วซึม

แล้วยางที่เรียกว่า Low carbon emission tyre รุ่นนี้ดียังไง

ต้องเริ่มต้นเรื่องกันจากแนวทางในการทำธุรกิจของมิชลินที่เน้นความยั่งยืน ยางรถยนต์ที่มิชลินอยากจะมุ่งไปก็คือ ยางที่เป็นมิตรต่อโลก จากข้อมูลว่า ในแต่ละปีมียางรถยนต์ราว 200 ล้านเส้นที่กลายมาเป็นเศษยางก่อนเวลาอันควรเพราะแตกรั่ว ดังนั้นมิชลินจึงตั้งใจผลิตยางที่จะไม่แตกรั่ว เลยเกิดเป็นยางไร้ลมรุ่นนี้ พอไม่ต้องใช้ลม ก็ไม่แตก ทำให้ขับขี่ได้ปลอดภัยขึ้น ประหยัดเวลาในการเอารถเข้าศูนย์ไปซ่อมบำรุงยาง เพราะยางรุ่นนี้แทบจะไม่ต้องการการซ่อมบำรุงใดๆ เมื่อผลิตยางน้อยลงก็ใช้วัตถุดิบน้อยลง หนำซ้ำยังไม่มีการใช้วัตถุดิบที่เป็นปิโตรเคมี ทั้งหมดเป็นวัสดุจากธรรมชาติ หรือวัสดุที่มาจากการรีไซเคิลยางเก่า นอกจากนี้ยังใช้เครื่องพิมพ์สามมิติพิมพ์ดอกยางเพิ่มได้ตลอด

Movin’On Summit 2019

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เมื่อไม่มีปัญหายางรั่ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องพกยางอะไหล่และแม่แรง รถจึงเบาขึ้นและประหยัดน้ำมันขึ้น

ยางรุ่นอัพทิสผลิตคิดค้นโดยมิชลิน แต่นำไปทดสอบและร่วมวิจัยโดยผู้ผลิตรถชื่อดังอย่างค่ายจีเอ็มมอเตอร์ ซึ่งในขั้นต้นถูกนำไปใช้กับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เชฟโรเลต โบลต์ อีวี (Chevrolet Bolt EV) และเตรียมจะใช้จริงได้เร็วที่สุดในปี 2024 แต่เท่าที่ทดลองก็ได้ผลน่าพอใจ เพราะใช้กับรถยนต์ได้เหมือนยางปกติ และยังทำความเร็วได้สูงสุดถึง 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เป็นนวัตกรรมที่จะมาเปลี่ยนวงการยางรถยนต์แน่นอน

02

รถประเภทไหนๆ ก็ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

รถยนต์พลังงานไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะยวดยานมากมายได้เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมันเรียบร้อยแล้ว แบบที่เรียกว่า BEV หรือ Battery Electric Vehicles ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถบรรทุก รถส่งของขนาดเล็ก รถกระบะ รถบัส รถขนขยะ รถพยาบาล และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าประเภท High Performance แบรนด์ Essence ทำความเร็วได้สูงถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเข้าไปแล้ว

ปัจจัยที่ช่วยเร่งให้รถไฟฟ้าเหล่านี้เติบโตด้วยความรวดเร็วก็คือ การออกกฎหมายมาช่วย เช่นสวีเดนมีกฎหมายว่าเตรียมจะห้ามใช้รถบางประเภท หรือฝรั่งเศสที่ออกกฎหมายว่าหลังปี 2040 ฝรั่งเศสจะไม่มีรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแบบปัจจุบันวางขายอีกต่อไป

03

จักรยานไฟฟ้า ยังมีนวัตกรรมที่มากกว่าแค่ติดมอเตอร์

Movin’On Summit 2019

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แบรนด์จักรยานทั้งโลกต่างเห็นพ้องว่า เทรนด์จักรยานไฟฟ้ากำลังมา เลยเร่งผลิตจักรยานไฟฟ้ากันใหญ่ โดยหลักการก็ไม่มีอะไรยาก แค่ติดเครื่องยนต์ไฟฟ้าเล็กๆ เข้าไปช่วยขับเคลื่อนล้อหลัง และหาที่ใส่แบตเตอรี่ให้ได้ แต่ความยากก็คือ น้ำหนักของจักรยานและราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

