กองทรายจุดเล็กๆ บนชายหาดขยับเพียงนิดเดียวก่อนจะยุบตัวลงเป็นวงกลมขนาดเท่าเหรียญสิบ แล้วลูกเต่าตัวแรกก็ค่อยๆ โผล่ขึ้นมาจากใต้พื้นทรายเพื่อสูดอากาศจากโลกภายนอก ขาหน้าของมันโบกไปมาราวกับจะฉลองชัยชนะแรกที่อยู่รอดพ้นภัยจนฟักตัวออกมาจากไข่ได้ เจ้าตัวน้อยใช้เท้าแบนเล็กทั้งสี่ข้างตะกายทรายเพื่อดันตัวเองขึ้นมาเหนือหลุมอย่างทุลักทุเล พี่น้องเต่าตัวที่สอง สาม และสี่ ทยอยโผล่ตามกันออกมาอย่างช้า ๆ กระดองจิ๋วสีดำเปรอะเปื้อนไปด้วยเม็ดทราย แต่คงเป็นเพียงอุปสรรคที่เล็กน้อยเท่านั้นกับสิ่งที่พวกมันจะต้องเผชิญหลังจากนี้

ในเวลาไม่เพียงกี่นาที หลุมทรายบริเวณนั้นก็เต็มไปด้วยลูกเต่ากว่า 70 ชีวิตที่ค่อยๆ ปีนป่ายขึ้นมาและพากันออกเดินเรียงแถวฝ่าแดดจ้า มุ่งหน้าสู่ผืนน้ำอันกว้างใหญ่แห่งมหาสมุทรแปซิฟิก เบื้องหลังเหลือไว้เพียงซากของเปลือกไข่รวมทั้งไข่บางส่วนที่ไม่มีทีท่าว่าจะฟักออกมาเป็นตัวได้อีก

ใครเลยจะคาดคิดว่าหาดทรายที่ทอดยาวริมชายฝั่งอันแสนสงบ แท้จริงแล้วเป็นด่านทดสอบทักษะการเอาตัวรอดอันแสนหฤโหดของเต่าแรกเกิดที่อายุไม่ถึง 1 ชั่วโมงเหล่านี้

เต่าทะเล

แสงแดดที่แผดเผาถูกบดบังเป็นระยะด้วยเงาของนกนางนวลสองสามตัวที่บินวนเวียนหาเหยื่ออยู่บริเวณนั้น เพียงชั่วพริบตาเดียวหนึ่งในนั้นก็โฉบลงมาอย่างรวดเร็วและคว้าลูกเต่าเคราะห์ร้ายกลับขึ้นไปด้วย ลูกเต่าที่เหลือยังคงเดินหน้าต่ออย่างแน่วแน่ บางตัวล้มลุกคลุกคลาน โดนเพื่อนๆ ชนบ้าง โดนไต่ข้ามตัวไปบ้าง แต่ขาเล็กๆ ของพวกมันก็ยังก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดหย่อน

เสียงเกลียวคลื่นกระทบชายหาดอย่างรุนแรงระลอกแล้วระลอกเล่า สัญชาตญาณตามธรรมชาติพาให้ลูกเต่าทั้งฝูงเดินเตาะแตะเข้าหาคลื่นยักษ์อย่างไม่รู้สึกเกรงกลัว บางตัวเดินลงแตะน้ำตอนที่คลื่นกำลังจะลดระดับ แรงน้ำลากเต่าตัวน้อยกลิ้งตีลังกาหลายตลบและจมหายไป แต่แล้วไม่ถึงอึดใจกระดองสีดำเล็กๆ ก็โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำและว่ายออกไปสู่เวิ้งมหาสมุทรอันกว้างใหญ่อย่างรวดเร็ว ในขณะที่บางตัวตะกายเข้าหาน้ำตอนที่คลื่นกำลังซัดขึ้นฝั่ง จึงหนีไม่พ้นโดนน้ำพัดพาย้อนกลับไปบนหาดทรายใกล้กับจุดเริ่มต้น

ลูกเต่าตัวน้อยลุกขึ้นและเริ่มต้นเดินหน้าสู่ผืนน้ำสีฟ้าอีกครั้งและอีกครั้งอย่าไม่ย่อท้อ…

เต่าทะเล

แนวชายฝั่งทะเลของวาฮากา (Oaxaca) รัฐทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติและรักความท้าทายของคลื่นทะเลยักษ์ โดยเฉพาะเมืองชายทะเลอย่างปวยร์โต เอสกอนดิโด (Puerto Escondido) ที่เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของนักดำน้ำและเป็นจุดรวมตัวของนักเล่นกระดานโต้คลื่นระดับมืออาชีพจากทั่วโลก

เราเองก็จับพลัดจับผลูมาจอดมอเตอร์ไซค์และใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองนี้ประมาณครึ่งปี แต่เพราะเราไม่ได้เป็นทั้งนักดำน้ำหรือนักเล่นกระดานฯ สิ่งที่ทำให้เมืองเอสคอนดิโดปักหมุดแน่นอยู่ในความทรงจำจึงไม่ใช่กิจกรรมชื่อดังทั้งสองอย่าง แต่เป็นการได้คลุกคลีกับกลุ่มอาสาสมัครชาวบ้านที่ทำหน้าที่ช่วยลูกเต่าแรกเกิดเดินทางกลับสู่ท้องทะเล

เต่าทะเล

จากหาดสีเลือดสู่ดินแดนแห่งความหวัง

ก่อนที่เมืองเล็กๆ ตามแนวชายฝั่งของรัฐวาฮากาอย่างปวยร์โต เอสกอนดิโด และมาซุนเต (Mazunte) จะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างในปัจจุบัน ชุมชนชาวบ้านในแถบนี้มีรายได้หลักจากการล่าเต่าทะเล ซึ่งเคยเป็นธุรกิจส่งออกที่สร้างเม็ดเงินให้แก่เม็กซิโกมากที่สุดอย่างหนึ่ง เนื่องจากรัฐวาฮากามีชายหาดติดทะเลเป็นระยะยาวหลายร้อยกิโลเมตร และหาดเหล่านี้ก็บังเอิญเป็นจุดที่เต่าทะเล 6 ใน 7 สายพันธุ์ของโลกเดินทางขึ้นมาวางไข่เป็นจำนวนมากทุกปี โดยเฉพาะหาดมาซุนเตซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลที่ติดอันดับหนึ่งในห้าของโลก และหาดเอสโคบิลลา (Escobilla) ที่อยู่ไม่ไกลกับมาซุนเตก็เป็นแหล่งวางไข่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกของเต่าหญ้าหรือเต่าโอลีฟ ริดเลย์ (Olive Ridley)

ในช่วง ค.ศ. 1970 ถึง 1980 รัฐบาลเม็กซิโกอนุญาตให้มีการล่าเต่าทะเลอย่างถูกกฎหมายกว่า 30,000 ตัวต่อปี ส่วนตัวเลขของการล่าที่ไม่ปรากฏอย่างเป็นทางการนั้นเรียกได้ว่าอยู่เหนือจินตนาการและแทบไม่มีใครอยากเอ่ยถึง

ในตอนนั้นหาดทรายหลายแห่งของรัฐวาฮากาเป็นสีดำคล้ำด้วยรอยเลือดเต่า กลิ่นอายแห่งความตายคละคลุ้งไปทั่วทั้งบริเวณ โรงชำแหละเนื้อเต่าถูกสร้างขึ้นริมหาดเพื่อความสะดวกในการฆ่าและชำแหละเนื้อเต่าสดๆ ไข่ของมันถูกนำไปทำอาหาร เต่าตัวโตเต็มวัยถูกฆ่าเพื่อขายเนื้อ กระดองเต่าตัวใหญ่ถูกนำไปเป็นเครื่องประดับตกแต่ง ฯลฯ ทุกชิ้นส่วนถูกแปรเป็นเงินมาหล่อเลี้ยงคนในชุมชนที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่งทะเลแห่งนี้

การล่าอย่างดุเดือดในช่วงปลาย ค.ศ. 1980 ส่งผลให้เต่าอย่างน้อย 4 สายพันธุ์ลดลงอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย ก่อนหน้านี้รัฐบาลเม็กซิโกได้ออกกฎหมายห้ามล่าไข่เต่าออกมา แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจและไม่มีมาตรการบังคับที่เคร่งครัดใดๆ แต่เมื่อนักอนุรักษ์และนักสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศทั่วโลกร่วมกันเรียกร้องอย่างหนัก ในที่สุดรัฐบาลเม็กซิโกก็ออกกฎหมายห้ามล่าเต่าทะเลแถบชายฝั่งทะเลแปซิฟิกอย่างเป็นทางการใน ค.ศ.1990 โรงชำแหละทุกแห่งในรัฐวาฮากาถูกสั่งปิด มีบทลงโทษผู้ละเมิดอย่างจริงจัง ชะตาชีวิตของเต่าทะเลเหล่านี้จึงยังไม่ดับวูบเสียทีเดียว

เต่าทะเล

1 ปีหลังจากมีกฎหมายห้ามล่าเต่า รัฐบาลอนุมัติการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์เต่าแห่งเม็กซิโก (The Centro Mexicano de la Tortuga – CMT) ที่เมืองมาซุนเต ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองริมทะเลที่มีบทบาทในธุรกิจส่งออกเต่ามากที่สุดของรัฐวาฮากา โดยอาคารศูนย์อนุรักษ์ได้ถูกสร้างขึ้นบนตำแหน่งเดียวกับที่โรงชำแหละเนื้อเต่าเคยตั้งอยู่ในอดีต

นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือเม็กซิโกในการช่วยดูแลรักษาหาดบริเวณนี้ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับแม่เต่าที่ขึ้นมาวางไข่ ทำให้ปัจจุบันศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าแห่งนี้ถือเป็นแหล่งศึกษาและอนุรักษ์เต่าที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ในส่วนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายห้ามล่าเต่า ทางรัฐบาลได้จัดตั้งโครงการต่างๆ เพื่อให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์พันธุ์เต่าและประโยชน์ของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนชาวบ้านที่ต้องการทำธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร จัดตั้งบริษัททัวร์ที่เป็นมิตรกับทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้ทดแทน รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมสร้างจิตสำนึกที่เปิดโอกาสให้ทั้งคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวได้เข้าร่วม เช่นโครงการส่งลูกเต่ากลับสู่ท้องทะเลนั่นเอง

Slow and Steady Wins the Race

เย็นวันนี้เรามีนัดกับเพื่อนบ้านชื่อกิโก้ (Kiko) ที่บังเอิญเป็นอาสาสมัครชาวบ้านในโครงการส่งลูกเต่ากลับสู่ทะเลของหาดพาลมาริโต (Palmarito) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองปวยร์โต เอสกอนดิโด มากนัก

ถึงแม้การล่าเต่าในเขตชายฝั่งของเม็กซิโกจะเบาบางลงเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่จำนวนของเต่าทะเลก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นสักเท่าไหร่ เนื่องจากโอกาสการอยู่รอดตามธรรมชาติของลูกเต่าเหล่านี้มีอยู่น้อย เจ้าหน้าที่ของศูนย์อนุรักษ์เต่าและชาวบ้านจึงมารวมตัวกันเพื่อสร้างสถานที่อนุบาลไข่เต่าตามหาดต่างๆ ที่มีเต่าขึ้นมาวางไข่ อาสาสมัครคนไหนอยู่ใกล้หาดอะไรก็รับหน้าที่ไปดูแลไข่เต่าบริเวณนั้น เหมือนกับที่กิโก้อาสารับผิดชอบไข่เต่าที่หาดพาลมาริโต

เต่าทะเล
© Claudio Giovenzana, CC BY-SA 4.0

กิโก้เล่าให้ฟังว่า เต่าทะเลเป็นสัตว์สันโดษ พวกมันใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในน้ำและแทบไม่ยุ่งกับเต่าตัวอื่นเลยยกเว้นช่วงฤดูผสมพันธุ์ เมื่อถึงฤดูวางไข่ แม่เต่าจะขึ้นมาบนหาดตั้งแต่ตอนเช้าตรู่และขุดทรายเป็นรูขนาดใหญ่แล้วก็ยืนเหนือหลุมและวางไข่ตั้งแต่ 80 ถึง 200 ฟอง ไข่เหล่านี้จะมีสีขาวและมีขนาดเกือบๆ เท่าลูกปิงปอง หลังจากนั้นแม่เต่าจะกลบหลุมและใช้ขาเกลี่ยทรายให้พื้นราบเรียบเหมือนเก่า ก่อนจะเดินหันหลังกลับลงทะเลไป

“ตามธรรมชาติแม่เต่า 1 ตัวออกไข่ประมาณ 110 ฟอง ไข่พวกนี้จะฟักเป็นตัวประมาณ 90 ฟอง แต่อาจจะมีลูกเต่าที่โดนนก ปู มดหรือสุนัขเอาไปกินระหว่างทาง จนเหลือลูกเต่ารอดแค่ประมาณ 10 – 15 ตัวที่เดินลงไปจนถึงน้ำทะเลได้ แต่เมื่ออยู่ในน้ำก็อาจจะโดนปลาหรือนกจับไปกินอยู่ดี

“โดยเฉลี่ยลูกเต่า 1,000 ตัวจะมีเพียง 1 ตัวเท่านั้นที่รอดชีวิตยืนยาวไปจนถึงช่วงอายุผสมพันธุ์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15 – 30 ปี”

เต่าทะเล
เต่าทะเล

ทุกเช้าเราจะเห็นกิโก้และอาสาสมัครคนอื่นๆ ออกไปเดินสำรวจหาดเพื่อหาร่องรอยของการวางไข่ เต่าบางสายพันธุ์จะขึ้นมาวางไข่ตอนกลางวัน อาสาสมัครที่ไปพบก็จะรอจนแม่เต่าวางไข่เสร็จและเดินกลับลงทะเลไปแล้ว จึงจะขุดและย้ายไข่เหล่านั้นไปฝังใหม่ที่ศูนย์อนุบาลไข่เต่าที่อยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งศูนย์อนุบาลไข่เต่าที่ว่าจะมีรั้วพลาสติกหรือตะแกรงเหล็กกั้นโดยรอบ เพื่อปกป้องไข่จากสัตว์นักล่าอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์ด้วย

ไข่ที่ถูกย้ายไปฝังไว้ในนี้จะถูกแยกเป็นหลุม มีตาข่ายวงกลมครอบเอาไว้พร้อมมุ้งด้านบนและมีป้ายบอกระยะเวลาในการฟักตัวไว้เหนือหลุม ลูกเต่าแต่ละสายพันธุ์จะใช้เวลาในการฟักตัวแตกต่างกัน โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 60 วัน ในช่วงเวลานั้นตัวอ่อนจะค่อยๆ เติบโตขึ้นและใช้ออกซิเจนภายในเปลือกไข่จนเกือบหมดแล้วจึงค่อยๆ ดันเปลือกไข่ออกมา ตำแหน่งของไข่ภายในหลุมจะมีผลต่อเพศของลูกเต่า ถ้าอุณหภูมิของบริเวณนั้นสูงกว่า 29 องศาเซลเซียสลูกเต่าจะเป็นตัวเมีย ถ้าต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสลูกเต่าก็จะเป็นตัวผู้ และถ้าอุณหภูมิไม่แน่นอนลูกเต่าในหลุมจะมีทั้งตัวเมียและตัวผู้ปะปนกัน

อาสาสมัครชาวบ้านจะช่วยกันดูแลไข่เต่าที่อยู่ในศูนย์อนุบาลอย่างแข็งขัน เมื่อถึงเวลาฟักตัวออกมาก็จะถูกนำมาใส่ถังพลาสติกเอาไว้และรอคอยจนกว่าจะใกล้ถึงเวลาพระอาทิตย์ตก แล้วค่อยปล่อยให้ลูกเต่าเดินจากชายหาดลงสู่ทะเล

“ปกติลูกเต่าจะออกจากไข่ช่วงเช้า แต่ที่รอปล่อยตอนเย็นเพราะแดดไม่ร้อน นกก็หากินกันจนอิ่มแล้ว พอพระอาทิตย์เริ่มตก แสงรอบตัวจะเหลือน้อย ลูกเต่าจะได้เดินตามแสงพระอาทิตย์ลงไปหาน้ำ นกก็มองลงมาไม่ค่อยเห็น”

เต่าทะเล
เต่าทะเล

เราพากันเดินมาจนถึงศูนย์อนุบาลไข่บนหาดพาลมาริโตที่ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวมานั่งรอกันอยู่บ้างแล้ว ในขณะที่อาสาคนอื่นๆ กำลังย้ายลูกเต่าออกจากหลุมมาไว้ในถัง กิโก้ก็หยิบเอาไม้ไปเกลี่ยพื้นทรายตรงชายหาดให้เรียบยาวลงไปจนถึงบริเวณที่มีคลื่นเข้ามา เสร็จแล้วก็เดินกลับขึ้นมาขีดเส้นตรงยาวบนเนินทรายคล้ายจะให้เป็นจุดเริ่มต้นของการวิ่งแข่ง

“ตอนแรกทำกันเอง ปล่อยกันเองเงียบๆ แล้วก็เริ่มไปติดป้ายบอกตามบ้านตามร้านค้าว่าวันไหนจะมีลูกเต่าให้ปล่อย จนเริ่มมีนักท่องเที่ยวมายืนดู บางครั้งลูกเต่าเยอะ ปล่อยไม่ทันก่อนพระอาทิตย์ตก ก็ให้นักท่องเที่ยวช่วยปล่อย บางคนประทับใจมากก็ช่วยบริจาคเงิน ก็เลยค่อยๆ ปรับให้เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมได้ และมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อยเพื่อเป็นค่าบำรุง

“บางหาดก็รับบริจาคแทน ปล่อยฟรีๆ ก็ได้ ถือว่าช่วยๆ กัน”

เต่าทะเล

ถังพลาสติกที่เต็มไปด้วยลูกเต่าถูกยกออกมา เสียงฮือฮารอบๆ ดังขึ้นทันที เพราะเจ้าตัวจิ๋วๆ สีดำในกะละมังเป็นร้อยตัวกำลังปีนป่ายกันไปมาอยู่ในนั้นอย่างน่าขำ กิโก้ยื่นกะลามะพร้าวใบน้อยที่มีรอยแกะสลักไว้รอบๆ อย่างสวยงามให้เรา 1 ใบ กะลานี้ถูกใช้เป็นพาชนะให้ทุกคนได้ใส่ลูกเต่าก่อนจะพาไปปล่อย

“บางคนไม่กล้าจับ บางคนจับแล้วปล่อยเต่าตกพื้น บางคนมือทาโลชั่น น้ำมัน ครีมกันแดด ถ้าไม่มีกะลาก็ต้องให้ล้างมือก่อนจับลูกเต่า”

เต่าทะเล

ลูกเต่าที่เราได้มาตอนแรกดูจะมีพลังล้นเหลือและกระตือรือร้นเป็นพิเศษ เพราะพยายามจะปีนออกจากกะลาครั้งแล้วครั้งเล่าจนเราต้องคอยหมุนไม่ให้ลูกเต่าตกพื้น กิโก้บอกให้ทุกคนรอจนกระทั่งพระอาทิตย์คล้อยลงต่ำและปล่อยลูกเต่าตรงจุดเริ่มต้นที่ขีดไว้ ทั้งยังกำชับว่าเมื่อปล่อยไปแล้วให้ยืนอยู่กับที่นิ่งๆ เพราะลูกเต่าบางตัวจะโดนคลื่นพากลับมาบนฝั่งและเราอาจจะเผลอเหยียบมันโดยไม่รู้ตัว

แสงอาทิตย์ทอสว่างสะท้อนกับน้ำทะเลสีฟ้า ลูกเต่าเกือบร้อยตัวถูกวางลงบนเส้นที่กิโก้ขีดไว้เกือบจะพร้อมๆ กัน

“ผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้คือผู้รอดชีวิต”

เต่าทะเล

ไม่น่าเชื่อว่าแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ถือลูกเต่าอยู่ในมือจะทำให้เราเกิดความรู้สึกผูกพันกับมันได้อย่างประหลาด หลายๆ คนที่อยู่ตรงนั้นก็คงรู้สึกไม่ต่างกับเรามากนัก บางคนส่งเสียงเรียกชื่อที่เพิ่งตั้งหมาดๆ ให้กับลูกเต่าที่กำลังเดินลงทะเลอย่างตั้งอกตั้งใจ ส่วน ‘เจ้ากะทิ’ ของเราคงจะตื่นเต้นจนหมดพลังตั้งแต่อยู่ในกะลา พอถึงเวลาต้องเดินจริงๆ กลับง่วงงุนเกินกว่าจะออกเดิน กิโก้เลยบอกให้เราลองยกลูกเต่าขึ้นมาแล้ววางลงไปใหม่ กะทิตื่นทันทีที่ขาลอยขึ้นจากพื้น แต่พอกลับลงบนพื้นได้ก็เดินเปะปะแค่สองสามก้าวก่อนตาเล็กๆ ทั้งสองข้างจะปิดลงอีก ทุกคนหันมาลุ้นกับเราและช่วยเรียกชื่อกะทิตามเรา ทั้งที่ออกเสียงชัดบ้างไม่ชัดบ้าง เรียกว่ากว่าเจ้าหนูขี้เซาจะลงไปถึงน้ำได้ คนทั้งกลุ่มก็ลุ้นกันจนเหนื่อย

เต่าทะเล

ในระหว่างที่คอยดูลูกเต่า กิโก้บอกให้ทุกคนระวังนกที่บินวนเวียนอยู่ริมหาดและขอให้ปกป้องลูกเต่าแต่พอดี ถ้านกโฉบลงมาก็อาจจะตบมือส่งเสียงไล่ แต่อย่าถึงขั้นทำร้ายนก ทุกคนดูจะเข้าใจกันดี แต่ก็อดหวาดเสียวไม่ได้เมื่อเห็นนกตัวไหนโฉบมาใกล้ๆ โชคดีที่วันนี้ไม่มีเต่าเคราะห์ร้ายให้ใครต้องสะเทือนใจ

เต่าทะเล

พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า ลูกเต่าตัวสุดท้ายเดินลงน้ำและว่ายออกไปจนลับสายตาแล้ว ทุกคนนั่งลงดื่มด่ำกับบรรยากาศ ถ้าหากเจ้าเต่าน้อยที่เราช่วยส่งลงทะเลไปจะเป็นหนึ่งในจำนวนเต่าที่มีชีวิตรอดจนโตได้ มันอาจจะมีชีวิตยืนยาวได้ถึงร้อยปี กิโก้บอกทุกคนว่า ลูกเต่าตัวเมียที่เราปล่อยไปในวันนี้จะใช้เวลาประมาณ 15 ถึง 20 ปีกว่าจะโตและผสมพันธุ์ได้ เมื่อถึงตอนนั้นแม่เต่าจะเดินทางกลับมาวางไข่บนหาดที่มันเกิดแห่งนี้ และจะกลับมาวางไข่ที่นี่ทุกปีไปจนถึงอายุ 80

“อีก 20 ปีถ้าคุณกลับมาที่หาดนี้ คุณอาจจะได้เจอกับแม่เต่าของคุณก็ได้”

หลังจากวันนั้น เราก็วนเวียนกลับไปร่วมส่งลูกเต่าลงทะเลกับกิโก้อีกหลายต่อหลายครั้ง และเราตัดสินใจเรียกเต่าทุกตัวที่เราได้รับว่า ‘กะทิ’ และหวังว่าสักวันถ้าเรามีโอกาสกลับไปที่หาดนั้นอีกในช่วงฤดูวางไข่ เราอาจจะได้พบกับหนึ่งใน ‘แม่กะทิ’ ของเราอีก 🙂

เต่าทะเล