ถ้าโลกคู่ขนานมีจริง..

บอล อาจกำลังเป็นวิศวกรอยู่บริษัทใดสักแห่ง หรือข้องเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์ที่เขารัก

ยอด อาจเป็นพนักงานโรงงานเบียร์หรือเครื่องดื่มชูกำลัง ตามสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารที่ร่ำเรียนมา

แต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ชีวิตของทั้งคู่โคจรมาพบกันที่ชมรมแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรู้จักการทำหนัง ซึ่งเปลี่ยนเส้นทางเดินของพวกเขาตลอดกาล 

ไม่มีใครคิดว่ามนตร์เสน่ห์ภาพยนตร์จะพาบอลและยอดออกไปท่องโลกกว้าง จนเกิดเป็น ‘หนังพาไป’ สารคดีการเดินทางที่มีแฟนคลับเหนียวแน่นที่สุดรายการหนึ่งในเมืองไทย 

ในสมัยที่รายการท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีพิธีกรหล่อสวย ชื่อเสียงโด่งดัง ถ่ายทำอลังการ สองหนุ่มโนเนมฉีกทุกตำรา ทั้งพกกล้องวิดีโอไปถ่ายเอง แต่ละทริปกินใช้อย่างประหยัด แบกเป้ระหกระเหิน แต่ด้วยความสนุกสนานเหมือนได้เที่ยวกับเพื่อน แถมเขายังกล้าตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ส่งผลให้ หนังพาไป ขึ้นทำเนียบรายการยอดฮิตของสถานี Thai PBS ถึงขั้นเคยจัดงานแฟนมีตติ้งมาแล้ว

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอชวนไปคุยกับ บอล-ทายาท เดชเสถียร และ ยอด-พิศาล แสงจันทร์ ถึงการเดินทางยาวนาน 10 ปีจากวันแรกที่ออกอากาศ ความฝันและการเติบโตของทั้งคู่ ตลอดจนความคืบหน้าของซีซั่นที่ 5 ซึ่งเตรียมพบผู้ชมในช่วงต้นปีหน้า อีกไม่นานเกินรอแน่นอน!

01

เงิน 200 บาทกับเทศกาลหนังต่างประเทศ 

ใครที่ติดตาม หนังพาไป ซีซั่นแรกๆ คงจำภาพแอนิเมชันไตเติ้ลรายการที่มีคณะกรรมการจอมโหดรุมสับความฝันทั้งคู่จนไม่มีชิ้นดี เหตุการณ์นี้มาจากเรื่องจริง

ย้อนเวลากลับไป พ.ศ. 2544 สมัยที่บอลเรียนอยู่ปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ เขาสมัครเข้าชมรมค่ายสร้างสรรค์เยาวชน นอกจากการออกค่ายแล้ว ชมรมนี้ยังมีระบบให้นิสิตทดลองทำสิ่งที่สนใจ ตั้งแต่ทำบัญชี สันทนาการ และอีกสารพัด เพื่อค้นหาว่าอะไรที่ชอบ ไม่ชอบ เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งจะช่วยในการเลือกอาชีพต่อไป 

แม้เลือกเรียนวิศวะฯ เพื่อความมั่นคง แต่บอลมีความฝันอยากทำหนังมาตั้งแต่มัธยมแล้ว เวลาดูหนังจบเขาชอบไปยืนจับจอ ฝันว่าจะมีหนังของตัวเองฉายบนจอใหญ่ๆ บ้าง วันหนึ่งบอลจึงชวนสมาชิกคนอื่นๆ มาช่วยกันผลิตภาพยนตร์สั้นแบบลองผิดลองถูก

หนังเรื่องนั้นชื่อ เหรียญบาท มาจากเรื่องสั้นของรุ่นพี่ เล่าถึงเด็กสองคนซึ่งเป็นเพื่อนกัน แต่มิตรภาพกลับสั่นคลอนเมื่อทั้งคู่พบเงินหนึ่งบาทตกอยู่บนพื้น กระบวนการเริ่มตั้งแต่คัดเลือกนักแสดง ถ่ายทำ ตัดต่อ โดยระหว่างนั้นเพื่อนร่วมชมรมหลายคนแวะเวียนมาช่วยในขั้นตอนที่ตัวเองสนใจ

แต่มีเพียงคนเดียวที่อยู่ช่วยตั้งแต่ต้นจนจบ และค้นพบว่าเขาเองก็หลงใหลภาพยนตร์เช่นกัน นั่นคือ ยอด รุ่นพี่ปี 3 จากคณะอุตสาหกรรมการเกษตร

“สงสาร ไม่มีใครช่วย ตอนถ่ายมันสนุก ทุกคนมาช่วยกันหมด แต่คนที่จะอยู่ช่วยตลอด ต้องเข้าใจงานแล้วก็ชอบจริงๆ เราชอบงานนี้ตรงที่มันเอาตัวหนังสือมาสร้างเป็นภาพให้เราเห็นได้” ยอดเล่าย้อนถึงช่วงเวลานั้น 

“เราเห็นความมหัศจรรย์ของการทำหนัง ภาพที่เราเห็นเป็นภาพเดียวกันกับที่ทุกคนได้เห็น ได้ยินเสียงแบบที่เราจินตนาการไว้ มันออกมามีตัวตนขึ้นมาบนจอ มีชีวิต รู้สึกดีกับวินาทีนั้น” บอลเล่าบ้าง

ความจริงแล้วหนังเกือบไม่เสร็จ เพราะบอลมีเงินไม่พอค่าเช่าห้องตัดต่อ เขาแทบร้องไห้ แต่โชคดีมีพี่คนรู้จักที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยช่วยตัดต่อให้ กระทั่งหนังสั้นเรื่อง เหรียญบาท สำเร็จและได้รับเลือกให้ฉาย ณ มูลนิธิหนังไทย ช่วยปลุกจิตวิญญาณการทำหนังของบอลให้ลุกโชนขึ้นมา 

“นั่นเป็นการลองทำฝันครั้งแรก สำหรับเรามันยิ่งใหญ่มาก เพราะว่าสมัยนั้นเกษตรฯ ไม่มีคณะด้านนี้ ไม่มีเพื่อนที่รู้ด้านนี้เลย เป็นก้าวแรกๆ ที่กลายมาเป็น หนังพาไป” บอลกล่าว

หลังจากนั้นบอลและยอดก็สนุกกับการทำหนังสั้นส่งประกวดตามเวทีต่างๆ คว้ารางวัลได้บ้างไม่ได้บ้าง จนมาถึงเวทีการประกวดหนังผีงานหนึ่ง ทั้งคู่ส่งหนังเรื่อง กลางวันแสกๆ (Day-light Ghost) ที่ลงเงินกันคนละ 100 บาทและใช้เวลาถ่ายทำเพียงวันเดียว ปรากฏว่าหนังผีกะเทยของพวกเขาชนะใจผู้ชมจนคว้ารางวัล Popular Vote

แต่แทนที่จะกลับบ้านอย่างมีความสุข เรื่องราวกลับพลิกไปอีกด้าน เมื่อกรรมการท่านหนึ่งพูดว่า มีหนังเรื่องหนึ่งที่มีศักยภาพพอจะไปประกวดเมืองนอกได้ สองหนุ่มหูผึ่งแอบหวังให้เป็นผลงานของพวกเขา เพราะสมัยนั้นหนังใครไปเมืองนอก เมื่อกลับมาก็มักได้รับโอกาสให้ทำงานเป็นผู้กำกับจริงๆ

“ถ้าเราไม่ถามคงสงสัยไปจนตาย พอเลิกงานก็เลยตัดสินใจเดินเข้าไปถาม หนังที่พูดถึง หนังผมหรือเปล่าครับ เขาก็มองด้วยสายตาเหยียดหยามมาก อ๋อ ไม่ใช่หนังน้อง ตอนนั้นรู้สึกเหมือนเราขึ้นไปยืนบนภูเขา แล้วถูกถีบตกหน้าผาลงมาจุดต่ำที่สุด” บอลเล่าเหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืม

บอลกลับบ้านด้วยความรู้สึกแพ้พ่าย รางวัลที่ได้มาแทบไม่มีความหมาย จากความผิดหวังแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ เขาจึงเข้า Google พิมพ์คำว่า Film Festival จนพบความจริงว่า ทุกคนสามารถส่งหนังไปเทศกาลเอง เพียงแค่ไรต์หนังลงดีวีดี ทำเอกสารและทำซับไตเติ้ลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วส่งไปรษณีย์ จากนั้นทั้งคู่จึงส่งหนังสั้นเรื่อง กลางวันแสกๆ ไปยังเทศกาล 10 แห่งทั่วโลก พอได้ส่งแล้วก็สบายใจ ไม่คาดหวัง เพราะรู้อยู่แล้วว่าคุณภาพงานไม่ได้ดีถึงขั้นนั้น 

เรื่องราวเงียบหายเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ระหว่างนั้นบอลเรียนจบและทำงานลำดับภาพอยู่ที่บริษัทผลิตสารคดีแห่งหนึ่ง ส่วนยอดตระเวนรับถ่ายวิดีโอ ตัดต่อ ถ่ายภาพเบื้องหลังกองถ่าย ปรากฏวันหนึ่งมีอีเมล 2 ฉบับ เด้งขึ้นมาแจ้งว่า หนังของพวกเขาได้รับคัดเลือกให้ไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Magma – mostra di cinema breve ประเทศอิตาลี กับ Lausanne Underground Film & Music Festival ประเทศสวิตเซอร์แลนด์!

“มันเกินฝันเรา ตอนนั้นพิสูจน์ว่า ทำไมจะต้องให้คนคนหนึ่งมาตัดสินว่างานเราดีหรือไม่ดี ในเมื่อคนมีเป็นพันล้านคนทั่วโลก มันต้องมีคนที่ชอบเหมือนกับเราอยู่สักที่แน่ๆ” บอลกล่าว

แม้ทางเทศกาลไม่ได้ส่งตั๋วเครื่องบินมาให้เพราะว่าหนังยาวเพียง 10 นาที แต่ไม่อาจหยุดยั้งความตั้งใจของทั้งคู่ บอลและยอดลองขอทุนจากมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าอธิการบดีอนุมัติ จึงได้ไปเมืองนอกตามที่ฝันไว้ 

การเดินทาง 10 ปีของบอล ยอด และหนังพาไปที่แม่บอลเคยถามว่าใครจะดู สู่ซีซั่นใหม่ในปี 64

02

มหากาพย์ก่อนจะเป็น หนังพาไป

การเดินทางข้ามทวีปครั้งแรกในชีวิต เปิดประสบการณ์ของบอลและยอดอย่างมาก

พวกเขาตื่นเต้นกับทุกสิ่งตรงหน้า ทั้งห้องน้ำสาธารณะที่สะอาด รถไฟที่ตรงเวลา รถเมล์ที่ไม่มีพนักงานเก็บค่าโดยสาร สองหนุ่มสงสัยกระทั่งว่า คนยุโรปตากผ้ากันอย่างไร ในเมื่ออากาศหนาวและหิมะตก

“โลกยุคยี่สิบปีก่อน ค่าตั๋วเครื่องบินแพง คนมีโอกาสไปเมืองนอกน้อยมาก ขึ้นเครื่องบินที เขาจะใส่สูทผูกไทด์ ญาติพี่น้องมาส่ง เอาพวงมาลัยมาคล้อง เวลาไปจริงๆ เราจึงตื่นเต้นกับทุกสิ่ง มีแบบนี้ด้วยเหรอ เมืองไทยไม่มี เหมือนเรามองด้วยสายตาของคนที่ไม่เคยไปเมืองนอกมาก่อน” ยอดอธิบาย 

ทั้งสองไม่ได้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย ยอดเป็นคนนครสวรรค์ แม่เป็นครู พ่อเป็นอัยการ แต่ที่บ้านมีหนี้ที่ต้องช่วยกันใช้ แม่เก็บออมเงินให้ยอดเดือนละ 100 บาท ตั้งแต่เขาเกิด ซึ่งตอนหลังยอดขอถอนออกมาจนหมดเป็นทุนเพื่อไปเทศกาลหนัง 

ส่วนบอลเป็นลูกคนเดียวของครอบครัวลูกจ้างประจำกรมชลประทาน หลายครั้งที่เงินไม่พอใช้ จึงต้องไปขอเงินแม่ แต่เมื่อท่านเกษียณแล้วเขาก็ไม่อยากไปรบกวนอีก 

“ด้วยความที่เราไม่มีตังค์เนี่ย จึงต้องไปแบบประหยัดที่สุด ที่พักก็ต้องถูกที่สุด บางทีซื้อข้าวไม่ได้ ต้องซื้อแค่ขนมปังจากในตลาดมานั่งกินอยู่ในมุมอับๆ ให้พออิ่ม เพราะเราอยากเที่ยว ตอนนั้นเราเด็ก ทนได้อยู่แล้ว นอนบนรถไฟชั้น สาม ถูกที่สุด แล้วพบว่าสิ่งที่เจอสนุกจัง มันมีความขัดแย้งตลอดเวลาเลย เพราะเราไปแบบไม่ง่าย ทุกอย่างมีปัญหาหมด โจทย์คือต้องถูกที่สุด ประหยัดที่สุด แค่นี้มันคือพล็อตหนัง มันคือสารคดีการเดินทางได้เลย” บอลอธิบาย 

การไปเทศกาลหนังที่อิตาลีกับสวิตฯ ทำให้ทั้งคู่เกิดไอเดียอยากทำหนังสารคดีเรื่องยาว เล่าประสบการณ์ในต่างแดนของมนุษย์จากประเทศโลกที่ 3 ตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ โดยคิดว่าฝรั่งน่าจะชอบ พวกเขาหวังจะส่งหนังเรื่องนี้ไปเทศกาลอื่นๆ และได้รับเชิญไปต่างประเทศต่อไปเรื่อยๆ 

ทริปต่อมาที่เยอรมนีกับฝรั่งเศส จึงพกม้วนเทปไปเก็บภาพตลอดการเดินทาง รวมถึงทำสารคดีเพิ่มคือ มอแกนป่ะ? หนังสองเรื่องนี่เองที่พาทั้งคู่เดินทางท่องไปอีกหลายประเทศ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น ไซปรัส และตุรกี

ผลจากความอยากกลายเป็นฟุตเตจจำนวนมหาศาล บอกเล่าตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอน ไม่แปลกเลยว่าทำไมเขาจึงไม่สามารถตัดต่อออกเป็นหนังสารคดีความยาว 120 นาทีได้ตามที่ตั้งใจ

ระหว่างที่คิดกันว่าควรทำอย่างไรดี เป็นจังหวะเดียวกับที่ Thai PBS หรือชื่อเดิมว่า ‘ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ’ กำลังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายเล็กๆ ยื่นโครงการผลิตรายการสร้างสรรค์ ทั้งคู่จึงทดลองตัดต่อเทปเดโม่ส่งเข้าไป 

“ทำไมมันตรงล็อกขนาดนี้ ตรงไปหมดเลย หนังยาวของเราที่จะยาวมากๆ แบบพระนเรศวร เราก็เอามาย่อยเป็นรายการได้นี่นา เลยลองทำส่งดู” ยอดเล่าแล้วหัวเราะ

กลาง พ.ศ. 2552 มีเจ้าหน้าที่จากสถานีติดต่อแจ้งผลเข้ามาว่ารายการได้ผ่านการคัดเลือกแล้ว แต่ต้องรออนุมัติในผังใหญ่ และเซ็นสัญญาอีกที

ทั้งคู่เริ่มมีหวัง ความฝันเขยิบใกล้ความจริง แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปก็ยังไม่มีการติดต่อใดๆ กลับมา 

“ขั้นตอนนี้ใช้เวลานานมาก เราไม่มีโอกาสรู้คำตอบเลยว่า เขาจะเอาหรือไม่ ทุกวันตื่นขึ้นมามองไปที่โทรศัพท์ว่ามีใครโทรมาไหม ผ่านไปหนึ่งเดือน สองเดือนก็ยังเงียบ ระหว่างที่รอ เราก็ตัดต่อรายการไปเรื่อยๆ ไปทำงานอื่นก็ไม่ได้ กลัวว่าเกิดทางสถานีตอบรับ เราจะทำเทปออกอากาศไม่ทัน จะถอยหลังกลับก็ไม่ได้ มันมองไม่เห็นแสงสว่างเลย ระหว่างนั้นก็ให้กำลังใจกันไปเรื่อยๆ” บอลเล่าถึงช่วงสุญญากาศครั้งใหญ่

“ท้อ คิดว่าทำไมมันยังไม่มีอะไรดีๆ เกิดขึ้นกับชีวิตเสียที เงินใช้จ่ายบางเดือนมีแค่สามพันบาท ไปเดินห้างได้แต่คิดว่า รอให้มีเงินจะกลับมาซื้อ ดูหนังสักเรื่องก็กระทบแล้ว ต้องประหยัดเพราะถ้าเงินหมดก็ไม่รู้จะไปขอยืมใคร เราต้องสำรองเงินให้มากที่สุด เผื่อว่าวันหนึ่งเกิดได้ทำรายการ จะได้มีเงินไปถ่ายทำต่อ” ยอดเล่าบ้าง 

หลังตัดๆ แก้ๆ รอคอยอยู่นับปี ในที่สุดสถานีก็แจ้งข่าวดีว่าให้เริ่มทำได้เลย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสารคดีการเดินทางที่มีคนรักมากที่สุดรายการหนึ่ง 

การเดินทาง 10 ปีของบอล ยอด และหนังพาไปที่แม่บอลเคยถามว่าใครจะดู สู่ซีซั่นใหม่ในปี 64

03

รายการเดินทางที่ฉีกทุกตำรา

เทปแรกของ หนังพาไป ออกอากาศคืนวันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 3 ทุ่มครึ่ง เปิดฉากตอนที่บอลและยอดเดินทางมาถึงสถานีรถไฟมิวนิก ประเทศเยอรมนี 

ไม่มีภาพสถานที่เที่ยวหรูหราสวยงาม เพราะชายหนุ่มทั้งสองพาไปดูห้องน้ำที่สะอาดสะอ้าน ในรถไฟสัญชาติดอยช์ที่ตรงเวลาเป๊ะแบบไม่ขาดไม่เกินสักนาที

“เทปแรกที่ทำเรื่องรถไฟตรงเวลา เพราะรู้สึกแปลกใจมาก ว่ารถไฟมันตรงเวลาได้ด้วยเหรอบนโลกใบนี้ รายการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่เอาเรื่องพวกนี้มาพูด เพราะอาจเห็นว่ามันธรรมดามาก แต่เรามองโลกอีกแบบหนึ่ง ตั้งคำถามว่าทำไมประเทศไทยทำไม่ได้” ยอดกล่าว

นอกจากความเที่ยงตรงของรถไฟ ทั้งคู่ยังพาผู้ชมไปดูแง่มุมที่น่าสนใจของแดนเยอรมนี อย่างการให้ความสำคัญกับรถสาธารณะมากกว่ารถส่วนตัว ค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัยราคาไม่แพง หรือห้องสมุดที่บริการฟรีสำหรับคนทั่วไป ซึ่งมุมมองเหล่านี้ ทั้งสองได้รับการปลูกฝังมาจากชมรมค่ายสร้างสรรค์เยาวชนที่สอนให้ตั้งคำถามกับทุกๆ อย่าง เพื่อหาทางเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

“ส่วนหนึ่งที่กล้าเล่า กล้าตั้งคำถาม หรือวิจารณ์องค์กรของรัฐ เพราะเราคิดว่าไม่ได้เป็นรายการประจำ แค่ได้ออกทีวีก็เกินจินตนาการแล้ว ดังนั้น ถ้ามีโอกาสพูด แล้วมีคนฟังเป็นหมื่นเป็นแสนคน เราต้องพูด ต้องถามให้เขาได้ยิน เราเป็นแค่ดาวตก มีโอกาสฉายแค่วาบเดียว ต้องวาบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สุด” บอลอธิบาย 

หลังออกอากาศไปไม่กี่เทป หนังพาไป เริ่มถูกพูดถึงในวงกว้าง เพราะนอกจากความสนุกของตัวรายการ มุมมองความคิดที่แปลกใหม่ หลายคนยังวิจารณ์บุคลิกหน้าตา สำเนียงเหน่อๆ ของพิธีกร ตลอดจนวิธีการพาเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร ถึงขั้นขึ้นกระทู้แนะนำของเว็บไซต์ Pantip แทบทุกสัปดาห์

เทปหนึ่งที่ถกเถียงยาวเหยียด คือตอนที่พวกเขาไปพระราชวังแวร์ซายในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สถานที่ไฮไลต์ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยากเข้าไปสัมผัสสักครั้ง แต่บอลกับยอดกลับเลือกเดินเล่นที่สวนด้านหลังพระราชวังแทน เพราะค่าเข้าสูงถึง 15 ยูโร หรือ 750 บาท

“ถ้าเกิดเราไม่ได้ถ่ายรายการแล้วเจอค่าเข้าแบบนั้น เราก็ไม่เข้า มันคือการตัดสินใจที่เป็นตัวเราจริงๆ รายการอื่นจะไม่เล่าแบบนี้ คุณต้องเข้าไปให้คนได้ดู แต่เราไม่อยากนั่งเก็บแลนด์มาร์กหรือกินของที่ดีที่สุด เพราะ หนึ่ง เราไม่ได้มีตังค์จะเก็บทุกอย่าง สอง เราคิดว่าถ้าเป็นคนแวร์ซายมีบ้านอยู่หน้าวัง ตอนเย็นคงออกมาวิ่งออกกำลังกายที่สวน ฉะนั้น ไปดูคนใช้ชีวิตดีกว่า มีเรื่องให้ตื่นตามากไม่แพ้การเข้าไปในพระราชวัง เลยเลือกทำแบบนี้

“กระทู้ที่ดังๆ คือเราโดนด่าทั้งสิ้น เวลาเจอแรกๆ ผิดหวังนะ แต่พอผ่านมา ทำให้ชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็ต้องเปลี่ยนพิธีกรแล้วล่ะ แต่แบบนั้นคงไม่ใช่ หนังพาไป คือมันคัดกรองคนดูว่า เราจะสนิทกันได้แค่ไหน ใครที่ไม่ใช่ทางก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคุยถูกคอ ชอบแบบนี้ก็เดินทางไปด้วยกัน” บอลกล่าว

แต่บางครั้งคำวิจารณ์จากผู้ชมก็ทำให้ทั้งคู่เรียนรู้ ระมัดระวัง และพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้น อย่างตอนหนึ่งที่พวกเขานั่งรถไฟเกินสถานีที่ซื้อตั๋วไว้ มีครูอนุบาลเขียนอีเมลมาบอกว่า เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับเด็กๆ หรือตอนที่เผลอพูดแซวรูปร่างคนอื่น เมื่อกลับมาทบทวนทั้งสองจึงเลิกใช้คำแบบนั้นอีก