ในงานนี้มีผู้ผลิตจักรยานไฟฟ้าสองรายมาออกบูท รายแรกชื่อแบรนด์ Rool’in ลดปัญหาความยุ่งยากในการยกแบตเตอรี่ออกไปชาร์จด้วยการติดแผงโซลาร์เซลล์บนเฟรมจักรยาน จะขี่หรือจะจอดก็ชาร์จไฟได้ ถ้ามีแสงแดด

อีกแบรนด์ขายอุปกรณ์เสริมที่พร้อมเปลี่ยนจักรยานทุกคันให้เป็นจักรยานไฟฟ้า ด้วยการเสียบก้านพิเศษไว้กับดุมล้อหน้า ให้มอเตอร์ติดกับผิวหน้าของล้อ เมื่อมอเตอร์ทำงาน รถก็จะวิ่งฉิวขึ้นทันที แต่เราต้องหาที่ติดแบตเตอรี่ให้ได้ด้วยนะ

04

แท็กซี่ลูกผสมระหว่างเครื่องบินกับเฮลิคอปเตอร์กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติ

ในงานนี้มีสองบริษัทจากสองชาติมาเปิดตัวสิ่งประดิษฐ์ที่ใกล้เคียงกันมาก เริ่มจากแบรนด์ Ascendance ของฝรั่งเศส ซึ่งทีมงานเป็นกลุ่มที่ยกกันมาจากบริษัท Airbus ที่ปารีส พวกเขาออกแบบเครื่องบินเล็กซึ่งไม่ต้องการพื้นที่ take off และ landing แต่ใช้วิธีขึ้นลงแนวดิ่งแบบเฮลิคอปเตอร์ (เงียบกว่าเยอะ) พอขึ้นได้แล้วค่อยบินแบบเครื่องบิน เครื่องบินไฮบริดรุ่นนี้บรรทุกนักบินได้ 1 คน และผู้โดยสาร 2 คน

อีกแบรนด์ Leap Aeronautics สัญชาติอินเดีย การทำงานของเครื่องค่อนข้างใกล้เคียงกับแบรนด์แรก ต่างกันที่บรรทุกผู้โดยสารได้ 4 คน บินได้ไกลถึง 200 กิโลเมตร และที่สำคัญ มันเป็นเครื่องบินที่ใช้พลังงานไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์

05

Energy Sharing Economy

เมื่อมีรถไฟฟ้าก็ต้องมีที่ชาร์จ ปัญหาที่ถกเถียงกันมานานก็คือ ใครคือคนที่ต้องลงทุนในระบบนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ หรือ เมือง หรือ ปั๊มน้ำมัน หรือ ผู้บริโภคเอง สตาร์ทอัพที่ชื่อ Watt Pack ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ได้แบบหมดจด

Movin’On Summit 2019

Watt Pack ขายที่ชาร์จไฟสำหรับรถไฟฟ้าราคาอันละ 599 ยูโร วิธีใช้ก็แสนง่าย แค่เสียบปลั๊กเข้ากับระบบไฟของบ้านเรา เราก็จะมีที่ชาร์จสำหรับรถไฟฟ้าแล้ว แต่ความเจ๋งคือ ถ้าเราติดที่บ้าน เราคงได้ใช้งานช่วงเวลาสั้นๆ คือตอนเย็นเมื่อกลับถึงบ้าน กลางวันก็ไม่ได้ใช้งาน Watt Pack เป็นระบบที่ทำให้เรากลายเป็นผู้ให้บริการพลังงานโดยอัตโนมัติ ถ้าเปิดผ่านแอปพลิเคชันจะเห็นว่า มีเจ้าเครื่องนี้อยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งเรากำหนดค่าไฟได้เอง โดย Watt Pack ขอส่วนแบ่งแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเจ้าของรถไฟฟ้าจึงมีช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่ม เช่นเดียวกับห้างร้านหรือสำนักงานต่างๆ ที่ติดเพื่อเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ ทั่วทั้งเมืองก็เลยมีจุดให้บริการไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้ามากมายทันที โดยที่เมืองไม่ต้องลงทุนอะไรเลย

06

แบตเตอรี่คือผู้ชี้ชะตาความรุ่งของรถไฟฟ้า

Movin’On Summit 2019

หนึ่งในผู้กุมอนาคตของรถไฟฟ้าก็คือ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ ถ้าเรามีแบตเตอรี่ ที่เก็บไฟได้เยอะขึ้นและขนาดเล็กลง มันก็ยิ่งทำให้ผู้ผลิตรถไฟฟ้าทั้งหลายมีลูกเล่นและทางไปได้มากขึ้น ในงานนี้มีผู้ผลิตแบตเตอรี่มาออกบูทหลายราย นวัตกรรมที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นการพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถไฟ นั่นหมายความว่า ถ้าจะให้รถไฟใช้ไฟฟ้า ไม่จำเป็นต้องเดินสายไฟหรือปล่อยไฟฟ้าลงรางเพื่อส่งพลังงานไปตลอดทาง แต่ใช้วิธีใส่ถ่านเหมือนรถไฟของเล่นได้

ตอนนี้มีแบตเตอรี่สำหรับรถไฟที่ทำให้รถไฟวิ่งได้ประมาณหนึ่งชั่วโมงแล้ว นั่นก็หมายความว่า ถ้าระบบรถไฟไหนอยากเปลี่ยนรถไฟที่วิ่งอยู่จากน้ำมันเป็นไฟฟ้าก็ใช้รางเดิมได้ทันที

ผลพลอยได้อีกอย่างจากการพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าก็คือ เราจะมีแบตเตอรี่คุณภาพดีราคาถูกสำหรับเก็บพลังงานจากโซลาร์เซลล์ด้วย ซึ่งตอนนี้แบตเตอรี่มีราคาแพงเท่าๆ กับแผ่นโซลาร์เซลเลย

07

รถยนต์พลังงานน้ำมาแน่

Movin’On Summit 2019

ทุกคนพูดตรงกันว่า อนาคตของยานพาหนะทั้งหลายไม่ใช่แค่ใช้พลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมัน แต่พลังงานไฟฟ้านั้นน่าจะมีแหล่งกำเนิดมาจากน้ำ หรือ Hydrogen Fuel Cell ซึ่งพัฒนากันมา 15 ปีแล้ว และมีข้อดีอย่างหนึ่งที่ดีกว่ารถไฟฟ้าก็คือ ใช้ระยะเวลาเติมน้ำแค่ 3 นาที ไม่นานเหมือนการเสียบปลั๊กชาร์จ

ในงานโตโยต้าเอารถยนต์พลังงานน้ำมาโชว์ให้เห็นกันชัดๆ ว่า ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แล้วก็มีผู้ผลิตเครื่องยนต์ 2 รายมาออกบูท รายแรกเป็นบริษัทในเครือมิชลินชื่อ Symbio ผลิตเครื่องยนต์พลังงานน้ำให้กับรถทุกประเภท ตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ไปจนถึงรถบรรทุก ที่เทคโนโลยีก้าวหน้าเร็วขนาดนี้ก็เพราะในฝรั่งเศสมีพื้นที่ที่เรียกว่า Zero Emission Valley เป็นจุดที่รัฐบาลฝรั่งเศสทุ่มงบมหาศาลลงไปเพื่อสนับสนุนการสร้างรถยนต์พลังน้ำ

อีกแบรนด์ชื่อ Refire จากจีน ซึ่งก็ผลิตเพื่อส่งให้รถยนต์หลายประเภทเช่นกัน

Movin’On Summit 2019

08

ไฮเปอร์ลูปจะมาแทนรถไฟความเร็วสูง

Movin’On Summit 2019

ไฮเปอร์ลูปหรือรถไฟที่วิ่งอยู่ในท่อแบบพุ่งเป็นกระสวยนั้นฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่มันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราขึ้นมาเรื่อยๆ ในงานนี้มีผู้ผลิตไฮเปอร์ลูป 2 รายมา รายแรกเป็นชาวโปแลนด์ชื่อ Hyper Poland ออกแบบระบบที่ดัดแปลงรางรถไฟธรรมดาให้ใช้กับรถไฟไฮเปอร์ลูปได้โดยไม่ต้องทำอุโมงค์ วิ่งได้เร็วสุด 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

Movin’On Summit 2019

อีกเจ้าคือ Transpod เป็นแบรนด์แคนาดาที่เข้ามาศึกษาตลาดในเมืองไทย เขาพบว่า เราสามารถเปลี่ยนโครงสร้างเสาและรางของรถไฟความเร็วสูงให้กลายเป็นไฮเปอร์ลูปได้ โดยไม่เสียงบประมาณเพิ่มมากนัก แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ รถไฟทำความเร็วได้ถึง 700 – 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะใช้เวลาเพียงแค่ 52 นาทีเท่านั้น

09

Big Data คือสิ่งสำคัญ

ในงานมีหลายบริษัทที่ทำเรื่องข้อมูล อย่างเช่น Driving Data to Intelligence หรือ DDI ซึ่งเป็นบริษัทในเครือมิชลิน บริษัทนี้เก็บข้อมูลการสัญจรของคนผ่านการขอติดอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งไว้ที่กระจกรถยนต์ ตัวมันเองใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จึงพร้อมส่งข้อมูลกลับมาหาศูนย์ได้ตลอด ข้อมูลที่บันทึกก็คือการเคลื่อนที่ของรถแบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์ต่อให้เป็นอะไรก็ได้ เช่น เส้นทางที่ใช้ ความเร็วของการเดินทาง ตอนนี้มีการติดอุปกรณ์ชิ้นนี้กับรถ 25,000 คัน ในฝรั่งเศส อเมริกา และเมืองควิเบกของแคนาดา โดยเจ้าของรถจะได้รับค่าตอบแทนด้วย ข้อมูลที่ได้มาก็พร้อมขายให้กับคนที่ต้องการ ซึ่งหลักๆ ก็คือคนที่ทำงานด้านเมืองและการสัญจร เพื่อนำไปใช้วางแผนประกอบการทำนโยบายต่างๆ

ส่วนบริษัท Natitech ก็มีระบบให้คนทดลองขับรถแบบเสมือนจริงหรือ Simulator โดยติดแว่นเพื่อดูว่าสายตาเรามองจุดไหนในจอ และเครื่องวัดชีพจร กิจกรรมนี้เป็นการเก็บพฤติกรรมการขับขี่ที่น่าสนใจ เพราะทำให้รู้ว่าคนขับรถจะหันมองซ้ายขวา มองกระจกข้างในสถานการณ์แบบไหน จะมองบิลบอร์ดข้างทางไหม ถ้ามอง ภาพแบบไหนที่ทำให้คนมอง และมองมันนานแค่ไหน รวมไปถึงพฤติกรรมการเปลี่ยนเลน การแซง การเบรก ข้อมูลเหล่านี้เหมาะกับคนที่กำลังพัฒนาระบบรถยนต์ไร้คนขับ มันจะช่วยให้เหล่า AI ขับรถได้เหมือนคนจริงๆ มากขึ้น คนทำโฆษณาก็ใช้ข้อมูลชุดนี้ได้ และกลุ่มเป้าหมายสำคัญก็คือ บริษัทประกันที่จะใช้กับลูกค้าของเขา เพื่อดูว่าถ้าขับรถแบบนี้ควรคิดเบี้ยประกันเท่าไหร่

10

AI อยู่ในรถทุกรูปแบบ

Movin’On Summit 2019

เราได้ยินเรื่องรถยนต์ไร้คนขับอยู่บ่อยๆ แต่ AI ไม่ได้นำมาใช้แค่ขับเคลื่อนรถยนต์โดยสารเท่านั้น ในงานนี้มีหน่วยงานที่ช่วยให้ข้อมูลการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้กับรถประเภทต่างๆ อย่างเช่นในภาคเกษตร ก็นำ AI ไปใช้ควบคุมรถไถ รถถอนวัชพืช เพื่อสั่งให้มันถอนเฉพาะวัชพืชที่ต้องการ แล้วเราก็ยังเห็นการดึงเอา Big Data มาปรับปรุงการตัดสินใจของ AI เพื่อให้คล้ายมนุษย์ที่สุดมากขึ้นอีก

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป