กาแฟสีดำข้นคลั่กในแก้วเซรามิก 2 ใบบนโต๊ะส่งกลิ่นหอมไปทั่วทั้งอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ภายในตึกเก่าแก่อายุร่วม 200 ปีที่เราเช่า เสียงไวโอลินจังหวะกระชั้นจากด้านนอกแว่วผ่านเข้ามาทางหน้าต่างบานใหญ่ในห้องนั่งเล่นเป็นระยะ เมื่อมองออกไปด้านล่างก็จะเห็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาของผู้คนมากหน้าหลายตาในพลาซ่า เดอ อาร์มาส (Plaza de Armas) จัตุรัสสำคัญที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านเมืองเก่าของซานติอาโกแห่งนี้

ช่วงสายวันนี้เราสองคนมีนัดกับ ‘เจย์’ เพื่อนชาวชิลีที่บอกว่าจะพาเราไปร้านกาแฟที่มีความเป็นชิลีของแท้ แต่สาเหตุที่เราต้องนั่งดื่มกาแฟที่อพาร์ตเมนต์ก่อนจะไปเจอกับเจย์ก็เพราะเจ้าตัวส่งข้อความมาบอกเราแต่เช้าตรู่ว่า

“ดื่มกาแฟมาจากบ้านให้เรียบร้อยนะ เพราะร้านนี้กาแฟไม่อร่อย”

อ้าว…

ซานติอาโก

เมื่อได้รับคำแนะนำจากเจ้าถิ่นมาแบบนั้น เราสองคนก็ทำตามแบบไม่มีข้อแม้ เพราะถือคติตามประสาคนติดกาแฟว่า กาแฟดี ดื่มเท่าไหร่ก็ไม่พอ

เราเพิ่งมาเริ่มดื่มกาแฟตอนออกทริปมอเตอร์ไซค์ทางไกล โดยเฉพาะวันที่ต้องเดินทางติดต่อกันถึง 8 หรือ 10 ชั่วโมง คาเฟอีนในกาแฟเท่านั้นที่จะทำให้เรานั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ได้อย่างมีสติและรู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา และเมื่อระยะเวลาของทริปนี้ยาวนานขึ้นจากเดือนกลายเป็นปี จากปีกลายเป็น 2 ปี มนุษย์โกโก้เย็นอย่างเราจึงกลายพันธุ์เป็นมนุษย์กาแฟไปโดยสมบูรณ์แบบ

Café con Piernas

ร้านกาแฟที่เจย์พาเราไปอยู่ห่างจากจตุรัสอาร์มาสเพียงแค่บล็อกเดียว ระหว่างทางเจย์ให้คำใบ้ว่า เราจะเข้าร้านที่เรียกกันว่า ‘Café con Piernas’ หรือแปลตรงตัวเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Coffee with Legs’

ยังไม่ทันจะอธิบายอะไรกันมาก เราสามคนก็เดินมาหยุดตรงหน้าร้านที่ตั้งอยู่ในตึกห้องแถวขนาดประมาณ 2 ห้อง ประตูกระจกใสขนาดใหญ่เปิดกว้าง เมื่อมองเข้าไปด้านในก็เห็นผนังรอบด้านติดกระจกเงา ทำให้ร้านดูสว่างและให้ความรู้สึกกว้างกว่าความเป็นจริง

Café con Piernas

เมื่อเดินเข้าไปข้างใน สิ่งที่สะดุดตาเราที่สุดดูจะเป็นการที่ลูกค้าในร้านทุกคนยืนกระจายกันตามจุดต่างๆ ของร้าน เพราะไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง มีก็แต่เคาน์เตอร์บาร์ที่ใช้วางกาแฟและขวดน้ำตาล ส่วนด้านหลังบาร์มีเครื่องชงกาแฟขนาดใหญ่ตั้งอยู่

หรือจะเป็นเพราะลูกค้าทุกคนต้องยืนดื่มกาแฟรึเปล่านะ ถึงได้เรียกร้านแบบนี้ว่า Coffee with Legs

ในขณะที่มองสำรวจรอบๆ ผู้หญิงสาวสวยสะดุดตาคนหนึ่งหันมาสบตาเราจากอีกมุมห้อง พอเราพยักหน้าทักทาย เธอก็เดินตรงเข้ามาหาพร้อมด้วยรอยยิ้มหวาน ชุดกระโปรงรัดรูปตัวสั้นเผยให้เห็นเรียวขายาวสวย และท่วงท่าการเดินอย่างมั่นอกมั่นใจบนรองเท้าส้นสูงคู่นั้น ทำให้แม้แต่ผู้หญิงด้วยกันอย่างเรายังต้องมองตามอย่างอดรู้สึกนิยมชมชอบไปด้วยไม่ได้

Café con Piernas

กลิ่นน้ำหอมอ่อนๆ ลอยเตะจมูกเมื่อเธอมาหยุดยืนอยู่ตรงหน้า ยังไม่ทันที่เราจะได้พูดอะไร เธอก็โน้มตัวมาแตะแขนเราด้วยท่าทีสนิทสนมคล้ายคนที่รู้จักคุ้นเคยกันมานาน และถามด้วยเสียงอ่อนหวานชวนฟังว่า

“รับกาแฟอะไรดีคะ”

เมนูเครื่องดื่มที่เธอชี้ให้เราดูบนผนังมีเพียงไม่กี่รายการให้เลือก เช่น กาแฟร้อน ชาร้อน ช็อกโกแลตร้อน และนมร้อน เมื่อเราสั่งเครื่องดื่มที่ต้องการและชำระเงินเรียบร้อย เธอก็เดินถือออร์เดอร์กลับไปที่เครื่องทำกาแฟหลังเคาน์เตอร์บาร์ช้าๆ และเมื่อเธอกลับไปยืนรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ผู้หญิงที่ใส่ชุดคล้ายกันอีก 4 – 5 คน เราก็ได้คำตอบขึ้นมาทันทีว่าชื่อ Coffee with Legs สื่อถึงอะไร…

ไม่ใช่ขาลูกค้าที่มายืนดื่มกาแฟหรอก แต่เป็นขาของพวกเธอต่างหาก ที่ทำให้ทุกคนเรียกร้านกาแฟแบบนี้ว่า Café con Piernas หรือ Coffee with Legs

Café con Piernas Café con Piernas

เจย์เล่าให้ฟังว่า Cafe con Piernas มีอยู่แทบทุกมุมเมืองในซานติอาโก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านที่มีออฟฟิศและบริษัทต่างๆ เพราะลูกค้ากลุ่มหลักของร้านเหล่านี้ก็คือพนักงานเงินเดือนและนักธุรกิจที่อาจจะแวะเข้ามาซื้อกาแฟตอนเช้าก่อนไปทำงาน ตอนพักเที่ยงหรือตอนเย็นหลังเลิกงานก่อนกลับบ้าน

แน่นอนว่าลูกค้าที่เดินเข้ามายืนจิบกาแฟส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่พนักงานเสิร์ฟในร้านก็ดูจะเต็มอกเต็มใจดูแลต้อนรับลูกค้าทุกเพศทุกวัยที่เข้ามาใช้บริการอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรายได้หลักของพวกเธอมาจากทิปที่ลูกค้าจะจ่ายเพิ่มให้หลังจากดื่มกาแฟเสร็จ ซึ่งก็หมายความว่าเมื่อเราสั่งซื้อกาแฟ 1 แก้ว ก็จะมีพนักงานเสิร์ฟ 1 คนที่ทำหน้าที่รับออร์เดอร์ เสิร์ฟกาแฟ และมายืนพูดคุยกับเราไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีลูกค้าคนใหม่เข้ามา

Café con Piernas

เจย์บอกว่าพนักงานบางคนสามารถทำเงินได้เกือบ 60,000 – 70,000 บาทต่อเดือน และบางครั้งก็อาจได้ของขวัญมีค่าราคาแพงจากลูกค้าประจำในร้าน และเมื่อจำนวนค่าตอบแทนต่อเดือนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอาชีพใช้แรงงานประเภทอื่นในซานติอาโกที่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 12,000 – 15,000 บาทต่อเดือน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ผู้หญิงในซานติอาโกจำนวนมากเต็มใจที่จะเลือกทำอาชีพนี้

Café con Piernas

 

จุดเริ่มต้นของ ‘Café con Piernas’

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าร้านกาแฟลักษณะนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่ บ้างก็บอกว่าเริ่มต้นมาจากนักธุรกิจคนหนึ่งที่รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับความชื่นชอบกาแฟสำเร็จรูปแบบเกินพอดีของชาวชิลีในยุค 70 โดยเฉพาะเนสกาแฟ (Nescafe-แม้แต่ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่ค่ะ ถ้าสั่งกาแฟร้อนตามร้านอาหารหรือโรงแรมส่วนใหญ่ในชิลี กาแฟที่ได้จะเป็นกาแฟสำเร็จรูปมากกว่ากาแฟสด) นักธุรกิจคนนี้จึงคิดว่าสมควรแก่เวลาแล้วที่จะทำให้ทุกคนได้ลิ้มลองรสชาติของกาแฟเอสเพรสโซสไตล์อิตาลี แต่เมื่อเปิดร้านเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก เขาจึงเกิดความคิดใหม่ให้สาวๆ ที่เสิร์ฟกาแฟในร้านแต่งตัวด้วยชุดกระโปรงสั้นรัดรูปและสวมรองเท้าส้นสูงเพื่อเรียกลูกค้า

เพียงเท่านั้นลูกค้าที่เป็นพนักงานเงินเดือนเพศชายทั้งหลายก็หลั่งไหลเข้าร้านจนเต็มแน่นทุกวัน ไอเดียธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จมากจนร้านกาแฟอีกหลายเจ้าเอาไปเลียนแบบ ทำให้มีร้านกาแฟสไตล์ Café con Piernas ผุดเป็นดอกเห็ด จนแทบจะเรียกได้ว่าปรากฏการณ์นี้เป็นหนึ่งในการปฏิวัติวัฒนธรรมการดื่มกาแฟครั้งสำคัญของชาวซานติอาโกเลยก็ว่าได้

 

 

บ้างก็บอกว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ในสมัยก่อนถ้าผู้ชายอยากจะนั่งมองหรือพูดคุยกับผู้หญิงสวยๆ สักคน หรือถ้าอยากคลายเครียด ก็ต้องเข้าไปตามไนต์คลับหรือตามบาร์กลางคืนหลังเลิกงาน ผลที่ตามมาก็คือการกลับบ้านดึก นำไปสู่ปัญหาที่ทำงานและปัญหาครอบครัว

ผู้บุกเบิก Café con Piernas คนแรกจึงมีแนวความคิดว่าอยากให้มีสถานที่ที่ผู้ชายเหล่านี้มาพักผ่อนจากความเครียดที่บ้านและที่ทำงานโดยไม่ต้องเข้าไนต์คลับ จึงเปิดร้านกาแฟที่มีสาวเสิร์ฟในชุดกระโปรงสั้นรัดรูปแบบนี้ขึ้นมา เพื่อที่ผู้ชายทั้งหลายจะได้ใช้เวลาสั้นๆ เข้ามาจิบกาแฟที่ร้านและผ่อนคลาย มีวิวดีๆ ให้ดู มีเพื่อนพูดคุยด้วยให้หายเหนื่อย อาจจะเป็นช่วงเช้าก่อนเข้าทำงาน ช่วงเที่ยงหลังอาหารกลางวัน หรือช่วงเย็นหลังเลิกงาน โดยใช้เวลารวมเฉลี่ยไม่เกิน 15 นาที แล้วก็ไปทำงานต่อหรือกลับบ้านได้โดยไม่มีผลกระทบใดๆ

หรือจะเป็นเรื่องที่บอกว่า Café con Piernas ร้านแรกเปิดขึ้นใน ค.ศ. 1985 เป็นยุคที่ประเทศชิลีอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการโดยนายพลปิโนเชต์ ทำให้ประชาชนเกิดความเครียดที่ถูกกดขี่ข่มเหงสิทธิมนุษยชน ผู้บุกเบิกรายแรกจึงมีความคิดที่จะเปิดร้านกาแฟสไตล์ Café con Piernas ขึ้น เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับคนที่ต้องการหลีกหนีความจริงที่หดหู่และสิ้นหวังในชีวิตประจำวัน และเมื่อเปิดให้บริการก็ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

Café con Piernas

 

How do you like your coffee?

“รับกาแฟแบบไหนดีคะ”

Café con Piernas ในซานติอาโก แบ่งได้คร่าวๆ เป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ

ระดับแรก Café con Piernas ที่เจย์แนะนำให้เราลองใช้บริการเรียกว่าแบบ ‘ดั้งเดิม’ มักอยู่ในแหล่งที่มีคนพลุกพล่าน จุดท่องเที่ยว ย่านออฟฟิศ ประตูด้านหน้าจะเป็นกระจกใสที่มองเห็นบรรยากาศด้านใน ไฟในร้านก็เปิดสว่างไสว พนักงานเสิร์ฟใส่ชุดกระโปรงรัดรูปตัวสั้น รองเท้าส้นสูง แต่ไม่เปิดเผยและวาบหวามมากจนเกินไป เป็นร้านที่เปิดให้บริการแก่คนทุกเพศทุกวัย

จากการเดินเข้าออกใช้บริการร้านกาแฟระดับนี้หลายครั้งในช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่พักอยู่ในซานติอาโก เราไม่เคยเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมระหว่างลูกค้ากับพนักเสิร์ฟเกิดขึ้นในร้านเลย จะมีก็แต่การทักทายพูดคุยกันปกติ บางร้านแทบจะเรียกได้ว่าบรรยากาศเหมือนร้านกาแฟธรรมดา ยกเว้นก็แต่ชุดยูนิฟอร์มของพนักงานเสิร์ฟและการไม่มีเก้าอี้ให้ลูกค้านั่ง

ระดับที่สอง บางคนเรียกว่า ‘Café con Piernas ของแท้’ ตั้งอยู่ในมุมที่ไม่ค่อยมีคนเดินผ่านไปมามากนัก ประตูหน้าร้านใช้กระจกมืดและทึบ เมื่อเปิดประตูเข้าไปด้านในจะมีเคาน์เตอร์บาร์เหมือนร้านระดับแรก แต่แสงไฟในร้านจะสลัว และสาวๆ ที่เดินเสิร์ฟกาแฟในนี้จะสวมเสื้อผ้าน้อยชิ้น เช่น ชุดบิกินี่ หรือชุดชั้นในเรืองแสง สาวๆ อาจต้อนรับแบบถึงเนื้อถึงตัวและเอาอกเอาใจมากกว่าระดับแรก บางร้านมีรอบ ‘นาทีทอง’ ที่พนักงานเสิร์ฟจะเดินเปลือยอกเสิร์ฟกาแฟเป็นเวลา 1 นาทีเต็ม ร้านระดับนี้ห้ามไม่ให้ลูกค้าที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าใช้บริการ และส่วนใหญ่มักเปิดรับเฉพาะลูกค้าเพศชายอีกด้วย

Café con Piernas

ระดับที่สาม มักตั้งอยู่ในตรอกซอกซอยเล็กๆ โดยเฉพาะภายในห้างสรรพสินค้าเก่า ภายนอกเป็นกระจกทึบและแทบไม่แตกต่างกับร้านระดับที่สองเลย แต่ร้านระดับที่สามนี้อาจมีการขายบริการทางเพศร่วมอยู่ด้วย จุดสังเกตคือจะมีการ์ดคอยยืนควบคุมความเรียบร้อยอยู่หน้าร้าน รวมทั้งทำหน้าที่ต้อนรับหรือปฏิเสธลูกค้าแปลกหน้า (หรือลูกค้าอย่างเราที่ไปยืนด้อมๆ มองๆ หน้าร้านด้วยความอยากรู้อยากเห็น)

อย่างไรก็ตาม ร้านระดับที่สองและสามมักปิดตัวและย้ายสถานที่ตั้งบ่อยครั้ง เนื่องจากมีผู้หวังดีแจ้งเรื่องการเปิดให้บริการที่ไม่เหมาะสมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ

Café con Piernas

การที่ชาวชิลีอ้าแขนรับ Café con Piernas ไม่ว่าระดับไหนก็ตามให้เป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของสังคม และได้รับความนิยมในวงกว้าง นับว่าย้อนแย้งและน่าทึ่งอยู่ไม่น้อย เพราะชิลีเป็นประเทศที่มีความอนุรักษ์นิยมสูง และมีวิถีปฏิบัติที่เคร่งครัดที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคอทอลิก1

นอกจากนี้ชิลียังเป็นประเทศท้ายๆ ของโลกที่อนุญาตให้คู่สามีภรรยาสามารถหย่าร้างได้ถูกต้องตามกฎหมายใน ค.ศ. 2004 แม้แต่กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอายุ เพศ ศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ก็เพิ่งได้รับการอนุมัติใน ค.ศ. 2012 แถมชิลียังเคยมีระบบการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ที่เข้มงวดมาก เช่น ภาพยนตร์ต่างประเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศหรือศาสนาหลายเรื่องถูกห้ามเข้าฉายภายในประเทศ ส่วนเรื่องที่อนุญาตให้เข้าฉายได้ก็ถูกตัดต่อใหม่ซะจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมเลย เป็นต้น

ทุกวันนี้นอกจากร้านกาแฟสไตล์ Café con Piernas (แบบดั้งเดิมหรือระดับแรก) จะเป็นร้านที่คนท้องถิ่นเดินเข้าออกกันตามปกติแล้ว ยังกลายเป็นหนึ่งใน ‘กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวควรลองไปสัมผัสดูสักครั้งเมื่อมาเยือนซานติอาโก’ อีกด้วย 🙂

 

อ้างอิง
  1. Chile – Religions, Nations Encyclopedia
  2. Chile introduces right to divorce, BBC NEWS, November, 2004
  3. LGBT in Chile,  Wikipedia
After Banning 1,092 Movies, Chile Relaxes Its Censorship , The New York Times, December 2002