หลังผ่านสองซีซั่นแรก หนังพาไป ไม่ได้เดินทางไปตามเทศกาลภาพยนตร์อีกแล้ว เพราะพวกเขาไม่มีเวลาทำหนังสั้นส่งประกวด จึงหันไปเลือกจุดหมายที่ตนเองสนใจ โดยรอจังหวะจองตั๋วเครื่องบินราคาโปรโมชัน พาผู้ชมร่วมเดินทางไปกับพวกเขายาวนานขึ้น สู่หลายประเทศ เช่น พม่า จีน อินเดีย สหราชอาณาจักร ศรีลังกา แม้จะไม่ได้เกิดจากหนังพาไป แต่ทั้งคู่ก็พยายามนำภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับประเทศนั้นๆ มาเชื่อมโยงในเรื่อง

หลายๆ ครั้ง รายการเปิดเผยให้เห็นความไม่สมบูรณ์แบบของการเดินทาง ทั้งผิดแผน หลงทาง โดนหลอก กล้องหาย หรือทั้งคู่ทะเลาะกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ชมรู้สึกคอยเอาใจช่วย และยังได้รับบทเรียนไปพร้อมกับสองหนุ่ม 

“มันเกิดเรื่องที่เราคาดเดาไม่ได้อยู่ตลอด ความจริงตอนนั้นโมโหนะ ทำไมไม่เป็นไปตามแผน แต่ทำอะไรไม่ได้ พอโมโหไปถึงจุดหนึ่ง ก็จะรู้ว่ายืดหยุ่นสิ บางทีมันพาเราไปเจออะไรที่ดีเหมือนกัน ถ้าเราไม่พลาดก็จะไม่เจอเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องไปถึงจุดหมายปลายทางหรอก ระหว่างทางมีความพิเศษ แทบทุกทริปเป็นแบบนี้ แล้วก็ทำให้ประทับใจมากกว่าที่ทุกอย่างเป็นไปตามแผน 

“การทะเลาะกันระหว่างทริปมีประจำ แต่ต้องนึกถึงก่อนว่าเราต้องพึ่งพาอาศัยกัน เราไม่รอดไม่ได้ ต่อให้ทะเลาะกัน ด่ากันยังไง สุดท้ายพอได้พูดแล้วก็หาย มีไม่กี่สาเหตุหรอก หิว เหนื่อย ง่วง พอได้สงบสติอารมณ์แล้วก็จะค่อยๆ แก้กันไปทีละสเต็ป” ยอดกล่าว

บางครั้งก็เป็นเพื่อนร่วมทาง ที่สอนให้ทั้งคู่พบกับด้านมืดในใจตนเอง

ครั้งหนึ่งที่เมืองอมฤตสาร์ ประเทศอินเดีย ระหว่างที่พวกเขานั่งอยู่ที่ม้านั่งสถานีรถไฟ จู่ๆ มีหญิงอินเดียวัยคุณยายมานั่งเบียด หนำซ้ำยังชวนลูกสาววัยคราวแม่มานั่งด้วย จนที่นั่งแทบไม่พอกับคน 4 คน ความที่ทั้งคู่ถูกขโมยกล้องที่ซื้อมาใหม่ รวมถึงเจอหลายเหตุการณ์ที่รู้สึกไม่ไว้ใจคนอินเดีย จึงพยายามดันแม่ลูกคู่นั้นให้ออกจากม้านั่งด้วยความโกรธเกรี้ยว แต่ขณะที่กำลังโมโหสุดขีด เมื่อหันไปมองกลับเห็นหญิงชรายิ้มให้อย่างเมตตา ตบไหล่ ยื่นน้ำและขนมให้กิน

“เราเหมือนกลายเป็นลูกโป่งแฟบ เมื่อกี้ทำอะไรลงไป ความเป็นมาร แม่กาลีในตัวเราออกมา ถ้าเราแบ่งก็นั่งกันได้นี่นา เป็นเหตุการณ์ที่ถ้าอยู่ในชีวิตปกติเราคงไม่ได้เจอ” บอลเล่า

“ที่มันไม่ได้แคบหรอก แต่ว่าใจเราแคบ เหมือนเวลาเดินทางไปใช้ชีวิตในที่ที่ไม่คุ้นเคย เราต้องใช้สัญชาตญาณดิบในการเอาตัวรอด ทำให้มองเห็นว่าแท้จริงเราเป็นอย่างนี้เอง เหมือนได้พิจารณาตัวเองมากขึ้น ทุกทริปเราได้เดินทางภายในไปด้วยหมด” ยอดช่วยสรุป

ระหว่างทางอันงดงามเหล่านี้เอง คือเสน่ห์ที่ หนังพาไป ไม่เหมือนรายการใดๆ

การเดินทาง 10 ปีของบอล ยอด และหนังพาไปที่แม่บอลเคยถามว่าใครจะดู สู่ซีซั่นใหม่ในปี 64

04

งานหนักที่รออยู่เบื้องหลัง

หลายคนอาจไม่รู้ว่า กว่าจะเป็นรายการสนุกสนาน สุข ซึ้ง เศร้า สู่สายตาผู้ชมดังที่เห็น บอลและยอดทำงานกันหนักมาก เรียกว่าทุ่มเทชีวิตเป็นปีๆ ให้กับ หนังพาไป แต่ละซีซั่น

เขามีกันเพียง 2 คน ไม่มีผู้ช่วย จึงต้องทำกันเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่วางแผนการเดินทาง จองตั๋วเครื่องบิน ประสานงาน ถ่ายทำ ดำเนินรายการ กระทั่งกลับมาตัดต่อ

ถ้าเดินทาง 1 เดือน หมายความว่าต้องเตรียมตัวมากกว่า 2 เดือน แหวกว่ายไปในกองข้อมูล กรองเอาสิ่งที่สนใจออกมาวางแผนเส้นทาง หาที่พักราคาประหยัดเพื่อให้คุ้มค่าที่สุด ไม่กลัวที่จะต้องนอนวัด หอพักนักศึกษา บ้านเพื่อน หรือแม้แต่โฮสเทลราคาถูก เพราะอยากเก็บเงินไว้ใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็น

“เวลาจะไปแต่ละที่เราจะพยายามหาวิธีเข้าแบบไหนให้ประหยัด มันเป็นนิสัย เสิร์ช 10 Free Things หรือบางทีก็หา Weird Place ที่แปลกๆ ลึกลับ ซึ่งฝรั่งมันจะจัดไว้ให้หมด จริงๆ ก็ไม่ได้เชิงหาเพื่อให้เกิดประเด็น แต่เราตื่นเต้น ชอบเที่ยวแบบนี้ มันมีอะไรเซอร์ไพรส์เยอะดี” บอลเล่าวิธีเลือกเส้นทาง

ด้วยเหตุนี้ หลายครั้งจุดหมายของทั้งคู่จึงไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ เช่น ไปเยี่ยมชมสลัมที่นครมุมไบ ไปดูหนังกับคนอินเดีย หรือตามรอยความรักของเจ้าน้อยศุขเกษมกับมะเมียะที่พม่า 

สมัยนี้การถ่ายวิดีโอเองแบบ Vlog คงไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว แต่เมื่อ 10 ปีก่อน หนังพาไป เป็นไม่กี่รายการที่ทำแบบนี้ สองคนผลัดกันถือกล้อง ใครมีมุมมองที่น่าสนใจก็รับบทผู้ดำเนินรายการ ณ ตอนนั้น 

หนังพาไป ไม่เคยมีสคริปต์ เพราะไม่รู้เลยว่าจะเจอกับเหตุการณ์อะไรข้างหน้า ยิ่งเดินทางพวกเขาก็พบว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องกดบันทึกวิดีโอไว้ตลอด ไม่อย่างนั้นตอนกลับมาตัดต่อแล้วเรื่องอาจกระโดด หรือพลาดปล่อยให้เรื่องราวดีๆ หลุดลอยไป

“บางทีรอยเชื่อมของสถานการณ์ก็จำเป็น เดี๋ยวเราจะไปเจอคนนี้ เขาเป็นใคร ก็ต้องถ่าย เทปแรกๆ เราไม่ได้ถ่ายไง พอตัดต่อ จู่ๆ โดดมาเลย แบบนี้เยอะมาก หรือพูดถึงนก อ้าว ไม่ได้ถ่ายไว้ ต้องตัดออก หรือสถานการณ์ที่ฉุกเฉินจริงๆ เช่น ตกรถ บางทีเราก็เหนื่อย ตกใจ ไม่ได้ถ่าย พอกลับมา เสียดาย ถ้าถ่ายก็ได้เรื่องล่ะ” บอลกล่าว

“ถ้าเราไม่กดอัด แล้วพลาดแอคชันนั้นไป ทุกอย่างมันหายไปเลย อยู่แค่ในความทรงจำ ฉะนั้น ต้องถ่ายตลอด ถ่ายให้ได้มากที่สุด” ยอดเล่าบ้าง

ช่วงซีซั่นแรกๆ ของที่หนักที่สุดในกระเป๋าจึงไม่ใช่เสื้อผ้า แต่คือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และม้วนเทป Mini DV ที่พกไปถึง 30 – 40 ม้วนต่อทริป 

เมื่อกลับมาแล้ว ก็ถึงขั้นตอนหฤโหดที่สุด คือการตัดต่อ ซึ่งกินเวลาแรมปี ทั้งคู่ต้องนั่งย้อนดูฟุตเตจชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า เพื่อสรรหาว่ามีเรื่องราวอะไรที่นำมาเล่าได้บ้าง 

สองคนจะแบ่งหน้าที่กันชัดเจน ยอดรับหน้าที่จัดเรียงเรื่อง ขมวดประเด็น จากนั้นส่งต่อให้บอลเติมสีสัน สร้างอารมณ์และบรรยากาศ เสร็จแล้วจะมานั่งดูด้วยกันอีกรอบ ปรับอีกครั้งให้เรื่องสมบูรณ์ที่สุด

“ดูฟุตเทจรอบแรก เราจะรู้สึกว่ามันขยะทั้งนั้นเลย คุยอะไรกัน จับต้องไม่ได้เลย รอบสองพยายามจับประเด็น หยิบอันไหนเป็นเนื้อเป็นหนังได้ เอามาจัดประเภท หาวิธีเล่า สร้างมู้ด ใส่เพลง เรียงลำดับใหม่ สลับหน้าหลัง พอใจหรือยัง ทำให้เหนือกว่านั้นได้อีกไหม ลองเอาตอนจบขึ้นมาเกริ่นไว้ แล้วค่อยไปเล่าตอนท้ายอีกที ให้ฮุกตรงนี้ หรือจะซ่อนความหมายอะไรบ้าง ขั้นตอนตัดต่อจึงหนักมาก” ยอดอธิบายภาพรวม

ส่วนหน้าที่สร้างอารมณ์ความรู้สึกของบอล เขาเชื่อว่าถ้าอยากให้งานมีพลังจนคนดูรู้สึกได้ ตนเองต้องรู้สึกร่วมกับเรื่องราวนั้นมากพอ บางครั้งเขาจึงดำดิ่งเข้าไปในเรื่อง อย่างตอนโศกนาฏกรรมความรักของมะเมียะ บอลตัดไปร้องไห้ไปอยู่เป็นสัปดาห์ 

“นักแสดงที่อินถึงจุดหนึ่ง เขาจะรู้เลยว่าที่อารมณ์นี้จะร้องไห้ระดับไหน เราก็เหมือนกัน ต้องอินแล้วถึงจะตัดได้ ต้องออกมาจากข้างใน ถึงจะรู้ว่าเพลงต้องใหญ่เล็กแค่ไหน จังหวะพูดแค่ไหนพอ การทำงานวิธีนี้ บางทีทำร้ายเราเหมือนกัน พอจบซีซั่นถึงต้องพัก เยียวยาตัวเองด้วย” บอลฉายภาพ

เมื่อรวมเวลาเดินทาง รวบรวมข้อมูล ตัดต่อ และเว้นพักก่อนเริ่มเดินทางใหม่ แต่ละซีซั่นจึงห่างกันหลายปี

การเดินทาง 10 ปีของบอล ยอด และหนังพาไปที่แม่บอลเคยถามว่าใครจะดู สู่ซีซั่นใหม่ในปี 64

05

หนังพาไป ในวันที่เติบโตขึ้น

10 ปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดของรายการ หนังพาไป คือตัวตนและความคิดของบอลและยอดนั่นเอง

ในวัย 20 ต้นๆ เวลาเดินทางพวกเขาจะใช้ความรู้สึกนำ ไม่เน้นข้อมูลประวัติศาสตร์มาก แต่พอประสบการณ์มากขึ้น ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไปตาม เช่น โบสถ์สวยงามที่เคยตื่นเต้น แต่พอเจออีก 10 โบสถ์ก็เริ่มเฉยๆ เดิมเวลาขึ้นเครื่องบินจะชอบมองไปนอกหน้าต่าง ไม่ยอมนอน แต่พออายุมากเข้าอยากนอนพักมากว่า แถมบางทียังรู้สึกเมื่อย บ่นว่าเมื่อไรจะถึง 

“ซีซั่นหลังๆ เราพบว่าโทนรายการเปลี่ยน แรกๆ ปวดใจเหมือนกันที่มีคนบอกว่าเราไม่เหมือนเดิม ดูไม่ตื่นเต้นเหมือนซีซั่นแรก แต่เราคงไม่สามารถลงไปยืนอยู่บนแม่น้ำสายเดิม ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง พอมาถึงตอนนี้ ความสนใจเราก็ขยับไปสู่ประวัติศาสตร์ อ่านหนังสือเยอะขึ้น ประสบการณ์ทำให้ครุ่นคิด เริ่มมองเห็นอะไรที่ตอนเด็กๆ ไม่เคยเห็น การเที่ยวก็เปลี่ยนไป 

“อีกอย่างที่เปลี่ยนไปชัดๆ คือเราพูดสรุปอะไรน้อยลง จากเดิมที่จะสรุปว่าแบบนี้ถูกต้องที่สุด ต้องเป็นแบบนี้ แต่ตอนนี้เราเล่าแบบปลายเปิด เพราะยังมีเรื่องอีกเยอะที่ไม่รู้” บอลกล่าว 

วัยที่มากขึ้น มีส่วนทำให้รูปแบบการเดินทางเปลี่ยน ตัวอย่างง่ายๆ เช่นทั้งคู่อดนอนไม่ได้แบบตอนวัยรุ่นอีกแล้ว วันไหนนอนดึก หมายถึงพรุ่งนี้เสียไปอีกวันหนึ่ง จากเมื่อก่อนนอนข้างถนนก็อยู่ได้ แต่วันนี้ขอเลือกนอนสบายบ้างเพื่อเก็บพลังไว้เต็มกับวันต่อไป

“โชคดีเหมือนกันที่ได้เดินทางตั้งแต่เด็ก เพราะถ้ารอมีเงิน มีเวลาไปเที่ยวตอนแก่ เราจะไม่สามารถเที่ยวแบบเด็ก ถ้า หนังพาไป มีอยู่ถึงซีซั่นที่เก้าถึงสิบ คิดว่าคงจะเป็นการเที่ยวแบบคนแก่ไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปทุกซีซั่น เพราะเราแก่แล้ว” บอลเล่าแล้วหัวเราะ

ขณะที่ความรู้สึกอยากทำหนังเรื่องยาวฉายบนจอใหญ่แทบไม่หลงเหลืออีกแล้ว เพราะความฝันตอนวัยรุ่นนั้นทุ่มเทลงไป หนังพาไป จนหมด

“ถามว่าทุกวันนี้ทำหนังไหม ทำแทบทุกวันเลย ทุกตอนที่เราทำมันคือหนัง มันคือหนังสารคดีเรื่องหนึ่ง มีต้นกลางจบ เราใส่มุกใส่วิธีการเล่าเรื่องแบบหนังลงไป เลยรู้สึกว่าเราก็ยังทำหนังอยู่” ยอดอธิบาย 

สำหรับซีซั่นที่ 5 ที่มีกำหนดออกอากาศประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 น่าจะเป็นการเดินทางที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของบอลและยอด พวกเขาทุ่มเงินก้อนใหญ่ของบริษัทเพื่อไปยังเส้นทางที่เรียกว่าเป็น Bucket List หรือจุดหมายที่อยากไปสัมผัสสักครั้งก่อนตาย

ทริปที่ทั้งคู่แง้มให้ฟังว่า ได้พบกับเหตุการณ์ที่รู้สึกแย่ที่สุดในการเดินทางรอบทศวรรษ ทั้งโดนโจรกรรม เจ็บตัว ต้องไปสถานีตำรวจและพบแพทย์ในประเทศที่ไม่มีใครรู้จัก ถึงขั้นรู้สึกหวาดกลัวทุกครั้งที่ย้อนนึกถึง 

“กลัวอยู่พักหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้หายกลัวคือเราต้องกลับไปหามันอีกในตอนตัดต่อ ดูฟุตเตจยังกลัว ความรู้สึกเดิมกลับมา แต่พอตัดต่อเสร็จ เราไม่กลัวมันอีกแล้ว ทำให้พบว่า บาดแผลอยู่ตรงไหน เราอาจต้องกลับไปเผชิญหน้ากับมัน แล้วมันจะหายไป” บอลเล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้

ทว่าการเดินทางก็เหมือนชีวิตที่ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องแย่ๆ สุดท้ายแล้ว บอลและยอดก็ได้พบกับเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกเต็มอิ่มที่สุดยิ่งกว่าทริปไหนๆ

“มันมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากกว่าการหมกมุ่นกับชีวิตทุกวันนี้ ทำไมพระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสรู้และมองไปไกลขนาดนั้น ทำไมพระเยซูถึงมองทุกสิ่งเป็นสิ่งเดียวกันแล้วรักมนุษย์ได้ขนาดนี้ เหมือนเราได้พบความหมายที่อัศจรรย์จากการเดินทางรอบนี้” ยอดทิ้งปมไว้ให้รอติดตาม 

06

การเดินทางที่ไม่มีวันจบ

ตลอดทศวรรษของการทำรายการ บอลและยอดรู้สึกว่า หนังพาไป พาพวกเขาไปไกลกว่าจุดเริ่มต้นมาก 

ยอดจำได้ว่า ก่อนซีซั่นแรกออกอากาศ แม่ของบอลถามด้วยความห่วงใยว่าใครจะดูลูก จริงอยู่ที่รายการสนุก แต่ภาพที่คนทั่วไปคุ้นเคยคือพิธีกรเป็นดารา ถ่ายภาพสวย ไม่ใช่ผู้ดำเนินรายการโนเนม พูดกับกล้องอย่างทั้งคู่ แต่สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่ามีผู้ชมชอบมากกว่าที่เขาคิด 

อาจเพราะทั้งคู่ดูเป็นธรรมชาติ บทสนทนาเหมือนคุยกับเพื่อน ไม่มีกำแพงกั้น เหมือนได้ไปเที่ยวด้วย ผู้ชมโดยเฉพาะคนสูงวัยมักชอบ เพราะเหมือนได้ช่วยเติมเต็มความฝันของเขาที่อยากออกไปผจญภัย แบ็กแพ็ค ใช้เงินอย่างประหยัด ขณะที่หลายคนดูแล้วได้แรงบันดาลใจให้กล้าออกไปเจอโลกกว้าง ไม่จำเป็นต้องรอให้พร้อมหรือมีเงินมากมายก็ไปเที่ยวได้ 

หลายๆ คำถามที่พวกเขาตั้งไว้ในรายการ ก็ถูกหยิบนำไปถกเถียง พูดต่อ เช่น การงดใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง หรือการให้คนทั่วไปมีโอกาสได้ชมเครื่องบินใกล้ชิดโดยไม่เสียสตางค์ 

“เหมือนเราหว่านเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ออกไป แล้วเมล็ดพันธุ์พวกนี้คงจะไปงอกตามที่ต่างๆ รอการเติบโตของมัน บางทีอาจงอกแล้ว แม้เคลมไม่ได้ว่ามาจากรายการเรา แต่ก็รู้สึกว่าหลายสิ่งหลายอย่างเป็นไปในทิศทางที่เราโยนคำถามออกไปซ้ำๆ” ยอด กล่าว

แม้จะพักจากซีซั่น 4 มากว่า 2 ปี แต่ในเทปย้อนหลังก็ยังมีแฟนๆ เข้ามาชม และรอคอยตอนใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม บอลและยอดไม่อาจตอบได้ว่า สุดท้าย หนังพาไป จะมีต่อไปอีกนานแค่ไหน

“ทำซีซีซั่นหนึ่ง มันรีดทุกอย่าง เผาพลังเข้าไปทุกเทป พอทำไปจุดหนึ่งจะรู้สึกหมดแรง อยากพัก ทุกครั้งมันจะเหนื่อย แล้วบอกว่า พอ ไม่เอาแล้ว บางทีเราก็อยากทำอะไรใหม่ๆ บ้าง รายการประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม แต่สุดท้ายรายการใหม่ที่คิดนั้น หนังพาไป มันเล่าได้ทุกอย่างเลย ได้เดินทางด้วย พอผ่านไปปีสองปีก็จะคิดถึง ถ้าทริปนี้เราเอากล้องมา ได้เรื่องละ เรื่องนี้โคตรดีเลย คนไทยควรได้เห็น มันจะวนอยู่อย่างนี้” บอลหัวเราะ

จากความฝันที่อยากไปเทศกาลภาพยนตร์ ถึงวันนี้บอลและยอดยังสนุกกับการเดินทางต่อไปเรื่อยๆ คงไม่สำคัญว่า หนังพาไป จะไปจบลงตรงไหน ก็อย่างที่พวกเขาบอกไว้ตอนท้ายของทุกเทปว่า-จุดหมายปลายทาง ไม่ใช่ที่สุดของความงดงาม

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

  • สัมภาษณ์คุณทายาท เดชเสถียร และ พิศาล แสงจันทร์ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563
  • รายการ หนังพาไป สถานีโทรทัศน์ Thai PBS
  • รายการ ศิลป์สโมสร ตอน หนังพาไป สถานีโทรทัศน์ Thai PBS 
  • นิตยสาร ขวัญเรือน ปีที่ 43 ฉบับที่ 943 เดือนมีนาคม 2554
  • นิตยสาร สุดสัปดาห์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 676 เดือนเมษายน 2554
  • นิตยสาร กุลสตรี ปีที่ 42 ฉบับที่ 1005 เดือนพฤศจิกายน 2555
  • นิตยสาร คิด ปีที่ 9 ฉบับที่ 6 เดือนมีนาคม 2561
  • เว็บไซต์ MGR Online วันที่ 17 มกราคม 2554

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล