24 กรกฎาคม 2019
30 K

ลำปางเคยเป็นทำเลทองของกิจการป่าไม้ เมืองที่ครั้งหนึ่งมีนายห้างค้าไม้ชาวยุโรป คหบดีชาวพม่า และพ่อค้าชาวจีน เดินขวักไขว่ราวกับคนท้องถิ่นอยู่ริมแม่น้ำวัง เส้นทางคมนาคมสายหลักที่เรือกลไฟจะพากันผลัดเทียบท่าเพื่อขนส่งไม้สัก พร้อมถ่ายเทสินค้าพ่วงวัฒนธรรมศิวิไลซ์จากดินแดนตะวันตก แล้วไม่นานนักเมืองแห่งนี้ก็เจริญขึ้น ทั้งยังมีอาคารขนมปังขิงหลังโตโอ่อ่าตั้งอยู่ท่ามกลางย่านการค้าอันรุ่งเรือง ‘ตลาดจีน’ ซึ่งเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เหล่ากงสุล รวมถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่จากอังกฤษ เคยมาร่วมเจรจาหารือการค้ากันที่นี่ 

ต่อมาเมื่อยุคสัมปทานป่าผ่านพ้น ลำปางก็กลายเป็นเมืองเงียบสงบอย่างที่เห็น เว้นแต่ย่านเศรษฐกิจในอดีตที่ราวปี 2548 ได้รับการฟื้นฟูให้เป็นถนนคนเดินกาดกองต้า ชุมชนแถบนี้จึงถูกปลุกขึ้นมามีชีวิตชีวาอีกหน เช่นเดียวกับอาคารขนมปังขิงเก่าแก่ที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามานั่งจิบชาหย่อนอารมณ์ แกล้มบรรยากาศวันวานผ่านสถาปัตยกรรมโบราณเปี่ยมมนตร์เสน่ห์

เป็นช่วงเดือนที่ผมมีงานให้ต้องเดินทางเชียงใหม่-ลำปางเป็นว่าเล่น แต่ก็โชคดีเพราะงานนี้ทำให้มีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนกับบุคคลสำคัญในแวดวงการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปางอยู่หลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ คุณนพรัตน์ สุวรรณอัตถ์ ทายาทรุ่นที่ 4 ของอาคารหม่องโง่ยซิ่น หรือเจ้าของร้าน ‘หม่องโง่ยซิ่น’ คาเฟ่เรือนแถว 5 คูหาในย่านกาดกองต้า ซึ่งได้สละเวลาต้อนรับผมในวันหยุดร้านเพื่อแบ่งปันเรื่องราวเบื้องลึก ความหลัง พาสำรวจมุมพิเศษที่ซุกซ่อนเกร็ดประวัติศาสตร์น่าสนใจของเมืองลำปาง พร้อมแนวคิดในการต่อลมหายใจให้กับอาคารที่ได้รับยกย่องว่าเป็นอาคารขนมปังขิงริมถนนที่งดงามที่สุดในประเทศ แถมยังคว้ารางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา จากกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2550

คุณนพรัตน์ สุวรรณอัตถ์

“เดิมทีอาคารหลังนี้เป็นบ้านและสำนักงานบริษัทของ ‘หม่องโง่ยซิ่น’ คุณทวดของผม ยุคนั้นพวกบริษัทสัมปทานป่าไม้ต่างๆ มักแวะเวียนเข้ามาใช้ห้องโถงใหญ่บนชั้น 3 พูดคุยเรื่องงาน รวมทั้งรับรองเจ้าผู้ครองนครลำปาง บรรดาแขกชั้นผู้ใหญ่และกงสุล โดยคุณทวดได้สืบทอดกิจการป่าไม้ต่อจาก ‘หม่องส่วยอัตถ์’ พ่อของเขา แต่ท่านก็ไม่ได้ทำแค่ป่าไม้อย่างเดียวนะ คนส่วนมากชอบเข้าใจผิดคิดว่าคนพม่าในลำปางร่ำรวยจากการค้าไม้ ความจริงคือไม่ใช่ เกินครึ่งที่เข้ามาทำธุรกิจนี้เป็นชาวมะละแหม่งที่ค่อนข้างมีฐานะดี และบ้างก็มีเชื้อสายเจ้าอยู่ก่อนแล้วทั้งนั้น”

หม่องโง่ยซิ่น อาคารขนมปังขิงริมถนนสวยที่สุดในไทยที่มีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์เมืองลำปาง

หม่องส่วยอัตถ์ก็เช่นกัน เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นสูงและเคยเป็นถึงผู้ว่าการรัฐมะละแหม่ง ทว่ายุคที่พม่าตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษและความต้องการไม้สักชั้นดีอันลือเลื่องจากเมืองไทยมีเพิ่มมากขึ้นในตลาดยุโรป จึงถูกส่งให้เข้ามาควบคุมกิจการป่าไม้ในตำแหน่งเฮดแมนคนแรกของบอมเบย์เบอร์ม่า (Bombay Burma Trading Corporation, Ltd.) บริษัทสัมปทานป่าไม้รายใหญ่ของอังกฤษ

หม่องส่วยอัตถ์ข้ามพรมแดนมาโดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 5 ก่อนลงหลักปักฐานบริเวณชุมชนท่ามะโอ ศูนย์กลางการค้าไม้สักริมแม่น้ำวังที่มีชาวปะโอเป็นเรี่ยวแรงสำคัญ และหลังจากทุ่มเททำงานอย่างหนักกว่า 22 ปี หน้าที่นี้ก็ถูกส่งต่อให้กับหม่องโง่ยซิ่น บุตรชายคนโตของครอบครัว 

นอกจากกิจการป่าไม้ หม่องโง่ยซิ่นยังขยับขยายลู่ทางสู่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ร่วมหุ้นกับชาวเชียงใหม่เปิดโรงงานไฟฟ้าพลังดีเซล ซึ่งอดีตตั้งอยู่ใกล้กับสะพานแขวนท่าน้ำสิงห์ชัย (สะพานออเรนจ์) ลำปาง สัมปทานทำรางรถไฟสถานีหัวลำโพง ตลอดจนบริจาคสร้างอาคารเรียนหลังแรกให้กับโรงเรียนลำปางกัลยาณี โรงเรียนรัฐบาลหญิงแห่งแรกประจำจังหวัดลำปาง

หม่องโง่ยซิ่น อาคารขนมปังขิงริมถนนสวยที่สุดในไทยที่มีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์เมืองลำปาง

สำหรับอาคารหม่องโง่ยซิ่นนั้นสร้างขึ้นประมาณปี 2451 เป็นเรือนขนมปังขิงหลังคาทรงมะนิลา ลักษณะครึ่งปูนครึ่งไม้ ที่มีลวดลายฉลุไม้พลิ้วไหว สวยงาม ทั้งลายพันธุ์พฤกษา ลายก้านขด ลายประดิษฐ์ ลายสัตว์ รวมถึงลวดลายสัญลักษณ์สะดุดตา ‘MNZ’ อักษรย่อ ‘Moung Ngwe Zin’ และน่าสนใจยิ่งกว่าคือภายในตัวอาคารยังมีการออกแบบตกแต่งที่หาชมยาก สะท้อนทักษะฝีมือเชิงช่างและความคิดสร้างสรรค์ของสถาปนิกในศตวรรษก่อนที่ไม่ธรรมดา

หม่องโง่ยซิ่น อาคารขนมปังขิงริมถนนสวยที่สุดในไทยที่มีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์เมืองลำปาง

“รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้ได้รับออกแบบและควบคุมการสร้างโดยช่างหลวงจากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า เพราะคุณทวดต้องการทำให้ที่นี่ดูยิ่งใหญ่โอ่อ่าสมฐานะ ด้วยเหตุนี้ฝ้าเพดานของอาคารจึงใช้ฝ้าดีบุกอัดลายที่นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นรสนิยมหรูหรา บ่งบอกถึงความมีระดับ และปัจจุบันก็มีเพียงแห่งเดียวประเทศไทย ส่วนบริเวณชั้น 2 เป็นห้องโถงกว้างใช้สำหรับรับแขกบ้านแขกเมืองหรือจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ และไม่ไกลกันก็จะมีตู้ไม้ที่ซ่อนบันไดลับขึ้นสู่ห้องพระชั้น 3 เรียก ‘ตู้ประจันฝา’ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ บอกผมว่า เป็นตู้ที่สูงใหญ่ที่สุดเท่าที่ท่านเคยเห็นมา ซึ่งคนสมัยก่อนใช้เป็นเครื่องวัดระดับฐานะความร่ำรวย นอกจากนี้ยังมีหลุมหลบภัยลึก 3 เมตร ที่วิศวกรอังกฤษมาก่อสร้างไว้ให้เพื่อรักษาความปลอดภัยช่วงระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย

หม่องโง่ยซิ่น อาคารขนมปังขิงริมถนนสวยที่สุดในไทยที่มีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์เมืองลำปาง

อีกเรื่องหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบคือ ด้านหน้าของอาคารอยู่ทางฝั่งที่หันสู่แม่น้ำวัง เพราะเราอาศัยทำมาค้าขายผ่านเส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก ท่าเรือของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าก็ตั้งอยู่ถัดกัน ดังนั้น ส่วนที่ทุกคนเข้าใจว่าเป็นด้านหน้าในปัจจุบันจริงๆ แล้วคือหลังอาคารที่หันประจันย่านการค้าชุมชนตลาดจีน”

หม่องโง่ยซิ่น อาคารขนมปังขิงริมถนนสวยที่สุดในไทยที่มีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์เมืองลำปาง

หลังแล้วเสร็จจากการสร้างอาคาร หม่องโง่ยซิ่นได้ขอช่างหลวงสร้างวัดไชยมงคล (จองคา) วัดประจำตระกูลแห่งที่ 2 ตามธรรมเนียมความเชื่อและความศรัทธาในพุทธศาสนาของชาวพม่า

โดยอดีตพระอารามแห่งนี้เคยเปิดสอนภาษาบาลีและภาษามคธแก่ภิกษุสามเณร อีกทั้งยังเป็นสถานที่สำคัญที่ได้รับการพระราชทาน ‘ตราพระครุฑพ่าห์’ ตราแผ่นดินไทยที่เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งในจังหวัดลำปางปรากฏเพียง 3 แห่งเท่านั้น ได้แก่ สะพานรัษฎาภิเศก อุโมงค์ขุนตาน และวัดไชยมงคล

กระทั่งในปี 2559 ด้วยคุณค่าทางสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นและน่าชื่นชมก็ทำให้วัดไชยมงคลได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารศาสนาสถาน

ส่วนวัดประจำตระกูลสุวรรณอัตถ์แห่งแรกนั้นคือวัดศาสนโชติการาม (ป่าฝาง) ที่สร้างโดยหม่องส่วยอัตถ์ ภายในบริเวณมีจุดน่าสนใจอย่างพระอุโบสถเครื่องไม้แบบพม่าประดับลวดลายเครือเถาปูนปั้นวิจิตรบรรจง รวมถึงอนุสรณ์สถานที่ทางรัฐบาลอังกฤษให้เกียรติจัดสร้างขึ้นเพื่อแสดงความระลึกถึงเฮดแมนคนสำคัญที่รับราชการด้วยความจงรักภักดี 

กิจการป่าไม้ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อยานพาหนะ เครื่องจักร และสัตว์ลากจูง ถูกนำไปใช้ในสงครามจนหมดสิ้น เศรษฐกิจตกต่ำ และการสัมปทานป่าไม้ของบริษัทต่างชาติไม่ได้รับการต่อสัญญา ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่อาคารหม่องโง่ยซิ่นลดบทบาทจากสำนักงาน บ้านพัก บาร์ฝรั่ง สู่โกดังเก็บวัสดุก่อสร้างภายใต้การดูแลรักษาของทายาทรุ่นที่ 4 

“จริงๆ แล้วจุดเปลี่ยนของอาคารมันค่อยๆ มีมาตั้งแต่อุโมงค์ขุนตานสร้างเสร็จ ทำให้ย่านเศรษฐกิจการค้าในลำปางย้ายจากชุมชนริมน้ำไปรวมอยู่ที่ชุมชนริมทางรถไฟ คุณพ่อของผมท่านเล่าให้ฟังว่าปลายยุคนั้นตระกูลเราหันมาหยิบจับทำธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานเกือบเต็มตัวและให้ฝรั่งเช่าอาคารชั้นล่างเปิดเป็นบาร์ที่โด่งดังมากในภาคเหนือ เพราะสมัยก่อนลำปางถือว่าเป็นเมืองที่เจริญมาก มีแบงก์สยามกัมมาจล กองบัญชาการตำรวจภูธร 3 และสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 จนถึงขึ้นมีคำเปรียบเปรย ‘คนงามต้องลำพูน แม่บุญต้องเชียงใหม่ ทันสมัยต้องลำปาง’ 

“ผมเดินตามรอยคุณพ่อที่ขยับมาเล่นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และรับช่วงดูแลอาคารต่อ ซึ่งตอนแรกก็ใช้จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง จนมาเกิดความคิดอยากฟื้นฟูอาคารเมื่อเห็นบรรดาบ้านเก่าในชุมชนกาดกองต้าทยอยรื้อและแปรสภาพเป็นร้านรวงและพื้นที่อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวแล้วรู้สึกเสียดาย และส่วนตัวเชื่อว่าคุณค่าของบ้านโบราณก็สามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้ เลยเริ่มหาเวลาว่างเข้ามาปรับปรุงซ่อมแซม

“การซ่อมแซมอาคารหลังนี้ผมให้ความสำคัญกับการเก็บรายละเอียดมากกว่าต่อเติม เพื่อรักษากลิ่นอายความทรงจำในอดีตและความงามของสถาปัตยกรรมอายุร้อยกว่าปีไว้ให้มากที่สุด จนราวปี 2553 ก็ตัดสินใจเปิดเป็นคาเฟ่ บริการอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงจัดสรรมุมนิทรรศการเล็กๆ ที่บอกเล่าความเป็นมาของตัวอาคาร เรื่องราวเกี่ยวกับบ้านโบราณและประวัติศาสตร์เมืองลำปางในยุครุ่งเรืองจากการค้าไม้” 

หม่องโง่ยซิ่น อาคารขนมปังขิงริมถนนสวยที่สุดในไทยที่มีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์เมืองลำปาง
หม่องโง่ยซิ่น อาคารขนมปังขิงริมถนนสวยที่สุดในไทยที่มีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์เมืองลำปาง

คุณนพรัตน์ยิ้มภาคภูมิใจก่อนส่งท้ายว่า วันนี้เขามีความสุขมากที่สามารถทำให้อาคารหม่องโง่ยซิ่นกลับมามีชีวิตชีวาอีกหน ทั้งในฐานะคาเฟ่ของนักท่องเที่ยว แหล่งทัศนศึกษาของเยาวชน สถานที่ศึกษาดูงานด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนต้อนรับแขกผู้ใหญ่ เหนืออื่นใดคือการได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยจุดประกายให้ชาวชุมชนตระหนักถึงคุณค่า ลุกขึ้นมาอนุรักษ์อาคารบ้านเรือนอันเป็นมรดกตกทอดของบรรพบุรุษและมนตร์เสน่ห์ของย่านการค้าริมน้ำ ที่กำลังกลับมาเบ่งบานพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองลำปางในยุคใหม่อีกครั้ง

คุณนพรัตน์ สุวรรณอัตถ์

หม่องโง่ยซิ่น 

คาเฟ่ในอาคารขนมปังขิงอายุ 111 ปี ตั้งอยู่บนถนนตลาดเก่า ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง เปิดให้บริการเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 21.00 น. กรณีอยากเข้ามาเยี่ยมชมหรือศึกษาดูงาน สามารถติดต่อล่วงหน้าได้ทาง โทร 086 728 6362

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

โด้เป็นช่างภาพดาวรุ่งจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รักของเพื่อนๆ และสาวๆ ถึงกับมีคนก่อตั้งเพจแฟนคลับให้เขา ชื่อว่า 'ไอ้โด้ FC'