สิบกว่าปีที่แล้ว โปสการ์ดใบหนึ่งเดินทางมาจากปูโน (Puno) แคว้นเล็กๆ ริมทะเลสาบสุดชายแดนใต้ของประเทศเปรู (Peru) กว่าโปสการ์ดใบนั้นจะข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงมือเราที่เมืองไทย ข้อความด้านหลังก็พร่าเลือนเพราะความชื้นไปหลายจุด มุมกระดาษด้านหนึ่งเปื่อยยุ่ยจนแทบขาด เราจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเพื่อนเขียนมาว่าอะไรบ้าง แต่สิ่งที่จำได้ชัดเจนที่สุดกลับเป็นภาพผู้หญิงชาวพื้นเมืองผิวเข้มใส่ชุดสีสันสดใสที่กำลังพายเรือรูปร่างแปลกตา และมีกลุ่มกระท่อมหลังเล็กๆ ลอยอยู่บนน้ำเป็นฉากหลัง

ภาพบนแผ่นโปสการ์ดในวันนั้น กลายมาเป็นภาพจริงที่อยู่ตรงหน้าในวันนี้

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

 

เผ่าพันธุ์โบราณจากโลกอันมืดมิด

ทะเลสาบติติกากา, เปรู

“เลือดของอูรอสแท้ๆ จะเป็นสีดำ ตกน้ำก็ไม่จม หนาวเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึก มืดเท่าไหร่ก็ไม่กลัว เพราะบรรพบุรุษเราเกิดก่อนที่โลกนี้จะมีพระอาทิตย์”

วิลคาเป็นชาวอูรอสที่เกิดและโตบนหมู่บ้านที่ลอยอยู่กลางทะเลสาบติติกากา (Titicaca) พอย่างเข้าช่วงวัยรุ่นก็พายเรือไปเรียนภาษาสเปนที่แผ่นดินใหญ่ และทุกวันนี้วิลคาก็พูดภาษาอังกฤษได้คล่อง

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

“เด็กอูรอส  5 ขวบก็ว่ายน้ำแข็งและพายเรือเก่งแล้ว คุณเคยพายเรือไหม”

เผ่าอูรอสของวิลคาเป็นเผ่าที่เก่าแก่ที่สุดเผ่าหนึ่งของทวีปอเมริกาใต้ และนักวิจัยคาดว่าพวกเขาเป็นเผ่าแรกๆ ที่อพยพมาจากลุ่มน้ำอะเมซอน และมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ริมทะเลสาบติติกากา ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ติดชายแดนของประเทศเปรูกับประเทศโบลิเวีย แล้วก็เริ่มปลูกมันสำปะหลังและจับปลาเพื่อยังชีพ

เมื่อถึงยุคที่ชาวอินคาเข้าครอบครองพื้นที่แถบนี้และบังคับให้ชาวพื้นเมืองยอมรับภาษาและวัฒนธรรมของเผ่าตัวเอง ชาวอูรอสไม่ต้องการจำนน แต่การลุกขึ้นสู้ก็อาจทำให้สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ได้ จึงตัดสินใจอพยพลงเรือเพื่อหลีกหนีการปะทะ

การตัดสินใจครั้งนั้นทำให้เผ่าอูรอสมาลอยลำอยู่ผืนกลางน้ำ แต่ด้วยขนาดอันกว้างใหญ่ของทะเลสาบติติกากา ชาวอินคาก็หมดความสนใจที่จะตามล่า ชาวอูรอสจึงใช้ชีวิตกินนอนอยู่บนเรือ จับปลาและกินต้นกกโตโตร่า (Totora Reed) ซึ่งเป็นต้นกกที่พบได้เฉพาะในทะเลสาบติติกากาและเกาะอีสเตอร์ (Easter Island) ของประเทศชิลี

“ประเทศคุณมีอ้อยไหม โตโตร่ารสเหมือนอ้อยจืดๆ ตอนเด็กๆ ผมว่ามันอร่อยดีเพราะไม่มีอะไรกิน”

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

วันดีคืนดีชาวอูรอสที่เร่ร่อนอยู่กลางน้ำสังเกตเห็นนกคาบเอาต้นโตโตร่าที่ขึ้นอยู่ทั่วทะเลสาบไปทำรังเพื่อกกไข่ และรังเหล่านั้นก็ลอยอยู่เหนือน้ำ พวกเขาจึงใช้วิธีเดียวกันนี้มาสร้างที่อยู่อาศัย สร้างเรือ ไปจนถึงสร้างข้าวของเครื่องใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันด้วยต้นกกชนิดเดียวกัน

“โตโตร่าใช้ได้ กินได้ ใส่เหล้าก็ดี ทำยาแก้ปวดก็ได้”

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

วิลคาโฆษณาสรรพคุณต้นโตโตร่าไม่หยุดปาก

เผ่าอูรอสได้ใช้ชีวิตอย่างสงบเรียบง่ายและแทบจะตัดขาดจากโลกภายนอก เพราะชาวอินคาและแม้แต่ชาวสเปนที่เข้ามีอิทธิพลเหนือดินแดนนี้หลังจากนั้นต่างก็ไม่สนใจชาวเผ่าเร่ร่อนที่ลอยอยู่กลางทะเลสาบ เพราะมองว่าเป็นชนเผ่าชั้นต่ำ ยากจน เกียจคร้าน และไม่ฉลาด ถ้าหากจับชาวอูรอสได้ก็จะบังคับให้เป็นทาส หรือไม่ก็เรียกเก็บภาษีน้อยนิดพอเป็นพิธี

ด้วยเหตุนี้ชาวอูรอสส่วนใหญ่รวมทั้งวิลคาจึงพูดภาษาสเปนซึ่งเป็นภาษาสากลของคนบนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้ แต่ใช้ภาษาไอมาร่า (Aymara, Aimara) ซึ่งเป็นภาษาของเผ่าไอมาร่าที่ชาวอูรอสเคยค้าขายแลกเปลี่ยนด้วยเป็นหลักในสมัยที่ยังปลูกมันสำปะหลังอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ส่วนภาษาดั้งเดิมของชาวอูรอสนั้นค่อยๆ สูญหายไปโดยมีสาเหตุหลักๆ จากการแต่งงานข้ามเผ่า

“ถ้าคนอูรอสแต่งงานกับผู้หญิงเผ่าไอมาร่า ทั้งบ้านก็ต้องพูดภาษาไอมาร่า ผมแต่งงานกับผู้หญิงจากแผ่นดินใหญ่ที่พูดสเปนและอังกฤษ ผมเลยพูดภาษาอังกฤษได้ เพราะเรายกให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ในบ้าน”

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

 

การสร้างเกาะลอยน้ำของชาวอูรอส

ทะเลสาบติติกากาเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ และถึงแม้พื้นที่ในเขตน้ำตื้นจำนวนมากของทะเลสาบแห่งนี้จะปกคลุมด้วยต้นโตโตร่า แต่ชาวอูรอสก็พยายามเว้นระยะการตัดต้นโตโตร่าให้สูงห่างจากพื้นประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อรักษารากให้สมบูรณ์และสามารถผลิตดอกออกใบได้อีก

รากของต้นโตโตร่าที่ตายไปแล้วจะสอดแทรกอยู่ในก้อนดินเหนียวที่อยู่ใต้น้ำอย่างหนาแน่น เมื่อรากทับถมกันจนบูดเน่าเป็นเวลากว่าหลายสิบปี จึงเกิดแก๊สและทำให้ก้อนดินเหนียวที่มีความหนาประมาณ 1.5 – 2 เมตรลอยขึ้นมาอยู่เหนือน้ำได้ ชาวอูรอสตัดเอาแผ่นดินเหนียวเหล่านี้มาเป็นฐานในการสร้างเกาะ ผูกยึดเข้าไว้ด้วยกันเป็นบล็อกและเอามาต่อกันจนได้ขนาดตามที่ต้องการ ส่วนด้านล่างก็ใช้เชือกผูกติดกับไม้ยูคาลิปตัสที่เหลาปลายแหลมเพื่อใช้ปักกับพื้นแม่น้ำไม่ให้ลอยไปอย่างไร้ทิศทาง หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการเอาต้นโตโตร่ามาวางเรียงซ้อนกันด้านบนเป็นชั้นๆ เพื่อทำเป็นพื้นให้เดินได้สะดวก

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

ต้นโตโตร่าชั้นที่สัมผัสกับน้ำจะเน่าเปื่อยและย่อยสลายเร็วกว่าชั้นอื่นๆ ในขณะเดียวกันแสงแดดที่แผดเผาก็ทำให้ต้นที่อยู่ชั้นบนสุดแห้งจนแตกและฟุ้งเป็นเศษฝุ่นเมื่อมีคนเหยียบ การบำรุงรักษาสภาพพื้นด้วยการเติมต้นโตโตร่าชั้นใหม่อย่างสม่ำเสมอจึงมีความจำเป็นมาก โดยทั่วไปการเติมพื้นใหม่จะทำทุก 3 เดือน แต่สำหรับเกาะที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินเยี่ยมชมในแต่ละวัน ก็อาจต้องเพิ่มชั้นใหม่ทุก 3 – 4 วัน

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

การสร้างเกาะแต่ละครั้งถือเป็นงานใหญ่เนื่องจากใช้เวลาเกือบปีในการสร้าง เกาะขนาดเล็กจะรองรับคนได้ประมาณ 2 – 3 ครอบครัว ส่วนเกาะใหญ่จะรองรับคนได้ประมาณ 7 – 13 ครอบครัว เกาะที่ได้รับการดูแลอย่างดีจะอยู่ได้ยาวนานถึง  25 – 30 ปี ชาวอูรอสไม่เพียงใช้ต้นโตโตร่าสร้างเกาะ แต่ยังสร้างบ้าน สร้างเรือ และข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนห้องสำหรับปลดทุกข์ จะถูกสร้างไว้บนเกาะเล็กๆ ห่างจากบ้านด้วยการพายเรือประมาณ 10 นาที

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

“เคยเบื่อเพื่อนบ้านของตัวเองไหม”

หมู่บ้านลอยน้ำของชาวอูรอสถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันตัวจากความขัดแย้งกับคนบนแผ่นดินใหญ่ เมื่อพวกเขารู้สึกว่ามีภัยอันตรายก็จะเคลื่อนย้ายเกาะไปอยู่บริเวณอื่น ในขณะเดียวกันหากเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน เช่น ระหว่างครอบครัวที่อยู่บนเกาะเดียวกัน ถ้าหากหาข้อสรุปที่พอใจทั้งสองฝ่ายไม่ได้ วิลคาบอกเราว่า วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือการใช้เลื่อยตัดพื้นดินเหนียวที่เชื่อมกันอยู่ระหว่างบ้านออก หลังจากทั้งสองฝ่ายแยกกันไปคนละทิศคนละทางแล้ว ก็อาจจะไปปักหลักผูกติดกับเพื่อนบ้านคนใหม่ ชนชุมกลุ่มใหม่ หรือแยกไปอยู่เดี่ยวๆ ก็ได้

ความสามารถในการเคลื่อนที่อย่างอิสระของอาณาเขตเผ่า และความยืดหยุ่นทางสังคมที่ค่อนข้างสูงนี้ เป็นลักษณะเฉพาะของชาวอูรอส และเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่คนบนแผ่นดินใหญ่อย่างเรายากจะจินตนาการได้

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

 

วิถีชีวิตของชาวอูรอสในอดีตและปัจจุบัน

ชาวอูรอสเรียกตัวเองว่าเป็น ‘ลูกทะเลสาบ’ ชีวิตของพวกเขาผูกพันกับน้ำและธรรมชาติรอบตัวอย่างแยกไม่ออก ต้นโตโตร่าถูกนำมาใช้ทำเกาะ บ้าน และเรือ บางส่วนก็ถูกนำมาใช้ประกอบอาหาร เนื้อสัตว์หลักคือเนื้อปลา ซึ่งถึงแม้ปัจจุบันทะเลสาบติติกากาจะเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ แต่ชาวอูรอสก็ได้รับอนุญาตให้หาปลาในปริมาณที่เพียงพอต่อการบริโภค

นอกจากนี้ ยังมีการเอานกและเป็ดมาเลี้ยงเพื่อกินไข่ วิลคาเล่าให้ฟังว่า ผู้หญิงในเผ่าจะไปเอาไข่นกมาเก็บไว้ระหว่างหน้าอกเพื่อให้ความอบอุ่น เมื่อลูกนกออกมาจากไข่ก็จะเข้าใจว่าเป็นแม่ และไม่บินหนีออกไปจากเกาะ

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

บ้านของชาวอูรอสจะสร้างแบบยกฐานสูงขึ้นจากพื้นเกาะเพื่อป้องกันความชื้น ส่วนครัวถึงแม้จะมีพื้นเป็นต้นโตโตร่าเหมือนส่วนอื่นๆ ของบ้าน แต่บริเวณที่ทำอาหารจะมีก้อนหินขนาดใหญ่หรือก้อนดินเหนียววางเป็นฐานสำหรับก่อไฟ และเมื่อทำอาหารเสร็จแล้วก็ต้องดับไฟทันทีเพื่อความปลอดภัย บางครั้งชาวอูรอสก็เอาปลานาบกับหินที่ร้อนจัดด้วยแสงอาทิตย์แทนการหุงต้ม

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

ค.ศ. 1970 ทีมงาน National Geographic ได้นำเสนอวิถีชีวิตของชาวเผ่าอูรอสให้คนทั้งโลกได้รู้จักผ่านสารคดีชุดหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้นเกาะลอยน้ำของพวกเขาก็ยังอยู่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่อยู่มาก ผู้ที่เดินทางเข้าไปสัมผัสชีวิตที่แทบตัดขาดจากโลกภายนอกของชาวเผ่ากลุ่มนี้จึงมีเพียงนักสำรวจและนักเดินทางกลุ่มน้อยเท่านั้น

จนกระทั่งเกิดพายุใหญ่ใน ค.ศ. 1986 เกาะลอยน้ำได้รับความเสียหายอย่างหนัก ชาวอูรอสจึงต้องเคลื่อนย้ายเกาะเข้ามาอยู่ใกล้ฝั่งมากกว่าเดิมเพื่อซ่อมแซมและต่อเติมเกาะ ระยะทางที่ใกล้ขึ้นนี้เองเป็นผลให้เริ่มมีการติดต่อกับแผ่นดินใหญ่ และเริ่มมีนักท่องเที่ยวนั่งเรือออกไปเที่ยวชมเกาะลอยน้ำมากขึ้น จนกลายเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง และขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมของเปรูไม่แพ้มาชูปิกชูเลย

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

“จัดฉาก”

“ปลอม”

“กับดักนักท่องเที่ยว”

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้ามาพร้อมกับความเจริญ เมื่อเกาะลอยน้ำแห่งนี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักเดินทางทั่วโลก แคว้นเล็กๆ ริมชายแดนที่เคยเงียบเหงาอย่างปูโนก็คึกคักขึ้นมา ชาวอูรอสที่เคยเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยและไม่มีตัวตนต่อรัฐบาลเปรูและโบลิเวียก็เริ่มได้รับความสนใจและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น การตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้ การจัดกลุ่มพยาบาลเคลื่อนที่เพื่อให้เด็กๆ บนเกาะได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน ฯลฯ

ชาวอูรอสเริ่มประดิษฐ์ของที่ระลึกจากต้นโตโตร่าเพื่อขายให้แก่นักท่องเที่ยว ผู้หญิงในเผ่าก็ใช้เวลาถักทอผ้าและหมวกสีสันสดใสและนำมาวางขายให้แก่ผู้มาเยี่ยมชม การจับปลาเพื่อยังชีพลดลงเมื่อช่องทางการหาเงินเพิ่มขึ้น

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

“ตอนแรกไม่รู้จักหรอกว่าเงินคืออะไร นักท่องเที่ยวเขาทำเหรียญเงินหล่นในน้ำตอนจ่ายค่าเรือ เลยกระโดดดำน้ำลงไปเก็บให้เขา อูรอสว่ายน้ำเก่งกว่าใคร เหรียญสวยๆ ลงไปไม่นานก็หาเจอ แต่พอเอาขึ้นมาได้เขาก็ยกให้ เลยเก็บมารวมๆ กันไว้ คนขับเรือจากแผ่นดินใหญ่บอกว่า ถ้าอยากให้พานักท่องเที่ยวมาซื้อของเยอะๆ ก็ให้เอาเหรียญมาแลก”

ค.ศ. 2015 ชาวอูรอสรวบรวมเงินเพื่อซื้อแผงพลังงานแสงอาทิตย์มาติดตั้ง แต่ละเกาะชำระเงินครึ่งหนึ่งให้กับบริษัท ส่วนอีกครึ่งใช้วิธีผ่อนชำระด้วยเงินที่ได้จากการเก็บค่าเข้าชุมชนจากนักท่องเที่ยวในตลอด 10 ปีหลังจากนั้น

การมีพลังงานไฟฟ้าทำให้ชาวอูรอสไม่ต้องจุดเทียนตอนกลางคืนอีก ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพวกเขาเพราะเปลวไฟอาจทำให้เกิดไฟไหม้เกาะได้ หลังจากนั้นก็มีเสาสัญญาณโทรศัพท์ตามเข้ามา ปัจจุบัน บางบ้านมีโทรทัศน์และวิทยุ ชาวอูรอสมีรายการวิทยุเป็นของตัวเอง ซึ่งแพร่สัญญาณมาจากเกาะหนึ่งในชุมชน

“เปิดเพลงเพราะๆ ทั้งวันเลย”  

วิลคาบอก พร้อมกับเร่งเสียงวิทยุให้เราฟังเพลงพื้นเมืองไปด้วยกัน

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

ชุมชนเกาะลอยน้ำของชาวอูรอสมีโรงเรียนเด็กเล็กอยู่ 2 แห่ง แต่วิลคาบอกว่า “คนแก่ก็ไปนั่งเรียนด้วยนะ” เด็กอูรอสอายุ 15 ปีจะถือว่าเป็นผู้ใหญ่ในชุมชน ถ้าไม่เรียนหนังสือก็จะต้องทำงาน หาปลา ตัดโตโตร่า ซ่อมเกาะ พายเรือไปรับนักท่องเที่ยว ฯลฯ ส่วนเด็กที่อยากเรียนหนังสือ ถ้าโตแล้วก็จะย้ายเข้าไปเรียนในแผ่นดินใหญ่

“ตอนเด็กๆ นึกว่าคนทั้งโลกมีแค่นี้ ตอนถูกส่งขึ้นฝั่งไปเรียนหนังสือครั้งแรก เดินแล้วต้องหยุดนั่งกับพื้นบ่อยๆ เพราะพื้นมันแข็ง รองเท้าก็ใส่แล้วเดินไม่เป็น หมาก็ไม่เคยเห็น รถก็ไม่เคยเห็น”

วิลคาเรียนจบแล้วก็แต่งงานและกลับมารับจ้างเป็นคนนำเที่ยว พ่อแม่ของวิลคายังใช้ชีวิตอยู่บนเกาะลอยน้ำ แต่วิลคาและครอบครัวย้ายขึ้นไปอยู่บนแผ่นดินใหญ่เมื่อหลายปีที่แล้ว

“บางครอบครัวเขาก็ย้ายขึ้นฝั่งไปเลย เพราะมันสะดวกกว่า”

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

ปัจจุบัน มีเกาะลอยน้ำอยู่ประมาณ 60 – 70 เกาะในทะเลสาบติติกากา และมีคนอาศัยอยู่บนเกาะไม่ต่ำกว่า 1,200 ชีวิต ตัวเลขนี้ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะการอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ‘สะดวกกว่า’ อย่างที่วิลคาว่า แม้แต่เกาะลอยน้ำหรือเรือของชาวอูรอสรุ่นใหม่ๆ ก็มีการใช้ขวดพลาสติกใส่ในด้านในหรือชั้นล่างสุดเพื่อช่วยให้ลอยง่ายขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นลดขยะบนเกาะไปในตัว

หลายเกาะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งการเปิดเกาะให้เยี่ยมชม มีหัวหน้าเกาะและคนบนเกาะที่แต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่าสีสันสดใสออกมาต้อนรับและอธิบายวิธีการสร้างเกาะลอยน้ำ มีเด็กๆ มาร้องเพลงและเต้นรำให้ดู กลุ่มแม่บ้านก็เอาสินค้าทำมือมาวางขายเป็นของที่ระลึก

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

และยังมีการเอาเรือยนต์มาใช้ในการขนส่งนักท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ ซึ่งมีทั้งเกาะที่เป็นร้านอาหาร โรงเรียน บางเกาะก็เปิดโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวพักค้างคืนได้ พร้อมมีกิจกรรมเสริมเป็นการเรือออกไปตัดต้นโตโตร่า สร้างเรือ และลองกินอาหารท้องถิ่น เป็นต้น

ในระหว่างเดินชมเกาะ นักท่องเที่ยวสองสามคนจับกลุ่มคุยกันว่าเกาะลอยอูรอสให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับดิสนีย์แลนด์ ทุกอย่างเหมือนเป็นการจัดฉากไปหมด เราถามวิลคาตอนนั่งเรือออกมาจากเกาะด้วยกันว่า คิดยังไงกับการที่นักท่องเที่ยวบางคนบอกว่าทั้งหมดนี้คือการ ‘จัดฉาก’ วิลคายิ้มหวานให้ แล้วก็บอกว่า

“ก็จัดจริงๆ นั่นแหละ ถ้าเราอยู่เหมือนแต่ก่อนจริงๆ ทุกคนก็คงทำงานของตัวเอง ไม่มีใครอยากยุ่งกับคนจากแผ่นดินใหญ่ ถึงส่วนใหญ่ของชุมชนจะเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่ก็มีบางเกาะที่เลือกจะใช้ชีวิตเงียบๆ เหมือนกัน พวกนี้เขาจะย้ายเกาะไปอยู่ด้านหลังๆ หรือห่างออกไป เพราะไม่ชอบโดนถ่ายรูป

“ตอนนั้นที่คนรุ่นแรกต้องหนีออกไปอยู่กินกลางน้ำ ก็เพื่อชีวิตที่ดีกว่าการตกเป็นทาส ตอนนี้เรามีไฟฟ้า มีทีวี มีโทรศัพท์ ได้ออกจากเกาะไปเรียนหนังสือ มีความรู้ เราก็ทำเพื่อชีวิตที่ดีกว่า แต่นักท่องเที่ยวที่เขามาเพราะคิดว่าจะได้เห็นเราใช้ชีวิตลำบากเหมือนสมัยก่อนแล้วไม่ได้เห็น เขาก็คงไม่ชอบใจ”

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

“ดิสนีย์แลนด์เป็นยังไง” ถึงตาเราต้องตอบวิลคาบ้าง เป็นสวนสนุก มีเครื่องเล่น มีเมืองต่างๆ ที่ถูกจำลองขึ้นมาให้คนเข้าไปเดินดูแล้วก็ถ่ายรูปเล่นได้ มีของที่ระลึกขายด้วย

“แล้วเมืองพวกนั้นเคยมีอยู่จริงไหม”

เราส่ายหน้า

“แต่อูรอสมีอยู่จริงนะ เราเคยใช้ชีวิตแบบนั้นจริงๆ”

ชนเผ่าอูรอส, ทะเลสาบติติกากา,เกาะลอยน้ำ เปรู

วิลคามาส่งเราถึงท่าเรือปูโน ก่อนจากกันวันนั้นวิลคาให้โปสการ์ดเราเป็นของที่ระลึก 1 ใบ เป็นภาพเกาะลอยน้ำและผู้หญิงใส่เสื้อผ้าสีสันสดใสนั่งอยู่บนเรือรูปร่างแปลกตา จะว่าไปแล้วก็แทบจะเหมือนโปสการ์ดที่อยู่ในมือเราเมื่อ 10 ปีก่อนอย่างน่าขัน

เราบอกวิลคาว่า เราดั้นด้นมาถึงที่นี่ก็เพราะรูปที่เห็นจากโปสการ์ดเหมือนกัน และเราดีใจที่เราได้อะไรกลับบ้านไปมากกว่าโปสการ์ดที่ระลึกจากวิลคาใบนั้น 🙂

วิธีการไปเยี่ยมชมเกาะลอยน้ำของชาวอูรอส

  • เดินไปขึ้นเรือชาวบ้านที่ท่าน้ำปูโนได้ตลอดทั้งวัน ค่าเรือคนละ 100 บาท ค่าธรรมเนียมขึ้นเกาะคนละ 50 บาท และถ้าอยากนั่งเรือของชาวอูรอสด้วยก็จ่ายเพิ่มอีกคนละ 100 บาท ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2.50 – 3 ชั่วโมง
  • ซื้อแพ็กเกจทัวร์เกาะในทะเลสาบติติกากา ราคาตกประมาณ 300 – 500 บาทต่อคน ไม่รวมค่าธรรมเนียมขึ้นเกาะ ค่านั่งเรือชาวอูรอส และราคาจะสูงกว่านี้ถ้าต้องการไปดูเกาะอื่นๆ ด้วย